Group Blog
 
All blogs
 

มารตัชชนียสูตร ว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานะปราบมารที่มาคอยแกล้ง

มารที่ว่านี้มีตัวตนจริงๆ หรือว่าเป็นเพียงการอุปมา? ก็ต้องตอบกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อมว่า มารมีตัวตนจริงๆ ไม่ใช่เพียงการอุปมา

พวกนี้มีตัวตนให้เห็นเป็นตัวๆ เลย ... ผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฎกแต่ไม่ได้ฝึกสมาธิ มักจะเข้าใจผิดเรื่องเทวบุตรมารกันเสมอๆ โดยหลงทึกทักเอาว่า เทวบุตรมารก็คือกิเลสมารชนิดหนึ่ง ถ้าอยากจะรู้จักหรือเห็นเทวบุตรมารตัวจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย ขอให้ตั้งใจฝึกสมาธิให้เข้าถึงเสียก่อน แล้วจะสามารถเห็นเทวบุตรมารได้ชัดเจน เหมือนเห็นสิ่งของกลางแจ้งในเวลากลางวัน โดยเห็นเป็นตัวกันจริงๆ ไม่ใช่อุปมาเทียบเคียง

วันนำข้อความจากพระไตรปิฎก เกี่ยวกับเรื่องเทวบุตรมารมาฝากครับ

พระโมคคัลลานะเรียกมารออกจากท้อง

สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่มิคทายวัน ครั้งนั้นพระมหาโมคคัลลานะจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ถูกมารผู้ลามกเข้าไปในท้องในไส้ (การที่มารเข้าไปในท้องได้แสดงว่าเป็นกายละเอียด แต่ว่าอย่าไปปนกับแบคทีเรีย หรือเชื้อบิด เชื้อรานะ คนละอย่างกัน) ได้มีความดำริว่า ท้องเราเป็นดังว่ามีก้อนหินหนักๆ และเป็นเช่นกระสอบอันเต็มไปด้วยถั่วหมัก เพราะเหตุอะไรหนอ (พูดง่ายๆ กำลังเดินจงกรมอยู่ดีๆ ในท้องรู้สึกถ่วงหนักๆ เหมือนถูกก้อนหินยัดไส้ แล้วก็มีลมดันอยู่ในท้องท่านเหมือนอย่างกับกระสอบที่มีถั่วเน่าๆ แล้วเกิดฟองอากาศอัดไว้เต็ม ทำให้อึดอัด ท่านก็สงสัย เอ๊ะ! ทำไมท้องจึงเกิดผิดปกติขนาดนี้ เพราะตามธรรมดาแล้วพระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมฉันอาหารด้วยความมีสติระมัดระวัง เรื่องท้องเสียเป็นไปได้ยากมาก เพราะฉะนั้นท่านจึงรู้ทันทีว่า ต้องมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว)

ท่านจึงลงจากที่จงกรมแล้วเข้าไปสู่วิหาร นั่งอยู่บนอาสนะที่ปูไว้ (เมื่อผิดสังเกตปุ๊บก็รีบนั่งสมาธิปั๊บเลย) ครั้นนั่งแล้วได้ใส่ใจถึงมารผู้ลามกมากด้วยอุบายอันแยบคายเฉพาะตน พระมหาโมคคัลลานะได้เห็นมารผู้ลามกเข้าไปในท้องในไส้แล้ว ท่านจึงเรียกว่า "เจ้ามารผู้ลามก เจ้าจงออกมานะ อย่าเบียดเบียนพระพุทธเจ้า อย่าเบียดเบียนสาวกพระพุทธเจ้าเลย เพราะว่ากรรมที่เจ้าก่อเอาไว้นั้นน่ะ มีแต่จะเป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ตลอดกาลของเจ้าเชียวนะ"

มารได้ยินพระโมคคัลลานะพูดแล้ว มันคิดอย่างไร?

มารมีความคิดว่าสมณะนี้ไม่รู้และไม่เห็นเรา พระมหาโมคคัลลานะจึงกล่าวว่า ดูก่อนมารผู้ลามกจงออกมา คือมารมันไม่เชื่อว่าพระมหาโมคคัลลานะจะมีฤทธิ์มากสามารถเห็นมันได้ เพราะมันมีกายละเอียดมาก ถ้าใครยังไม่เข้าถึงธรรมที่ละเอียดๆ ก็ยากที่จะเห็นมัน แต่พระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถเห็นมารได้ทันที

พระมหาโมคคัลลานะจึงกล่าวย้ำว่า "ดูก่อนมารผู้ลามก เรารู้จักท่าน ท่านอย่าเข้าใจว่าเราไม่รู้จักนะ ท่านน่ะเป็นมาร ท่านน่ะมีความดำริว่า สมณะนี้ไม่รู้ไม่เห็นท่าน จึงได้พูดว่ามารผู้ลามกจงออกมา ญาณทัสนะของพระมหาโมคคัลลานะท่านละเอียดอ่อนสว่างไสวมาก นอกจากเห็นตัวของมารแล้ว ยังเห็นใจของมารว่ากำลังคิดอย่างไรอีกด้วย ซึ่งทำได้ยากมากทีเดียว ท่านจึงได้พูดดักคอมารถูก

เมื่อมารได้ยินอย่างนั้น ก็คิดว่าสมณะนี้รู้จักและเห็นเราด้วย จึงพูดอย่างนั้น จึงออกจากปากท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วยืนอยู่ที่ข้างบานประตู เมื่อพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นมารยืนอยู่ข้างบานประตู ก็เลยกล่าวว่า ดูก่อนมารผู้ลามก เราเห็นท่านแม้ที่ข้างบานประตูนั้น ท่านอย่าเข้าใจว่าเราไม่เห็นนะ ท่านยืนอยู่แล้วที่ข้างบานประตู

อดีตท่านเป็นมารมาก่อนเหมือนกัน

ดูก่อนมารผู้ลามก เรื่องเคยมีมาแล้ว เรานี่แหละในอดีตเป็นมารมาก่อนเหมือนกัน ชื่อทูสี มีน้องหญิงชื่อกาลี ท่านเป็นบุตรน้องหญิงของเรานั้น ท่านนั้นได้เป็นหลานชายของเรา

นี่ก็เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับเทวบุตรมารของพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งภพในอดีตท่านเคยเกิดเป็นมารเหมือนกัน ชื่อทูสี น้องสาวชื่อกาลี และเจ้าเทวบุตรมารที่ว่าก็เป็นหลานของท่านเอง แต่ว่ามันไม่รู้ภูมิหลัง จึงได้มารังควานอดีตลุงของมัน หลังจากที่ถูกตำหนิต่างๆ นานา เทวบุตรมารตนนั้นก็หนีไป

อ้างอิงมาจาก มารตัชชนียสูตร ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=มารตัชชนียสูตร&book=9&bookZ=33

จากเรื่อง ล่าพญามาร ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต ขออนุโมทนาครับ

เป็นหลักฐานแสดงว่า พระสาวกในอดีตได้ถูกเทวบุตรมารรังควาน ทำความเดือดร้อนให้มาก บุญบารมีขนาดพระมหาโมคคัลลานะยังถูกเทวบุตรมารรบกวน ไม่เฉพาะแต่คนเท่านั้น แม้พวกพรหมก็ยังถูกเทวบุตรมารเข้าไปรังควาน โดยเข้าไปสิงอยู่ในตัวของพรหม ทำให้พรหมเกิดมิจฉาทิฏฐิ แล้วต่อต้านการประกาศศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างรุนแรงอีกด้วย เมื่ออ่านแล้วขอให้นำไปพิจารณาและปฎิบัติจะได้ไม่ไปเสียทีแก่มารอีก พวกเราโดนมารหลอกกันมานับถพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว สมควรจะได้รู้เท่าทันมาร จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมารได้ง่าย ๆ อีกต่อไป ขอให้ทุกท่านมีความสุขครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 20:08:00 น.
Counter : 708 Pageviews.  

เรารักตัวเองกันจริงหรือเปล่า?

คุณรักตัวเองแค่ไหน

คำถามนี้ดูไม่น่าถามเลย เพราะทุกคนก็รักตัวเอง

ทั้งนั้นแต่แน่ใจหรือว่า

คุณรักตัวเองจริง ๆ มาดูกันไหมว่าคุณรักตัวเองแค่ไหน

ว่าง ๆ ลองอยู่กับตัวเองคนเดียว จะอยู่ในห้อง
ใต้ต้นไม้หรือริมน้ำก็แล้วแต่ วางงานอื่นทั้งหมด
ปิดโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์และเครื่องเสียง
รูปก็ไม่ต้องวาด หนังสือก็ไม่ต้องอ่านหรือเขียน
ทำอย่างเดียวคือตามลมหายใจ หรือจะอยู่เฉย ๆนิ่งๆก็ได้

คนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพอย่างนี้ได้ไม่ถึงชั่วโมง
ก็กระสับกระส่าย นึกหงุดหงิดคิด ถึงโทรศัพท์
หรือเพื่อนสักคนที่อยากคุย ถ้ามีหนังสือวางอยู่ใกล้ ๆ
ก็อยากจะหยิบฉวยมาอ่านทั้ง ๆ ที่เป็นหนังสือธรรมะ
ซึ่งตนเองไม่เคยนึกอยากแตะมาก่อนเลย
แต่ถ้าไม่มีหนังสือ ก็เกิดอยากกวาดบ้าน
หรือล้างจานขึ้นมา หาไม่ก็พยายามคิดค้นงานสักอย่าง
ขึ้นมาทำ ถ้าโชคร้ายรอบตัวไม่มีงานอะไรที่จะทำได้
ก็ปล่อยใจให้เตลิดเปิดเปิง คิดโน่นคิดนี่สารพัด
สุดท้ายเมื่อไม่รู้จะทำอะไรจริง ๆ ก็เอนตัวนอน

ทั้งหมดนี้เราเรียกว่าเป็น การฆ่าเวลา
แต่ที่จริงเป็นการพยายามหนีห่างจากตัวเองต่างหาก

เราจะหนีห่างจากตัวเองไปทำไม ถ้าหากเรารักตัวเอง?
ความรักตัวเองที่จริงเป็นเพียงแค่ถ้อยคำ
เพราะลึก ๆ แล้วคนเราส่วนใหญ่ มักจะทนอยู่กับตัวเองไม่ได้

ดังนั้น พอมีเหตุให้ต้องอยู่กับตัวเอง
จึงรู้สึกกระสับกระส่ายขึ้นม หรือไม่ก็ต้อง
หาอะไรสักอย่างมาดึงความสนใจออกจากตัวเอง
เช่น คุยกับเพื่อน อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์
ขับรถเล่น ขลุกกับงาน หรือนอน
ถ้าเรารักตัวเองจริง ๆแล้ว การอยู่กับตัวเอง
จะเป็นเรื่องยากอะไร ขึ้นชื่อว่ารัก
ย่อมชักนำให้ปรารถนาอยู่ใกล้มิใช่หรือ
แต่ทุกวันนี้ การอยู่กับตัวเองกลับกลาย
เป็นเรื่องที่ต้องทนหรือทนได้ยาก เพราะ
เราไม่สามารถเผชิญกับความว้าวุ่นในตัวเองได้
เมื่อใดที่ต้องอยู่นิ่ง ๆ ไม่มีอะไรทำ จิตจะฟุ้งซ่าน
ความคิดจะกระเจิงเรื่องสารพันสารเพ
จะประดังประเดเข้ามาจนแทบจะคุมไม่อยู่
ทางหนึ่งที่พอจะสยบมันได้ก็คือ
หาเรื่องดึงจิตออกไปนอกตัวเสีย
หรือพาตัวไปอยู่ท่ามกลางผู้คน ในหมู่เพื่อนฝูง
ตามศูนย์กลางค้า หรือทำตัวไม่ให้ว่างเสียจนถึงเวลานอน
เป็นเพราะหาความสงบกับตัวเองไม่ได้นี่เอง
คนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเป็นมิตรกับตัวเองได้
หนักเข้าก็แปลกแยกหน่ายแหนงตัวเอง
ในที่สุดก็ประกาศศึกสงครามกับตัวเอง
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่สุมรุมในตัวเท่านั้น
หากยังระบายใส่คนรอบตัวอีกด้วย

เราจะรักตัวเองได้อย่างแท้จริง
เมื่อสามารถสัมผัสกับความสงบภายในตน
เป็นความสงบที่เกิดจากจิตอันสงัด
แต่ มิได้สงัดแบบสลบไสลหากเป็นจิตที่รู้ตัวทั่วพร้อมเสมอ
ความรู้ตัวทั่วพร้อมนี้แหละ ที่น้อมจิต
ให้กลับสู่ตนด้วยความนิ่ง แจ่มชัดมั่นคง
ไม่ซัดส่าย นำมาซึ่งความสงบเย็นจากภายใน
จิตที่สงบและแจ่มกระจ่างได้แล้วนั้น
ย่อมนำสันติภาพมาสู่ใจเรา เมื่อเรามีสันติภาพภายใน
เลิกทำศึกสงครามกับตัวเอง มิตรภาพกับตนเองก็เกิดขึ้น
ความรักตนเองอย่างแท้จริง ก็มิใช่เป็นแค่ถ้อยคำอีกต่อไป
อีกทั้งความรักตนเองเช่นนี้ ก็มิใช่ความเห็นแก่ตัว
หรือสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะเมื่อบุคคลรักตนเอง
ได้อย่างแท้จริง ก็ไม่ยากที่จะรักคนอื่นอย่างแท้จริงเช่นกัน
เราทำอะไรต่ออะไรมามากแล้วใช่ไหม
ลองหันมาสงบศึกภายในตัวเองจะดีไหม
ด้วยการฝึกอยู่กับตัวเอง ใช้ลมหายใจช่วยกำกับจิต
ให้อยู่นิ่ง ตื่นตัว หลุดจากอารมณ์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว
ไม่ช้าไม่นาน จิตนี้แหละจะนำมิตรภาพและสันติภาพมาสู่เรา
ขณะที่ทั่วโลกกำลังเพรียกหาสันติภาพ
เราอย่าลืมสร้างสันติภาพในตัวเราไปด้วยล่ะ
และท่องอยู่เสมอว่า

ถ้าไม่ฝึกจิต..ตลอดชีวิตไม่พบความสุข

.........................................
เนื้อเรื่องโดยดอกแก้ว

ขอให้มีความสุขกันมากๆ ครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 19:58:53 น.
Counter : 346 Pageviews.  

ความสำรวมระวังจิต ความข่มฝึกจิต

ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ในธรรมบทซึ่งแปลความว่า
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีฉันใด ราคะย่อมรั่วรดจิตที่มิได้อบรมฉันนั้น
ตามพระพุทธภาษิตนี้ยกเอากิเลสกองราคะขึ้นแสดง
แต่ก็พึงเข้าใจว่า แม้กิเลสกองโทสะกองโมหะก็เช่นเดียวกัน ย่อมรั่วรดจิต
คือบังเกิดขึ้นแก่จิตที่มิได้อบรม เหมือนอย่างเรือนที่มุงไม่ดีฝนตกก็รั่ว

ฉะนั้น ตามข้ออุปมาด้วยเรือนที่มุงไม่ดีฝนตกก็รั่ว
ทำให้เห็นชัดเจนถึงจิตใจ ที่ตรัสแสดงโดยมีข้ออุปมานั้น ว่าจิตใจที่มิได้อบรม
บรรดากิเลสมีกิเลสกองราคะเป็นต้น ก็บังเกิดขึ้นเหมือนอย่างฝนตกรั่วรดได้
จิตใจนี้จึงจำเป็นต้องมีเครื่องรักษา เครื่องคุ้มกัน

อันเปรียบเหมือนอย่างบ้านที่ต้องมีหลังคา คนที่อยู่ในบ้านจึงจะไม่ต้องถูกฝนตกรั่วรด
บุคคลก็ฉันนั้น เมื่อจิตมุงหลังคาดี กิเลสซึ่งเหมือนฝนก็ตกรั่วรดไม่ได้
ก็คือจิตที่ได้ปฏิบัติในจิตตภาวนา การอบรมจิตนั้นเอง

จิตตภาวนา การอบรมจิต

อันจิตตภาวนาคือการอบรมจิตนั้น
ก็ด้วยวิธีปฏิบัติมี สัญมะ คือความสำรวมระวังจิต และมี ทมะ คือความข่มฝึกจิต
อันสัญมะคือความสำรวมระวังจิตนั้น ก็คือมีสติรักษาประตูใน และประตูนอกของจิต
ประตูในก็คือมโนคือใจ อันเป็นอายตนะข้อที่ ๖ ประตูนอกก็คือตาหูจมูกลิ้นและกาย
ประตูในคือมโนใจ และประตูนอกทั้ง ๕ ก็คืออายตนะภายในทั้ง ๖ นั้นเอง
ซึ่งเปิดรับอารมณ์คือเรื่องเข้าสู่จิตอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นเช้าจนถึงหลับไปใหม่
บรรดาเรื่องที่เข้ามาทางประตูเหล่านี้ จิตที่มิได้อบรม ไม่มีสติรักษา
ย่อมยึดถือเกาะเกี่ยวอยู่กับอามณ์เหล่านี้ น้อยหรือมาก
มารจึงอาศัยอารมณ์เหล่านี้นั่นแหละวิ่งเข้ามาสู่จิต คือกิเลสมาร
อันได้แก่ราคะหรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง บุคคลจึงเดือดร้อนวุ่นวาย
กระสับกระส่ายไม่สงบอยู่ในอารมณ์และกิเลสเหล่านี้ทุกวัน และทุกเวลา


ฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ทำจิตตภาวนาคืออบรมจิต โดยตั้งสติความระลึกได้กำกับจิตอยู่
ที่จะไม่ผูกจิตไว้กับอารมณ์ เพราะว่าความผูกจิตไว้กับอารมณ์นี้ เป็นตัวสัญโญชน์ความผูก
หรือเครื่องผูก เมื่อผูกจิตไว้กับอารมณ์ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตาม
มารซึ่งเป็นกิเลสก็เข้ามา ปรากฏเป็นกิเลสดังที่กล่าวนั้น
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ต้องมีสติระวังใจ สำรวมใจเอาไว้ที่จะไม่ยึดถืออารมณ์ที่เข้ามาเหล่านี้
สติที่สำรวมใจหรือระวังใจนี้เองเรียกว่า สัญมะ ที่แปลว่าความสำรวมใจ
หรือความระวังใจ หรือว่าเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สังวร ความสำรวมความระวัง
สัญมะหรือสังวรมีความหมายเป็นอันเดียวกัน เมื่อมีสัญมะหรือสังวรอยู่
อารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมตกอยู่นอกประตู มารก็เข้ามาไม่ได้
.
สัมมาสมาธิอันแท้จริง

อาการที่จิตตั้งอยู่ในสัญมะคือความสำรวมระวัง
หรืออาการที่สัญมะความสำรวมระวังตั้งอยู่ในจิต โดยมีสติเป็นผู้ชักนำ
ดั่งนี้ คือสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิอันแท้จริง และสมาธินี้ก็เรียกได้ว่าเป็นสมาธิทางสมถะ
คือสมาธิที่นำให้เกิดความสงบใจจากอารมณ์และกิเลสทั้งหลาย
จิตก็สงบตั้งอยู่ในภายใน ไม่ออกไปยึดอารมณ์ภายนอก
อาการที่จิตตั้งสงบอยู่ในภายในไม่ยึดอารมณ์ภายนอกนี้เป็นตัวสมถะ
คือความสงบ โดยอาศัยสติระมัดระวังสำรวม


และสติที่มีหน้าที่ระมัดระวังสำรวมนี้เองก็ได้ชื่อว่าสัญมะหรือสังวร ก็คือตัวสตินั้นเอง
และจิตที่ตั้งอยู่ในสัญมะหรือสังวร สังวรหรือสัญมะที่ตั้งอยู่ในจิตคือตัวสมาธิ
ฉะนั้นสมาธิดั่งนี้จึงทำให้จิตสงบตั้งอยู่ในภายใน ไม่ออกไปยึดอารมณ์ภายนอก
และตัวสมาธิอันนำให้บังเกิดความสงบซึ่งเป็นสมถะตั้งอยู่ในภายในนี้ ก็รู้
รู้รูปทางตาคือเห็นอะไรๆ รู้เสียงทางหูคือได้ยินอะไรๆ
ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทางจมูกทางลิ้นทางกาย และรู้คิดทางมโนคือใจ
แต่ว่ารู้ทางมโนคือใจนี้เป็นตัวรู้ที่สงบอยู่ในภายใน
แต่ว่าแม้รู้ทางตาทางหูเป็นต้นดังกล่าว จิตก็ไม่วิ่งออกไปจับรูป จับเสียง จับกลิ่น
จับรส จับโผฏฐัพพะ จับเรื่องที่ใจคิดใจรู้ จิตไม่วิ่งออกไปจับ มารก็ไม่เข้ามาได้
จึงไม่บังเกิดเป็นราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ในอารมณ์เหล่านั้น
อารมณ์เหล่านั้นก็ตกอยู่แค่นอกประตูดังกล่าวมาข้างต้นนั้น
จิตก็ตั้งสงบอยู่ในภายในไม่วิ่งออกไป


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงหลับพระเนตร ไม่ทรงมองอะไรๆ
ไม่ทรงอุดพระกรรณไม่ฟังอะไรๆ ก็ได้ทอดพระเนตรนั่นนี่ ฟังนั่นฟังนี่ เป็นต้น
และในปีใกล้สุดท้ายที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่มีเล่าไว้ในพุทธประวัติ
ว่าเสด็จออกจากเมืองเวสาลี ก็ยังได้หันพระองค์ไปทอดพระเนตรเมืองเวสาลี
และตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่าเป็นเมืองที่งดงาม
ก็แสดงว่าก็ทรงทราบรูปทราบเสียงเป็นต้นตามสมมติโลกทุกอย่าง
อะไรที่เป็นสมมติโลกว่างดงาม เช่นบ้านเมืองที่งดงาม ก็ได้ตรัสว่างดงาม
แต่ว่าพระจิตของพระองค์นั้นไม่ออกไปจับไปยึดให้บังเกิดกิเลส
เป็นราคะหรือโลภะโทสะโมหะขึ้นในอารมณ์เหล่านั้น สงบอยู่ในภายใน สงบเป็นอย่างดียิ่ง
ไม่มีที่จะดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปด้วยอำนาจของกิเลสทั้งหลายแม้แต่น้อย
เพราะได้ทรงมีสัญมะหรือมีสังวรอยู่อย่างสมบูรณ์ อันเกิดจากความสิ้นกิเลส
ลักษณะดั่งนี้เป็นสัมมาสมาธิแท้จริง และเป็นสัมมาสติที่แท้จริง
เป็นสังวรเป็นความสำรวม ความระวังที่แท้จริง อันมีอยู่บริบูรณ์ในพระองค์

ทมะ ความข่มใจ

อีกข้อหนึ่งคือ ทมะ ความข่มใจ หรือความฝึกใจ
อันมุ่งหมายถึงฝึกใจข่มใจให้ละกิเลสทุกอย่าง
อันกิเลสที่บังเกิดขึ้นนั้น แม้ว่าผู้ปฏิบัติทำสัญมะคือความสำรวมระวัง
แต่ก็มีเวลาที่จะเผลอสติ เมื่อเผลอสติอารมณ์ก็เข้ามา
จิตก็จับอารมณ์เป็นสัญโญชน์ขึ้น ก็เกิดราคะหรือโลภะโทสะโมหะขึ้นในอารมณ์
และบุคคลสามัญทั่วไปก็ยังมีกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยดองจิตสันดานอยู่
ที่ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่าตะกอนที่นอนก้นตุ่ม กิเลสเหล่านี้ก็ฟุ้งขึ้นมา
เป็นนิวรณ์ขึ้นในจิตใจ ก็ปรากฏเป็นกามฉันท์บ้าง พยาบาทบ้าง ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง
ความฟุ้งซ่านรำคาญใจบ้าง ความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆบ้าง ยั้วเยี้ยอยู่ในจิตใจ
ปรากฏอยู่ กำหนดดูที่ใจก็จะเห็นได้

ปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส

ปัญญาคือความรู้ทั่วถึงความจริงนี่แหละเป็นตัว ทมะ คือเครื่องข่มเครื่องฝึกอย่างดีเลิศ
ปัญญาคือความรู้ทั่วถึงความจริงนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนธรรมะนักหนา
สอนอย่างนั้น สอนอย่างโน้น สอนอย่างนี้ สอนอย่างนั้น ปริยายนี้ ปริยายนั้น มีอุปมาต่างๆ
ก็เพื่อที่จะจี้ใจบุคคลให้ได้ความสำนึกเกิดปัญญา คือความรู้ทั่วถึงความจริงขึ้นนั้นเอง
ดังที่ตรัสสอนยกอุปมาถึงหลังคารั่ว ฝนก็รั่วรด ฉันใดก็ดี จิตที่ไม่ได้อบรม กิเลสก็รั่วรด
หรือแม้อุปมาประการอื่นก็เพื่อที่จะให้เห็นโทษของกิเลส ให้หน่ายในกิเลส รังเกียจกิเลส
จะได้ไม่รักกิเลส ไม่รักราคะ ไม่รักโลภะ ไม่รักโทสะ ไม่รักโมหะ
และถ้าหากว่าได้ปัญญาคือความรู้ขึ้นแม้สักนิดหน่อย คือปัญญาที่เห็นโทษกิเลส
อันทำให้หน่ายในกิเลส คลายความรักในกิเลส ความติดในกิเลสได้แล้ว
นั่นแหละเป็นอันว่าได้ตัวปัญญาที่มีคุณประโยชน์มาก แม้ว่ายังละไม่ได้ก็ยังดี
เพราะว่าเมื่อกิเลสโผล่หน้าขึ้นมาก็จะได้ไม่ต้อนรับ รีบบอกว่าให้ไปๆเสีย หรือว่ารีบหนีไปเสีย
เพราะรู้สึกว่ากิเลสที่บังเกิดขึ้น จะเป็นตัวราคะก็ตาม ตัวโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม
เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจจริงๆ สะอิดสะเอียนจริงๆ ไม่ชอบหน้าจริงๆ

แต่ว่าเพราะยังละไม่ได้ ยังมีอาสวะอนุสัยที่ดองจิตสันดานอยู่ กิเลสจึงต้องโผล่หน้าขึ้นมาบ่อยๆ
หรือนานๆครั้งก็ตาม แต่ว่าเมื่อโผล่ขึ้นมาแล้วก็รังเกียจ รู้สึกว่าไม่สบาย เดือดร้อน
เช่นโกรธขึ้นมาก็รู้สึกว่าไม่สบายเดือดร้อน ไม่ชอบหน้าความโกรธ
ต้องการให้ความโกรธนั้นในจิตใจของตัวเอง รีบๆดับไปเสีย หายไปเสีย
อยากจะไล่ให้ไปเสีย ไม่อยากที่จะรับรองกิเลสเอาไว้

เพราะฉะนั้น หากมาปฏิบัติข่มกิเลสเสียเอง
ด้วยปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน โดยที่ไม่นึกว่าจะข่ม
แต่ว่าเมื่อตั้งใจฟังตั้งใจปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว
ได้สติได้ปัญญาขึ้นมานั่นแหละเป็น ทมะ ขึ้นมาเอง โดยที่ไม่รู้จักว่านี่เป็นตัว ทมะ
ไม่จำเป็นจะต้องรู้จักสมมติบัญญัติธรรมะก็ได้ว่านี่เป็นตัว ทมะ
แต่เมื่อปฏิบัติได้ปัญญาขึ้นมา เห็นโทษของกิเลสขึ้นเอง ซึ่งมีอาการดังเช่นที่กล่าวแล้วนี้
ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติตัว ทมะ ขึ้นมา ก็เป็นอันว่ามีเครื่องมือที่จะข่มจิตตนเองได้

สติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนดังสติปัฏฐานทุกข้อทุกบท ก็เป็นข้อปฏิบัติที่จะให้เกิดสัญมะ
คือความสำรวมระวัง ก็คือตัวสตินั่นเองที่เป็นตัวสำรวมระวัง
และให้บังเกิดทมะข่มใจข่มกิเลส ก็คือตัวปัญญานั้นเองทั้งสิ้น
ฉะนั้นเมื่อตั้งใจปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานที่ตรัสสอนไว้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
จะทำให้ได้สัญมะ ได้ทมะ เป็นธรรมะสำหรับที่จะคุ้มครองรักษาจิตใจ


เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ขอขอบคุณภาพประกอบจากสมาชิกพันทิป

นำมาฝากชาวห้องศาสนาในช่วงฝนตก พายุเข้าครับ








 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 19:56:09 น.
Counter : 1536 Pageviews.  

เหตุที่ทำให้มนุษย์ มีอายุ มีโรค มีผิวพรรณ มีศักดา มีโภคะ เกิดในสกุล มีปัญญา ต่างกัน

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สุภมานพ โตเทยยบุตร ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดใน สกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตอบข้อสงสัยของ สุภมาณพ โตเทยยบุตร ไว้ครับ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็น ของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม เป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ ฯ

1.สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์ มีชีวิต เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น

สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน

2. สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก

สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย

3. สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม

สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส

4. สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีศักดาน้อย

สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดามาก

5. สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามย่อมไม่เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะน้อย

สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมี โภคะมาก

6. สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควร ลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะ กรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคน เกิดในสกุลต่ำ

สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามเป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทางสักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง

7. สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไร เมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญาทราม

สตรีก็ตาม บุรุษก็ตามย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็น อกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก

จูฬกัมมวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=จูฬกัมมวิภังคสูตร&book=9&bookZ=33

บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 19:54:10 น.
Counter : 515 Pageviews.  

วันนี้นั่งสมาธิเกิดความง่วงขึ้นมามากๆๆๆ

อันตรายของสมาธินั้นก็คือนิวรณ์ ซึ่งได้แก่กิเลสในใจ

เครื่องเศร้าหมองในใจ ซึ่งเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้จิตได้สมาธิ และปัญญา

เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อดับนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในใจให้ได้ จิตจึงจะได้สมาธิ

ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักนิวรณ์ โดยตรงก็คือรู้จักนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในจิตของตนในปัจจุบัน

หรือในขณะปฏิบัติ และเมื่อพบว่าจิตของตนนั้นกำลังมีนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งครอบงำอยู่

ก็ต้องมาปฏิบัติดับนิวรณ์ข้อนั้นเสียก่อน

เรียบเรียงจาก พระธรรมเทศนาของ สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ขอขอบคุณ ภาพประกอบจากสมาชิกพันทิป

มาศึกษานิวรณ์ข้อถีนมิทธะกันนะครับ



การปฏิบัติดับนิวรณ์

และในการปฏิบัติเพื่อดับนิวรณ์นั้นก็ควรที่จะรู้จัก อาหารของนิวรณ์

และรู้จัก อนาหาร คือการปฏิบัติที่ไม่ใช่เป็นอาหารของนิวรณ์

อันทำนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ดับนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

ด้วยการพิจารณาที่ใจของตนเอง ให้รู้จักอาหารของนิวรณ์ที่ใจของตนเอง

และให้รู้จักธรรมะที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์ อันเรียกว่าอนาหารที่ใจของตนเองเช่นเดียวกัน

อันความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิย่อมจะได้เคยประสบ

หรือว่าในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็มักจะมีความง่วง เคลิบเคลิ้ม

เพราะจิตนี้ที่เป็นจิตสามัญ เป็นกามาพจรคือหยั่งลงในกาม

โดยปรกติก็ย่อมจะเกิดกามฉันท์ คือความพอใจรักใคร่ในกาม

จิตปรุงไปในความพอใจในกาม

หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นพยาบาท ความหงุดหงิดขัดเคืองโกรธแค้นต่างๆ

หรือไม่เช่นนั้นจิตก็ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน้นบ้างคิดเรื่องนี้บ้าง

หรือว่าคิดสงสัยเคลือบแคลงไปต่างๆ



อาหารของความง่วง

ถ้าหากว่าสงบจากความฟุ้งซ่าน ความง่วงก็มักจะมา

เช่นในขณะที่รวมใจเข้ามาฟังเทศน์หรือธรรม ฟังธรรมะบรรยาย

จิตก็สงบจากความฟุ้งซ่านต่างๆ แต่ความง่วงมักจะเข้ามา

เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ในขณะที่จิตสงบมักจะเป็นดั่งนั้น

และความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ใช้คำว่า อาหาร ก็โดยเทียบกับอาหารของร่างกาย ร่างกายดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยอาหารฉันใด

นิวรณ์ข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ ก็เพราะมีอาหาร

คืออาการของจิตที่เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อันได้แก่ความไม่ยินดี อันหมายความว่าไม่เกิดความยินดีพอใจในกิจที่ทำ

เช่นในขณะที่ฟังเทศน์หรือฟังธรรม ตั้งใจฟัง จิตก็สงบจากเรื่องอื่น

แต่ว่าไม่มีความยินดีพอใจในธรรมที่ฟัง

บางทีก็เฉยๆ สักแต่ว่าฟัง ขาดความยินดีพอใจ ก็เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้

ความเกียจคร้านขาดความเพียร ก็ทำให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้

เพราะว่า ถ้าไม่มีความเพียรคือมีจิตใจที่กล้าในอันที่จะฟังก็ดี จะทำอันใดอันหนึ่งก็ดี

เกิดความเกียจคร้านเบื่อหน่าย ก็เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้

ความบิดกาย อันหมายถึงอาการที่ยังติดใจอยู่ในความเคลิบเคลิ้ม

เช่น ถึงกำหนดเวลาที่จะตื่นนอน เมื่อตื่นขึ้นมาก็บิดกายไปบิดกายมา

ทำนองว่าอยากจะนอนต่อ ไม่ลุกขึ้นมาทำสมาธิ หรือประกอบการงาน

อาการที่แชเชือนดั่งนี้ ก็เป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

คือเป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ความเมาอาหาร คือเมื่อบริโภคอาหารอิ่ม

ก็มักจะเกิดความง่วง ถ้าง่วงก็นอน ก็เป็นอันว่ากินแล้วนอน

เพราะฉะนั้น หากไม่ปฏิบัติลุกขึ้นเดิน หรือนั่ง หรือทำอะไรที่ควรจะทำ

นั่งซึมอยู่เพราะเมาอาหาร ก็จะทำให้นอน

ความเมาอาหาร จึงเป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม


อีกข้อหนึ่ง คือความที่มีจิตใจย่อหย่อน

ความที่มีจิตใจย่อหย่อนนี้ ทำให้รู้สึกท้อแท้อ่อนแอ

ไม่เกิดความขมีขมันลุกขึ้นประกอบการงาน

เพราะฉะนั้น ถ้าปล่อยให้ใจอ่อนแอท้อแท้ ก็ย่อมเป็นเหตุที่เป็นอาหาร

ของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม


ธาตุของความเพียร

ธาตุคือความทรงไว้ทั้ง ๓ นี้ เป็นธาตุของความเพียร

ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

เพราะถีนมิทธะนั้นมีลักษณะปรากฏเป็นความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน

ความบิดกายด้วยความเกียจคร้าน ความเมาภัตตาหาร และความที่มีใจย่อหย่อน

เพราะฉะนั้น ใจที่มีความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม จึงเป็นใจที่ย่อหย่อน

ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะกระทำกิจที่พึงกระทำ ตกเข้าในลักษณะความเกียจคร้าน


อนาหารข้อที่ ๒ โยนิโสมนสิการ


และอนาหารการปฏิบัติที่ไม่ใช่เป็นอาหารของข้อนี้

คือข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้ที่เป็นข้อที่ ๒ ก็คือการกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ

การกระทำไว้โดยแยบคายในข้อนั้น คือในข้อที่ปฏิบัติในธาตุทั้ง ๓ นั้น

อันหมายความว่าจะต้องใช้สติใช้ปัญญาพิจารณาจับเหตุจับผล

ให้รู้จักว่าความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั้น เป็นตัวเหตุของผล คือความเสื่อมต่างๆ

ความไม่สำเร็จต่างๆ



แต่ว่าการที่มาปฏิบัติทำให้หายไปได้ และป้องกันไม่ให้บังเกิดขึ้นอีกนั้น

เป็นตัวเหตุที่อำนวยให้เกิดคุณประโยชน์

อันเป็นการทำให้จับการงานได้ และให้ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ก็สุดแต่จะพิจารณาและปฏิบัติ ในทางแก้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มให้หายไป

และป้องกันไม่ให้บังเกิดขึ้น ด้วยวิธีจับเหตุจับผลดั่งเช่นที่กล่าวมา

จนจิตใจนี้รับฟังเหตุผล ก็จะทำให้จับปฏิบัติ



อุทาหรณ์ตัวอย่างในการกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ

การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ก็ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระโมคคัลลานะ

ที่เมื่อท่านได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว

ท่านจับทำความเพียร นั่งโงกง่วงอยู่ด้วยความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงโปรด ด้วยทรงแสดงข้อแนะนำวิธีละความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มแก่ท่าน

โดยใจความที่ท่านแสดงไว้ว่า ได้ตรัสสอนท่านว่า


ทำใจในสัญญาคือข้อกำหนดหมายข้อใด ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบังเกิดขึ้น

ก็ให้ตั้งใจทำสัญญาข้อกำหนดหมายนั้นให้มาก ถ้าหากว่าเมื่อทำแล้วยังไม่หายโงกง่วง

ก็ให้พิจารณาตรึกตรองถึงธรรมะที่ได้ฟังแล้วได้เรียนแล้วให้มาก

ถ้าหากว่ายังไม่หายโงกง่วงก็ให้สาธยาย คือสวดบทธรรมะที่ฟังแล้วที่เรียนแล้วโดยพิสดาร

ถ้ายังไม่หายก็ให้ยอนหูทั้งสองข้าง เอาฝ่ามือลูบที่ตัวที่กาย

ถ้ายังไม่หายโงกง่วงก็ให้ยืนขึ้น เอาน้ำลูบตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนหน้าดูดาวนักษัตฤกษ์

ถ้ายังไม่หายโงกง่วง ก็ให้ทำอาโลกะสัญญา ความสำคัญหมายว่าแสงสว่าง

ทำใจให้มีแสงสว่างเหมือนกลางวัน ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน

ใจก็จะเปิดเผย ปราศจากเครื่องรึงรัด และจิตใจก็จะมีแสงสว่าง

ถ้ายังไม่หายโงกง่วงอีก ก็ให้อธิษฐานจงกรม คือตั้งใจทำการเดินกลับไปกลับมา

สำรวมอินทรีย์ ไม่ส่งจิตไปในภายนอก

แต่ถ้ายังไม่หายโงกง่วงอีก ก็ให้สำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา

ทำสติสัมปชัญญะในอันตื่นลุกขึ้น เมื่อตื่นแล้วก็รีบลุกขึ้น ไม่ประกอบความสุขในการนอน

ไม่ประกอบความสุขในการเอนข้างหรือเอนหลัง ไม่ประกอบความสุขในการเคลิ้มหลับ

ข้อปฏิบัติให้เกิดความเพียร

นี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติให้เกิดความเพียรขึ้นนั้นเอง โดยอาศัยกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ

คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผล หาทางที่จะปฏิบัติ

เพื่อรำงับความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มให้ได้ และเมื่อระงับได้แล้ว ก็จะจับความเพียรได้

จะมี อารัมภธาตุ ธาตุคือความเริ่มจับปฏิบัติทำความเพียร

นิคมธาตุ ธาตุคือความดำเนินไปของความเพียร ไม่ให้หยุดชงัก

ปรักมธาตุ ธาตุคือทำความเพียรให้ก้าวหน้า ไม่ให้ถอยหลัง ไม่ให้หยุด

ให้ก้าวหน้าเรื่อยไป จนประสบความสำเร็จ



ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม ดับนิวรณ์ได้สำเร็จนะครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 19:43:19 น.
Counter : 438 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.