Group Blog
 
All blogs
 
ธรรมะเพื่อระงับความอาฆาต

ความอาฆาต หมายถึง อาการผูกใจเจ็บและอยากแก้แค้น เป็นผลที่เนื่องมาจากจิตใจที่เต็มไปด้วย ความพยาบาท อันเกิดขึ้นจากการสูญเสียผลประโยชน์ที่ตนพึงประสงค์ ผู้มีความอาฆาตในจิตใจ จึงเป็นผู้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภ อยากได้ในสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ และชอบก่อเวรสร้างภัยให้เกิดขึ้นแก่ ผู้อื่น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง ภัยและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากความอาฆาตนั้น มีสถานะความรุนแรงตามฐานะทางสังคมของผู้มีความอาฆาต

ด้วยตระหนักถึงภัยของความอาฆาตนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสำหรับให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันความ อาฆาตไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจ ดังความที่ปรากฏใน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ อาฆาตวรรคที่ ๒ สูตรที่ ๑ อาฆาตวินยสูตรที่ ๑ ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ความว่า

พุทธพจน์

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง คือ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ พึงถึงการไม่นึก ไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑ พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรม เป็นของของตน ให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็น ผู้มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรม เป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เขาจักทำกรรม ใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาจักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้ ฯ”



ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญ เมตตาในบุคคลนั้น เมตตาหมายถึงความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราตั้งจิต ปรารถนาให้ผู้ที่มีความอาฆาตต่อเรา จงมีความสุข โดยมโนกรรม คือตั้งใจคิดปรารถนาให้เขามีความสุข ตามที่เขาประสงค์ โดยวจีกรรม คือพูดคุยกับเขาด้วยเหตุและผลตรงตามทำนองคลองธรรม ด้วยมุ่งหวังว่าเมื่อเขาได้สดับแล้วจะมีความสุขได้ โดยกาย กรรม คือช่วยสนับสนุนให้เขามีความสุขในสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และอยู่ในวิสัยที่ตนสามารถช่วยได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น เมื่อทำได้เช่นนี้บ่อยๆ ก็จะทำให้ความอาฆาต ที่สุมรุมจิตใจของเขาลดน้อยผ่อนคลายจนหมดไปได้

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญ กรุณาในบุคคลนั้น กรุณาหมายถึงความปรารถนาให้ ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราตั้งจิต ปรารถนาให้ผู้ที่มีความอาฆาตต่อเรา จงพ้นจากความทุกข์ที่เป็นบ่อเกิดของความอาฆาตในจิตใจของเขา โดยมโนกรรม คือตั้งใจคิดปรารถนาให้เขาพ้นจากความทุกข์ยากที่เขากำลังประสบอยู่ โดยวจีกรรม คือพูดคุยกับเขาด้วยเหตุและผลตรงตามทำนองคลองธรรม ด้วยมุ่งหวังว่าเมื่อเขาได้สดับแล้วจะพ้นจากความทุกข์ได้ โดยกายกรรม คือช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์ตามทำนองคลองธรรม และอยู่ในวิสัยที่ตนสามารถช่วยได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ ตนเองและผู้อื่น เมื่อทำได้เช่นนี้บ่อยๆ ผู้นั้นก็จะคลาย ความอาฆาตต่อเราลงไป

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญ อุเบกขาในบุคคลนั้น อุเบกขา หมายถึงการวางเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ภายหลังจากประพฤติตนเต็มกำลังความสามารถในกิจการนั้นแล้ว การวางเฉย ย่อมต้อง อาศัยสติสัมปชัญญะในการตักเตือนตนให้รู้จักรักษาสภาวะปกติกับผู้มีความอาฆาต คือทำตนให้มีขันติธรรมต่อผู้มีความอาฆาต พระพุทธองค์ทรงสอน ให้เรารู้จักขอบเขตแห่งการให้เมตตาและกรุณา คือเราให้ความเมตตาหรือกรุณาแก่ผู้มีความอาฆาตเรามากเกินพอดี จะทำให้ผู้นั้นคิดว่าความอาฆาตที่ตน มี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สามารถสร้างผลประโยชน์ที่ตนปรารถนาได้ เขาก็จะไม่ละที่จะแสดงความอาฆาตต่อ เราอยู่เสมอ ด้วยสำคัญผิดคิดว่าเรากลัวภัยจากความ อาฆาตของเขา การให้ความเมตตาที่มากเกินปกติ ย่อมเป็นเหมือนการยอมตามใจทุกอย่างแก่ผู้ได้รับความเมตตา การให้ความกรุณาที่มากเกินปกติ ย่อมเป็นเหมือนการสนับสนุนให้ผู้นั้นสร้างความอ่อนแอขึ้นเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือ ดังนั้นเมื่อให้เมตตา และกรุณาพอสมควรแล้ว ก็พึงทำใจวางเฉยเป็นกลาง ผู้มีความอาฆาตเมื่อเห็นว่าเราไม่ได้รับผลกระทบจาก ความอาฆาตของเขา บ่อยเข้าเขาก็จะลดทอนความอาฆาตในจิตใจที่มีต่อเราลงไป และสงบไปในที่สุด

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการ ไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น เมื่อปฏิบัติตนวางเฉยต่อ ผู้มีความอาฆาตได้แล้ว แต่นั้นก็หมั่นใฝ่ใจต่อหน้าที่ที่ตนต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องไปคิดนึกถึง หรือสนใจในความอาฆาตที่ผู้นั้นมีต่อตนเอง เมื่อผู้มีความอาฆาตรู้ว่าเราไม่ใส่ใจด้วยแล้ว เขาย่อมระงับความอาฆาตของตนเองได้ในกาลต่อมา เหมือนคนที่ตบ มือข้างเดียว ย่อมไม่มีเสียงดัง ฉะนั้น

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึง ความเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตนฯ ในขั้นตอนนี้ พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เราใช้ปัญญาพิจารณาว่า

ผู้มีความอาฆาตต่อเรา ย่อมเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน คือ เมื่อเขาผูกอาฆาตเรา เขาก็ต้องได้รับความทุกข์ทรมานจิตใจจากความอาฆาตนั้น ที่เขา สร้างขึ้น มันเป็นการกระทำของเขาเอง
มีกรรมเป็นกำเนิด ด้วยความอาฆาตที่เกิดขึ้นใน จิตใจของเขา ย่อมทำให้เขาได้กระทำการที่ไม่เหมาะสมแก่ตนเองและผู้อื่น เขาได้สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ความอาฆาตนำให้เขาต้องกระทำสิ่งที่เกิดทุกข์อย่างต่อเนื่องสืบไป
มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เขาจะอาศัยความอาฆาตนั้น เป็นเครื่องดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ตนประสงค์
เขาจักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาจักเป็นทายาท(ผู้รับผล)ของกรรมนั้น เขาจะต้องรับผลจาก การกระทำที่เกิดจากความอาฆาตในจิตใจของเขา

. . . . . . . .

ขอขอบคุณเนื้อเรื่อง ธรรมลีลา
ก็ชนเหล่าใด เข้าไปผูกความโกรธว่า ผู้โน้นได้ด่า เรา ผู้โน้นได้ตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับได้ ชนเหล่าใด ไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นว่า ผู้โน้นด่าเรา ผู้โน้นได้ตี เรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว เวรของชนเหล่านั้น ย่อมระงับได้


Create Date : 23 สิงหาคม 2551
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 12:14:43 น. 0 comments
Counter : 1127 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.