|
สเตาฟ์เฟนเบอร์ก ผู้วางแผนสังหารฮิตเลอร์ (สงครามโลกครั้งที่ 2)
ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2
Colonel Cluse Schenk Graf Von Stauffenberg
พันเอก สเตาฟ์เฟนเบอร์ก ผู้วางแผนสังหารฮิตเลอร์
โดยพันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ
-------------------------

ภาพถ่ายของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก ที่นำมาพิมพ์ลงแสตมป์ที่ระลึก เพื่อเป็นเกียรติในการความกล้าหาญที่ต่อต้านนาซีของเขา

ภาพของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก (ซ้ายสุดของภาพ) ถ่ายพร้อมอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และคณะเสนาธิการของเขา ที่กองบัญชาการของฮิตเลอร์ ซึ่งรู้จักกันในนาม รังหมาป่า หรือ the Wolf's Lair ในปรัสเซียตะวันออก

พันเอก เคล้าส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนเบอร์ก ที่วางแผนลอบสังหาร ผู้นำนาซีเยอรมัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกประหารชีวิต ในวันที่ 21 กรกฏาคม 1944 และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ ที่ต่อต้านอำนาจของพรรคนาซีในขณะนั้น และเรื่องราวของเขาได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง Valkyrie โดยมี ทอม ครูซ รับบทเป็นพันเอก เคล้า ฟอน สเตาฟ์เฟนเบอร์ก
พันเอก เคล้าส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนเบอร์ก เติบโตมาจากครอบครัวข้าราชการชั้นสูง บิดาของเขาคือ Alfred Schenk Graf von Stauffenberg แห่งอาณาจักร Wuttemberg มารดาคือ Countess Caroline Schenk Grafin von Stauffenberg. เกิดในปราสาท Jettingen ในบาวาเรีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเยอรมัน
ในวัยเด็ก สเตาฟ์เฟนเบอร์ก เป็นสมาชิกของ Neupfadfinder หรือ องค์กรลูกเสือเยอรมัน เป็นเด็กที่มีการศึกษาดี และเข้ารับราชการทหารในปี 1926 ในกรมทหารม้าที่ 17 (17th Cavalry Regiment) ใน Bamberg มียศเป็นร้อยตรี และติดยศร้อยโทในปี 1930
ต่อมากรมทหารม้าที่ 17 ของเขา ถูกบรรจุให้ขึ้นการบังคับบัญชากับกองพลที่ 1 ที่ซึ่งมีผู้บัญชาการกองพลคือ นายพล Erich Hoepner หนึ่งในผู้สนับสนุนการปฏิวัติของฮิตเลอร์ในปี 1938 อีกทั้งกองพลดังกล่าว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนพล เข้าผนวกแคว้นซูเดเตนแลนด์ (Sudetenland) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเชคโกสโลวะเกีย เข้ากับเยอรมัน สเตาฟ์เฟนเบอร์กเป็นคนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการผนวกดินแดนดังกล่าวของฮิตเลอร์
ในปี 1939 เยอรมันบุกเข้าสู่โปแลนด์ อันเป็นการเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง สเตาฟ์เฟนเบอร์กและกรมทหารม้าที่ 17 ของเขา เป็นกำลังส่วนแรกๆ ที่เปิดฉากรุกเข้าสู่โปแลนด์
จากมุมมองของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก เขาสนับสนุนการยึดครองโปแลนด์ของฮิตเลอร์ รวมทั้งยังสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า ชาวโปแลนด์ คือชนชั้นทาสของชาวเยอรมัน แนวความคิดดังกล่าว เป็นแนวคิดดั้งเดิม ทางประวัติศาสตร์ของชาวเยอรมัน ที่ต้องการครอบครองโปแลนด์ เพราะโปแลนด์เคยเป็นส่วนหนึ่ง ของอาณาจักรเยอรมันในยุคกลาง (the Middle Ages) หรือยุคอัศวินนั่นเอง

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง วัลคีรี่ (Valkyrie) เป็นภาพที่กองบัญชาการของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก ที่ Bendlerblock ขณะก่อการยึดอำนาจจากนาซี โดยอาศัยยุทธการ วัลคีรี่ เป็นเครื่องมือ

สภาพสถานที่จริงของกองบัญชาการของสเตาฟ์เฟนเบอร์กในปัจจุบัน ที่ Bendlerblock ซึ่งได้ีรับการอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ พร้อมภาพถ่ายจำนวนมาก แสดงถึงการต่อต้านลัทธินาซีของชาวเยอรมัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสเตาฟ์เฟนเบอร์กจะเห็นด้วยกับการยึดครองโปแลนด์ของฮิตเลอร์ แต่ด้วยความเป็นแคทอลิคที่เคร่งครัด เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายประการของพรรคนาซี และไม่เคยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคนาซีเลยจนกระทั่งเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการกำจัดชาวยิว และเหตุการณ์จลาจลต่อต้านชาวยิวในคืนแก้วแตก (Night of the broken glass) ในเดือนพฤศจิกายน 1938 ซึ่งเขามองว่านำความอัปยศมาสู่เยอรมัน
ภายหลังจากสงครามในโปแลนด์สิ้นสุดลง ในปี 1939 สเตาฟ์เฟนเบอร์กได้รับการทาบทามจากลุงของเขา Nikolaus Graf von Uxkull ให้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านฮิตเลอร์ สเตาฟ์เฟนเบอร์กปฏิเสธการเข้าร่วมดังกล่าว เนื่องจากเขาในฐานะทหารของเยอรมัน ได้ปฎิญาณตนว่าจะจงรักภักดี ... ไม่ใช่ต่อรัฐธรรมนูญ แต่กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในฐานะผู้นำแต่เพียงผู้เดียว ....
ต่อมากองพลทหารม้าที่ 17 ของสตอฟเฟนเบอร์ก ถูกบรรจุให้ขึ้นกับกองพลแพนเซอร์ที่ 6 และเขาก็ได้รับตำแหน่งนายทหารประจำฝ่ายเสนาธิการ ในการรุกเข้าสู่ฝรั่งเศส ซึ่งเขามีผลงานดีเด่นจนได้รับเหรียญกล้าหาญ กางเขนเหล็ก ชั้นที่ 1 (the Iron Cross First Class) มาถึงเวลานี้ ความสำเร็จของเยอรมัน มีมากเกินกว่าที่ใครคิดจะล้มล้างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้กลายเป็นวีรบุรุษของประเทศไปแล้ว
ในปี 1941 เยอรมันเปิดยุทธการ บาร์บารอสซ่า (Barbarossa) รุกเข้าสู่รัสเซีย มีการสังหารเชลยศึกชาวรัสเซีย ยิว และชนชาติอื่นเป็นจำนวนมาก พร้อมๆกับการปลดฝ่ายเสนาธิการของฮิตเลอร์ แล้วตั้งตนเองเข้าดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเสียเอง ทำให้สเตาฟ์เฟนเบอร์กรู้สึกถึงการหลู่เกียรติยศของทหารของฮิตเลอร์ และความสงสารที่มีต่อเหยื่อความโหดร้ายของสงคราม เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมการต่อต้านฮิตเลอร์อย่างเงียบๆ
ปี 1942 เขาย้ายเข้าไปทำงานในกองบัญชาการกองทัพบก (Oberkommando des Heeres - the German Army high command) ณ ที่นี้เอง ที่เขาพยายามลดความรุนแรงของนโยบายการยึดครองรัสเซียลง รวมทั้งพยายามร่างระเบียบการจัดการกับเชลยศึกด้วยความมีมนุษยธรรม
เดือนพฤศจิกายน 1942 ฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดฉากยกพลขึ้นบกในแอฟริกาเหนือ กองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 10 (the 10th Panzer Division) ซึ่งยึดครองฝรั่งเศส ถูกส่งไปยังตูนิเซีย ในฐานะกำลังส่วนหนึ่งกองกำลังแอฟริกา (Afrika Korps) ในปี 1943 สเตาฟ์เฟนเบอร์ก เลื่อนยศเป็นพันโท (Oberstleutnant) และถูกส่งไปเป็นนายทหารยุทธการ (Operations Officer) ของฝ่ายเสนาธิการกองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 10
19 กุมภาพันธ์ 1943 เออร์วิน รอมเมล ผู้บัญชาการกองกำลังแอฟริกาของเยอรมัน เปืดฉากรุกตอบโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรในตูนีเซีย โดยหวังที่เจาะช่องแนวของสัมพันธมิตรบริเวณ Kasserine Pass
ระหว่างการรบ ในวันที่ 7 เมษายน 1943 สเตาฟ์เฟนเบอร์กนั่งรถของฝ่ายเสนาธิการ เคียงข้างไปพร้อมกับรถถังคันแรก ของกองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 10 และกองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 21 เพื่อจัดแนวตั้งรับที่ตำบลใกล้กับ Mezzouna
เครื่องบินโจมตี ทิ้งระเบิดของอังกฤษปรากฎเหนือท้องฟ้า และพุ่งเข้าโจมตีขบวนยานเกราะของเยอรมัน และรถคันที่เขานั่งอยู่อย่างรุนแรง ส่งผลให้สเตาฟ์เฟนเบอร์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่มิวนิคถึง 3 เดือน ต้องเสียตาซ้ายไปหนึ่งข้าง และมือขวาถูกตัด พร้อมกับ 2 นิ้วในมือซ้าย
ผลจากการบาดเจ็บในครั้งนี้ สเตาฟ์เฟนเบอร์กได้รับเหรียญสดุดีผู้บาดเจ็บจากการสู้รบชั้นเหรียญทอง - Wound Badge in Gold ในวันที่ 14 เมษายน 1943 และเหรียญทองกางเขนเยอรมัน - German Cross in Gold ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1943

ฉากการรบที่ตูนีเซีย ในภาพยนตร์เรื่อง วัลคีรี่ ขณะที่สเตาฟ์เฟนเบอร์ก เป็น พันโท ในตำแหน่งนายทหารฝ่ายยุทธการ (Operations Officer) ของกองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 10 และถูกเครื่องบินของอังกฤษโจมตี จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องส่งตัวกลับไปรักษาที่มิวนิค เป็นเวลา 3 เดือน
ภายหลังจากพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บ จนหายเป็นปกติแล้ว สเตาฟ์เฟนเบอร์กได้เข้ารับตำแหน่งฝ่ายเสนาธิการ ของกองบัญชาการกองทัพทดแทน (Ersatzheer - Replacement Army) ที่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งรับผิดชอบในการฝึกทหารใหม่ เพื่อส่งไปทดแทนกำลังพลที่สูญเสียไป ของกองพลต่างๆ ที่อยู่ในแนวหน้า
ณ ที่นี่เอง ที่สเตาฟ์เฟนเบอร์ได้พบกับผู้บังคับบัญชาของเขา นายพล Friedrich Olbricht ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้านฮิตเลอร์ และที่กองบัญชาการกองทัพทดแทนนี่เอง ที่เป็นผู้มีหน้าที่หลัก ในการดำเนินการตามมาตรการในการควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศ
มาตรการดังกล่าวอยู่ภายใต้ชื่อ ยุทธการ วัลคีรี่ (Operation Valkyrie) อันเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง วัลคีรี่ ที่ทอม ครุยซ์ รับบทเป็นสเตาฟ์เฟนเบอร์ก นั่นเอง

ลานกว้างใน Bandlerblock กรุงเบอร์ลินในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจุดที่สเตาฟ์เฟนเบอร์กถูกยิงเป้าในคืนวันที่ 21 กรกฎาคม 1944

อนุสรณ์แด่สเตาฟ์เฟนเบอร์ก และคณะผู้ก่อการโค่นล้มอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในการก่อการเมื่อ 20 กรกฎาคม 1944 ใน Bandlerblock กรุงเบอร์ลินในปัจจุบัน
แผน 20 กรกฏาคม (20 July Plot)
6 มิถุนายน 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ของฝรั่งเศส นายทหารระดับสูงของเยอรมัน เชื่ออย่างไม่ต้องสงสัยว่า สงครามครั้งนี้ เยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แล้ว สเตาฟ์เฟนเบอร์กก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และยังเชื่อมั่นต่อไปว่า การเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อยุติการนองเลือด และยุติการล่มสลายของเยอรมัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
สิ่งที่เป็นได้ขณะนี้คือ การยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งการยอมแพ้ดังกล่าว ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีของเขายังครองอำนาจอยู่
หนทางมีอยู่เพียงอย่างเดียว คือ .... ลอบสังหารฮิตเลอร์
การวางแผนในครั้งแรก สเตาฟ์เฟนเบอร์กต้องการจะอยู่ที่กองบัญชาการของเขาในกรุงเบอร์ลิน เพื่อติดต่อกับกำลังหน่วยอื่นๆ ในการปฏิวัติ และยึดอำนาจจากพวก เอส เอส และเกสตาโป แต่ปัญหาก็คือ ไม่มีใครที่จะสามารถเข้าไปสังหารฮิตเลอร์ได้ที่กองบัญชาการ ในปรัสเซียตะวันออก ซึ่งรู้จักกันในาม รังหมาป่า (Wolfsschanze หรือ Wolf's Lair ในภาษาอังกฤษ)
สเตาฟ์เฟนเบอร์จำเป็นต้องมีบทบาทถึงสองด้านด้วยกัน คือ สังหารฮิตเลอร์ที่รังหมาป่า และกลับมานำการปฏิวัติในเบอร์ลิน
20 กรกฏาคม 1944 แผนการก็เริ่มขึ้น เมื่อสเตาฟ์เฟนเบอร์ก เดินทางไปยังรังหมาป่า กองบัญชาการของฮิตเลอร์ พร้อมด้วยระเบิดสองลูก เมื่อเข้าไปในห้องบรรยายสรุป เขาวางระเบิดไว้ที่ใต้โต๊ะ ก่อนที่ออกมาจากห้อง
นายทหารในห้องประชุมคนหนึ่งคือ พันเอก Heinz Brandt สะดุดกระเป๋าใบนั้น จึงขยับกระเป๋าไปไว้อีกด้านหนึ่งของขาโต๊ะขนาดใหญ่ ระเบิดระเบิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต สี่คน แต่ขาโต๊ะขนาดใหญ่ที่ทำจากไม้โอ๊ค เป็นเสมือนกำบังชั้นเยี่ยมให้กับฮิตเลอร์ ทำให้เขารอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด

รังหมาป่าหรือกองบัญชาการของฮิตเลอร์ในปัจจุบัน

แผนทีี่ที่ตั้งของรังหมาป่า (Wolf's Lair) ขณะนี้อยู่ในประเทศโปแลนด์ เดิมคือปรัสเซียตะวันออกของเยอรมัน
ขณะที่สเตาฟ์เฟนเบอร์กออกมาจากห้องประชุม เขาได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น ด้วยความเชื่อมั่นว่า ฮิตเลอร์เสียชีวิตจากแรงระเบิดดังกล่าว เขารีบเดินทางกลับเบอร์ลิน เพื่อทำการยึดอำนาจและจับกุมผู้นำพรรคนาซี ตามยุทธการ วัลคีรี่ มีการจับกุมทหารเอส เอส และเกสตาโป
แต่ โจเซฟ เกิบเบิล หนึ่งในผู้นำพรรคนาซี ได้ออกวิทยุกระจายเสียงว่า ฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ และอีกไม่นาน ฮิตเลอร์ก็ได้พูดผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐด้วยตนเอง เหล่าผู้ก่อการจึงทราบว่า การปฏิบัติการตามแผนของพวกตนล้มเหลว
สเตาฟ์เฟนเบอร์ถูกจับที่กองบัญชาการกองทัพบก (Bandlesblock - Headquarters of the Army) โดยได้รับบาดเจ็บที่หัวไหล่จากการยิงต่อสู้กัน ระหว่างการจับกุม
ในเวลาก่อน 01.00 น. ของวันที่ 21 กรกฏาคม 1944 การยิงเป้าผู้ก่อการก็เปิดฉากขึ้น ณ สนามหญ้าของกองบัญชาการกองทัพบก โดยหมู่ปืนเล็ก และใช้ไฟรถบรรทุกส่องสว่างไปยังสเตาฟ์เฟนเบอร์กและพวก ประกอบด้วย พลเอก Olbricht, ร้อยโท Von Haeften ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทของเขา, และพันเอก Albrecht Mertz von Quirnheim ก่อนถูกยิงทุกคน ยกเว้นสเตาฟ์เฟนเบอร์ก ตะโกนประโยคสุดท้ายว่า Es lebe das geheime Deutschland หรือ Long live the sacred German - ขอให้เยอรมันอันศักดิ์สิทธิ์จงเจริญ
ส่วนสเตาฟ์เฟนเบอร์กตะโกนว่า Es lebe unser heiliges Deutschland หรือ Long live the holy German - ขอให้เยอรมันอันศักดิ์สิทธิ์จงเจริญ
อย่างไรก็ตามหลุมศพของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก ถูกทหารเอส เอส ขุดขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น เพื่อปลดเหรียญกล้าหาญต่างๆ ออก และเผาศพของเขาทิ้งอย่างอเน็จอนาถ
ส่วนครอบครัวของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก สามารถรอดพ้นจากการตามล่าของทหาร เอส เอส ไปได้ ภรรยาของเขามีอายุอยู่จนถึงอายุ 92 ปี และเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2006 บุตรชายคนหนึ่งของเขารับราชการจนเป็นนายพลในกองทัพบกเยอรมันตะวันตก ส่วนอีกคนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาของเยอรมัน และของยุโรป

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง วัลคีรี่ (Valkyrie) ที่มีทอม ครูซ รับบทพันเอกสเตาฟ์เฟนเบอร์ก
ข้อมูลจาก //www.wikipedia.com
-----------------------------------
(สงครามโลกครั้งที่สอง)
Create Date : 06 กันยายน 2552 |
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 15:38:25 น. |
|
6 comments
|
Counter : 11388 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: alynnbook IP: 124.122.67.130 วันที่: 6 กันยายน 2552 เวลา:12:22:35 น. |
|
|
|
โดย: พี IP: 124.121.105.151 วันที่: 8 กันยายน 2552 เวลา:19:09:56 น. |
|
|
|
โดย: ดาว IP: 61.90.9.114 วันที่: 31 ตุลาคม 2552 เวลา:1:19:49 น. |
|
|
|
โดย: มาย IP: 202.176.108.63 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2552 เวลา:0:46:22 น. |
|
|
|
โดย: radiergummi วันที่: 26 กันยายน 2553 เวลา:10:25:48 น. |
|
|
|
โดย: เอ IP: 110.168.143.164 วันที่: 15 มกราคม 2554 เวลา:20:27:38 น. |
|
|
|
| |
|
|