นักบุญฟรังซิสในเมืองกัว อาณานิคมโปรตุเกสในอินเดีย



จดหมายฉบับนี้เล่าเรื่องนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ เมื่อออกเดินทางจากเกาะโซโคตร้ามาถึงเมืองกัว อาณานิคมอันยาวนานของโปรตุเกสในอินเดีย เพิ่งจะคืนให้อินเดียไปเมื่อ 30 ปีก่อนนี้เอง กัวเป็นเสมือนวาติกันของตะวันออก สังฆราชแห่งกัวมีอำนาจเหนือคาทอลิกในเอเชียทั้งหมด ครอบคลุมทั้งในมาเก๊า โมลุคกะ และมะละกา รวมทั้งเมืองในตะวันออกของแอฟริกาด้วย



แผนที่เมืองกัว ในฝั่งตะวันตกของอินเดีย อาณานิคมของโปรตุเกส
(ที่มา : //www.goaholidayguide.com/)





แผนที่โบราณแสดงเมืองกัวในตะวันตกของอินเดีย มีสภาพเป็นเกาะ
(ที่มา : //www.columbia.edu/)
จดหมายของนักบุญฟรังซิสในเมืองกัว 
อาณานิคมโปรตุเกสในอินเดีย

"เราออกจากเกาะนี้ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์และวันที่ 6 พฤษภาคม ข้าพเจ้าก็มาถึงเมืองกัว และเรืออีก 5 ลำที่ตามมาจากโมซัมบิคก็ตามเรามาถึงในเดือนมิถุนายนแต่ลำที่ใหญ่ที่สุดและบรรทุกสิ่งของมีค่ามากมายกลับอับปางและจมลง ลูกเรือทั้งหมดปลอดภัยและสี่ลำที่เหลือก็มาถึงเรียบร้อย

ข้าพเจ้ามาอาศัยพักในโรงพยาบาลเมืองกัว คอยดูแลคนเจ็บป่วยและส่งศีลให้ มีคนป่วยมากมายที่รอคอยข้าพเจ้าโปรดศีลอภัยบาปถ้าข้าพเจ้าแยกร่างได้สักสิบร่างพร้อมๆกัน ข้าพเจ้าคงไม่เคยขาดความสำนึกผิดหลังจากดูแลคนป่วย ตอนเช้าข้าพเจ้าฟังสารภาพบาป และหลังจากเที่ยงวันไปแล้วข้าพเจ้าก็ไปเยี่ยมคนคุก และหลังจากสอนคำสอนในคุกแล้วข้าพเจ้าก็ต้องฟังสารภาพบาปตลอดชีวิตของคนที่ถูกจองจำ เมื่อเสร็จภารกิจข้าพเจ้าก็ไปวัดพระมารดาใกล้ๆกับโรงพยาล เพื่อสอนเด็กๆ มีเด็กกว่าสามร้อยคน พวกเขาสวดบทแสดงความเชื่อและบัญญัติ 10 ประการ ตามที่สังฆราชแห่งกัวสั่งไว้ เช่นเดียวกับโบสถ์อื่นๆผลที่ได้รับจากการติดตามเช่นนี้ส่องสว่างแสงให้กับเมืองทั้งเมือง


เมื่อข้าพเจ้าอยู่ที่วัดพระมารดาก็จะเทศน์สอนในตอนเช้าของวันอาทิตย์ และในตอนกลางวันข้าพเจ้านั่งอธิบายบทแสดงความเชื่อให้กับคนพื้นเมือง และประชาชนจำนวนมากก็เข้ามานั่งกันแออัดจนไม่มีที่พอในวัดข้าพเจ้าสอนบทข้าแต่พระบิดา วันทามารีย์ และบทแสดงความเชื่อ รวมทั้งบัญญัติ 10 ประการ ในวันอาทิตย์ ข้าพเจ้ามักจะทำมิสซาให้คนโรคเรื้อนในโรงพยาบาลใกล้ๆกับเมืองฟังสารภาพบาป และโปรดศีลมหาสนิท ไม่มีใครที่ไม่ได้รับศีล พวกเขาก็สวดภาวนาให้ข้าพเจ้าเช่นกัน



แผนที่เมืองกัว

(ที่มา : //www.earthlymission.com)


ท่านข้าหลวงสั่งให้เข้าพเจ้าออกไปเทศน์สอนในชนบทเพื่อที่จะให้ความหวังกับคนพื้นเมืองกลับมาเป็นคริสเตียน มีนักเรียนสามคนจากประเทศต่าง ๆ กันไปกับข้าพเจ้าด้วย 2 คนเป็นสังฆานุกรคุ้นเคยกับภาษาโปรตุเกสดีพอ ๆ กับภาษาของพวกเขาเอง คนที่ 3 เพิ่งจะได้รับศีลน้อยข้าพเจ้ามีความหวังว่า งานเหล่านี้จะผลิตผลที่มีค่าสำหรับศาสนาของเราและเมื่อคุณพ่อปอลและมันซิอัสมาจากโมซัมบิคแล้วท่านข้าหลวงก็ให้สัญญาว่าจะส่งพวกเขามาสมทบกับข้าพเจ้า ในที่ๆเรียกว่า แหลมโคโมรินเป็นระยะทาง 600 ไมล์จากกัว ข้าพเจ้าสวดต่อพระเจ้าขอพระองค์ทรงเห็นแก่คำภาวนาของพวกท่านโปรดทรงลืมบาปของข้าพเจ้าเสียและประทานพระหรรษทานที่ข้าพเจ้าต้องการเพื่อจะได้กระทำกิจการของพระองค์อย่างสมบูรณ์



วัด Our lady of the immaculate conceptionกัว วัดในภาพสร้างใหม่เมื่อปี 1691 หลังยุคนักบุญฟรังซิส

(ที่มา : //topnews.in/law/files/goa-church.jpg)


ทั้งหมดเป็นบททดสอบข้าพเจ้าที่จะทำเพราะเห็นแก่ความรักของพระเป็นเจ้าเพื่อผลประโยชน์ของวิญญาณทั้งปวง ข้าพเจ้าเชื่ออย่างมั่นคงว่า ผู้ที่รักกางเขนของพระคริสต์ จะพิจารณาการทดสอบชีวิตเช่นนี้เป็นแหล่งพระพรอันอุดม และการหลบเลี่ยงหนีออกไปโดยปราศจากไม้กางเขนที่ต้องแบก ก็เป็นเสมือนความตายสำหรับพวกเขา เพราะไม่มีความตายใดที่จะน่ากลัวเกินไปกว่าการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพระเยซูเจ้า เพราะหลังจากที่ได้รู้จักพระองค์แม้เพียงครั้งเดียวแล้ว ท่านจะกล้าละทิ้งพระองค์เพื่อดำรงชีวิตตามน้ำใจของตนเองได้หรือ"

"ข้าพเจ้าเสริมแก่ท่านว่า เพื่อนที่รัก ไม่มีกางเขนใดที่จะเปรียบเทียบได้กับกางเขนเช่นนี้อีกแล้ว ในทางกลับกันก็คือ ชีวิตเราจะได้รับพระพรได้หรือ หากใช้ชีวิตเหมือนกำลังจะตายไปวัน ๆ ท่านต้องหักความปรารถนาของท่าน ไม่ใช่เพื่อความต้องการของเราอีกต่อไป แต่เป็นการมอบความปรารถนาทั้งหมดแด่พระเยซูคริสต์”


"และตอนนี้พี่น้องที่รักข้าพเจ้าขอร้องท่านให้ช่วยกรุณาเขียนเล่าเรื่องสมาชิกทุกคนส่งมาให้ข้าพเจ้าด้วย เพราะข้าพเจ้าไม่มีความหวังว่าจะได้พบกันอีกแล้วในชีวิตนี้ แต่ก็จะเป็นเหมือนที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “แล้วในที่สุดเราก็จะได้พบหน้ากันอีกในสวรรค์”


ความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้รับจากการเดินทางการแบกภาระบาปหนักอึ้งของผู้คนขณะที่คนอื่น ๆ ก็แบกเพียงบาปของตนเองการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนต่างความเชื่อ และความร้อนจัดในภูมิภาคนี้ข้าพเจ้าเองก็เป็นผู้ไม่สมควรจะทำงานของพระ แต่อย่าปฏิเสธความตั้งใจดีเหล่านี้ของข้าพเจ้าเลยโปรดระลึกว่าพระองค์ทรงสร้างท่านเช่นนี้ และทรงประสงค์ที่จะให้ท่านเป็นผู้ปลอบโยนข้าพเจ้าโปรดสอนข้าพเจ้าให้กระตืนรือร้นที่จะเรียนรู้วิธีการสร้างศรัทธาให้คนต่างศาสนารวมทั้งการเข้าไปพบชาวมุสลิมที่ข้าพเจ้าถูกส่งไปหาเขา ข้าพเจ้าจะต้องเรียนรู้จากพระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนเขาเป็นคริสเตียนโดยไม่เกิดความยุ่งยากได้อย่างไรหนอ ด้วยคำภาวนาของพวกท่านและพวกพี่น้องจากวัดของเรา ข้าพเจ้าไว้ใจว่าพระเป็นเจ้าจะทรงสดับ และพระคริสต์ผู้ทรงประสงค์จะเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งพระวรสารโดยใช้ข้าพระองค์ คนรับใช้ที่ชั่วช้า ในแผ่นดินของคนต่างศาสนา


"พระองค์ทรงใช้สิ่งสร้างที่น่าสงสารเช่นข้าพเจ้านี้ให้ทำงานอันใหญ่โตซึ่งนำความอับอายมาให้กับคนที่เกิดมาโดยมีความสามารถมากมายแต่ไม่ได้ใช้และยังเป็นการเสริมกำลังใจให้กับคนอ่อนแอ" 


"เมื่อพวกเขาได้เห็นข้าพเจ้า ผู้ไม่มีอะไรนอกจากฝุ่นและขี้เถ้า ได้เป็นประจักษ์พยานในงานแบบเดียวกันกับอัครสาวกจะเป็นความยินดีเพียงใดหนอถ้าข้าพเจ้าจะได้กลายเป็นผู้รับใช้ของผู้ที่ได้อุทิศตนทำงานในสวนองุ่นของพระเป็นเจ้าอย่างแท้จริง”


"ดังนั้นข้าพเจ้าขอจบจดหมายนี้ ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับความเมตตาอันหาขอบเขตมิได้ผู้จะทรงรวบรวมเราวันหนึ่งในความยินดีของพระองค์ เพราะเราเป็นสิ่งสร้างของพระองค์ดังนั้นเราจึงต้องทำงานของพระองค์ด้วยความกระตือรือร้น"


จากน้องชายที่ไร้ประโยชน์ของท่านในพระเยซูคริสต์

Francis Xavier.

กัว 18 กันยายน 1542 


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อรรถาธิบายเกี่ยวกับเมืองกัว

มืองกัวเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส และมีอิทธิพลแผ่ไปยังบ้านเมืองข้างเคียงด้วย ชาวโปรตุเกสยึดมั่นในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกอย่างลึกซึ้ง มีความคิดทัศนคติแบบสมัยยุคกลาง แม้ว่าจะผ่านมาถึงยุคหลังการปฏิรูปศาสนาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามชีวิตความเป็นอยู่ด้านศาสนาของชาวโปรตุเกสในดินแดนตะวันออกก็มิได้ลึกซึ้งนัก เพราะทหารรับจ้างและพ่อค้าส่วนมากก็แต่งงานกับชนพื้นเมือง มีเมียน้อยและนางบำเรอทั่วไป 

เมื่อหญิงพื้นเมืองแต่งงานกับชาวโปรตุเกส ก็ต้องเปลี่ยนศาสนาเป็นชาวคริสต์โดยอัตโนมัติ แต่พวกเธอก็มักไม่สนใจศาสนาเท่าใดนัก ดังนั้นเมื่อมีลูก จึงไม่อาจสอนลูกตามแนวทางของคริสเตียนที่ดีได้ อีกนัยหนึ่งก็คือไม่มีความพยายามที่จะปรับปรุงความประพฤติเหล่านี้ให้ดีขึ้น พระสังฆราชแห่งกัวขณะนั้นเป็นพระสงฆ์ชราคณะฟรังซิสกัน ชื่อว่า John Albuquerque เป็นพระสงฆ์ที่ดีและศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็เป็นผู้เคร่งครัดและมีอำนาจเต็มเปี่ยม อิทธิพลของท่านครอบคลุมทั้งอินเดีย รวมไปถึงเมืองท่าต่าง ของโปรตุเกสในภาคตะวันออก การแสดงออกของท่านมิได้สมดุลกับความเมตตาและบุคลิกภาพที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีกฎว่า พระสงฆ์และศาสนบริกรทั้งหลายในกัว จะต้องถูกจำกัดขอบเขตภายใต้การบริหารงานของชาวโปรตุเกส และส่วนมากก็ไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนศาสนาคนนอกรีต แม้แต่ในยุโรปเองก็ตามในยุคนั้น ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ก็ถูกลดความสำคัญลงและบางที่ก็เลิกล้มไป แม้แต่ในโรม การออกไปรับศีลบ่อย ก็เป็นเรื่องผิดประหลาด

นักบวชฟรังซิสกันนนามว่า Diego de Borba, ผู้เป็นศิษย์ของ John of Avila อยู่ในเมืองกัว 4 ปีและเริ่มต้นงานของเขาด้วยการตั้งสมาคมต่าง มากมาย เพื่อประโยชน์ของชาวอินเดียมีการตั้งวิทยาลัยสงฆ์ชื่อซานตาเฟ ในกัวที่รับนักเรียนจากทุกภาคของอินเดียเพื่อที่พวกเขาจะได้กลับไปเป็นพระสงฆ์ในบ้านเกิด หรืออย่างน้อยก็สามารถแปลคำสอนให้มิชชันนารีอื่น ได้ วิทยาลัยได้รับเงินบริจาคจากรัฐบาลโปรตุเกสซึ่งเก็บภาษีมาจากพวกนักบวชต่างศาสนา 

เราจะได้ยินเรื่องราวของวิทยาลัยซานตาเฟ[1]นี้อีกมากมายต่อมาจะได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเซนต์ปอล นอกจากนี้ยังมีการตั้งสถาบันภราดาแห่งความเมตตา ในเมืองท่าต่าง ๆ ของโปรตุเกส ทำงานเพื่อการกุศล

เมื่อฟรังซิสไปถึงเมืองกัว ท่านไปขออนุญาตพระสังฆราชทำงานในโรงพยาบาลและนำเอกสารจากพระสันตะปาปาและจากกษัตริย์โปรตุเกสไปแสดง ท่านไม่ประสงค์ต้องการสิทธิพิเศษใด ๆ เพียงขออนุญาตออกไปเยี่ยมคนป่วย คนโรคเรื้อน คนถูกจองจำเท่านั้นใช้เวลากลางคืนในการสวดภาวนา เป็นชีวิตแบบอัครสาวกที่จำลองมาจากพระเยซูเจ้างานของฟรังซิสเช่นนี้จับใจพระสังฆราชชรามาก ท่านสัมผัสได้ถึงหัวใจแห่งความร้อนรนของอัครสาวกคนใหม่จึงกลายเป็นมิตรสหายกันอย่างรวดเร็ว และในเวลาเพียง 5 เดือน เมืองกัวทั้งเมืองก็ “กลายเป็นของท่าน”ท่านบันทึกลงไปในจดหมายส่งไปถึงยุโรปด้วยความชื่นชมยินดี 

ข้าหลวงแห่งกัวก็รับเอาธรรมเนียมของฟรังซิสมาใช้ในการออกไปเยี่ยมโรงพยาบาลและคุกด้วยตัวเองอาทิตย์ละ1 วัน และธรรมเนียมนี้ต่อมาก็นำไปปฏิบัติในราชสำนักโปรตุเกสด้วย  ฟรังซิสสามารถปรับบุคลิกของตนให้เข้ากับผู้คนที่หลากหลายได้ ท่านพยายามที่จะสร้างความครบครันในชีวิตคริสตชน บางครั้งก็ใช้คำพูดสุภาพนุ่มนวล บางครั้งก็ตักเตือนด้วยความจริงเกี่ยวกับนิรันดรภาพ ความตาย การพิพากษาและนรกด้วยท่าทีที่ขันแข็งและรอคอยให้ผู้คนมาสารภาพบาปที่กระทำมาตลอดชีวิต หรือการเตือนให้ชาวบ้านแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี

สถานะการแต่งงานไม่ถูกต้องของชาวโปรตุเกสในอินเดียเป็นปัญหาที่มีอยู่ทั่วไปและแก้ไขได้ยาก ฟรังซิสจัดการกับปัญหานี้อย่างนุ่มนวล ท่านชวนให้คิดว่าควรจะแก้ไขปัญหาที่เป็นบาปหนักนี้ท่านจะไปพบพวกเขาตามถนนและขอให้เชิญท่านที่เป็นพระยากจนไปร่วมทานอาหารค่ำซึ่งแน่นอนว่าพวกเขามักจะตอบคำขอด้วยความยินดี ท่านก็จะเข้าไปนั่งที่โต๊ะและขอให้เจ้าบ้านนำลูก ๆ เข้ามาด้วย และท่านก็จะกอดเด็ก ๆ เอาไว้อย่างอ่อนโยน  และท่านก็จะเชิญชวนให้ภรรยาเข้ามาด้วย คุยด้วยน้ำเสียงอ่อนหวานและกล่าวอ้อนวอนให้เจ้าบ้านชายรับเธอเป็นภรรยาอย่างถูกกฎหมาย กล่าวชมเชยว่าเธอเป็นผู้หญิงที่มีกริยามารยาทงดงามควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ดี ดังนั้นสมควรจะเป็นชาวโปรตุเกสได้รวมทั้งลูก ๆ ที่เกิดจากเธอก็สมควรจะนับเป็นชาวโปรตุเกสได้เช่นกัน แล้วเหตุนี้ทำไมจึงไม่แต่งงานกับเธอให้ถูกต้อง ท่านจะหาภรรยาที่ดีกว่านี้ได้อีกหรือท่านควรจะให้เกียรติแก่ลูก ๆ และภรรยาให้เร็วที่สุด ด้วยคำพูดที่ทรงอำนาจเช่นนี้ท่านก็ชักชวนชายโปรตุเกสหลายคนให้แต่งงานกับหญิงชาวอินเดียได้โดยท่านจัดพิธีแต่งงานให้เอง 

ฟรังซิสกระหายความรอดของวิญญาณมากกว่าเกียรติของตนเอง ท่านครุ่นคิดแต่หาวิธีใหม่ ๆ เพื่อช่วยเหลือพวกเขา ท่านจะเดินไปตามถนนถือกระดิ่งสั่นให้มีเสียงเรียกเด็ก ๆ และบรรดาคนรับใช้เข้ามารับฟังคำสอน(ท่านคิดว่าอะไรก็ตามที่ไม่เป็นที่พอใจของท่าน นั้นเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าเสมอและเป็นประโยชน์สำหรับวิญญาณของมนุษย์ทั้งหลาย) ด้วยวิธีนี้มีเด็ก ๆ และผู้คนมาชุมนุมกันมากมายฟังธรรมจากท่านและท่านจะนำพวกเขาไปยังวัดพระมารดาร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและสอนคำสอนพวกเขาเป็นเพลง ซึ่งจะช่วยให้จดจำได้ง่ายขึ้น



[1] ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้คือ Don Estevan de Gama, บุตรชายของนักเดินเรือชื่อก้อง Vasco de Gama เขาเป็นข้าหลวงแห่งกัวก่อนหน้า Martin Alfonso Sousa as Governor ข้าหลวงที่เป็นเพื่อนสนิทของฟรังซิส







Create Date : 26 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 1:03:05 น.
Counter : 1425 Pageviews.

0 comment
บันทึกของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ที่โมซัมบิคและโซโคตร้า





ผมแปลบันทึกฉบับนี้โดยลำลอง เพื่อติดตามเส้นทางการเดินทางของนักบุญฟรังซิสจากลิสบอนไปยังเอเซีย โดยเริ่มจากโมซัมบิค และไปถึงเมืองกัว ครับ



บันทึกของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ที่โมซัมบิคและเกาะโซโคตร้า

"เรามาถึงโมซัมบิค ที่เราต้องติดอยู่ในฤดูหนาวกว่า 6 เดือน บนเรือห้าลำใหญ่ๆที่มีคนหลากหลายนิสัยบนเกาะนี้มีเมืองสองเมือง เมืองหนึ่งปกครองโดยชาวโปรตุเกสและอีกเมืองปกครองโดยชาวมุสลิม ระหว่างหน้าหนาวนี้ มีคนป่วยไปหลายคน และมากกว่า 80คน ก็ตายลง เรายุ่งอยู่ในโรงพยาบาลตลอดเวลา โดยรับใช้คนป่วยทุกคนคุณพ่อปอลและมันซีอัส ช่วยรักษาทางร่างกาย แต่ข้าพเจ้ารักษาทางจิตใจคอยฟังสารภาพบาปและโปรดศีลมหาสนิท แต่ด้วยลำพังคนเดียวก็ไม่อาจจัดการได้ทั้งหมดในวันอาทิตย์ ข้าพเจ้าเทศน์สอน มีคนจำนวนมากมายมารอฟัง รวมทั้งข้าหลวงด้วยข้าพเจ้ามักจะออกไปรอฟังแก้บาป นั่นคือกิจกรรมทั้งหมดที่ทำในโมซัมบิคทั้งข้าหลวงและทหารปฏิบัติกับเราอย่างมีมารยาท เวลา 6เดือนก็เป็นประโยชน์สำหรับวิญญาณมากมาย"



แผนที่ประเทศโมซัมบิค ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองท่าของโปรตุเกสอยู่

โมซัมบิคอยู่ห่างอินเดียไป 900 ลีค ข้าหลวงกระตือรือร้นที่จะส่งเราไปที่นั่นพร้อมกันกับท่านแต่ด้วยฤดูกาลที่ทำให้มีคนป่วยมากมายท่านจึงขอร้องให้มีนักบวชสักรูปรออยู่บนเกาะนี้เพื่อที่จะพยาบาลคนเจ็บไข้ได้ป่วยดังนั้นคุณพ่อปอลและมันซิอัสจึงตกลงจะอยู่ที่โมซัมบิคต่อไป ข้าพเจ้าจึงตกลงเดินทางกับข้าหลวงคอยฟังสารภาพบาปของท่าน ในกรณีที่มโนธรรมของท่านมีปัญหาหรือจำเป็น  จากโมซัมบิค เราใช้เวลา 2 เดือนจึงมาถึงเมืองกัว ระหว่างทางมาอินเดียนั้น เราได้แวะพักที่ Melinda เป็นเมืองท่าของพวกมุสลิมที่เป็นมิตรกับโปรตุเกสคนที่อยู่ที่นี่ส่วนมากมักจะเป็นหัวหน้าพ่อค้าที่เมื่อถึงคราวสิ้นชีวิตลงก็ขุดหลุมใหญ่มีเนินดิน ปักกางเขนไว้เป็นสัญลักษณ์ ชาวโปรตุเกสได้ปักกางเขนหินสวยงามใหญ่มากไว้นอกเมืองซึ่งเมื่อมองดูแล้วก็รู้สึกประทับใจมากทีเดียวที่ได้เห็นพระมหากางเขนปักอยู่ท่ามกลางเมืองของหมู่ผู้ไม่เชื่อ[1]




โบสถ์โปรตุเกสที่โมซัมบิค (บน) 
(ภาพจาก //www.patrimoniocultural.pt/)


กษัตริย์แห่ง Melinda เสด็จมายังเรือของพวกเราเพื่อต้อนรับท่านข้าหลวงด้วยอัธยาศัยไมตรีขณะที่เราพำนักอยู่ในเมืองนี้เราได้จัดงานศพให้กับชายผู้หนึ่งที่ตายลงในเรือของเราเราได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะช่วยเหลือเขา 
ชาวมุสลิมที่นี่อนุญาตให้เราจัดงานศพได้ตามที่ปรารถนาชาวมุสลิมสำคัญคนหนึ่งในเมืองได้ถามเราว่าโดยปกติโบสถ์ที่เราไปมีชาวคริสต์ไปชุมนุมกันเต็มโบสถ์หรือไม่ และชาวคริสเตียนศรัทธาเต็มใจที่จะไปโบสถ์หรือไม่ เพราะในเมลินดานี้มีมัสยิดถึง 17 แห่ง แต่มีเพียง 3 แห่งเท่านั้นมีมีคนไปร่วมขณะที่แห่งอื่น ๆ มีศรัทธาชนไปน้อยมากชาวมุสลิมที่ดีคนนี้ค่อนข้างสับสนว่าเหตุใดชาวบ้านจึงสูญเสียศรัทธาไปเขาคิดว่าเป็นเพราะพวกชาวบ้านต่างกระทำบาปหนัก

 เราได้สนทนากันถึงเรื่องนี้และได้บอกเขาว่า พระเป็นเจ้าทรงซื่อสัตย์และเที่ยงแท้ ทรงจัดการผู้ไม่เชื่อและคำภาวนาที่ไร้ผลเหล่านั้นจะสูญเปล่าชายชาวซาราเซ็นผู้นี้รู้สึกสับสน เขาประกาศว่าถ้านบีมุฮัมมัดไม่กลับมายังโลกนี้ในอีก 2 ปี เขาจะละทิ้งศาสนาข้าพเจ้าหวังว่าความจริงเหล่านี้จะถูกเปิดเผยโดยพระเป็นเจ้าให้พวกเขาเข้าใจฐานะของตัวและกลับใจเสียใหม่

นักบุญฟรังซิสบนเกาะโซโคตร้า


แผนที่เกาะโซโคตร้า
(ที่มา : https://upload.wikimedia.org)
หลังจากเราออกจากเมลินดาก็มาถึงเกาะโซโคตร้า เกาะใหญ่ที่มีเส้นรอบวงกว่า 100 ไมล์[2]เป็นป่าร้างทั้งหมด ไม่มีข้าวโพด ไม่มีข้าว ไม่มีเหล้าองุ่น ไม่มีผลไม้ใดๆกล่าวสั้นๆคือแห้งแล้งและน่าเบื่อมาก แต่มันเต็มไปด้วยต้นอินทผาลัมที่พวกเขาใช้ทำขนมปังได้ รวมทั้งใช้เลี้ยงสัตว์เกาะนี้ร้อนจัดด้วยแสงอาทิตย์แผดเผา ชาวบ้านเป็นคริสเตียนในนามมากกว่าด้วยจิตใจพวกเขาไร้ความรู้และค่อนข้างหยาบคาย ไม่สามารถอ่านหรือเขียนใดๆได้เลย พวกเขาจึงไม่มีการจดบันทึกใดๆไว้แต่ก็ยังรู้สึกภาคภูมิใจที่ตนเองเป็นชาวคริสต์ พวกเขามีโบสถ์ ไม้กางเขนมากมาย และใช้ตะเกียงในพิธีกรรมแต่ละหมู่บ้านจะมีครูคำสอน ผู้ช่วยงานของวัดครูเหล่านี้เองก็ไม่มีความรู้ทางด้านอ่านหรือเขียนมากกว่าคนอื่นพวกเขาไม่มีแม้แต่หนังสือ และรู้บทสวดไม่กี่บทที่ภาวนาจากหัวใจ พวกเขาไปโบสถ์วันละ4 รอบ ตั้งแต่เที่ยงคืน เช้าตรู่ เที่ยงวัน และตอนเย็น ไม่มีระฆัง แต่มีโปงไม้แบบที่เราใช้กันในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์  เพื่อเรียกทุกคนมาชุมนุมกัน แม้แต่ครูคำสอนก็ไม่เข้าใจบทสวดเพราะมันเป็นภาษาต่างประเทศของพวกเขา (ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นภาษาแคลเดียน)พวกเขาศรัทธานักบุญโทมัสมาก และอ้างว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากนักบุญโทมัสระหว่างที่สวดพวกเขามีคำที่คล้ายๆ คำว่า “อัลเลลูยา”พวกครูคำสอนไม่เคยล้างบาปให้ผู้ใดเลยเพราะพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการล้างบาปคืออะไร เมื่อข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นก็ได้โปรดศีลล้างบาปให้เด็กจำนวนมาก รวมทั้งผู้ปกครองที่มีความปรารถนาจะรับด้วยพวกเขากระตือรือร้นที่จะนำเด็กๆมาหาข้าพเจ้าและนำข้าวของเล็กๆน้อยๆตามมีตามเกิดมาให้ โดยเฉพาะลูกอินทผาลัมที่ข้าพเจ้ามักจะปฏิเสธบ่อยๆ



(บน) เกาะโซโคตร้า เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยพืชพรรณประหลาดมากมาย เดิมเคยมีคริสเตียนจารีตเนสตอเรียน และพวกจาโคไบท์ เป็นนิกายโบราณของศาสนาคริสต์

พวกเขาชักชวนข้าพเจ้าหลายครั้งให้อยู่ด้วยกันและสัญญาว่าคนโสดทุกคนในเกาะนี้จะยอมรับศีลล้างบาปดังนั้นข้าพเจ้าขอร้องให้ข้าหลวงปล่อยเข้าพเจ้าไว้ในทุ่งข้าวสาลีที่ต้องการผู้เก็บเกี่ยวนี้แต่อย่างไรก็ตาม บนเกาะนี้ไม่มีชุมชนชาวโปรตุเกสเลย และมีชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยดังนั้นท่านข้าหลวงจึงไม่อยากทิ้งข้าพเจ้าไว้ตามลำพังเพราะกลัวว่าข้าพเจ้าจะถูกจับไปเป็นทาส ดังนั้นท่านจึงบอกให้ข้าพเจ้ากลับมาอีกครั้งพร้อมกับคริสเตียนอื่นๆอีกบางทีอาจจะมีดินแดนอื่นๆนอกจากเกาะโซโคตร้าที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตวิญญาณและข้าพเจ้าอาจจะทำงานได้อีกในที่อื่นๆ



หลุมฝังศพคริสเตียนเก่าแก่บนเกาะโซโคตร้า (บน)


วันหนึ่งข้าพเจ้าไปร่วมทำวัตรเย็นที่มีการสวดโดยครูคำสอนใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง พวกเขาไม่มีการจบด้วยบทสวดซ้ำและในวัดอบอวลไปด้วยกลิ่นควันกำยาน แม้ว่าครูคำสอนจะมีภรรยาได้แต่พวกเขาก็เคร่งครัดอย่างยิ่งในวัตรปฏิบัติและการอดอาหาร เมื่อพวกเขาอดอาหารไม่เพียงแต่อดเนื้อและนม แต่ยังอดปลาด้วย พวกเขายอมตายดีกว่าจะยอมลิ้มรสอาหารเหล่านั้นพวกเขาไม่กินอะไรนอกจากผักและลูกอินทผาลัม มีการอดอาหาร 2 ระยะ ครั้งแรกจะใช้เวลา2 เดือน และถ้าใครไม่อดทนพอจะอดได้ พวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในศาสนสถาน

ในหมู่บ้านของเกาะมีชาวมุสลิมผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นมารดาของลูกสองคนข้าพเจ้าไม่รู้ว่าบิดาของเขาก็เป็นชาวมุสลิมด้วย จึงได้ให้ศีลล้างบาปพวกเขา เมื่อพวกเขากลับไปเล่าให้มารดาฟังว่าข้าพเจ้าพยายามล้างบาปเด็กทั้งสองผู้เป็นมารดาก็เข้ามาต่อว่าข้าพเจ้าไม่ให้ทำเยี่ยงนั้นชาวบ้านต่างก็โจษจันกันว่าชาวมุสลิมไม่สมควรจะได้รับการอวยพรยิ่งใหญ่เช่นนี้และพวกเขาก็ไม่อนุญาตให้มุสลิมคนใดได้รับการล้างบาปเป็นคริสเตียนเลยเพราะพวกเขารังเกียจชาวมุสลิมมาก


[1] กางเขนนี้น่าจะปักโดยนักสำรวจชาวโปรตุเกสชื่อดังคือวาสโก ดา กามา ซึ่งฉลองการเดินทางของเขาในปี 14 97 – 1499เมื่อเขายึดแหลมกู้ดโฮปได้แล้ว และเดินทางไปยังอินเดีย เขาได้ปักกางเขน 6อันไว้ในที่ต่างๆ อันหนึ่งซึ่งเรียกว่า Holy Ghost อยู่ในเมลินดา ซึ่งเขาเป็นคนแรกที่ไปถึง See Asia Portvguesa, by Faria y Sousa, Eng.Trans, t. i. p. 50, comp. 42.

[2] นักบุญฟรังซิสประมาณเส้นรอบวงของเกาะเอาไว้ค่อนข้างถูกต้องจริงๆคือ 70 ไมล์ ชาวโปรตุเกสคนแรกที่มาถึงคือ Tris-

tan de Cufia ใน 1508 Faria y Sousa นักบันทึกชาวโปรตุเกสบอกว่าเกาะนี้มีแต่หินและทราย มีภูเขาสูงจรดฟ้าไม่มีทั้งต้นไม้และพืชพันธุ์ มีหุบเขาเล็กๆบางแห่งที่สามารถผลิตแอปเปิ้ลและปาล์มได้ รวมทั้งว่านหางจระเข้อย่างดี ที่เรียกว่า Zocotorinos อาหารส่วนมากเป็นข้าวโพด ข้าวอินเดีย มะขามและนม พวกชาวบ้านเป็นจาคอไบท์คริสเตียนเหมือนชาวเอธิโอเปียผู้ชายใช้ชื่อเหมือนอัครสาวก ส่วนผู้หญิงมักจะชื่อมารีย์พวกเขาบูชาและสวมใส่ไม้กางเขน และมีโบสถ์ของตนเอง และสวดวันละ 3ครั้งในภาษาแคลเดียน พวกเขามีภรรยาคนเดียวและเข้าสุหนัต อดอาหารอีกด้วยพวกผู้หญิงก็เข้าสงครามพร้อมผู้ชายคล้ายชาวอเมซอน เสื้อผ้าเป็นหนังและอาศัยอยู่ตามถ้ำ ใช้อาวุธเป็นหินและหนังสติ๊กพวกเขาอยู่ใต้ปกครองของกษัตริย์อาหรับแห่ง Caxem




Create Date : 26 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 1:09:32 น.
Counter : 707 Pageviews.

0 comment
ประวัตินักบุญฟรังซิส เซเวียร์ โดยสังเขป




นักบุญฟรังซิส เซเวียร์


 เป็นองค์อุปถัมภ์ของการแพร่ธรรม ท่านนักบุญฟรังซิส เกิดในค.ศ.1506 ในปราสาทเซเวียร์ แคว้นนาวาร์ ซึ่งในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสเปนจากครอบครัวที่มั่งคั่งร่ำรวย ในปีค.ศ. 1525 ท่านได้รับการศึกษาที่วิทยาลัย " นักบุญลาร์บารา " ในมหาวิทยาลัยปารีสท่านตั้งใจจะเดินในหนทางการเป็นนักวิชาการให้สมกับความเป็นผู้ดีทางเชื้อสายตระกูลของท่านเมื่อเรียนจบท่านก็ได้เป็นอาจารย์สอนปรัชญาในวิทยาลัยแห่งนี้ ฟรังซิส เซเวียร์เป็นเพื่อนร่วมห้องกับนักบุญปีเตอร์เฟเบอร์ ซึ่งชักชวนให้ท่านรู้จักกับนักบุญอิกญาซีโอ แห่ง โลโยลา และชายหนุ่มอีก 4 คน ทั้งหมดร่วมกันปฏิญาณตนที่จะทำงานเพื่อความรอดของวิญญาณและก่อตั้งคณะเยสุอิตอย่างไรก็ตามนักบุญฟรังซิสก็ยังมิได้เห็นด้วยกับจิตตารมณ์ของนักบุญอิกญาซีโอโดยทันทีแม้ว่าท่านจะตั้งใจอุทิศตนเพื่อศาสนาและเพื่อนมนุษย์แล้วแต่ท่านก็ยังปรารถนาที่จะรับใช้พระเจ้าในฐานะนักวิชาการของพระศาสนจักรมากกว่าจนกระทั่งท่านได้พบพระวาจาของพระเจ้าในหนังสือปฐมกาล บทที่ 12 : 1 ที่พระเจ้าตรัสกับอับราฮัมว่า 


“จงออกจากแผ่นดินของท่านจากญาติพี่น้อง จากบ้านของบิดา ไปยังแผ่นดินที่เราจะชี้ให้ท่าน” 


ด้วยพระวาจานี้ ฟรังซิสเริ่มเข้าใจว่าพระเป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์สิ่งใดในตัวของท่าน ท่านยังประทับใจพระวาจาของพระเป็นเจ้าที่พูดผ่านนักบุญอิกญาซีโออีกครั้งว่า

“จะมีประโยชน์อันใดสำหรับมนุษย์ หากได้โลกทั้งโลกเป็นกรรมสิทธิ์แต่ต้องสูญเสียวิญญาณไป” (มัทธิว 16 : 26)

ท่านพบว่าชีวิตที่ผ่านมาของท่าน ที่แสวงหาเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติล้วนเป็นสิ่งจอมปลอมไร้ค่า ถ้าเทียบกับสมบัติที่วิญญาณของท่านจะได้รับในสวรรค์ด้วยพระวาจานี้ท่านเปลี่ยนแปลงตัวเองและตั้งใจจะติดตามพระคริสต์เจ้าอย่างเต็มที่

ในปี 1534 ท่านและนักบุญอิกญาซีโอและชายหนุ่มอีกรวม 7 คนรวมกลุ่มกันตามจิตตารมณ์ที่ตั้งไว้ และอีก 3ปีท่านก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์ อิกญาซีโอได้กระตุ้นจิตตารมณ์การเป็นธรรมทูตของท่านอีกครั้งด้วยคำว่าพูด

“ฟรังซิส จงออกไปและจุดไฟให้กับทั่วทั้งโลก”

คำพูดนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ท่านได้รับแรงดลใจให้สมัครใจออกไปประกาศพระวาจาของพระในโลกที่ยังไม่รู้จักพระวรสาร


ในสมัยนั้น เป็นยุคแห่งการเดินเรือและสำรวจดินแดนใหม่ๆ นอกทวีปยุโรป โปรตุเกสมีอำนาจอยู่ในเอเชีย สามารถตั้งสถานีการค้าและอาณานิคมสำคัญๆ ตามเมืองท่าชายทะเลทั่วทั้งเอเชีย ตั้งแต่เมืองกัวในชายฝั่งตะวันตกของอินเดียมะละกาในมาเลเซีย หมู่เกาะโมลุคกะในอินโดนีเซีย และเกาะมาเก๊าเมื่อมีการค้าก็ย่อมมีการประกาศศาสนาตามไปด้วยตามสิทธิ์อุปถัมภ์ Padroado ที่โปรตุเกสได้รับจากสันตะสำนัก อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ที่จะสมัครใจออกไปแพร่ธรรมในดินแดนอันห่างไกลมีน้อยต่อมากษัตริย์ฮวนที่ 3 แห่งโปรตุเกสทรงพระประสงค์จะจัดให้มีธรรมทูต 2 ท่านจากคณะเยซูอิต ออกไปแพร่ธรรมในอินเดีย พระองค์ทรงขอความช่วยเหลือมายังท่านนักบุญอิกญาซิโอฟรังซิส เซเวียร์จึงเปลี่ยนความตั้งใจที่จะเป็นนักวิชาการ ไปเป็นมิชชันนารีในดินแดนเอเซียเพื่อที่จะช่วยเหลือวิญญาณที่ยังไม่รู้จักพระเยซูเจ้า ท่านเดินทางออกจากลิสบอนในปี 1541 เมื่ออายุได้ 35 ปี


บนเรือ แม้ว่าท่านจะป่วยไข้จากการเดินทางที่ยากลำบาก แต่ท่านใช้ชีวิตอย่างอดทนเรียบง่ายและเต็มไปด้วยความปิติยินดี ด้วยบุคลิกภาพอันน่ารักของท่านจึงสามารถผูกมิตรกับบรรดาลูกเรือและกะลาสีได้ทั้งลำเรือท่านสามารถสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระวาจาของพระคริสต์เจ้าในลำเรือนั้นได้และใช้ชีวิตเหมือนกับเป็นคริสตชนรุ่นแรก ท่านอภิบาลและดูแลผู้ป่วยใกล้จะตายบนเรือมาตลอดทางเมื่อท่านเดินทางไปถึงเมืองกัว อาณานิคมของโปรตุเกสในอินเดียท่านก็ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวทมิฬนาฑู

 ท่านพยายามเรียนภาษาท้องถิ่นและหลังจากมิสซาวันอาทิตย์ ท่านจะออกไปแพร่ธรรมกับชาวพื้นเมือง โดยเดินสั่นกระดิ่งไปตามถนน เรียกบรรดาเด็ก ๆ มาชุมนุมฟังคำสอนในวัดแปลพระวรสารโดยอาศัยล่ามและใช้บทเพลงง่าย ๆ ในการสวดภาวนา ท่านสอนบทข้าพเจ้าเชื่อฯบัญญัติสิบประการ บทข้าแต่พระบิดา และบทภาวนาอื่น ๆ ที่เด็ก ๆ สามารถเข้าใจได้และยังชักชวนให้ผู้ใหญ่เข้ามาฟังคำเทศน์สอนของท่าน แม้ว่าเราอาจจะเคลือบแคลงว่าท่านได้รับพระพรพิเศษของพระในการพูดภาษาต่างประเทศหรือไม่แต่ท่านก็สามารถเผยแผ่พระวรสารโดยอาศัยความรักและการลงมือปฏิบัติอันเกิดจากพระหรรษทานที่ท่านได้รับ 


ท่านยังออกไปรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้อนาถาทั่วไปเยี่ยมและให้กำลังใจคนที่ติดคุก และฟังแก้บาปในคุก ท่านบันทึกว่า “ฉันต้องฟังชีวิตทั้งหมดของพวกเขา” ท่านไปส่งศีลมหาสนิทให้กับคนเป็นโรคเรื้อนเสมอ ๆ มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นหลายครั้งผ่านทางบทข้าพเจ้าเชื่อฯท่านเดินทางไปมาหลายครั้งระหว่างเมืองกัวกับเมืองชายฝั่งทางภาคใต้ของอินเดีย แม้ว่าการเดินทางในสมัยนั้นจะยากลำบากมากแต่ท่านรักความยากลำบาก ดังที่ท่านบันทึกไว้ว่า


“ผู้ที่รักกางเขนของพระคริสต์จะพิจารณาชีวิตที่ถูกทดลองว่าเป็นชีวิตพระหรรษทานและการหนีไปจากกางเขนก็คือความตายสำหรับพวกเขาเพราะไม่มีความตายใดที่จะน่ากลัวเกินไปกว่าการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพระเยซูเจ้าเพราะหลังจากที่ได้รู้จักพระองค์เพียงครั้งเดียวแล้วท่านจะกล้าละทิ้งพระองค์เพื่อดำรงชีวิตตามน้ำใจของตนเองหรือข้าพเจ้าเสริมแก่ท่านว่า เพื่อนรักไม่มีกางเขนใดที่จะเปรียบเทียบได้กับกางเขนเช่นนี้อีกแล้ว ในทางกลับกันก็คือชีวิตเราจะได้รับพระพรหรือในการใช้ชีวิตเหมือนกำลังจะตายไปวัน ๆ ท่านต้องหักความปรารถนาของท่าน ไม่ใช่เพื่อความต้องการของเราอีกต่อไปแต่เป็นการมอบความปรารถนาทั้งหมดแด่พระเยซูคริสต์”


ชีวิตของท่านนักบุญก็เป็นการอุทิศตนทั้งครบแด่พระเป็นเจ้าในการเป็นธรรมทูตอย่างแท้จริงท่านละจากบ้านเมืองพี่น้องของท่านมาเหมือนอับราฮัมที่พระเจ้าทรงเรียกออกไปยังดินแดนที่ทรงจัดเตรียมให้ท่านไม่เคยคิดหวังว่าจะได้กลับไปเห็นแผ่นดินยุโรปอีกในชีวิตนี้ในจดหมายของท่านลงท้ายถึงบรรดาพี่น้องในคณะเยสุอิตท่านขอร้องในพระนามพระเป็นเจ้าว่า


 “พี่น้อง ข้าพเจ้าขอร้องท่านให้ช่วยกรุณาเขียนเล่าเรื่องสมาชิกทุกคนส่งมาให้ข้าพเจ้าด้วย เพราะข้าพเจ้าไม่มีความหวังว่าจะได้เห็นหน้ากันอีกแล้วในชีวิตนี้แต่ก็จะเป็นเหมือนที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “แล้วในที่สุด เราก็จะได้พบหน้ากันอีก”


ในบางหมู่บ้านของอินเดียใต้ มีชุมชนคริสตังที่บรรดามิชชันนารีรุ่นก่อนหน้าหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อลงไปแล้วแต่เมื่อชาวโปรตุเกสและพระสงฆ์เคลื่อนย้ายออกไป ก็ไม่มีใครดูแลพวกเขาคนพื้นเมืองผู้ถูกทอดทิ้งเหล่านี้ทั้งยากจนและไม่มีความรู้รู้แต่เพียงว่าตัวเองเป็นคริสตชน แต่ไม่มีความรู้ใด ๆ เกี่ยวกับศาสนาเลยเมื่อท่านไปถึง ก็เร่งโปรดศีลล้างบาปให้กับลูกหลานของคนเหล่านั้น ท่านบันทึกว่า


 “เด็กๆ เหล่านี้ไม่รู้จักแม้กระทั่งมือซ้ายหรือมือขวาแต่ก็มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้พวกเขาไม่ยอมให้ข้าพเจ้ากินหรือดื่มหรือพักผ่อนอะไรจนกว่าจะสอนให้พวกเขาสวดภาวนาสักบทดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเริ่มค่อย ๆ ที่จะเรียนรู้พระวาจาของพระเจ้าที่ว่า“พระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนเด็ก ๆ เหล่านี้”


“ผู้คนเหล่านี้แท้จริงแล้วมีสติปัญญาดีบางคนก็แสดงความเฉลียวฉลาดอย่างน่าทึ่ง จนข้าพเจ้ามั่นใจว่าหากเขาได้รับการสั่งสอนอย่างดีแล้ว เขาจะเป็นชาวคริสต์ที่ดีเลิศทีเดียวคนเหล่านี้มีเหตุผลเดียวที่จะไม่มาเป็นคริสตังก็คือ ไม่มีใครเดินทางมาสั่งสอนชี้นำทางให้เขาเป็นคริสตังได้ข้าพเจ้าคิดอยากจะออกเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยทั่วทั้งยุโรป โดยเฉพาะในปารีสตะโกนร้องเหมือนคนบ้า เผื่อว่าใครก็ตามที่ถูกฝึกให้เรียนหนังสือมากกว่าฝึกงานเมตตาจิตจะได้เกิดความสำนึกบ้างว่า น่าโศกเศร้าเพียงใดที่วิญญาณจำนวนมากจะต้องสูญเสียไปเพียงเพราะไม่มีใครนำเขาไปรู้จักพระเยซูคริสต์ บางทีพวกนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเหล่านั้นอาจจะกลับใจและร้องว่า“ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่แล้วพระเจ้าข้า พระองค์ทรงพระประสงค์ให้ข้าฯทำสิ่งใดโปรดส่งข้าพเจ้าไปยังที่ ๆ พระองค์ต้องการเถิด แม้แต่ในอินเดียก็ตาม”


 ในจดหมายของท่านที่เขียนไปยุโรปเรียกร้องจิตตารมณ์การเป็นธรรมทูตกลับไปยังบรรดาสมาชิกของคณะเยสุอิตท่านมีความปรารถนาอยากจะให้มีพระสงฆ์หรือผู้แพร่ธรรมที่ร้อนรนจำนวนมากในเอเชียดังที่ท่านส่งข้อความไปยังโรมว่า 


“พระคริสต์ผู้ทรงประสงค์จะเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งพระวรสารโดยใช้ข้าพระองค์คนรับใช้ที่ชั่วช้า ในแผ่นดินที่ร้อนจัด พระองค์ทรงใช้สิ่งสร้างที่น่าสงสารนี้ให้ทำงานอันใหญ่โตซึ่งนำความอับอายมาให้กับคนที่เกิดมาโดยมีความสามารถมากมายแต่ไม่ได้ใช้และยังเป็นการเสริมกำลังใจให้กับคนอ่อนแอ เมื่อพวกเขาได้เห็นข้าพเจ้าผู้ไม่มีอะไรนอกจากฝุ่นและขี้เถ้า ได้เป็นประจักษ์พยานในงานแบบเดียวกันกับอัครสาวกจะเป็นความยินดีเพียงใดหนอ ถ้าข้าพเจ้าจะได้กลายเป็นผู้รับใช้ของผู้ที่ได้อุทิศตนทำงานในสวนองุ่นของพระเป็นเจ้าอย่างแท้จริง”


งานของท่านในอินเดียใต้ได้ผลมากมายเพราะท่านรู้จักดัดแปลงพระวาจาของพระเป็นเจ้าให้เข้ากับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นท่านใช้เวลาว่างนั่งแปลคำสอนออกเป็นภาษามะละบาร์ และเขียนสำเนาฝากเอาไว้กับผู้ที่สามารถอ่านออกเขียนได้ย้ำให้เขาคัดลอกออกแจกจ่ายเอาไว้ท่องจำหลายครั้งเมื่อมีคนเข้ามารุมล้อมขอความช่วยเหลือจากท่านมาก ๆไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมคนไข้ การฝังศพคนตาย ท่านก็ใช้วิธีสอนให้เด็ก ๆสวดบทข้าพเจ้าเชื่อฯ เพื่อส่งเป็นตัวแทนออกไปบรรเทาใจตามบ้านของผู้ป่วยสอนให้เขาสวดและยืนยันความเชื่อด้วย หลาย ๆครั้งอัศจรรย์ก็เกิดขึ้นจากความไร้เดียงสาของพวกเด็ก ๆที่ไปยืนสวดอยู่ข้างเตียงคนป่วย 

ด้วยวิธีนี้ท่านก็สร้างเยาวชนธรรมทูตและกลุ่มคริสตชนจำนวนมาก ท่านบันทึกเอาไว้ว่า 

“หลาย ๆ ครั้งข้าพเจ้าต้องโปรดศีลล้างบาปให้คนทั้งหมู่บ้านในวันเดียวจนแขนของข้าพเจ้าล้าจนไม่อาจยกขึ้นได้ รวมทั้งหมดเสียงที่จะกล่าวบทข้าพเจ้าเชื่อรวมทั้งการโปรดศีลล้างบาปให้กับเด็ก ๆ ทารกซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าจะเติบโตขึ้นเป็นคนดีกว่าบรรพบุรุษของพวกเขาสิ่งหนึ่งที่พวกเด็ก ๆ ร้อนรนมากก็คือการต่อต้านการบูชารูปเคารพ ทุก ๆครั้งที่พวกเขารู้เห็นการแอบบูชารูปเคารพในบ้านของบิดามารดา เขาจะรีบมาบอกข้าพเจ้าแล้วเราจะไปที่นั่นพร้อมกันกับเด็กๆ กลุ่มใหญ่ผู้ซึ่งจะทำให้ปีศาจต้องอับอายด้วยการดูถูกเหยียดหยามมันตรงกันข้ามกับที่มันได้รับเกียรติจากการบูชาของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อไปถึงพวกเขาจะวิ่งไปยังรูปเคารพเหล่านั้น ผลักให้ล้มลงและถ่มน้ำลายรด ทุบตีเตะต่อยจนกระทั่งแตกเป็นชิ้นๆ”


ด้วยความเคร่งครัดของท่านเกี่ยวกับการนับถือรูปเคารพที่ไม่ใช่พระเจ้าเที่ยงแท้และในอินเดียเองก็มีศาสนาดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้วคือศาสนาพราหมณ์ ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับบรรดาพราหมณ์นักบวชซึ่งเป็นชนชั้นสูงและได้รับการศึกษาอย่างดีในสังคมอินเดียท่านบันทึกไว้ว่า


“พวกพราหมณ์บูชาพระเจ้าหลายองค์กระทำพิธีกรรมที่ลี้ลับเหนือธรรมชาติในเทวาลัยและบูชารูปเคารพ ข้าพเจ้ามักจะสอนพวกเขาด้วยคำพูดของดาวิดว่า“โปรดนำข้าพเจ้าออกจากจากกลุ่มชนที่ไม่บริสุทธิ์และชั่วร้ายด้วยเถิดพระเจ้าข้า”พวกพราหมณ์เป็นนักโกหกและขี้โกงจนเข้ากระดูกดำ พวกเขาศึกษาเรียนรู้อย่างเดียวคือจะทำอย่างไรจึงจะโกงคนยากจนได้ พวกเขาประกาศกับชาวบ้านว่า พระเจ้าต้องการทรัพย์สินเพื่อสร้างวิหารใหม่ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นเงินที่พวกพราหมณ์เองต้องการ หรือเป็นสิ่งของที่ครอบครัวของพราหมณ์ต้องการดังนั้นเขาจึงหลอกลวงชาวบ้านที่น่าสงสารว่า รูปเคารพเหล่านั้นสามารถกินและดื่มได้หรือตื่นและหลับได้เหมือนกับมนุษย์สามัญ ชาวบ้านน่าสงสารที่เคร่งครัดมาก ๆ จึงต้องถวายบูชาให้เทพวันละ 2 รอบ คือก่อนอาหารเย็นและก่อนอาหารค่ำ เป็นเงินจำนวนหนึ่ง พวกพราหมณ์จะกินเลี้ยงและดื่มไปพร้อมกับเสียงกลองเพื่อให้พวกชาวบ้านเชื่อว่าเทพเจ้ากำลังเสวยอยู่ด้วย และหากใครไม่ยอมถวายทรัพย์สินที่ต้องการพวกเขาก็จะอ้างว่าจะเป็นการทำให้เทพเจ้าพิโรธ และส่งภัยพิบัติต่าง ๆ นานามาให้ทั้งโรคระบาด ผีร้ายต่าง ๆ ชาวบ้านที่น่าสงสารก็จะเชื่อฟังอย่างไม่ยั้งคิด พวกพราหมณ์ไม่พอใจที่ข้าพเจ้ารู้ทันและพยายามส่งของขวัญต่างๆ มาติดสินบน แต่ข้าพเจ้าก็ส่งคืนทั้งหมด ในที่สุดพวกเขาก็สารภาพว่าเขาเชื่อว่ามีพระเจ้าหนึ่งเดียวเช่นกัน และสวดภาวนาให้กับข้าพเจ้าด้วยแต่ข้าพเจ้าตอบปฏิเสธไปว่า ข้าพเจ้ามาเพื่อประกาศยกเลิกการนับถือศาสนาที่เท็จเทียมหากพวกเขาจะอยู่ในหนทางที่หันหลังให้กับศาสนาพราหมณ์แล้วข้าพเจ้าก็คงยินดีสวมกอดพวกเขาด้วยศาสนาของพระเยซูคริสต์"


ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่กับพวกพราหมณ์ ข้าพเจ้าไม่สามารถกลับใจใครได้เลย นอกจากชายหนุ่มเพียงคนเดียววันหนึ่งข้าพเจ้าเดินผ่านเทวาลัยฮินดู ซึ่งในนั้นมีพราหมณ์อยู่กว่า 200 คนพวกเขาพร้อมใจกันออกมาพบข้าพเจ้า และได้สนทนากันกว่าชั่วโมง หลังจากข้าพเจ้าถามพวกเขากลับไปว่าพระเจ้าของเขาบัญญัติอะไรบ้างเพื่อจะได้รับชีวิตที่มีความสุขพวกเขาถกเถียงกันและส่งคนหนึ่งมาตอบข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชราที่ดูมีประสบการณ์มีอายุกว่า 80 ปี เขากลับย้อนถามข้าพเจ้าว่า“แล้วพระเจ้าของพวกคริสเตียนกำหนดอะไรไว้บ้าง”

 ข้าพเจ้าสังเกตพฤติกรรมของเขาและนิ่งอยู่ไม่ยอมตอบจนกว่าเขาจะตอบคำถามแรกของข้าพเจ้าก่อนในที่สุดเขาก็สังเกตได้ว่าข้าพเจ้าจงใจที่จะไม่ตอบก่อน จึงกล่าวว่าเทพเจ้าของพวกเขามีบัญญัติ 2 ประการเท่านั้นที่จะช่วยให้ชีวิตได้รับความสุขสมบูรณ์ข้อแรกคือห้ามฆ่าโค เพราะว่าในรูปของโค พระเป็นเจ้าจะได้รับการเคารพคำตอบนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องลดความโกรธลง กลายเป็นความเศร้าใจสังเวชเพราะนี่คือความมุ่งหมายของปีศาจที่ดลใจให้พวกเขาเคารพบูชาพวกมันด้วยหัวใจที่มืดบอดแทนที่จะนมัสการพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้ 

ข้อที่สองคือ ต้องแสดงความกรุณาต่อเหล่าพราหมณ์ซึ่งเป็นนักบวชเมื่อรับฟังแล้ว ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้พวกเขาฟังบ้างโดยเริ่มจากการประกาศบทข้าพเจ้าเชื่อฯ ด้วยเสียงอันดัง และบอกพวกเขาว่าสวรรค์เป็นอย่างไร นรกเป็นอย่างไร หลังจากพวกเขาฟังถ้อยคำเหล่านี้แล้วก็กรูกันมาสวมกอดข้าพเจ้า และประกาศว่าพระเจ้าของชาวคริสต์คือพระเจ้าเที่ยงแท้ และกฎของพระองค์ก็มีเหตุผลสมบูรณ์ พวกเขาถามต่อไปอีกว่าวิญญาณของมนุษย์นั้นเหมือนกับวิญญาณของสัตว์ ที่ต้องสูญสลายไปพร้อมกับร่างกายหรือไม่ในข้อนี้ต้องขอบพระคุณพระเป็นเจ้า ที่ช่วยประทานพระญาณสอดส่องลงมาให้ข้าพเจ้าจึงได้ตอบพวกเขาไปอย่างสมบูรณ์ 

ข้าพเจ้าสามารถกล่าวพิสูจน์ความเป็นอมตะของวิญญาณได้พวกเขายังถามข้าพเจ้าวิญญาณออกจากร่างกายได้อย่างไรหลังความตายและเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในความฝันด้วยหรือเปล่า สุดท้าย พวกเขาถามข้าพเจ้าว่าพระเป็นเจ้ามีสีผิวอะไร เพราะเขาเห็นว่ามนุษย์มีผิวกายหลายสีและด้วยเหตุที่ชาวอินเดียมีผิวสีดำจึงคิดว่าพระเป็นเจ้าควรต้องมีผิวกายสีดำ และเป็นสีดำอย่างยิ่งด้วยนอกจากนั้นรูปเคารพเหล่านี้ยังถูกทาด้วยน้ำมันจนเป็นมันลื่น ส่งกลิ่นประหลาด ๆนั่นทำให้ดูยิ่งน่าเกลียดขึ้นไปอีกจากที่โดยปกติก็น่าเกลียดอยู่แล้ว

 ข้าพเจ้าสามารถตอบคำถามพวกเขาด้วยเรื่องราวทางศาสนาได้ทั้งหมดจนกระทั่งเป็นที่พอใจแล้ว ก็มาถึงจุดประสงค์ของการแพร่ธรรมคือขอให้พวกเขายอมรับพระคริสต์ศาสนาแต่ทว่าพวกเขากลับลังเลและพูดกันว่าหากเปลี่ยนศาสนาแล้วพวกเขาจะใช้ชีวิตอย่างไรและใครจะมาหาเลี้ยงพวกเขาได้”

“ข้าพเจ้าได้พบพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งที่มีการศึกษาดีเขาบอกว่าได้รับการศึกษามาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงของอินเดียด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงอยากจะสอนศาสนาเขาโดยลำพังในที่สุดเขาก็ยอมบอกความลับทางศาสนาของเขา ซึ่งข้าพเจ้ารับรองว่าจะไม่บอกกับใครข้อหนึ่งในหลายข้อก็คือ ในที่สุดแล้วมีพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้แค่องค์เดียวเป็นพระผู้สร้างฟ้าและแผ่นดิน เป็นผู้ที่เรามนุษย์สมควรจะกราบสักการะเขาบอกว่ารูปเคารพต่าง ๆ นั้นแท้จริงเป็นรูปจำลองของปีศาจพวกพราหมณ์มีตำรับตำราต่าง ๆ ที่บรรจุคำสอนของพระเจ้าเที่ยงแท้ไว้แต่เวลาเรียนนั้นต้องใช้ระบบมุขปาฐะคือถ่ายทอดปากต่อปากก็เหมือนกับที่เราเรียนในภาษาลาติน เขาได้อธิบายข้อความเชื่อต่าง ๆ ของเขากับข้าพเจ้าโดยลำพังเขาย้ำอีกว่า ในวันสำคัญทางศาสนาของพราหมณ์ พวกเขาจะไปชุมนุมกันสวดซ้ำ ๆ ว่า“โอ้พระเจ้า ข้าพเจ้าอ้อนวอนพระองค์ตลอดนิรันดร” 

พวกเขาปฏิญาณว่าจะต้องสวดซ้ำ ๆ เช่นนี้ด้วยเสียงต่ำเขายังอธิบายว่า ด้วยกฎของธรรมชาติ พวกพราหมณ์สามารถมีภรรยาได้หลายคนและในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ยังเสริมว่า ในอนาคตจะมีวันที่มนุษย์ทั่วทั้งโลกจะนับถือศาสนาเดียวกัน เมื่ออธิบายจบเขาก็ขอให้ข้าพเจ้าช่วยอธิบายข้อความเชื่อในศาสนาคริสตังและสัญญาว่าจะเก็บไว้เป็นความลับ แต่ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าจะไม่สอนสักคำเดียวถ้าท่านไม่สัญญาว่าจะเผยแพร่พระคริสต์ธรรมออกไป หลักธรรมของศาสนาคริสตังก็คือ“ผู้ที่เชื่อและได้รับศีลล้างบาปก็จะรอด” ด้วยพระวาจานี้และด้วยคำอธิบายของข้าพเจ้าก็เป็นการสรุปบทข้าพเจ้าเชื่อฯทั้งครบ ชายหนุ่มรีบจดบันทึกไว้อย่างระมัดระวังรวมทั้งเรื่องของบัญญัติสิบประการด้วย ในที่สุดเขาก็เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าเขาได้ฝันว่าตัวเขาเองกลายเป็นชาวคริสต์ด้วยความยินดีอย่างล้นเหลือและกลายเป็นพี่น้องร่วมงานกับข้าพเจ้า เขาขอให้ข้าพเจ้าล้างบาปเขาอย่างลับ ๆแต่ด้วยการกระทำเช่นนี้ย่อมขัดกับความชอบธรรมและไม่ถูกต้องข้าพเจ้าจึงมิได้ล้างบาปให้เขา แต่มั่นใจว่าด้วยพระเมตตาของพระเป็นเจ้าวันหนึ่งเขาจะกลายเป็นชาวคริสต์ที่ดีข้าพเจ้าจึงย้ำให้เขาออกไปประกาศแก่คนไม่รู้หนังสือทั้งหลายว่า มีพระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียวผู้ทรงสร้างสวรรค์และแผ่นดินแต่เขากลับขอร้องข้าพเจ้าว่าเขาจำเป็นต้องยึดมั่นในคำสัญญาที่ให้ไว้กับอาจารย์เพราะหากเขาประกาศความลับนี้ออกไป เขาอาจถูกวิญญาณชั่วร้ายเข้าสิงได้”

ต่อมาเมื่อท่านทราบว่าคณะเยซูอิตได้รับการรับรองจากสันตะสำนักและมีพระวินัยเรียบร้อยแล้วท่านจึงเข้าปฏิญาณตนต่อพระสังฆราชแห่งกัวและกลายเป็นผู้ปฏิบัติงานของคณะในภาคพื้นอินเดียเมื่อท่านจัดการปลูกฝังความเชื่อลงในอินเดียอย่างมั่นคงแล้ว ท่านก็ออกเดินทางจากอินเดียไปมะละกาซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และเป็นศูนย์กลางการเดินทางของทวีปเอเชีย จากมะละกาท่านได้ออกไปเทศน์สอนตามหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลแปซิฟิกแม้ว่าจะมีอันตรายใหญ่หลวงเพราะการเดินทะเลในยุคนั้นจะต้องอาศัยความกล้าหาญแต่ท่านก็ทำงานของพระได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย 


ในปี 1547ท่านได้รู้จักกับอันจิมะ ชาวญี่ปุ่นที่หนีโทษมาพึ่งพาชาวโปรตุเกส และต่อมาได้รับศีลล้างบาปในนามเปาโลเขามีความร้อนรนมากและต้องการจะพบกับฟรังซิส พระสงฆ์ที่ชาวมะละกาทั้งปวงกล่าวขวัญถึงเปาโลได้เสนอให้ท่านไปแพร่ธรรมที่ญี่ปุ่นโดยกล่าวว่าที่ญี่ปุ่นนั้นมีระบบศีลธรรมและประเพณีที่ใกล้เคียงกับสเปน ท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปญี่ปุ่นแต่ก่อนหน้านั้นท่านเดินทางกลับไปสอนหนังสือในเมืองกัวเป็นระยะสั้น ๆ ในสามเณราลัยเซนต์ปอลที่รับนักศึกษาจากดินแดนห่างไกลทั่วทั้งทวีปเอเซียและแอฟริกาตะวันออก


ฟรังซิสเดินทางมาถึงคาโกชิมา ที่ญี่ปุ่นในปี 1549 และเดินทางไปยังเกียวโตเพื่อจะเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการขอเฝ้า ต่อมาท่านก็พบว่าพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นนั้นไร้ซึ่งพระราชอำนาจที่แท้จริงอำนาจทางการทหารตกอยู่ในกำมือของเหล่าขุนพลต่าง ๆที่ครองแคว้นดินแดนเสมือนเจ้าที่ดินในยุโรป แต่ท่านก็ได้รับอนุญาตจากไดเมียวหรือเจ้าผู้ครองนครให้เผยแผ่ศาสนาได้ตามใจชอบ

อย่างไรก็ตามด้วยอุปสรรคทางภาษา ท่านไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ จึงได้แต่อ่านคำแปลคำสอนดัง ๆในที่สาธารณะเท่านั้น ท่านทำงานในญี่ปุ่น 2 ปี และก่อตั้งวัดหลายแห่งมีชาวบ้านกลับใจมากมาย เมื่องานที่ญี่ปุ่นเกิดผลดีและมีธรรมทูตตามมาอีกหลายคนท่านจึงตัดสินใจจะไปแพร่ธรรมยังประเทศจีนท่านเดินทางออกจากเมืองท่าซางตาครู้สและมาถึงเกาะซางชวน ห่างจากแผ่นดินใหญ่ไปเพียง14 กิโลเมตรแต่ก็ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศจีนได้เพราะขณะนั้นรัฐบาลจีนปิดประเทศห้ามมิให้ชาวต่างชาติเข้าไป ท่านจึงติดอยู่ในเกาะนั้นแม้ว่าจะพยายามขอความช่วยเหลือจากชาวจีนและเสนอเงินจำนวนมาก แต่ท่านก็เข้าไปประเทศจีนไม่ได้อยู่ดีระหว่างที่รอความหวังอยู่นั้น 

ท่านล้มป่วยลงระหว่างทำมิสซาและอาการกำเริบหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งคืนวันที่ 2 ธันวาคม 1552ฟรังซิสก็สิ้นใจในห้องเก็บของใต้ท้องเรือบนเกาะซางชวนนั้นเอง ก่อนจะสิ้นใจท่านภาวนาถึงพระเป็นเจ้าว่า 

“ในพระองค์พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าหวังในพระองค์ อย่าให้ข้าพเจ้าหลงทางเลย”

ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดาผู้แพร่ธรรมและได้รับสมญานามว่าเป็นธรรมทูตแห่งเอเซียผู้เดินทางแพร่ธรรมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเป็นที่สองรองจากท่านนักบุญเปาโล

ตัวอย่างที่ดีของเพื่อน ๆ คือนักบุญอิกญาซีโอและชาวคณะเยซูอิตทำให้ท่านตัดสินใจเปลี่ยนทางเดินชีวิตของตนจากความสะดวกสบายในบ้านเมืองของตนเองออกไปประกาศพระวรสารในดินแดนห่างไกลที่ยังไม่รู้จักพระเยซูคริสตเจ้าท่านทำงานไปพร้อมกับคำภาวนาและใช้ชีวิตของตัวเป็นตัวอย่าง มีชีวิตจิตที่ร้อนรนด้วยความประสงค์จะช่วยวิญญาณให้รอดมากที่สุดเท่าที่จะมากได้แม้ว่าชีวิตการแพร่ธรรมของท่านจะไม่ยาวนานนัก ประมาณ 11 ปีเท่านั้น แต่ด้วยช่วงเวลาเพียงเท่านี้ ท่านเดินทางจากโมซัมบิคไปยังเมืองกัวและชายฝั่งทางใต้ของอินเดีย ออกเดินทางไปยังมะละกาในมาเลเซียและเข้าไปยังหมู่เกาะเครื่องเทศในทะเลแปซิฟิค จากนั้นก็เดินทางไปยังญี่ปุ่นจากญี่ปุ่นท่านทิ้งคริสตชนใหม่ไว้ 2000 คนให้ธรรมทูตรุ่นหลังทำงานต่อตัวท่านกลับมาที่มะละกาและตั้งใจจะไปแพร่ธรรมในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากสำหรับคนเมื่อ 500 ปีก่อนที่เดินทางด้วยเรือและเท้าไปทั่วเอเชียโดยไม่ต้องการแสวงหาทรัพย์สินเงินทองหรืออำนาจเพียงเพราะความเชื่อและความเมตตาที่จะนำพระคริสต์เจ้าไปสวมกอดชนชาติที่ยังไม่รู้จักพระองค์ท่านนักบุญทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยด้วยมือของท่านเพียงข้างเดียวก็ล้างบาปประชาชนไปถึง 30,000 คน


ปล. ทัศนคติเกี่ยวกับศาสนาอื่นๆของนักบุญฟรังซิสเป็นผลมาจากทัศนคติ

ของความเชื่อในยุคนั้น ปัจจุบัน พระศาสนจักรคาทอลิกเปลี่ยนท่าทีและ

ทัศนคติเช่นนั้นแล้ว คาทอลิกเคารพความจริงอื่นๆที่อยู่นอกพระศาสนจักร

เช่นเดียวกัน ให้เกียรติและแสวงหาแนวทางร่วมที่จะอยู่ด้วยกันบนพื้นฐาน

ของสันติสุขและการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ท่าทีของเมื่อ 500 ปีก่อนหมด

ไปแล้ว และเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ผู้ที่อ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์

มามากพอย่อมเข้าใจทัศนคติเช่นนี้ 






Create Date : 25 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 1:10:33 น.
Counter : 2597 Pageviews.

0 comment
จดหมายฉบับสุดท้ายของฟรังซิส เซเวียร์ (Last letter of St. Francis xavier)






จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายของท่านนักบุญฟรังซิส เซเวียร์
ผมได้ลองแปลโดยสังเขปจากเว็ปไซต์   //www.sspxasia.com/Newsletters/2002/Oct-Dec/St_Francis_Xaviers_last_letter.htm

ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ 

ขณะนั้นฟรังซิสอยู่ที่เกาะซานชวน ใกล้เมืองกวางตุ้ง ห่างออกไป 14 กิโลเมตรเท่านั้น ท่านไม่สามารถหาทางเข้าไปในประเทศจีนได้ แม้ว่าจะพยายามด้วยหลายวิธีแล้วก็ตาม สุดท้ายท่านก็สิ้นใจในเดือนธันวาคม 1552 หลังจากป่วยหนัก


มรณกรรมของน.ฟรังซิส เซเวียร์

(ที่มา : //www.sspxasia.com/)

จดหมายฉบับสุดท้ายของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์

ถึง Francisco Perez ในมะละกา

ด้วยพระเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้าของเราเรือดิอาโกเปรีรา และพวกเราทั้งหมดก็ได้มาถึงอ่าวซานชวน เราได้พบกับเรือพ่อค้าอื่นๆ อ่าวนี้ห่างจากเมืองกวางตุ้งแค่ 30 ลีค มีพ่อค้ามากมายจากเมืองกวางตุ้งมาที่อ่าวนี้เพื่อค้าขายกับพวกโปรตุเกสซึ่งพยายามช่วยเราติดต่อกับบรรดาพ่อค้าให้พาไปส่งที่บนแผ่นดินใหญ่ แต่ทั้งหมดต่างปฏิเสธกล่าวว่าพวกเขาจะต้องรับความเสี่ยงผิดชอบด้วยชีวิตหากข้าหลวงที่เมืองกวางตุ้งจับได้ว่าพวกเขาพาข้าพเจ้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต


ต้องขอบพระคุณพระเป็นเจ้าที่มีชายชาวกวางตุ้งผู้หนึ่งเรียกเงินจากข้าพเจ้าไป 200 เหรียญ อาสาจะพาข้าพเจ้าไปด้วยเรือเล็กที่มีเพียงลูกชายของเขาและคนรับใช้บางคนเป็นคนแจวเท่านั้นด้วยวิธีนี้ข้าหลวงเมืองกวางตุ้งจะจับไม่ได้ว่าพ่อค้าคนใดพาเขาเข้าไปในประเทศจีน เขาเสนอให้ข้าพเจ้าซ่อนอยู่ในบ้านเขา3-4 วัน และจะพาออกไปให้ถึงประตูเมืองในตอนเช้าตรู่ และจะให้ข้าพเจ้าเข้าไปยังบ้านเจ้าเมืองเพื่อแสดงสาส์นจากพระสังฆราชของเรา ที่จะส่งต่อไปยังพระจักรพรรดิจีนและบอกพวกเขาด้วยว่าเราเป็นมิชชันนารีที่มาเพื่อประกาศกฎของพระเป็นเจ้า


อย่างไรก็ตามมีชาวบ้านหลายคนไม่ไว้วางใจเขานัก เพราะมีความเสี่ยงหลายอย่างที่เราอาจต้องเผชิญอย่างแรก ชายผู้นั้นอาจจะโกงเราโดยพาไปปล่อยบนเกาะร้าง หรือโยนเราลงทะเลซึ่งรัฐบาลจีนไม่สามารถล่วงรู้ได้เลย อย่างที่สอง พวกเขาอยากพาเราไปถึงเมืองกวางตุ้งแต่เมื่อถึงที่นั่น ก็จะแจ้งทางการให้มาจับกุมเราเพราะจักรพรรดิจีนเข้มงวดเรื่องการเข้าออกประเทศโดยไม่มีใบอนุญาตมาก ชาวต่างชาติจะต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเท่านั้นนอกจากอันตรายสองประการแล้ว ยังมีความเสี่ยงอื่นๆอีกมากจาก ซึ่งข้าพเจ้าไม่อยากที่จะเอ่ยถึงในที่นี้


เราต้องวางใจในพระเมตตาของพระเป็นเจ้าเป็นสิ่งแรกเพราะเรามาเพื่อความรักของพระองค์และมารับใช้พระองค์เพื่อเผยแสดงพระเยซูคริสต์พระบุตรพระผู้ไถ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ด้วยพระหรรษทานศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานความชื่นชมยินดีฉะนี้แล้วหากเราล้มเลิกที่จะเชื่อมั่นในพระเมตตาและพระอานุภาพของพระองค์ เพราะเกรงกลัวอันตรายในการทำภารกิจของพระเป็นเจ้าความกลัวเช่นนี้กลับเป็นอันตรายเสียมากกว่าความชั่วต่างๆที่จะทำร้ายเราเสียอีก (เพราะยิ่งเรารับใช้พระองค์มากเท่าใดพระองค์ก็จะปกป้องเราจากอันตรายในชีวิตมากเท่านั้น)และหากพระเป็นเจ้าไม่ทรงอนุญาตแล้ว ปีศาจก็จะกระทำการใดๆไม่ได้เลย

เราจึงต้องทำตัวให้เข้มแข็งเหมือนที่

พระคริสต์ตรัสว่า “ท่านที่รัก


ชีวิตในโลกนี้ จะต้องสูญเสียชีวิตไป 


แต่ผู้ใดที่ยอมสูญเสียชีวิต


เพราะเห็นแก่พระเป็นเจ้าก็จะได้พบ


ชีวิตนั้น”

และ 


“ผู้ใดที่เอามือจับคันไถแล้วหันหลังกลับก็ไม่เหมาะสมกับพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า”


เราพิจารณาอันตรายต่อวิญญาณแล้วพบว่าเป็นอันตรายใหญ่หลวงยิ่งกว่าอันตรายต่อร่างกาย เราผ่านอันตรายทางร่างกายไปได้ย่อมปลอดภัยกว่าถ้าหากวิญญาณเราต้องตกในอันตรายเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอย่างไรเราก็ต้องหาทางเข้าสู่แผ่นดินจีนจนได้ ข้าพเจ้าหวังในพระเจ้าของเราว่าการเดินทางนี้จะเพิ่มพูนความศรัทธาอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าจะมีศัตรูหรืออุปสรรคมากมายเพียงใดที่คอยจับจ้องเรา เพราะ “ถ้าพระเจ้าสถิตกับเราแล้วผู้ใดจะเอาชนะเราได้”

Alvaro Ferreira และ Antonio China ป่วยมาตลอดการเดินทาง แต่ด้วยพระเมตตาของพระเจ้า เขากลับอาการดีขึ้นข้าพเจ้าพบว่าอันโตนิโอนั้นไม่สามารถเป็นล่ามได้แล้ว เพราะเขาลืมภาษาจีนไปจนหมดสิ้นเหลือแต่ Pero Lopez ผู้เป็นทาสของ Antonio de Lopez Bobadilha (ที่ตายในการรบที่มะละกา) เขาเสนอตัวจะเป็นล่ามแทนเขารู้การเขียนและอ่านภาษาโปรตุเกส และยังสามารถเขียนและอ่านภาษาจีนได้อีกด้วยเขากระตือรือร้นที่จะไปกับข้าพเจ้ามากขอพระองค์ประทานรางวัลแก่เขาในโลกนี้และในโลกหน้าด้วยเถิด

เมื่อเรามาถึงซานชวนแล้วเราได้สร้างวัดขึ้นและประกอบพิธีมิสซาทุกวันจนกระทั่งข้าพเจ้าป่วยและเป็นไข้ข้าพเจ้าป่วยอยู่นานกว่า 15 วัน และด้วยพระเมตตาของพระเจ้า ข้าพเจ้าก็อาการดีขึ้น จนสามารถไปฟังแก้บาปและเยี่ยมเยียนคนป่วยได้ ที่นี่ข้าพเจ้ามีความปรารถนาอยู่ประการเดียวคือเข้าไปให้ถึงประเทศจีนให้ได้พ่อค้าจีนหลายๆคนก็กระตือรือร้นที่จะพาข้าพเจ้าเข้าไปในจีน เพราะเขาเห็นความดีในพระคัมภีร์ของเราแต่ก็ไม่มีใครกล้าพาไปเพราะกลัวอันตรายจากข้าหลวง


เขียนในซานชวน


สำหรับวัดของพระมารดาและในวิทยาลัย ซึ่งต่อไปจะเป็นของพวกเราและของคณะเยสุอิตขอมอบทั้งหมดให้คุณพ่อวินเซนต์ วีกัส กรุณาส่งมอบให้ถึงเขาด้วยมือของท่านเองและให้สำเนาเงินบริจาคท่านสังฆราชมอบให้บ้านของพระมารดาและคณะเยสุอิตด้วยอย่าให้ผู้ใดเข้ามาจัดการกับวัดพระมารดายกเว้นคุณพ่อวินเซนต์และท่านจงถามคุณพ่อว่าส่วนของท่านมีอะไรบ้าง ข้าพเจ้าเชื่อว่าคุณพ่อยินดีรับภารกิจนี้ด้วยความรักจนกว่าอธิการแห่งวิทยาลัยเซาเปาโลจะได้ส่งคนอื่นมาประจำที่มะละกาและคงจะดีถ้าเบอร์นาโดจะอยู่กับเขาด้วยเพื่ออบรมเด็กๆ


ข้าพเจ้านับวันรอที่ชาวจีนกวางตุ้งผู้นั้นจะมารับแต่เขาก็ไม่มา ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จะกลับไปอินเดียหรือสยามดีและจากสยาม ข้าพเจ้าจะสามารถจะเข้าร่วมกับคณะทูตที่พระเจ้ากรุงสยามจะส่งไปยังราชสำนักจีนข้าพเจ้าเขียนมาบอกท่านว่า ท่านควรบอกดิโอโก เปรีรา ว่าถ้าเขาสามารถเข้าไปยังเมืองจีนได้และสามารถส่งจดหมายมาให้ข้าพเจ้าในสยามได้ โปรดส่งมาหาข้าพเจ้าเราอาจจะได้พบกันที่นั่นหรือที่เมืองท่าใดเมืองท่าหนึ่งในประเทศจีนโปรดรักษามิตรภาพกับดิโอโก เปรารีไว้ ทั้งในมะละกาและในอินเดียติดตามเขาในทุกที่ๆเขาไป เพราะเขาเป็นเพื่อนที่ดีของคณะของเรา


ขอพระคริสต์ช่วยเหลือเราด้วยเถิด อาแมน

จาซานชวน วันที่ 22 ตุลาคม 1552

Francisco.



ล. นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 1552 หลังจากล้มป่วยหนัก โดยท่านไม่สามารถเข้าไปยังแผ่นดินจีนได้




Create Date : 25 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 1:15:58 น.
Counter : 785 Pageviews.

0 comment
1  2  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments