1984: George Orwell - อำนาจรัฐที่ไร้การควบคุม
อำนาจรัฐที่ไร้การควบคุม

ไม่ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับหนังสือมาระยะหนึ่งแล้ว อันที่จริงก็ยังอ่านอยู่ตลอดเมื่อมีเวลาว่าง แต่เวลาว่างนาน ๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ค่อยมีครับ ล่าสุดอ่าน Next (ฉบับแปล) ของ Michael Crichton จบไปได้ไม่นาน เริ่มอ่านก่อนที่ Crichton จะเสียชีวิต โดยไม่ได้ระแคะระคายเรื่องที่ผู้เขียนไม่สบายเลยแม้แต่น้อย ได้ข่าวจากร้านหนังสือมือสองของพี่สุ (su-usedbook) ขึ้นป้ายหน้าร้านอาลัยการจากไปของ Crichton ก็เลยตามข่าวดู ปรากฎว่าเป็นจริง ก่อนหน้านั้นก็อ่าน Changhai Baby (ฉบับแปล) เอาไว้มีโอกาสเหมาะจะเอามาเล่าสู่กันจังหวะต่อไปครับ
...................................
ช่วงนี้อ่านหนังสือ "1984" ของ George Orwell เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1948 มีเนื้อหาจินตนาการถึงโลกในยุคที่ประเทศทั้งหลายรวมกันเป็นรัฐใหญ่ ๆ สามรัฐที่คอยทำสงครามต่อต้านกันไปมาเป็นสามเส้าที่คอยถ่วงดุลย์กันอยู่ โดยในเนื้อเรื่องนั้นจำเพาะเจาะจงไปในรัฐหนึ่ง (ฉากหลังเป็นนครลอนดอน-ผู้เขียนเป็นคนอังกฤษ) ที่มีตัวแทนของรัฐคอยจับตาดูผู้คนในรัฐอยู่ตลอดเวลาผ่านทางจอภาพ โดยจอภาพนี้นอกจากจะมีไว้ฉายภาพข่าว-โษฆณา(ชวนเชื่อ)-ประกาศ ฯ แล้ว ยังมีไว้รับภาพของคนที่อยู่ในรัศมีของจอภาพ และมีคนคอยจับตาดูอยู่ตลอดเวลาโดยมีตัวแทนของรัฐ (ในที่นี้ใช้คำว่าพรรค ซึ่งหมายถึงพรรคสังคมนิยมอังกฤษ) เป็นรูปชายวัยกลางคนไว้หนวด มีชื่อว่า "Big Brother" (รายการโทรทัศน์ในอังกฤษยืมชื่อนี้ไปใช้ในรายการ reality show รายการหนึ่ง พฤติกรรมของคนในรายการจะถูกจับตาดูอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกับในนิยาย)
ในปี 1984 (อ่านไปได้สักพักจะเข้าใจได้ว่ามันอาจเป็นปีอะไรก็ได้ที่รัฐกำหนดให้เป็นปี 1984 !) ตัวละครจะถูกบงการโดยการบิดเบือนของรัฐ รัฐเป็นผู้ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างโดยทำให้ประชาชนอยู่ในความควบคุม ทั้งจากจอภาพ จากการเรียนรู้ และจากแนวคิดที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก (เอาเข้าจริง รัฐถึงกับควบคุมปัจเจกชนด้วยกระบวนการที่อ่านแล้วอาจถึงกับ shock เอาได้ง่าย ๆ)
คำขวัญของพรรคฟังดูแล้วง่าย แต่เข้าใจยาก...

สงครามคือสันติภาพ เสรีภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือพลัง
อ่านดูแล้วเหมือนกับเอาคำสองคำที่ตรงข้ามกันมาสื่อความหมายให้เป็นเรื่องเดียว กัน (หนาวคือร้อน... หล่อคือขี้เหร่ !!! ???) แต่คำทั้งหมดนี้ถูกชี้นำโดยแนวคิดของพรรค( = รัฐ ในที่นี้คือความหมายเดียวกัน โดยผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าสังคมในยุค 1984 อยู่ภายใต้การปกครองโดยพรรคเดียวผู้ครองอำนาจรัฐทั้งหมด พรรคคือรัฐ รัฐคือพรรค) ใต้แนวความคิดของ Doublethink และ Newspeak
รัฐพยายามทำลายคำที่มีความหมายหลากหลายลงไป ยุบรวมคำที่มีความหมายต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และแน่นอนว่ากับคำบางคำนั้นต้องคิดสองครั้ง(คิดสองชั้น-Doublethink) ถึงจะเข้าใจได้ว่าความหมายที่รัฐต้องการสื่อคืออะไร นั่นคือนอกจากความหมายโดยตรงตามพจนาุนุกรมที่เราเคยรู้จัก ต้องคิดถึงความหมายตาม Newspeak (new บวก speak) นั่นคือความหมายตามที่รัฐกำหนดขึ้นมาเป็นภาษาใหม่เพื่อให้ประชาชนไ้ด้ใช้้คำน้อยลง คำที่ไม่จำเป็นจะถูกตัดทอนลง สุดท้ายก็จะเหลือเพียงกลุ่มคำที่จำเป็นไม่มากในการสื่อสารซึ่งกันและกัน การมองเรื่องการพูดโดยใช้ภาษา Newspeak และ doublethink เพียงผิวเผินก็จะสามารถอรรถาธิบายได้ตามนี้ แต่หากมองให้ลึกขึ้นก็จะได้ว่านั่นเป็นการกำกับควบคุมโดยรัฐอย่างสมบูรณ์ รัฐจับตาดูผู้คนทุกฝีก้าว สังเกตอากัปกิริยาของคน ลอบดูการหายใจ ฟังเสียงเคลื่อนไหว ควบคุมความคิด กำกับการพูด และแน่นอนว่ากวดขันแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ เพราะอารมณ์คือศัตรูของพรรค ดังนั้น newspeak จึงเป็นเหมือนการเก็บกดอารมณ์ของประชาชนในสังคมได้เป็นอย่างดี (ลองนึกถึงโลกที่ไม่มีคำว่า "เพศ" และ "เพศสัมพันธ์" ดูสิว่าจะเหี่ยวแห้งและไร้ชีวิตชีวาขนาดไหน ?)
รัฐเข้าไปมีบทบาทใน ทุกสิ่งทุกอย่าง รัฐคือความยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันผิดพลาด ทุกสิ่งทุกอย่างที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงจะุถูก "ปรับเปลี่ยน" อดีตถูกแก้ไข ข่าวสารถูกแก้ไข การรับรู้ของคนถูกปลูกฝังมาเพื่อให้เข้าได้กับการถูกแก้ไขอยู่ตลอดเวลาี้โดยดุษฎี ลองนึกถึงนักการเืมืืองบางประเทศที่ทำผิดแล้วไม่แสดงสปิริตด้วยการลาออก แต่เข้าไปปรับเปลี่ยนสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก แก้ไขทุกอย่างแม้กระทั่งอดีตเพื่อให้สิ่งที่เขาทำนั้นกลายเป็น "ถูก" ...รัฐที่ดำเนินนโยบายผิดพลาดย่อมหมายถึงความอ่อนแอ และความอ่อนแอนั้นเป็นเรื่องรับไม่ได้ ...อย่างนี้นักการเมืองบางประเทศแถวนี้คงชอบใจและนึกอยากไปอยู่กันเต็มที่
การควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง(โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสาร)โดยรัฐนี้เองที่ทำ ให้เมื่ออ่านไปสักพักก็จะเริ่มสงสัยว่าสงครามระหว่างรัฐทั้งสามที่โฆษณา(ชวน เชื่อ)อยู่ตลอดเวลานั้นมันมีจริงหรือเปล่า หรือสงครามทั้งหมดเป็นเพียงการปั้นน้ำเป็นตัวของรัฐเพื่อควบคุมอารมณ์และ ความคิดของประชาชนในรัฐให้ไปในทิศทางเดียวกัน... ด้วยการทำให้ประชาชนโกรธและเกลียดสมาชิกของรัฐที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งเอาเข้าจริงก็แทบไม่รู้้ด้วยซ้าว่ารัฐไหนเป็นพันธมิตรหรือศัตรูกับรัฐ ไหนกันแน่ !)
ในเรื่อง Orwell เปิดเผยแนวคิด "โกล์ดสไตน์" ซึ่งถูกกล่าวหาโดยรัฐบาลว่าเป็ผู้มีแนวคิดขบถ เป็นบุคคลนอกกฎหมายที่ถูกตามล่าอยู่ตลอดเวลา ผู้เขียนเรียบเรียงแนวคิดที่ "อ่านแล้วหลับได้" นี้ให้อ่านอยู่หลายสิบหน้า จนกระทั่งอ่านจบแล้ว(อ่านจนจบเรื่อง)ก็คิดเอาเองว่ามันเป็นจริงเสียยิ่งกว่าที่จะยอมรับว่ามันไม่จริง (คงเข้าใจนะครับว่าผมหมายความว่าอะไร ?)
"One does not establish a dictatorship in order to safeguard a revolution; one makes the revolution in order to establish the dictatorship. เขาไม่ได้สถาปนาเผด็จการขึ้นมาเพื่อปกป้องการปฏิวัติหรอก; เขาปฏิวัติเพื่อสถาปนาระบอบเผด็จการต่างหาก"
คำนี้ได้ยินบ่อย โดยเฉพาะช่วงหลังเดือนกันยายน 2549 ที่ใครต่อใครพากันคิดว่า "รัฐประหารตายแล้ว" "ปฏิวัติตายแล้ว" คำเหล่านี้เอามาจากหนังสือเรื่องนี้ ...เช่นเดียวกับที่ใครต่อใครพากันบอกว่านิยายเรื่อง 1984 ตายแล้ว แต่ก็ฟื้นขึ้นจากหลุมได้ทุกทีไป และทุกวันนี้ยังมีคนอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ - ฉบับที่ผมอ่านเป็นฉบับแปล พิมพ์ครั้งที่สอง ปี พ.ศ. 2551 (ครั้งแรกพิมพ์ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งที่บ้านก็มีอยู่เช่นกัน แต่แทบจะเปิดไม่ได้แล้วเพราะกระดาษกรอบมากและพร้อมจะหลุดออกมาเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อยได้ทุกเมื่อ)
เห็นดังนี้แล้วนึกอยากเป็น "ขบถ" ขึ้นมาบ้างไหม ? คิดจะเป็นขบถนั้นง่าย แค่ใครคิดอะไรขึ้นมาก็ย้อนเกล็ดเขาเสีย คนก็เรียกเป็นขบถแล้ว แต่ในความเป็นจริง คนจะขบถได้ง่ายอย่างนั้นเลยหรือ ? ผมชอบแนวคิดของ Orwell ในเรื่องนี้ที่บอกว่าคนเราเลือกที่จะเป็นขบถได้ แถมมิหนำซ้ำยังเลือกที่จะเป็นขบถเฉพาะส่วนได้อีกต่างหาก เป็นอารมณ์ขันแบบตลกร้ายของผู้เขียนที่สอดแทรกเข้าไปในเรื่องได้อย่างกลม กลืน... และในที่สุด ขบถใดก็ไม่เลวร้ายเท่ากับการขบถต่อตนเอง !
ผู้เขียนทำให้องก์ที่สามในเรื่องเป็นการตั้งคำถามต่อขบถทุกผู้ทุกนามที่ได้อ่าน หนังสือเล่มนี้ว่าเขาขบถเพื่ออะไร และมีอะไรที่ขบถสามารถขบถเพื่อละทิ้งความเป็นขบถได้ ? และมีอะไรที่ขบถสามารถละทิ้งได้เพื่อความเป็นขบถ ? แต่ก่อนจะเปิดเข้าไปอ่านหรือก่อนจะตอบคำถามสองคำถามนี้ ขอให้ถามตัวเองก่อนว่าเคยมีบ้างไหมที่ปัจเจกขบถ(คือขบถมันตัวคนเดียวนั่นเอง) จะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบหรือล้มล้างความอยุติธรรมได้ เราขบถเพียงเพราะเราไม่พอใจระบบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว(และในที่สุดก็เราเองนั่นแหละที่ต้องโอนอ่อนผ่อนตามเพื่อให้ระบบปกป้องเรา) หรือเราขบถเพราะจิตวิญญาณที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนรู้หรือประสบการณ์ทำให้เรา เป็นขบถ ? (โปรดฟังซ้ำอีกครั้ง ...สงครามคือสันติภาพ เสรีภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือพลัง)
บทความ "อำนาจกับการขบถ" โดย ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา //www.onopen.com/2008/02/3404 มีตีพิมพ์เป็น "บทกล่าวตาม" ใน 1984 ฉบับแปล พิมพ์ครั้งที่สองด้วย
...................................
George Orwell ชื่อจริงคือ Eric Arthur Blair (1903-1950) เกิดในอินเดีย พ่อเป็นข้าราชการอังกฤษประจำการในอินเดียในขณะนั้น หลังจาก George Orwell เรียนจบก็เข้ารับราชการในพม่า ก่อนจะลาออกเพราะทนเห็นการกดขี่และความไม่เท่าเทียมกันของผู้ปกครองและผู้ ถูกปกครอง จากนั้นใช้ชีวิตทุกรูปแบบตั้งแต่เร่ร่อน ล้างจาน ครู ไปจนถึงเป็นอาสาสมัครเข้ารบในสงครามกลางเมืองสเปน ก่อนจะถูกยิงที่คอและรอดมาได้ จากนั้นกลับไปใช้ชีวิตที่อังกฤษ
Orwell นิยามตัวเองเป็น "lower-upper-middle class" ชนชั้นกลางระัดับต่ำในกลุ่มสูง !?!?!?
งานเขียนที่สร้างชื่อคือ Animal Farm ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็น "Fairy tale" แต่ไม่มีคนอ่านคนไหนเห็นด้วยว่ามันเป็น fairy tale ที่จะอ่านกล่อมเด็กตอนกลางคืนได้แน่ เนื้อหาเป็นการเสียดสีการเมืองที่ "ฝ่ายขวาก็บอกว่าเขียนโจมตีฝ่ายซ้าย ฝ่ายซ้ายก็บอกว่าเขียนโจมตีฝ่ายขวา" มีแปลเป็นไทยหลายสำนวนในชื่อ "รัฐสัตว์" "สัตวรัฐ" "แอนนิมอล ฟาร์ม" "การเมืองของสัตว์" "ฟาร์มสัตว์" (สำนวนที่สมบูรณ์ที่สุดในมุมมองของผมคือสำนวนแปลของ เกียรติขจร ไชยแสงสุขกุล โดยสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งมีภาคผนวกเป็นชีวประวัติผุ้แต่งและคำวิจารณ์อยู่ด้วย)
งานเขียนอื่น ๆ ที่มีแปลเป็นไทยคือ โลกของครูสาว / The Cleegyman's Daughter แปลเป็นไทยโดย สุนันทา เหล่าจัน ปี พ.ศ. 2518 มี ส ศิวลักษณ์ เขียนคำนำ แด่คาทาโลเนีย / Homage to Catalonia แปลเป็นไทยโดย สดใส (หาหลักฐานปีที่พิมพ์ไ่ม่ได้) สำหรับ 1984 มีแปลเป็นไทยสำนวนเดียว โดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธเผ่าพงษ์ พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2525 สำนักพิมพ์กอไผ่ และพิมพ์ฺครั้งที่สอง สำนักพิมพ์สมมติ ปี พ.ศ. 2551
1984 ฉบับภาษาอังกฤษ-ฉบับเต็ม (เข้าใจว่าหมดลิขสิทธิ์แล้ว) //www.george-orwell.org/1984/index.html
...................................
2 + 2 = ?
อย่าลืม จงคิดสองชั้น !
Create Date : 15 ธันวาคม 2551 |
Last Update : 3 สิงหาคม 2554 8:09:12 น. |
|
16 comments
|
Counter : 32698 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: nidnoi IP: 58.8.151.205 วันที่: 13 มกราคม 2552 เวลา:1:04:33 น. |
|
|
|
โดย: BONZ IP: 116.58.231.242 วันที่: 10 สิงหาคม 2552 เวลา:22:56:40 น. |
|
|
|
โดย: ติดตาม IP: 58.9.31.96 วันที่: 8 ธันวาคม 2552 เวลา:15:49:56 น. |
|
|
|
โดย: - -" IP: 98.119.213.166 วันที่: 15 ธันวาคม 2552 เวลา:13:08:24 น. |
|
|
|
โดย: leng leng IP: 58.9.125.140 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:22:05:27 น. |
|
|
|
โดย: SaGinkz IP: 125.25.58.129 วันที่: 12 กันยายน 2554 เวลา:2:24:38 น. |
|
|
|
โดย: Zhivago วันที่: 14 กันยายน 2554 เวลา:10:23:48 น. |
|
|
|
โดย: เป็ด IP: 216.106.254.219 วันที่: 9 มกราคม 2555 เวลา:2:32:27 น. |
|
|
|
โดย: Zhivago วันที่: 10 มกราคม 2555 เวลา:10:23:42 น. |
|
|
|
โดย: เอือม IP: 58.64.81.139 วันที่: 16 มกราคม 2555 เวลา:19:31:27 น. |
|
|
|
โดย: Zhivago วันที่: 27 มกราคม 2555 เวลา:21:48:04 น. |
|
|
|
โดย: Gemma IP: 119.42.108.101 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:15:15:07 น. |
|
|
|
โดย: cctv IP: 125.26.253.167 วันที่: 26 ธันวาคม 2556 เวลา:21:48:36 น. |
|
|
|
โดย: 554 IP: 180.183.202.252 วันที่: 24 เมษายน 2558 เวลา:16:40:08 น. |
|
|
|
โดย: Dorthy IP: 192.99.15.166 วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:13:42:40 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
| |
|
|
สำหรับ1984เล่มนี้เป็นหนังสือไม่กี่เล่มที่ผมอ่านไม่จบ จะว่าไปไม่อยากอ่านให้จบเอง หรือว่ามันปวดกบาลจนอ่านต่อไม่ได้ก็ไม่รู้สุดท้ายมันก็กลับไปกองรวมอยู่ในกล่องต่อไปแต่ก็ยอมรับในความเจ๋งของมันว่าใช้ได้ อ่านไปแล้วเหมือนว่าเราใกล้จะถึงยุค 1984 กันจริงๆแล้วละมัง