Group Blog
 
All blogs
 

เมื่อลูกไปเรียนมัธยมในประเทศนิวซีแลนด์ ตอน 4

 NZ School Term

ใน 1 ปีการศึกษา แบ่งเป็น 4 เทอม ดังนี้

เทอม 1 ราวๆปลายเดือนมกราคม (หรือต้นเดิอนกุมภาพันธ์) -ต้นหรือกลางเดือนเมษายน
เทอม 2 ปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนกรกฎาคม
เทอม 3 กลางเดือนกรกฎาคม-กลางหรือปลายเดือนกันยายน
เทอม 4 ต้นเดือนตุลาคม -ต้นหรือกลางเดือนธันวาคม

ระหว่างเทอมจะมีวันหยุดปิดเทอมให้ คราวละ 2 สัปดาห์
ยกเว้นปิดเทอมใหญ่ปลายปี หยุดราวๆ 2 เดือน

การศึกษาระดับมัธยมศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ มีกฎระเบียบเคร่งครัดมาก โดยจะมีเอกสารให้นักเรียนลงชื่อรับทราบกฎระเบียบต่างๆ หากนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือข้อบังคับโรงเรียนได้  หรือ มีเวลาเรียนไม่ครบตามกำหนด (ซึ่งข้อนี้ทางอิมมิเกรชั่นนิวซีแลนด์เข้มงวดมาก สำหรับนักเรียนต่างชาติ) อาจถูกให้ออกจากโรงเรียน ในกรณีนักเรียนต่างชาติ อาจถูกส่งตัวกลับประเทศ

ตลอดระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2004-2011 แม่จำได้ว่ามีนักเรียนต่างชาติจากทางยุโรป ถูกส่งกลับ 1 คน
เนื่องจากทำผิดวินัยร้ายแรงมาก

นอกนั้น ก็เป็นเรื่องผิดระเบียบเล็กๆน้อยๆ ที่ทางโรงเรียน
โดยเฉพาะฝ่าย International ต้องคอยเรียกเด็กมาอบรมเป็นระยะๆ
ดูๆแล้วก็เหมือนจับปูใส่กระด้ง แต่แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ในตัวเด็กเป็นอย่างมาก
อันนี้เป็นอีกเรื่อง ที่เราค่อนข้างพอใจในโรงเรียน Bethlehem College
ทางโรงเรียนมีทั้งครูผู้ปกครอง ให้คำแนะนำสารพัดกับเด็ก
มีคุณครูที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นคุณแม่คอยช่วยเหลือจัดการพาเด็กๆไปหาหมอ จองตั๋วเครื่องบิน ต่อวีซ่า รับส่งเด็กๆไปกลับสนามบิน
มี Academic Dean ให้คำแนะนำให้เรื่องการเลือกวิชาเรียน จัด Tutoring Class พาไปสอบ Ielts
มี Homestay Co-ordinator แบบ Full time ที่ติดต่อได้ 24 ชั่วโมง คอยแก้ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของเด็กๆ
มีครูใหญ่โดยเฉพาะของฝ่าย International ที่ดูแลทุกเรื่อง แม้กระทั่งขับรถพาเด็กๆไปสอบ SAT ใน Auckland พร้อมให้พักที่บ้านครอบครัวของครูที่อยู่ใน Auckland

ถึงแม้ในกรณีครอบครัวเรา จะไม่จำเป็นต้องใช้บริการมากนัก
เพราะลูกอยู่บ้านกับแม่ ไม่ต้องไปอยู่ Home stay และ แม่ดูแลให้หมดทุกอย่าง
แต่แม่ก็เห็นว่าสิ่งที่ทางโรงเรียนจัดเตรียมไว้ เป็นสิ่งประทับใจ ที่หาไม่ได้จากทุกๆโรงเรียน
(เช่นอาจมีครูคนเดียวทำหน้าที่หลายอย่าง เช่นเช่นเป็นครูผู้ปกครอง และ Home Stay Co-ordinator ไปด้วย หรือ มีแบบ Part time บางที่ก็ไม่ช่วยแนะนำในการเลือกวิชาเรียน โดยเฉพาะในชั้นเด็กโต เพราะมีความเห็นว่า เด็กโตแล้วควรตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เป็นต้น)

กลุ่มอายุของเด็กที่นิยมไปเรียนในนิวซีแลนด์

  1. อายุน้อยกว่า 11 ปี ไปเรียน Primary School :  year 1-6
  2. อายุระหว่าง 11-12 ปี ไปเรียน Intermediate School : year 7-8
  3. อายุระหว่าง 13-14 ปี ไปเรียน Junior Secondary School : year 9-10
  4. อายุ 15 ปีขึ้นไป ไปเรียน Secondary School : year 11-13
บางโรงเรียน มีใบอนุญาติรับเด็กเข้าเรียนได้ตั้งแต่ชั้นประถม บางโรงเรียนก็รับได้ตั้งแต่ year 7 ขึ้นไป
สำหรับ โรงเรียน Bethlehem College รับนักเรียนตั้งแต่ Year 7 ขึ้นไป
(แต่มีหลายโรงเรียนในเมืองทาวรองก้า ที่สามารถรับเด็กประถมได้)


จากประสบการณ์แล้ว ช่วงที่ดีที่สุดที่ควรส่งลูกไปเรียนในประเทศนิวซีแลนด์คือ จบชั้น ม 1 แล้วไปเข้าเรียน year 9 ที่นิวซีแลนด์ (อายุประมาณ 13 ปี)
เนื่องจาก เป็นช่วงอายุที่ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป
เรียนรู้ได้เร็ว ปรับตัวง่าย สร้างมิตรภาพง่าย (เพราะเด็กกีวีเอง ในอายุเท่านี้ ยังมีความน่ารัก อยากรู้อยากเห็น และกระตือรือล้นที่จะสร้างมิตรภาพกับเพื่อนต่างชาติได้ง่ายกว่าเด็กโต)
นอกจากนี้ ช่วงอายุ 13 ปีขึ้นไป ยังหาโฮสแฟมิลี่ได้ง่ายกว่าเด็กเล็ก
เพราะกฎหมายนิวซีแลนด์ไม่อนุญาติให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีอยู่บ้านตามลำพัง
Host Family จะไปไหนต้องพาเด็กออกไปด้วยเสมอ นอกจากจะมีคนอยู่ด้วย
บางครอบครัวเห็นว่า อาจไม่สะดวก จึงปฏิเสธไม่รับเด็กอายุต่ำกว่า 13
แต่บางครอบครัวก็ไม่มีปัญหาตรงนี้

หากลูกๆบางครอบครัวมีพัฒนาการที่ดี หรือ มีความพร้อมมากกว่า อาจเดินทางไปตั้งแต่จบชั้น ป5
และเริ่มเข้าเรียนใน Intermediate School ตั้งแต่ year 7
อันนี้รับรองได้เลยว่า ลูกจะมีวิวัฒนาการทั้งในด้านภาษา และ ความคิดอ่านแทบจะไม่ต่างจากเด็กกีวี
(จากหลายๆคนที่เห็นมา)
แต่ก็ต้องเตรียมใจนิดนึงว่า ลูกจะต้องไปอยู่ไกลตั้งแต่เล็ก
และ ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายคลอบคลุม อย่างน้อย 6-7 ปี (กรณีจะให้ลูกเรียนจนจบมัธยมปลาย)
ค่าใช้จ่ายต่อปี (รวมทุกอย่าง) อยู่ประมาณ 8 แสนบาทเศษ

สำหรับครอบครัวไทยส่วนใหญ่ นิยมส่งลูกไปเมื่อจบชั้น ม 3 หรืออายุประมาณ 15-16 ปี
ถามว่า สายเกินไปไหม
ขอตอบเลยว่า 50:50 อาจจะช้าไปนิดแต่ยังไม่ถึงกับสายจนเกินไป
ลูกอาจต้องทำงานหนักหน่อย
และต้องมีความตั้งใจอย่างมาก
หรือหากมีพื้นความรู้แน่นมาพอสมควร ก็สามารถประสพความสำเร็จได้ไม่ยาก
โดยเฉพาะความสามารถทางด้านคณิตของเด็กไทย ทำให้ครูและเพื่อนนักเรียนอึ้งทึ่งมาแล้ว
(ข้อดีที่เห็นได้ชัดในกรณี ส่งลูกไปเรียนต่อตอนจบ ม 3 คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย
เรียกว่ามีเงินเตรียมไว้ไม่ถึง 2 ล้านบาท ลูกก็สามารถเรียนจบมัธยมศึกษา (year 12) กลับมาเทียบวุฒิ และ เข้ามหาวิทยาลัย หลักสูตรนานาชาติในไทยได้ไม่ยาก ซึ่งอันนี้เดี๋ยวจะเขียนแยกออกไป จากประสบการณ์ตรงของลูกๆเพื่อนหลายคนค่ะ)

เรื่องความเทพในวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กไทยนี่ เป็นที่ฮือฮาในโรงเรียนนิวซีแลนด์ทุกยุคทุกสมัย
อย่างลูก... ตอนเรียนที่โรงเรียนในไทย
ผลการเรียนอยู่ระดับพอใช้ ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากมาย
พอไปเรียนที่นิวซีแลนด์ กลายเป็นคนโปรดของครูคณิตศาสตร์ รับรางวัล รับจดหมายชมที่ส่งตรงมาที่บ้านกันไม่หวาดไม่ไหว
ยิ่งเรียนยิ่งสนุก
ยิ่งเรียนยิ่งมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนสำคัญอีกส่วนน่าจะเป็นเพราะการเรียนในโรงเรียนของนิวซีแลนด์ไม่น่าเบื่อ
หลักสูตรเน้นการพัฒนาทั้งอีคิว และ ไอคิว ไปพร้อมๆกัน
มีวิชาเลือกมากมายให้ตรงกับความถนัดของเด็กนักเรียนแต่ละคน
และยังมีกิจกรรม มีกีฬา สารพัด หลากหลาย ตลอดท้งปี
ลูกมีความสุขในชีวิตนักเรียนที่นิวซีแลนด์มาก
ทำให้ผลการเรียนดีแบบพ่อแม่แปลกใจว่า ลูกเราเรียนเก่งหรือนี่ ^___^
(ทำไมดูไม่ออกมาก่อนเลย)

วิชาที่ลูกเลือกเรียนและทำได้ดีมากคือ ฟิสิคส์ แคลคูลัส Maths with Stats
(ซึ่งแม่ช่วยอะไรไม่ได้เลยสักนิด)

ลูกสอบผ่านในระดับ NCEA ทั้ง 1-3 โดยมี Excellent Endorsement ในระดับ 1 และ Merit Endorsement ในทุกระดับ 2-3
(หมายถึงการสอบผ่านในรายวิชาที่มีเกรดดี ครบตามจำนวนที่กำหนด)

ทำความเข้าใจกับรายงานเกรดของลูก หรือ school report

การให้เกรดวิชาสอบของระบบนิวซีแลนด์ ไม่ใช่ A,B,C,D,F
แต่เป็น
A = Achieve แปลว่าผ่าน
M = Merit แปลว่า ดี
E - Excellent แปลว่าดีเยี่ยม
NA = Not Achieve แปลว่าตก

ในบางครั้ง ยังเรียนไม่ครบ หรือ ยังไม่มีการสอบวัดผล ก็จะระบุว่า NYA = Not yet Achieve

..................................................

Folio ของวิชา Visual Art (Photography) ของลูก NCEA Level 3
อันนี้ได้ Merit
การเลือกลงวิชา Visual Art ตัวนี้ เป็นการเลือกเพื่อเป็นวิชาช่วยตัวหนึ่ง
เนื่องจาก การจะผ่าน NCEA Level 3 นั้น จะต้องลงเรียนในวิชา NCEA level 3 - 5 วิชาขึ้นไป
และเก็บเครดิต Level 3 ให้ได้ 60 เครดิตขึ้นไป (+ อีก 20 ในระดับลงมา)
ลูกลงวิชายากๆ ไปถึง 4 ตัวแล้ว
อีก 1 วิชา จึงคิดว่า ลงวิชา Photo น่าจะช่วยในเรื่องของคะแนนได้ด้วยอีกทาง
ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมากๆ



ในชั้น Year 13 ลูกมีความตั้งใจจะเข้าเรียนต่อในคณะวิศวะ ที่มหาวิทยาลัย Auckland
วิชาเลือกของลูกจึงเน้นไปทางวิชาที่ต้องใช้ในการเรียนวิศวะ
1: Math with Calculas 
2: Math with Statistics
3: Chemistry
4: Physics
5: Visual Arts (Photography)

ผลการสอบ NCEA Level 3 ทั้ง 5 วิชานี้ ลูกได้ Endorsement with Merit ถึง 4 วิชา (ยกเว้นเคมี)
ทำให้ผล NCEA รวมของลูก ได้รับการ Endorsement with Merit
เก็บเครดิตได้มากกว่า 100 เครดิตใน Level 3 ส่งผลให้ได้รับการตอบรับในมหาวิทยาลัย ทุกคณะที่ยื่นสมัครไปเลย
(สุดท้าย ลูกตัดสินใจขอกลับมาเรียนวิศวะ หลักสูตร สองสถาบันที่ประเทศไทย โดยเรียน 2 ปีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 2 ปีที่มหาวิทยลัยนอตติงแฮม ในอังกฤษ - ซึ่งเป็นการตัดสินใจของลูก โดยมีพ่อแม่สนับสนุน ไม่ใช่พ่อแม่เลือกให้)

NZ Qualifications ของลูกสำหรับการเรียนตั้งแต่ year 10-13
  1. National Certificate in Science
  2. National Certificate in Mathematics (Level 1)
  3. National Certificate in Mathematics (Level 2)
  4. National Certificate in Building, Construction, and Allied Trades Skills (Level 1)
  5. National Certificate in Building, Construction, and Allied Trades Skills (Level 2) จากการลงเรียนวิชา Woodwork ใน year 11-12 ซึ่งลูกชอบเรียนมาก
  6. NCEA Level 3 with Merit
  7. NCEA Level 2 with Merit
  8. NCEA Level 1 with Excellent
  9. National Certificate in Electronics Technology (Level 2) จากการเรียนวิชาช่างไฟ Electronics
  10. New Zealand University Entrance สอบเก็บคะแนนครบตามเกณฑ์ (ทั้ง NCEA ตามระดับ และ เครดิตจาก Literacy + Numeracy) สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลับในนิวซีแลนด์ได้
เหนือความภูมิใจที่เห็นลูกประสบความสำเร็จในการเรียนคือ การเห็นวิวัฒนาการของลูกที่ก้าวขึ้นไปเรื่อยๆในทุกๆปี
เห็นและสัมผัสได้กับความสุขในทุกๆวันของลูกในการไปโรงเรียน การเข้าสังคม และ การใช้ชีวิตในต่างแดน
ลูกไม่เคยขาดเรียนนอกจากป่วย
(มีตอน year 12 ซึ่งต้องเดินทางไปเข้าค่ายอาสา หรือ Mission trip ที่ Solomon Island
ทำให้ต้องขาดเรียนบางวัน)
ลูกมีความสุขในการเล่นฟุตบอล ได้เป็นนักกีฬาฟุตบอลตัวจริงของโรงเรียน ซึ่งแม่ก็กลายเป็น Soccer mom ตามไปบริการรับส่ง ทำอาหาร ขนม เลี้ยงทีมทุกๆปี
ลูกเป็นนักกีฬาปิงปอง
เป็นหัวหน้านักเรียน
เป็น Lighting Stage operator ใน School Plays
ลูกรับรางวัลเรียนดี ทุกปี
จากเด็กน้อยที่ผลการเรียนงั้นๆ ประเภทปีไหนได้เกรด A จากโรงเรียน (ในไทย)
คุณยายยังบอก เดี๋ยวยายจัดสิงโตมาเชิดฉลองให้ซะหน่อย
เด็กน้อยที่ทำอะไรเองไม่เป็น เพราะมีคนทำให้หมด
มาถึงจุดนี้....
จะให้แม่พูดอะไร นอกจาก
เราตัดสินใจถูกต้องที่สุด ที่เลือกให้ลูกมาเรียนมัธยมในประเทศนิวซีแลนด์นี้**

** ขอออกตัวว่า เป็นความเห็นของครอบครัวเรา และ เป็นประสบการณ์ตรงของครอบครัวเรา
ลูกไม่ใช่คน Academic จ๋า ไม่ใช่เด็กเรียน ไม่ใช่เด็ก nerd ไม่ใช่เด็กอัจฉริยะ
แต่เพราะเขาได้รับในสิ่งที่เหมาะสม อยู่ในสังคมและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
มีความสุขในการดำเนินชีวิต
ผลก็ออกมาเป็นเช่นนี้

......................................................

เป็นตัวแทนโรงเรียนในการแข่งปิงปองระดับภูมิภาค



member of the 1st 11 team (Football)





หนึ่งในกิจกรรมโปรดที่สุดของแม่คือ ติดตามเชียร์ลูกแข่งบอลกับทีมต่างโรงเรียน
ทุกเช้าวันเสาร์ของเทอม 2, 3
ใน Saturday morning game ตั้งแต่ year 10-13
ตามไปนั่งดู นั่งเชียร์ ได้ไม่มีเบื่อเลย




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2558    
Last Update : 15 ธันวาคม 2558 12:28:31 น.
Counter : 5200 Pageviews.  

เมื่อลูกไปเรียนมัธยมในประเทศนิวซีแลนด์ ตอน 3 (NCEA และ การเทียบวุฒิ)

ระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์
National Certificate of Educational Achievement (NCEA)

ลูกเข้าเรียนในชั้น year 10 คือ ม 3
ซึ่งในชั้นนี้ ลูกสามารถเข้าระบบ NCEA ได้แล้ว แต่ไม่บังคับ
ความที่แม่ยังไม่เข้าใจในระบบมากนัก จึงแจ้งครูไปว่า จะขอลงเรียนธรรมดาไปก่อน
ยังไม่ต้องการให้ลูกสอบ NCEA
จะให้เริ่มตาม Step เลย คือ NCEA Level 1 ใน Year 11
NCEA level 2 ใน Year 12
NCEA Level 3 ใน Year 13


NCEA คืออะไร

NCEA หรือ National CErtificate of Educational Achievement เป็นระบบในการวัดผลความรู้ในระบบการศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์ โดย Pathways ของการเรียนระดับมัธยมนั้น เริ่มจาก year 9-10  นักเรียนจะต้องเรียนวิชาพื้นฐานทั้งหมด เช่น เลข อังกฤษ วิทยาศาสตร์  สังคม พละศึกษา เป็นต้น และเริ่มมีวิชาเลือกให้เรียนเช่น เรียนทำอาหาร เรียนตัดเย็บ เรียนภาษาต่างประเทศ เช่นฝรั่งเศส สเปน เรียนงานช่างไม้ เป็นต้น

นักเรียนชั้น Year 10 สามารถเลือกวิชาบางวิชาในระดับ NCEA Level 1  ด้วย (โดยจะตัดสินใจสอบวัดผล NCEA หรือไม่ก็ได้)

•      Year 11  เป็นปีที่เริ่มสอบวิชาในระดับ NCEA LEVEL 1 นักเรียนต้องลงวิชาบังคับ 3 วิชา คือ คณิต, อังกฤษ, วิทย์ และ เลือกวิชาตามที่ชอบอีก 2-3 วิชา ในระดับ NCEA Level 1

(สำหรับนักเรียนบางคน เลือกลงวิชา NCEA level 1 บางตัวตั้งแต่ year 10 และสอบได้แล้ว ก็สามารถลงวิชาในระดับ NCEA level 2 ได้เลย)

•      Year 12  ในชั้นปีนี้ มีวิชาบังคับเพียงวิชาภาษาอังกฤษ แต่ปกติ วิชา คณิตศาสตร์ก็นับเป็นวิชาที่ควรจะลงเรียนด้วย และ เลือกลงวิชาใน NCEA level 2 อีก 4 วิชา

•      Year 13  ในชั้นปีนี้ เป็นวิชาเลือกทั้งหมด 5 วิชา ในระดับ NCEA level 3

การเก็บหน่วยกิต

•      NCEA LEVEL 1 จะต้องเก็บได้อย่างต่ำ 80 หน่วยกิต โดย 10 หน่วยกิตเป็น Literacy credits คือเครดิตจากวิชาภาษาอังกฤษ (5 in Writing และ 5 in Reading) และ  10 หน่วยกิตเป็น Numeracy Credits คือเครดิตจากวิชาคณิต

•      NCEA LEVEL 2  จะต้องเก็บได้อย่างต่ำ  80 หน่วยกิต โดย 60 หน่วยกิต ต้องเป็นวิชาของ NCEA Level 2 ขึ้นไป

•      NCEA LEVEL 3  จะต้องเก็บได้อย่างต่ำ  80 หน่วยกิต โดย 60 หน่วยกิต ต้องเป็นวิชาของ NCEA Level 3 ขึ้นไป

สำหรับผู้ปกครองไทย หรือ นักเรียนไทย ลายคนจะงง กับระบบ NCEA เป็นอย่างมาก
นักเรียนไทยส่วนใหญ่ รอจนจบ ชั้น ม 3 ในประเทศไทย แล้วเดินทางไปเรียน year 11 ในนิวซีแลนด์ โดยไปเข้าเรียนในเทอม 2 (เพราะโรงเรียนในนิวซีแลนด์เปิดเทอมราวๆต้นกุมภาพันธ์)
และ มักจะเรียนจนจบแค่ year 12 หรือ ชั้น ม 5
แล้วเดินทางกลับมาเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทย
โดยทำการเทียบวุฒิ เพราะ กระทราวงศึกษาระบุว่า นักเรียนที่จบ NCEA level 2 สามารถเทียบวุฒิได้แล้ว
จะหานักเรียนที่เรียนจนจบ year 13 ได้ยาก
นอกจากต้องการเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ ซึ่งต้องเรียนจบ  NCEA Level  3

บางครั้ง นักเรียนไทยไม่เข้าใจ กฎเกณฑ์การเทียบวุฒิ
คิดว่า การลงวิชา level 2 ในชั้น year 12 เมื่อเรียบนจบก็ถือว่าจบแล้ว
เอาไปเทียบวุฒิได้ โดยไม่เข้าใจละเอียดว่าต้องได้กี่หน่วยกิต ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
เมื่อเสียเงิน เสียเวลาไปเรียนจนจบ year 12 ตรงดิ่งไปที่กระทราวงศึกษา
กลับพบว่า ไม่สามารถเทียบวุฒิได้
ต้องกลับไปเรียนต่ออีก 1 ปี หรือ หาทางสอบแบบอื่นๆไป

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์การเทียบความรู้วุฒิจากประเทศนิวซีแลนด์ (เพิ่มเติมครั้งที่ 3)

ดังนั้น จึงมีความสำคัญมาก ที่จะทำความเข้าใจ ในเรื่องของเกณฑ์การเทียบวุฒิ
นอกจากนี้ ลูกๆและคุณพ่อคุณแม่ควรตัดสินใจตั้งแต่แรกเลยว่า
ลูกต้องการเรียนอะไรต่อไปในระดับมหาวิทยาลัย
ต้องการไปเข้ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ในนิวซีแลนด์ หรือ ในประเทศไทย
ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกวิชาเรียน
โดยเฉพาะเกณฑ์การเข้ามหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์มีกำหนดไว้ชัดเจน ว่าต้องสอบผ่าน NCEA level 3 ในวิชาที่เป็น University Approved Subjects
เนื่องจากการเรียนมัธยมในนิวซีแลนด์นั้น ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยอย่างเดียว
แต่ยังมีวิชาที่เหมาะกับการนำไปประกอบอาชีพ หรือ มุ่งไปเรียนทางด้านอาชีวะ Polytechnic หรือ อื่นๆอีก ซึ่งวิชาเหล่านี้จะไม่อยู่ใน University Pathways
นำคะแนนมานับสำหรับการพิจารณาเข้ามหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ไม่ได้ เป็นต้น
รายละเอียดปลีกย่อย ดูเหมือนวุ่นวานย แต่ถ้าเราค่อยๆนั่งทำความเข้าใจแล้ว
จะทำให้เราไปถูกทาง ไม่เสียเวลาเปล่าค่ะ

ในกรณีของลูกนั้น
เราตั้งใจไว้ว่า ต้องการให้ลูกเรียนแบบเต็มที่ จนจบ year 13
ไม่ต้องการรีบร้อน ไม่อยากลัดขั้นตอน
เพราะ สุดยอดของชีวิตการเป็นนักเรียนระดับมัธยมของนิวซีแลนด์ อยู่ที่ year 13 นี่เอง
เป็นชั้นปีที่เด็กๆได้แสดงออกทั้งในด้านการเป็นผู้นำ
ความรับผิดชอบ
ความสนุกสนาน
การก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่
กิจกรรมต่างๆที่ลูกทำในช่วงชั้น year 13 มีทั้งสนุกสนาน มีทั้งสาระ จนแม่อดดีใจไปกับลูกไม่ได้
ที่ได้รับโอกาสดีๆในชีวิตขนาดนี้
สำหรับครอบครัวที่สามารถรับค่าใช้จ่ายอีก 1 ปี ได้ เราก็อยากแนะนำเลยว่า ยอมลงทุนต่ออีกนิดเถิด
ประสบการณ์ดีๆแบบนี้ หาซื้ออีกครั้งไม่ได้อีกแล้ว มันจะติดตัวลูกเราตลอดไป
แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะถึงแม้เด็กๆจะมาเรียนในต่างประเทศเพียง 2 ปี (กรณ๊จบ ม 3 มาต่อ year 11-12) ไม่ว่ายังไงก็ได้ภาษา
ถึงแม้จะพูดไม่ได้สำเนียง หรือ คล่องแคล่วเต็มร้อย แต่ก็ยังได้
เพราะเค้าได้ใช้ภาษาอังกฤษทั้งวัน ทุกวัน ได้ประสบการณ์ดีๆในระบบโรงเรียนนิวซีแลนด์ ที่เรียกได้ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
และยังกลับไปเข้ามหาวิทาลัยหลักสูตรอินเตอร์ในไทยได้อีกด้วย (หากตั้งใจเรียนและเก็บหน่วยกิตได้ตามกำหนด และ ไปสอบ SAT, IELTS, และ การสอบวัดระดับความรู้อื่นๆ ตามที่มหาวิทยลัยกำหนด)





 

Create Date : 14 ธันวาคม 2558    
Last Update : 17 ธันวาคม 2558 0:29:55 น.
Counter : 3012 Pageviews.  

เมื่อลูกไปเรียนมัธยมในประเทศนิวซีแลนด์ ตอน 2

ลูกไปเรียนระยะสั้นๆอยู่หลายครั้ง ทุกปิดเทอม (ตั้งแต่ ป5 จนจบม 2) กว่าจะตัดสินใจย้ายไปเรียนเต็มเวลา
โดยประการแรก เราตกลงกันว่าจะไม่บังคับให้ลูกไป แต่จะให้ลูกบอกเองว่าพร้อมเมื่อไหร่
ประการที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่เราค่อยๆรวบรวมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่นี้ด้วย

ทุกๆปี ที่ลูกเดินทางไปเรียนระยะสั้น
แม่จะเดินทางไปด้วยทุกครั้ง ด้วยเหตุผลคือ
ครั้งแรก - ลูกอายุยังน้อยมาก  พ่อแม่เป็นห่วง และแม่ก็ยังไม่เคยไปนิวซีแลนด์เลย (อยากเที่ยว)
ครั้งที่สอง - เราตัดสินใจไปกันเอง ติดต่อโรงเรียนเอง ลูกเป็นนักเรียน Short term คนเดียวของโรงเรียนเลย คงไม่เหมาะถ้าจะให้ไปเอง
ครั้งต่อๆมา - เราค่อนข้างมั่นใจว่า จะส่งลูกมาเรียนที่นิวซีแลนด์ ไม่ไปประเทศอื่น
แม่จึงอยากจะศึกษาโรงเรียนต่างๆ ให้มาก จึงเดินทางมาด้วย และ ตระเวณไปเยี่ยมชมโรงเรียนต่างๆหลายโรงเรียน หลายเมือง

ในที่สุด ด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง เราพบว่า โรงเรียน Bethlehem College เหมาะสมกับครอบครัวเรามากที่สุด
1: เราคุ้นเคยกับโรงเรียน และ บุคลากร ที่มีความเป็นมิตร และต้อนรับเรามากกว่า โรงเรียนใหญ่ๆบางแห่ง
2: เราชอบใจใน Facilities และ หลักสูตรของโรงเรียน
3: เราพอใจในสังคมนักเรียนและ ความเคร่งครัดในกฎระเบียบบางอย่าง ที่ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป
4: ด้วยเหตุผลสำคัญคือ แม่จะเดินทางมาอยู่ดูแลลูกด้วย การไปอยู่เมืองเล็กมากๆ ไกลๆ คงไม่สะดวก พูดง่ายคือ แม่ตกหลุมรักเมืองทาวรองก้า เข้าไปเต็มเปา ^___^

เราเคยคุยกันในครอบครัวว่า จะให้ลูกย้ายมาเรียนทันทีที่จบชั้น ป 6
เพื่อจะเข้าเรียนใน year 8 ระดับ Intermediate
แต่ก็ยังไม่มีใครพร้อม คือลูกก็ยังไม่อยากมา พ่อแม่ก็ยังพะวักพะวง
จึงยืดเยื้อไปจนคิดว่า งั้นจบ ม 1 แล้วมาเรียน year 9 ละกัน
ทีนี้พ่อแม่พร้อมแล้ว แต่ลูกยังไม่พร้อม
ลูกบอกว่า ยังไม่อยากมาครับ เราเลยยืดเวลาออกไปอีก 1 ปี
วันดีคืนดี ลูกก็เดินมาบอกว่าพร้อมแล้วครับคราวนี้
ก็เป็นอันว่า พ่อแม่ต้องลุกพรึบขึ้นมาเตรียมการณ์เลย
ตอนนั้น แม่เปิดบริษัทโฆษณาเป็นของตัวเองแล้ว ลูกค้าดีๆมีหลายราย
แต่ความที่เราค่อยเตรียมตัวรอรับสถานการณ์นี้มาหลายปี เก็บเงินทองไว้ก้อนหนึ่งซึ่งเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย
แม่จึงไม่ลังเลเลยที่จะยุบบริษัท โอนถ่ายลูกค้าในมือออกไปให้บริษัทเพื่อนๆจนหมด
เพื่อเตรียมไปเป็น Stay at home mom เต็มตัวในประเทศนิวซีแลนด์
โดยมีพ่อเป็นกองหลังอยู่ทางนี้ ในการช่วยเหลือ Support อื่นๆต่อไป

4 ปีเต็มๆในประเทศนิวซีแลนด์ ไม่เพียงแต่เป็นประสบการณ์ที่มีค่ากับชีวิตของลูก แต่เป็นไฮไลท์สำคัญในชีวิตของแม่
ที่เรียกได้ว่า จุดเปลี่ยนหลายๆอย่าง และ เป็นช่วงเวลาที่แม่ประทับใจมากที่สุดเลย

แม่สามารถมาอยู่กับลูกในประเทศนิวซีแลนด์ได้ด้วยวีซ่าผู้ปกครอง Guardian Visa
ซึ่งทำให้แม่ได้สิทธิ์ในการพำนักอาศัยเท่ากับลูกซึ่งอยู่ในนิวซีแลนด์ด้วยวีซ่านักเรียน

แม่ใช้เวลาทั้งหมดนอกจากการดูแลรับส่งลูก ด้วยการสร้างสังคมของตัวเองด้วยการ

เป็นอาสมัครช่วยงานกาชาดนิวซีแลนด์
เป็นสมาชิกสโมสรโรตารี่คลับซึ่งมีกิจกรรมดีมากมาย
เป็นสมาชิกชมรมเดิน Bethlehem Walking Group ที่มีการพบปะกันสัปดาห์ละครั้งในการเดินออกกำลังกาย ทุกเช้าวันพฤหัส จบการเดินด้วยกาแฟที่คาเฟ่ พูดคุยสนทนา ทำให้แม่ได้เป็นส่วนของชุมชนแบบสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเดินนอกสถานที่หรือต่างเมืองเดือนละครั้ง ทำให้แม่ได้ไปในที่ใหม่ๆตลอดเวลา
นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังชวนให้แม่เข้าร่วมเป็นกรรมการของ สมาคมครูผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ปกครองเอเชียคนแรกของสมาคม ช่วยดูแล รักษาสิทธิ์ต่างๆให้นักเรียนต่างชาติทั้งโรงเรียน ไม่ใช่เฉพาะกับลูก
และอื่นอีกมากมาย จนทำให้ 4 ปีนั้น เป็น 4 ปีที่ไม่มีเวลาเหงาเลย





 

Create Date : 14 ธันวาคม 2558    
Last Update : 14 ธันวาคม 2558 20:22:16 น.
Counter : 2167 Pageviews.  

เมื่อลูกไปเรียนมัธยมในประเทศนิวซีแลนด์

::::  จุดเริ่มต้น ::::

ไม่ได้ update blog เรื่องการเรียนในนิวซีแลนด์ของลูกมานาน
จนลูกเรียนจบ year 13 แล้วกำลังจะจบปริญญาตรีในปีหน้านี้แล้ว

มีคุณพ่อคุณแม่หลายท่าน ส่งข้อความมาถาม หรือ ขอความเห็นมากมาย
ต้องขอโทษอย่างมาก ที่ไม่ได้ตอบเลย
เพราะแทบไม่ได้เข้า Pantip หรือ Bloggang เท่าไหร่
ช่วงนี้ พอจะว่าง และ กลับเข้ามาใช้ Pantip อีก
ถึงจะไม่บ่อยเท่าเมื่อก่อน
ก็ยังพอเช็คบ้างค่ะ
เลยมาทำสรุป blog อีกที เผื่อเป็นประโยชน์บ้างนะคะ

ในเรื่องการไปเรียนระดับมัธยมที่นิวซีแลนด์ของลูกนั้น
ขอท้าวความนิดว่า
ลูกไปประเทศนิวซีแลนด์ครั้งแรก ตอนอายุ 9 ขวบเศษ (อยู่ ป 5) ตุลาคม 2004
โดยเป็นการไปเรียน summer แบบกรุ๊พพร้อมๆเพื่อนๆในโรงเรียน (ไทย) จำนวนเกือบ 80 คน
เรียกว่าไปเป็นกรุ๊พใหญ่เลย
ไม่ได้ไปเรียนสถาบันสอนภาษา แต่ไปเรียนในโรงเรียนนิวซีแลนด์จริงๆ

จากครั้งนี้ พอสรุปได้ว่า
เด็กอายุเพียง 9-10 ขวบ ไม่เด็กเกินไปสำหรับการไปต่างประเทศเลย
ตอนแรกก็กังวลเหมือนกัน เป็นห่วงไปหมด
แต่พอไปเห็นการปรับตัว การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของลูกแล้ว
ประทับใจลูกมาก
ยิ่งเห็นลูกสื่อสารกับโฮสแฟมิลี่ คุยเล่นกับลูกโฮสแล้วน่ารักจริงๆ
จากเด็กที่ภาษาอังกฤษ กระท่อนกระแท่น เพราะลูกไม่ได้เรียนโรงเรียนอินเตอร์
และ บ้านเราเลี้ยงลูกไทยจ๋า ไม่พูดภาษาอังกฤษกับลูก
ลูกสามารถสื่อสารได้อย่างลื่นไหล
ส่วนนึงก็เพราะความเป็นเด็กของเค้า
และ ลูกโฮสที่อายุเท่ากัน ก็เป็นบัดดี้กันได้อย่างเหมาะเจาะ

ในเวลาที่ลูก (หรือผู้ปกครอง) ยังไม่พร้อมจะให้ลูกไปเรียนถาวรในต่างประเทศ
การส่งลูกไปเรียน Summer 4-5 สัปดาห์
ก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัวลูกได้ ทางหนึ่ง
อย่างน้อยก็เป็นทางที่ครอบครัวเราทำมาแล้ว ได้ผลดีมากกับเราค่ะ

ตอนเรียนในไทย ครอบครัวเราเน้นเฮฮา เดินทางท่องเที่ยว
ลูกไม่เคยไปเรียนพิเศษ กวดวิชา ใดใดทั้งสิ้น
การเรียนอยู่ระดับปานกลาง
ไม่ใช่เด็กท็อปกวาดรางวัลโน่นนี่นั่นเป็นว่าเล่น ไม่ใช่เลยค่ะ
การทำกิจกรรมพิเศษเช่นเรียนดนตรี ให้ลูกเรียนเพราะขอเรียนเอง (ตีกลอง)
ไม่มีการจัดตารางแบบ เช้าเรียนอังกฤษ บ่ายเรียนยูโด เย็นเรียนเปียโน อะไรแบบนี้
วันธรรมดาไปโรงเรียน เรียนพอแล้ว วันหยุดไปเที่ยวกับพ่อแม่
ปิดเทอมไปเยี่ยมญาติ (พอดีมีน้อง / น้าของลูก อยู่ญี่ปุ่น)
พอเริ่มมีรายการไปเรียน Summer ที่นิวซีแลนด์เข้ามา
ปิดเทอมเราก็ไปนิวซีแลนด์กัน ไปมันปีละ 2 รอบเลย ปิดเทอมใหญ่ครั้งนึง ปิดเทอมกลางอีกครั้งนึง

เราอาจจะโชคดีอยู่เรื่องคือ หน้าที่การงานที่ทำค่อนข้างยืดหยุ่น
ทำงานบริษัทโฆษณา ซึ่งสามารถลาหยุดได้ยาวครั้งละเป็นเดือน
ในขณะที่เวลาทำงานจริงก็หนักสาหัสมาก
ไม่มี office hours ดังนั้นมีบ่อยครั้งที่ทำงานแบบ 30-40 ชั่วโมงติดกันแบบ non stop คือ ไม่ต้องนอนเลยก็มี
หรือ ต้องทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือ เดินทางไปต่างจังหวัดหลายๆวัน ฯลฯ
ดังนั้น เมื่อถึงเวลาจำเป็น อย่างลาหยุด 1 เดือน เพื่อพาลูกไปเรียน summer ต่างประเทศ จึงทำได้

ในเรื่องค่าใช้จ่าย หากมีการวางแผนดีๆแล้ว สามารถจัดการได้โดยไม่ถึงกับลำบากเช่นกัน

""""""""""""""""""""""""
ประเภทของโรงเรียนในนิวซีแลนด์

โรงเรียนประถมศึกษา (Primary School) year 1-6

โรงเรียนมัธยมต้น (Intermediate school) year 7-8

โรงเรียนมัธยมปลาย (Secondary school) year 9-13

1.       โรงเรียนรัฐบาล (State School) เป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนันสนุนอย่างมากจากรัฐบาล โรงเรียนรัฐบาลจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ อาจเป็นโรงเรียนแบบสหศึกษา หรือ หญิงล้วน ชายล้วน

2.       โรงเรียนกึ่งรัฐบาล (Integrated School) เป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาล เช่น ตัวอาคารต่างๆสร้างขึ้นโดยทุนของเอกชน หรือ องค์กรทางศาสนา ในขณะที่ครูรับเงินเดือนจากรัฐบาล หรือ รัฐบาลช่วยสนับสนุนในการก่อสร้าง อาคารเรียน สนามกีฬา ศูนย์ประชุมต่างๆ เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ด้วย เป็นต้น  นักเรียนนิวซีแลนด์ที่มาเรียนที่นี่จะมีค่าใช้จ่ายค่าเรียนสูงกว่าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล และค่าเรียนสำหรับนักเรียนต่างชาติจะสุงกว่าโรงเรียนรัฐบาลเล็กน้อย (ไม่ต่างกันมากมายนัก)

3.       โรงเรียนเอกชน (Private School) เป็นโรงเรียนเอกชน ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเลย ค่าใช้จ่ายอาจสูงกว่าโรงเรียน 2 ประเภทแรก 2-3 เท่าตัว

(โรงเรียนส่วนใหญ่ ราว 90% เป็นโรงเรียนรัฐบาล)

""""""""""""""""""""""""

โรงเรียนที่ลูกไปเรียน เป็นโรงเรียนประเภทที่ 2 คือ State Integrated School ชื่อ Bethlehem College ตั้งอยู่ในเมือง Tauranga ทางเกาะเหนือ ของประเทศนิวซีแลนด์

ลักษณะโรงเรียนเป็น campus ครบวงจร คือ มีทั้งส่วนที่เป็นโรงเรียนอนุบาล เรียกกันว่า Kindy
Primary School  year 1-6
และ ในส่วนของ Year 7-13 (สามารถรับนักเรียนต่างชาติได้ ตั้งแต่ year 7)
นอกจากนี้ยังมี Tertiary College คือ วิทยาลัย ระดับอุดมศึกษาสอนวิชาเกี่ยวกับครู และ การท่องเที่ยว ประมาณนี้ด้วย
โรงเรียนจึงเป็น Campus ที่ใหญ่โต มีสนามกีฬา อาณาบริเวณ และ Facilities ต่างๆมากมาย
แต่ยังคงไว้ซึ่งความน่ารัก อบอุ่น สังคมดีจนไม่อยากจะเชื่อ ว่าเรามาหาที่นี่เจอได้อย่างไร





 

Create Date : 14 ธันวาคม 2558    
Last Update : 14 ธันวาคม 2558 23:47:00 น.
Counter : 5113 Pageviews.  

~ Senior Prize Giving : year 11~

อยากให้ลูกใช้ชีวิตแบบสมดุลย์
คือทั้งเรียนทั้งเที่ยวเล่นสนุกสนานตามวัย
ตั้งแต่เด็กจนโตไม่เคยบังคับเคี่ยวเข็ญให้ลูกเรียนแบบเอาเป็นเอาตาย
ไปเรียนกวดวิชาหลังเลิกเรียนหรือวันหยุดสุดสัปดาห์
บ้านนี้ไม่รู้จัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าปล่อยปละละเลย
คอยดูอยู่เสมอๆ ถ้าเห็นว่าไม่ค่อยสนใจเรียนเท่าไหร่ ก็จะตักเตือน
และ (ทำเป็น) เข้มขึ้นมาบ้าง
ลูกอยากเล่นกีฬา อยากเล่นเกมส์ ของเล่น gadgets อะไรอยากได้บอกมา เดี๋ยวจัดให้
แต่บางทีก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนกันบ้าง
ให้เขารู้ว่า อยากได้อะไร พ่อแม่ยินดีอยู่แล้ว แต่ลูกต้องรู้คุณค่าด้วย

ข้อดีสำหรับการส่งเด็กวัยรุ่นมาเรียนที่นี่ก็ดีตรงที่ประเทศนี้ไม่มีแสงสีมากนัก
โดยเฉพาะเมืองที่เราอยู่
อย่างเก่งก็ไปเดินเล่นในทาวน์ (เล็กกว่าสยามสแควร์ประมาณ 10 เท่า)
ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมีชั้นเดียว
ถ้าเด็กๆบอกว่าขอไปเที่ยวกับเพื่อน ก็คือไปทาวน์ เดินๆไปเดินมา
นั่งกินซูชิ หรือ เบอร์เกอร์คิง แล้วก็ดูหนัง
บางทีก็ไปบีช ไปปิคนิค ไปกินไอติมกัน อะไรแค่นั้น

มีบ้างที่เด็กไทยบางคนพ่อแม่ตามใจมาก ให้อยู่เมืองใหญ่
ซื้อรถสปอร์ตให้ขับ (ที่นี่อายุ 15 ทำใบขับขี่ได้แล้ว)
จัดงานปาร์ตี้ที่บ้าน ดื่มเหล้าเบียร์กัน (ไปผับไม่ได้เพราะอายุไม่ถึง)
บางคนเทคยาก็มีนะ (ยาเสพติดนี่มีทุกที่ทั่วโลกจริงๆ)
แต่น้องจ้ำไม่เป็นแบบนั้นเลย
ไม่ได้เลี้ยงลูกให้แหย หรือ ล้าสมัย หรือ เป็นลูกแหง่ แต่อย่างไร
ให้เขาคิดเอง ทำเอง อยากทำอะไรก็ตามใจ
คอยถามความเห็นเขาเสมอ ให้เขาช่วยตัดสินใจบางอย่างด้วย
แต่เราก็คอยดูๆอยู่บ้างเท่านั้น
ถามว่าลูกอยากขับรถไปโรงเรียนไหม
เขาบอกไม่เอา ขี้เกียจ

เรื่องเรียนก็ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะ ลูกจะรู้เองว่าต้องทำยังไง
บางทีเอางานเรียนมาเปิดๆดู ยังทึ่งว่าเขามีวิวัฒนาการมากกว่าที่เราคิดเยอะ
ยิ่งทำให้วางใจ ไม่ไปเคี่ยวเข็ญ
เป็นคนมีวินัยพอสมควรทีเดียว

ลูกชอบเล่นกีฬาสารพัดชนิด
วันที่ต้องซ้อมฟุตบอล หรือ แข่งฟุตบอล แม่ไม่ต้องเตือนเลย
ลูกจะจัดการเองหมด
เตรียมอุปกรณ์ น้ำดื่ม (แช่ตู้เย็นไว้เองเรียบร้อย) ตื่นเช้า แต่งตัว ฯลฯ
จากเดิมที่แม่เคยทำให้หมด
เดี๋ยวนี้แม่ไม่ต้องห่วงอีกแล้ว
ทางโรงเรียนมีประกาศอะไร ก็ไปเช็คเอง ติดต่อเอง ลงชื่อเองเสร็จสรรพ
ขวนขวายเองทุกอย่าง
แล้วอย่างนี้จะไม่ให้รักลูก ปลื้มลูก หมดหัวใจได้ไง ^.^

........
ถึงบางทีลูกจะนั่งเล่นคอมฯทั้งวันทั้งคืนบ้าง
โหลดเพลงจาก itunes จน internet แม่เดี้ยงไปเลยบ้าง
ถึงจะนั่งเกาหน้าจนสิวเห่อไปทั้งหน้าบ้าง
ถึงจะไม่ยอมอาบน้ำตั้งแต่เช้าจนเย็นบ้าง (อยู่ในชุดนอนทั้งวัน)
ถึงจะแอบเขี่ยผักในจานที่แม่ตักใส่ให้บ้าง
ถึงจะไปซื้อเสื้อยืดประหลาดๆตัวละ 30 เหรียญ แต่เนื้อผ้าประมาณซื้อได้ตัวละ 50 บาทที่เมืองไทยมาใส่บ้าง ฯลฯ
.......
แต่ลูกก็ใช้ชีวิตอย่างสมดุลที่สุดแล้ว (ในความรู้สึกของแม่)
ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นธรรมดาๆ
ไม่เกเรเสเพล แต่ไม่เนิร์ด ไม่แหย
ไม่สุรุ่ยสุร่าย แต่ก็ไม่ตระหนี่ขี้เหนียวขาดแคลน
คิดเอง ตัดสินใจเอง แต่ก็มีถามความเห็นแม่บ้างในบางครั้งโดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ
ไม่ใช่ว่าเล็กๆน้อยๆอะไรก็แม่ ก็แม่ อย่างนี้ ไม่ใช่น้องจ้ำแน่นอน
และแม่ก็ไม่อยากให้ลูกเป็นแบบนั้นด้วย
ถึงปล่อย...

ทั้งที่บางทีขัดหูขัดตาชมัดเลยเช่นกางเกงขาเดฟลีบๆกะหนีบรองเท้าแตะ
แม่ไม่ชอบเลย
แต่ลูกชอบมาก เพื่อนๆกีวีของลูกก็ใส่กันอย่างนี้
แม่ก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่พูด ไม่ติ ไม่วิจารณ์
(แถมเดินไปเห็นร้านขายกางเกงเดฟ เลยซื้อมาฝากลูกด้วย ทั้งที่แม่ไม่ชอบนี่แหละ แต่รู้ว่าลูกชอบ)

น้องจ้ำทำให้แม่เข้าใจว่าอย่าไปอันเดอร์เอสติเมทเด็กยุคนี้
อย่าไปคิดว่าเขาเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา
ถึงแม้ในความรู้สึกของพ่อแม่ จะคิดว่าลูกยังเป็นลูกน้อยอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
แต่ต้องพยายาม (หักห้ามใจ) ว่าเขาต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง
และเชื่อมั่นในตัวเขาว่าเขามีศักยภาพพอที่จะจัดการอะไรได้ด้วยตัวเอง
เมื่อเรารักและเป็นห่วงเขา ก็เฝ้าดูเขาได้อยู่รอบๆ
ไม่ต้องไปก้าวก่าย บงการชีวิตเขามากเกินไป
แล้วจะได้ชื่นชมยินดีกับวิวัฒนาการของเขาได้เต็มที่ :)

เร็วๆนี้ลูกทำให้แม่ประหลาดใจ และภูมิใจได้ในขณะเดียวกัน
ในการที่ได้รับรางวัลเรียนดี ขึ้นไปรับรางวัลในวัน Senior Prize Giving วันสุดท้ายของภาคเรียน
ลูกมีความสุขกับการเรียนที่นี่และทำได้ดีคงเป็นเพราะบรรยากาศหลายๆอย่างเอื้ออำนวย
ไม่ตึงเครียดเกินไป สังคมโรงเรียน และ กิจกรรมต่างๆก็เหมาะสม
วิชาที่ลูกเก่งเป็นพิเศษคือ Mathemetics
วิทยาศาสตร์ในส่วนของเคมี ด้วย
ไม่ชอบชีวะวิทยา Biology พวกที่ต้องท่องๆ ลูกจะไม่ชอบ
ส่วนรางวัลคราวนี้ได้จากวิชาภาษาอังกฤษ
"ESL Advanced with Diligence"

บอกลูกไว้ว่า หากลูกได้ขึ้นไปรับรางวัลใน Senior Prize Giving อยากได้อะไร บอกมา
คราวนี้ ถูกทวงเลยเนี่ย :P










 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 15 ธันวาคม 2558 2:40:33 น.
Counter : 757 Pageviews.  


parachute
Location :
Tauranga New Zealand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




Friends' blogs
[Add parachute's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.