โบสถ์ทรงวิลันดา
คำว่า "วิลันดา" ในภาษาไทย มีความหมายถึง "ฮอลันดา" หรือเนเธอแลนด์นั่นเอง เป็นฝรั่งชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ในทางสถาปัตยกรรมใช้เรียกกลุ่มอาคารรูปแบบหนึ่ง ที่สร้างก่ออิฐเป็นตึกขนาดย่อมๆ มีหน้าบันเป็นอิฐ แทนที่จะเป็นจั่วไม้แกะสลักแบบไทยๆ ถอดช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ออก และตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ซึ่งโดยมากจะเป็นลายเทศ เลียนแบบฝรั่ง แทนที่จะเป็นลายกนกแบบที่เราเคยเห็นกันโดยทั่วไป

ลวดลายปูนปั้นอาจจะเสริมด้วยเครื่องถ้วยเคลือบลายสวยงามต่างๆ แต่จะไม่ประดับกระจกหรือปิดทอง ซึ่งใช้กับอาคารแบบไทยประเพณีแท้ๆมากกว่า ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการสร้างถูก และสร้างได้ง่ายกว่า ทั้งวัสดุต่างๆก็หาได้ง่าย ไม่ผุพังเร็วเหมือนใช้เครื่องไม้ เหมาะกับวัดของชาวบ้านทั่วๆไป

อาคารเหล่านี้ ใช้เป็นพระอุโบสถ วิหาร ในพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เชื่อว่าคงได้รับอิทธิพลมาจากตึกกว้านร้านคลังของฝรั่งที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น

ส่วนมากจะเป็นวัดชาวบ้าน มิใช่วัดหลวง และมีขนาดเล็กๆ ในท้องถิ่น กระจายอยู่ตามชุมชนในภาคกลางเกือบทั้งหมด





ในภาพเป็นวัดมหาธาตุ เพชรบุรี เป็น "ตึก" ทรงวิลันดา จะเห็นลักษณะเด่นได้จากหน้าจั่ว ที่มิใช่แบบไทยประเพณี (มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก) แต่เป็นปูนปั้นทั้งหมด โดยช่อฟ้าและหางหงส์แทนที่ด้วยเทพนมขนาดเล็ก ประดับปูนปั้นเต็มพื้นที่ โดยไม่มีไขราหน้าัจั่ว (คือหลังคาที่ยื่นออกจากจั่ว เรียกว่าไขรา สังเกตจากเรือนไทย)






เทพนมซึ่งติดตั้งไ้ว้บริเวณหางหงส์ของวัดมหาธาตุ เพชรบุรีครับ ดูแปลกตาไปอีกแบบ เหมือนกับเทวดารักษาพระศาสนาประจำอยู่ทุกส่วนของอาคาร ลักษณะนี้ยังพบได้อีกหลายวัดในเพชรบุรี



อีกตัวอย่างหนึ่งให้เห็นกันเต็มๆ คือหน้าบันของวัดโชติการาม นนทบุรี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นวิลันดาแท้ๆ ประดับด้วยเครื่องถ้วยชามเคลือบจากเมืองจีนบ้าง ฝรั่งบ้าง ผสมๆกัน แล้วแตกลวดลายออกจากเครื่องถ้วย เป็นแนวความคิดการแสดงออกทางเชิงช่าง ต่างออกไปจากแบบประเพณีแท้ๆ



รูปนี้เป็นตัวโบสถ์วัดโชติการาม นนทบุรี แบบเต็มๆครับ จะเห็นว่าด้านหน้าโบสถ์มีหลังคาเป็นเพิงลาดลงมาเพื่อกันแดดกันฝน และเตรียมตัวก่อนเข้าในอาคาร ถ้าหากเป็นวัดหลวง หรือวัดสำคัญ คงมีการสร้างมุขยื่นออกมา แต่วัดนี้เป็นวัดขนาดเล็ก หากสร้างหลังคาลาด หรือ "จั่นหับ" จะประหยัดค่่าใช้จ่ายกว่ากันมาก ถือเป็นอาคารเพื่อการใช้สอยในชุมชนอย่างแท้จริง




ส่วนประกอบอื่นๆของอาคาร ก็ปรับเปลี่ยนให้แตกต่าง ยักย้ายออกไปไม่ให้ซ้ำกับแบบประเพณี ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้คือปูนปั้นเป็นหลัก ซึ่งดัดแปลงได้ง่ายกว่าไม้แกะสลัก จึงออกมาเป็นซุ้มประตูหน้าต่างทรงเทศ (ต่างประเทศ ส่วนมากหมายถึงแขกหรือฝรั่ง)



มาชมด้านในกันบ้างครับ ส่วนใหญ่จะเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมขนาดเล็กๆ ไม่มีเสา เนื่องจากมีขนาดเล็ก ใช้ไม้คานพาดระหว่างผนังได้เลย และมักตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังเต็มพื้นที่ ในภาพด้านล่างคือวัดชมพูเวก นนทบุรี เป็นวัดโบราณอยู่ในซอยลึกทีเดียว แถวๆสนามบินน้ำ




น่าสนใจว่า อาคารแบบวิลันดา ไม่ได้ใช้เฉพาะศาสนสถานในพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ใช้ทั่วไปถึงศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์และศาสนาอิสลามด้วย แสดงว่า ในอดีต ลักษณะทางสถาปัตยกรรมไ่ม่ใช่เครื่องขีดคั่นความแตกต่างทางศาสนา ไม่ได้กำหนดว่าวัดแบบที่เราเรียกว่า "ไทยๆ" จะใช้กับศาสนาอื่นไม่ได้ เราจึงพบว่า โบสถ์คริสต์หลายๆแห่ง แต่เดิมใช้อาคารแบบนี้ทั้งนั้น เ่ช่น วัดซางตาครู้ส และวัดอัสสัมชัญหลังเดิม (ปัจจุบันทั้งสองหลังรื้อไปแล้ว) และวัดคอนเซ็ปชัญหลังเดิม (ยังคงมีอยู่) ส่วนในศาสนาอิสลามปรากฏในมัสยิดบางหลวง ฝั่งธนบุรี เป็นต้น

ภาพวัดซางตาครู้สหลังเดิม ก่อนรื้อลงสร้างหลังใหม่เป็นทรงเรอเนสซองครับ




ภาพล่างคือวัดคอนเซ็ปชัญหลังเดิม มีขนาดเล็กมาก รุ่นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ครับ หลังปัจจุบันเป็นการรื้อสร้างใหม่แล้วในสมัยรัชกาลที่ 4




Create Date : 18 พฤษภาคม 2554
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2558 21:25:07 น.
Counter : 2981 Pageviews.

3 comments
  
มองเห็นหลังคาลาดแบบนี้ คล้ายๆของวัดเขียนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เคยนั่งเรือผ่านไปทางเมืองนนท์
โดย: pragoong วันที่: 18 พฤษภาคม 2554 เวลา:14:57:14 น.
  
วัดเขียนที่นนทบุรี ก็จัดได้ว่าเป็นโบสถ์ทรงวิลันดาได้เหมือนกันครับ
โดย: ปลาทองสยองเมือง วันที่: 18 พฤษภาคม 2554 เวลา:15:49:29 น.
  
ขอบคุณครับ ได้รู้จักโบสถ์แบบวิลันดาแบบเขข้าใจเลย ตอนแรกก็สับสน
โดย: vet53 IP: 27.130.134.184 วันที่: 5 ธันวาคม 2554 เวลา:11:09:59 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments