VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
การรบเหนือเกาะอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สอง

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2



การรบเหนือเกาะอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2

Battle of Britain


โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


(สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ลอกเลียนหรือทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน)


-----------------------------------




วิหารเซนต์พอล ในกรุงลอนดอน ขณะถูกฝูงบินเยอรมันทิ้งระเบิดใส่กรุงลอนดอน




".... นี่คือเวลาที่ชาวอังกฤษทุกคนจะต้องร่วมมือกัน และรวมกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (was united as never before) ทั้งชาย และหญิง จะต้องทุ่มเทกับภารกิจของตัวเอง จนกระทั่งทรุดตัวลงกับพื้น ด้วยความอ่อนล้า จนต้องได้รับการบอกกล่าว ให้กลับบ้านไปพักผ่อน ในขณะเดียวกันบ้านพักของชาวอังกฤษก็จะมีผู้เข้ามาร่วมอยู่อาศัย จากการลี้ภัยสงคราม ความปรารถนาของทุกคน คือ การมีอาวุธ ชาวอังกฤษจะไม่หวั่นต่อการรุกราน เพราะพวกเราทุกคนได้เลือกแล้วว่า จะปราชัยต่อผู้รุกราน หรือ จะสละชีพเพื่อชาติ ...." 
เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ


---------------------------



ภายหลังจากที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองสามารถพิชิตยุโรปตะวันตก เช่น นอรเวย์ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศสได้ลงอย่างราบคาบแล้ว เขาก็มองไปที่เกาะอังกฤษซึ่งขณะนี้มีเพียงช่องแคบเล็กๆ ขวางกั้นอยู่ระหว่างเมืองคาเล่ย์ (Calais) ของฝรั่งเศสและเมืองโดเวอร์ (Dover) ของอังกฤษ ฮิตเลอร์เริ่มวางแผนที่จะบุกเกาะอังกฤษเป็นขั้นตอนต่อไปสำหรับแผนการครอบครองยุโรปของอาณาจักรไรซ์ที่สามอันยิ่งใหญ่ของเขา โดยมุ่งบุกไปทางตอนใต้ของเกาะภายใต้ชื่อยุทธการ “สิงโตทะเล” (Sealion) หรือ “อุนเทอร์เนเมิน ซีโลว์” (Unternehmen Seelowe) ในภาษาเยอรมัน

ซึ่งความสำเร็จของยุทธการนี้ จอมพลเรืออีริค เรเดอร์ (Erich Raeder) ผู้บัญชาการกองทัพเรือเยอรมันมองว่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสี่ประการประกอบด้วย ประการที่หนึ่ง คือการทำลายกองทัพอากาศของอังกฤษ (RAF - Royal Air Forces) โดยกองทัพอากาศเยอรมันหรือ “ลุฟวาฟ” (Luftwaffe) เพราะหากกองทัพอากาศอังกฤษยังคงอยู่ จะเป็นภัยคุกคามต่อกองเรือยกพลขึ้นบกของเยอรมันเป็นอย่างมาก ประการที่สอง คือการทำลายกองทัพเรือของราชนาวีอังกฤษบริเวณช่องแคบอังกฤษให้หมดสิ้นจากการเป็นภัยคุกคามกองเรือยกพลขึ้นบกของเยอรมัน ประการที่สาม คือหน่วยป้องกันชายฝั่งของอังกฤษจะต้องถูกทำลายและประการที่สี่คือ การปฏิบัติของเรือดำน้ำอังกฤษในการขัดขวางการยกพลขึ้นบกของเยอรมันจะต้องถูกขัดขวาง

ภายหลังจากการขจัดภัยคุกคามสี่ประการดังกล่าวแล้ว เรือยกพลขึ้นบกจะลำเลียงทหารเยอรมันจากกองทัพกลุ่ม “เอ” ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศส และอยู่ภายใต้การบัญชาการของจอมพล (Field Marshal) เกษียณอายุวัย 66 ปี ผู้มีฝีมืออันน่าเกรงขามที่สุดคนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งถูกเรียกกลับเข้าประจำการในกองทัพเยอรมันอีกครั้งก่อนสงครามเปิดฉากขึ้นสองปี นั่นคือจอมพลเกิร์ด ฟอน รุนด์ชเท็ดท์ (Gerd Von Rundstedt) กองทัพกลุ่ม “เอ” ประกอบไปด้วยกองทัพที่ 16 และกองทัพที่ 9 และกองพลต่างๆ จำนวน 9 กองพลซึ่งจะเป็นระลอกแรกที่ข้ามช่องแคบเข้าโจมตีเมืองท่าต่างๆ ของอังกฤษพร้อมๆ กัน เช่น เมืองโดเวอร์ อีสท์บอร์น แรมสเกท เวนท์นอร์ และไลม์ เรจิส เป็นต้น โดยใช้กำลังทหารเยอรมันในการบุกเกาะอังกฤษระลอกแรกนั้น เป็นจำนวนทั้งสิ้น 91,000 นาย รถถัง 650 คันและม้าอีกจำนวน 4,500 ตัว

ภายหลังจากการบุกระลอกแรกของยุทธการ “สิงโตทะเล” แล้ว แผนการในขั้นต่อมาก็คือ กำลังทหารเยอรมันชุดใหญ่ในระลอกที่สองจำนวนกว่า 170,300 นาย ยานยนต์ 34,200 คันและม้าอีกกว่า 57,500 ตัว ซึ่งเป็นกำลังที่จัดจากกองทัพกลุ่ม “บี” ที่นำโดยพลเอกวอลเธอร์ ฟอน ไรซ์ชเนา (Walther Von Reichenau) จะรุกเข้าสู่กรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษทางทิศเหนือ ในขณะที่ทหารพลร่มหรือ “ฟอลชริมเจกอร์ (Fallschirmjager) จำนวน 25,000 นายจะกระโดดร่มลงตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่างๆ ทั่วเกาะอังกฤษ จะเห็นได้ว่าหากยุทธการ “สิงโตทะเล” เกิดขึ้นจริงก็จะเป็นการปฏิบัติการทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การสงครามสมัยใหม่เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามความสำเร็จหรือล้มเหลวของแผนการยุทธในครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการทำลายล้างกองทัพอากาศอังกฤษเป็นประการแรก ซึ่งจะเป็นการทำลายโดยใช้แสนยานุภาพทางอากาศของนาซีเยอรมันในขณะนั้นที่เชื่อว่า “เหนือกว่า” เป็นสิ่งชี้ขาดชัยชนะ

นอกจากนี้ ความสำเร็จในการบุกข้ามช่องแคบอังกฤษของเยอรมันไม่ได้มีเพียง “เงื่อนไขด้านกำลังรบ” เท่านั้น หากแต่ยังมี “เงื่อนไขด้านเวลา” เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย มจุดยุทธศษจุดยุทธศษสตร์ที่สำคัญบุกเกาะอังกฤษนั้น จะมีจำนวนถึง 91,000 นาย รถถัง 650 คัน ม้า 4500 ตัวก ดดรองผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน เออร์ฮาร์ด มิลช์ (Erhard Milch) ได้เสนอให้บุกเกาะอังกฤษทันที ในขณะที่อังกฤษเพิ่งถอยร่นข้ามช่องแคบอังกฤษกลับไปและทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหาศาลไว้ที่เมือง “ดังเคิร์ก” (Dunkrik) ของฝรั่งเศส เพราะแม้ว่าทหารอังกฤษจำนวนนับแสนจะสามารถหนีรอดไปได้ แต่อุปกรณ์ที่ถูกทิ้งไว้ เช่น ยานยนต์ อาวุธและกระสุนก็ส่งผลให้อังกฤษต้องขาดแคลนปัจจัยต่างๆ ในการป้องกันเกาะอังกฤษอย่างหนัก

จนบางคนถึงกับกล่าวว่า อังกฤษขาดแคลนแม้กระทั่งกระสุนปืนเล็กยาวสำหรับทหารราบ เพราะทุกอย่างถูกทิ้งไว้ที่ดังเคิร์กนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เออร์ฮาร์ด มิลช์ จึงเขียนในบันทึกของเขาภายหลังจากเดินทางไปยังดังเคิร์กเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1940 ว่า “ถ้าคิดจะบุกเกาะอังกฤษ ก็ต้องบุกในห้วงเวลานี้ เพราะอังกฤษขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่างที่จะใช้ต่อต้านเยอรมัน ถ้าเรารอแม้แต่เพียงหนึ่งเดือน ทุกอย่างก็อาจสายเกินไป”

จริงอย่างที่มิลช์คาดการณ์ไว้ การบุกเกาะอังกฤษล่าช้าไปจากเวลาที่เขาวางแผนไว้ถึงกว่าหนึ่งเดือน ห้วงเวลาดังกล่าวเป็นห้วงเวลาที่อังกฤษสามารถระดมอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นบางส่วนแล้ว และที่สำคัญคือยุทโธปกรณ์บางส่วนเหล่านั้นก็คือฝูงบินขับไล่สปิตไฟร์ (Spitfire) และเฮอร์ริเคน (Hurricane) อันน่าเกรงขามนั่นเอง

มีความสับสนอย่างมากในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงนี้ว่า ความชักช้าในการโจมตีเกิดขึ้นเพราะอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจโจมตีอังกฤษของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เพราะเขาเป็นผู้หนึ่งที่ให้เกียรติและเคารพในความเป็นชนชาติอังกฤษอย่างมาก รวมไปถึงให้เกียรติต่อกองทัพบก กองทัพเรือและระบบการศึกษาของอังกฤษอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากบันทึกเรื่อง “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” หรือ Mein Kampf ที่เขาเขียนขึ้นได้อธิบายความหมายของประเทศอังกฤษว่าเป็น “ประเทศพี่น้องของชนชาติเยอรมัน” (Germanic Brother Nation) พร้อมทั้งเรียกชนชาติอังกฤษว่าเป็น “แฮร์เรนโฟล์ค” (Herrenvolk) ซึ่งแปลว่า “เชื้อชาติชั้นนำ” (master race) ซึ่งเป็นเชื้อชาติที่มีความบริสุทธิ์ทัดเทียมกับชาวเยอรมัน อีกทั้งความฝันของฮิตเลอร์ในการแผ่ขยายอาณาจักรไรซ์ที่สาม (The Third Reich) ของเขาก็คือ การครอบครองยุโรปควบคู่ไปกับการเคียงข้างกับศักยภาพทางทะเลของอังกฤษ แม้ในช่วงต่อมาของสงครามฮิตเลอร์ก็ยังคงชื่นชมอังกฤษอยู่เสมอ จนถึงกล่าวขณะที่กองทัพเยอรมันรุกเข้าสู่กรุงมอสโคว์ เมืองหลวงของรัสเซียตอนหนึ่งว่า “เยอรมันจะต้องเรียนรู้อีกมากจากพวกอังกฤษ”  

แม้ว่าฮิตเลอร์จะประทับใจอังกฤษมากเท่าใดก็ตาม การโจมตีของกองทัพอากาศเยอรมันก็เริ่มเปิดฉากขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1940 เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดจำนวน 70 ลำเข้าโจมตีท่าเรือต่างๆ ที่เมืองเซาท์ เวล (South Wale) และนับจากนั้นอีก 3 สัปดาห์ต่อมา นักบินของเยอรมันและอังกฤษก็เข้าต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด โดยฝ่ายอังกฤษนั้นไม่ได้มีแต่เพียงนักบินอังกฤษเท่านั้น หากแต่ยังประกอบไปด้วยนักบินจากประเทศต่างๆ มากมาย อาทิ นักบินจากประเทศนิวซีแลนด์จำนวน 101 นาย แคนาดา 94 นาย เบลเยี่ยม 29 นาย ออสเตรเลียและแอฟริกาใต้ประเทศละ 22 นาย ฝรั่งเศส 14 นาย สหรัฐอเมริกา 7 นาย และโปแลนด์ 147 นาย นาย

นักบินของกองทัพอากาศอังกฤษเหล่านี้ต่อสู้อย่างทรหด แม้จะอิดโรยอย่างมากจากการโจมตีของเยอรมันระลอกแล้ว ระลอกเล่า ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งนี้เพื่อรักษาแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของตน ฝูงบินที่มีชื่อเสียงของอังกฤษที่ปฏิบัติการรบในห้วงเวลานั้นก็เช่น ฝูงบินที่ 19 (No.19 Squadron) มีรหัสเรียกขานว่า “คิว วี” มีฐานตั้งอยู่ที่เมืองดักซ์ฟอร์ดและอีสท์เชิร์ท นับเป็นฝูงบินของเครื่องบินขับไล่แบบ “สปิตไฟร์” ฝูงแรกของกองทัพอากาศอังกฤษ และมียอดการทำลายเครื่องบินข้าศึกจำนวน 68 ลำตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ค.ศ.1940 เสืออากาศที่เด่นๆ ก็คือ แอล เอ เฮนส์ (L.A. Haines) สามารถยิงเครื่องบินเยอรมันตก 6 ลำโดยลำพังและร่วมกับเครื่องบินลำอื่นอีก 2 ลำก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจากการสู้รบในปี ค.ศ.1941

ในขณะเดียวกันนักบินเยอรมันก็ต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยความมีประสบการณ์จากสมรภูมิสงครามกลางเมืองในประเทศสเปนมาจนถึงสมรภูมิในยุโรป ทำให้ในขณะนั้นนักบินเยอรมันเป็นนักบินที่น่ากลัวที่สุดของโลกก็ว่าได้ ฝูงบินเยอรมันที่มีความโดดเด่นในการรบเหนือเกาะอังกฤษ

เช่น ฝูงบินที่ 2 หรือ จาคด์ชวาเดอร์ 2 ริชโธเฟน (Jagdgeschwader 2 ‘Richthofen’) ซึ่งประจำการอยู่ที่เมือง เลอ แฮฟร์ ของฝรั่งเศส เป็นฝูงบินที่ประกอบไปด้วยนักบินที่มีอาวุโสและมีความสามารถสูง ฝูงบินนี้ตั้งนามหน่วยตามชื่อของเสืออากาศเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ บารอน มานเฟรด ฟอน ริชโธเฟน (Baron Manfred Von Richthofen) มีเสืออากาศเด่นๆ เช่น เคิร์ท บัวฮ์ลิเก้น (Kurt Buhligen) ซึ่งมียอดการสังหารเครื่องบินสูงถึง 112 ลำตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง

ฝูงบินของเยอรมันอีกฝูงหนึ่งคือ ฝูงบินที่ 26 (Jagdgeschwader 26) ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิด นักบินที่จัดว่าเป็น “ยอดเสืออากาศ” ของสงครามโลกครั้งที่สอง คือ อดอล์ฟ กัลล์ลันด์ (Adolf Galland) ก็สังกัดอยู่ในฝูงบินนี้ โดยกัลล์ลันด์สามารถยิงเครื่องบินของอังกฤษตกได้ทั้งหมด 36 เครื่องในการรบเหนือเกาะอังกฤษ และมียอดรวมเครื่องบินของศัตรูทั้งหมด 104 เครื่องตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง  

อย่างไรก็ตาม แม้นักบินของเยอรมันจะมีความห้าวหาญและประสบการณ์ที่สูงกว่า แต่เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ระบบเรดาห์เตือนภัย ที่อังกฤษนำมาใช้ในการแจ้งเตือน ถึงการมาถึงของฝูงบินเยอรมัน ทำให้อังกฤษมีเวลาเตรียมตัวรับมือ ซึ่งอันที่จริงแล้วคำศัพท์ “เรดาห์” (Radar) นั้นมีการใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1943 ภายหลังจากการโจมตีเกาะอังกฤษเป็นเวลาเกือบสามปี โดยในขณะที่เริ่มใช้งานระหว่างการโจมตีของฝูงบินเยอรมันในปี ค.ศ.1940 นั้น กองทัพอังกฤษยังเรียกเรดาห์ของพวกเขาว่า “วิทยุค้นหาทิศทาง” (Radio Direction Finding)

อีกทั้งยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่มากที่ว่าอังกฤษมีเรดาห์เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ในขณะนั้นเยอรมันก็มีเรดาห์ใช้งานในกองทัพของตนแล้วเช่นกัน เพียงแต่เยอรมันใช้เรดาห์ในการตรวจค้นหาเป้าหมายทางทะเลเป็นหลัก ส่วนอังกฤษนำเรดาห์เข้ามาใช้ในเครือข่ายการป้องกันน่านฟ้าของตนหรือที่เรียกว่าระบบ “ควบคุมและรายงาน” (Control and reporting system) อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความจริงในข้อนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายการข่าวของกองทัพเยอรมันประเมินผิดพลาด โดยประเมินว่าอังกฤษยังไม่สามารถนำระบบเรดาห์มาใช้ในการตรวจจับอากาศยานได้ มีแต่เพียงระบบเรดาห์ด้านการข่าวบริเวณชายฝั่งทะเลเท่านั้น ข้อผิดพลาดนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้การโจมตีเกาะอังกฤษของเยอรมันประสบความล้มเหลว

นอกจากนี้การต่อสู้บนแผ่นดินอังกฤษ ทำให้นักบินเยอรมันต้องพบกับขีดจำกัดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน เช่น เครื่องบินแมสเซอร์สมิท บี เอฟ 109 (Messerschmitt Bf 109) ของเยอรมันที่เป็นเครื่องบินขับไล่หลักของเยอรมันในการโจมตีเกาะอังกฤษ เครื่องบินชนิดนี้มีสมรรถนะไม่ด้อยไปกว่าเครื่องบินสปิตไฟร์และเฮอร์ริเคนของอังกฤษเลย เพราะมันถูกออกแบบมาให้มีโครงสร้างที่เล็ก คล่องตัว มีเครื่องยนต์ที่ทรงพลัง มีอัตราความเร็วในการบินดำดิ่ง เร็วกว่าเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษทุกชนิด นอกจากนี้ยังติดปืนกลขนาด 7.9 มิลลิเมตรแบบเอ็ม จี 17 (MG 17) ที่จมูกของเครื่องบินจำนวนสองกระบอกโดยทำการยิงลอดใบพัด ส่วนปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มิลลิเมตรแบบเอ็ม จี เอฟ เอฟ (MG FF) อีกสองกระบอกติดที่ปีกทั้งสองข้าง ข้างละหนึ่งกระบอก ในช่วงต้นของการรบที่เกาะอังกฤษ เยอรมันมีเครื่องบินขับไล่แบบนี้และแบบ บี เอฟ 110 อยู่ถึง 1,290 ลำ

แม้จะมีประสิทธิภาพสูงเพียงใดก็ตาม แต่เครื่องบิน บี เอฟ 109 ก็สามารถบินแสดงแสนยานุภาพเหนือเกาะอังกฤษได้เพียง 30 นาทีเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีน้ำมันเหลือเพียงพอในการบินกลับฐาน ทั้งที่ด้วยขีดจำกัดดังกล่าวทำให้นักบินเยอรมันถึงกับบอกว่า เยอรมันเหมือนสุนัขที่ถูกล่ามโซ่เอาไว้ แม้ว่ามันต้องการโจมตีข้าศึกมากมายเท่าใด แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะสายโซ่ที่มีอยู่รั้งคอมันเอาไว้นั่นเองภายหลังจากที่เยอรมันพิชิตเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศสแล้ว กองทัพเยอรมันก็รุกมาอยู่ที่ชายฝั่งของฝรั่งเศสตรงข้ามกับเกาะอังกฤษ ฮิตเลอร์ก็วางแผนที่จะบุกเกาะอังกฤษ เป็นขั้นตอนต่อไป โดยมุ่งบุกไปทางตอนใต้ของเกาะ ภายใต้ชื่อยุทธการ สิงโตทะเล (Sealion) ซึ่งความสำเร็จของยุทธการนี้ จะขึ้นอยู่กับการทำลายกองทัพอากาศของอังกฤษ (Royal Air Forces's fighter Command) โดยกองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe)

นอกจากนี้กองทัพอากาศเยอรมันยังมีเครื่องบินโจมตี (battle destroyer) สองเครื่องยนต์ที่น่ากลัวอีกรุ่นหนึ่งคือ เครื่องบินโจมตีแบบ แมสเซอร์ชมิท บี เอฟ 110 (Messerschmitt Bf 110) ที่เคยสร้างผลงานอันน่าประทับใจในสมรภูมิยุโรปมากแล้วมากมาย ตั้งแต่การรบในโปแลนด์ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องบินโจมตีความเร็วสูง มีอำนาจการยิงสูง โดยติดปืนกลขนาด 7.92 มิลลิเมตรแบบ MG 17 จำนวน 4 กระบอกบริเวณตอนบนของจมูกเครื่องบิน และปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มิลลิเมตรแบบ MG FF/Mอีก 2 กระบอกบริเวณตอนล่างของจมูกเครื่องบิน รวมทั้งยังสามารถบรรทุกระเบิดเพื่อใช้โจมตีเป้าหมายบนพื้นดินได้อีกด้วย

ในช่วงต้นของการรบที่เกาะอังกฤษ เยอรมันมีเครื่องบินขับไล่แบบบีเอฟ 109 และแบบ บีเอฟ 110 อยู่ถึง 1,290 ลำ

แม้เครื่องบินแบบบีเอฟ 110 จะมีความเร็วสูงสุด 547 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมากกว่าเครื่องบินขับไล่แบบเฮอร์ริเคนและสปิตไฟร์ของอังกฤษก็ตาม แต่ก็มีความอุ้ยอ้ายและขาดความคล่องตัวในการรบติดพันทางอากาศเป็นอย่างมาก เนื่องจากปีกมีขนาดใหญ่และยาวถึง 25.6 เมตร ปืนกลขนาด 7.92 มิลลิเมตรที่ติดอยู่ในห้องนักบินตอนท้ายเพียงกระบอกเดียว ก็ไม่มีอานุภาพเพียงพอที่จะยับยั้งเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษที่เข้าโจมตีจากทางด้านหลังของเครื่องได้ ส่งผลให้มันกลายเป็นเป้าเคลื่อนที่ให้กับนักบินอังกฤษ ที่มีความคล่องตัวกว่าอย่างมาก เครื่องบินแบบนี้ของเยอรมันประสบกับความสูญเสียอย่างมาก จากสถิติพบว่าเยอรมันใช้เครื่องแบบ บีเอฟ 110 ในสมรภูมิเหนือเกาะอังกฤษเป็นจำนวนทั้งสิ้น 237 ลำ แต่ถูกยิงตกถึง 223 ลำ จนกระทั่งต้องถอนตัวออกจากยุทธการสิงโตทะเล เพื่อมาทำหน้าที่ใหม่ในฐานะเครื่องบินโจมตีในเวลากลางคืน แม้แต่ ฮันส์ โจอาคิม เกอริง(Hans-Joachim Göring) นักบินเครื่องแบบ บีเอฟ 110 ซึ่งเป็นหลานของจอมพลเกอริง แม่ทัพกองทัพอากาศเยอรมันก็เสียชีวิตจากการรบในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ.1940 โดยถูกเครื่องบินขับไล่เฮอร์ริเคนจากฝูงบินที่ 87 ยิงตกเหนือเมืองปอร์ตแลนด์ (Portland)

เครื่องบินที่มีชื่อเสียงอีกชนิดหนึ่งของเยอรมันที่ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างหนักในสมรภูมิเหนือเกาะอังกฤษก็คือ เครื่องบินโจมตีแบบดำทิ้งระเบิด เจยู 87 สตูก้า (Dive Bomber Ju 87 “Stuka” ) ซึ่งแม้จะมีขีดความสามารถในการดำทิ้งระเบิดอย่างแม่นยำเพียงใดก็ตามตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในสมรภูมิเหนือเกาะอังกฤษ เครื่องบินสตูก้ากลับถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษ จนบ่อยครั้งที่ฝูงบินสตูก้าต้องพบกับสูญเสียในการโจมตีถึงครึ่งหนึ่งของเครื่องบินทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.1940 เยอรมันสูญเสียเครื่องบินสตูก้าถึง 17 ลำจากการปฏิบัติภารกิจและต้องถอนตัวออกจากยุทธการสิงโตทะเลตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคมปีเดียวกันนั่นเอง

สำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันแบบต่างๆ เช่น เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ ไฮน์เกล 111 (Heinkel He III) ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดหลักที่เข้าโจมตีเกาะอังกฤษ เครื่องบินรุ่นนี้ติดตั้งปืนกลขนาด 7.92 มม. จำนวน สามกระบอก บรรทุกระเบิดได้ 1,800 กิโลกรัม มีความเร็ว 398 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์สองเครื่องยนต์ของไฮน์เกล 111 เป็นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ไว้ใจได้ มันประสบความสำเร็จอย่างมากในการรบที่สเปน และโปแลนด์ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อต้องมาพบกับเครื่องบินสปิตไฟร์และเฮอร์ริเคนของอังกฤษ ไฮน์เกล 111 ก็พบว่า ตัวมันมีอาวุธน้อยเกินไป ที่จะต่อต้านเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษ นอกจากนี้นักบินอังกฤษยังพบว่า บริเวณส่วนหัวของเครื่องบินเป็นกระจก และไม่มีเกราะป้องกันใดๆให้กับนักบิน ทั้งนี้มุ่งหมายเพื่อทัศนวิสัยที่ดีของนักบินเครื่องไฮน์เกล 111 ในการมองเห็นเป้าหมาย นักบินอังกฤษจะบินพุ่งสวนเข้าหาไฮน์เกล 111 จากด้านหน้า แล้วยิงเข้าใส่ฝูงบินทิ้งระเบิดของเยอรมันจากด้านหน้า ก่อนที่บินฉีกออกไปด้านข้าง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับฝูงบิน และนักบินของไฮน์เกล 111 เป็นอย่างมาก 

ข้อจำกัดต่างของเครื่องบินเยอรมันต่างๆ เหล่านี้ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นข้อจำกัด ที่ส่งผลถึงความสูญเสียของกองทัพอากาศเยอรมันเหนือน่านฟ้าอังกฤษทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้ามเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษแม้จะมีจุดบกพร่อง มากมายรวมถึงมีจำนวนที่น้อยกว่าอย่างมาก อีกทั้งยังถูกฝ่ายเยอรมันยิงตกอีกเป็นจำนวนไม่น้อย แต่นักบินอังกฤษเกือบทั้งหมดถูกยิงตกบนแผ่นดินแม่ของตนเอง หากรอดชีวิตมาได้พวกเขาก็จะหวนกลับมาบินกับเครื่องบินลำใหม่เพื่อต่อสู้กับเยอรมันอีก ต่างจากนักบินเยอรมันที่ถูกยิงตก หากไม่เสียชีวิตก็จะถูกจับเป็นเชลย ซึ่งหมายถึงสงครามเหนือเกาะอังกฤษของนักบินคนดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว และเขาจะไม่มีโอกาสขึ้นบินทำการรบอีกต่อไป

ตลอดห้วงการรบทางอากาศเหนือเกาะอังกฤษ นักบินอังกฤษสามารถสร้างความเสียหายให้กับเยอรมันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เครื่องบินที่มีบทบาทโดดเด่นในการรบเหนือเกาะอังกฤษมีหลายชนิด เช่น เครื่องบินฮอว์คเกอร์ เฮอริเคน (Hawker Hurricane) ซึ่งแม้ว่าจะมีอายุการใช้งานเก่าแก่กว่าเครื่องบินขับไล่แบบสปิตไฟร์ (Spitfire) อันเลื่องชื่อ แต่มันก็มีจำนวนมากมายกว่าสปิตไฟร์ สามารถทำความเร็วได้ถึง 523 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและติดปืนกลขนาด .303 นิ้ว เป็นจำนวนถึงแปดกระบอก มีอำนาจการยิงที่สูงมากและเพียงพอที่จะสร้างความเสียหายให้กับเครื่องบินของเยอรมันได้เป็นจำนวนมาก จากสถิติภายหลังสงครามพบว่า เครื่องบินเยอรมันเป็นจำนวนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่ทำการรบเหนือเกาะอังกฤษ ถูกยิงตกหรือถูกยิงเสียหายโดยเครื่องบินแบบเฮอร์ริเคนนี้เอง 

สำหรับสุดยอดของเครื่องบินขับไล่เหนือน่านฟ้าอังกฤษ ในห้วงปี ค.ศ.1940 - ค.ศ.1941 ก็คือ เครื่องบินซุปเปอร์มารีน สปิตไฟร์ (Supermarine Spitfire) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า สปิตไฟร์ มันมีความเร็วสูงถึง 580 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดปืนกลขนาด .303 นิ้ว ถึงแปดกระบอกที่ปีกทั้งสองข้าง ความสำเร็จในการรบเหนือเกาะอังกฤษทำให้สปิตไฟร์ได้กลายเป็นตำนานของเครื่องบินขับไล่แห่งสงครามโลกครั้งที่สองไปโดยปริยาย ในช่วงแรกของการรบอังกฤษมีเครื่องบินสปิตไฟร์ และเฮอร์ริเคนอยู่ 591 ลำ

จุดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือนักบินอังกฤษที่ใช้เครื่องสปิตไฟร์ จะทำการปรับปืนทั้งแปดกระบอกให้มีระยะรวมศูนย์อยู่ที่ 594 เมตร คือกระสุนจากปืนทั้งแปดกระบอก เมื่อถูกยิงออกมา จะมาพบกันทั้งหมดที่ระยะ 594 เมตรจากลำกล้อง ซึ่งเมื่อทำการรบในระยะประชิดที่ใกล้ว่า 300 เมตร จะส่งผลให้กลุ่มกระสุนกระจายออกไปมาก และไม่ทำให้เกิดความเสียหายจนถึงระดับที่ทำให้เครื่องบินเยอรมันตกลงสู่พื้นดินได้ ทำให้นักบินอังกฤษบางคนพยายามปรับระยะรวมศูนย์ให้กระสุนทั้งหมดลดมาพบกันทั้งหมดที่ระยะ 200 หลา หรือประมาณ 183 - 274 เมตร ระยะที่แตกต่างนี้เอง ที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเครื่องบินของเยอรมัน หรือแม้กระทั่งสามารถทำลายเครื่องบินเยอรมันได้แม้การยิงเพียงชุดเดียว

อย่างไรก็ตามกองทัพอากาศอังกฤษยังยึดมั่นในหลักการสร้างความเสียหายให้กับฝูงบินเยอรมันมากกว่าการทำลาย โดยอังกฤษเชื่อว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทำให้เยอรมันต้องเสียเวลาในการซ่อมแซม และต้องใช้บุคคลากรจำนวนมาก อันจะเป็นการทำให้เยอรมันต้องพะว้าพะวัง และทำการรบได้ไม่เต็มที่

ยุทธวิธีในการต่อสู้ทางอากาศระหว่างอังกฤษและเยอรมันก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ฝูงบินเยอรมันจะเข้าโจมตีในลักษณะกลุ่มหรือที่เยอรมันเรียกว่า “กรุ๊ป” (Gruppe) โดยใช้อากาศยานรวมกันจำนวน 30 – 40 ลำ ในขณะที่อังกฤษจะขึ้นบินในลักษณะหมวดบิน ประกอบด้วยเครื่องบินเพียง 9 – 12 ลำ

ด้วยเหตุนี้เองจึงดูเสมือนว่าเครื่องบินอังกฤษจะมีจำนวนน้อยกว่าทุกครั้งไปเมื่อต้องทำการรบทางอากาศ แต่นโยบายการโจมตีด้วยฝูงบินในระดับ “หมวดบิน” นี้ เป็นนโยบายที่ชาญฉลาดของอังกฤษ เนื่องจากการระดมเครื่องบินเพียง 9 – 12 ลำสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว และใช้เวลาน้อยกว่าการรวบรวมเครื่องบิน 30 – 40 ลำ อีกทั้งอังกฤษยังตระหนักในความจริงที่ว่า พวกเขาจำเป็นต้องรักษาเครื่องบินทุกเครื่องที่มีอยู่อย่างเหนียวแน่น ความสูญเสียเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น

ดังนั้นการเข้าโจมตีด้วยเครื่องจำนวนน้อย หมายถึงโอกาสสำหรับการสูญเสียก็มีน้อยลงไปด้วย อีกทั้งเป้าหมายหลักของเครื่องบินขับไล่อังกฤษคือ โจมตีเพื่อเบี่ยงเบนเครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมันออกจากเส้นทางที่จะสร้างความเสียหายแก่เป้าหมายสำคัญ สร้างความสูญเสียให้กับเครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันให้มากที่สุด อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการปะทะกับเครื่องบินขับไล่ของเยอรมัน ในขณะเดียวกันก็พยายามนำเครื่องบินขับไล่ของตน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรล้ำค่าในการปกป้องผืนแผ่นดินอังกฤษกลับลงสู่สนามบินอย่างปลอดภัยให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ซึ่งผลจากจากเข้าโจมตีแบบหมวดบินของอังกฤษได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ยุทธวิธีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการสร้างความเสียหายให้กับฝูงบินเยอรมัน

อย่างไรก็ตามแม้อังกฤษจะพยายามคิดค้นยุทธวิธีในการสกัดกั้นและยับยั้งฝูงบินเยอรมันเหนือน่านฟ้าอังกฤษเพียงใดก็ตาม แต่ด้วยจำนวนเครื่องบินของเยอรมันที่มีมากกว่า ก็ทำให้อังกฤษก็ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เช่นในการรบของวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1940 ฝูงบินเยอรมันประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างความเสียหายให้กับอ่าวเค้นท์ (Kent) และท่าเรือเมืองโดเวอร์ (Dover) ของอังกฤษ เมื่อฝูงบิน เจยู 87 สตูก้าที่คุ้มกันโดยเครื่องบินขับไล่แบบ บีเอฟ 109 จำนวนประมาณ 90 ลำ ได้เข้าโจมตีเรือรบขนาดเบา “กู๊ดวิน” (Goodwin) ที่จอดเทียบท่าอยู่จนจมลง

เครื่องบินขับไล่ของเยอรมันที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ นำโดยเสืออากาศเยอรมัน อดอล์ฟ กัลป์ลันด์ (Adolf Gulland) ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากฝูงบินขับไล่สปิตไฟร์และเฮอร์ริเคนของอังกฤษจำนวน 42 ลำจากฝูงบินที่ 65, 610 และ 615 แม้อังกฤษจะสูญเสียเรือรบและสนามบินตลอดจนอาคารโรงเก็บเครื่องบินจำนวน 4 หลังของสนามบินแมนสตัน (Manston) และโรงเก็บเครื่องบินอีก 3 หลังที่สนามบินเบลนไฮมส์ (Blenheims) แต่เครื่องบินขับไล่ของอังกฤษก็ถูกยิงตกเพียง 3 ลำ และอีก 1 ลำได้รับความเสียหายขณะแล่นลงจอดที่สนามบินเท่านั้น

ในภายหลังเครื่องบินอังกฤษจากฝูงบิน 600 ได้บินขึ้นทำการแก้แค้นให้กับภาคพื้นดิน แต่ก็ไม่สามารถทำความเสียหายให้กับเยอรมันได้มากนัก เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันเพียง 1 ลำถูกยิงตก และอีก 1 ลำถูกยิงตกโดยปืนต่อสู้อากาศยานโบฟอร์ส (Bofors) ขนาด 40 มิลลิเมตรของสนามบิน ในขณะที่เยอรมันสร้างความเสียหายครอบคลุมพื้นที่กว่า 160 ตารางกิโลเมตร สมรภูมิเหนือเกาะอังกฤษ ณ เวลานั้น เป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดาได้ว่า จะมีจุดจบลงเช่นใด

การโจมตีเกาะอังกฤษของฝูงบินเยอรมันเป็นไปอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเพื่อหวังที่จะดึงฝูงบินอังกฤษออกจากที่ซ่อนและทำลายให้สิ้นซากตามแผนของจอมพลแฮร์มาน เกอริง (Hermann Goring) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมันที่เสนอต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมัน โดยกองทัพอากาศเยอรมันแบ่งกองบินที่รับผิดชอบในการโจมตีเกาะอังกฤษตามยุทธการ "สิงโตทะเล" ออกเป็นสามกองบินหรือ "ลุฟฟลอทท์" (Luftflotte) ประกอบด้วย

- กองบินที่ 2 (Luftflotte 2) ซึ่งรับผิดชอบการโจมตีพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษและบริเวณนครลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ กองบินนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลอัลเบิร์ต เคสส์เซลริง (Albert Kesselring)

- กองบินที่ 3 (Luftflotte 3) รับผิดชอบการโจมตีพื้นที่บริเวณภาคตะวันตก ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตอนกลางของเกาะอังกฤษ กองบินนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลฮิวโก สเปอร์เรล (Hugo Sperrle)

- กองบินที่ 5 (Luftflotte 5) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศนอรเวย์ รับผิดชอบการโจมตีพื้นที่ภาคเหนือของอังกฤษและพื้นที่สกอตแลนด์ โดยอยู่ในการบังคับบัญชาของพลอากาศเอกฮันส์ เจอร์เกน สตรั้มฟ์ (Hans Jurgen Stumpff)

อย่างไรก็ตามเมื่อการรบเหนือเกาะอังกฤษยืดเยื้อยาวนานออกไป กองบินที่ 3 ก็ต้องแบกรับภาระในการโจมตีในเวลากลางคืนเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ต้องแบ่งภารกิจในการโจมตีในเวลากลางวันให้กับกองบินที่ 2 โดยในช่วงแรกเยอรมันคาดการณ์ว่าก่อนเปิดยุทธการ "สิงโตทะเล" (Operation Sealion) ซึ่งจะเป็นการบุกเกาะอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบด้วยกำลังทหารราบ กองทัพอากาศเยอรมันจะใช้เวลาเพียงสี่วันในการกำจัดฝูงบินขับไล่ของอังกฤษออกไปจากน่านฟ้า จากนั้นจะใช้เวลาอีกประมาณสี่สัปดาห์ในการโจมตีที่ตั้งทางทหารและแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ ของอังกฤษเพื่อลดทอนศักยภาพในการรบของกองทัพอังกฤษ

แต่เมื่อกองทัพอากาศเยอรมันเปิดฉากโจมตีอังกฤษด้วยการโจมตีบริเวณชายฝั่งตอนใต้ของประเทศ เพื่อมุ่งหวังที่จะดึงฝูงบินอังกฤษให้เข้ามาติดกับดักในพื้นที่สังหารของเยอรมัน แล้วใช้เครื่องบินขับไล่ของเยอรมันเข้ากวาดล้างและทำลายฝูงบินขับไล่อังกฤษเหล่านั้น เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิดเมื่อฝูงบินขับไล่ของอังกฤษกลับหนุนเนื่องเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้การต่อต้านดูไม่มีที่สิ้นสุด

แผนการโจมตีทางอากาศของเยอรมันจึงยืดระยะเวลาจากเดิมออกไปคือ จากเดิมสี่วันกลายเป็นห้าสัปดาห์ เริ่มจากวันที่ 8 สิงหาคมถึง 15 กันยายน และเปลี่ยนจากการโจมตีฝูงบินอังกฤษเพียงอย่างเดียวเป็นการโจมตีสนามบินและสิ่งปลูกสร้างทางทหาร เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือน่านฟ้าอังกฤษก่อนที่กำลังทางเรือจะนำทหารราบภาคพื้นดินข้ามช่องแคบอังกฤษเข้าโจมตีแผ่นดินใหญ่ตามแผนยุทธการ "สิงโตทะเล" ในขณะเดียวกันกองทัพอากาศเยอรมันก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมกำลังสำรองไว้ เพื่อใช้ในการสนับสนุนทหารเยอรมันภาคพื้นดินระหว่างการรุกเข้าสู่เกาะอังกฤษด้วย

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเครื่องบินขับไล่สองเครื่องยนต์แบบ แมสเซอร์ชมิท บีเอฟ 111ไม่สามารถที่จะต่อกรกับเครื่องบินขับไล่แบบเครื่องยนต์เดียวของอังกฤษทั้งแบบสปิตไฟร์และเฮอร์ริเคนที่มีความคล่องตัวสูงกว่าได้ ทำให้ภาระทั้งหมดต้องตกอยู่กับเครื่องบินขับไล่แบบ บีเอฟ 109 ที่ต้องทำหน้าที่ในการคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดที่เปราะบางและเชื่องช้าจากการโจมตีของเครื่องบินอังกฤษ ซึ่งจากรบในห้วงเวลาที่ผ่านมาเครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันตกเป็นเป้านิ่งของเครื่องบินขับไล่อังกฤษจนประสบกับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามจอมพลเคสส์เซลริงแห่งกองบินที่ 2 ก็ยังยืนยันในความต้องการที่จะใช้ฝูงบินทิ้งระเบิดทำการโจมตีสนามบินและยุทโธปกรณ์ในการป้องกันภัยทางอากาศตลอดจนเรดาห์เตือนภัยของอังกฤษ เพื่อลดประสิทธิภาพในการต่อต้านของฝูงบินขับไล่อังกฤษ ส่วนจอมพลฮิวโก สเปอร์เรลแห่งกองบินที่ 3 กลับต้องการโจมตีนครลอนดอน โจมตีอาคารและสถานที่ราชการเพื่อบีบให้อังกฤษยอมจำนน รวมทั้งต้องการหลอกล่อให้ฝูงบินขับไล่ของอังกฤษเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการที่ฝ่ายเยอรมันได้เปรียบ

จอมพลเกอริง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่กลับนิ่งเฉยและไม่ได้ใช้ความเป็นผู้นำในการชี้ขาดความขัดแย้งของผู้บัญชาการกองบินทั้งสอง แต่หันไปเน้นย้ำให้เครื่องบินขับไล่ บีเอฟ 109 เพิ่มการอารักขาฝูงบินทิ้งระเบิดให้แน่นหนาขึ้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวทำให้นักบินขับไล่ของเยอรมันมุ่งภารกิจไปที่การคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดโดยการใช้ความเร็วต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งการปฏิบัติการบินคุ้มกันของนักบินขับไล่เยอรมันนั้นจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกบินขนาบไปกับเครื่องบินทิ้งระเบิดด้วยความสูงระดับเดียวกันคือประมาณ 16,000 ฟุตถึง20,000 ฟุต

ส่วนเครื่องบินขับไล่คุ้มกันอีกกลุ่มจะบินห่างออกไปประมาณหนึ่งร้อยหลาและอยู่สูงกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดเล็กน้อย ทั้งสองกลุ่มต้องลดความเร็วลงให้เท่ากับเครื่องบินทิ้งระเบิด อันเป็นผลทำให้เครื่องบินขับไล่แบบ บีเอฟ 109 ของเยอรมันที่มีความเร็วสูงต้องสูญเสียความได้เปรียบและถูกยิงตกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยุทธวิธีที่ใช้เครื่องบินขับไล่เยอรมันออกบินไล่ล่าเครื่องบินขับไล่อังกฤษตามท้องฟ้าเหนือเกาะอังกฤษก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากนักบินอังกฤษหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับเครื่องบินขับไล่ของเยอรมันเพื่อรักษาเครื่องบินเอาไว้ใช้ในการโจมตีเครื่องบินเครื่องบินทิ้งระเบิดเป็นหลัก

อดอล์ฟ กัลลันด์ (Adolf Galland) เสืออากาศของเยอรมันได้อธิบายถึงความล้มเหลวของฝูงบินเยอรมันเหนือเกาะอังกฤษเอาไว้อย่างน่าฟังตอนหนึ่งว่า

".… มันเป็นสิ่งที่สร้างความสับสนอย่างมากระหว่างนักบินเครื่องบินทิ้งระเบิดและนักบินเครื่องบินขับไล่ เมื่อนักบินเครื่องบินทิ้งระเบิดต้องการเครื่องบินขับไล่ให้บินเคียงข้าง เพื่อเป็นเสมือนเกราะป้องกันและสามารถทำการรบหรือตอบโต้เครื่องบินขับไล่อังกฤษได้ทันทีที่การโจมตีเปิดฉากขึ้น … แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ ... เพราะธรรมชาติของนักบินเครื่องบินขับไล่นั้น "การป้องกัน" คือ "การโจมตี" นักบินเครื่องบินขับไล่จะไม่รอให้ตนเองถูกโจมตีก่อน เขาจะป้องกันตนเองและน่านฟ้าด้วยการค้นหาเครื่องบินข้าศึกให้ได้และเปิดฉากโจมตีโดยที่ข้าศึกไม่รู้ตัว เพราะนั่นคือการครองความ "ริเริ่ม" (initiative) ในการรบ ซึ่งการรอให้ข้าศึกเข้าโจมตีก่อนหมายถึงนักบินเยอรมันจะสูญเสียความ "ริเริ่ม" ในการรบนั้นๆ ซึ่งในบรรดานักรบจะเป็นที่ทราบกันดีว่าการสูญเสียความ "ริเริ่ม" ในสงครามใดๆ ก็ตาม มักนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุดนั่นเอง ...."

จากความขัดแย้งและสับสนในการวางแผนของเยอรมันส่งผลให้การโจมตีเกาะอังกฤษของฝูงบินเยอรมันเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง กองบินทั้งสามกองบินปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชาของตนมอบหมาย นักบินขับไล่แทนที่จะทำหน้าที่ไล่ล่าฝูงบินขับไล่อังกฤษ พวกเขากลับต้องคอยติดสอยห้อยตามเครื่องบินทิ้งระเบิด เพื่อรอให้เครื่องบินขับไล่ของอังกฤษเข้าโจมตี และเมื่อการโจมตีเปิดฉากขึ้น เครื่องบินขับไล่เยอรมันก็มักจะถูกยิงโดยไม่รู้ตัวแทบทุกครั้ง ส่วนเครื่องบินทิ้งระเบิดที่อุ้ยอ้ายและตื่นตระหนก แม้จะมีเครื่องบินขับไล่คุ้มกัน ก็ยังคงตกเป็นเป้าของเครื่องบินขับไล่อังกฤษที่บินสาดกระสุนผ่านไปมาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ยอดความสูญเสียทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากยุทธวิธีในการรบทางอากาศที่สับสนแล้ว ยุทธศาสตร์ในการรบของเยอรมันก็สับสนไม่แพ้กัน ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาตัดสินใจไม่ได้ว่าจะถล่มเมืองใดเมืองหนึ่งให้พินาศลงไปอย่างสิ้นซาก หรือเพียงแค่ต้องการให้เกิดความเสียหายให้ทั่วทั้งแผ่นดินอังกฤษ ผลจึงปรากฏออกมาว่าฝูงบินทิ้งระเบิดเยอรมันทิ้งระเบิดอย่างไร้จุดมุ่งหมายที่แน่นอน วันนี้พวกเขาทำการทิ้งระเบิดที่เมืองโคเวนตรี้ พรุ่งนี้มุ่งไปที่เมืองปอร์ตสมัธ และวันต่อไปจะมุ่งไปที่เมืองเบรมไฮม์ สิ่งที่ได้รับก็คือไม่มีเมืองใดเลยที่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิง เพราะการโจมตีมีน้อยเกินไป โรงงานอุตสาหกรรม สนามบิน ค่ายทหารและสถานที่ต่างๆ สามารถฟื้นฟูให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มขีดความสามารถภายในสามวันที่เยอรมันเว้นระยะการโจมตี นอกจากการฟื้นฟูศักยภาพด้านอุตสาหกรรมและการทหารแล้ว รัฐบาลอังกฤษยังใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการโจมตีในการฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของชาวเมืองได้อย่างเห็นผลอีกด้วย

การโจมตีที่ไร้ศักยภาพของเยอรมันนี้เองที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินของอังกฤษแทบไม่ได้รับความกระทบกระเทือน อังกฤษยังคงสามารถผลิตเครื่องบินเข้ามาทดแทนและเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องบินสปิตไฟร์และเฮอร์ริเคน ดังจะเห็นได้จากสถิติในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1940 อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินของอังกฤษสามารถผลิตเครื่องบินป้อนกองทัพอากาศได้ถึง 496 ลำ ในเดือนสิงหาคมสามารถผลิตเครื่องบินได้อีกถึง 467 ลำ และในเดือนกันยายนผลิตเครื่องบินเพิ่มอีก 467 ลำเท่ากับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่นับรวมถึงเครื่องบินขับไล่ที่สามารถซ่อมแซมกลับมาใช้ใหม่ได้อีก การผลิตที่ต่อเนื่องนี้เองทำให้กองทัพอากาศอังกฤษมีเครื่องบินอยู่ในระดับที่คงที่ ไม่ลดลงและกลับเพิ่มขึ้นอีกด้วย จากสถิติพบว่าในระหว่างสงครามเหนือเกาะอังกฤษนั้น กองทัพอากาศอังกฤษมีเครื่องบินขับไล่แบบสปิตไฟร์และเฮอร์ริเคนที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่ถึง 1,161 ลำ ทั้งๆ ที่ถูกยิงตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่นักบินที่รอดชีวิตก็หวนกลับมานำเครื่องบินลำใหม่ที่เพิ่งออกมาจากโรงงานทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อปกป้องมาตุภูมิของพวกเขาต่อไป

ในทางตรงกันข้ามกองทัพอากาศเยอรมันกลับต้องสูญเสียเครื่องบินไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1940 มีเครื่องบินทุกชนิดถูกยิงตกเสียหายถึง 774 ลำ เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินขับไล่เป็นจำนวนถึง 426 ลำหรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของเครื่องบินขับไล่ทั้งหมดที่ต้องสูญเสียไป ในจำนวนเครื่องบินที่ถูกยิงตกนี้นักบินเยอรมันเกือบทั้งหมดเสียชีวิตหรือไม่ก็บาดเจ็บและถูกจับเป็นเชลย ทำให้ไม่มีโอกาสหวนกลับมาเป็นนักบินอีกเลยจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ยิ่งไปกว่านั้นเยอรมันยังจำเป็นต้องถอนเครื่องบินอีกบางส่วนออกจากยุทธการสิงโตทะเล เช่น เครื่องบินดำทิ้งระเบิดแบบ เจยู 87 สตูก้า (Ju 87 Stuka) เพราะมีความเชื่องช้าและล้าสมัยจนได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการรบทางอากาศ ส่วนเครื่องบินที่ส่งเข้ามาทดแทนก็คือเครื่องบินแบบเดิมๆ ที่ต้องกลายเป็นเป้านิ่งให้กับเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษ จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกำลังกันแล้ว กำลังทางอากาศของอังกฤษมีแต่จะเพิ่มจำนวนและเข้มแข็งขึ้น ส่วนกำลังทางอากาศของเยอรมันยิ่งนับวันยิ่งลดจำนวนลงในขณะที่ยอดสูญเสียนักบินก็เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้ยุทธศาสตร์การรบเหนือเกาะอังกฤษของเยอรมันจะพ่ายแพ้ แต่คุณสมบัติของนักบินเยอรมันกลับไม่ได้พ่ายแพ้ไปด้วย นักบินรบของเยอรมันต่างฝากฝีมือไว้ให้นักบินขับไล่ของอังกฤษต้องจดจำไปอีกนาน นักบินที่มีสถิติที่น่ากลัวของเยอรมันมีเป็นจำนวนมาก เช่น เฮลมุท วิค (Helmut Wick) ที่สามารถยิงเครื่องบินอังกฤษตกถึง 42 ลำ อดอล์ฟ กัลลันด์ (Adolf Galland) เสืออากาศของเยอรมันซึ่งใช้นามเรียกขานขณะทำการบินว่า "ดอลโฟ" (Dolfo) มีสถิติรองลงมาคือยิงเครื่องบินอังกฤษตก 35 ลำ (สถิติเฉพาะสงครามเหนือเกาะอังกฤษเท่านั้น) วอลเธอร์ โอซอร์ (Walter Oesau) มีสถิติยิงตก 34 ลำ และเวอเมอร์ โมลเดอส์ (Wemer Molders) ยิงตกเป็นจำนวน 28 ลำ (ยอดรวมของเขาทั้งหมด 115 ลำก่อนที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการบินในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1941) เป็นต้น

สถิติที่น่าสนใจที่จะขอนำมาเสนอคือสถิติของเฮลมุท วิค ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับฝูงบินที่ 2 หรือ จาคส์ชแวเดอร์ 2 'ริชโธเฟน' (Jagdgeschwader 2 'Richthofen') เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.1940 ก่อนยุทธการสิงโตทะเลจะเปิดฉากขึ้น โดยระหว่างการรบในวันที่ 11 สิงหาคมเพียงวันเดียว เครื่องบินขับไล่แมสเซอร์ชมิท บีเอฟ 109 ของเขายิงเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษแบบสปิตไฟร์ 1 ลำ แบบเฮอร์ริเคน 1 ลำและแบบฮอว์ค75 ตกอีก 1 ลำรวมเป็น 3 ลำในการรบเหนือเมืองพอร์ตแลนด์ของอังกฤษ โดยใช้เวลาในการยิงเครื่องบินอังกฤษทั้งสามลำในการรบตั้งแต่เวลา 11.30 น. ถึง 11.45 น. หรือใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น และในวันที่ 5 ตุลาคม เขาก็ยิงเครื่องบินขับไล่แบบเฮอร์ริเคนของอังกฤษสังกัดฝูงบินที่ 607 จำนวน 3 ลำตกและยิงเครื่องบินขับไล่แบบสปิตไฟร์สังกัดฝูงบินที่ 238อีก 2 ลำตกระหว่างการรบเหนือเมืองบูมเมาธ์ (Boumemouth) โดยใช้เวลาในการรบตั้งแต่ 14.58 น.ถึง 15.03 น.หรือเพียง 5 นาทีในการพิชิตเฮอร์ริเคนทั้ง 3 ลำ และใช้เวลาระหว่าง 18.35 น.ถึง 18.40 น. หรืออีกเพียง 5 นาทีในการกำจัดสปิตไฟร์อีก 2 ลำในการรบเหนือเกาะไวท์ (Else of Wight)

และในวันที่ 6 พฤศจิกายน เขาก็สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษแบบสปิตไฟร์จำนวน 2 ลำ และแบบเฮอร์ริเคนสังกัดฝูงบินที่ 151อีกจำนวน 3 ลำรวมทั้งสิ้น 5 ลำตกในการรบเหนือเมืองเซาท์แธมตัน โดยใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 13 นาที คือระหว่างเวลา 15.35 น.ถึง 15.48 น. จึงอาจกล่าวได้ว่าประสิทธิภาพของนักบินเยอรมันนั้นไม่เป็นรองนักบินอังกฤษแต่อย่างใด หากแต่ด้วยการดำเนินยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ผิดพลาดของนายทหารชั้นสูงของกองทัพอากาศเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพลแฮร์มาน เกอริง ผู้บัญชาการทหารอากาศของเยอรมันที่แม้จะเคยเป็นเสืออากาศในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ผ่านมา แต่ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการควบคุมบังคับบัญชากำลังทางอากาศขนาดใหญ่เข้าทำการรบ จึงตัดสินใจด้วยความลังเลและนำไปสู่ความผิดพลาดซึ่งส่งผลไปสู่ความพ่ายแพ้ในการรบเหนือน่านฟ้าของประเทศอังกฤษในที่สุด

7 กันยายน ฝูงบินเยอรมันโจมตีกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก ลุฟวาฟเชื่อว่า มีเครื่องบินอังกฤษเหลือปกป้องนครลอนดอนเพียง 100 เครื่องเท่านั้น

แต่แท้ที่จริง ปรากฏว่า เยอรมันต้องพบกับเครื่องบินอังกฤษเหนือน่านฟ้านครลอนดอนถึงกว่า 300 เครื่อง เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันกว่า 300 ลำ ทิ้งระเบิดกว่า 300 ตันลงสู่นครหลวงของอังกฤษ ตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป

เพลิงลุกไหม้ลอนดอนสว่างไสวราวกับกลางวัน และเพลิงยังทำหน้าที่เสมือนคบเพลิง บอกทิศทางให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันอีกกว่า 250 ลำที่บินเลาะแสงสีเงินของลำน้ำเทมส์ เข้าโจมตีลอนดอนเป็นระลอกต่อมา ชาวอังกฤษที่เห็นเหตุการณ์ถึงกับกล่าวว่า โลกทั้งโลกกำลังลุกเป็นไฟ (the whole bloody world is on fire)

นับจากวันนั้นมาอีก 56 คืน ลอนดอนก็ถูกโจมตีตั้งแต่ตะวันตกดินจนถึงรุ่งอรุณ (from dusk to dawn) การโจมตีอันยาวนานนี้ ส่งผลให้ชาวลอนดอนเสียชีวิตกว่า 13,600 คน บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก อีกกว่า 250,00 คนไร้ที่อยู่อาศัย

ในขณะที่ฝ่ายเยอรมันสูญเสียไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ ปืนต่อสู้อากาศยานของอังกฤษสามารถยิงเครื่องบินเยอรมันตกได้น้อยมาก ในอัตราส่วน ยิงตกเพียง 1 ลำจากทุกๆ 300 ลำที่บินเข้ามาโจมตีลอนดอน

การโจมตีที่หนักที่สุดมีขึ้นในวันที่ 16 เมษายน 1941 จนเกิดคำศัพท์ใหม่ในพจนานุกรมว่า Blitz ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้ถนนหนึ่งในสามของลอนดอนถูกทำลาย ครอบครัว 160,000 ครอบครัวไม่มีน้ำปะปา ไฟฟ้า และแก๊สใช้

ปลายเดือนมิถุนายน ภายหลังจากสูญเสียครื่องบินไปเป็นจำนวนมาก เยอรมันก็เริ่มอ่อนล้า ประกอบกับฮิตเลอร์เริ่มมองไปที่แนวรบด้านตะวันออก พร้อมทั้งเตรียมการบุกรัสเซีย เครื่องบินสองในสามถูกย้ายไปเพื่อเตรียมการใน ยุทธการบาร์บารอสซ่า

12 ตุลาคม 1941 ฮิตเลอร์ก็เลื่อนยุทธการสิงโดทะเลออกไปอย่างไม่มีกำหนด และหันไปเปิด แนวรบด้านตะวันออก กับรัสเซียแทน ปล่อยให้อังกฤษมีเวลาฟื้นตัว และกลายเป็นฐานทัพของฝ่ายพันธมิตรในการส่งกองทัพอากาศเข้าโจมตีเยอรมัน และเป็นฐานในการยกพลขึ้นบกครั้งสำคัญใน วัน ดี เดย์ ซึ่งส่งผลให้เยอรมันตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด







แมสเซอร์ชมิท บี เอฟ 109 (Messerschmitt Bf 109) เครื่องบินขับไล่ที่เป็นแกนหลักของเยอรมันในการโจมตีเกาะอังกฤษ มันถูกออกแบบมาให้มีโครงสร้างที่เล็ก คล่องตัว มีเครื่องยนต์ที่ทรงพลัง มีอัตราความเร็วในการบินดำดิ่ง เร็วกว่าเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษทุกชนิด

นอกจากนี้ยังติดปืนกลขนาด 7.9 มม. แบบ MG 17 ที่เหนือเครื่องยนต์สองกระบอก โดยทำการยิงลอดใบพัด ส่วนปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม.แบบ MG FF อีกสองกระบอก ติดที่ปีกทั้งสองข้าง ข้างละหนึ่งกระบอก ในช่วงต้นของการรบที่เกาะอังกฤษ เยอรมันมีเครื่องบินขับไล่แบบนี้และแบบ บี เอฟ 110 อยู่ 1,290 ลำ




เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมัน แบบ ไฮน์เกล 111 (Heinkel He III) ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดหลักที่เข้าโจมตีเกาะอังกฤษ มันประสบความสำเร็จอย่างมากในการรบที่สเปน และโปแลนด์ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่เมื่อต้องมาพบกับเครื่องบิน สปิตไฟร์ และ เฮอร์ริเคนของอังกฤษ ไฮน์เกล 111 ก็พบว่า ตัวมันมีอาวุธน้อยเกินไป ที่จะต่อต้านเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษ เครื่องบินรุ่นนี้ติดตั้งปืนกลขนาด 7.92 มม. จำนวน สามกระบอก บรรทุกระเบิดได้ 1,800 กก. มีความเร็ว 398 กม. ต่อ ชม. เครื่องยนต์สองเครื่องยนต์ของไฮน์เกล 111 เป็นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ไว้ใจได้

อย่างไรก็ตาม นักบินอังกฤษพบว่า บริเวณส่วนหัวของเครื่องบิน เป็นกระจก และไม่มีเกราะป้องกันใดๆให้กับนักบิน ทั้งนี้มุ่งหมายเพื่อทัศนวิศัยที่ดีของนักบิน นักบินอังกฤษจะบินพุ่งสวนเข้าหาไฮน์เกล 111 จากด้านหน้า แล้วยิงเข้าใส่ฝูงบินทิ้งระเบิดของเยอรมันจากด้านหน้า ก่อนที่บินฉีกออกไปด้านข้าง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับฝูงบิน และนักบินของไฮน์เกล 111 เป็นอย่างมาก




แม้ว่าเครื่องบินฮอว์คเกอร์ เฮอริเคนจะมีการผลิตเป็นจำนวนมาก แต่สุดยอดของเครื่องบินขับไล่เหนือน่านฟ้าอังกฤษ ในปี 1940-1941 ก็คือ เครื่องบินซุปเปอร์มารีน สปิตไฟร์ (Supermarine Spitfire) มันมีความเร็ว 580 กม. ต่อ ชม. ติดปืนกลขนาด .303 นิ้ว ถึงแปดกระบอกที่ปีกทั้งสองข้าง

นักบินอังกฤษที่ใช้เครื่องสปิตไฟร์ จะทำการปรับปืนทั้งแปดกระบอกให้มีระยะรวมศูนย์อยู่ที่ 594 เมตร คือกระสุนทั้งแปดกระบอกจะมารวมกันที่ระยะ 594 เมตรจากลำกล้อง แต่ก็มีนักบินบางคนพยายามปรับระยะรวมศูนย์ให้ลดมาอยู่ที่ 200 หลา หรือ 183 - 274 เมตร ระยะที่แตกต่างนี้มีผลในเรื่องของการต้องการเพียงสร้างความเสียหายให้กับเครื่องบินเยอรมัน หรือทำลายเครื่องบินเยอรมัน

การสร้างความเสียหายนั้น อังกฤษเชื่อว่า จะทำให้เยอรมันต้องเสียเวลาในการซ่อมแซม และต้องใช้บุคคลากรจำนวนมาก เป็นการทำให้เยอรมันต้องพะว้าพะวัง ทำการรบได้ไม่เต็มที่ ในช่วงแรกของการรบ อังกฤษมีเครื่องบินสปิตไฟร์ และเฮอร์ริเคนอยู่ 591 ลำ




เครื่องบินฮอว์คเกอร์ เฮอริเคน ของอังกฤษ แม้ว่าจะเก่าแก่กว่าสปิตไฟร์แต่ก็มีความเร็ว 523 กม.ต่อ ชม. และติดปืนกลขนาด .303 นิ้ว แปดกระบอก มีอำนาจการยิงสูง และสามารถสร้างความเสียหายให้กับเยอรมันได้ถึง 80 เปอร์เซนต์ในการรบเหนือเกาะอังกฤษ




เจ้าหน้าที่ Home Guard ของอังกฤษในกรุงลอนดอน กำลังเฝ้าดูท้องฟ้า จากหลังคาที่พักอาศัย กรุงลอนดอนตกเป็นเป้าทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศเยอรมันอย่างหนัก แต่ชาวอังกฤษก็ยืนหยัดต่อสู้การโจมตีอย่างเด็ดเดี่ยว แม้จะต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวก็ตาม




เพลิงจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินเยอรมัน กำลังลุกไหม้อยู่ในกรุงลอนดอน โดยมีสะพานทาวเวอร์บริด (Tower Bridge) ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า ปัจจัยที่ทำให้ยุทธการสิงโตทะเล ในการโจมตีเกาะอังกฤษ ไม่ประสบความสำเร็จนั้น มีผู้วิเคราะห์กันว่า มี 3 ประเด็นคือ

ประการแรก จอมพลแฮร์มาน เกอริง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน ไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมกำลังทางอากาศขนาดใหญ่ เขาเคยเป็นเสืออากาศในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็จริง แต่การเป็นนักบิน กับการเป็นผู้บัญชาการกองทัพนั้น ต่างกันอย่างสิ้นเชิง การที่เขาเปลี่ยนเป้าหมายในการโจมตีทางอากาศไปเรื่อยๆ แทนที่จะโจมตีเมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น โจมตีลิเวอร์พูลวันหนึ่ง แล้วไปโจมตีเมืองปอร์ตสมัธในวันต่อมา แล้วก็เปลี่ยนไปโคเวนตรี้อีกวันหนึ่ง วิธีนี้ เท่ากับให้เวลากับเมืองเหล่านั้นในการฟื้นตัว เท่าๆกับให้เวลาในการเรียกขวัญและกำลังใจ ของชาวเมืองกลับมา

ประการที่สอง คือ นักบินอังกฤษสู้ในผืนดินตัวเอง เมื่อถูกยิงตก ก็จะได้รับการช่วยเหลือแล้วกลับขึ้นบินใหม่ ส่วนนักบินเยอรมัน รบไกลบ้าน มีขีดจำกัดทั้งด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และความชำนาญในภูมิประเทศ เมื่อถูกยิงหากไม่เสียชีวิตหรือ บาดเจ็บก็จะถูกจับเป็นเชลย บางส่วนที่เครื่องบินตกในช่องแคบอังกฤษ ถ้าโชคดีก็จะได้รับการช่วยเหลือจากเรือของเยอรมัน แต่ก็มีเป็นส่วนน้อย

ประการสุดท้ายคือ การใช้ระบบเรดาห์เตือนภัยของอังกฤษ ซึ่งสามารถทำให้อังกฤษรู้ว่า เครื่องบินของเยอรมันกำลังมุ่งไปทางทิศใด มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ระบบเรดาห์นี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอังกฤษในการรบเป็นอย่างมาก



จอมพลแฮร์มาน เกอริง (Reichsmarschall Hermann Goering) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมันหรือ Luftwaffe สร้างชื่อเสียงในการเป็นเสืออากาศในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เกิดในปี 1892 และเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ในปี 1946 ขณะถูกดำเนินคดีฐานเป็นอาชญากรสงคราม เมื่อเยอรมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง


-------------------------------------


ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สอง



Create Date : 13 กรกฎาคม 2552
Last Update : 19 สิงหาคม 2553 17:18:03 น. 5 comments
Counter : 11293 Pageviews.

 
บทความนี้พูดถุกต้อง เป็นเรื่องจริงทั้งหมด ฮิตเลอร์ได้รับชัยชนะเร็วเกินไป จึงเหมือนไม่ได้ทันคิดแผนโจมตีเกาะอังกฤษมาล่วงหน้า นายพลเรเดอร์โดนกดดันให้ยกพลขึ้นบก ซึ่งกองเรื่อลำลียงไม่ได้ทำมาเพื่อยกพลขึ้นบกเลย ผมดูภาพรถที่เบอรมันใช้ในตอนนั้น แย่สุดๆๆต่างกับเรือของลำเลียงของอังฤษกกับอเมริกาเลย ขืนบุกไป กว่าจะเอาทหารขึ้นบกแต่ละที ชุดแรกตายหมดก่อน ที่ชุดที่สองจะมาเสริมเสียอีก นายพลเรเดอร จึงบอกก่อนจะทำแบบนั้น ต้องครองน่านฟ้าเสียก่อน เกอรริงก็ไม่รู้ตัวเอาเสียเลยว่า กองทัพอากาศเองก้ไม่มีขีดความสามารถจะครองน่านฟ้าได้เลย นักบินเก่งจิง แต่เครื่องบินบินนานไม่ได้ แล้วแบบนี้จะครองน่านฟ้าได้ไง
ความไม่พร้อมของกองทัพเยอรมันทุกหน่วย มาจากสนธิสัญญาญแวร์ซาย ที่จำกัดขีดอาวุธของเยอรมัน เรือรบมีได้แค่เรือลาดตระเวณ รถถังเบา เครื่องบินที่ได้มีขีดความสามารถดูแลประเทศตัวเองได้เท่านั้น การสร้างอาวุธจึงเน้นที่น้ำหนักเบาเกราะเบาหมด ง่ายๆๆ การยึดประเทศนอรเวย์ กองทัพอากาศ ไม่ได้ครองน่านฟ้าเลย เป็นผลงานของกองทัพเรือกับกองทัพบกล้วนๆๆ จิงๆเรือของเยอรมันจมไปหลายลำ ทำให้กองทหารราบยึดนอรเวย์ตามลำพัง เห็นได้ชัดว่ากองทัพอากาศมีขีดความสามรถแย่มาก ข้อนี้นายพลเกอรริ่งกลับละเลย


โดย: โก๋ IP: 61.91.94.178 วันที่: 13 สิงหาคม 2552 เวลา:15:39:42 น.  

 
ชอบ มากก


โดย: บิ๊ก แม่ฮ่องสอน IP: 118.172.60.66 วันที่: 15 กันยายน 2552 เวลา:23:40:21 น.  

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:22:20:16 น.  

 
หากฮิตเลอร์ทุ่มกำลังบุกอังกฤษก่อนค่อยบุกโซเวียตสงครามคงไม่จบแบบนี้


โดย: ดชด IP: 223.206.136.85 วันที่: 21 มกราคม 2555 เวลา:15:24:11 น.  

 
ความคิดของจอมพลอากาศอัลแบร์ต แคสเซิลริ่งถูกต้องที่สุด
คือการทำลายจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางการทหาร ทั้งโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ โรงงานผลิตเครื่องบิน ค่ายทหารและรวมไปถึงเสาอากาศทั้งหลาย เห้อเสียดายมี่ลุฟท์วาฟเฟ่อดันมีผู้บัญชาการกองทัพอากาศห่วยแตกอย่างเกอริ่ง การครองน่านฟ้าจึงล้มเหลว ผมว่าบุคลาการในกองทัพอากาศเยอรมันไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บัญชาการหน่วยต่างๆ รวมถึงนายทหารระดับนักบินมีความสามารถเก่งๆเยอะมาก แต่เจอผู้บัญชาการไร้ประสิทธิภาพอย่างเกอริ่งก็เท่านั้น
เอาแต่โจมตีเมืองหลวง เมืองใหญ่ แต่ไม่มีกำลังทางบกเข้ายึดครองมันจะไปมีประโยชน์อะไร ได้อย่างเดียวคือเมืองเสียหาย


โดย: จอมพล IP: 49.229.142.104 วันที่: 24 ตุลาคม 2560 เวลา:22:22:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.