ชาดกเรื่องลิงกับผีเสื้อน้ำในหอไตรวัดระฆัง


สำหรับภาพนี้ยังอยู่ในฉากไตรภูมิเช่นเดียวกันครับ รายละเอียดของเรื่องมีแค่ ภาพลิงน้อยสีขาว กับรากษสหรือผีเสื้อน้ำสองตัว มีตัวละครแค่เท่านั้น เดาเหตุการณ์ยากมากจริง ๆ ตอนแรกผมคิดว่าน่าจะเป็นตอนหนุมานฆ่าเสื้อเมืองลงกา แต่อันนั้นมันมาจากเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ บนฝาผนังที่มันเป็นชาดกเสียส่วนมาก จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นชาดกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีตัวละครสำคัญคือ ลิง และ ผีเสื้อน้ำ
ชาดกที่มีตัวละครสองอย่างนี้ มีอย่างน้อยสองเรื่อง คือ ตโยธรรมชาดก และ นฬปานชาดก
ตโยธรรมชาดก กล่าวถึง ลิงจ่าฝูงหวงอำนาจ พ่อลิงใช้ลูกลิงไปเก็บดอกบัวในสระที่มีรากษส หวังให้รากษสกินลูกลิง (พ่ิอลิงหวงอำนาจ) ลูกลิงเก็บดอกบัวโดยใช้ปัญญา รากษสเลื่อมใสจึงถือดอกบัวตามหลังมาให้ พ่อลิงเห็นรากษสเดินมา ก็ตกใจกลัวหัวใจวายตาย จบเพียงเท่านี้

ส่วน นฬปานชาดก กล่าวถึง พญาวานร ใช้ไม้อ้อดูดน้ำจากสระที่มีรากษส โดยรากษสทำอะไรไม่ได้ เป็นชาดกที่ฮิตเรื่องหนึ่ง
แต่สำหรับภาพนี้ คิดว่าน่าจะเป็น ตโยธรรม มากกว่า เพราะมีตัวละครแค่สองตัว และไม่มีบริบทอื่นๆ เช่น ไม้อ้อใช้แทนหลอด และฝูงลิงบริวารครับ





Create Date : 28 มิถุนายน 2554
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 10:52:22 น.
Counter : 1812 Pageviews.

0 comment
ครุฑจับนาคจากหอไตรวัดระฆัง


อีกภาพหนึ่งที่อยู่ในภาพไตรภูมิในหอไตรวัดระฆังครับ เป็นภาพครุฑจับนาคที่ปลายหาง ทำให้หินที่นาคกลืนไว้ร่วงลงมา เป็นนวัตกรรมใหม่ของครุฑ เพราะแต่เดิมครุฑจับนาคที่หัว ด้วยน้ำหนักของหินที่นาคกลืนลงท้องไว้ก่อนขึ้นมาบนผิวน้ำ ครุฑหนักเข้าเลยตกทะเลตาย

เรื่องนี้เข้าใจว่าคงมีหลายที่มา แต่เท่าที่ค้นเจอมาจาก ปัณฑรกชาดก ครับ





Create Date : 28 มิถุนายน 2554
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 10:53:23 น.
Counter : 1668 Pageviews.

0 comment
สุมนสามเณรตักน้ำ

หอไตรวัดระฆังอย่างที่ทราบกันดีว่าเป็นนิวาสถานเดิมของเจ้าพระยาจักรีซึ่งต่อมาได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงอุทิศเรือนเดิมให้เป็นหอไตร ซึ่งเป็นเรือนไม้ฝากระดานชั้นดี สามหลังนำมาปรุงใหม่ ปลูกไว้กลางสระและทรงให้ช่างเขียนลวดลายจิตรกรรมประดับประดาจนครบถ้วนเล่าลือกันว่าเป็นฝีมือพระอาจารย์นาค จิตรกรเอก ซึ่งปัจจุบันเหลือฝีมือท่านอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น


เรื่องราวที่เขียนก็มาจากรามเกียรติ์บ้างมีทั้งตอนศึกพรหมาสตร์ (หักคอช้างเอราวัณ) ศึกกุมภกรรณ (ตอนสุครีพถอนต้นรัง)มาฆมาณพ (ประวัติพระอินทร์) และเทพชุมนุมประชุมนั่งต่างๆ ที่สำคัญคือเรื่องโลกสัณฐาน หรือเรียกกันติดปากว่าไตรภูมินั่นเอง และในไตรภูมินั้นยังปรากฏารายละเอียดเป็นเรื่องราวย่อยๆ อยู่อีกหลายเรื่องขอยกตัวอย่างสักหน่อยนะครับ


ที่น่าสนใจและไม่ค่อยได้พบจากที่อื่นๆคือเรื่อง สุมนสามเณร ซึ่งบรรลุอรหันต์ตั้งแต่เด็ก อาสาไปตักน้ำให้พระอนุรุทธผู้เป็นอุปัชฌาย์ซึ่งกำลังป่วยอยู่ ที่สระอโนดาต (อันเป็นน้ำที่สามารถรักษาโรคได้ทั้งกายและใจ)สระนี้มีพญานาคชื่อปันนกราชเฝ้าอยู่ สามเณรเหาะข้ามหัวนาคจึงโกรธแผ่พังพานคลุมสระไว้ไม่ให้ตักน้ำ และกล่าวท้าทายสามเณรต่างๆนาๆ


สุมนสามเณรจึงเนรมิตกายใหญ่โตเชิญพรหมทุกชั้นมาเป็นพยาน แล้วก้าวเหยียบหัวนาค ตักเอาน้ำไปถวายพระอุปัชฌาย์ได้


ปันนกนาคราชจึงเหาะตามไปถึงสำนักพระอนุรุทธผู้เป็นสหายกล่าวว่าจะฆ่าสามเณร แต่พระอนุรุทธแนะนำว่านาคราชสู้ฤทธิ์เณรไม่ได้และขอให้เป็นสหายกัน นาคจึงยอมกราบขอโทษ


ในคราวต่อมาสุมนสามเณรอยู่ท่ามกลางสามเณรที่มีอายุมากกว่า โดนกระเซ้าเย้าแหย่เนื่องจากเณรเหล่านั้นไม่ทราบว่าเป็นพระอรหันต์ พระพุทธองค์ทรงดำริว่า"พระพวกนี้ไม่รู้ว่า ตัวเองล้อเล่นกับหายนะเหมือนกำลังจับงูที่คอ"

จึงทรงปรารภจะสำแดงฤทธิ์ของเณรให้ประจักษ์ดำริว่าประสงค์จะล้างพระบาทด้วยน้ำจากสระอโนดาต เณรผู้ใดจะอาสาไปเอามาได้บ้างในบรรดาเณร แม้จะมีพระอรหันต์ ก็ทราบดีว่าพระพุทธองค์ทรงประสงค์จะสำแดงฤทธิ์ของสุมนสามเณร จึงมิได้อาสา

สุมนสามเณรหยั่งทราบพระดำริของพระพุทธองค์แล้วจึงเอานิ้วก้อยเกี่ยวตุ่ม 80 ใบ ที่นางวิสาขาถวายไว้ เหาะไปสระอโนดาต พญานาคราชเมื่อทราบข่าวจึงรีบออกมาต้อนรับ และอาสาจะตักน้ำให้ แต่เณรปฏิเสธว่าเป็นกิจของจน จึงตักน้ำและเหาะกลับมาถวายพระพุทธองค์

จากจิตรกรรมในหอไตรวัดระฆังมีภาพเณรเหาะถือหม้อน้ำ และพญานาคที่มีร่างกายครึ่งท่อนบนเป็นมนุษย์ถือหม้อเช่นเดียวกัน จึงน่าจะเป็นเหตุการณ์ตอน สุมนสามเณรอาสาตักน้ำให้พระพุทธเจ้ามากกว่าจะเป็นตอนเหาะไปตักน้ำถวายพระอนุรุทธผู้เป็นอุปัชฌาย์




Create Date : 28 มิถุนายน 2554
Last Update : 17 มกราคม 2557 16:58:34 น.
Counter : 952 Pageviews.

2 comment

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments