Group Blog
 
All blogs
 
ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำอย่างไร ? (ด้วยสัมมาทิฏฐิ) จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้จักมิจฉาสังกัปปะ ว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ รู้จักมิจฉาวาจา...สัมมาวาจา...มิจฉากัมมันตะ...สัมมากัมมันตะ ฯลฯ

ข้อที่ภิกษุจักทำลายอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งซึ่งนิพพานได้ ด้วยทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นั่นเป็นเพราะเหตุใด ? ก็เพราะตั้งทิฏฐิไว้ชอบแล้ว

เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบไว้ทั่วไปว่า คือ ความรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักนิโรธ ความดับทุกข์ รู้จักมรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้อธิบายสัมมาทิฏฐิแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ท่านประมวลไว้ในสัมมาทิฏฐิสูตร โดยที่ท่านได้อธิบายกว้างขวางออกไป ขยายความออกไป

วันนี้มาอ่านความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นเป็นอย่างไรนะครับ ?

อกุศลกรรมบถ ๑๐

ความรู้จักอกุศล ความรู้จักอกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล
ความรู้จักกุศล ความรู้จักกุศลมูล มูลเหตุของกุศล

ทางกายอันเรียกว่า กายกรรม อันเป็นอกุศล ๓ คือ
การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ๑
การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ๑
การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑
ทั้ง ๓ นี้เป็นทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางกาย

ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาคือ วจีกรรม มี ๔ ก็ได้แก่
พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑
ก็รวมทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาเป็น ๔

ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางใจ ๓ ก็คือ
อภิฌชา โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของ ๆ ผู้อื่น ๑
พยาบาท ปองร้ายเขา ๑
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ

รวมเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล ๑๐ นี้คืออกุศล
สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ว่าเป็นอกุศลจริง

อกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ก็ได้แก่
โลภ คือความโลภอยากได้ อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม
โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม
โมหะความหลง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม

สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักอกุศลมูลเหล่านี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ
เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลายตามเป็นจริง

กุศลกรรมบถ ๑๐

ส่วนกุศล และกุศลมูลนั้น ก็ตรงกันข้าม กุศลก็ได้แก่กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐
คือทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล เป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓

กายกรรม ๓ ก็คือ เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้
เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
วจีกรรม ๔ ก็คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
มโนกรรม ๓ ก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของ ๆ ผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
และสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบตามคลองธรรม ทั้ง ๑๐ นี้ก็ตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐

สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ ว่าแต่ละข้อเป็นกุศลจริง

ส่วนกุศลมูล มูลเหตุของกุศลนั้น ก็ได้แก่
อโลภะความไม่โลภอยากได้ โดยมีสันโดษความพอใจอยู่ในทรัพย์สมบัติเฉพาะที่เป็นของตนเท่านั้น เป็นต้น
อโทสะความไม่โกรธแค้นขัดเคือง ก็โดยที่มีเมตตา กรุณา เป็นต้น
อโมหะความไม่หลง ก็คือความที่มีปัญญารู้ตามเป็นจริง อันทำไม่ให้หลงไหล ไม่ให้ถือเอาผิด

สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จักกุศลมูลเหล่านี้ว่า ทุก ๆ ข้อเป็นมูลเหตุของกุศลจริง
สัมมัปปัญญา

สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้เป็นทิฏฐิคือความเห็นที่จำต้องการเป็นขั้นต้นของทุก ๆ คนในโลก แต่ว่าจะได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้ได้ ก็ต้องอาศัยความที่ใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นพื้น ในการประกอบปลูกปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยการฟังการเรียน อันรวมในคำว่า สุตะ ด้วยการคิดพินิจพิจารณา อันรวมเรียกว่า จินตา และด้วยการปฏิบัติอบรมต่าง ๆ ในข้อที่พึงปฏิบัติอบรมนั้น ๆ อันเรียกว่า ภาวนา และเมื่อได้ประกอบปฏิบัติปลูกปัญญาอบรมปัญญา เพิ่มพูนปัญญาในทางที่ถูกต้องอยู่เสมอ ก็ย่อมจะได้ปัญญาที่เป็นปัญญาถูกต้อง อันเรียกว่า สัมมัปปัญญา ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ดังกล่าว

มิตตสัมปทา โยนิโสมนสิการ

และข้อนี้ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ในที่อื่นอีกว่า ก็ต้องอาศัย มิตตสัมปทา คือความถึงพร้อมด้วยมิตร อันหมายความว่าได้มิตรที่ดีงาม อันเรียกว่า กัลยาณมิตร พระพุทธเป็นยอดของกัลยาณมิตร มารดาบิดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็เป็นกัลยาณมิตร เพื่อนมิตรทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ทรงปัญญา สามารถที่จะให้คำแนะนำอบรมอันถูกต้องได้ ก็เรียกว่ากัลยาณมิตร ต้องอาศัยกัลยาณมิตรนี้ ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งก็คือ โยนิโสมนสิการ ที่แปลว่าการทำไว้ในใจ จับให้ถึงต้นเหตุ ดังเช่น เมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก อกุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีมูลเหตุมาจาก โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลมูล และเมื่อกำหนดเพื่อรู้จัก กุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีต้นเหตุหรือมูลเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ดังกล่าว ความใส่ใจคือความกำหนดใจพินิจพิจารณาจับเหตุของผลให้ได้ดั่งนี้ คือ โยนิโสมนสิการ ก็ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการนี้อีกข้อหนึ่ง

เบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติ

ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการนี้ ย่อมเป็นเบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา หรือคลุมไปได้จนถึงศีลทั้งหมด ต้องอาศัยมีกัลยาณมิตร และมีโยนิโสมนสิการ มาตั้งแต่เบื้องต้น เหมือนอย่างอรุณเป็นเบื้องต้นของวัน กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการก็เปรียบเหมือนว่า เป็นอรุณเป็นเบื้องต้นของความสว่าง ของสัมมาปฏิบัติคุณงามความดีทั้งสิ้น อันนับว่าเป็นความสว่าง จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ พระสารีบุตรจึงได้นำมาอธิบายไว้เป็นประการแรก และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า เมื่อได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล อันนำให้ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ความเห็นตรง ก็ย่อมจะนำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้

ที่ท่านเรียกว่านำเข้ามาสู่สัทธรรมนี้ ก็คือนำเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้นั่นเอง และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ปฏิบัติละกิเลส ที่นอนจมหมักหมมดองจิตสันดาน อันเรียกว่าอาสวะหรือเรียกว่าอนุสัย อันยกขึ้นมาก็คือว่า เป็นเหตุให้ละ ราคานุสัย กิเลสที่นอนจมหมักหมมจิตสันดานคือราคะ บันเทา ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง อันเป็นเบื้องต้นของกิเลสกองโทสะ ถอน ทิฏฐิมานานุสัย อนุสัยคือทิฏฐิมานะ ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น จึงเป็นไปเพื่อการกระทำความสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ได้ ดั่งนี้

ปัญญาขั้นต้น

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ต้องการในทางพุทธศาสนา อันเป็นขั้นต้นที่ต้องการทั่วไป ก็คือปัญญาที่ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบดังกล่าว ก็คือให้รู้จักอกุศล ให้รู้จักอกุศลมูล ให้รู้จักกุศล ให้รู้จักกุศลมูล ต้องอาศัยความคิดพินิจพิจารณา และการปฏิบัติอีกด้วย คือว่าต้องคิดพิจารณาไป และต้องปฏิบัติไป การปฏิบัติไปนั้นก็คือ ปหานะ ละ อย่าง ๑ ภาวนา ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ๑

ละ ก็คือว่าต้องฝึกละอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ละอกุศลมูลทั้ง ๓ นี่เป็นข้อที่ต้องปฏิบัติฝึกหัดละ

ภาวนาคือทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นนั้น คือต้องปฏิบัติฝึกที่จะประกอบกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ และอบรมกุศลมูล อโลภะ อโทสะ อโมหะ ให้มีขึ้นให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ นี้ก็รวมเข้าในคำว่าภาวนา

ญาณทัสสนะ

ในข้อ ๓ นี้ ก็ต้องประกอบด้วยทั้งละ และทั้งทำให้มีขึ้น ให้เป็นขึ้น ดังกล่าวนั้น แต่เมื่อปฏิบัติไป ๆ อาศัยสุตะ อาศัยจินตา อาศัยภาวนาทั้ง ๓ นี้ ก็ย่อมจะได้ปัญญา ที่เป็นตัวความรู้ขึ้นของตัวเอง ได้ความเห็นขึ้นของตัวเอง ซึ่งมีคำเรียกว่า ญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็น รู้เห็นว่าข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลมูลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นกุศลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นกุศลมูลจริง

ในการที่จะปฏิบัติประกอบปัญญาในทางทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตร และอาศัยโยนิโสมนสิการดังกล่าวมานั้น ประกอบกันอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้นผู้มุ่งจะได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงต้องปฏิบัติตามมงคลสูตรคาถาแรกของพระพุทธเจ้าอยู่ให้เป็นประจำ คือ ไม่เสวนาคบหาคนพาลทั้งหลาย เสวนาคบหาบัณฑิตทั้งหลาย และบูชาผู้ที่ควรบูชาทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้แล้วจึงจะได้กัลยาณมิตร และเมื่อมีโยนิโสมนสิการประกอบอยู่ตลอด ก็ย่อมจะเจริญปัญญาขึ้นโดยตลอด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง
ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกับสัมมาทิฐินี้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฐิ
เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

ขอบพระคุณที่มีจิตกุศลติดตามอ่านครับ

เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก และพระธรรมเทศนาของ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ภาพประกอบจากสมาชิก api3003
ขอกราบอนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ

ขอให้ทุกท่านจงมีสัมมาทิฏฐิมากยิ่งๆขึ้นไปครับ


Create Date : 22 สิงหาคม 2551
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 19:30:12 น. 0 comments
Counter : 634 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.