Group Blog
 
All blogs
 

นางเทพธิดาได้วิมานอันอัศจรรย์ เพราะการอนุโมทนาด้วยจิตอันบริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น

การอนุโมทนาคือการยินดีตามไปกับทาน บุญ ที่ผู้อื่นได้ทำแล้ว

โมทน นป.(=นปุงสกลิงค์)
การยินดี, โมทนา.

อนุ + โมทนา = อนุโมทนา
แปลเอาความ(อรรถ) ตามบาลี ที่นิยมแปลจากหลังมาหน้า เป็น

การยินดี ตาม
ยินดี ตาม ไปกับทาน บุญ ที่ผู้อื่นได้ทำแล้ว

ข้อมูลจากลานธรรม ^^

//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อนุโมทนา

เช่นสาธุการ การเปล่งวาจาว่า สาธุ (แปลว่า “ดีแล้ว” “ชอบแล้ว”) เพื่อแสดงความเห็นชอบด้วย ชื่นชม หรือยกย่องสรรเสริญ

ปัตตานุโมทนา เป็นบุญที่สำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ ย่อมต้องได้รับอานิสงค์ครับ

ท่านพระอนุรุทธเถระ ได้ถามนางเทพธิดาตนหนึ่งว่า

ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่เหมือนดาวประกายพฤกษ์ เมื่อท่านฟ้อนอยู่ เสียงอันเป็นทิพย์น่าฟัง รื่นรมย์ใจ ย่อมเปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน ทั้งกลิ่นทิพย์อันหอมหวนยวนใจ ก็ฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน เมื่อท่านไหวกายกลับไปมา เสียงของเครื่องประดับช้องผมก็ดังเสียงไพเราะ ดุจเสียงดนตรีเครื่อง ๕ อนึ่ง เสียงมงกุฎที่ถูกลมรำเพยพัดให้หวั่นไหว ก็กังวานไพเราะดุจเสียงดนตรีเครื่อง ๕ แม้พวงมาลัยบนเศียรเกล้าของท่าน มีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบานใจ หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศดุจต้นอุโลก ฉะนั้น ดูกรนางเทพธิดา อาตมาถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร?

นางเทพธิดาตอบว่า

ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นสหายของดิฉันอยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันเห็นมหาวิหารนั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา ก็วิมานอันเป็นที่รักนี้อันดิฉันได้แล้ว เพราะการอนุโมทนาด้วยจิตบริสุทธิ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น

วิมานนี้เป็นวิมานอัศจรรย์น่าดูน่าชม โดยรอบสูง ๑๖ โยชน์ เลื่อนลอยไปในอากาศ ได้ตามความปรารถนาของดิฉัน ดิฉันมีปราสาทเป็นที่อยู่อาศัย อันบุญกรรมจัดแจงเนรมิตให้เป็นส่วนๆ งามรุ่งโรจน์ตลอดร้อยโยชน์โดยรอบทิศ อนึ่ง ที่วิมานของดิฉัน มีสระโบกขรณีเป็นที่อาศัยของหมู่มัจฉาชาติมีน้ำใสสะอาด มีท่าอันลาดด้วยทรายทอง ดารดาษไปด้วยปทุมชาตินานา ชนิดพร้อมทั้งบัวขาว เกษรแห่งบัวทั้งหลายอันลมรำเพยพัด ย่อมหอมฟุ้งเจริญใจ มีรุกขชาติต่างๆ อันบุญกรรมปลูกไว้ใกล้วิมาน คือ ไม้หว้าขนุน ตาล มะพร้าว วิมานนี้กึกก้องไปด้วยเสียงดนตรีต่างๆ และกึกก้องไปด้วยหมู่นางอัปสร แม้นรชนใดได้เห็นวิมานนี้ด้วยความฝันนรชนนั้นก็พึงปลื้มใจ วิมานอันมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ น่าอัศจรรย์น่าดูน่าชมเช่นนี้ เกิดแต่ดิฉันเพราะกุศลกรรมทั้งหลาย ควรทำบุญโดยแท้


วันนี้นำเรื่องนางเทพธิดา เล่าการทำความดีของตนในอดีต
ได้วิมานอันอัศจรรย์ เพราะการอนุโมทนาด้วยจิตอันบริสุทธิ์
อย่างเดียวเท่านั้น มาปันกันอ่านครับ

จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา วิหารวิมาน
ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในวิหารวิมาน








 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 20:48:52 น.
Counter : 306 Pageviews.  

อภัยทาน

การยกโทษ อาจดูเหมือนเรายอม เราไม่ติดใจ ไม่เอาเรื่อง
แล้วจะทำให้เขากำเริบ ส่วนเราเสียเปรียบ
ความจริงไม่ใช่ เรากำลังบำเพ็ญบารมิขั้นสูงสุด คือ "อภัยทาน"
อันเป็น "ทานบารมี" ที่สูงส่ง
การยอมแพ้อาจเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ข้ามภพชาติ

วันนี้นำเรื่องอภัยทานมาฝากชาวห้องศาสนาครับ

การผูกอาฆาตพยาบาท จองเวร ให้ผลข้ามภพข้ามชาติ ถ้าเราเปรียบภพชาติเหมือนคืนวัน การนอนหลับเหมือนการตาย การตื่นนอนเหมือนการเกิด ภพชาติก็ใกล้ตัวเราเข้ามา การผูกอาฆาตพยาบาทเหมือนการเข้านอนโดยไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย หลับก็ไม่เป็นสุข ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น

ในแต่ละวัน จิตของเราเก็บเกี่ยวเฉี่ยวโฉบอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง อิจฉา นินทา อาฆาต พยาบาท ขุ่นเคือง นานาชนิดเอาไว้ ถ้าไม่มีวิธีชำระก็จะเกิดสนิมใจขึ้นมา กระทั่งไม่อาจนอนได้อย่างมีความสุข หากไม่ชำระร่างกายฉันใด ใจที่ไม่ถูกชำระ จะทำให้ฝันร้าย อารมณ์หงุดหงิด หลับไม่สนิทฉันนั้น

การแสดงอภัยท่านเป็นการชำระใจ แม้จะดูพูดง่าย แต่ก็ทำได้ยากหากไม่ฝึกทำจนเป็นปกติ เพื่อให้เข้าใจง่ายและอยากทำให้ได้ ขอให้เรามาพิจารณาเหตุผล ถึงความต่อเนื่องของผลกรรม ที่มีผลข้ามภพข้ามชาติว่า ให้ผลเผ็ดร้อนเพียงใด และยังเป็นผลที่เราหนีไม่ได้อีกด้วย

เราต้องถามตนเองก่อนว่า เราต้องการยุติการผลิตผลของกรรมกับคน ๆ นั้นเพียงภพนี้ หรือต้องการจะพบเขา จะเจอเขาอีกในชาติต่อ ๆ ไป เราต้องการจะยุติปัญหาเหล่านี้เพียงภพชาตินี้ หรือต้องการลากยาวไปถึงภพชาติข้างหน้า เรามีสิทธิเสรีในตัวเราที่จะหยุดหรือสร้างเหตุต่อไปอีก

บางคน รักมาก หลงมาก เพราะเขาดีมาก ก็ปรารถนาให้พบกันทุกภพทุกชาติ
บางคนก็อธิษฐานไม่ขอร่วมเดินทาง แต่ก็ไม่ยกโทษ ในที่สุดผลของการไม่ยกโทษ คือ ไม่ยอมให้อภัย ก็เหมือนการผูกสิ่งที่เราไม่ชอบไว้ที่เอวตนเองตลอดเวลา

การให้อภัย จะทำให้เราสามารถยุติปัญหาต่าง ๆ ได้ เหมือนคนล้างแก้วน้ำสะอาด ทำให้เหมาะสมที่จะรองรับน้ำบริสุทธิ์ที่เทลงไปใหม่ เหมือนการโยนของที่เราไม่ชอบทิ้งเสีย โดยไม่ต้องเสียดาย

การให้อภัย คือ การแสดงกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ อภัยทานนั้นเวลาจะให้ ไม่ต้องไปขอใคร ไม่เหมือนใครมาขอเงินเรา เราต้องควักกระเป๋าให้ แต่ให้อภัย เราไม่ต้องหาจากไหน และไม่รู้สึกว่าเป็นการสูญเสีย


ขอให้เราภูมิใจเถิด เมื่อมีใครมาขอโทษ เมื่อมีใครให้อภัยเรา หรือเมื่อสำนึกได้ว่า เราได้ทำอะไรผิดพลาดไป ก็ขอโทษกัน การขอโทษ หรือการให้อภัย มิใช่การเสียหน้า หรือเสียรู้ มิใช่การได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใด หากแต่เป็นการชำระใจให้สะอาด เหมือนภาชนะสกปรก ก็ชำระล้างให้สะอาด

ในช่วงที่เหลืออยู่นี้ อาจจะดูเหมือนยาว แต่มีใครบอกได้ว่าเราจะอยู่ได้ปลอดภัยถึงวันไหน เราต้องการความทรงจำที่เลวร้าย หรือต้องการความทรงจำที่ดีในชีวิต

เราต้องการนั่งนอนอย่างมีความสุข มีชีวิตอยู่ด้วยความอิ่มเอิบ หรือต้องการอยู่ด้วยการถอนหายใจด้วยความทุกข์ และกังวลใจ สิ่งเหล่านี้กำหนดได้ที่ตัวเราเอง กำหนดวิธีคิดให้ถูกต้อง ความคิดเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก บุญหรือทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่วิธีคิด คิดเป็นก็พ้นทุกข์ คิดไม่เป็น แม้แต่เรื่องมิใช่เรื่อง ก็อาจเกิดเรื่องได้ ขอให้เรามาคิดดูว่า ในชีวิตของเราคนหนึ่ง อย่างเก่งก็อยู่ได้ ๙๕ ปี เกินนี้ไปถือเป็นกำไรชีวิต ทำไมเราจะเสียเวลามาครุ่นคิดเรื่องไร้สาระ ทำไมเราจะต้องเสียเวลามาทำเรื่องที่ทำให้เกิดทุกข์

การยอมกันเสียบ้าง ก็เป็นความสุขได้ไม่ยาก เราอาจคิดว่า การให้อภัยบ่อย ๆ แก่คนบางคน เขาอาจจะไม่ปรับตัว ยังก่อเหตุอยู่เสมอ ๆ งานก็ไม่สำเร็จ ยังเหลวไหลอยู่เหมือนเดิม นั่นอาจเป็นเหตุผลในการทำงาน แต่สำหรับเหตุผลของใจนั่น เมื่อให้อภัย ใจเราก็เบา การยกโทษ อาจดูเหมือนเรายอม เราไม่ติดใจ ไม่เอาเรื่อง แล้วจะทำให้เขากำเริบ ส่วนเราเสียเปรียบ ความจริงไม่ใช่ เรากำลังบำเพ็ญบารมีขั้นสูง คือ "อภัยทาน" อันเป็น "ทานบารมี" ที่สูงส่ง การยอมแพ้อาจเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ข้ามภพชาติ

ขอให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เวลาเราโกรธ เกลียด พยาบาทใคร สีหน้าของเราจะเปลี่ยนไป เลือดในร่างกายจะผิดระบบ เช่นเวลาโกรธจัด จิตที่ถูกครอบงำโดยอารมณ์ร้าย ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ ความรุ่มร้อน ไม่พอใจ ทำอะไรก็กังวล เป็นทุกข์ แต่พอยกโทษให้ ก็จะรู้สึกทันทีว่า ยิ้มได้ จิตเบาสบาย ที่เปรียบกันว่า เหมือนยกภูเขาออกจากอก รู้สึกจิตเป็นอิสระทันที เพราะหมดห่วง หมดทุกข์ หมดสนิม ที่จะกัดกร่อนจิตใจ

วิธีคิด มีความสำคัญมากสำหรับชีวิตของคน เรามักได้ยินเสมอ ๆ ว่า แพ้หรือชนะอยู่ที่กำลังใจ แท้จริงแล้ว คำว่า "กำลังใจ" ก็คือวิธีคิดนั่นเอง พลังที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ คือการที่ใจมีกำลัง

มนุษย์เราจึงต้องสร้างกำลังใจให้แก่กันและกัน กำลังใจเป็นสิ่งที่ให้ไม่รู้จักหมด
ยิ่งเราให้คนอื่นได้มากเท่าไร กำลังใจก็จะยิ่งเกิดขึ้นแก่เรามากเท่านั้น เหมือนวิชาความรู้ ยิ่งให้ยิ่งพอกพูน ยิ่งหวงไว้เฉพาะตัวก็ยิ่งหดหาย

การให้อภัย อาจพูดง่าย แต่ทำยาก แม้จะเป็นเรื่องยาก เพราะใจไม่อยากทำ แต่ก็สามารถทำได้ เมื่อเราฝืนใจทำ และจะเป็นความสุขใจในภายหลังเมื่อครวญคำนึงถึง

การตอบรับซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นความดี เป็นความรัก ความอบอุ่น ก็ดีไป แต่ถ้าเป็นความเกลียด ความโกรธ สิ่งที่จะตามมา คือการรับรู้ และเก็บอารมณ์ทั้งโกรธ และเกลียดนั้นไว้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เมื่อรู้แล้วก็ควรละอารมณ์นั้นด้วยตัวเราเองก่อน เพื่อป้องกันจิตเรามิให้เป็นทุกข์ เพราะคนนั้นเป็นเหตุ เราอาจคิดเสมือนหนึ่งไม่ได้มีเขาอยู่ในโลกนี้เลยก็ได้ การให้อภัยเขา คือคิดถึงเขาในฐานะเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่สมควรจะไปยึดเป็นรักเป็นชัง

ก็เมื่อแม้แต่รัก ท่านยังสอนให้เราละทิ้ง มิให้ยึดติด
แล้วทำไมเราจะยังมองเห็นโกรธ เป็นสิ่งที่จะต้องยึดมั่นอยู่

จากหนังสือ "อภัยทาน" แต่งโดย พระศรีญาณโสภณ (สุวิทย์ ปิยวิชโช) วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต ขออนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ

ไม่มีอะไรที่จะปลดปล่อยเราจากความทุกข์เพราะถูกทำร้ายได้ดีไปกว่าการให้อภัย
การให้อภัยจะช่วยให้เราเป็นอิสระจากกรงขังที่เราสร้างขึ้นไว้เอง
อันได้แก่กรงขังแห่งความเคียดแค้นพยาบาท ต่อเมื่อสลัดความเคียดแค้นออกไป อิสรภาพจึงจะบังเกิดขึ้นครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 20:45:00 น.
Counter : 320 Pageviews.  

อัตตกิลมถานุโยค ความเชื่อในสมัยพุทธกาล

จำแรกที่พระพุทธเจ้าสอนปัญจวัคคีย์ได้ไหมครับ? ในสมัยนั้นแมัแต่พระปัญจวัคคีย์ตอนแรกยังมีความเชื่อเรื่องการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจะต้องทรมานตนเองให้ลำบาก เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค พระพุทธเจ้าได้แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ไม่ตึง ไม่หย่อน คือทางสายกลาง บอกความจริงว่าทรมานตนเองไม่ใช่ทางที่ถูก ซึ่งสวนกระแสของนักบวชในยุคนั้น

ผู้ช่วยศาสตาจารย์ ดร. บรรจบ บรรณรุจิ จุฬาฯ ท่านกล่าวว่า "คำสอนประโยคนี้พระพุทธเจ้าขึ้นต้นด้วยพระดำรัสที่แรงมาก ตีแรงเลย ถ้าใครอ่านบาลีได้ก็จะพบเลยว่าทรงตีแรงมาก โดยขึ้นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย ที่สุดโต่งในสองส่วนนี้ บรรชิตต้องไม่ประพฤติปฏิบัติ ก็คือการที่หมกมุ่นอยู่กับกามและการทรมานตัวเองให้ลำบาก.."

ศาสตาจารย์ ดร. จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ท่านกล่าวว่า "...ซึ่งพวกนั้นไม่เห็นด้วย ก็เกิดสงสัย ทางนั้นก็ไม่เดิน ทางนี้ก็ไม่เดิน แล้วจะเดินทางไหน มันมีสองทางเท่านั้นสมัยนั้น พระพุทธเจ้าจึงเสนอทางที่สาม คือทางสายกลาง ท่านเหล่านั้นไม่เคยได้ยินว่าทางสายกลางคืออะไร และทางสายกลางจะนำไปสู่อะไร ทรงบอกว่าทางสายกลางคือ มรรคมีองค์แปด และทางสายกลางจะนำไปสู่อะไร นำไปสู่การดับทุกข์..."

เศรษฐีทดสอบว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์กันแน่

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ มีเศรษฐีผู้หนึ่งใคร่จะลงน้ำในแม่น้ำคงคา จึงให้บริวารขึงตาข่ายเป็นรั้วล้อม ในท่าที่ตนอาบน้ำอยู่นั้น เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ ขณะนั้นมีไม้จันทน์แดงต้นหนึ่งเกิดที่ริมฝั่งเหนือน้ำขึ้นไป ถูกน้ำเซาะรากโค่นลงไหลมาตามน้ำถูกกระแสน้ำพัดกระทบกับของแข็งหักเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่กระจัดกระจายไปตามน้ำ มีอยู่ก้อนหนึ่งเป็นปุ่มซึ่งแตกออกมา กลิ้งกระทบหินและกรวดทรายกลายเป็นก้อนกลมอย่างดี และมีตระใคร่น้ำเกาะอยู่โดยรอบไหลมาติดตาข่ายนั้น

เศรษฐีให้คนตรวจดูรู้ว่าเป็นไม้จันทน์แดงแล้วคิดว่า “ ไม่จันทน์แดง ในบ้านของเรามีอยู่มากมาน เราควรจะทำอะไรดีกับไม้จันทน์แดงก้อนนี้ ” พลางก็คิดขึ้นได้ว่า “ ชนเป็นจำนวนมากต่างก็พูดอวดว่าตนเป็นพระอรหันต์ เรายังไม่รู้ชัดว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์กันแน่ เราควรให้ช่างกลึงปุ่มไม้จันทน์แดงนี้ทำเป็นบาตรแล้วแขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ต่อกันให้สูง ๑๕ วา ประกาศว่า ผู้ใดสามารถเหาะมาเอาบาตรไปได้ จึงจะเชื่อถือผู้นั้นว่าเป็นพระอรหันต์ เราพร้อมด้วยภรรยา และบุตรจะขอถึงผู้นั้นเป็นสารณะที่พึ่งตลอดชีวิต ” เมื่อคิดเช่นนี้แล้วก็รับสั่งให้ทำตามที่คิดทุกประการ

เดียรถีย์แสดงท่าเหาะ

ครั้งนั้น เจ้าสำนักครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป ทักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธกัจจายะ และ นิครนถ์นาฏบุตร ต่างก็มีความประสงค์อยากจะได้บาตรไม้จันทน์แดงด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ไปพูดกับท่านเศรษฐีว่า..

“ ท่านเศรษฐี บาตรนี้สมควรแก่เรา ท่านจงยกไห้แก่เราเถิด ”
“ ถ้าท่านต้องการอยากจะได้ ก็จงเหาะขึ้นไปเอาด้วยตนเองเถิด ” เศรษฐีกล่าวยืนยัน

ครั้นถึงวันที่ ๖ นิครนถ์นาฏบุตร ได้ใช้ให้ศิษย์ไปบอกแก่ท่านเศรษฐีว่า
“ บาตรนี้ สมควรแก่อาจารย์ของเรา ท่านอย่าให้ถึงกับต้องแสดงฤทธิ์เหาะมาเลยเพราะเหตุเพียงบาตรใบเดียว ซึ่งเป็นวัตถุเล็กน้อยนี้เลย จงมอบให้แก่อาจารย์ของเราเถิด ”

ท่านเศรษฐี ก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิม นิครนถ์นาฏบุตรจึงวางแผนกับลูกศิษย์ว่า “ เมื่อเราทำท่านยกมือ ยกเท้า แสดงอาการจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร พวกเจ้าจงเข้ายึดมือและเท้าของเราไว้แล้วกล่าวห้ามว่า ไฉนท่านอาจารย์จึงทำอย่างนี้ ท่านอย่าได้แสดงคุณความเป็นพระอรหันต์ที่ปกปิดไว้เพราะเหตุเพียงบาตรใบนี้เลย ”

เมื่อตกลงวางแผนกันเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปพูดขอบาตรกับเศรษฐี เมื่อได้รับคำปฏิเสธเช่นเดิม จึงแสดงท่าจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็พากันเข้าห้ามฉุดรั้งไว้แล้ว กล่าวตามที่ตกลงกันไว้นั้น นิครนถ์นาฏบุตรจึงพูดกับเศรษฐีว่า “ เราจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร แต่บรรดาศิษย์ทั้งหลายพากันฉุดรั้งไว้อย่างที่เห็น ดังนี้ ขอท่านจงให้บาตรแก่เราเถิด ” เศรษฐีก็ยังไม่ยอมให้เช่นเดิม

พระปิณโฑลภารวาชะเหาะขึ้นไปเอาบาตร

ในวันที่ ๗ เวลาเช้า พระมหาโมคคัลลานเถระกับพระปิณโฑภารทวาชเถระ จะเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ยืนห่มจีวรอยู่บนก้อนกินใหญ่ก้อนหนึ่ง ได้ยินเสียงนักเลงทั้งหลายพูดกันว่า “ ครูทั้ง ๖ ต่างกล่าวอวดอ้างว่าตนเป็นพระอรหันต์ จนถึง ๗ วันเข้าวันนี้แล้ว ก็ไม่เห็นมีใครสักคนเดียวเหาะขึ้นไปเอาบาตรที่ท่านเศรษฐีแขวนไว้ พวกเราก็เพิ่งจะรู้กันในวันนี้เองว่า พระอรหันต์ไม่มีในโลก ”

พระมหาโมคคัลลานเถระ จึงกล่าวว่า “ ท่านภารทวาชะ ท่านได้ยินหรือไม่ถ้อยคำของนักเลงเหล่านั้นพูดหมิ่นประมาทพระพุทธศาสนา ท่านก็มีฤทธิ์อนุภาพมาก จงเหาะไปเอาบาตรใบนั้นมาให้ได้ ”

พระผู้เป็นเจ้าภารทวาชะ รับคำของพระมหาโมคคัลลานเถระแล้วเข้าจตุตถฌานสมาบัติอันเป็นฐานแห่งอภิญญา กระทำอิทธิฤทธิ์เหาะขึ้นไปบนอากาศ พร้อมทั้งแผ่นศิลาที่ยืนอยู่นั้น เหาะเวียนรอบกรุงราชคฤห์แล้ว เหาะลอยเลื่อนมาอยู่ตรงหลังคาเรือนของเศรษฐี ท่านเศรษฐีเห็นดังนั้นแล้วก็ดีใจที่ได้เห็นพระอรหันต์ที่แท้จริง และตกใจกลัวว่าก้อนหินจะล่วงลงมาทับบ้านของตน จึงกราบหมอบลงจนอกติดพื้นดินแล้ว กล่าวละล่ำละลักว่า “ ขอพระผู้เป็นเจ้า ลงมาเถิด ” พระเถระจึงสลัดก้อนหินไปประดิษฐานในที่เดิมแล้วเหาะลงมาจากอากาศ เมื่อพระเถระลงมาแล้ว ท่านเศรษฐีจึงนิมนต์ให้นั่ง ณ อาสนะที่จัดถวาย ให้คนนำบาตรลงมาจากที่แขวนไว้ บรรจุอาหารอันประณีตจนเต็มแล้วถวายพระเถระพระผู้เป็นเจ้าภารทวาชะรับแล้วก็กลับสู่วิหาร

ข้อมูลจากพระมหาสมศักดิ์ ญาณโพโธ คณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ตามรอยพระพุทธเจ้า larnbuddhism.com ภาพประกอบจากสมาชิกพันทิปและอินเตอร์เน็ต
ขออนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 20:40:44 น.
Counter : 1472 Pageviews.  

ถวายดอกมะลิบูชาพระ

วันนี้ชวนมาถวายดอกมะลิ ดอกไม้ที่ทั้งสวย และหอม บูชาพระครับ มะลิเป็นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด และด้วยความที่มีสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ คนไทยจึงนิยมนำดอกมะลิมาร้อยเป็นมาลัยบูชาพระ
ในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๒ พระสูตรที่ชื่อ “สุมนเถราปทาน” ซึ่งพระสุมนเถระได้กล่าวถึงผลแห่งการถวายดอกมะลิในครั้งอดีตกาล ความว่า
“ในกาลนั้น เราเป็นนายมาลาการมีนามชื่อว่าสุมนะ ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลี ทรงสมควรรับเครื่องบูชาของโลก จึงเอามือทั้งสองประคองดอกมะลิที่บานดีบูชาแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก ด้วยการบูชาดอกไม้นี้ และด้วยการตั้งจิตไว้ เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัลปที่ ๓๑ ...”

ส่วนพระพุทธองค์ตรัสถึงดอกมะลิไว้ในอาหุเนยยสูตรว่า“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กลิ่นหอมที่เกิดแต่ดอกชนิดใดชนิดหนึ่ง ดอกมะลิ โลกกล่าวว่าเป็นยอดแห่งกลิ่นหอม เกิดแต่ดอกเหล่านั้น แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯลฯ”
มะลิมีหลายพันธุ์ มีทั้งไม้พุ่ม ไม้เลื้อย มีทั้งใบเดี่ยวและใบรวม เช่น มะลิลา มะลิซ้อน มะลิวัลย์ มะลิพวง มะลิฉัตร เป็นต้น มะลิออกดอกตลอดปี ดอกจะเริ่มบานในเวลาบ่ายแล้วร่วงในวันรุ่งขึ้น และจะให้ดอกมากในฤดูร้อนและฤดูฝน ส่วนฤดูหนาวจะออกดอก น้อยที่สุด
ดังนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสไว้ในคาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ 25 ว่า“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเปลื้องราคะและโทสะเสีย เหมือนมะลิปล่อยดอกที่เหี่ยวแห้งแล้ว”

ในภาษาบาลี เรียกมะลิว่า “สุมนา” ซึ่งแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ผู้ใจดี” อาจจะเป็นด้วยความหมายนี้ ประกอบกับการที่มะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส เคยกล่าวไว้ว่า “ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่ถูกรับรองแล้วว่าเป็นดอกไม้ที่หอมเย็น ชื่นใจที่สุด และขาวบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งหลาย ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็เช่นเดียวกับการเล่นละคร ขอให้เป็นตัวเอกที่มี ชื่อเสียงที่สุด เช่นเดียวหรือลักษณะเดียวกับดอกมะลิ อย่าเป็นตัวผู้ร้ายที่เลวที่สุด และให้เห็นว่าดอกมะลินี้จะบานเต็มที่เพียง ๒-๓ วัน ก็จะเหี่ยวเฉาไป ฉะนั้นขอให้ทำตัวให้ดีที่สุด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ให้หอมที่สุดเหมือนดอกมะลิที่เริ่มแย้มบาน ฉะนั้น”

ขอบคุณเนื้อเรื่องโดย ธรรมลีลา




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 20:34:54 น.
Counter : 527 Pageviews.  

พุทธจริยธรรมกับดนตรี

กล่าวถึงดนตรีกับศาสนาพุทธ บางท่านนึกถึง การเว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง
ประโคมดนตรีและดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล

ดนตรีและบทเพลงนั้น เกี่ยวข้องในสมัยพุทธกาลอย่างไร ?

ดนตรีและบทเพลงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของมนุษยชาติ และมีการสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ ท้องทุ่ง หรือธรรมชาติต่า งๆ รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีการประกอบอาชีพ หรือความเชื่อทางศาสนา เช่น เรื่องบาป-บุญ ชาตินี้ หรือชาติหน้า เป็นต้น จินตนา ดำรงค์เลิศ ได้กล่าวที่มาของบทเพลงว่า "บทเพลงถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับสังคมมนุษย์ มีที่มาจากชีวิตมนุษย์ และเป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น บทเพลงเป็นศิลปะที่แพร่หลายทั่วไปไปในสังคม มีความหมายรวมถึงดนตรีและการขับร้อง" (จินตนา ดำรงเลิศ, ๒๕๓๑: ๑)

พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่หลักธรรมเข้ามาประเทศไทยโดยรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมาจากหลักคำสอนโดยตรง หรืออาจจะสอดแทรกเข้ามาในวรรณกรรมชาวบ้านหรือแม้กระทั่งบทเพลงพื้นบ้านต่า งๆ เช่น บทเพลงพื้นบ้านที่ว่าด้วยหลักคำสอน ศรัทธาและความเชื่อ เช่น ความเชื่อเรื่องกรรม บาป-บุญ เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงบทเพลงต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ที่มาของบทเพลงอันเป็นพื้นฐานของบทเพลงต่างๆ ในปัจจุบัน

ในพระพุทธศาสนามีบทเพลงต่าง ๆ อยู่มาก ทั้งบทเพลงที่สัมปยุตด้วยโลกิยธรรม และสัมปยุตด้วยโลกุตรธรรม

๑. บทเพลงที่สัมปยุตด้วยโลกิยธรรม หมายถึงบทเพลงธรรมอันเป็นวิสัยของปุถุชนผู้ครองเรือน เป็นบทเพลงที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อการบรรลุคุณธรรมขั้นสูง แต่แฝงไปด้วยข้อปฏิบัติสำหรับปุถุชนให้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักศีลธรรม มุ่งสอนเพื่อให้เกิดการลดละกิเลสที่เป็นอกุศล สาเหตุที่ก่อให้เกิดอกุศลต่าง ๆ ดังตัวอย่าง เพลงรักที่ปัญจสิขะเทพบุตรได้ขับถวายพระพุทธเจ้า คือ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำอินทสาล ใกล้เมืองราชคฤห์ พระอินทร์ใคร่จะเฝ้า แต่เนื่องด้วยพระองค์กำลังเข้าฌานสมาบัติอยู่จึงไม่กล้ารบกวน พระอินทร์จึงมีเทวบัญชาให้ปัญจสิขะเทพบุตรไปดูลาดเลาก่อน และสั่งว่า ถ้าพระพุทธเจ้าออกจากฌานสมาบัติเมื่อใด ให้ทำอาณัติสัญญาณบอก ปัญจสิขะไปรออยู่นาน พระองค์ก็ไม่ออกจากสมาบัติ จึงหยิบพิณขึ้นมาดีด พร้อมกับบรรยายายเพลงรักถึงความรักอันซาบซึ้งที่ตนมีต่อสาวงามนางหนึ่ง เสียงพิณและเสียงเพลงทำให้พระพุทธเจ้าตื่นจากฌานสมาบัติ พอเขาขับเพลงจบ พระองค์จึงตรัสถามว่า "เธอขับเพลงขับได้ไพเราะดี ไปเรียนมาจากไหน" ก็กราบทูลว่า "เมื่อครั้งพระองค์ยังมิได้ตรัสรู้พระโพธิญาณ ประทับบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ โคนต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ข้าพระพุทธเจ้าหลงใหลนางหนึ่ง นาวว่า ภัทรา ผู้มีสมญานามว่า สุริยายายอแสง (สริยวัจฉสา) ธิดาของติมพรุหัวหน้าคนธรรพ์ แต่นางได้ฝากดวงใจไว้กับชายอื่นเสียแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้มาพบพระองค์ประทับนิ่ง สงบ อยู่ใต้ต้นโพธิ์ด้วยดวงพักตร์อันอิ่มเอิบ มีความสุขอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ จึงนึกในใจว่า ถ้าหากรักของข้าพเจ้าสมหวัง จ้อคงมีความสุขเช่นท่านผู้นี้ เหตุนี้เอง เป็นแรงดลใจให้ข้าพุทธเจ้าแต่งเพลงบรรเลงความรักอมตะที่มีต่อนาง" (ที.ม.๑๐/๒๔๘/๒๓๖)

บทเพลงที่ปัญจสิขะเทพบุตรได้ขับร้องถวายพระพุทธเจ้า เป็นการความรักที่ตนมีต่อนางสุริยวัจฉสา ซึ่งเปรียบเทียบถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระอรหันต์ทั้งหลายไว้อย่างไพเราะ ดังตัวอย่างตอนหนึ่งว่า (เสฐียรพงษ์ วรรณปก, ๒๕๓๑: ๔๖)

ยํ เม อตฺถิ กตํ ปุญฺญํ อรหนฺเตสุ ตาทิสุ
ตํ เน สพฺพงฺคกลฺยาณิ ตยา สทฺธํ วิปจฺจตํ ฯ
โอ้...น้องผู้งามล้ำทั่วสรรพางค์ บุญใดที่จ้าสร้างไว้ในพระอรหันต์ผู้มีจิตคงที่ ขอ บุญนั้นจงเผล็ดผลให้ได้นฤมล เป็นคู่ครอง ฯ
สกฺยปุตฺโตว ฌาเนน เอโกทิ นิปโก สโต
อมตํ มุนิ ชิคึสาโน ตมหํ สริยวจฺฉเส ฯ

สุริยายอแสง เอย ข้ารักและปรารถนาเจ้าอย่างสุดซึ้ง ดังหนึ่งศากยมุนี มีสติ ปรีชาญาณ ทรงบำเพ็ญฌานสมาธิจิต ปรารถนาอมฤตนฤพาน ฯ

จากหลักฐานที่กล่าวมานี้ สามารถมองเห็นกระบวนการให้กำเนิดศิลปะด้านบทเพลงและดนตรีในพระพุทธศาสนาอันเกิดจากภายในจิตใจ และอารมณ์ที่ปัญจสิขะเทพบุตรได้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลง และบทเพลงนี้ ถือเป็นบทเพลงรักบทเดียวในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้เป็นเพลงโศก หรือเพลงบรรยายความสงบสุขอันเกิดจากการหลุดพ้นกิเลส

๒. บทเพลงที่สัมปยุตด้วยโลกุตรธรรม หมายถึงบทเพลงที่ประกอบธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติของพระอริยะอันเป็นพุทธจริยธรรมในขั้นขั้นสูงของพระอริยบุคคลผู้พัฒนาจิตใจ เมื่อฟังแล้วสามารถส่งกระแสจิตไปตามบทเพลงแล้วทำให้เกิดปัญญาสามารถละกิเลส หรือสังสารวัฏได้อย่างเด็ดขาด พ้นจากอำนาจกิเลสโดยสิ้นเชิง บทเพลงประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในมากในพระพุทธศาสนา เพลงประเภทนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บทเพลงแห่งพระอรหันต์ ดังตัวอย่าง (สิริมังคลาจารย์, ๒๔๙๘: ๒๖๑-๒๖๒) ดังตัวอย่างคือ ในสมัยหนึ่ง มีภิกษุชื่อ ติสสะ เดินทางไปใกล้สระปทุม ได้ยินเด็กหญิงคนหนึ่งกำลังหักดอกปทุมในสระปทุม ร้องเพลงที่ประกอบด้วยธรรมะ ดังนี้ว่า

ปาตผุลฺลํ โกกนทํ สุริยาโลเกน ตชฺชิยเต
เอวํ มนุสฺสตฺตคตา ชราภิเวเคน มิลายนฺติ
ดอกปทุมชื่อโกกนท บานแล้วในเวลาเช้า ถูกแสงพระอาทิตย์ให้เหี่ยวแห้งไป ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้ถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเหี่ยวแห้งไปด้วยกำลังชรา ฉันนั้น ฯ
พระติสสะเถระเมื่อได้สดับเพลงที่เด็กหญิงร้อง ก็ส่งกระแสจิตไปตามบทเพลง แล้วก็บรรลุพระอรหันต์

บุรุษผู้หนึ่งในพุทธันดรหนึ่ง (หมายถึงในเวลาที่ว่างจากพระพุทธเจ้า) กลับจากป่าพร้อมกับบุตร ๗ คน ฟังเพลงที่สตรีนางหนึ่งซึ่งกำลังเอาสากตำข้าสาร ดังนี้ว่า

ชราย ปริมทฺทิตํ เอตํ มิลาตจฺฉวิจมฺมนิสฺสิตํ
มรเณน ภิชฺชติ เอตํ มจฺจุสฺส ฆสมามิสํ คตํ
กิมีนํ อาลยํ เอตํ นานากุณปปูริตํ
อสุจิภาชนํ เอตํ กฏฺฐกฺขนฺธสมํ อิมํ ฯ
สรีระนี่อาศัยหนังมีผิวเหี่ยวแห้ง ถูกชราย่ำยีแล้ว สรีระนี่ถึงความเป็นอามิส คือเหยื่อ ของมฤตยู ย่อมตกไปเพราะมรณะ สรีระนี่เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ สรีระนี่เป็นภาชนะของไม่สะอาด สรีระนี่เสมอด้วยท่อนไม้ ฯ

บุรุษพร้อมด้วยบุตรอีก ๗ คน พิจารณาบทเพลงนี้ แล้วก็บรรลุปัจเจกโพธิญาณ แม้เทพยดาและมนุษย์เหล่าอื่น ๆ ที่ฟังเพลงนี้ก็สามารถบรรลุอริยภูมิด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า บทเพลงในพระพุทธศาสนานั้น มิได้มีแต่บทเพลงกล่าวถึงแต่เรื่องโลกิยวิสัยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังแฝงแง่คิดเชิงจริยธรรมอย่างลึกซึ้ง และมีสารัตถประโยชน์มาก เพราะฉะนั้น บทเพลงในพระพุทธศาสนาจึงมีทั้งบทเพลงที่ประกอบด้วยโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของบทเพลงต่างๆ ในปัจจุบันที่สอดแทรกหลักจริยธรรมที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตไว้อย่างลึกซึ้งอีกด้วย

นอกจากนี้ บทเพลงในพระพุทธศาสนากับเพลงพื้นบ้านยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือการร้องโต้ตอบกัน แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกันของบทเพลงพื้นบ้านกับพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน จนกลายเป็นรูปแบบของบทเพลงที่สอดแทรกหลักคำสอนโดยตรง ดังตัวอย่างบทเพลงที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนาคเอรกปัตต์ (พุทธโฆษาจารย์, ๒๕๔๑: ๙๔-๙๗) ว่า สมัยหนึ่ง ได้มีพระยานาคตนหนึ่ง นามว่า เอรกปัตต์ ได้ให้หญิงธิดาคนหนึ่งนั่งบนพังพานแล้วให้ฟ้อนรำขับร้องเพลง ในทุก ๆ วันอุโบสถ โดยมีอุบายว่า ถ้าใครร้องเพลงโต้ตอบกับหญิงธิดาได้ ก็จะมองหญิงธิดาพร้อมทั้งนาคพิภพให้ หญิงธิดายืนฟ้อนอยู่บนพังพานแล้วขับเพลงว่า

ผู้เป็นใหญ่อย่างไรเล่า ชื่อว่าพระราชา? อย่างไรเล่า พระราชาชื่อว่ามีธุลีบน พระเศียร? อย่างไรเล่า ชื่อว่าปราศจากธุลี ?อย่างไรเล่าท่านจึงเรียกว่า คนพาล?
ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ก็พากันมาร้องเพลงแก้ตามกำลังสติปัญญาของตน ๆ แต่นางก็ปฏิเสธเพลงขับตอบนั้นจนเวลาล่วงไปพุทธันดรหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก วันหนึ่งพระองค์ทรงตรวจดูโลก แล้วก็เห็นเหตุการณ์นั้น จึงได้ตรัสเรียก อุตตระมานพ ซึ่งกำลังจะไปขับเพลงตอบกับนางนาคมานวิกา จึงได้ตรัสสอนเพลงขับแก้กับอุตตระมานพ ว่า

ผู้เป็นใหญ่ในทวารทั้งหก ชื่อว่าเป็นพระราชา พระราชาผู้กำหนัดอยู่ชื่อว่า มีธุลีบนพระเศียร ผู้ไม่กำหนัดอยู่ ชื่อว่าปราศจากธุลี ผู้กำหนัดอยู่ ท่านเรียกว่าเป็นคนพาล
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทานเพลงขับแก้แก่อุตตรมานพแล้ว ก็ได้ไปร้องเพลงขับแก้กับนาง นางก็ได้ร้องเพลงแก้เพลงขับของมานพนี้อีกว่า

คนพาลอันอะไรเอ่ยย่อมพัดไป? บัณฑิตย่อมบรรเทาอย่างไร? อย่างไรจึงเป็นผู้มีความเกษมจากโยคะ ? ท่านผู้อันเราถามแล้ว ขอได้โปรดบอกข้อนั้นแก่เรา
อุตตรมาณพจึงร้องแก้ว่า

คนพาลอันห้วงน้ำ (คือกามโอฆะเป็นต้น)ย่อมพัดไป บัณฑิตย่อมบรรเทาได้ด้วยความเพียร บัณฑิตผู้ไม่ประกอบด้วยโยคะทั้งปวง ท่านเรียกว่า ผู้มีความเกษมจากโยคะ

ในทรรศนะของพระพุทธศาสนานั้น ถึงแม้จะมีบทเพลงปรากฏอยู่มาก แต่ถ้าบทเพลงนั้นเป็นสิ่งที่เจือปนด้วยกิเลสตัณหา ขัดขวางต่อการบรรลุคุณธรรม หรือเป็นข้าศึกต่อกุศลก็ไม่อนุญาต ถึงกับมีข้อห้ามบทเพลงประเภทนี้ไว้ว่า "เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรีและดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล" (ที.สี.๙/๑๓/๖) ในขณะเดียวกับพระพุทธศาสนาก็อนุญาตบทเพลงที่ประกอบด้วยธรรมะ และเป็นต้องเป็นวาจาสุภาษิต อันนำมาซึ่งโลกิยสุขและโลกุตรสุข ดังตัวอย่าง คือ "ในครั้งพุทธกาล ภิกษุปล่อยกระแสจิตไปตามบทเพลงที่ได้ยินจากคนหาฟืน ยังสามารถทำให้บรรลุธรรมพิเศษ" (สิริมังคลาจารย์, ๒๔๒๙ : ๒๗๑-๒๗๒) เพราะฉะนั้นพ่อเพลงแม่เพลงมองเห็นจุดประสงค์อันลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา และเพลงพื้นบ้านว่ามีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันแง่ของการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม จึงได้ประพันธ์เพลงให้มีความหมายสอดคล้องกับความศรัทธาความเชื่อในหลักคำสอน

ด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวพันกับจิตใจของคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน เป็นหลักที่พึ่งและการดำเนินชีวิตคนไทย การแสดงออกจึงมีเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน และเนื่องจากเพลงพื้นบ้านเป็นเครื่องบันทึกเหตุการณ์ของสังคมแต่ละยุคและแต่ละสมัย และเพลงพื้นบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีสาระทางพุทธจริยธรรมแทรกอยู่ในเนื้อเพลง

ข้อมูลจาก พระมหาสาคร ศรีดี (ป.ธ.๙) ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจริยศาสตร์ศึกษา ลิขสิทธิ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 20:13:59 น.
Counter : 422 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.