Group Blog
All Blog |
วิหารพระเขี้ยวแก้วแห่งลังกาทวีป ![]() เมืองแคนดี้ เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของศรีลังกา เป็นราชธานีสุดท้ายแห่งราชวงศ์ที่ปกครองเกาะศรีลังกามากว่า 2500 ปีโดยไม่ขาดสาย เมืองหลวงแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเกาะบนที่ราบสูง โอบล้อมด้วยขุนเขา เพื่อป้องกันการจู่โจมจากการล่าเมืองขึ้นในช่วง 500 ปีก่อน และเป็นสถานที่สำคัญซึ่งประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธองค์ ที่เป็นของคู่บ้านคู่เมืองของชาวลังกามาเนิ่นนาน ผู้ใดที่ครอบครองพระเขี้ยวแก้ว ก็เท่ากับได้ปกครองลังกาทวีป และด้วยความเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ จึงมีอันต้องย้ายสถานที่ประดิษฐานอยู่เรื่อยๆ หลายครั้งในตลอดพันกว่าปี ทุกครั้งที่มีเหตุวุ่นวายทางการเมือง รบกับพวกทมิฬโจฬะบ้าง หรือกษัตริย์ย้ายเมืองหลวง ก็ต้องอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วติดตามไปด้วยเสมอ ![]() วัดพระเขี้ยวแก้วราว 100 ปีก่อน จากเวป//lankapura.com/?s=Sri+dalada ![]() วัดพระเขี้ยวแก้วราว 100 ปีก่อน จากเวป//lankapura.com/?s=Sri+dalada พระเขี้ยวแก้วแต่เดิมครอบครองโดยกษัตริย์อินเดียแห่งแคว้นกลิงคะ และได้รับอัญเชิญมาลังกาทวีปโดยเจ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าชายทันฐะ พระสวามี โดยทรงซ่อนไว้ในมวยผม ทรงขึ้นฝั่งที่ลังกาปัฏฏนะ และถวายพระเขี้ยวแก้วแด่กษัตริย์ลังกาผู้ปกครองกรุงอนุราธปุระ พระนามกิรติศรีเมฆวรรณ (ค.ศ.301-328) พระองค์โปรดให้ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วนั้นไว้ในวิหารเมฆคีรี หรือปัจจุบันคือ อิสุรุมุนิยะ (Isurumuniya) ใกล้พระราชวัง และนับถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความชอบธรรมในการครองลังกาทวีป ในสมัยโปลนนารุวะ เมืองหลวงแห่งที่ 2 พระเขี้ยวแก้วถูกย้ายมาประดิษฐานพร้อมกับบาตรของพระพุทธองค์ ณ อาตะทาเค ซึ่งพระเจ้าวิชัยพาหุโปรดให้สร้างถวาย แม้ในสมัยถัดๆมา ลังกาจะย้ายเมืองหลวงอีกครั้ง จากอนุราธปุระ สู่โปลนนารุวะ ทัมพะเทนิยะ ยะปะหุวะ กุรุเนคะละ พระเขี้ยวแก้วก็ย้ายตามไปด้วย จนกระทั่งถึงสมัยอาณาจักรคัมโปละ พระเขี้ยวแก้ว ประดิษฐานที่วิหารนิยามคามปายะ (Niyamgampaya) ในเมืองหลวงคือ โกฏเฏ นอกจากพระเขี้ยวแก้วจะเป็นของสำคัญล้ำค่าสำหรับชาวลังกาแล้ว สำหรับชาวต่างชาติเองก็เป็นที่ปรารถนาด้วยเช่นกัน เช่น มาร์โคโปโล บันทึกไว้ว่า พระเจ้ากุบไลข่าน ส่งราชทูตมาขอ (แกมบังคับ) ให้ส่งพระเขี้ยวแก้ว พระเกศาธาตุ และบาตรของพระพุทธองค์ไปให้จีน อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ลังกาก็มิอาจถวายให้ได้ดังพระราชประสงค์ แต่กลับส่งพระเขี้ยวแก้วจำลองไปถวาย ซึ่งจีนก็ยังยินดีและจัดพิธีบูชาอย่างยิ่งใหญ่ อีกครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 15 ในสมัยพระเจ้าวีรพาหุ นายพลเจิ้งเหอผู้คุมกองเรือยักษ์แห่งราชวงศ์หมิง มาถึงศรีลังกา และจับตัวกษัตริย์ลังกาพร้อมพระราชวงศ์ส่งไปถวายจักรพรรดิจีน ซึ่งมีความคลุมเครือทางเอกสารว่าพระเขี้ยวแก้วถูกอัญเชิญไปด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีการกล่าวถึงพิธิเฉลิมฉลองพระเขี้ยวแก้วอยู่ในรัชกาลถัดๆมา ในสมัยศตวรรษที่ 16 เริ่มยุคแห่งการล่าอาณานิคม นโยบายเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสมัยนั้น ไม่เป็นมิตรต่อศาสนาพุทธนัก พระเขี้ยวแก้วจึงจำต้องย้ายตามกษัตริย์ลังกาไปยังที่ต่างๆ เพื่อให้หนีจากเงื้อมมือของพวกโปรตุเกส มีบางกระแสเล่าว่า พระเขี้ยวแก้วถูกพวกโปรตุเกสตำและเผาไฟทิ้งเสียแล้ว แต่ได้แสดงปาฏิหาริย์กลับมารวมองค์กันเหมือนเดิม ในสมัยนี้พระสงฆ์พุทธต่างหวาดกลัว การศาสนาก็เสื่อมโทรมลง จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าวิมาลาธรรมสุริยะที่ 2 พระองค์โปรดให้ย้ายพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐาน ณ กรุงแคนดี้ หรือศิริวัฒนปุระ และโปรดให้สร้าง ฮาตะทาเค หรือวิหารพระเขี้ยวแก้วขึ้นใหม่ ตามบันทึกของพวกดัทช์ว่ามี 2 ชั้น ยุคปลายของแคนดี้เต็มไปด้วยความยุ่งยากวุ่นวายทางการเมือง พวกโปรตุเกสยังคงรบกับศรีลังกา โดยมีชาวดัทช์คอยส่งเสริม บางคราวก็เข้าข้างลังกา ซึ่งทำให้วิหารพระเขี้ยวแก้วเสียหาย และมีการสร้างใหม่กันเนืองๆ ลักษณะศิลปกรรม วัดพระเขี้ยวแก้ว หรือ ศรีทาลทะ มาลิกาวะ หรือ Sri Dalada maligawa (เรียกโดยทั่วไปว่า ศรีดาละดา) แปลว่า พระราชวังแห่งพระเขี้ยวแก้ว (มาลิกาวะ แปลว่าพระราชวัง) ชื่อนี้เป็นชื่อทางการของ ทาละทาเค (Dalaga-ge) ซึ่งแปลว่า วิหารประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ถือว่าเป็นวัดหลวงที่อยู่ใกล้กับพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์ลังกา สิ่งก่อสร้างในระยะแรกสุดในรัชสมัยพระเจ้าวิมาลาธรรมสุริยะ เมื่อห้าร้อยปีก่อน ไม่ปรากฏร่องรอยเหลืออยู่แล้ว ในคัมภีร์จุลวงศ์ บรรยายลักษณะวิหารพระเขี้ยวแก้วในสมัยพระเจ้าวิมาลาธรรมสุริยะที่ 2 (สมัยซ่อมแล้ว) ไว้ว่า เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระทันตธาตุของพระพุทธองค์ กษัตริย์ได้สร้าง ปราสาท 3 ชั้น อันงดงาม ตกแต่งด้วยงานศิลปะอันเลิศ โปรดให้ประดับพระสถูปบรรจุพระทันตธาตุด้วยเงิน ทอง และหินมีค่า และในจุลวงศ์ยังกล่าวถึงงานปฏิสังขรณ์ในสมัยหลังลงมา ในรัชกาลพระเจ้านเรนทรสิงหะไว้ว่า พระองค์ได้ทอดพระเนตรวัดซึ่งพระราชบิดาสร้างไว้ มีสภาพเสื่อมโทรมลงก็สลดพระทัย จึงโปรดให้สร้างวิหารสองชั้น มีประตูตบแต่งด้วยวัตถุมีค่าที่ส่องประกาย ประกอบลวดลายปูนปั้น แลดูเหมือนภูเขาเงิน ทรงให้ทำหลังคาอันงดงาม และประดับจิตรกรรมชาดก 32 เรื่องไว้บนกำแพง พระเจ้านเรนทรสิงหะ มิได้ซ่อมวิหารของพระราชบิดา แต่โปรดให้สร้างวิหารขึ้นมาใหม่ มี 2 ชั้น ใกล้กับ วิหาร 3 ชั้นหลังเก่า ตามที่ชาวดัทช์เขียนไว้ในแผนที่ เรียกวิหารพระเขี้ยวแก้วเดิมว่า วัดเก่า และวิหารของพระเจ้านเรนทรสิงหะว่าวัดใหม่ สิ่งก่อสร้างที่สะดุดตาบริเวณหน้าวัดพระเขี้ยวแก้ว ที่ทุกคนจะต้องเห็นเมื่อไปเยือน คืออาคารแปดเหลี่ยม หรือ ปัฏฏิริปปุวะ (Pattirippuwa) ที่มีคูน้ำคั่น เป็นอาคารที่ต่อเติมเข้าไปภายหลัง โดยกษัตริย์องค์สุดท้ายของแคนดี้ ซึ่งทรงสร้างได้สัดส่วนงดงามยิ่ง เชื่อว่าเป็นฝีมือช่างชื่อดังของแคนดี้ คือ เทวันทระ มูลจารี ในอดีตใช้เป็นศาลาที่ประทับของกษัตริย์ เพิ่งจะโอนย้ายให้วัดในภายหลัง และใช้เป็นหอสมุดจนถึงทุกวันนี้ รอบๆคูน้ำมีกำแพงรูปคลื่นคั่นอยู่ เรียกเป็นภาษาสิงหลว่า Diyareli Bemma หรือกำแพงคลื่นไหล ล้อไปกับสายน้ำในคู ในกำแพงเจาะรูเล็กๆสำหรับวางประทีป ลายคลื่นไหลเช่นนี้ยังปรากฏในงานจิตรกรรมสิงหลด้วย ในชื่อ Walakulu Bemma หรือลายเมฆไหล ![]() (ภาพกำแพงชั้นล่างเป็นแบบลายน้ำ ชั้นบนเป็นแบบลายเมฆ) ทางเข้าหลัก เรียกว่า มหาวัลลกฑะ Maha valakada สร้างบนสะพานข้ามคูน้ำ ก่อนถึงทางเข้าประตู จะมีหินรูปวงกลม ซึ่งในไทยจะเรียกว่า อัฒจันทร์ ตกแต่งลวดลาย หินนี้เรียกว่า Sandakada Pahana ![]() มหาวัลลกฑะหรือทางเข้าหลัก ![]() อัฒจันทร์บนพื้นทางเข้า จากเวป //www.serendib.btoptions.lk/article.php?issue=17&id=399 ทางเข้าประตูจะต้องผ่านซุ้มมกรโตรณะ ซึ่งมีทวารบาลหรือ Doratupalas เฝ้าอยู่ ทางเข้าวัดจะเป็นอุโมงค์แคบๆเรียกว่า อัมพะรวะ Ambarawa เมื่อลอดอุโมงค์เข้าไปก็จะเป็นลานชั้นล่างของวัด เรียกว่า "pallemaluwa" เป็นที่ตั้งของศาลาสำหรับชาวประโคม หรือศาลากลอง เรียกว่า Hewisi Mandapaya ด้านล่างนี้มีห้องเก็บสมบัติ ซึ่งได้จากสัตบุรุษที่มาถวายของแด่พระเขี้ยวแก้ว เก็บรวบรวมกันไว้อย่างยาวนาน เรียกว่า Maha Aramudala ส่วนพระเขี้ยวแก้วนั้นจะประดิษฐาน ณ ชั้นบนของวิหาร ซึ่งประกอบด้วย 3 ห้องใหญ่ๆ คือ Handun Kunama หรือระเบียงไม้สักทองขัดมันเงางาม ต่อเข้าไปยังห้อง คันธกุฎี หรือกุฏีของหอม อันเป็นชื่อกุฏิของพระพุทธเจ้า เป็นห้องที่ 2 และห้องที่ 3 ซึ่งอยู่ในสุด คือ เรียกว่า "Vadahitina Maligawa" ซึ่ง ณ ที่นี้เป็นบริเวณประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว บานประตูของห้องนี้ทำฝังด้วยงาประดับอย่างงดงาม พระเขี้ยวแก้วอยู่ในผอบ 7 ชั้น ประดับด้วยหินมีค่า ซึ่งถวายเพิ่มเติมต่อๆกันมาโดยกษัตริย์และชาวลังกาและยังมีผอบสำหรับออกแห่ในพิธี Perahera อีกด้วย ทุกๆวันจะมีพิธีสรงน้ำถวายพระเขี้ยวแก้ว โดยพระสงฆ์จากวัดมัลวัตตะ และอัสคีรีวิหาร สลับสับเปลี่ยนกันไปทุกปี ซึ่งพระสงฆ์จากวัดมัลลวัตตะ หรือวัดบุปผาราม นี้เอง ที่สืบวงศ์มาแต่สงฆ์สยามวงศ์ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งพระเจ้าบรมโกศทรงส่งสมณฑูตไปสืบศาสนาที่ศรีลังกา ![]() ![]() สถูปบรรจุพระเขี้ยวแก้ว จาก//daladamaligawa.org/relic.htm ภาพถ่ายเก่าพระเขี้ยวแก้ว เมื่อ 1920 ครับ ![]() |
ปลาทองสยองเมือง
![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
Friends Blog
Link |