Group Blog
 
All blogs
 
คุยกับเป็นเอก รัตนเรือง (ตอนที่ 2) : ถ้าหนังเจ๊ง ร้านก๋วยเตี๋ยวข้างบ้านจะรับเลี้ยงผม





หลังจากบทสนทนาทางการเมืองที่ร้อนแรงผ่านไป ปริมาณกาแฟอเมริกาโนในถ้วยเริ่มพร่องลง และกาแฟเริ่มเย็นชืด

แต่ เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับหนังที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจผู้นี้ ก็ยังคงดื่มมันต่อไป

คราวนี้บนสนทนาของเขา จะพูดถึงเรื่องของตัวเขาและงานของเขา


น่าคิดว่า ในบทสนทนาที่จะได้ยินจากเป็นเอกในรอบนี้ จะนำพาเราไปสู่ความความรู้สึกแบบดูหนังประเภทไหนที่เขาเคยกำกับกัน?


จะเต็มไปด้วยอารมณ์มืดมิดของหนังฟิล์มนัวร์ปนแอ็คชั่นแบบ"ฝนตกขึ้นฟ้า"


ตลกร้ายแบบ "มนต์รักทรานซิสเตอร์" และ "ตลก 69"


แฟนตาซี ฝันฟุ้งๆแบบ "ฝัน บ้า คาราโอเกะ"


ดราม่า หาทางออกไม่ได้แบบ "คำพิพากษามหาสมุทร" และ "เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล"


ทำให้สัมผัสถึงความสัมพันธ์ที่เปราะบาง แบบ "พลอย" และ "นางไม้"


หรือยังยืนยันว่าเป็นโรแมนติก คอเมดี้ แบบสาวออฟฟิศนั่งจิบกาแฟลาเต้รูปหัวใจเฉกเช่นบรรยากาศในร้านกาแฟในเวลาเที่ยงวันในขณะที่พูดคุยกันอยู่นี้


จะดูง่ายแบบหนังคอมเมอร์เชียลทั่วไปที่เป็นเอกออกตัวทุกครั้งว่าอยากทำให้ได้แต่ไม่มีความสามารถพอหรือจะดูแล้วงุนงงชวนหยิบพาราเซตามอลมาทานแก้ปวดหัวสักเม็ดสักเม็ดอันเป็นข้อกล่าวหาประจำที่มีต่อ"หนังเป็นเอก"


ลองพิจารณากันดู

ตอนนี้เป็นเอกอายุ 49 ปีแล้ว ทั้งยังผ่านอาชีพผู้กำกับหนังเข้าปีที่ 15

เขาค้นพบอะไรบ้าง?


"ผมค้นพบหลายอย่างมากนะ(นิ่งคิดสักครู่) มันก็ค้นพบแน่ๆว่าชอบทำหนังมาก ทำดีบ้างไม่ดีบ้าง ได้ตังค์บ้าง ไม่ได้ตังค์บ้าง แล้วก็เป็นคนแบบเห็นแก่ตัวมากขึ้น(หัวเราะ) พอเป็นผู้กำกับหนัง มันถูกฝึกให้ต้องเห็นแก่ตัวกับทุกๆคน เราจะต้องเอาไอ้ที่เราต้องเอาให้ได้ ไม่รู้ว่าใครจะตาย เราก็ไม่สน ต้องทำให้ได้ เพื่อนำไปนำไปสู่ผล ที่วาดฝันเอาไว้ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ ใครจะตายกี่คนต้องเอาอย่างนี้ให้ได้ มันต้องอาศัยความเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง"


"แต่เราไม่ได้พูดว่า ความเห็นแก่ตัวที่เราพูดถึงมันไม่ใช่เชิงลบนะ คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงความเห็นแก่ตัว ก็จะมองว่าไม่ดี แต่นี่คือข้อเท็จจริงว่า ทำอาชีพนี้ เห็นแก่คนอื่นมากไม่ได้ เข้าใจคนมากไม่ได้ เพราะเราต้องพาสิ่งที่เราทำในฐานะผู้กำกับให้บรรลุผลที่เราต้องการ เพราะเราเห็นอยู่คนเดียวในหัวเรา มันเลยต้องเห็นทุกส่วน ครอบครัวก็จะไม่ค่อยได้ดูแล(หัวเราะ) มันก็เพิ่มความเห็นแก่ตัวมากขึ้นใน 15 ปีนี้"


แม้จะออกตัวว่า เริ่มเห็นแก่ตัว แต่สิ่งที่มาพร้อมๆกันในช่วงอายุเท่านี้นั่นก็คือ ความใจเย็น และธรรมะ"

เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อนมาก แต่พอ 15 ปีผ่านมา ก็ในเย็นลง เพราะว่าเวลาทำอาชีพนี้ จะใจร้อนไม่ได้เลย ใจร้อนแล้วผลเสียมากกว่าผลดี ทำหนังต้องใจเย็นมากๆ เพราะว่า พอไปถ่ายหนัง วันหนึ่งถ่าย 12 ชั่วโมง ได้ถ่ายหนังจริงๆ 6 ชั่วโมง ที่เหลือคือรอ รอทุกอย่าง รอแสง รอแดดออก รอฝนหยุดตก รอนักแสดงเมกอัพ รอแต่งตัว ก็รอหลายอย่าง เลยกลายเป็นคนใจเย็นมาก(หัวเราะ) นักแสดงเล่นไม่ได้ดั่งใจ ช่างภาพถ่ายไม่ได้ดั่งใจ ก็ค่อยๆแก้ ค่อยๆคุย"



"อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายอย่างที่ 15 ปีในการทำหนังแล้วผมค้นพบ แต่ถ้าพูดตรงนี้ก็ไม่จบ ที่น่าสนใจคือ มีธรรมะมากขึ้น มันแปลก ทุกอย่างขัดแย้งกันตลอดเวลา เห็นแก่ตัว แต่ก็มีธรรมะมากขึ้น มีความเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ฟังคนอื่นมากขึ้น ตอนที่ทำหนังเรื่องแรกๆ โห เราไม่สนใจใครเลย อยากจะโชว์อย่างเดียวว่ากูเป็นอย่างไร หลังๆมา ใครอยากจะโชว์อะไรให้ดูก็เอามาดูมา คือพึ่งคนอื่นเยอะ ให้คนมาช่วยเยอะ"


หนัง 7 เรื่องแรก เป็นเอกทำหนังผ่านระบบสตูดิโอ แต่พอมาถึงเรื่องที่ 8 "ฝนตกขึ้นฟ้า" เขาหันหลังให้ระบบสตูดิโอ แล้วหาทุนทำหนังเอง เป็นเอกบอกว่า ชีวิตก็ยังปกติดี


"การทำหนังตอนนี้ ไม่ต่างกับตอนอยู่กับสตูดิโอเลย ตอนที่เราทำหนังกับไฟว์สตาร์ ทำกับค่ายหนัง เราก็ทำหนังแบบนี้ครับ ก็ดูหนังที่เราทำให้ไฟว์สตาร์ แต่ละเรื่องมาจากไหนก็ไม่รู้ เขาให้ไอ้นี่ทำได้ยังไงวะ ทุกเรื่อง คือเขาก็มีกฎเกณฑ์อยู่แล้ว ว่าเป็นเอกทำหนังอย่างที่ชาวบ้านทำไม่เป็น แต่ทำอย่างไรได้ ผูกปิ่นโตกับมันไปแล้ว ชอบมันไปแล้ว ถึงแม้อาจจะไม่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำมากในเมืองไทย แต่ว่าก็ได้อย่างอื่น หนังที่ทำก็ได้ไปเมืองคานส์"



"หนังเราทุกเรื่อง ก็มีทำบางอย่างให้เขา ที่เป็นเรื่องดีๆ ทำชื่อเสียงให้เขา มันก็แลกกัน แต่เขาก็บอกว่า แต่ถ้ามึงจะทำหนังเรื่อยๆ ให้เงินแค่นี้พอนะ ห้ามใช้เงินเกินนี้ ถ้าเกินออกเงินเอง แล้วมีอะไรให้เขาขายได้หน่อย ส่วนใหญ่ในกรณีของเราก็เป็นดารานำ เราก็จะเลือกดาราที่มีชื่อเสียงหน่อย อาจจะเป็นบุญเก่าที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ส่วนมากนักแสดงที่มีชื่อเสียงดังๆ ถ้าเราชวนเขามาเล่นหนังเรา แล้วมีค่าตัวแบบซื้อเบียร์ได้โหลเดียวเอง เขาก็มาเล่นนะ ทุกอย่างก็เลยลงตัว เพราะฉะนั้น ตอนที่เราทำหนังสตูดิโอ สตูดิโอก็ไม่เคยมาบอกเราว่า ต้องทำเรื่องแบบนี้ ถ่ายทำแบบนี้ ตัดต่อแบบนี้ เขาก็ไม่เคยทำแบบนั้นกับเรา เป็นสตูดิโอที่ดีมาก"


ความน่าสนใจของ "หนังเป็นเอก" ประเด็นหนึ่งก็คือ ทุกวันนี้หนังของเขายังมีชีวิตอยู่ แต่กลายเป็นนักเดินทาง ที่ออกเดินทางจากประเทศไทยไปฉายพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ...


"หนังของเรา จะกี่ปีก็ตาม ปัจจุบันก็ยังมีชีวิตอยู่นะ ไม่เหมือนหนังทั่วไปที่พอคุณทำหนังมา คุณเอาเข้าโรง แล้วคุณลุ้นเอาช่วงที่เข้าโรง พอจบตรงนี้แล้ว หนังเรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในสารระบบ แล้วมันหายไป ของเรานี้ ปัจจุบัน ′ตลก 69′ ของเรายังขายอยู่แล้วก็ยังฉายอยู่ตามประเทศต่างๆ ′เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล′ เรื่อง ′พลอย′ ก็ยังฉายอยู่ตามมิวเซียม แล้วของพวกนี้มันเป็นมูลค่าทุกครั้งที่เขานำเราไปฉาย จะฉายกับมูลนิธิหรืออะไรก็ตาม โปรดิวเซอร์เราเขาก็เก็บเงินนะ"


ภาพ:แฟ้มภาพมติชน

สมัยอยู่กับสตูดิโอ กับที่ต้องออกมาหาทุนเองนอกระบบสตูดิโอในทุกวันนี้ ทำให้ทุนทำหนังมีมากน้อยต่างกันอย่างไร? คำตอบของเขาคือ...ไม่ต่างกัน


"ฝนตกขึ้นฟ้า เป็นหนังที่แพงที่สุดนะ ได้ทุนจากไทยเข้มแข็ง จากโอสถสภา และได้จากต่างประเทศอีก 2 ที่ เสร็จก๊อปปี้แรก ฉายใน 1 โรงก็ประมาณ 20 ล้านบาท"


"แต่ถึงอย่างไร มันไม่เกี่ยวกับว่า พอเราออกมาทำหนังแบบไม่ทำกับสตูดิโอแล้วเรากลับหาเงินได้มากกว่า มันก็ไม่จริง ตอนที่เราทำกับสตูดิโอ ถ้าหนังเรื่องนั้นต้องการใช้เงินเท่านี้ เขาก็หาได้ เพียงแต่ว่าหนังที่เราทำกับสตูดิโอเมื่อก่อน มันอยู่ในช่วงชีวิตที่เราทำหนังประเภทเล็กๆส่วนตัว เรามีความสนใจในหนังแบบนั้น หนังเรื่อง ′พลอย′ มีคนสามคุยกันอยู่ในห้องโรงแรมทั้งเรื่อง มันไม่แพงมาก เขาไม่ต้องหาเงินเท่าเรื่องนี้ ส่วนหนัง ′ฝนตกขึ้นฟ้า′ ฝนตกทั้งเรื่องเลยนะ แค่โปรดักชั่นนี้ มันก็แพงแล้ว ทีมงานเยอะมาก มีปืนผาหน้าไม้ เอฟเฟ็กต์เต็มไปหมด มีโลเคชั่นไม่รู้กี่โลเคชั่น เป็นหนังกึ่งแอ๊คชั่น คนไล่ยิงกัน แต่อย่างตอนทำหนังเรื่อง ′มนตร์รักทรานซิสเตอร์′ เราก็ทำกับสตูดิโอไฟว์สตาร์ ก็แพงสูสีกับเรื่องนี้ เขาก็ออกเงินให้นะ"


หนังของเป็นเอก ซึ่งต้องยอมรับว่า มีวงของคนดูค่อนข้างจำกัด แต่พอออกไปขายทั่วโลก คนดูที่จำกัดกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น น่าสนใจว่า โมเดลธุรกิจของ "หนังเป็นเอก" มีหน้าตาแบบไหนกัน?


"สื่อไทยและคนที่สนใจหนังของเรา จะมีความเข้าใจผิดอยู่อย่างหนึ่งว่า หนังเป็นเอก คนไทยไม่ดู แต่ฝรั่งเขาดูกันตรึม ไม่จริงนะ คือหนังเราในเมืองนอก ก็มีคนดูเท่ากับคนดูในเมืองไทย ก็คือ คนดูน้อย แต่พอคนดูน้อยในทุกๆประเทศ ก็กลายเป็นคนเยอะนะ คือหนังเวลาไปขาย คล้ายกับบ้านเรา พออกจากกรุงเทพ มันก็จะมีเอเจนต์หรือคนจัดจำหน่ายมารับ เช่น สายภาคเหนือ ภาคใต้ แล้วเขาก็จะต่อรองกันว่าซื้อเท่าไหร่ อย่างหนังของเป็นเอก ถ้าไปเชียงใหม่ มีสิทธิเยอะ ก็พอจะขายได้ แต่พอมาตะวันออก หรืออีสาน อาจจะขายไม่ได้เลย ต่อรองกัน อาจจะเข้าโรงฉายแล้วค่อยแบ่งเงินกันคนละครึ่งทีหลัง แบบนี้ก็มี เหมือนกัน"



"พอหนังออกนอกประเทศ ก็จะมีคนวิ่งเข้ามา เขาก็จะแบ่งเป็นประเทศไป อย่าง แคนาดา อเมริกา อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อาร์เจนติน่า แล้วพวกสแกนดิเนเวีย พวกนอร์เวย์ สวีเดน มีแอฟริกาอย่างโซมาเลีย หลงเข้ามาบ้าง แต่ทุกเรื่องไม่ได้ขายได้เท่ากัน แล้วแต่เรื่อง เพราะหนังของเรา เป็นหนังแบบ สมมติมีคนซื้อจากฝรั่งเศส พอเข้าฝรั่งเศส ก็ไม่ได้ไปเข้าเมเจอร์ หรือเอสเอฟของประเทศเขา ก็เข้าโรงหนังเฮาส์หรือโรงหนังเล็กๆของเขา แล้วก็รายได้อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เยอะ แต่ก็เป็นเงิน ก็มาจาก สมมติว่าเวลาเทศกาลหนังเอาไปฉาย ก็เก็บค่าฉาย ตรงนี้ 500 เหรียญฯ ตรงนี้ 300 เหรียญฯ ตรงนี้ 100 เหรียญฯ ก็เก็บกันไปเรื่อยๆ ถ้าเราพูดถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ถูกฉายไป 20 ปี ก็ยังฉาย เงินตรงนี้รวมกันก็เยอะอยู่"


ฟังจากตรงนี้แล้ว ชวนให้เข้าใจว่า หนังของเป็นเอก แม้จะไม่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่พอรวมกันแล้วก็มากจนสามารถเลี้ยงชีวิตเขาได้


ไม่เลย, เขาบอกว่าชีวิตไม่เคยได้เงินจากการทำหนังแม้แต่บาทเดียว!


"ตัวเราไม่ได้เงินครับ ทำมา 15 ปีไม่เคยได้เงินจากการทำหนังสักกะบาท ต้องเข้าใจว่า อาชีพหลักของเราคือการทำโฆษณา ผมทำหนังเพราะชอบทำ แล้วมันก็เสพติด มีโอกาสได้ทำ แต่ว่า เราทำเลี้ยงชีพไม่ได้ แล้วก็มีเงินส่วนตัวบางทีก็เอาไปลงด้วย(หัวเราะ) ก็เหมือนเล่นของเล่นราคาแพง ที่จริงไม่ใช่ของเล่น เป็นของซีเรียส แต่เป็นของแพง"


กลับมาดูเรื่องชีวิตของเป็นเอกในทุกวันนี้ แม้กระแสโลกจะวิ่งไปทางไหน แต่เป็นเอกไม่เคยสวมรองเท้าผ้าใบคู่โปรดแล้ววิ่งตามไปด้วย


เพราะในวันนี้ เขายังปฏิเสธที่จะมี "เฟซบุ๊ค" เริ่มปฏิบัติธรรมบ่อยครั้งขึ้น แต่ก็ยังรักการเตะบอลเหมือนเดิม

ว่าด้วยการไม่ใช้เฟซบุ๊ค...

"เมื่อก่อนไม่มีเฟซบุ๊ค อยู่กันได้ยังไงวะ เฟซบุ๊คไม่ใช่เครื่องมือสื่อสาร แต่เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค เหมือนกับเรามานั่งกินเหล้ากัน นัดออกไปเที่ยว เมื่อก่อนไปเที่ยวกัน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องออก"


"ส่วนเรา เราไม่ชอบการติดต่อกับคน คนติดต่อเรายากมาก แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะมีไปทำไม เพราะว่าช่วงเวลาระหว่างวัน เราทำงาน เราก็ไม่ได้เล่นเฟซบุ๊คอยู่ดี เราถ่ายหนังเย้วๆอยู่กลางทุ่ง เราประชุมอยู่กับทีมงาน กับนายทุน เราทำงานอยู่ จะเล่นได้อย่างไร? พอตกเย็นกลับบ้าน คนเข้าเล่นเฟซบุ๊คกัน ตอนเลิกงาน ถึงตอนนั้น เราไม่อยากยุ่งกับใคร อยากกลับบ้านไปอยู่กับแฟนกับหมา เราดูบอล อ่านหนังสือ ฟังเพลง เสิร์ชเว็บโป๊ เราก็ไม่รู้จะเล่นเฟซบุ๊คได้ไง แล้วเพื่อนเราก็ไม่ได้มีเยอะ เพื่อนเราส่วนมากอยากคุยกันก็นัดมากินข้าวกินเบียร์ โทรศัพท์ยังไม่คุยเลย เพราะไม่ชอบ เราชอบคุยแบบเห็นหน้า แต่ถ้าไปเที่ยว เราไม่กลับเลยนะ เรากลับคนสุดท้ายตลอด บาร์เลิกแล้ว ออกมานั่งต่อข้างถนนยังเอาเลย ซื้อเบียร์มากองๆนั่งริมถนนก็เอา คือเราไม่ได้แอนตี้สิ่งพวกนี้ เพียงแต่ว่าไม่ได้มีความจำเป็นกับมัน"

ว่าด้วยการปฏิบัติธรรม...


"ผมไปปฎิบัติธรรมที่ศุนย์วิปัสสนาโกเอ็นก้าครับ เดือนหน้าก็ไป ก็ไปที่ศูนย์ ศูนย์ที่ไปอยู่ที่พิษณุโลก ก็ไปนั่งวิปัสสนา 10 วัน แล้วก็ 10 วันนี้ก็ห้ามพูด พูดไม่ได้แม้แต่คำเดียว อ่านหนังสือไม่ได้ เขียนหนังสือไม่ได้ มือถือเขาก็ริบไป เงินนี่ก็ใช้ไม่ได้เพราะไม่มีอะไรจะซื้อ เงินก็ฉีกเล่นได้เลย เป็นกระดาษจริง ดูทีวี ฟังวิทยุ ไม่ได้เลย ก็ต้องอยู่นั่งมองผนังไป"

มองแต่ผนัง แล้วค้นพบความจริงอะไรบ้าง?


"ไม่ได้เห็นอะไร รู้สึกสบายดี เราชอบมากเลย ไม่ต้องพูดกับคนเลย 10 วันแล้วก็นั่งสมาธิ 4 วันแรก พอพ้นจากวันที่ 4 มันก็จะเป็นการวิปัสสนา มันต่างกัน แล้วก็ต้องสังเกตทุกอย่างในร่างกาย ตั้งแต่หัวไปถึงหัวแม่ตีน ทำอย่างนี้ทุกวัน ก็ตื่นตี 4 ครึ่งแล้วเริ่มทำ แล้วนอนตอนสามทุ่ม"


"ก่อนไปครั้งแรกก็มีคนเตือนเรา ว่า 3 วันแรกทรมานมาก แล้วก็มีคนหนีนะ ข้าววันละ 2 มื้อ เป็นมังสวิรัติหมด แล้วเราเป็นคนกินเนื้ออย่างตัวยง ไม่เคยกินมังสวิรัติ เขากินจงกินเจ ไม่เคยกินเลย ก็อยากลอง เลยไป เราไปครั้งแรก ชั่วโมงแรกเราก็ชอบเลย ไม่ต้องรอ 3 วัน เป็นคนสูบบุหรี่ กินแหล้า ช่างพูด คือ ทุกอย่างที่เขาห้าม เราเคยทำหมดเลย เชื่อไหมว่า ไม่มีความทรมานตั้งแต่นาทีแรก บุหรี่ไม่ดูดไม่เห็นเป็นไร เบียร์ไม่กินก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่พูดเลย เงินไม่ใช้ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร กินมังสวิรัติก็อร่อย อาหารอร่อยมาก แต่กินสองมื้อ วันแรกๆก็หิวๆหน่อย แต่พอสามวันผ่านไปก็ไม่หิวแล้ว แล้วใช้พลังงานน้อย นั่งวิปปัสสนาไม่ได้เตะบอล เพราะฉะนั้น เราไม่ได้มีความทุกข์ทรมานอะไรเลย"


"เริ่มชอบไลฟ์สไตล์แบบนั้น แบบว่าไม่รับรู้อะไรเลย แล้วที่สำคัญที่เจ๋งคือ แม่งไม่ต้องรับรู้ข่าวการเมืองเลย ชีวิตโคตรมีความสุขเลย แต่พอกลับมาก็สูบบุหรี่เหมือนเดิม กินหล้าเหมือนเดิม พูดมากเหมือนเดิม คือก็ไม่ควรทำ แต่ว่า ก็ไม่ได้เป็นคนที่มีระเบียบวินัยขนาดนั้น"


ว่าด้วยฟุตบอล...

"ไม่ได้เตะบอลสักพัก ตอนนี้น้ำท่วมแล้วคนมันเตะน้อยด้วย ผมเตะคืนวันอังคารที่คริสตัล ปาร์ค ถ้าวันศุกร์ก็เตะที่อารีน่าเท็นสนามของคุณตัน แต่ช่วงนี้ โน้ส-อุดมที่เตะบอลด้วย เขาหายหัวไปจากชีวิตเรา ตั้งแต่ตอนที่เขาเดี่ยว เราเลยไม่ได้เตะกันอีกเลย แต่เดี๋ยวเขาก็คงมาชวน เพราะตรงนี้โน้สเป็นคนจัดการ เขาจ่ายเงินทิ้งไว้เป็นปี เตะบอลแล้วเหนื่อยดี พอเหงื่ออกกลับมาบ้าน อาบน้ำ มีความสุขมาก แล้วที่สนามคุณตัน มีข้าวมันไก่เป็นเพิง อร่อยมาก มีข้าวมันไก่ล่อใจ เตะเสร็จกินข้าวมันไก่ มันแฮปปี้มากเลย"


ท้ายที่สุด เป็นเอกบอกว่า เริ่มเบื่อกรุงเทพฯ อาจจะหาทางย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด


"ตอนนี้ผมเริ่มจะเซอร์เวย์แล้ว อยากจะขยับขยายไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะเดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้แล้ว ห้างขึ้นเยอะ ผมไม่ชอบ ไปห้างมันก็สะดวกดี แต่ว่า มันเยอะไป"


"พวกของกินของใช้ ส่วนมากผมซื้อแล้วแต่โอกาสที่จะเจอ คือ ถ้าซื้อของประจำวัน ก็ซื้อแถวซุปเปอร์ อย่างซื้อกระดาษเช็ดก้น ซื้อหลอดไฟ ซื้อกาแฟ แต่ว่าบางที พวกผักผลไม้ มันมีขายบนรถเข็น เขาเข็นมาขาย หรือในหมู่บ้านเรามีรถมาขาย เป็นรถที่มีของห้อยเต็มทั้งรถ เราก็จะซื้อกับเขา ก็เป็นที่รู้จักกัน พอหนังเข้าโรง เราก็เอาตั๋วหนังไปให้เขานะ ให้เขาไปดู อย่างร้านต้มเลือดหมู ก็ดูหนังเรา เราเอาตั๋วไปให้เขา ถ้าเขาชอบ เขาบอกว่าอยากได้ดีวีดี พอดีวีดีออกก็เอามาให้เขา คือเราใช้ชีวิตกลางเมืองกรุงเทพเลยนะ แต่ว่าเราใช้ชีวิตแบบคนต่างจังหวัด คือเอื้อเฟื้อกันอยู่ ร้านก๋วยเตี๋ยวแถวนี้เขาก็บอกเราว่า ถ้าทำหนังไม่ได้ตังค์ไปเรื่อยๆ แล้วไม่มีจะกิน มากินก๋วยเตี๋ยวฟรีได้นะ เขาชอบเรา เขาบอกว่าเราตลกดี เขาบอกว่าเลี้ยงได้นะ อย่างนี้ เราพยายามจะทำแถวนี้ให้เป็นต่างจังหวัดของเรา เพราะเรายังไปต่างจังหวัดไม่ได้ แต่ก็เริ่มมองไว้หลายที่แล้วนะ"

บทสนทนาของเขาสิ้นสุดลงแล้ว

หากมองชีวิตของเขาฉบับย่อ ผ่านบทสัมภาษณ์ที่ถูกตัดต่อออกมาในข้างต้น แล้วคิดจะจัดหมวดหมู่ว่าชีวิตของเขาเป็นหนังประเภทใด?

เป็นหน้าที่ของ...


ท่านผู้ชม

เรื่อง: ณัฐกร เวียงอินทร์

ภาพ-ตัดต่อ: พินดา พิสิฐบุตร


ลิ้งก์ข่าวที่เกี่ยวข้อง"คุยกับเป็นเอก รัตนเรือง (ตอนที่1) : สังคมไทยควรถูกยิงกบาล!"


ที่มาของภาพและเรื่องราว //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1321938519&grpid=01&catid=01





Create Date : 24 มกราคม 2555
Last Update : 24 มกราคม 2555 17:26:56 น. 0 comments
Counter : 1071 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ช้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ผู้ ช า ย ทำ ข น ม
Friends' blogs
[Add ช้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.