ตอนที่ 3
จากหนังสือเรื่อง "สมรภูมิของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์"
โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ
Master of International Relations (with merit)
Victoria University of Wellington, New Zealand
สงวนลิขสิทธ์ตาม พรบ.สิ่งพิมพ์ พ.ศ.2537
ห้ามทำซ้ำเพื่อการพาณิชย์ ให้เผยแพร่เพื่อการศึกษาและค้นคว้าแก่ผู้สนใจเท่านั้น
ในสมรภูมิที่เมือง "เดมแยงส์" กองพล เอส เอส โทเทนคอฟ ขึ้นการบังคับบัญชากับกองทัพที่ 16 และถูกแบ่งกำลังออกเป็น 2 กองกำลังเฉพาะกิจ หรือ คามป์กรุพป์ ((Kampfgruppe) คำว่า คามป์กรุพป์ เทียบเท่ากับ TaskForce หรือกองกำลังเฉพาะกิจในระบบการจัดกำลังของกองทัพสหรัฐอเมริกา) โดยแต่ละกองกำลังได้รับมอบหมายให้ยึดพื้นที่รับผิดชอบเป็นเวลานานที่สุด ไม่ว่าจะต้องสูญเสียเพียงใดก็ตาม กองกำลังเฉพาะกิจแรกมีภารกิจในยึดเมืองสตารายารุสซ่า ส่วนอีกกองกำลังเฉพาะกิจหนึ่งเสริมพื้นที่แนวตั้งรับตลอดแนวแม่น้ำ "โลวัต" ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณปีกของกองทัพที่ 16

พลประจำปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของเยอรมัน กำลังหลบกระสุนปืนใหญ่ของรัสเซียที่ยิงมาตกใกล้กับที่ตั้ง
ในวันที่ 20 มกราคม ทหารรัสเซียทุ่มกำลังเข้าตีแนวตั้งรับของกองพล เอส เอส โทเทนคอฟ การสู้รบเป็นไปอย่างติดพัน บางแห่งถึงขั้นประชิดตัว ทหารรัสเซียสูญเสียอย่างหนักจากการสู้อย่างยิบตาของทหาร เอส เอส แต่ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าทำให้ทหารรัสเซียสามารถเจาะแนวตั้งรับของทหารเยอรมันเข้ามาได้หลายช่อง และเริ่มบีบวงล้อมเข้ามาเรื่อยๆ กองทัพแดงใช้เวลาประมาณสามสัปดาห์ ก็สามารถปิดล้อมทหารเยอรมันในพื้นที่เมือง "เดมแยงส์" ได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ทหารรัสเซียยังสามารถโอบล้อมทหารเยอรมันเป็นวงล้อมเล็กๆ ซ้อนอยู่ในวงล้อม "เดมแยงส์" อีกหลายแห่ง
ทหารเอส เอส ต้องอาศัยพื้นที่หมู่บ้านแต่ละแห่ง ดัดแปลงเป็นที่มั่นของตนในการตั้งรับการเข้าตีอย่างรุนแรงและต่อเนื่องของทหารรัสเซีย ในขณะเดียวกันเครื่องบินของกองทัพรัสเซียก็ทิ้งระเบิดลงใส่ที่มั่นของทหารเยอรมันอยู่ตลอดเวลา ทำให้อาคารบ้านเรือนต่างๆ ในพื้นที่วงล้อมถูกทำลายลงเกือบสิ้นเชิง ทั้งนี้เพื่อป้องกันทหารเยอรมันใช้อาคารเหล่านั้นเป็นที่มั่นในการตั้งรับ ส่งผลให้กำลังพลของเยอรมันต้องทนอากาศหนาวเหน็บในยามค่ำคืนอยู่กลางที่โล่ง หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ ซึ่งนับว่าเป็นสภาพที่โหดร้ายมาก โดยเฉพาะฤดูหนาวในรัสเซียที่อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ถึงยี่สิบองศาหรือกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม กำลังพลของกองพล เอส เอส โทเทนคอฟ นั้นยังนับว่ามีโอกาสดีมากกว่าทหารเยอรมันในกองทัพบกหรือหน่วยปกติอื่นๆ ทั้งนี้เพราะความใกล้ชิดส่วนตัวของ ธีโอดอร์ ไอค์เคอ กับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทำให้เขาสามารถจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนเสื้อผ้าเครื่องกันหนาวคุณภาพดีมาให้กับกำลังพลของหน่วยได้เป็นจำนวนมาก ก่อนที่ "เดมแยงส์" จะถูกปิดล้อมอย่างแน่นหนา จึงทำให้ประสิทธิภาพในการรบและการต่อสู้กับความหนาวเย็นของทหาร เอส เอส มีสูงกว่าหน่วยทหารเยอรมันหน่วยอื่นๆ
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีอุปกรณ์ที่ดีมากเพียงใด แต่หิมะที่ตกลงมาอย่างหนักจนทำให้พื้นดินปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งขาวโพลนหนาถึงสามฟุตครึ่ง หรือเกือบหนึ่งเมตร ก็ได้ทำให้การรบเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งจากความหนาวเย็น ทัศนวิสัยในการมองเห็นและศักยภาพในการเคลื่อนที่
ในช่วงวิกฤตินี้เอง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตัดสินใจเรียกจอมพล แฮร์มานน์ เกอริง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน หรือ ลุฟวาฟเฟอ เข้าพบ โดยมอบหมายภารกิจในการส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ให้กับทหารเยอรมัน ที่ถูกปิดล้อมในวงล้อม "เดมแยงส์" เพื่อให้ทหารเหล่านั้นสามารถยืนหยัดอยู่ได้ จนกว่ากองกำลังชุดใหญ่จะเข้าไปช่วยเหลือ
จอมพลเกอริง จึงมอบหมายให้กองบินที่ 1 (Luftflotte 1) ภายใต้การบังคับบัญชาของพลอากาศโท อัลเฟรด เคลเลอร์ เข้าทำหน้าที่ดังกล่าว และเคลเลอร์ก็มอบหมายภารกิจในแนวหน้าให้กับโอแบร์ส เฟรดริค วิลเฮล์ม มอร์ซิค (Oberst Friedrich Wilhelm Morzik)
สำหรับกองบินที่ 1 หรือ "ลุฟฟลอทท์ 1 ของกองทัพอากาศเยอรมันนั้น มีลักษณะและขนาดเทียบเท่ากับการจัดกำลังในระดับกองพลของกองทัพบก
กองบินที่ 1 นี้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1939 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเพียงไม่กี่เดือน มีกองบัญชาการหลักอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมัน และมีส่วนแยกอยู่ในดินแดนเอสโตเนีย แลตเวีย และลิธัวเนีย
มีภารกิจในการสนับสนุนทางอากาศต่อยุทธการบาร์บารอสซ่า ในการรุกเข้าสู่สหภาพโซเวียต โดยรับผิดชอบการสนับสนุนในพื้นที่ทางตอนเหนือ สำหรับภารกิจของกองบินที่ 1 ที่ เดมแยงส์ ในครั้งนี้ ก็คือ การส่งกำลังบำรุงให้กับทหารเยอรมันในวงล้อม "เดมแยงส์" วันละ 240 ตันเป็นประจำทุกวัน ติดต่อกันนานกว่า 70 วันโดยทหารเยอรมันที่ติดอยู่ในวงล้อม จะต้องรักษาสนามบินสองแห่ง คือ สนามบินที่เมือง "เดมแยงส์" และสนามบินที่เมือง "เปสกี้" เอาไว้ให้ได้ แม้จะต้องสูญเสียมากมายเพียงก็ตาม

รถถังแบบ แพนเซอร์ 3
นับว่าโชคยังเข้าข้างเยอรมันอยู่มาก เพราะในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่แนวตั้งรับของเยอรมันในวงล้อม เดมแยงส์ ยังคงแข็งแกร่งอยู่นั้น ท้องฟ้าดูจะสดใสเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้พื้นดินจะถูกปกคลุมด้วยหิมะหนาก็ตาม
ทัศนวิสัยที่ดีนี่เอง ที่ทำให้กองบินที่ 1 ของกองทัพอากาศเยอรมัน สามารถดำเนินการส่งกำลังบำรุงได้อย่างเต็มที่ นักบินเยอรมันใช้อากาศยานทุกชนิดที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินขนส่ง, เครื่องบินทิ้งระเบิด, เครื่องบินลาดตระเวณ แม้กระทั่งเครื่องบินธุรการ นำยุทธปัจจัยจำนวนมากบินเข้าสู่วงล้อม "เดมแยงส์" เที่ยวบินแล้วเที่ยวบินเล่า