VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 

เส้นทางสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

เส้นทางสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand




สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงในปี 1918 ด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน ฝ่ายพันธมิตรในขณะนั้นประกอบด้วย อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันร่างสนธิสัญญาแวร์ซาย (the Varsailles treaty) เพื่อจำกัดสิทธิของเยอรมัน ในอันที่จะเป็นภัยคุกคามอีกครั้ง สนธิสัญญาแวร์ซายลงนามในวันที่ 28 มิ.ย. 1919 ส่งผลให้กองทัพเยอรมันถูกจำกัดขนาดให้เล็กลง ดินแดนต่างๆ ถูกริบ หรือยึดครอง ดังที่ปรากฏในแผนที่ข้างบน อาทิ ฝรั่งเศสเข้าครอบครองอัลซาส ลอเรนน์ (Alsace-Lorranine) เบลเยี่ยมยึดอูเปนและมาลเมดี (Eupen, Malmedy) โปแลนด์เข้าครอง Posen และปรัสเซียตะวันออกบางส่วน ดานซิก (Danzig) กลายเป็นรัฐอิสระ ฝรั่งเศสเข้าควบคุมเหมืองถ่านหินในแคว้นซาร์ (Saar) แลกกับการที่เยอรมันทำลายเหมืองถ่านหินของตน ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไรน์ กลายเป็นเขตปลอดทหาร (Demilitarized) และยึดครองโดยฝ่ายพันธมิตรลึกเข้าไป 30 ไมล์ นอกจากนี้เยอรมันยังต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินอีก 6,600 ล้านปอนด์



ในเดือนมกราคม 1933 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซี ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง Chancellor ของประเทศเยอรมัน และเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศในที่สุด (Fuhrer)

ในปี 1935 ฮิตเลอร์ได้เริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังตกต่ำอย่างรวดเร็ว และในวันที่ 16 มีนาคม 1935 ฮิตเลอร์ก็ประกาศเสริมสร้างกองทัพเยอรมันขึ้นใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการฉีกสนธิสัญญาแวร์ซาย

แต่เนื่องจากนโยบายต่างประเทศของเขา ที่พยายามแสดงให้พันธมิตรเห็นว่า เขาไม่ใช่ภัยคุกคามต่อพันธมิตร และเป็นผู้ที่ต้องการสันติภาพเช่นเดียวกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพียงแต่ต้องการฟื้นฟูประเทศเยอรมันที่ตกต่ำเท่านั้น ทำให้พันธมิตรนิ่งเฉยต่อการดำเนนิการของฮิตเลอร์

และแล้วในเดือนมีนาคม 1936 เขาก็ส่งทหารกลับเข้าไปยึดครองแคว้นไรน์ ที่ตามสนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหาร พร้อมๆกับส่งทหารเยอรมันเข้าสนับสนุน กองกำลังชาตินิยมของนายพลฟรังโก ในสงครามกลางเมืองในสเปน และลงนามเป็นพันธมิตรกับมุสโสลินีของอิตาลี เดือนมีนาคม 1938 ผนวกออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดอาณาจักรใหม่ของเยอรมัน นั่นคือ อาณาจักรไรซ์ที่สาม (the Third Reich - new German Empire)

จากนั้นก็เข้ายึดครองตอนเหนือของเชคโกลโลวะเกียในเดือนกันยายน 1938 และยึดครองทั้งประเทศใน มีนาคม 1939 พร้อมๆกันนั้นฮิตเลอร์ก็เข้ายึดคองเมืองท่าเมเมล (Memel) ของลิธัวเนีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเยอรมัน จากนั้นก็ยึดดานซิกและส่วนที่แบ่งแยกเยอรมัน กับปรัสเซียตะวันออกของโปแลนด์

รุ่งอรุณของวันที่ 1 กันยายน 1939 เครื่องบินของกองทัพอากาศเยอรมัน หรือลุฟวาฟ (Luftwaffe) ก็เริ่มต้นการทิ้งระเบิดถล่มจุดยุทธศาสตร์ในประเทศโปแลนด์ พร้อมๆกับกำลังรถถังและทหารราบ ก็เคลื่อนกำลังผ่านชายแดนโปแลนด์เข้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นครั้งแรกที่โลกได้เห็นสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkeieg) ที่ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดนำ ตามด้วยยานเกราะและทหารราบ เข้าบดขยี้หน่วยทหารโปแลนด์ที่เสียขวัญ จากการทิ้งระเบิดของเครื่องบิน

วันที่ 2 กันยายน อังกฤษและฝรั่งเศส ในฐานะประเทศพันธมิตรของโปแลนด์ ยื่นคำขาดต่อฝ่ายเยอรมัน ให้ถอนทหารออกจากโปแลนด์ แต่ฮิตเลอร์ปฏิเสธ วันที่ 3 กันยายน 1939 ฝรั่งเศสและอังกฤษ ประกาศสงครามกับเยอรมัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง และต่อจากนี้ไป โลกจะนองไปด้วยเลือดและน้ำตา อีกเป็นเวลากว่า 5 ปี



ทหารเยอรมัน กำลังรุกเข้าสู่โปแลนด์ ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 39 โดยกองทัพเยอรมันแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ กลุ่มกองทัพเหนือ (Army Group North) รุกลงใต้จาก Pomerania และจากปรัสเซียตะวันออก และ กลุ่มกองทัพใต้ (Army Group South) รุกเข้าไปทางชายแดนด้านตะวันตกของโปแลนด์ ภายในเวลาสองวัน กองทัพอากาศเยอรมันก็สามารถครองน่านฟ้าเหนือโปแลนด์ได้



กองทหารโปแลนด์ถูกเยอรมันรุกแบบสายฟ้าแลบ คือ ทิ้งระเบิดด้วยเครื่องบิน และใช้ยานเกราะที่มีความเร็วสูงตีเจาะแนวตั้งรับ เมื่อเจาะเข้าไปได้แล้ว รถถังจะโอบหลังหน่วยทหารโปแลนด์ ทำให้เกิดวงล้อมเล็กๆขึ้น ภายในวงล้อมใหญ่ จากนั้นทหารราบเยอรมันจะทำการกวาดล้างทหารโปแลนด์ที่อยู่ในวงล้อมนั้นๆ จนกระทั่งวันที่ 14 กันยายน วงล้อมต่างๆ ก็ถูกกวาดล้างจนเกือบจะหมดสิ้น และวันที่ 27 กันยายน โปแลนด์ก็ยอมแพ้ในที่สุด

การใช้ความเร็วเข้าพิชิตโปแลนด์นั้น สาเหตุหนึ่งเพื่อลดการสูญเสียของทหารเยอรมัน แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ฮิตเลอร์เกรงว่า ฝรั่งเศสซึ่งประกาศสงครามกับเยอรมันในฐานะพันธมิตรของโปแลนด์ จะรุกเข้ามาทางชายแดนด้านตะวันตกของเยอรมัน เพราะในฝรั่งเศสมีทหารอังกฤษประจำการอยู่ถึง 150,000 คนประจำการอยู่ตามแนวชายแดนเบลเยี่ยม ส่วนกองพลของฝรั่งเศส 43 กองพล ซึ่งถือเป็นกำลังส่วนใหญ่ประจำอยู่หลังแนวมายิโนต์ (Maginot)



ทหารเยอรมันกำลังสวนสนาม ประกาศชัยชนะบนถนนกลางกรุงวอร์ซอร์ ในวันที่ 5 ตุลาคม 1939 ภายหลังการเข้ายึดครองประเทศโปแลนด์อย่างสมบูรณ์ เมื่อโปแลนด์ประกาศยอมแพ้ในวันที่ 27 กันยายน 1939 โปรดสังเกตุหน่วยทหารรักษาความปลอดภัย ตามแนวถนน ที่เห็นอยู่ด้านหลัง จะเห็นว่ามีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก เนื่องมาจากสองสาเหตุคือ การสวนสนามในครั้งนี้ อดอฟ ฮิตเลอร์เดินทางมาร่วมงานประกาศชัยชนะ และสาเหตุที่สองคือ การต่อต้านของฝ่ายโปแลนด์ ยังไม่หมดลงอย่างสิ้นซาก แม้กระทั่งในวันสวนสนามนี้ กลุ่มต่อต้านของโปแลนด์เพิ่งจะถูกกวาดล้างจากบริเวณ Kock ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงวอร์ซอร์

สงครามครั้งนี้ ชาวโปแลนด์ทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตกว่า 66,000 คน บาดเจ็บ 200,000 คน ถูกจับเป็นเชลย 700,000 คน ฝ่ายเยอรมันสูญเสียน้อยกว่ามาก โดยมีผู้เสียชีวิต 10,500 คน และบาดเจ็บ 30,300 คน

อย่างไรก็ตาม ฝันร้ายของชาวโปแลนด์เพิ่งจะเริ่มต้น เพราะต่อจากนี้ไปอีก 5 ปีแห่งการยึดครอง ชาวโปแลนด์จะถูกปฏิบัติเยี่ยงทาส เพราะแนวความคิดของนาซีเยอรมันที่มีต่อชาวโปแลนด์ คือชนชาติชั้นทาส (a slave nation) ดังนั้นการยึดครองโปแลนด์จึงไม่ใช่แค่การยึดครองแต่เพียงดินแดน หากแต่ต้องการทำลายเอกลักษณ์ของชาติโปแลนด์อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย ภาพการสวนสนามที่เห็นนี้ นาซีเยอรมันใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกว่า การโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข็มแข็งของทหารเยอรมัน ซึ่งผลจากการเผยแพร่ภาพเหล่านี้ ทำให้ประเทศต่างๆ เกิดความเกรงกลัวศักยภาพของนาซีเยอรมันเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ตามความเป็นจริงแล้ว กองทัพนาซีเยอรมันในขณะนั้น นับเป็นกองทัพที่มีความเข้มแข็งที่สุดกองทัพหนึ่งของโลก

ภายหลังที่พิชิตโปแลนด์แล้ว ฮิตเลอร์ก็มองต่อไปที่นอร์เวย์ ในฐานะที่จะใช้เป็นฐานของกองทัพอากาศ ส่งเครื่องบินเข้าโจมตีเกาะอังกฤษ 4 เมษายน 1940 เยอรมันก็บุกนอรเวย์ เมืองท่านาร์วิก (Narvik) ถูกยึดในวันที่ 9 เมษายน อังกฤษและฝรั่งเศสส่งกำลังเข้าตอบโต้ แต่ไม่เป็นผล กำลังพันธมิตรที่ยกพลขึ้นบกที่ Trondheim ถูกทหารเยอรมันกวาดล้างจนต้องถอยกลับไป

ในวันที่ 28 พฤษภาคม พันธมิตรยึดเมืองนาร์วิกได้ แต่ก็ถอยกลับไปอีก การรุกของพันธมิตร แม้จะทำความเสียหายให้กองทัพเรือเยอรมันอย่างหนัก แต่เยอรมันก็รุกเข้ากรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ ท่ามกลางการต่อต้านอย่างเหนียวแน่น แต่ไม่นานออสโลก็ยอมแพ้



วันที่ 14 พฤษภาคม 1940 กองทัพเยอรมันก็รุกข้ามแม่น้ำเมิร์ส (Meuse) ที่เมืองซีดาน (Sedan) ล้อมทหารอังกฤษและฝรั่งเศส ที่อยู่ในเบลเยี่ยมและฝรั่งเศสตอนเหนือ วันที่ 20 พฤษภาคม รถถังของเยอรมันก็รุกถึงช่องแคบอังกฤษ ทหารอังกฤษ ฝรั่งเศสกว่า 338,000 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารอังกฤษ 225,000 คน ก็ไปจนมุมที่ดังเคิร์ก (Dankirk) และล่าถอยกลับเกาะอังกฤษ ปล่อยให้เยอรมันกวาดล้าง ทหารฝรั่งเศสที่หลงเหลืออยู่บนแผ่นดินใหญ่จนหมดสิ้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม ฝรั่งเศสก็ยอมแพ้

อีกสี่วันต่อมา การต่อต้านของทหารฝรั่งเศสก็ยุติลงอย่างสิ้นเชิง ยุโรปตกเป็นของฮิตเลอร์อย่างสิ้นเชิง เป้าหมายของเขาต่อไปก็คือ เกาะอังกฤษ ซึ่งเขาสั่งเปิดยุทธการสิงโตทะเล (Sealion) ในวันที่ 10 กรกฎาคม 1940 โดยกองทัพอากาศเยอรมัน รับหน้าที่ทำลายกำลังทางอากาศ และภาคพื้นดินของอังกฤษด้วยการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก

การรบรุนแรงมากที่สุดในช่วงกลางเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะวันที่ 15 สิงหาคม เยอรมันโจมตีอย่างหนัก และสูญเสียเครื่องบินถึง 72 ลำ จนวันนี้ได้รับการตั้งชื่อว่าวันพฤหัสดำ (Black Thursday) ความสูญเสียของเยอรมันมีมากจนฮิตเลอร์ต้องสั่งเลื่อนยุทธการ สิงโตทะเลออกไปอย่างไม่มีกำหนด เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1940



เครื่องบิน Ju 87 สตูก้า (Stuka) ของเยอรมัน เป็นเครื่องบินดำทิ้งระเบิด ซึ่งมีบทบาทมาก ในช่วงต้นของสงคราม โดยทำหน้าที่ทิ้งระเบิดที่มั่นของทหารโปแลนด์ เบลเยี่ยม อังกฤษ และฝรั่งเศส จนเป็นเหตุให้แนวตั้งรับของพันธมิตรแตกลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรบในฝรั่งเศส ในภาพจะเห็นตอนหัวของเครื่องใกล้กับใบพัด มีไซเรนสีขาวติดอยู่ เพื่อทำให้เกิดเสียงแหลมขณะเครื่องดำดิ่งลงสู่เป้าหมาย เป็นการทำลายขวัญของทหารฝ่ายตรงข้าม

จุดอ่อนของเครื่องบินชนิดนี้ก็คือ เมื่อดำลงไปทิ้งระเบิดแล้ว ขณะที่นักบินเชิดหัวเครื่องขึ้น ในช่วงนี้เครื่องบินจะตกเป็นเป้านิ่งของเครื่องบินข้าศึกได้ง่าย ในการโจมตีเกาะอังกฤษของฮิตเลอร์ ตามแผนยุทธการสิงโตทะเล (Sealion) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม1940 เครื่องบินชนิดนี้ ประสบกับความสูญเสียจาก เครื่องบินขับไล่ ของอังกฤษเป็นอย่างมาก จนต้องถอนกำลังออกมา ภายหลังเครื่องบินสตูก้านี้ ได้รับการปรับปรุงให้เป็นเครื่องบินทำลายรถถัง (tank buster) ในแนวรบด้านรัสเซีย

ภายหลังยกเลิกยุทธการสิงโตทะเลในการบุกเกาะอังกฤษแล้ว ฮิตเลอร์เตรียมบุกรัสเซีย แต่ก็ต้องส่งกำลังเข้าบุกยูโกสลาเวียใน 6 เมษายน 1941 และกรีซ (Greece) ก่อน เพราะรัฐบาลยูโกสลาเวียที่เป็นฝ่ายเยอรมันถูกโค่นล้ม โดยฝ่ายปฏิวัติที่สนับสนุนโดยทหารอังกฤษที่กรีซ ซึ่งทำให้แผนการบุกรัสเซียต้องล่าช้าออกไป

เยอรมันใช้เวลาเพียง 10 วันในการยึดยูโกสลาเวีย และใช้เวลากว่าสองสัปดาห์ ยึดกรีซได้สำเร็จ ทหารอังกฤษกว่า 18,000 คนในกรีซถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่เกาะครีต (Crete)

ฮิตเลอร์ส่งกำลังพลร่ม หรือ ฟอลชริม เจกอร์ (Fallschirmjager) เข้าโจมตีเกาะครีต เป็นการปฏิบัติการส่งทางอากาศครั้งยิ่งใหญ่ของเยอรมัน ซึ่งแม้เยอรมันจะยึดเกาะครีตได้สำเร็จ ในปลายเดือนพฤษภาคม แต่ก็ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก โดยมีทหารพลร่มเยอรมันเสียชีวิตและบาดเจ็บถึงกว่า 10,000 คน และนับจากยุทธการที่เกาะครีต ฮิตเลอร์ก็ไม่เคยสั่งใช้กำลังพลร่มในการโจมตีใหญ่ๆ อีกเลย

หลังจากต้องเสียเวลาในการจัดการกับประเทศในบอลข่านแล้ว ฮิตเลอร์ก็เปิดฉากบุกรัสเซียในเวลา 03.30 รุ่งอรุณของวันที่ 22 มิถุนายน 1941 ในยุทธการบาร์บารอสซ่า เป็นเวลา 129 ปี หลังจากที่นโปเลียนโบนาปาร์ต จักรพรรดิ์แห่งฝรั่งเศส บุกรัสเซียเมื่อปี 1812 ทหารเยอรมันกว่าสามล้านคน รถถัง 3,580 คัน ปืนใหญ่ 7,184 กระบอก เครื่องบินกว่า 2,000 ลำ กำลังมุ่งหน้าเข้าไปสู่หล่มแห่งความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไรซ์ที่สาม ของฮิตเลอร์



แผนที่ยุโรป ในปี 1942 ซึ่งฮิตเลอร์ได้เข้าครอบครองยุโรปเกือบทั้งหมด

สีน้ำตาลอ่อนนั้นคือดินแดนในครอบครองของเยอรมัน จะเห็นว่าฝรั่งเศสแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เยอรมันครอบครอง และส่วนที่ไม่ได้ครอบครอง (Unoccupied Zone) แต่ปกครองโดยรัฐบาลหุ่นของเยอรมัน โดยจอมพลวิซี่

สีน้ำตาลเข้ม คือฝ่ายอักษะ ซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมัน มีทั้ง อิตาลี ฮังการี โรมาเนีย บัลกาเรีย ฟินแลนด์

สีขาวคือ ประเทศเป็นกลาง มี สวิตเซอร์แลนด์ สเปน สวีเดน และไอร์แลนด์ สเปนเป็นประเทศที่ฮิตเลอร์ผิดหวังมาก เพราะก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิตเลอร์ส่งกำลังเข้าไปช่วยในสงครามกลางเมือง แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น รัฐบาลสเปนกลับวางตัวเป็นกลาง แทนที่จะเข้าร่วมกับเยอรมัน

สีเขียวคือฝ่ายพันธมิตร มีอังกฤษ และรัสเซีย




 

Create Date : 22 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 25 มิถุนายน 2556 11:16:50 น.
Counter : 15758 Pageviews.  

สงครามสายฟ้าแลบของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามสายฟ้าแลบของนาซีเยอรมัน

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand




แนวความคิดเรื่อง สงครามสายฟ้าแลบ หรือ บลิซครีก (Blitzkrieg) ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาโดย นายพล ไฮน์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) แห่งกองทัพบกเยอรมัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

หลักการของสงครามสายฟ้าแลบนั้น คือการใช้การสนธิกำลังของ หน่วยยานเกราะที่มีความเร็วและรุนแรง กับอำนาจการยิงของปืนใหญ่และเครื่องบิน รวมกับการเคลื่อนที่ที่รวดเร็วของทหารราบในการเข้ายึดพื้นที่

แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับสงครามสายฟ้าแลบนั้น มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่การรบ อย่างไรก็ตาม สงครามสายฟ้าแลบ หรือบลิซครีกนั้นมีขั้นตอนสรุปได้ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการ (Preparations) และรวบรวมข้อมูลข่าวสาร เพื่อหาจุดอ่อน หรือจุดที่เปราะบางที่สุด ในแนวตั้งรับของข้าศึก

การรวบรวมข้อมูลนี้ อาจกระทำโดยการใช้เครื่องบินขึ้นสังเกตุการณ์ทางอากาศ หรือรวบรวมจากประชาชนในท้องถิ่น หรือ วิธีการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวสารที่ต้องการ

จากนั้นก็เตรียมกำลังเพื่อที่จะเข้าตีจุดที่ต้องการ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว การเตรียมการเข้าตีนั้น เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร โดยเฉพาะการเข้าตีในระดับกองพล เพราะกองพลของเยอรมันนั้น มีกำลังพลถึงกว่า 17,000 คน ม้าอีกกว่า 4,000 ตัว ถ้าหากเป็นกองพลยานเกราะ (Panzer Division) ก็มีกำลังพลอยู่ที่ 14,000 คน ยานยนต์กว่า 3,000 คัน ปืนใหญ่นับร้อยกระบอก การเคลื่อนพลย่อมมีทั้งการจราจรที่ติดขัด การขนส่งทางรถไฟที่พลเรือนสามารถรับรู้ได้

... ดังนั้นขั้นตอนที่สอง ที่จะกล่าวต่อไปจึงเป็นสิ่งสำคัญ ...



ขั้นตอนที่ 2 การเข้าตีลวง (Faked attack)

เมื่อมีการเตรียมการตามขั้นตอนที่หนึ่ง ข้าศึกย่อมคาดการณ์ได้ว่า จะมีการปฏิบัติการทางทหารเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะเป็นที่ใดนั้น ข้าศึกยังไม่ทราบได้

ดังนั้นการเข้าตีลวง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อทำให้ข้าศึกเข้าใจว่าการปฏิบัติการทางทหารจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเข้าตีลวง ณ จุดที่ข้าศึกคาดการณ์เอาไว้ ส่วนการเข้าตีจริงนั้น จะเกิดขึ้นในจุดที่ข้าศึกไม่คาดคิดมาก่อน

การเข้าตีลวงนั้น หน่วยที่เข้าตีลวงอาจปฏิบัติการเข้าตีอย่างเต็มที่ เพื่อยึดที่หมายที่กำหนดไว้ เสมือนการเข้าตีจริง เพราะนอกจากจะสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับข้าศึกแล้ว ยังจะทำให้ข้าศึกถอนกำลังจากจุดที่เป็นเป้าหมายหลัก มาช่วยแนวรบด้านที่เกิดการรบ อันจะส่งผลให้แนวตั้งรับของข้าศึกที่ต้องการเข้าตีจริงมีความอ่อนแอ

ขั้นตอนที่ 3 การเข้าตีจริง (Main assault) การเข้าตีหลัก หรือการเข้าตีจริงนี้ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการประสานการเข้าตีของหน่วย 3 หน่วยหลัก คือ

1. หน่วยยานเกราะ หรือแพนเซอร์ (Panzer) ซึ่งนายพลกูเดเรียนกล่าวว่า บทบาทของหน่วยนี้สำคัญมาก การรบแบบสายฟ้าแลบจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับหน่วยยานเกราะ

หน่วยยานเกราะจะเข้าตีเจาะไปที่แนวตั้งรับของข้าศึกที่ได้เลือกเอาไว้แล้วว่า เปราะบางและอ่อนแอที่สุด รวมทั้งก่อนการเข้าตีของหน่วยยานเกราะ แนวตั้งรับของข้าศึกจะถูกยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ และระดมทิ้งระเบิดด้วยเครื่องบินจนบอบช้ำมาก่อนแล้ว

เมื่อหน่วยยานเกราะสามารถเจาะแนวของข้าศึกได้แล้ว จะไม่หยุดอยู่ตรงจุดนั้น แต่จะรุกต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความเร็วสูงสุด (great speed) โดยมีทหารราบยานเกราะติดตามไปด้วย ทิ้งแนวตั้งรับของข้าศึกที่ถูกเจาะไว้ให้ทหารราบที่ตามมาข้างหลัง เข้ากวาดล้างและทำลาย

เมื่อใดก็ตามที่หน่วยยานเกราะพบกับการต้านทานที่แข็งแกร่ง หน่วยยานเกราะจะตีวงโอบล้อมข้าศึก และใช้ทหารราบเข้าปฏิบัติการรบ เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียของหน่วยยานเกราะ โดยยานเกราะจะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนต่อทหารราบ 2 อย่างคือ ทำลายรถถังของฝ่ายตรงข้าม และทำลายป้อม ค่าย รังปืนกล หรือ แนวต้านทานที่แข็งแกร่งเกินกว่าที่กำลังทหารราบจะทำลายได้

จากนั้นหน่วยยานเกราะจะรุกต่อไปด้วยความเร็วสูงสุด ซึ่งการรุกอย่างไม่หยุดยั้งนี้ จะส่งผลให้แนวหลังของข้าศึกเกิดความสับสนและตกใจ



2. หน่วยทหารราบ (Infantry)

ทหารราบจะเป็นผู้ยึดครองพื้นที่ ในขณะที่หน่วยยานเกราะจะยังคงรุกต่อไปข้างหน้า ดังนั้นทหารราบจึงมีความสำคัญมากในการรบแบบสายฟ้าแลบ เพราะนอกจากจะเป็นผู้ยึดพื้นที่แล้ว ยังเป็นผู้กวาดล้างข้าศึกที่แตกกระจัดกระจาย อยู่ในวงล้อม (Pocket) ต่างๆ

ทหารราบบางส่วนยังต้องทำหน้าที่ในการรักษาสะพาน และเส้นทางต่างๆ ไม่ให้ถูกทำลายโดยข้าศึก เพราะหน่วยยานเกราะมีความจำเป็นที่ต้องรักษาความเร็วในการรุก หากสะพานหรือถนนถูกทำลาย การรุกของหน่วยยานเกราะจะหยุดชะงักลงทันที อย่างน้อยก็ในช่วงที่รอคอยการซ่อมแซมของหน่วยทหารช่าง

นายพลกูเดเรียนกล่าวว่า หน่วยทหารราบตามการรบแบบสายฟ้าแลบนี้ ต้องมียุทโธปกรณ์ที่สมบูรณ์ เช่นมีทั้งปืนใหญ่ ปืนกล ระเบิด และที่ขาดไม่ได้คือยานยนต์หุ้มเกราะลำเลียงพล (Armoured Personnel Carriers - APC) ที่จะทำให้ทหารราบเคลื่อนที่ได้เร็วเท่าๆกับหน่วยยานเกราะ



แผนที่การรุกเข้าสู่โปแลนด์ ในปี 1939 ตามแบบสงครามสายฟ้าแลบ หรือ บริซครีก เส้นแนวประสีแดง คือเส้นทางการรุกของเยอรมัน วงกลมสีน้ำเงินคือวงล้อมที่ทหารโปแลนด์ถูกล้อม จะเห็นได้ว่า การรุกแบบสายฟ้าแลบ จะทำให้ข้าศึกตกอยู่ในวงล้อม หลายๆวงล้อมพร้อมๆกัน โดยหน่วยยานเกราะเยอรมันจะเป็นผู้ใช้ความเร็วเข้าตีโอบ ทำให้เกิดวงล้อม (Pocket) แล้วให้ทหารราบเข้ากวาดล้างวงล้อมต่างๆ สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และเครื่องบินทิ้งระเบิด จนวงล้อมแต่ละวงล้อมอ่อนแอลง และยอมแพ้ในที่สุด



3. การสนับสนุนทางอากาศของกองทัพอากาศเยอรมัน หรือ ลุฟวาฟ (Luftwaff) เครื่องบินเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรบแบบสายฟ้าแลบ ตามทฤษฎีของนายพลกูเดเรียน มันทำหน้าที่เสมือนปืนใหญ่ลอยฟ้า โจมตีทิ้งระเบิดใส่ข้าศึกทั้งที่กำลังตั้งรับ ต่อสู้ หรือร่นถอย หรือแม้แต่ที่กำลังตกอยู่ในวงล้อม

และนอกจากการทำลายการต่อต้านทางภาคพื้นดินแล้ว กองทัพอากาศเยอรมันยังทำหน้าที่ในการกวาดล้างเครื่องบินของข้าศึกออกไปจากท้องฟ้า เพื่อการครองอากาศอย่างแท้จริงอีกด้วย

ทั้งนี้เพราะกำลังทางภาคพื้นดินของเยอรมันนั้น เปราะบางต่อการโจมตีทางอากาศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะมีปืนต่อสู้อากาศยานมากเพียงใดก็ตาม


เครื่องบิน เจ ยู 87 สตูก้า ซึ่งมีบทบาทมากในการรบแบบสายฟ้าแลบ มันจะทำหน้าที่เสมือนปืนใหญ่บนท้องฟ้า ทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายตั้งแต่ก่อนการเข้าตีของหน่วยยานเกราะ จากนั้นก็จะคอยโจมตีเป้าหมายต่างๆ ร่วมกับหน่วยยานเกราะที่กำลังรุกไปข้างหน้า สุดท้ายเครื่องบินชนิดนี้ ยังทำหน้าที่ทิ้งระเบิดทำลายหน่วยทหาร ที่ตกอยู่ในวงล้อมของทหารเยอรมัน เพื่อบีบบังคับให้ยอมจำนนในที่สุด คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า เมื่อพูดถึงการรบแบบสายฟ้าแลบเมื่อใด เราก็จะนึกถึงภาพการดำทิ้งระเบิดของ เจ ยู 87 สตูก้า พร้อมด้วยเสียงโหยหวนของไซเรนที่ติดอยู่กับเครื่อง ขึ้นมาควบคู่ไปด้วยทุกครั้ง


ขั้นตอนที่ 4 ดำเนินการรุกต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งความเร็วและความรุนแรง จนกว่าข้าศึกจะถูกทำลายหรือยอมจำนน

ขั้นตอนนี้ก็คือ การกวาดล้างทำลายกำลังของข้าศึกที่หลงเหลือให้หมดไป ทั้งที่กระจัดกระจายอยู่ และที่ตกอยู่ในวงล้อมต่างๆ การรุกอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดหย่อนนี้ จะทำให้ข้าศึกเสียขวัญ สับสน บางครั้งกองบัญชาการของตนถูกโอบล้อม ทหารที่เหลือขาดการบังคับบัญชา จึงตัดสินใจยอมแพ้โดยมิได้ต่อสู้ก็มี ดังเช่นที่เกิดขึ้นในการรบช่วงแรกๆ ในรัสเซีย ที่มีทหารรัสเซียยอมจำนนเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการรุกแบบสายฟ้าแลบนี่เอง

จะเห็นได้ว่าทั้งสี่ขั้นตอน ของการรบแบบสายฟ้าแลบนั้น กองกำลังฝ่ายรุกจะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งหน่วยยานเกราะ หน่วยทหารราบ และหน่วยบินของกองทัพอากาศ



นายพลไฮน์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) แห่งกองทัพบกเยอรมัน ผู้ก่อกำเนิดทฤษฎีการรบแบบสายฟ้าแลบ หรือ บริซครีก (Blitzkrieg) ขึ้นเป็นคนแรก นอกจากเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีแล้ว เขายังเป็นผู้นำไปใช้ด้วยตัวเอง ระหว่างการรุกเข้าสู่ประเทศฝรั่งเศสของกองทัพนาซีเยอรมัน ซึ่งการรบประสบผลสำเร็จอย่างมาก และสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเขา จนโลกรู้จักมาจนถึงทุกวันนี้



ดังนั้นนายพลกูเดเรียนจึงได้ประยุกต์การใช้วิทยุติดต่อสื่อสาร ซึ่งในสมัยนั้นเป็นวิวัฒนาการใหม่ ที่อังกฤษเป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้กับยานเกราะ นายพลกูเดเรียนพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุ จนผู้บังคับหน่วยระดับสูง สามารถสั่งการไปยังรถถังเป็นรายคันในแนวหน้าได้เลยทีเดียว ซึ่งการพัฒนาดังกล่าว ถือเป็นการก่อกำเนิดการสื่อสารระหว่างยานเกราะกับหน่วยข้างเคียง และเป็นแบบอย่างในการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน



ข้อมูลจาก //www.geocities.com/saniroj
โดย พันโทศนิโรจน์ ธรรมยศ




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 25 มิถุนายน 2556 11:14:18 น.
Counter : 11098 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.