วัดสวนใหญ่ บางกรวย


ผมเป็นคนบางกรวยครับ บ้านก็อยู่ไม่ห่างจากวัดสวนใหญ่สักเท่าไหร่เรียกว่าเดินไปสัก 100 เมตรก็ถึงแล้ว วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมคลองบางกรวยหรือจริงๆแล้วก็คือคลองอ้อมนนท์ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าก่อนจะมีการขุดคลองลัดที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยพระไชยราชา จนคลองลัดกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักไป ดังนั้นชุมชนที่อยู่ริมคลองอ้อมนนท์จึงเป็นชุมชนเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น พบวัดกระจัดกระจายเรียงรายกันไปตามลำคลอง แค่ในซอยบ้านผม (ซอยวัดกล้วยหรือซอยโรงเรียนบดินทรเดชานนทบุรี) ก็มีวัดสวนใหญ่ วัดกล้วย วัดม่วง (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) และวัดชลอ


จนได้เรียนโบราณคดีถึงได้สนใจเกี่ยวกับข้อมูลของวัดนี้ แหล่งข้อมูลที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือคุณตาของผมชื่อสมนึก ท้วมแสง วันหนึ่งมีโอกาสก็เลยสอบถามว่าวัดสวนใหญ่เมื่อก่อนมันเป็นยังไง ท่านก็ว่าพื้นที่ตั้งโบสถ์หลังปัจจุบันนี้แต่ก่อนมันเป็นศาลาการเปรียญไม้ขนาดใหญ่ แต่ว่าไม่ได้มีเสาสูง เป็นเสาเตี้ยๆ ดังนั้นพอโดนน้ำท่วมเข้าหลายต่อหลายปีก็เลยพัง จนต้องย้ายมาปลูกในบริเวณที่เป็นศาลาการเปรียญตึกดังที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนพื้นที่ของศาลาการเปรียญเดิมนั้นซึ่งอยู่ริมน้ำก็สร้างเป็นพระอุโบสถหลังใหม่

แล้วพระอุโบสถหลังเดิมอยู่ที่ไหน

แต่ก่อนผมก็คิดว่าพระอุโบสถก็อยู่ที่เดิมนั่นแหละแม้ว่าจะพังทลายไป แต่ก็คงจะสร้างทำที่เดิม แต่คุณตาผมก็ให้ข้อมูลที่แตกต่างออกไปว่ามันอยู่ในพื้นที่วงกลมสีเขียวต่างหาก (ดูในภาพ) ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยไปแล้ว คุณตาของผมยังทันเห็นว่าเป็นโบสถ์โบราณก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ภายในมีหลวงพ่อพระประธานทำจากหินทรายแดงขนาดใหญ่ และยังมีพระอื่นๆอยู่เต็มไปหมด ปัจจุบันหลวงพ่อพระประธานองค์นี้คงเหลือแต่ชิ้นส่วนพระองค์เท่านั้น แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นพระพุทธรูปในศิลปะอู่ทองที่มีขนาดใหญ่ที่เดียว ยังมีพระขนาดย่อมๆตกหล่นอยู่เต็มไปหมดรวมทั้งพระสาวกหินทรายแดงด้วย เขานำมากองไว้หน้าโบสถ์หลังใหม่ แล้วก็ชะลอเอาพระเจดีย์ขนาดย่อมที่อยู่หน้าโบสถ์เดิมมาสร้างไว้หน้าบทใหม่เช่นกัน ส่วนคุณแม่ผมนั้นท่านเห็นพระอุโบสถหลังเก่าแค่เป็นกองอิฐเท่านั้น

ผมก็เลยเดินไปถ่ายรูปแล้วก็ทำแผนที่เอาไว้ด้วยว่าตำแหน่งของพระอุโบสถเดิมควรจะอยู่บริเวณไหน เผื่อว่าใครจะมาขุดค้นในอนาคตจะได้ทราบ ตำแหน่งที่แน่ชัด




จากภาพจะเห็นว่า วงกลมสีแดงคือพระอุโบสถในปัจจุบัน วงกลมสีเหลืองคือศาลาการเปรียญหลังปัจจุบัน และวงกลมสีเขียวคือตำแหน่งของพระอุโบสถในสมัยอยุธยา อันนี้เป็นพระอุโบสถหลังปัจจุบันครับ ย้ายที่มาสร้างริมคลองบางกรวย

พระพุทธรูปหินทรายแดงหน้าพระอุโบสถ

องค์นี้เป็นพระประธานเก่าครับ




Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2562
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2562 12:04:22 น.
Counter : 3480 Pageviews.

2 comment
ช่อฟ้าเก่าของวัดเสาธงทอง ลพบุรี



ผมเพิ่งอ่านบทความเรื่องวัดเสาธงทองน่าจะเคยเป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนามาก่อน ในเวปนิตยสารศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_4037# ที่กล่าวถึงอดีตเจ้าอาวาสวัดเสาธงทองคือพระธรรมารามมุนี ท่านเคยเล่าว่าอุโบสถของวัดเสาธงทองเคยเป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนามาก่อน และพระประธานในอุโบสถนั้น ก่อหุ้มไม้กางเขนเหล็กเอาไว้จึงมีพระอังสา (ไหล่) กว้างกว่าปกติ และองค์พระก็สูงใหญ่มาก ในส่วนนี้ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นมุขปาฐะ และก็เข้าใจว่านิตยสารศิลปวัฒนธรรมก็จัดการหาเรื่องเล่าสนุกๆมาสร้างสีสันเพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่วัดเสาธงทองจะเป็นโบสถ์คริสต์เนื่องจาก

1. ลพบุรีมีโบสถ์คริสต์อยู่แล้วถึง 2 แห่งคือวัดนอตเตรอดาม เดอ ลอแรตโต ในบ้านหลวงรับราชทูต เป็นโบสถ์น้อย และวัดสันเปาโลนอกเมือง

2. โบสถ์หลังนี้หันหน้าไปทางตะวันออกตามธรรมเนียมวัดพุทธปกติซึ่งหันหลังให้แม่น้ำด้วยซ้ำ ขณะที่โบสถ์คริสต์ในอดีตมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก(ปัจจุบันไม่เน้นคตินี้แล้ว)

3. วัดเสาธงทองเป็นวัดเก่าแก่มาก่อนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นโดยมีเจดีย์แปดเหลี่ยมในวัดเป็นพยานยืนยันเป็นเรื่องยากที่ต่างศาสนิกชนจะแปลงพุทธาวาสให้เป็นโบสถ์ได้

4. หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ วัดเสาธงทองควรจะเป็น“มัสยิด” มากกว่าโบสถ์ เพราะหันทิศกิบัร (ทิศละหมาด)ไปทางตะวันตกตามธรรมเนียมมุสลิม และตัววัดยังอยู่ใกล้กับตึกหลวงรับราชทูตอิหร่านคือตึกปิจู และตึกโครส่าน (ตึกคชสาร) ที่ปัจจุบันก็ยังอยู่ใกล้ๆกับวัด

5. พระแท่นบูชาในศาสนาคริสต์ แต่ดั้งเดิมนิยมสร้างติดกับผนังในสุด ไม่ใช่วางไว้กลางวัดเช่นปัจจุบันและไม่มีธรรมเนียมประดิษฐานกางเขนขนาดใหญ่ไว้กลางวัด (ตำแหน่งพระพุทธรูปประธาน)


อย่างไรก็ตามประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจนัก

 เพราะมีการกล่าวถึงบ่อยครั้งที่น่าสนใจคือภาพถ่ายเก่า

ของวัดเสาธงทองที่อยู่ในเวปศิลปวัฒนธรรม

 ถ่ายในพ.ศ.2509ก่อนการบูรณะช่อฟ้าใหม่ เราพบว่า

ช่อฟ้าเก่า มีลักษณะเป็นช่อฟ้ารูปหยดน้ำซึ่งแตกต่าง

กับช่อฟ้าปัจจุบันที่เป็นรูปหงอนนาคช่อฟ้ารูปหยดน้ำนี้

เป็นช่อฟ้าโบราณที่แทบจะสูญหายไปแล้วพบร่องรอย

อยู่บ้างตามวิหารจำลองขนาดเล็กในศิลปะล้านนา และ

คล้ายกับ “โหง่ว”ในศิลปะลาว มิใช่ว่าวัดเสาธงทองจะ

รับอิทธิพลล้านนาหรือลาวก็หาไม่แต่ช่อฟ้าแบบนี้เป็น

ช่อฟ้าที่ใช้ทั่วไปในภาคกลาง (ปรากฏในภาพเก่าๆที่

ฝรั่งวาดและเราก็นึกว่าฝรั่งวาดผิด)แต่เนื่องจากภาค

กลางเป็นที่ตั้งของราชสำนักที่มีการเปลี่ยนแปลง

รสนิยมทางเชิงช่างบ่อยครั้งจึงไม่เก็บรูปแบบดั้งเดิมไว้

ได้มากเท่าศิลปะตามภูมิภาค ช่อฟ้าเก่าของวัดเสาธง

ทองจึงน่าจะเป็นหลักฐานของช่อฟ้าในสมัยอยุธยาตอน

ปลายที่หลงเหลือผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานและเมื่อ

ปฏิสังขรณ์ ช่างก็ไม่เข้าใจรูปแบบเดิมแล้ว จึงออกมา

เป็นทรงประหลาดๆแทน



ภาพถ่ายเก่าปี 2509 จากเวปไซต์ศิลปวัฒนธรรม แสดงช่อฟ้าแบบดั้งเดิม คล้ายโหง่วของลาว


 ภาพล่าง ช่อฟ้าแบบลาวที่วัดเชียงทอง หลวงพระบาง เป็นรูปหยดน้ำ (ที่มา : //library.sut.ac.t/asean_data/upload/20141129135432mfilGTgp.jpg



ช่อฟ้าในยุคปัจจุบัน เป็นรูปหงอนนาค




Create Date : 10 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 19 มิถุนายน 2560 20:14:05 น.
Counter : 2835 Pageviews.

0 comment
วิหารสมัยอยุธยาตอนต้น-กลาง


ในไทยเป็นเมืองร้อนชื้น ฝนตกชุก อาคารส่วนมากก็สร้างด้วยไม้ จึงมักไม่เหลือรอดน้ำฝน มด ปลวก นกหนู บ้านเก่าๆสักห้าสิบปีก็ผุพังหมดแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงวิหารสมัยอยุธยาตอนต้น หรือกลางที่ยังมีหลังคาคลุม จึงเหลืออยู่น้อยถึงน้อยมาก แต่ก็ยังมีบางหลังที่เหลือน่าชม จึงอยากจะนำเสนอเก็บไว้ให้พิจารณา เผื่อท่านใดสนใจติดตามไปชม 
.
วิหารเหล่านี้มักปรากฏกระจายตัวตามหัวเมืองเก่าๆ เช่น อยุธยา ชัยนาท อ่างทอง ส่วนมากจะทรงเตี้ยแจ้ ไม่มีการเจาะหน้าต่าง หรือเจาะแค่ช่องแสง หลังคาคลุมหลายตับและหลายซ้อน มีเสานางจรัลรองรับผืนหลังคา และมักจะใช้เสาร่วมในรับน้ำหนักหลังคาด้วย ผนังบางกว่าอาคารสมัยรัตนโกสินทร์ มักจะไม่ตีฝ้า เพราะอาคารเตี้ยอยู่แล้ว หากตีฝ้า อาจจะยิ่งทำให้ภายในเตี้ยเข้าไปใหญ่ ส่วนฐานนั้น มักจะไม่แอ่นท้องช้าง หรือตกท้องสำเภา ถ้าแอ่นก็ตีว่าเป็นสมัยอยุธยาตอนปลายได้ (อาคารแอ่นนี่เริ่มราวๆสมัยพระเจ้าเสือครับ) บางหลังการกำหนดอายุยังคลุมเครือ อาจจะล่วงเก่าไปถึงอยุธยาตอนปลาย ก็ต้องวานผู้รู้สืบเทียบและแนะนำด้วยครับ แน่นอนว่าทุกหลังผ่านการซ่อมแซมมาแล้วทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้าง บางหลังก็เหลือแต่เค้าโครงเท่านั้น กลายเป็นข้อถกเถียงกันไม่รู้จบ

วิหารแรก (ภาพล่าง) วัดยม บางบาลครับ เป็นวิหารอันซีนมากๆ เพราะไม่น่าเชื่อว่าจะเหลืออาคารสมัยอยุธยาตอนกลางรอดมาได้ในพื้นที่น้ำท่วม เสมาของวัดนี้ใกล้เคียงกับเสมาของวัดตำหนักที่มีจารึก 2023 มากราวกะฝาแฝด ดังนั้น อายุวัดก็ควรใกล้เคียงกัน คือพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นยุคอยุธยาตอนกลาง หลังคาซ้อนสองชั้น 4 ตับ เจาะช่องแสง มีเสาเหลี่ยมรับปีกนกครับ




วัดอ้อย อ่างทอง (ภาพล่าง) เป็นวัดถือน้ำของเมืองอ่างทอง อาคารใหญ่โตสูงสง่ามาก ใช้เสาแปดเหลี่ยมรับหลังคา 




วิหารหลวงวัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช (ล่าง)



(ภาพล่าง) อุโบสถวัดหน้าพระเมรุ สร้างสมัยพระเจ้าปราสาททอง อยุธยากลางต่อปลาย



วัดพิชัยปุรณาราม (ล่าง) อุทัยธานีครับ หลังนี้กำหนดอายุอยุธยาตอนกลางจากพระประธานเลยทีเดียว





Create Date : 24 ตุลาคม 2559
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 10:59:28 น.
Counter : 5245 Pageviews.

0 comment
ศาลาท่าน้ำวัดสามโคก ที่ไม่มีใครสนใจแล้ว


แต่เดิม ท่าน้ำวัดสามโคก จังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ริมคลองวัดที่ขุดเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะตัววัดเองก็ตั้งห่างจากแม่น้ำพอสมควร มีถนนใหญ่คั่นอยู่ พอวันเวลาผ่านไปคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับวัดก็ลดความสำคัญลงคนก็เลยไม่จำเป็นต้องใช้ท่าน้ำอีก ก็ทรุดโทรมลงเรื่อยมาพอวัดจะสร้างศาลาอเนกประสงค์ใหม่ จึงสร้างเสียจนประชิดกับศาลาไม้หลังเดิมบดบังมุมมองเสียหมด และเชื่อว่าสักวันมันคงจะพังไปตามกาลเวลา แม้ว่าศาลาหลังนี้จะไม่เก่าไปถึงต้นกรุงแต่อย่างต่ำๆก็น่าจะ 80 -100 ปี และสร้างอย่างประณีตบรรจงสลักไม้ปิดทองประดับกระจก คุมทรงงดงาม น่าเสียดายมากๆ





Create Date : 24 ตุลาคม 2559
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 11:00:06 น.
Counter : 942 Pageviews.

0 comment
โบสถ์เก่าวัดเทียนดัด งานอยุธยาที่ซ่อมแล้ว



ผมย้ายมาอยู่ สามพรานที่บ้านเณรคณะพระมหาไถ่ จึงมีเวลาว่างปั่นจักรยานชมศิลปะอยุธยารอบๆตัวอำเภอแถบแม่น้ำท่าจีนเองก็เป็นแม่น้ำเก่าแก่ มีชุมชนที่เก่าไปถึงอยุธยาหลายแห่งและก็มียุคเฟื่องฟูในสมัยรัตนโกสินทร์ที่โรงงานน้ำตาล โรงหีบอ้อย ไร่อ้อยขยายอาณาเขตออกไปตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอันเป็นผลจากสนธิสัญญาเบาว์ริงชาวจีนอพยพจำนวนมากเข้ามาจับจองพื้นที่ทำนา ทำน้ำตาลจนอิทธิพลจีนสื่อออกมาให้เห็นทั้งในศิลปะพุทธและศิลปะคริสต์แต่วันนี้จะพาไปชมศิลปะอยุธยางามๆที่วัดเทียนดัด โบสถ์เก่าเตี้ยแจ้ จั่วแหลมเล็กแต่มีหลังคาปีกนกคลุมกว้างขวางแบบนี้เป็นรูปแบบหลักของงานยุคอยุธยาตอนปลายแตกต่างไปจากงานยุครัตนโกสินทร์ที่ชอบการโชว์ลายหน้าบันสวยๆปั้นปูนประดับกระจกบ้าง แกะไม้บ้าง แต่งานอยุธยาไม่อาจโชว์หน้าบันได้มากนักเนื่องจากไม่ได้เน้นความใหญ่โตโอฬาร และอาจจะเป็นเพราะชุมชนบ้านนอก ไกลจากราชธานีโบสถ์น้อยๆแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว


เขามีเจดีย์รายสวยๆให้ชมด้วยนะเป็นทรงเครื่องกลีบมะเฟือง ซึ่งมีมาตั้งแต่อยุธยาตอนปลายแต่มาเฟื่องฟูหรูหราอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4(ซึ่งก็เป็นยุคบูมน้ำตาลของเมืองสามพราน) เราเห็นตัวอย่างงานหลวงได้จากวัดที่รัชกาลที่4 ทรงปฏิสังขรณ์ เช่น วัดสุวรรณาดารารามที่กรุงเก่า ส่วนองค์ที่วัดนี้ เล็กแต่งามติดเรือนธาตุเข้าไปด้วย  



เจดีย์ทรงเครื่องกลีบมะเฟือง ถือเป็นองค์ที่คุมทรงได้ดีทีเดียว สำหรับศิลปะหัวเมืองเช่นนี้


อีกองค์หนึ่งที่คู่กันหน้าโบสถ์ เป็นเจดีย์ทรงเครื่ององค์ระฆังแปดเหลี่ยม น่าจะอายุสักรัชกาลที่ 4 ถือว่าช่างมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบมาก เพราะไม่ทำซ้ำกันเลย




Create Date : 24 ตุลาคม 2559
Last Update : 19 มิถุนายน 2560 20:15:34 น.
Counter : 1381 Pageviews.

0 comment
1  2  3  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments