ตอนที่ 2
จากหนังสือเรื่อง "สมรภูมิของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์"
โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ
Master of International Relations (with merit)
Victoria University of Wellington, New Zealand
สงวนลิขสิทธ์ตาม พรบ.สิ่งพิมพ์ พ.ศ.2537
ห้ามทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ ให้เผยแพร่เพื่อการศึกษาและค้นคว้าแก่ผู้สนใจเท่านั้น
ตามยุทธวิธีในการรบของกองทัพรัสเซียนั้น กองทัพจู่โจมจะไม่เน้นการเคลื่อนที่เร็ว จึงมีกองพลทหารม้าเพียง 1 กองพลและมีรถถังเพียง 2 กองพัน แต่จะมุ่งเน้นความรุนแรงในการเข้าตีโดยอาศัยคลื่นทหารราบ เคลื่อนที่เข้าหาแนวตั้งรับของทหารเยอรมันอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรมทหารปืนใหญ่ยิงสนับสนุน พร้อมๆ กับรถถัง
เมื่อสามารถเจาะแนวตั้งรับของเยอรมันได้แล้ว หน่วยยานเกราะหรือรถถังที่อยู่ในส่วนกองหนุน จึงจะเคลื่อนที่ตามเข้าไปในแนวเจาะ แล้วขยายปีกออกทางซ้ายขวา เพื่อเข้าทำการกวาดล้างหรือขยายผลในการรบต่อจากทหารราบของกองทัพจู่โจมต่อไป
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายรัสเซียจัดตั้งกองทัพจู่โจมขึ้นทั้งหมด 5 กองทัพทำการรบ ตั้งแต่วงล้อมเมือง "เดมแยงส์" และการรบที่เมืองสตาลินกราด เรื่อยไปจนถึงการรบครั้งสุดท้ายที่กรุงเบอร์ลิน
ในช่วงแรกที่ทหารรัสเซียเปิดฉากโจมตีแนวหน้า ตลอดทั้งแนวของกองทัพเยอรมัน ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพที่ 16 อันประกอบไปด้วยกองทัพน้อยที่ 2 และกองทัพน้อยที่ 10 นั้น จอมพลวิลเฮล์ม ริทเธอร์ ฟอน ลีบ ผู้บังคับบัญชากลุ่มกองทัพเหนือ ตระหนักดีว่า การรุกกลับอย่างรุนแรงของรัสเซีย อาจนำมาซึ่งความสูญเสียของกองทัพที่ 16 ทั้งกองทัพก็เป็นได้ เขาจึงร้องขอไปยัง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เพื่อขอรับคำสั่งให้ทหารเยอรมันล่าถอยจากพื้นที่เมือง "เดมแยงส์" และจัดแนวตั้งรับใหม่ แต่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ปฏิเสธคำขอดังกล่าว
สำหรับจอมพล วิลเฮล์ม ริทเธอร์ ฟอน ลีบ นั้นเป็นนายทหารอาชีพ และมักแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่ฝักใฝ่หรือบางครั้งถึงกับมีแนวความคิดต่อต้านพรรคนาซีของฮิตเลอร์เสียด้วยซ้ำไป เขาจึงส่งคำขอไปยังฮิตเลอร์อีกครั้ง
คราวนี้เป็นคำขอถอดถอนตัวเองออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพเหนือ ฮิตเลอร์ซึ่งโดยส่วนตัวก็ไม่ค่อยนิยมชมชอบในตัวจอมพล วิลเฮล์ม ริทเธอร์ ฟอน ลีบ เท่าใดนัก แม้ว่าจอมพล วิลเฮล์ม ริทเธอร์ ฟอน ลีบ จะสามารถนำความสำเร็จจากการรุกเข้าสู่รัสเซียมาให้ฮิตเลอร์ได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มกองทัพเหนือของเขา สามารถรุกเข้าไปในรัสเซียได้เป็นระยะทางถึง 900 กิโลเมตร ภายในระยะเวลาอันสั้นก็ตาม แต่จอมพล วิลเฮล์ม ริทเธอร์ ฟอน ลีบ ก็ล้มเหลวในการยึดเมืองเลนินกราด สร้างความไม่พอใจให้กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อย่างมาก ความไม่พอใจนี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านคำพูดของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตอนหนึ่งว่า
.. จอมพล ฟอน ลีบ ชอบทำตัวเหมือนเด็ก เขาไม่สามารถทำตามแผนของฉันในการยึดเมืองเลนินกราดได้ อีกทั้งยังมัวแต่วุ่นวายอยู่กับการวางแผนมากจนเกินไป โดยเฉพาะแผนตั้งรับในแนวรบด้านตะวันตกเฉียงเหนือ (เมืองเดมแยงส์) .. เขายังคิดที่จะรุกสู่กรุงมอสโคว์มากกว่าการรุกสู่เลนินกราดตามแผน .. จอมพลคนนี้เป็นคนแก่ชรา ที่สูญเสียความห้าวหาญไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว เหมาะที่จะเข้าโบสถ์สวดมนต์ มากกว่ามาทำหน้าที่บังคับบัญชาการรบ ..
ด้วยความไม่พอใจดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้คำขอในการถอนตัวออกจากการเป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพเหนือ ของจอมพล วิลเฮล์ม ริทเธอร์ ฟอน ลีบ ได้รับการอนุมัติอย่างไม่รีรอ จากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ พร้อมกับแต่งตั้งพลเอก จอร์ช ฟอน คุกเลอร์ (Georgvon Kuchler) นายทหารผู้ซึ่งให้การสนับสนุนพรรคนาซีอย่างท่วมท้น เข้าทำหน้าที่แทน
สถานการณ์ใน "เดมแยงส์" เป็นไปดังที่ จอมพล วิลเฮล์ม ริทเธอร์ ฟอน ลีบ คาดการณ์ไว้ การยึดที่มั่นตามแนวความคิดของฮิตเลอร์ ทำให้ทหารเยอรมันกว่า 100,000 นาย ตกอยู่ในวงล้อมของทหารรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1942
ปัญหาของทหารเยอรมันในขณะนั้นคือ การขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จำนวนมาก เพื่อจัดตั้งแนวป้องกันการรุกของทหารกองทัพแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดต่อสู้ทำลายรถถังหรือ "แพนเซอร์เยเกอร์" (Panzerjager) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 37 มิลลิเมตรแบบ แพ็ค 36 (PaK 36) ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการหยุดยั้งหรือทำลายรถถังแบบ ที 34และแบบ เควี 1 (KV 1) ของรัสเซียได้
ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 37 มิลลิเมตร แบบแพ็ค 36 (Pak 36 : Panzerabwehrkanone 36) เป็นปืนใหญ่ต่อสู้รถถังที่ใช้กระสุนขนาด 37 มิลลิเมตร มีระบบกล้องเล็งที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ มีน้ำหนักเบาสามารถเคลื่อนที่ไปได้ง่ายในทุกภูมิประเทศ รวมทั้งใช้พลประจำปืนเพียงแค่สองคน มันถูกบรรจุเข้าประจำการในกองทัพเยอรมันตั้งแต่ ปี ค.ศ.1934 และใช้ในการรบระหว่างสงครามกลางเมืองในสเปน ใน ปี ค.ศ.1936 จนถึงช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังรุ่นนี้ได้กลายเป็นอาวุธหลักในการต่อสู้รถถังของทหารเยอรมัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดกระสุนที่เล็กเกินไป ทำให้มันไม่สามารถหยุดยั้งรถถังของอังกฤษและฝรั่งเศสในการรบในประเทศฝรั่งเศสได้ ไม่ว่าจะเป็นรถถังแบบ มาทิลด้า 2 (Matilda II) หรือรถถังของฝรั่งเศส แบบ โซมัว เอส 35 (Somua S 35)
สำหรับการรบด้านรัสเซีย แม้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังแบบแพ็ค 36 จะมีขนาดเล็กเกินไป แต่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกระสุนขนาด 37 มิลลิเมตร ให้เป็นกระสุนทังสเทน (Tangsten Core Shell) ที่มีประสิทธิภาพในการเจาะเกราะมากขึ้น แต่การยิงทำลายรถถังแบบ ที 34 ของรัสเซีย ก็ต้องอาศัยการยิงใส่ด้านข้างหรือด้านหลังเท่านั้น
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ในระยะที่ใกล้จนสามารถยิงใส่ด้านข้างหรือด้านหลังของรถถังที 34 ได้นั้น ปืนใหญ่และพลประจำปืนมักจะถูกทหารราบรัสเซียที่ติดตามรถถังทำลายลงเสียก่อน ในช่วงปี ค.ศ.1942 ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังแบบนี้ ก็ถูกทดแทนด้วยปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 50 มิลลิเมตร แบบ แพ็ค 38 (PaK 38)
สำหรับปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 50 มิลลิเมตร แบบแพ็ค 38 (PaK 38 : Panzerabwehrkanone 38) ถูกออกแบบขึ้น ใน ปี ค.ศ.1938 และนำมาใช้เป็นครั้งแรก ในแนวรบด้านรัสเซียในปี ค.ศ 1941 เพื่อใช้ต่อสู้กับรถถังแบบ ที 34 ของรัสเซีย เนื่องจากกระสุนขนาด 50 มิลลิเมตรของปืนใหญ่ชนิดนี้ สามารถเจาะเกราะที่มีความหนา 45 มิลลิเมตรของรถถังแบบที 34 ได้ และหากใช้กระสุนทังสเทนจะสามารถทำลายรถถังแบบ เควี 1 (KV 1) ที่มีเกราะหนามากได้ด้วย ความมีอานุภาพในการทำลายล้างยานเกราะ ทำให้ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังแบบแพ็ค 38 ประจำการอยู่ในกองทัพเยอรมันจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
อย่างไรก็ตามในแนวรบที่ "เดมแยงส์" นี้กองพลในแนวหน้าของทหารเยอรมันมีปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 50 มิลลิเมตร แบบแพ็ค 38 ที่มีอานุภาพเพียง 3 4 กระบอกเท่านั้น ทำให้เยอรมันต้องนำเอาปืนใหญ่ขนาด 45 มิลลิเมตรที่ยึดได้จากรัสเซียเข้ามาเสริมแนวตั้งรับของตนเองในอัตรา 6 7 กระบอกต่อกองพล
นอกจากนี้ทหารเยอรมันยังขาดแคลนรถถังแบบแพนเซอร์ 3 รุ่นเจ (Panzer III Ausf. J Panzerkampfwagen III หรือเขียนย่อว่า Pz.Kfw. III Ausf.J) ซึ่งเปลี่ยนปืนใหญ่ประจำรถจากขนาด 37 มิลลิเมตรมาเป็นขนาด 50 มิลลิเมตรที่สามารถทำลายรถถังที 34 ของรัสเซียได้ในรัศมี 500 เมตร
รถปืนใหญ่อัตตาจรแบบ สตุก 3 (StuG III : Sturmgeschutz III) ติดปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรที่ฝ่ายเยอรมันในวงล้อม "เดมแยงส์" ขาดแคลนอย่างมาก เมื่อเริ่มเปิดฉากการรุกเข้าสู่สหภาพโซเวียตนั้น เยอรมันมีรถถังรุ่นนี้อยู่เป็นจำนวน 272 คันและสามารถสร้างชื่อเสียงในการทำลายรถถังของรัสเซียได้ทุกชนิด
ยิ่งไปกว่านั้น เยอรมันยังขาดแคลนรถปืนใหญ่อัตตาจรแบบ สตุก 3 หรือ "สตุมเกอส์ชูทซ์ 3 (StuG III Sturmgeschutz III) ที่ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร แบบ เคดับเบิ้ลยูเค 40 แอล 43 (KwK 40 L/43) ชนิดลำกล้องสั้น และ เคดับเบิ้ลยูเค 40 แอล 48 (KwK 40 L/48) ชนิดลำกล้องยาวอันทรงประสิทธิภาพอีกด้วย
สตุก 3 เป็นรถปืนใหญ่อัตตาจร ที่ใช้ฐานของรถถังแบบ แพนเซอร์ 3 โดยถอดป้อมปืนของรถถังที่ติดตั้งปืนใหญ่ประจำรถขนาด 37 มิลลิเมตรอันด้อยประสิทธิภาพออกไป จากนั้นก็ติดตั้งปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 75 มิลลิเมตรเข้าไปแทน เพื่อเพิ่มอานุภาพในการทำลายล้าง
สตุก 3 สามารถบรรทุกกระสุนได้ 54 นัด วัตถุประสงค์ของการปรับเปลี่ยนรถปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้ ก็เพื่อใช้เป็นฐานปืนใหญ่เคลื่อนที่ในการสนับสนุนทหารราบในการรุก โดยสตุก 3 จะทำการยิงทำลายป้อม ค่าย รังปืนกล แนวตั้งรับ หรือปืนใหญ่ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการรุก
ทำให้มีการออกแบบให้ปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรตรึงแน่นบนฐานของรถ สามารถปรับมุมยิงซ้ายขวาได้เพียง 25 องศาเท่านั้น ไม่สามารถหมุนไปมาได้รอบตัว 360 องศาเหมือนป้อมปืนของรถถัง ดังนั้นการที่พลปืนจะปรับเปลี่ยนเป้าหมายของปืน ต้องอาศัยการขยับรถทั้งคันทำให้สตุก 3 เสียเปรียบเมื่อต้องทำการรบที่มีความจำเป็นต้องปรับมุมยิงอย่างรวดเร็ว
แต่ประโยชน์ที่ได้ เมื่อไม่มีป้อมปืนของรถปืนใหญ่อัตตาจรแบบสตุก 3 ก็คือ ความสูงของรถที่ลดลงเหลือเพียง 2.16 เมตรทำให้เหมาะในภารกิจการตั้งรับ เพราะง่ายต่อการซุ่มซ่อนตามพื้นที่ต่างๆ และยากต่อการตรวจการณ์ของฝ่ายตรงข้าม ภายหลังจากการเข้าสู่สมรภูมิด้านรัสเซียปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรของสตุก 3 ได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถหยุดยั้งรถถังแบบ ที 34 ของรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปลี่ยนจากกระสุนระเบิดแรงสูงธรรมดา มาเป็นกระสุนเจาะเกราะ ส่งผลให้ภารกิจในการสนับสนุนทหารราบของมัน ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นภารกิจในการต่อสู้รถถัง (Tankhunter) ซึ่งตลอดการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง สตุก 3 สามารถทำลายรถถังของข้าศึกได้เป็นจำนวนถึงกว่า 20,000คัน ทั้งแนวรบด้านตะวันตกและด้านตะวันออก
แม้จะขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่ทหารเยอรมันก็สู้อย่างเต็มที่ โดยทหารราบในแนวหน้า หันมาใช้ทุ่นระเบิดต่อสู้รถถัง (Teller anti-tank mine) ในการต่อสู้กับรถถังของข้าศึก ที่พยายามรุกเข้ามา รวมทั้งพยายามดัดแปลงปราการทางธรรมชาติเพื่อปิดเส้นทางการเคลื่อนที่เข้ามาของรถถัง เช่น การขุดคูดักรถถัง การใช้หนอง บึง ในการต่อสู้กับรถถัง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ประกอบกับการรุกของฝ่ายรัสเซียนั้น ใช้ทหารราบเป็นกำลังหลักเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้กองทัพรัสเซียจะพยายามรุกใหญ่ถึงสองครั้ง แต่ก็ไม่สามารถเจาะผ่านแนวตั้งรับอันเหนียวแน่นของทหารเยอรมันได้
กำลังของฝ่ายเยอรมันที่ตั้งรับอยู่ตามแนวขอบหน้าของวงล้อม คือ กองพลทหารราบที่ 30, กองพลทหารราบที่ 290 และกองพล เอส เอส โทเทนคอฟ ซึ่งกองพลโทเทนคอฟนี้ เป็นหน่วยรบ เอส เอส ที่ผ่านการฝึกมาเป็นพิเศษ อยู่ใต้การบังคับบัญชาของพลตรี ธีโอดอร์ ไอค์เคอ (SS Obergruppenfuhrer Theodor Eicke เอสเอส โอแบร์กรุพพ์เพนฟือเรอห์ เป็นชั้นยศของหน่วย เอส เอส เทียบเท่าพลตรี)
เขาเป็นนายทหารที่อยู่เคียงข้าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์มาโดยตลอด ตั้งแต่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำนาซีเยอรมัน ธีโอดอร์ ไอค์เคอ เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีความห้าวหาญและพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด แม้ว่าภารกิจนั้นจะเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงมากมายเพียงใดก็ตาม
(โปรดติดตามตอนต่อไป)