|
ฮิตเลอร์ เทพเจ้าหรือปีศาจ ตอนจบ (สงครามโลกครั้งที่ 2)
ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2
ฮิตเลอร์ เทพเจ้าหรือปืศาจ ตอนที่ 4 (ตอนจบ)
ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552
โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ
(สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ทำซ้ำหรือลอกเลียนโดยไม่ได้รับอนุญาต)

(ต่อจากตอนที่ 3)
ในขณะที่การรบในรัสเซียเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการสำหรับฝ่ายเยอรมัน ดังเช่นในช่วงเดือนตุลาคม ปี 1941 อันเป็นฤดูใบไม้ร่วงในรัสเซีย พื้นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเปลี่ยนสภาพเป็นโคลนเลน ดังที่ชาวรัสเซียขนานนามฤดูนี้ว่า รัสปูติทซ่า (Rasputitsa) หรือ ฤดูแห่งโคลนเลน (the season of mud) ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญของการเคลื่อนที่ของเหล่ายานยนต์ต่างๆ รวมทั้งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างไม่น่าเป็นไปได้
อาทิกลุ่มยานเกราะที่ 2 ของกองทัพเยอรมันที่ปฏิบัติการรบในพื้นที่โอเรล (Orel) ต้องสูญเสียรถถังไปถึง 60 เปอร์เซ็นต์อันเนื่องมาจากจมอยู่ในโคลนเลนที่มีความลึกอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือกองพลยานเกราะที่ 4 ที่รุกไปทางเหนือของเมือง กซ์ารสค์ (Gzharsk) ก็ต้องสูญเสียรถถังไปถึง 50 คันในบ่อโคลนโดยไม่มีโอกาสได้ทำการยิงสู้รบในสมรภูมิเลยแม้แต่นัดเดียว
ฤดูแห่งโคลนเลนดังกล่าวทำให้แผนการรบแบบสายฟ้าแลบของเยอรมันที่ต้องมี ความเร็วในการรุก (Speed) เป็นองค์ประกอบสำคัญ เสื่อมประสิทธิภาพลงอย่างสิ้นเชิง ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ กองบัญชาการของเยอรมันกลับมองว่า การต่อสู้กับโคลนเลนของฤดูใบไม้ร่วงในรัสเซียนี้ก็คือ การทุ่มกำลังเคลื่อนที่ฝ่าไปเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเร็วในการรุก การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น นอกจากนี้แม้ว่าเยอรมันจะต้องเผชิญกับฤดูแห่งโคลนเลนแล้ว อุปสรรคในแนวรบด้านรัสเซียก็ยังไม่หมดลงไปง่ายๆ เพราะสิ่งที่ย่ำแย่ไปกว่าฤดู รัสปูติทซ่า ที่กำลังรอคอยกองทัพเยอรมันอยู่ก็คือ ฤดูหนาว นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด ฮิตเลอร์ก็ยังคงมุ่นมั่นในการพิชิตศึกด้านตะวันออกนี้ให้ได้ เขาทุ่มเทเวลาในการวางแผนการรบด้วยตนเอง ในเดือนพฤศจิกายน 1941 กลุ่มกองทัพเหนือ กลางและใต้ของเยอรมันที่รุกเข้าสู่รัสเซียร่วมประชุมหารือกันที่เมืองออร์ช่า (Orsha) ซึ่งกลุ่มกองทัพเหนือและใต้เสนอว่า จากการรุกมาเป็นระยะทางอันยาวไกล ทำให้ทั้งสองกลุ่มกองทัพไม่สามารถจะรุกต่อไปได้ ต้องรอการส่งกำลังบำรุงที่กำลังตามมาเพื่อทำการปรับกำลัง ก่อนจะเคลื่อนที่ต่อไป
มีเพียงกลุ่มกองทัพกลางเท่านั้นที่ยืนยันว่า ตนยังพอมีศักยภาพเพียงพอที่จะรุกต่อไปเพื่อยึดกรุงมอสโคว์ เพียงแต่รอให้ถึงฤดูหนาวซึ่งจะทำให้โคลนเลนต่างๆ จับตัวเป็นน้ำแข็งก่อน จึงจะทำให้รถถังและยานเกราะเคลื่อนที่ไปได้ จอมพลฟอน ครุก (Von Kluge) ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพกลางถึงกับลงพื้นที่แนวหน้าเพื่อสอบถามกำลังพลของเขาว่า มีความพร้อมเพียงใดในการรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายเพื่อยึดเมืองหลวงของรัสเซีย แต่เนื่องจากเยอรมันมีข้อมูลเกี่ยวกับฤดูหนาวของรัสเซียน้อยมาก กองทัพกลุ่มกลางจึงตัดสินใจทุ่มเทกำลังทั้งหมดที่มีอยู่รุกเข้ายึดกรุงมอสโคว์ทันทีที่ฤดูหนาวมาถึง
และในวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี 1941 อุณหภูมิก็ลดลงอย่างรวดเร็วจนถึง ลบสามสิบองศา พร้อมด้วยหิมะที่ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา กำลังหนุนอันเข้มแข็งที่ธรรมชาติมอบให้รัสเซียมาถึงแล้ว
ในวันที่ 4 ธันวาคม 1941 ฤดูหนาวอันรุนแรงทำให้แนวรุกของกลุ่มกองทัพกลางทุกแนวหยุดนิ่งอยู่ชานกรุงมอสโคว์ แม้หน่วยลาดตระเวนของกองพล เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ (2nd SS Division Das Reich) จะรุกไปจนถึงเขตพื้นที่รอบนอกของระบบรถรางกรุงมอสโคว์ซึ่งอยู่ห่างจากพระราชวังเครมลินเพียง 12 กิโลเมตร และสามารถมองเห็นกรุงมอสโคว์ เมืองหลวงของรัสเซียในระยะสายตาได้แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถรุกคืบหน้าต่อไปได้ เนื่องจากกำลังพลและยุทโธปกรณ์ของเยอรมันส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความหนาว

พวกเขาต้องอาศัยผู้ปูที่นอนสีขาวที่ยึดมาจากชาวบ้าน มาตัดคลุมเครื่องแบบเพื่อใช้พรางตัวจากการตรวจการณ์ของทหารรัสเซีย ทหารเยอรมันหลายคนถูกหิมะกัดจนเป็นแผลน่ากลัว น้ำมันที่ใช้ชโลมปืนจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็ง ทำให้อาวุธปืนใช้การไม่ได้ รถถังและยานยนต์จอดนิ่งสนิทอันเนื่องมาจากน้ำมันเครื่องจับตัวเป็นน้ำแข็ง ชัยชนะเหนือรัสเซียที่คาดหวังไว้ ได้หลุดปลิวไปจากมือของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์อย่างน่าเสียดาย
วันที่ 6 ธันวาคม ปี 1941 ฝ่ายรัสเซียเปิดฉากการรุกตอบโต้ทหารเยอรมันที่หยุดชะงักอยู่ชานกรุงมอสโคว์อย่างรุนแรง แต่ฮิตเลอร์ก็ออกคำสั่งหมายเลข 39 ซึ่งเป็นการสั่งการโดยตรงจากตัวเขาเองให้ทหารทุกนายรักษาที่มั่นจนคนสุดท้าย แต่ในขณะนี้ทหารเยอรมันไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรักษาแนวตั้งรับของตนไว้ได้ ฝ่ายเสนาธิการของฮิตเลอร์หลายคนรวมทั้งนายพลไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ผู้ก่อกำเนิดหน่วยยานเกราะของเยอรมัน ต่างลงความเห็นว่าเยอรมันไม่สามารถที่จะรักษาแนวตั้งรับของตนไว้ได้ จึงออกคำสั่งให้ทหารเยอรมันล่าถอยลงมาจัดตั้งแนวตั้งรับขึ้นใหม่บริเวณแม่น้ำ Oka โดยปราศจากความเห็นชอบของฮิตเลอร์ ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตของทหารเอาไว้
ในวันต่อมาญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ ทำให้สหรัฐอเมริกากระโจนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง การโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ของญี่ปุ่น เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้แจ้งให้เยอรมันทราบล่วงหน้ามาก่อน เหมือนกับที่ฮิตเลอร์ไม่ได้แจ้งให้ญี่ปุ่นทราบถึงการบุกรัสเซียของเขา
นอกจากนี้ยังมีเอกสารอ้างอิงหลายฉบับที่บ่งบอกว่า สาเหตุที่ญี่ปุ่นไม่ได้ส่งสัญญาณให้ฮิตเลอร์ทราบถึงการบุกเพิร์ลฮาเบอร์ น่าจะมาจากกองทัพญี่ปุ่นในขณะนั้นประเมินสหรัฐฯ ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก จึงคาดการณ์ว่าการเข้าสู่สงครามของสหรัฐฯ ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหากับเยอรมันมากนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างเป็นไปในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง การก้าวเข้าสู่สงครามของสหรัฐฯ เท่ากับเป็นการก้าวเข้ามาปิดประตูแห่งชัยชนะของอาณาจักรไรซ์ที่สามของฮิตเลอร์อย่างถาวร
ในขณะที่ญี่ปุ่นพาลางร้ายแห่งความหายนะมามอบให้กับฮิตเลอร์ สถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันออกก็เต็มไปด้วยความตึงเครียด ทหารเยอรมันถูกรัสเซียรุกจนต้องปรับแนวรุกให้เป็นแนวตั้งรับในเกือบทุกด้าน สิ่งเหล่านี้ทำให้ฮิตเลอร์ขาดความเชื่อมั่นในฝ่ายเสนาธิการประจำกองบัญชาการของเขา ทำให้เขาเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายเสนาธิการอย่างสม่ำเสมอ และนับจากนั้นมากองบัญชาการสูงสุดของเยอรมันก็ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลยหากปราศจากการเห็นชอบจากฮิตเลอร์
นักวิเคราะห์มองการออกคำสั่งหมายเลข 39 ที่ให้ทหาร รักษาที่มั่นจนคนสุดท้าย ของฮิตเลอร์ในการรบที่มอสโคว์นั้นว่ามีที่มาจากข่าวกรองที่ผิดพลาด ที่ประเมินว่ารัสเซียไม่มีกำลังหนุนเหลืออยู่อีกแล้ว เพราะรัสเซียต้องคงกำลังทหารส่วนหนึ่งเอาไว้ทางเอเชียเพื่อป้องกันการบุกของญี่ปุ่น และข่าวกรองที่ผิดพลาดของเยอรมันนี้เอง ที่ทำให้ฮิตเลอร์เชื่อว่าการตอบโต้ของรัสเซียจะมีเพียงระยะสั้นๆ เนื่องจากมีกำลังพลที่จำกัดนั่นเอง
แต่เนื่องจากสตาลิน ผู้นำรัสเซียได้รับข่าวจากสายลับของเขาว่า ญี่ปุ่นไม่มีแผนที่จะบุกรัสเซียเพราะจำเป็นต้องทุ่มกำลังทั้งหมดบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สตาลินย้ายกำลังหนุนซึ่งสำรองเอาไว้จำนวน 58 กองพลจากไซบีเรียมาใช้ในการรุกตอบโต้เยอรมัน โดยไม่ต้องกังวลต่อภัยคุกคามทางเอเชียแต่อย่างใด

ในวันที่ 20 ธันวาคม 1941 ฮิตเลอร์ประกาศยกเลิกคำสั่ง ถอย ที่ฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันส่งไปยังแนวหน้า แม้จะมีข้อโต้แย้งจากฝ่ายเสนาธิการว่า ทหารเยอรมันไม่สามารถแม้แต่จะขุดสนามเพลาะในการตั้งรับได้ เนื่องจากพื้นดินกลายเป็นน้ำแข็ง ฮิตเลอร์ก็โต้แย้งว่า หากทหารไม่สามารถขุดสนามเพลาะด้วยพลั่วสนามเพื่อจัดแนวตั้งรับได้ ก็ให้ใช้ กระสุนปืนใหญ่ ระเบิดเจาะน้ำแข็งให้เป็นสนามเพลาะ นายพลกูเดเรียนพยายามชี้แจงว่า ยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของทหารในขณะนี้เป็นผลมาจากอากาศที่หนาวเย็นมากกว่าเป็นผลมาจากการสู้รบ เห็นควรให้ทหารล่าถอยและรอให้อุปกรณ์ป้องกันความหนาวเย็นที่กำลังหยุดชะงักอยู่ที่โปแลนด์ไปถึงก่อน
ผลของการโต้แย้งดังกล่าวทำให้กูเดเรียนถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในฝ่ายเสนาธิการ พร้อมกับผู้โต้แย้งคนอื่นๆ เช่น พลเอกวอลเธอร์ ฟอน บราวชิทส์ (Walther von Brauchitsch) ผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งเป็นคนที่ฮิตเลอร์ไว้ใจและใกล้ชิดมากที่สุดมาตั้งแต่ก่อนสงครามก็ถูกปลดออกเช่นกัน และฮิตเลอร์ก็เข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน ณ เวลานี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า หากผู้ใดต้องการอยู่รอด กฎข้อหนึ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ห้ามโต้แย้งท่านผู้นำในทุกกรณี
นักวิเคราะห์หลายคนพยายามอธิบายแนวความคิดในการ รักษาที่มั่นจนคนสุดท้าย ของฮิตเลอร์ว่า อาจเป็นเพราะฮิตเลอร์ศึกษาการถอยทัพของนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) เมื่อครั้งพ่ายแพ้ต่อรัสเซีย เนื่องจากการล่าถอยท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็นนั้น จะง่ายต่อการตกเป็นเป้าหมายของการค้นหาและทำลายจากศัตรู แต่หากยึดที่มั่นอยู่ในสนามเพลาะเหมือนกับที่ฮิตเลอร์มีประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรักษาชีวิตของทหารเยอรมันเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม บทพิสูจน์หนึ่งที่ทำให้เห็นว่า การตัดสินใจสั่งการให้รักษาที่มั่นจนทหารคนสุดท้ายของฮิตเลอร์ผิดพลาดก็คือ แนวตั้งรับของเยอรมันถูกทหารรัสเซียบุกทะลวงเข้าใส่จนแตกพ่ายไปเกือบทุกแห่ง กองทัพเยอรมันต้องล่าถอยเป็นระยะทาง 100 ถึง 250 กิโลเมตรจากกรุงมอสโคว์ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน พรสวรรค์ของฮิตเลอร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น นักยุทธศาสตร์ อันยอดเยี่ยม ไม่สามารถนำมาทดแทนความไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมบังคับบัญชากำลังทหารในสนามรบได้เลย
ฮิตเลอร์เองก็ดูเหมือนจะตระหนักถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเขาเอง เขากลายเป็นคนเครียดและเงียบขรึม จากคำบอกเล่าของโจเซฟ เกิบเบิล (Josef Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการผู้ที่มีความใกล้ชิดกับฮิตเลอร์มากที่สุดคนหนึ่ง ได้เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 1942 ว่า เขาตกใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ไม่ได้พบท่านผู้นำมาหลายสัปดาห์
.... ฮิตเลอร์ดูแก่ลงอย่างมาก เส้นผมของเขาเปลี่ยนเป็นสีเทา ....
ซึ่งฮิตเลอร์ให้เหตุผลว่าเป็นเพียงเพราะเขาเป็นไข้และรู้สึกเวียนศีรษะเท่านั้นเอง ฮิตเลอร์กลายเป็นคนที่รับฟังคำแนะนำของผู้อื่นน้อยลง เขาปักใจเชื่อในข้อมูลที่ผิดๆ อันเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซี หลงเชื่อในความเป็นนักรบชั้นเลิศของหน่วยทหาร เอส เอส ที่เขาก่อตั้งขึ้นว่าเป็นหน่วยรบที่จะไม่มีวันพบกับความพ่ายแพ้ในทุกกรณี หลงเชื่อในยุทโธปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่ เช่น จรวด วี 1, จรวด วี 2, รถถัง Tiger I และ Panther ว่าจะเป็นอาวุธที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องย่อยยับไปในพริบตา จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลสุดท้ายฮิตเลอร์ได้ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อที่พรรคนาซีของเขาทำขึ้นเองไปเสียแล้ว
ในช่วงต้นปี 1942 ฮิตเลอร์ตระหนักดีว่า เขาจำเป็นต้องมีผู้ที่เป็นมืออาชีพมาช่วยเหลือในการตัดสินใจของเขา เขาจึงแต่งตั้ง อัลเบิร์ต สเปียร์ (Albert Speer) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุทโธปกรณ์ ซึ่งสเปียร์ก็ไม่ทำให้ฮิตเลอร์ผิดหวัง เขาสั่งเพิ่มกำลังการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนคิดค้นอาวุธอันทรงอานุภาพในห้วงเวลาไม่กี่เดือน กล่าวกันว่า อาวุธยุทธภัณฑ์รุ่นใหม่นี้เองที่ช่วยต่อลมหายใจของอาณาจักรไรซ์ที่สาม และลมหายใจของฮิตเลอร์ให้ยืดยาวออกไปอีกอย่างน้อยสองปีทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสเปียร์จะเร่งเสริมสร้างกำลังอาวุธมากมายเพียงใดก็ตาม เมื่อสงครามยืดเยื้อมาถึงช่วงกลางปี 1943 เยอรมันก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบต่อสัมพันธมิตรทั้งด้านกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งไม่สามารถเรียกความแข็งแกร่งและความได้เปรียบที่เคยมีในช่วงก่อนสงครามกลับมาได้อีกเลยจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

นอกจากนี้เยอรมันยังไม่เพียงแต่เสียเปรียบทางด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์เท่านั้น การรบในทุกๆ แนวรบ เยอรมันก็ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง นับจากความพ่ายแพ้ของกองทัพที่ 6 ที่เมืองสตาลินกราดของรัสเซีย เรื่อยไปจนถึงความพ่ายแพ้ของกองกำลังเยอรมันในแอฟริกา (DAK - Deutsches Afrikakorps) ของจอมพล เออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ที่เอล อลาเมน ในแอฟริกาเหนือ ซึ่งทำให้นายพลมอนทโกเมอรี่ (Montgomery) ของอังกฤษรุกคืบหน้าได้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถขับไล่กองกำลังแอฟริกาของเยอรมันออกไปจนพ้นแอฟริกาเหนือ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการรุกครั้งใหญ่ของรัสเซีย ที่เปิดฉากขึ้นในฤดูร้อนของปี 1943 อันเป็นการรุกที่ต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งจนกว่าจะถึงกรุงเบอร์ลินของเยอรมัน
มาถึงจุดนี้ ทำให้หลายคนมองย้อนกลับไปในช่วงต้นของสงคราม ช่วงที่ชัยชนะยังคงอยู่ในมือของเยอรมัน เป็นช่วงที่ฮิตเลอร์รับฟังคำปรึกษาหรือข้อแนะนำจากเหล่าเสนาธิการของเขาอย่างปราศจากข้อท้วงติง มาถึงช่วงกลางปี 1942 -1943 ฮิตเลอร์กลายเป็นผู้โดดเดี่ยวในการวางแผนการรบ น้อยคนนักที่จะกล้าคัดค้านความคิดของเขา เป็นที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่า เขากลับวางแผนการรบในช่วงปี 1943 โดยการใช้ยุทธวิธีแบบเดิมๆ ที่เคยใช้เมื่อปี 1939-1940 อาทิ การใช้แผนการรบแบบสายฟ้าแลบ ซึ่งแทบจะไม่มีโอกาสสร้างความประหลาดใจให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรได้อีกต่อไป อีกทั้งเยอรมันก็หมดศักยภาพในการครองอากาศเหนือน่านฟ้าสมรภูมิ ทำให้การสนับสนุนทางอากาศไม่สามารถเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังเช่น การเปิดยุทธการ ซิทาเดล (Citadel) กับรัสเซีย ที่ฮิตเลอร์เริ่มวางแผนการที่เป็นไปไม่ได้มากขึ้น โดยไม่ฟังคำท้วงติงจากขุนศึกผู้มีประสบการณ์อย่าง จอมพล อีริค ฟอน แมนสไตน์ ที่ขอให้เขาชะลอแผนการรบออกไปก่อนจนกว่ากองทัพเยอรมันจะมีความพร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่เพราะฮิตเลอร์เชื่อมั่นในความเป็นเลิศของทหารเอส เอส และเชื่อมั่นในศักยภาพของรถถังแบบ Panther ที่เพิ่งออกจากสายการผลิต และอาจจะเป็นเพราะเขากำลังอยู่ในโลกแห่งจินตนาการที่มองเห็นว่ากองทัพเยอรมันยังคงเปี่ยมไปด้วยศักยภาพกำลังรบเหมือนเมื่ออดีต 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้การรบที่เคริซ์ (Kursk) กลายเป็นหายนะของกองทัพเยอรมันในสมรภูมิด้านตะวันออกไปในที่สุด
นอกจากฤดูร้อนของปี 1943 จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ของกองทัพเยอรมันในแนวรบด้านรัสเซียแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นแห่งจุดจบของเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำอิตาลี ซึ่งร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับฮิตเลอร์มาตลอด โดยในวันที่ 10 กรกฎาคม 1943 ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ซิซิลี ส่งผลให้ กษัตริย์ของอิตาลีก็สั่งปลดมุสโสลินีออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 25 กรกฎาคม และลงนามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 8 กันยายน
ฮิตเลอร์ได้ออกปราศรัยกับชาวเยอรมันผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ กล่าวกันว่า เป็นคำปราศรัยที่หมดพลังและไร้แรงจูงใจ แตกต่างจากคำปราศรัยในช่วงต้นของสงครามที่เปี่ยมไปด้วยอำนาจและความกระตือรือร้นจนยากที่ผู้ฟังจะลืมเลือน หลังจากนั้นไม่นาน ฮิตเลอร์ก็สั่งให้หน่วย เอส เอส ของเขาบุกชิงตัวมุสโสลินีออกจากที่คุมขัง พร้อมทั้งประกาศให้มุสโสลินีเป็นผู้นำของ สาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลี (Italian Social Republic) ซึ่งในเวลานั้นใครๆ ก็ทราบกันดีว่า มันคือสิ่งที่เพ้อฝันอย่างสิ้นเชิง
สำหรับการรบทางด้านตะวันออก กระแสคลื่นของทหารรัสเซียก็ถาโถมเข้าใส่แนวตั้งรับของเยอรมันไปทุกหนทุกแห่ง จนทหารนาซีเยอรมันต้องเป็นฝ่ายล่าถอยในทุกแนวรบ แม้จะมีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเต็มความสามารถว่า การล่าถอยนั้นเป็นเพียงการหลอกล่อให้ทหารรัสเซียเข้ามาตกหลุมพรางที่เยอรมันขุดเอาไว้ แล้วเยอรมันก็จะทำลายกองทัพรัสเซียเหล่านั้นจนสิ้นซาก
แต่ประชาชนชาวเยอรมันเริ่มตระหนักดีว่า ความจริงในขณะนี้คือ เยอรมันกำลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ความนิยมในตัวของฮิตเลอร์ตกต่ำลงอย่างมาก เขากลายเป็นคนเครียด มือขวาและขาขวามีอาการสั่นอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นอาการของโรคพาร์กินสัน (Parkinsons) เวลาเดิน เขาต้องลากเท้าซ้ายแทนการยกเท้าก้าวเดินอย่างที่เคยทำมาในอดีต ด๊อกเตอร์ โมเรล (Dr.Morell) แพทย์ประจำตัวของฮิตเลอร์ได้สั่งยาหลายขนานให้กับเขาเพื่อรักษาโรคเหล่านี้ ฮิตเลอร์กลายเป็นผู้ที่เก็บตัวเสมือนฤาษีที่หมกตัวอยู่แต่ในถ้ำ

ครั้งหนึ่ง โจเซฟ เกิบเบิลได้บันทึกเอาไว้ในไดอารี่ของเขาภายหลังที่พบกับฮิตเลอร์ว่า
..... มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ท่านผู้นำมีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ เขานั่งอยู่ในที่หลบภัยของเขา ดูท่าทางวิตกกังวล .....
ช่วงนี้ฮิตเลอร์ดูจะอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ไม่มีใครทราบว่าเขาจินตนาการอาณาจักรไรซ์ที่สามของเขาไว้อย่างไร แต่เขาปฏิเสธที่จะออกไปเยี่ยมเยียนชาวเยอรมันในเมืองต่างๆ ที่ถูกสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด มีเพียงไม่กี่ครั้งที่เขาออกไปพบกับภาพเหล่านั้น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจยอมรับได้ว่ามันเป็นความจริง
เกิบเบิลบันทึกไว้เมื่อเดือนกันยายน 1943 ว่า
..... ขณะนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า เขาถูกนำทางด้วยความเกลียดชัง ไม่ใช่ด้วยเหตุผล ..... ในช่วงปี 1943 -1944 ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะบ่อนทำลายเยอรมันไปเสียทั้งหมด ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี (Normandy) ของฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน ปี 1944 เท่ากับเป็นการเปิดแนวรบด้านที่สองสำหรับเยอรมัน จุดจบของอาณาจักรไรซ์ที่สามกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
วันที่ 20 มิถุนายน 1944 พันเอก เคล้าส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนเบอร์ก (Claus Von Stauffenberg) พยายามสังหารท่านผู้นำในรังหมาป่า (Wolfsschanze - Wolfs Lair) ในปรัสเซียตะวันออก แม้เป็นการดำเนินการที่เกือบจะประสบความสำเร็จ แต่โชคชะตาของประเทศเยอรมันยังคงต้องพบกับความหายนะอันยิ่งใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้กลุ่มผู้ก่อการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกือบ 5,000 คนถูกประหารชีวิต
ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความโหดเหี้ยมของฮิตเลอร์ เพราะการสังหารผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารในวันที่ 20 มิถุนายน หรือ 20th July Plot นับเป็นการสั่งการโดยตรงจากตัวของฮิตเลอร์เอง
แม้แต่ศพของสเตาฟ์เฟนเบอร์กก็ยังถูกฮิตเลอร์สั่งให้ทหาร เอส เอส ขุดขึ้นมาจากหลุมฝังศพในวันรุ่งขึ้น เพื่อปลดเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) และเหรียญกล้าหาญอื่นๆ ออกจากเครื่องแบบก่อนที่จะนำศพไปเผาทำลาย
หากศึกษาถึงมูลเหตุของการลอบสังหารฮิตเลอร์ในครั้งนี้ก็จะพบว่า มีสาเหตุมาจากการไม่ยอมเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรของเขา ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการต่างเห็นตรงกันว่า เยอรมันแพ้สงครามอย่างแน่นอนแล้ว หนทางที่รักษาชีวิตของทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ชาวเยอรมัน ตลอดจนทรัพย์สินและประเทศเยอรมันเอาไว้ ก็คือการเจรจาเพื่อขอสงบศึกหรืออาจถึงขั้น ยอมแพ้ อันเป็นการกระทำที่ฮิตเลอร์ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้
มีการวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ฮิตเลอร์ไม่ยอมเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรออกเป็น 2 มุมมอง
มุมมองแรก ดังที่ทราบกันแล้วว่าในช่วงตั้งแต่ปี 1943 เป็นต้นมา ฮิตเลอร์อยู่ในโลกของจินตนาการ ซึ่งเป็นจินตนาการที่เจือปนไปด้วยความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นอาวุธใหม่ๆ อันทรงอานุภาพ ความสำเร็จของทหารเอส เอส ในการรบที่คาร์คอฟ (Kharkov) และความเชื่อมั่นในศักยภาพของชนชาติอารยัน จินตนาการนี้ทำให้ฮิตเลอร์เชื่ออย่างมั่นคงว่า เยอรมันยังไม่แพ้ ดังจะเห็นได้จากชัยชนะเหนือฝ่ายสัมพันธมิตรในการรบช่วงชิงสะพานอาร์นเน็ม (Arnhem) ในฮอลแลนด์ในปลายปี 1944 การยึดแอนท์เวปป์ (Antwerp) ของกองทัพที่ 15 ของเยอรมันได้นานกว่าที่คาดหวังไว้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการที่เชื่อมั่นว่า เยอรมันยังไม่แพ้ และอาจเลยเถิดไปจนถึงขั้นเยอรมันยังมีโอกาสใน ชัยชนะ อีกด้วย
เหตุผลเหล่านี้สนับสนุนแนวคิดในการวางแผนการรุกครั้งใหญ่ของเยอรมันด้วยรถถังอันทรงอานุภาพรุ่นใหม่ล่าสุด นั่นคือ Tiger II ในการรบที่ป่าอาร์เดนส์ (Ardennes) ที่ซึ่งจอมพลอีริค ฟอน แมนสไตน์ (Erich von Manstein) เคยนำกำลังทหารเยอรมันฝ่าป่าทึบและขุนเขาเข้ายึดครองเบลเยี่ยมและฝรั่งเศสสำเร็จมาแล้วในปี 1940 ส่งผลให้เกิดการรบที่เมืองบาสตองก์ขึ้น แม้เยอรมันจะพ่ายแพ้ สูญเสียทหารไปกว่า 120,000 คน จนฮิตเลอร์ต้องสั่งให้ยกเลิกการปฏิบัติการดังกล่าวในวันที่ 8 มกราคม 1945 ก็ตาม แต่ก็ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องยกเลิกความคิดที่จะไปฉลองปีใหม่ปี 1945 ในกรุงเบอร์ลิน พร้อมๆ กับยกเลิกความคิดที่ว่า เยอรมันหมดพิษสงลงแล้ว
ซึ่งหากมองฮิตเลอร์จากมุมมองนี้ ก็จะเห็นว่า ฮิตเลอร์มีความเป็นนักสู้อย่างแท้จริง เมื่อยังไม่ถึงลมหายใจเฮือกสุดท้าย เขาก็พร้อมที่จะสร้างความเสียหายให้กับศัตรูได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ความมุมานะอุตสาหะดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากความสำเร็จในชีวิตของเขาที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมานานัปการก็เป็นได้
แต่หากมองฮิตเลอร์อีกมุมมองหนึ่งก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า เขาเป็นคนที่มีความถือดี ดื้อรั้นแบบหัวชนฝา อันเป็นบุคลิกที่โดดเด่นและเหมือนกันของจอมเผด็จการทั้งหลายของโลก ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของนายทหารฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันที่มีประสบการณ์ แสดงแนวคิดคัดค้านหรือมีความเห็นขัดแย้งกับเขา ล้วนลงเอยด้วยการถูกปลดออกจากตำแหน่ง
ทั้งๆ ที่นายทหารเหล่านั้นต่างเพียบพร้อมไปด้วยความสามารถ หรือแม้แต่เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในการบัญชาการรบอย่างเช่น พลเอกไฮนซ์ กูเดเรียน, พลเอกวอลเธอร์ ฟอน บราวชิทส์ และจอมพลอีริค ฟอน แมนสไตน์ เป็นต้น ความคิดเห็นที่ถือตน ดื้อรั้นนี้เองที่ส่งผลให้ฮิตเลอร์เกิดจินตนาการว่า ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไรซ์ที่สามเกิดขึ้นและถูกสร้างจากตัวเขาเอง หากจะล่มสลายลง มันก็จะต้องล่มสลายลงไปพร้อมกับเขา โดยมีเขาเป็นผู้กำหนดให้เป็นการล่มสลายที่ยิ่งใหญ่และต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ การต่อสู้จะเต็มไปด้วยความกล้าหาญ เสียสละและอุทิศตน ตั้งแต่ตัวท่านผู้นำเอง ลงไปจนถึงประชาชนทั่วไป คนชราและเยาวชน
ความคิดเห็นนี้ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนในรูปของการจัดตั้ง โฟล์คสตรุม (Volkssturm) ซึ่งเป็นกองกำลังรักษากรุงเบอร์ลินที่ประกอบไปด้วยคนชราและยุวชนฮิตเลอร์ (Hitlerjugend)
แต่ไม่ว่าโลกจะมองเขาในมุมมองใดก็ตาม ช่วงกลางเดือนมกราคม 1945 ฮิตเลอร์ก็ย้ายจาก รังหมาป่า อันเป็นกองบัญชาการของเขาในปรัสเซียตะวันออกไปยังที่หลบภัยภายในที่ทำการของเขาในกรุงเบอร์ลิน เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวเยอรมันในมหานครของอาณาจักรไรซ์ที่สามอันยิ่งใหญ่จนถึงวาระสุดท้าย
มาถึงห้วงเวลานี้ ร่างกายของฮิตเลอร์ดูทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด ร้อยเอก เกอร์ฮาร์ด โบลด์ทฺ (Gerhard Boldt) ผู้ซี่งเข้าร่วมประชุมกับฮิตเลอร์ได้บันทึกถึงลักษณะของเขาไว้ว่า
.... ศีรษะของเขาส่ายไปมา .... ใบหน้าและรอบดวงตาดูอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด การเคลื่อนไหวก็เหมือนกับคนชราที่แก่หง่อม .....
บันทึกนี้อธิบายได้อย่างชัดเจนถึงบุคลิกในห้วงสุดท้ายแห่งชีวิตของฮิตเลอร์ เขากลายเป็นคนที่ไม่ไว้ใจใครทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ อีวา บราวน์ (Eva Brown) เพื่อนสาวของเขาและสุนัขเยอรมันเชิปเปอร์ดที่ชื่อ บรอนดี้ (Blondi) เท่านั้น
วันที่ 12 เมษายน กองทัพสหรัฐอเมริกาข้ามแม่น้ำ เอลเบ (Elbe) ในขณะที่กองทัพรัสเซียก็เข้ามาถึงกรุงเบอร์ลินในวันที่ 22 เมษายน ฮิตเลอร์ประกาศว่า เขาเลือกที่จะอยู่และตายในกรุงเบอร์ลินพร้อมทั้งปฏิเสธที่จะนำกองทัพเยอรมันที่เหลือลงใต้ไปสมทบกับหน่วยทหารเยอรมันที่กระจัดกระจายอยู่เพื่อทำการต่อสู้ต่อไป ในขณะเดียวกันทหารเยอรมันที่รักษากรุงเบอร์ลินก็ต่อสู้เพื่อรักษาเมืองหลวงของเยอรมันอย่างสุดชีวิต ทำให้ยอดการสูญเสียรถถังของรัสเซียมีสูงถึงกว่า 2,800 คัน
วันที่ 20 เมษายน ซึ่งวันเกิดของฮิตเลอร์ ปืนใหญ่ของกองกำลังแนวหน้าเบโลรุสเซียที่ 1 (1st Belorussia Front) ของกองทัพรัสเซียที่รายล้อมอยู่รอบกรุงเบอร์ลิน ก็ร่วมฉลองวันเกิดของเขาด้วยการเปิดฉากยิงถล่มนครเบอร์ลินอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง การยิงถล่มดังกล่าวไปสิ้นสุดลงเมื่อเยอรมันประกาศยอมแพ้ เป็นการยิงที่ใช้กระสุนปืนใหญ่มากกว่าสองล้านนัด ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเหนือนครเบอร์ลินตลอดสงครามเสียอีก
และในวันที่ 26 เมษายน ที่หลบภัยของฮิตเลอร์ถูกกระสุนปืนใหญ่ตกลงมาอย่างจัง บ่งบอกให้ทราบว่า จุดจบของอาณาจักรไรซ์ที่สามอยู่ไม่ไกลนัก วันที่ 29 เมษายน ฮิตเลอร์เข้าพิธีสมรสกับอีวา บราวน์ พร้อมทั้งแต่งตั้งพลเรือเอกโดนิทซ์ (Donitz) เป็นผู้นำของเยอรมันคนต่อไป ท่ามกลางความโกรธของจอมพลแฮร์มาน เกอริง แม่ทัพกองทัพอากาศเยอรมัน
ในวันที่ 30 เมษายน หลังอาหารกลางวัน เสียงปืนก็ดังขึ้นหนึ่งนัดในห้องพักของฮิตเลอร์ เกิบเบิลได้เข้าไปดูและพบว่าฮิตเลอร์ได้ปลิดชีวิตตัวเองด้วยการใช้ปืนสั้นยิงกรอกปากตัวเอง มีศพของอีวา บราวน์ ที่เสียชีวิตจากยาพิษอยู่เคียงข้าง เกิบเบิลทำตามคำแนะนำของฮิตเลอร์ที่ให้ไว้ก่อนตาย โดยนำศพของทั้งสองคนออกจากที่หลบภัยไปยังสวนดอกไม้ จากนั้นก็ราดน้ำมันและจุดไฟเผา เป็นพิธีศพที่ไม่มีกองทหารเกียรติยศในชุดดำอันสง่างามของกองพล เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด ซึ่งเป็นกองกำลังประจำตัวที่ฮิตเลอร์ภาคภูมิใจอยู่เลยแม้แต่คนเดียว กล่าวกันว่า พิธีศพของทหารเยอรมันในสมรภูมิที่ห่างไกลยังดูสมศักดิ์ศรียิ่งกว่าพิธีศพกลางกรุงเบอร์ลินของท่านผู้นำเสียอีก
ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ใช้เวลาในการเดินทางจากจุดเริ่มต้นจนถึงบทอวสาน ในเวลาเพียง 12 ปี 3 เดือน แต่นับเป็นห้วงเวลาที่ได้คร่าชีวิตผู้คนนับล้านคนทั่วโลก เป็นห้วงเวลาที่เข็มวินาทีเคลื่อนกวาดไปบนหยดเลือดและหยาดน้ำตาของผู้สูญเสียจำนวนมากมายมหาศาล
... เปลวไฟที่ลุกไหม้ซากศพของเขา อาจเปรียบได้กับคบเพลิงแห่งการเฉลิมฉลองและปิติยินดีสำหรับจุดจบของบุคคลผู้นำพาโลกเข้าสู่ความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ
แต่ในทางตรงข้าม ... มันอาจเปรียบได้ดั่งแสงเทียนแห่งการไว้อาลัยแด่บุคคลผู้กอบกู้ประเทศเยอรมันจากความล่มสลายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและนำพาไปสู่ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไรซ์ที่สามที่วาดหวังไว้ว่า จะอยู่ยืนยงนับพันปี
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโลกจะมองอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ว่าเป็นบุคคลเช่นไร เทพเจ้า หรือ ซาตาน เราขอเพียงแต่ให้มนุษย์ได้ศึกษาถึงความเป็นซาตานและความเป็นเทพเจ้าของเขาอย่างละเอียด ลึกซึ้งและถ่องแท้ เพื่อป้องกันการหวนย้อนกลับของกาลเวลาในทุกทิศทาง อันอาจนำพามวลมนุษยชาติให้จมดิ่งลงสู่ห้วงเหวของความหายนะอีกครั้งหนึ่ง
(สงครามโลกครั้งที่สอง)
Create Date : 13 สิงหาคม 2553 |
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 15:37:14 น. |
|
10 comments
|
Counter : 5956 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: อสิตา วันที่: 13 สิงหาคม 2553 เวลา:18:33:24 น. |
|
|
|
โดย: สีขาว IP: 180.183.52.99 วันที่: 18 สิงหาคม 2553 เวลา:8:01:15 น. |
|
|
|
โดย: radiergummi วันที่: 26 กันยายน 2553 เวลา:10:32:58 น. |
|
|
|
โดย: ซัน IP: 117.47.105.154 วันที่: 3 ตุลาคม 2553 เวลา:20:40:53 น. |
|
|
|
โดย: รักชาติ IP: 180.180.145.203 วันที่: 15 สิงหาคม 2554 เวลา:17:05:41 น. |
|
|
|
โดย: ชาญ IP: 124.121.197.122 วันที่: 5 ตุลาคม 2554 เวลา:23:56:33 น. |
|
|
|
โดย: นิยม ชูชีพ IP: 125.26.167.195 วันที่: 16 มิถุนายน 2555 เวลา:14:24:11 น. |
|
|
|
โดย: DEC06 IP: 27.130.246.8 วันที่: 29 ตุลาคม 2556 เวลา:10:45:19 น. |
|
|
|
โดย: tty IP: 1.4.202.214 วันที่: 19 เมษายน 2557 เวลา:19:39:48 น. |
|
|
|
โดย: tty IP: 1.4.202.214 วันที่: 19 เมษายน 2557 เวลา:19:46:48 น. |
|
|
|
| |
|
|