|
สงครามสายฟ้าแลบของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามสายฟ้าแลบของนาซีเยอรมัน
โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ Master of International Relations (with merit) Victoria University of Wellington, New Zealand

แนวความคิดเรื่อง สงครามสายฟ้าแลบ หรือ บลิซครีก (Blitzkrieg) ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาโดย นายพล ไฮน์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) แห่งกองทัพบกเยอรมัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
หลักการของสงครามสายฟ้าแลบนั้น คือการใช้การสนธิกำลังของ หน่วยยานเกราะที่มีความเร็วและรุนแรง กับอำนาจการยิงของปืนใหญ่และเครื่องบิน รวมกับการเคลื่อนที่ที่รวดเร็วของทหารราบในการเข้ายึดพื้นที่
แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับสงครามสายฟ้าแลบนั้น มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่การรบ อย่างไรก็ตาม สงครามสายฟ้าแลบ หรือบลิซครีกนั้นมีขั้นตอนสรุปได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการ (Preparations) และรวบรวมข้อมูลข่าวสาร เพื่อหาจุดอ่อน หรือจุดที่เปราะบางที่สุด ในแนวตั้งรับของข้าศึก
การรวบรวมข้อมูลนี้ อาจกระทำโดยการใช้เครื่องบินขึ้นสังเกตุการณ์ทางอากาศ หรือรวบรวมจากประชาชนในท้องถิ่น หรือ วิธีการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวสารที่ต้องการ
จากนั้นก็เตรียมกำลังเพื่อที่จะเข้าตีจุดที่ต้องการ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว การเตรียมการเข้าตีนั้น เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร โดยเฉพาะการเข้าตีในระดับกองพล เพราะกองพลของเยอรมันนั้น มีกำลังพลถึงกว่า 17,000 คน ม้าอีกกว่า 4,000 ตัว ถ้าหากเป็นกองพลยานเกราะ (Panzer Division) ก็มีกำลังพลอยู่ที่ 14,000 คน ยานยนต์กว่า 3,000 คัน ปืนใหญ่นับร้อยกระบอก การเคลื่อนพลย่อมมีทั้งการจราจรที่ติดขัด การขนส่งทางรถไฟที่พลเรือนสามารถรับรู้ได้
... ดังนั้นขั้นตอนที่สอง ที่จะกล่าวต่อไปจึงเป็นสิ่งสำคัญ ...

ขั้นตอนที่ 2 การเข้าตีลวง (Faked attack)
เมื่อมีการเตรียมการตามขั้นตอนที่หนึ่ง ข้าศึกย่อมคาดการณ์ได้ว่า จะมีการปฏิบัติการทางทหารเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะเป็นที่ใดนั้น ข้าศึกยังไม่ทราบได้
ดังนั้นการเข้าตีลวง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อทำให้ข้าศึกเข้าใจว่าการปฏิบัติการทางทหารจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเข้าตีลวง ณ จุดที่ข้าศึกคาดการณ์เอาไว้ ส่วนการเข้าตีจริงนั้น จะเกิดขึ้นในจุดที่ข้าศึกไม่คาดคิดมาก่อน
การเข้าตีลวงนั้น หน่วยที่เข้าตีลวงอาจปฏิบัติการเข้าตีอย่างเต็มที่ เพื่อยึดที่หมายที่กำหนดไว้ เสมือนการเข้าตีจริง เพราะนอกจากจะสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับข้าศึกแล้ว ยังจะทำให้ข้าศึกถอนกำลังจากจุดที่เป็นเป้าหมายหลัก มาช่วยแนวรบด้านที่เกิดการรบ อันจะส่งผลให้แนวตั้งรับของข้าศึกที่ต้องการเข้าตีจริงมีความอ่อนแอ
ขั้นตอนที่ 3 การเข้าตีจริง (Main assault) การเข้าตีหลัก หรือการเข้าตีจริงนี้ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการประสานการเข้าตีของหน่วย 3 หน่วยหลัก คือ
1. หน่วยยานเกราะ หรือแพนเซอร์ (Panzer) ซึ่งนายพลกูเดเรียนกล่าวว่า บทบาทของหน่วยนี้สำคัญมาก การรบแบบสายฟ้าแลบจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับหน่วยยานเกราะ หน่วยยานเกราะจะเข้าตีเจาะไปที่แนวตั้งรับของข้าศึกที่ได้เลือกเอาไว้แล้วว่า เปราะบางและอ่อนแอที่สุด รวมทั้งก่อนการเข้าตีของหน่วยยานเกราะ แนวตั้งรับของข้าศึกจะถูกยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ และระดมทิ้งระเบิดด้วยเครื่องบินจนบอบช้ำมาก่อนแล้ว
เมื่อหน่วยยานเกราะสามารถเจาะแนวของข้าศึกได้แล้ว จะไม่หยุดอยู่ตรงจุดนั้น แต่จะรุกต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความเร็วสูงสุด (great speed) โดยมีทหารราบยานเกราะติดตามไปด้วย ทิ้งแนวตั้งรับของข้าศึกที่ถูกเจาะไว้ให้ทหารราบที่ตามมาข้างหลัง เข้ากวาดล้างและทำลาย
เมื่อใดก็ตามที่หน่วยยานเกราะพบกับการต้านทานที่แข็งแกร่ง หน่วยยานเกราะจะตีวงโอบล้อมข้าศึก และใช้ทหารราบเข้าปฏิบัติการรบ เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียของหน่วยยานเกราะ โดยยานเกราะจะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนต่อทหารราบ 2 อย่างคือ ทำลายรถถังของฝ่ายตรงข้าม และทำลายป้อม ค่าย รังปืนกล หรือ แนวต้านทานที่แข็งแกร่งเกินกว่าที่กำลังทหารราบจะทำลายได้
จากนั้นหน่วยยานเกราะจะรุกต่อไปด้วยความเร็วสูงสุด ซึ่งการรุกอย่างไม่หยุดยั้งนี้ จะส่งผลให้แนวหลังของข้าศึกเกิดความสับสนและตกใจ

2. หน่วยทหารราบ (Infantry)
ทหารราบจะเป็นผู้ยึดครองพื้นที่ ในขณะที่หน่วยยานเกราะจะยังคงรุกต่อไปข้างหน้า ดังนั้นทหารราบจึงมีความสำคัญมากในการรบแบบสายฟ้าแลบ เพราะนอกจากจะเป็นผู้ยึดพื้นที่แล้ว ยังเป็นผู้กวาดล้างข้าศึกที่แตกกระจัดกระจาย อยู่ในวงล้อม (Pocket) ต่างๆ
ทหารราบบางส่วนยังต้องทำหน้าที่ในการรักษาสะพาน และเส้นทางต่างๆ ไม่ให้ถูกทำลายโดยข้าศึก เพราะหน่วยยานเกราะมีความจำเป็นที่ต้องรักษาความเร็วในการรุก หากสะพานหรือถนนถูกทำลาย การรุกของหน่วยยานเกราะจะหยุดชะงักลงทันที อย่างน้อยก็ในช่วงที่รอคอยการซ่อมแซมของหน่วยทหารช่าง
นายพลกูเดเรียนกล่าวว่า หน่วยทหารราบตามการรบแบบสายฟ้าแลบนี้ ต้องมียุทโธปกรณ์ที่สมบูรณ์ เช่นมีทั้งปืนใหญ่ ปืนกล ระเบิด และที่ขาดไม่ได้คือยานยนต์หุ้มเกราะลำเลียงพล (Armoured Personnel Carriers - APC) ที่จะทำให้ทหารราบเคลื่อนที่ได้เร็วเท่าๆกับหน่วยยานเกราะ
แผนที่การรุกเข้าสู่โปแลนด์ ในปี 1939 ตามแบบสงครามสายฟ้าแลบ หรือ บริซครีก เส้นแนวประสีแดง คือเส้นทางการรุกของเยอรมัน วงกลมสีน้ำเงินคือวงล้อมที่ทหารโปแลนด์ถูกล้อม จะเห็นได้ว่า การรุกแบบสายฟ้าแลบ จะทำให้ข้าศึกตกอยู่ในวงล้อม หลายๆวงล้อมพร้อมๆกัน โดยหน่วยยานเกราะเยอรมันจะเป็นผู้ใช้ความเร็วเข้าตีโอบ ทำให้เกิดวงล้อม (Pocket) แล้วให้ทหารราบเข้ากวาดล้างวงล้อมต่างๆ สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และเครื่องบินทิ้งระเบิด จนวงล้อมแต่ละวงล้อมอ่อนแอลง และยอมแพ้ในที่สุด
3. การสนับสนุนทางอากาศของกองทัพอากาศเยอรมัน หรือ ลุฟวาฟ (Luftwaff) เครื่องบินเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรบแบบสายฟ้าแลบ ตามทฤษฎีของนายพลกูเดเรียน มันทำหน้าที่เสมือนปืนใหญ่ลอยฟ้า โจมตีทิ้งระเบิดใส่ข้าศึกทั้งที่กำลังตั้งรับ ต่อสู้ หรือร่นถอย หรือแม้แต่ที่กำลังตกอยู่ในวงล้อม
และนอกจากการทำลายการต่อต้านทางภาคพื้นดินแล้ว กองทัพอากาศเยอรมันยังทำหน้าที่ในการกวาดล้างเครื่องบินของข้าศึกออกไปจากท้องฟ้า เพื่อการครองอากาศอย่างแท้จริงอีกด้วย
ทั้งนี้เพราะกำลังทางภาคพื้นดินของเยอรมันนั้น เปราะบางต่อการโจมตีทางอากาศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะมีปืนต่อสู้อากาศยานมากเพียงใดก็ตาม
 เครื่องบิน เจ ยู 87 สตูก้า ซึ่งมีบทบาทมากในการรบแบบสายฟ้าแลบ มันจะทำหน้าที่เสมือนปืนใหญ่บนท้องฟ้า ทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายตั้งแต่ก่อนการเข้าตีของหน่วยยานเกราะ จากนั้นก็จะคอยโจมตีเป้าหมายต่างๆ ร่วมกับหน่วยยานเกราะที่กำลังรุกไปข้างหน้า สุดท้ายเครื่องบินชนิดนี้ ยังทำหน้าที่ทิ้งระเบิดทำลายหน่วยทหาร ที่ตกอยู่ในวงล้อมของทหารเยอรมัน เพื่อบีบบังคับให้ยอมจำนนในที่สุด คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า เมื่อพูดถึงการรบแบบสายฟ้าแลบเมื่อใด เราก็จะนึกถึงภาพการดำทิ้งระเบิดของ เจ ยู 87 สตูก้า พร้อมด้วยเสียงโหยหวนของไซเรนที่ติดอยู่กับเครื่อง ขึ้นมาควบคู่ไปด้วยทุกครั้ง
ขั้นตอนที่ 4 ดำเนินการรุกต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งความเร็วและความรุนแรง จนกว่าข้าศึกจะถูกทำลายหรือยอมจำนน
ขั้นตอนนี้ก็คือ การกวาดล้างทำลายกำลังของข้าศึกที่หลงเหลือให้หมดไป ทั้งที่กระจัดกระจายอยู่ และที่ตกอยู่ในวงล้อมต่างๆ การรุกอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดหย่อนนี้ จะทำให้ข้าศึกเสียขวัญ สับสน บางครั้งกองบัญชาการของตนถูกโอบล้อม ทหารที่เหลือขาดการบังคับบัญชา จึงตัดสินใจยอมแพ้โดยมิได้ต่อสู้ก็มี ดังเช่นที่เกิดขึ้นในการรบช่วงแรกๆ ในรัสเซีย ที่มีทหารรัสเซียยอมจำนนเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการรุกแบบสายฟ้าแลบนี่เอง
จะเห็นได้ว่าทั้งสี่ขั้นตอน ของการรบแบบสายฟ้าแลบนั้น กองกำลังฝ่ายรุกจะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งหน่วยยานเกราะ หน่วยทหารราบ และหน่วยบินของกองทัพอากาศ
 นายพลไฮน์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) แห่งกองทัพบกเยอรมัน ผู้ก่อกำเนิดทฤษฎีการรบแบบสายฟ้าแลบ หรือ บริซครีก (Blitzkrieg) ขึ้นเป็นคนแรก นอกจากเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีแล้ว เขายังเป็นผู้นำไปใช้ด้วยตัวเอง ระหว่างการรุกเข้าสู่ประเทศฝรั่งเศสของกองทัพนาซีเยอรมัน ซึ่งการรบประสบผลสำเร็จอย่างมาก และสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเขา จนโลกรู้จักมาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้นนายพลกูเดเรียนจึงได้ประยุกต์การใช้วิทยุติดต่อสื่อสาร ซึ่งในสมัยนั้นเป็นวิวัฒนาการใหม่ ที่อังกฤษเป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้กับยานเกราะ นายพลกูเดเรียนพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุ จนผู้บังคับหน่วยระดับสูง สามารถสั่งการไปยังรถถังเป็นรายคันในแนวหน้าได้เลยทีเดียว ซึ่งการพัฒนาดังกล่าว ถือเป็นการก่อกำเนิดการสื่อสารระหว่างยานเกราะกับหน่วยข้างเคียง และเป็นแบบอย่างในการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจาก //www.geocities.com/saniroj โดย พันโทศนิโรจน์ ธรรมยศ
Create Date : 23 พฤศจิกายน 2551 |
Last Update : 25 มิถุนายน 2556 11:14:18 น. |
|
8 comments
|
Counter : 11596 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: บิ๊ก แม่ฮ่องสอน IP: 118.172.60.66 วันที่: 15 กันยายน 2552 เวลา:23:45:14 น. |
|
|
|
โดย: โต้ง IP: 192.168.20.145, 202.28.84.49 วันที่: 17 กันยายน 2552 เวลา:13:55:06 น. |
|
|
|
โดย: สกล ศุภมาศ IP: 61.19.228.46 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2552 เวลา:16:30:48 น. |
|
|
|
โดย: sarawut2214015รองหัวหน้าหน่วยSS IP: 118.173.239.24 วันที่: 15 มกราคม 2554 เวลา:11:50:43 น. |
|
|
|
โดย: จิ้งจอกทะเลทราย IP: 110.49.224.211 วันที่: 27 กันยายน 2554 เวลา:10:49:15 น. |
|
|
|
โดย: Erwin Rommel IP: 125.25.124.47 วันที่: 11 มกราคม 2556 เวลา:11:05:05 น. |
|
|
|
โดย: ni jaa IP: 106.0.195.55 วันที่: 26 กรกฎาคม 2556 เวลา:12:03:57 น. |
|
|
|
โดย: The-LEon IP: 223.205.242.117 วันที่: 21 มีนาคม 2561 เวลา:2:08:58 น. |
|
|
|
| |
|
|