วัดนอตเตรอดาม เดอ ลอเรตโต ลพบุรี



วัดนอตเตรอดาม เดอ ลอเรตโต ลพบุรี

เราต่างก็รู้ดีว่าคอนสแตนตินฟอลคอนได้รับพระราชบัญชาจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างบ้านหลวงรับราชทูตที่ริมวัดเสาธงทอง จังหวัดลพบุรี ซึ่งได้รับการออกแบบและตกแต่งอย่างหรูหราอลังการที่สุดเท่าที่วิศวกรรมของชาวสยามจะเลือกอำนวยได้ ดังนั้นสิ่งก่อสร้างในบ้านหลังนี้จึงมีลักษณะแบบศิลปะบาโรก ซึ่งกำลังเฟื่องฟูอยู่ในฝรั่งเศส แต่ใช้ช่างชาวสยาม เราจึงเห็นรูปแบบของหน้าจั่ว สามเหลี่ยมแบบเรอเนสซองซ์อยู่ในทุกที่ อย่างไรก็ตามมีสิ่งก่อสร้างหลังหนึ่งภายในบ้านหลวงรับราชทูตที่สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะสยามโดยแท้   นั่นก็คือโบสถ์น้อย chapel ซึ่งใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของบรรดาบาทหลวงและราชทูต ที่รู้จักกันในชื่อวัดแม่พระแห่งลอเรตโต หรือนอตเตรอดาม แห่งลอแรตต์ (Notre-Dame de Luarette)"



โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นตามแบบศิลปะไทยแต่ใช้แผนผังแบบกากบาทคล้ายกับไม้กางเขน ทำให้เป็นอาคารทรงจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนและเจาะช่องหน้าต่างบางช่องซึ่งทำให้คิดว่าแต่เดิมอาจจะมีการประดับกระจกสีก็เป็นได้


จากบันทึกการเดินทางครั้งที่ 2 พ. ศ. 2230 ของบาทหลวงตาชาร์ด ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาพำนักในประเทศสยามในระยะเวลานั้นได้กล่าวถึงโบสถ์แห่งนี้ว่า


"ฟอลคอลได้สร้างขึ้นอุทิศถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า โรงสวดหลังนี้ซึ่งอยู่ที่เมืองละโว้กำลังสร้างใกล้จะเสร็จอยู่แล้ว ครั้งเมื่อท่านเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์มานั้น ก็ได้ใช้สถานที่นี้แลเป็นที่กล่าว มิสซาตลอดเวลาที่ท่านพำนักอยู่ที่นั่น แต่ครั้งนั้นยังไม่ทันได้ตกแต่งประดับประดาอะไรเลย...ไม่มีโรงสวดในบ้านของเอกชนที่จะหรูหราและกว้างขวางเท่าหลังนี้เลย 



โรงสวดหลังนี้ไม่มีความสม่ำเสมอและได้ส่วนสัดตามรสนิยมของผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรม เพราะว่า ม.ก็องสตังซ์ไม่มีสถาปนิกจึงให้สร้างไปตามความเห็นดีเห็นงามของตนเอง แต่ก็ยากที่จะตำหนิเขาได้เหมือนกัน หินอ่อนอันมีค่าซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันและมีราคาแพงมากในชมพูทวีป ถูกนำมาใช้อย่างไม่อั้น" 



"ไม่ว่าจะทอดสายตาไปทางไหน ตั้งแต่หลังคาโรงสวดลงมาถึงพื้นชั้นล่างก็เห็นแต่ทองคำและการทาสีไว้ทั้งสิ้นภาพวาดอันแสดงต่อเนื่องกันโดยลำดับถึงรหัสต่าง ๆ ของพระคัมภีร์ทั้งฉบับเก่าและฉบับใหม่ไม่สู้จะงามนัก แต่ก็ให้สีสันได้ดีถึงขนาดและจิตรกรซึ่งมีสัญชาติเป็นชาวญี่ปุ่นได้แสดงประจักษ์ไว้ว่า วิจิตรศิลป์นั้นได้รับการยกย่องและการศึกษากันมาแล้วเป็นอย่างดีในชมพูทวีป เท่าๆ กับในทวีปยุโรปเหมือนกันและจิตรกรชาวอินเดียกับชาวจีนนั้นมีฝีไม้ลายมือมิได้เป็นรองไปกว่าจิตรกรชาวยุโรปชั้นครูเลยสักนิด 


ตู้ศีลซึ่งกำลังทำอยู่ขณะนี้ เมื่อเสร็จแล้วจะมีขนาดใหญ่มากและเป็นเงินทึบทั้งหลัง ไม่มีแผ่นลูกไม้ถักบนเครื่องประดับแต่ผ้าที่ใช้คลุมนั้นสวยงามอย่างยิ่งและบางเบามาก หลังคาโรงสวดหลังนี้ทำซ้อนเป็นสามชั้นเหมือนหลังคาพระอุโบสถ มุงด้วยแผ่นตะกั่วถ้ำ อันเป็นโลหะชนิดหนึ่งเนื้อค่อนข้างขาว มีส่วนผสมระหว่างดีบุกกับตะกั่ว แต่มีความเบากว่าโลหะทั้งสองอย่างนี้มาก และมีลูกกรงระเบียงสูงขนาดยืนเท้าแขนได้ล้อมโดยรอย และคั่นเรือนสองหลังที่ ม.ก็องสตังซ์ให้สร้างขึ้นที่เมืองละโว้  เพราะคนสยามถือเคล็ดในเรื่องนี้และอ้างว่าต้องปันเขตพัทธสีมา อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โดยแยกออกห่างจากบ้านเรือนที่ผู้คนอยู่อาศัยตรงหน้าประตูซึ่งออกไปสู่ถนน มีลานขนาดใหญ่พอใช้ทำเป็นรูปอัฒจันทร์ต้องขึ้นบันไดไปสิบสองหรือสิบห้าขั้น ตรงกลางนั้นมีมหากางเขนอันใหญ่ทำด้วยศิลา ซึ่งคงจะปิดทองในโอกาศต่อไป ตั้งอยู่บนฐานแท่นอันกว้าง ซึ่งการประดับลวดลายและโครงสร้างนั้นแตกต่างกับสถาปัตยกรรมของเรามาก 

.

.

โดยรอบลานนี้สิ่งปลูกสร้างคล้ายเฉลียงทางเดินซึ่งมีหลังคาคลุมสูงประมาณสามฟุต มีช่องกุฏิเล็กในผนังเรียงรายไปเป็นระยะๆ เพื่อตงตะเกียงโคม ซึ่งเขาจุดทิ้งไว้ตั้งแต่ต้นๆ พิธีถวายบูชาในวันมหาสมโภชไปกระทั่งถึงวันรุ่งขึ้น...นามว่านอเตรอะ-ดาม เดอ ลอแรตต์ (Notre-Dame de Luarette)"


โบสถ์แห่งนี้ได้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาของบรรดาบาทหลวงคณะเยซูอิตที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์อยู่เป็นระยะๆ คอนสแตนตินฟอลคอนและภรรยาเองก็ใช้โบสถ์แห่งนี้ประกอบพิธีมิสซาด้วย เช่นพิธีมิสซาใหญ่ตอนเที่ยงคืนในวันพระคริสตสมภพ ของปีพ.ศ 2230  แต่หลังจากที่พระยาวิชาเยนทร์อำนาจลงและพระเพทราชาก่อการปฏิวัติขับไล่บรรดาชาวฝรั่งเศสออกจากกรุงสยามไปแล้ว โบสถ์แห่งนี้ก็คงถูกทิ้งร้างไปตามกาลเวลา


ในสมัยรัตนโกสินทร์มีชาวต่างชาติบางคนที่ทราบเรื่องราวการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นของออกญาวิชาเยนทร์ ก็ได้เดินทางขึ้นมายังลพบุรีเพื่อเยี่ยมเยียนโบสถ์หลังนี้ เช่นในกรณีของพระสังฆราชจอห์นบัปติสต์ ปาเลอกัว ท่านได้กล่าวว่าโบสถ์แห่งนี้เคยถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นวัดในศาสนาพุทธและมีการนำพระพุทธรูปไปตั้งไว้บนพระแท่นบูชา แต่ก็ไม่สามารถมีผู้ใดเข้าไปพำนักได้นานนัก เชื่อกันว่าใครก็ตามที่ไปอาศัยอยู่ในโบสถ์แห่งนี้มักจะมีอันเป็นไปหรือป่วยไข้ จนโบสถ์ถูกทิ้งร้างไป


เซอร์จอห์นเบาว์ริงซึ่งเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญากับกรุงสยามในช่วงรัชกาลที่ 4  ก็ได้ขึ้นมาเยี่ยมเยียนโบสถ์แห่งนี้ด้วย เขายังได้เก็บเอาหัวเสาจำหลักของวัดแห่งนี้กลับไปยังอังกฤษทั้งยังบันทึกไว้ว่า


"วังของฟอลคอลยังปรากฏให้เห็นอยู่ที่เมืองลพบุรี เมืองนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.1143 ทั้งยังมีซากของโบสถ์คริสเตียนปรากฏอยู่ โบสถ์นี้ฟอลคอลเป็นผู้จัดตั้งขึ้น และตามคำบอกเล่าที่สืบทอดกันมานั้ร เล่าว่าฟอลคอลถูกประหารในโบสถ์แห่งนี้ ข้าพเจ้าได้นำส่วนยอดของเสาหินในโบสถ์ซึ่งสลักเสลาตกแต่งด้วยทองติดตัวมาด้วยจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของโบสถ์คริสเตียนแห่งแรกที่สร้างขึ้นบนแผ่นดินสยาม...

.

.

คำจารึกคำจารึก "พระเยซู พระผู้ไถ่บาป" (Jesus Hominum Salvator) ยังคงปรากฏอยู่เหนือซุ้ม-ที่อยู่เหนือแท่นบูชาซึ่งขณะนี้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป"



เนื่องจากโบสถ์แห่งนี้อยู่ในสภาพดี เมื่อเทียบกับโบราณสถานอื่นๆในกรุงศรีอยุธยา เพราะสภาพชำรุดทรุดโทรมส่วนมากเกิดจากการทิ้งร้างและการโจรกรรม โครงสร้างหลักของอาคารและผนังจึงยังอยู่ครบถ้วน ยกเว้นแต่หลังคาเท่านั้นที่หักพังไป จึงง่ายต่อการสันนิษฐานรูปแบบสมบูรณ์ ผมจึงลองใช้โปรแกรม sketchup และ vray  Render ดูว่าพอจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หลังคานั้นก็ยึดเอาตามแบบที่บาทหลวงตาชาร์ดกล่าวไว้ว่ามุงด้วยดีบุก ก็คงจะมีสีเงินออกดำคล้ายกับหลังคาของพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพ ซึ่งเป็นตัวอย่างอาคารในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่กี่หลังที่ยังใช้ดีบุกมุงหลังคา อีกหลังนึงก็คือพระที่นั่งไชยชุมพลซึ่งเป็นพระที่นั่งขนาดเล็กบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง




ได้ลองทำแบบสันนิษฐานข้างในไว้ด้วยครับ ตาชาร์ดบอกว่าหรูหรามาก พระแท่นบุด้วยเงินตามสไตล์บารอค ซึ่งยังหลงเหลือมากในแถบฟิลิปปินส์ บ้านเราน่าจะเป็นตัวอย่างเดียวที่เคยมี





Create Date : 11 ตุลาคม 2561
Last Update : 12 ตุลาคม 2561 9:34:35 น.
Counter : 1190 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments