Group Blog
All Blog |
วัด Santa Maria บนเกาะลูซอน Santa Maria in Ilocossur, Philippine.
แผนที่ตั้งของเมืองซานตา มาเรีย
จริงๆแล้วมิติทางด้านศาสนาของฟิลิปปินส์น่าสนใจพอๆกับพุทธศาสนาในบ้านเราด้วยความที่ตั้งอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกันและหลายๆอย่างรวมทั้งรูปร่างหน้าตาของผู้คนด้วย
คำว่าอัสสัมชัญ (Assumption) เป็นความเชื่อประการหนึ่งของศาสนจักรคาทอลิก คือ การที่พระนางมารีย์พระมารดาของพระเยซูคริสต์ รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณโดยพระเป็นเจ้าไม่ทรงโปรดให้ร่างกายของพระนางเสื่อมสลายไปวัดไหนที่มีชื่อว่าอัสสัมชัญก็มักจะมีวันฉลองวัดประจำปีเป็นวันที่ 15 สิงหาคมอันเป็นวันที่ระลึกถึงการเสด็จสู่สวรรค์ของแม่พระนั่นเอง
ผมออกจากเมืองวีแกน (Vigan) เช่าแท็กซี่มาถึงเมือง SantaMariaด้วยระยะทางไม่ไกลนัก เมืองโบราณในฟิลิปปินส์มักจะตั้งอยู่ริมทะเลซานตามาเรีย ก็เช่นกัน ดังนั้นตลอดทางที่มาจึงเป็นทางหลวงบนไหล่เขาเลียบชายทะเลไปเรื่อยๆสีสันก็แปลกไปจากบ้านเราตรงที่มันไม่ได้เขียวแบบเขียวเวอร์ริเดียนหรือเขียวอมฟ้าแต่เป็นสีน้ำเงินเข้มๆจัดๆเลยทีเดียวเพิ่งมารู้ทีหลังว่าตรงนี้คือทะเลจีน จนกระทั่งถึงเมืองซานตา มาเรีย ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลเล็กๆมีที่ราบแคบๆเท่านั้นเอง
วัดซานตา มาเรียแห่งนี้เขาได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากองค์กรUNESCO เมื่อปี 1993พร้อมกับโบสถ์ในศิลปะบาโรคอีก 4 แห่ง เนื่องจากสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าตั้งอยู่ในชัยภูมิอันโดดเด่นเป็นสง่า และมีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปีเป็นมรดกความทรงจำของมนุษยชาติทีเดียว
ภูมิสถาปัตย์ของโบสถ์แห่งนี้ที่ไม่เหมือนกับโบสถ์อื่นๆในฟิลิปปินส์ที่มักจะสร้างอยู่ใจกลางจตุรัสหรือกลางเมืองบนพื้นที่ราบที่ชาวบ้านชาวเมืองสามารถเข้าร่วมได้ง่ายๆแต่โบสถ์แห่งนี้กลับมีลักษณะเหมือน ป้อมปราการ มากกว่าเพราะสร้างอยู่บนเนินเขาที่มีทางบันไดกว้างขวางถึง 83 ขั้นและมีทางขึ้นถึง 3 ทาง(ปัจจุบันใช้ทางหลักแค่ด้านเดียว)
เมื่อไต่บันไดขึ้นมา วิวข้างบนมองไปได้ไกลสุดสายตาเห็นภูเขาและทุ่งนาเขียวๆอยู่ลิบๆ ด้านล่างเขาว่าเป็นสุสานสมัยโบราณซึ่งมีวัชพืชปกคลุมจนร้างไปหมดแล้ว บรรยากาศเหมือนเรื่อง Pirate ofCaribbean จริงๆคือเป็นเมืองอาณานิคมที่ยังรักษากลิ่นอายโบราณเอาไว้ครบครัน บันไดลงไปยังสุสานร้างทางนี้เลิกใช้ไปแล้ว
คนฟิลิปปินส์เขาก็มีเหตุผลของเขาในการสร้างนะครับว่าทำไมถึงต้องสร้างวัดบนเนิน เดี๋ยวขออุบไว้ก่อน เมืองซานตา มาเรียนี้แต่เดิมชื่อ Purok อยู่ค่อนข้างไกลจากมะนิลา ถึงแม้ว่าสเปนจะสถาปนาคริสตศาสนาคาทอลิกลงในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี1567 แต่เมืองแห่งนี้เพิ่งจะมีบาทหลวงคณะออกุสติน มาประกาศศาสนาในปี 1765เท่านั้นเอง แต่เดิมนั้น เมืองนี้เป็นเขต Visitaหรือพื้นที่กันดารนอกเขตของสังฆมณฑลใดๆ ไม่มีวัดเป็นของตนเองแต่จะมีบาทหลวงจากเมือง Narvacan (ที่อยู่ใกล้ๆกัน)มาคอยดูแลสัตบุรุษให้ได้ทำวัตรปฏิบัติ
และต่อมาเมื่อการศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นบาทหลวงจากคณะนักบุญออกุสติน ก็ได้สร้างโรงสวด หลังเล็กๆ คู่กัน 2 หลังหลังหนึ่งอุทิศให้พระแม่มารีย์ ส่วนอีกหลังอุทิศให้ Senor Sto.Kristo. ซึ่งทุกวันนี้โรงสวดทั้งสองหลังก็ยังอยู่ใจกลางเมืองนั่นเองในบริเวณที่เป็นตีนบันไดขึ้นไปยังโบสถ์ใหญ่แต่ทุกวันนี้ใช้งานกลายเป็นโรงเรียนไปแล้วมีเด็กๆเข้าไปตั้งโต๊ะเรียนในอาคารอายุกว่า300 ปี น่าเป็นห่วงทั้งสวัสดิภาพของเด็กๆและสงสารอาคารโบราณไปด้วยเพราะไม่รู้ว่าถ้าใช้งานโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าสถาปัตยกรรม จะโทรมลงไปได้ง่ายๆ โรงสวดดั้งเดิมที่กลายเป็นโรงเรียนประถมไปแล้ว ตำนานของเมืองเล่าว่า โบสถ์ดั้งเดิมของเมืองก็อยู่บริเวณตีนบันไดเนินเขานั้นเอง จนกระทั่งรูปแม่พระในวัดชอบหายไปบ่อยๆและชาวบ้านมักจะพบว่า พระรูปมาปรากฏอยู่ที่ต้นฝรั่ง บนเนินเขากลางเมืองจึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดีว่า พระแม่มีประสงค์จะให้ตั้งโบสถ์บนเนินสูง ในปี 1810จึงเริ่มมีการสร้างโบสถ์ใหญ่ขึ้นบนเนินเขา พร้อมทั้งหอระฆังแยกออกจากตัวโบสถ์ แม่พระอัสสัมชัญ แห่งเมืองซานตา มาเรีย นอกจากปาฏิหาริย์ของแม่พระที่เปลี่ยนที่สถิตย์เองแล้วพระรูปแม่พระอัสสัมชัญ แห่งซานตา มาเรีย ยังมีตำนานแต่แรกเริ่มที่เล่ากันมาว่าในยุคสเปนปกครองนั้น วันหนึ่ง เกิดพายุใหญ่พัดกระหน่ำทำให้เรือสเปนลำหนึ่งอัปปางลงแต่ในตอนเช้า ชาวบ้านต่างก็ประหลาดใจที่พบว่า มีตู้ใบหนึ่งลอยมาติดริมชายหาดเมื่อเปิดตู้นั้นออกก็พบพระรูปแม่พระอัสสัมชัญที่สวยงามมากพระพักตร์และพระหัตถ์สร้างจากงา งามสมบูรณ์ ฉลองพระองค์เป็นสีฟ้าปักด้วยดิ้นทองโดยที่พระรูปไม่เปียกน้ำหรือชำรุดเสียหายจากพายุเลย ชาวบ้านเห็นเป็นอัศจรรย์จึงอัญเชิญมาประดิษฐานในเมือง และเป็นองค์อุปถัมภ์ประจำเมืองซานตา มาเรียอีกด้วย หอระฆังที่สร้างในปี 1810 และซ่อมใหญ่ในปี 1863
วัดซานตามาเรีย ก็เหมือนวัดบาโรคทั่วไปในยุคสเปนคือก่อด้วยอิฐ หนาๆ ทึบตัน และเตี้ยล่ำ มี Buttress หรือแท่งค้ำยันด้านนอกอาคาร เป็นแกนอิฐหนาทำหน้าที่ป้องกันแผ่นดินไหว ตัวอาคารยาวมาก กว้าง 14 เมตร แต่ยาวถึง 75 เมตรพอดีสำหรับสัตบุรุษทั่วทั้งเมือง ที่จะมาประชุมกันทำมิสซาในวันอาทิตย์ เป็นอาคารในสี่เหลี่ยมผืนผ้าง่ายๆโดยมี Facade ด้านหน้าเท่านั้นที่มีการประดับตกแต่งด้วยเสากลมขนาดใหญ่ค้ำอาคารไว้ และบนยอดมีถ้วยแห่งชัยชนะ (Ampulla) ตามแบบศิลปะบาโรค
Facade ของโบสถ์ใหญ่
น่าเสียดายที่ว่า ตัวอาคารจะสง่างามกว่านี้มากถ้าเอาสำนักชีที่ตั้งประจันหน้าโบสถ์ออกไปเราไม่สามารถจะหามุมตรงๆของหน้าโบสถ์ได้เลยคอนแวนท์โบราณนี้ตั้งประชิดกับหน้าโบสถ์มากๆจนเหลือแต่มุมเงยเท่านั้นและหากไปตอนเช้า ก็มักจะได้ภาพย้อนแสงของบันไดอันโด่งดังแต่ก็เห็นใจผู้สร้างนะครับบนเนินนั้นคงจะหาที่ราบได้น้อย มีที่เท่าไรก็สร้างคอนแวนท์เข้าไปเท่านั้น Nave หรือทางเดินกึ่งกลางโบสถ์ พอเข้าไปข้างใน จะเป็น Nave หรือทางเดินกลางยาวยืดไปจนถึงแท่นบูชาโบสถ์เก่าๆเกือบทุกแห่งจะเป็นลักษณะนี้เกือบทั้งสิ้น บางวัดจะมี 1-3 Nave แต่ในวัดเก่าๆมักจะมีเพียง 1 Nave เท่านั้นและจะมีการจัดแบ่งส่วนของแท่นบูชา เป็น 3 ส่วน คือ Altarจะอยู่ตรงกลาง ด้านข้างจะเป็น Chapel ของนักบุญต่างๆขนาบไว้เป็นแบบนี้เกือบทุกวัด
หลังคาของวัดทำด้วยไม้ขัดสานกันเป็นโครงครอบพื้นที่ขนาดใหญ่ในอาคารโดยไม่ต้องมีเสาร่วมในแบบโบสถ์วิหารบ้านเราเลยซึ่งแตกต่างจากยุโรปที่มักทำหลังคาก่ออิฐเป็นทรงประทุน (Vault) วงโค้งครอบอาคารอาจจะเพราะพื้นที่เกาะเหล่านี้จะต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวอยู่บ่อยๆการสร้างหลังคาด้วยอิฐอาจจะก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมได้ง่ายๆ
ตอนไปนี้โชคดีมากๆเพราะคนเฝ้าเขากำลังจะปิดโบสถ์พอดี ไปถึงก็เลยขอร้องเขาว่าอย่าเพิ่งปิดขอดูให้หนำใจเสียก่อน สมกับที่อุตส่าห์เดินทางมาตั้งไกล เขาก็ใจดีเปิดให้
|
ปลาทองสยองเมือง
![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
Friends Blog
Link |