เส้นทางสู่จุดจบของหน่วยยานเกราะนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง
โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ
Master of International Relations (with merit), Victoria University of Wellington, New Zealand
(สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำ เผยแพร่เพื่อการพาณิชย์ อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันถูกจำกัดอาวุธจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ทำให้เยอรมันต้องพัฒนารถถังขึ้นมาภายใต้ชื่อโครงการรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร แม้ว่าการใช้รถถังจะถูกคิดขึ้นมาจากนักคิดชาวอังกฤษ แต่นายพลไฮน์ซ กูเดอเรียน ของเยอรมันเป็นผู้คิดที่จะนำเอารถถังมาใช้ในการรบแบบ สายฟ้าแลบ ซึ่งมีหลักคือใช้การสนธิกำลังของการโจมตีจากอากาศยาน และอาวุธปืนใหญ่โจมตีข้าศึก ณ จุดใดจุดหนึ่งจนข้าศึกเริ่มอ่อนแรง จากนั้นจะใช้หน่วยรถถังรุกเข้าหาด้วยความเร็ว พร้อมกับทหารราบ ตรงจุดนี้ ความเร็วในการรุกของยานเกราะจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการโอบล้อมข้าศึกที่กำลังขวัญเสียจากการถูกโจมตีทางอากาศและจากปืนใหญ่ โดยมีทหารราบเป็นกองหนุนที่เข้าบดขยี้กำลังข้าศึกที่อ่อนล้าในวงล้อมดังกล่าว
จากนั้นหน่วยยานเกราะจะทำการโอบล้อมหน่วยของข้าศึกต่อไป รวมทั้งตัดเส้นทางการส่งกำลังของข้าศึก และทำลายหน่วยของข้าศึกที่ถูกล้อมทีละหน่วย การรบแบบสายฟ้าแลบนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงแรกของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการบุกโปแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และรัสเซีย หน่วยยานเกราะของเยอรมันได้แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นต้นแบบของการใช้รถถังในการรบมาจนถึงปัจจุบัน
ความสำเร็จของหน่วยยานเกราะเยอรมันหรือ "แพนเซอร์" ส่งผลให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์สามารถครอบครองยุโรปได้อย่างรวดเร็ว ชัยชนะแต่ละชัยชนะล้วนมีส่วนสำคัญจากหน่วยยานเกราะอันทรงอานุภาพทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเยอรมันรุกเข้าสู่รัสเซีย ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลได้ดูดกลืนประสิทธิภาพและความยิ่งใหญ่ของหน่วยยานเกราะเยอรมันลงทีละน้อย จนนำไปสู่กาลอวสานของนาซีเยอรมันและหน่วยยานเกราะอันเกรียงไกรในที่สุด
นับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของกองทัพที่ 6 ของกองทัพนาซีเยอรมันที่เมืองสตาลินกราดในช่วงต้นปี ค.ศ.1943 ส่งผลให้กองพลยานเกราะส่วนหนึ่งถูกทำลายลง ในขณะที่กองพลยานเกราะที่ 22 และกองพลยานเกราะที่ 27 ของเยอรมันที่มีแนวตั้งรับบริเวณแม่น้ำดอน (Don) และแม่น้ำไมอัส (Mius) ก็ถูกกองทัพรัสเซียที่มีกำลังเหนือกว่าเคลื่อนที่เข้าบดขยี้จนได้รับความเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถดำรงความเป็นกองพลยานเกราะอยู่ได้และต้องยุบรวมกับหน่วยข้างเคียงในช่วงต้นปี ค.ศ. 1943 นับเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของกองทัพเยอรมัน
ฮิตเลอร์ตระหนักดีว่าจุดศูนย์ดุลของสงครามในแนวรบด้านรัสเซียกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ และกองทัพเยอรมันอาจจะก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 เขาจึงตัดสินใจแต่งตั้งนายพลไฮน์ซ กูเดอเรียน (Heinz Guderian) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยยานเกราะและผู้ริเริ่มแนวความคิดในการรบแบบสายฟ้าแลบจนได้รับสมญาว่า "บิดาแห่งยานเกราะเยอรมัน" ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์พัฒนากองกำลังยานเกราะ
นายพลไฮน์ซ กูเดอเรียน (Heinz Guderian)
โดยฮิตเลอร์ได้มอบอำนาจให้กูเดอเรียนอย่างท่วมท้นในการพัฒนาศักยภาพยานเกราะของเยอรมัน ซึ่งกูเดอเรียนก็ไม่ทำให้ฮิตเลอร์ผิดหวัง เขาวางแผนที่จะแปรเปลี่ยน "ยานเกราะ" ที่ใช้ในการรบทั่วไปให้มีศักยภาพมากกว่ายานเกราะหรือรถถังธรรมดา จนกระทั่งรถถังและยานเกราะของเยอรมันกลายเป็น "จักรกลสงครามแห่งการทำลายล้างขั้นสูงสุด" ที่ประวัติศาสตร์การสงครามยุคใหม่ต้องบันทึกไว้
ในช่วงต้นของสงครามนั้นหน่วยยานเกราะของเยอรมันใช้รถถังแบบแพนเซอร์ 3 เป็นรถถังหลัก มันได้รับการยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของหน่วยยานเกราะเยอรมัน เพราะรถถังรุ่นนี้ทำหน้าที่ทุกอย่างในการรุกเข้าหาข้าศึกในช่วงครึ่งแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2
แพนเซอร์ 3 (Panzer III : Panzer ย่อมาจากคำว่า Panzerkampfwagen) ผลิตโดยบริษัทเดมเลอร์เบนซ์ (Daimler-Benz) แรกเริ่มติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรและปืนกล 7.92 มิลลิเมตร 1 กระบอก ต่อมาได้เปลี่ยนปืนใหญ่เป็นขนาด 50 มิลลิเมตร พร้อมเพิ่มปืนกล 7.92 มิลลิเมตร อีก 1 กระบอก มีเครื่องยนต์ที่กำลังสูง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเกราะหนา 30 มิลลิเมตร น้ำหนักรถ 21 ตัน มีระบบกันสะเทือนที่ยอดเยี่ยม เพราะมีโช๊คอัพที่ออกแบบโดย ดร.เฟอร์ดินานด์ ปอร์ช (Dr. Ferdinand Porche) แพนเซอร์ 3 มีการปรับปรุงหลายรุ่น ส่วนใหญ่ออกสู่แนวรบด้านรัสเซีย
แพนเซอร์ 3 (Panzer III)
รถถังอีกรุ่นหนึ่งของหน่วยยานเกราะเยอรมันคือรถถังขนาด 25 ตันแบบแพนเซอร์ 4 (Panzer IV) ที่เข้าสู่สายการผลิตมาตั้งปี ค.ศ. 1939 นับเป็นรถถังที่รับใช้กองทัพนาซีเยอรมันมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นสงครามจนสิ้นสุดสงครามและนับเป็นรถถังที่มีอานุภาพพอสมควร เนื่องจากมีเกราะหนาถึง 80 มิลลิเมตรและติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรแบบ KwK40 L48 พร้อมกระสุน 87 นัด ซึ่งนับว่าเป็นขนาดปืนใหญ่ประจำรถถังที่เหนือกว่าปืนใหญ่ประจำรถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรทุกชนิดในช่วงต้นสงคราม
แพนเซอร์ 4 (Panzer IV)
แม้จะมีแนวความคิดในการยุติการผลิตรถถังรุ่นนี้เพื่อหันไปผลิตรถถังรุ่นใหม่ๆ กูเดอเรียนก็เป็นผู้คัดค้านแนวคิดดังกล่าว โดยเขาให้เหตุผลว่า เยอรมันยังต้องการรถถังรุ่นนี้อยู่ เพราะพลประจำรถเกือบทุกคน มีความคุ้นเคยกับรถถังรุ่นนี้เป็นอย่างดี พวกเขาสามารถบังคับรถถังรุ่นนี้ได้ แม้กระทั่งยามที่พวกเขาหลับ
นอกจากรถถังแพนเซอร์ทั้งสองรุ่นนี้แล้ว กูเดอเรียนเห็นว่าควรทำการปรับโครงสร้างและสายการผลิตยานเกราะขึ้นใหม่ แผนแบบของรถถังรุ่นใหม่ที่ใช้ในการล่ารถถังหรือ Tank destroyer ตลอดจนรถปืนใหญ่อัตตาจรหรือ Assault Gun ที่ติดปืนใหญ่อันทรงอานุภาพถูกออกแบบและผลิตขึ้น รถถังชนิดนี้มีขั้นตอนที่ผลิตง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะไม่จำเป็นต้องมีป้อมปืนที่มีกลไกยุ่งยาก เพียงแต่ติดตั้งปืนใหญ่ต่อสู้รถถังบนฐานของยานเกราะเท่านั้น
การลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อนทำให้ "รถถังล่ารถถัง" และ "รถปืนใหญ่อัตตาจร" สามารถผลิตได้ทีละเป็นจำนวนมาก เช่น รถปืนใหญ่อัตตาจรแบบ "สตุมเกอส์ชูท์ซ" (Sturmgeschütz) หรือ สตุค (StuG) และรถถังล่ารถถังแบบ Jagdpanzer ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อถอดป้อมปืนใหญ่ออกไปจากตัวถังรถก็ส่งผลให้ยานเกราะทั้งสองแบบดังกล่าวมีความสูงลดลงอย่างมาก ทำให้สามารถซ่อนพรางจากการสังเกตการณ์ของข้าศึกได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ในแนวรบด้านรัสเซียขณะนั้นเยอรมันกำลังเป็นฝ่ายตั้งรับ ยานเกราะรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้จึงเหมาะกับภารกิจในการซุ่มโจมตีรถถังของรัสเซียที่รุกเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"สตุมเกอส์ชูท์ซ" (Sturmgeschütz)
ในขณะเดียวกันกูเดอเรียนก็ได้ปรับปรุงอัตราการจัดหน่วยยานเกราะของกองทัพเยอรมันเสียใหม่ โดยเพิ่มกองพันรถปืนใหญ่อัตตาจร กองพันยานยนต์หุ้มเกราะลำเลียงพลกึ่งสายพานและกองพันปืนใหญ่ต่อสู้รถถังเข้าไปในหน่วยระดับกองพลยานเกราะ เพื่อสร้างสมดุลกำลังรบขึ้นเนื่องจากกองทัพรัสเซียมีหน่วยทหารราบที่คล่องตัวและมีรถถังที่ทรงอานุภาพแบบ ที 34 (T 34) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ที 34 (T 34)
นอกจากนี้กูเดอเรียนยังให้ความสำคัญอย่างมากต่ออัตราการสูญเสียรถถังและยานเกราะของเยอรมันในแนวหน้าที่มีสูงมาก เพราะไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการสูญเสียกำลังพลที่มีขีดความสามารถและประสบการณ์ในการรบมาเป็นอย่างดี ซึ่งก่อนหน้านี้พลประจำรถถังหรือพลประจำรถยานเกราะของเยอรมันนั้นจัดได้ว่าเป็นทหารหน่วยพิเศษที่มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม กูเดอเรียนจึงหาหนทางฝึกฝนกำลังพลที่มีคุณภาพเข้าทดแทนในหน่วยรถถังและยานเกราะต่างๆ
จากความพยายามและความทุ่มเทของกูเดอเรียนส่งผลให้สายการผลิตรถถังของเยอรมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 1943 โดยมีจำนวนการผลิตถึง 3,643 คัน แต่เนื่องจากเส้นทางการส่งกำลังไปสู่แนวรบรัสเซียนั้นมีระยะทางที่ยาวและเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย รถถังและยานเกราะจำนวนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนี้สามารถเดินทางไปถึงสนามรบได้เพียง 2,504 คันเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอต่อการสูญเสียที่มีสูงถึงกว่า 7,800 คัน ด้วยความขาดแคลนรถถังและยานเกราะนี้เองทำให้หน่วยยานเกราะของเยอรมันต้องนำรถถังที่ยึดได้จากรัสเซีย อังกฤษและฝรั่งเศสนำมาใช้เสริมกำลังรบในแนวหน้าด้านรัสเซีย ซึ่งจากตัวเลขพบว่ามีรถถังที่ถูกยึดได้และนำกลับมาใช้ใหม่เป็นจำนวนถึง 822 คัน แต่ความขาดแคลนก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม
สำหรับการพัฒนาประสิทธิภาพของรถถังและยานเกราะนั้น วิศวกรเยอรมันได้ดำเนินการออกแบบรถถังรุ่นใหม่ที่สามารถต่อสู้กับรถถัง ที 34 ของรัสเซียได้อย่างทัดเทียมกัน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของรถถังที่มีขีดความสามารถสูงที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จักมา นั่นคือ รถถังแบบ แพนเซอร์ 5 (Panzer V) หรือที่รู้จักกันในนาม "แพนเธอร์" (Panther) ซึ่งแปลว่า "เสือดำ" ส่วนอีกรุ่นคือ รถถังแบบแพนเซอร์ 6 (Panzer VI) หรือ "ไทเกอร์" (Tiger) ซึ่งแปลว่า "เสือโคร่ง" นั่นเอง
รถถังแพนเซอร์ 5 หรือ "แพนเธอร์" (Panzer V - Panther)
สำหรับรถถังแพนเซอร์ 5 หรือ "แพนเธอร์" (Panzer V - Panther) นั้นมีน้ำหนัก 44.8 ตัน มีเกราะหนาตั้งแต่ 15 120 มิลลิเมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรแบบ KwK 42 L70 พร้อมกระสุนจำนวน 79 นัด และติดตั้งปืนกลขนาด 7.92 มิลลิเมตรจำนวน 2 กระบอก ใช้เครื่องมายบัคแบบ (Maybach) แบบ HL230 P30 อันทรงพลังทำให้สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีรัศมีทำการภายใต้การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงครั้งเดียวเป็นระยะทางถึง 250 กิโลเมตรและมีพลประจำรถ 5 นาย โดยรถถังรุ่นนี้ถูกออกแบบให้มีความซับซ้อนในการผลิตไม่สูงมากนักเพื่อมุ่งหวังให้ง่ายต่อการผลิตเป็นจำนวนมากและนำไปทดแทนรถถังที่สูญเสียไปในการรบ จึงมีรถถังแพนเธอร์ถูกผลิตออกมาในห้วงเวลาสั้นๆ ระหว่างปี ค.ศ. 1943 1945 เป็นจำนวนถึง 6,000 คัน
อีกทั้งแม้ว่ารถถังแพนเธอร์จะมีข้อด้อยกว่ารถถังแบบไทเกอร์ในเรื่องความทนทานของเกราะและขนาดปืนใหญ่ที่เล็กกว่า แต่มันก็มีความคล่องตัวสูงและมีปืนใหญ่ที่มีความแม่นยำสูง โดยเฉพาะปืนใหญ่แบบ HL230 P30 ที่มีลำกล้องยาวถึง 5,250 มิลลิเมตรนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดชนิดหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สองเนื่องจากมีความแม่นยำและอัตราการทะลุทะลวงสูงกว่าปืนใหญ่รถถังทุกชนิดของสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซียในขณะนั้น รวมทั้งยังมีระยะยิงไกลถึง 10 กิโลเมตรในการยิงวิถีโค้งอีกด้วย ทำให้รถถังแพนเธอร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นรถถังที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของเยอรมันและกลายมาเป็นแม่แบบให้กับรถถังของประเทศต่างๆ ภายหลังสิ้นสุดสงคราม
ส่วนรถถังแพนเซอร์ 6 หรือไทเกอร์นั้นนับเป็นรถถังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของเยอรมัน เป็นรถถังที่ทั้งทหารรัสเซีย สหรัฐฯ อังกฤษและชาติสัมพันธมิตรอื่นๆ ต่างหวั่นเกรงในอานุภาพของมันเป็นอย่างมาก เพราะมีเกราะด้านหน้าหนาถึง 100 มิลลิเมตรและที่ป้อมปืนมีเกราะหนาถึง 120 มิลลิเมตรจึงยากที่ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของข้าศึกจะเจาะทะลุทะลวงได้
แพนเซอร์ 6 หรือ Tiger
นอกจากเกราะที่หนามากแล้วรถถังไทเกอร์ยังติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 88 มิลลิเมตรแบบ KwK 36 L56 พร้อมกระสุน 92 นัด (รถถังไทเกอร์บางรุ่นสามารถบรรทุกกระสุนได้ถึง 105 นัด) ซึ่งมีอานุภาพในการทำลายรถถังข้าศึกทุกชนิดได้ในขณะนั้น อีกทั้งปืนใหญ่ดังกล่าวยังมีความแม่นยำสูงมาก จากสถิติการทดสอบโดยกองทัพอังกฤษภายหลังสงครามพบว่า มันสามารถยิงเป้าหมายขนาดกว้าง 41เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ในระยะ 1,100 เมตรได้อย่างแม่นยำ และมีสถิติบันทึกไว้ว่ารถถังไทเกอร์สามารถยิงทำลายรถถังข้าศึกได้ในระยะไกลถึง 4 กิโลเมตร อันเป็นการยิงทำลายโดยที่รถถังข้าศึกไม่มีโอกาสรู้ตัวก่อนเลย
อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่รถถังไทเกอร์มีเกราะหนามาก ส่งผลให้มันมีน้ำหนักสูงถึง62 ตัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีสายพานที่กว้างถึง 725 มิลลิเมตรในการรับน้ำหนักตัวถังรถ และมีอุปสรรคค่อนข้างมากในการเคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศที่มีพื้นดินอ่อนนุ่ม รถถังไทเกอร์ทำความเร็วได้เพียง 38 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีรัศมีทำการโดยการเติมน้ำมันเพียงครั้งเดียว 110-195 กิโลเมตร
นอกจากนี้รถถังไทเกอร์ยังบริโภคน้ำมันอย่างมหาศาลรวมทั้งมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการผลิตแต่ละคัน ทำให้เยอรมันสามารถผลิตรถถังรุ่นนี้ได้เพียง 1,347 คันซึ่งน้อยเกินกว่าที่จะหยุดยั้งกองทัพรัสเซียและสัมพันธมิตร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจำนวนรถถัง ที 34 ของรัสเซียที่ผลิตเป็นจำนวนถึง 58,000 คัน และรถถังเอ็ม 4 เชอร์แมนของสหรัฐฯ ที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนกว่า 40,000 คันตลอดห้วงสงคราม นอกจากการถือกำเนิดขึ้นของรถถังแบบใหม่แล้ว ในส่วนของการจัดกำลังยานเกราะในแนวรบด้านรัสเซียนั้น กูเดอเรียนได้อาศัยผลการผลิตรถถังและยานเกราะทุกรุ่นที่เพิ่มขึ้นมาจัดตั้งกองทัพน้อยยานเกราะเอสเอส (SS Panzer Corps) โดยมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพของกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 1 ลีปสตานดาร์ด อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (1st SS Panzer Division Leibstandarte Adolf Hitler), กองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ (2nd SS Panzer Division Das Reich, และกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS Panzer Divsion Totenkopf) ให้เป็นกองพลยานเกราะที่มีขีดความสามารถในการทำลายล้างสูง โดยบรรจุรถถังแบบแพนเซอร์ 4, แพนเธอร์และไทเกอร์จำนวนกว่า 350 คันเข้าประจำการแทนรถถังแบบแพนเซอร์ 3 ที่ล้าสมัย
รถถังไทเกอร์ของหน่วยเอส เอส
จากการปรับปรุงศักยภาพกองพลยานเกราะ เอส เอส ทั้งสามกองพลดังกล่าว ทำให้ฮิตเลอร์ตัดสินใจรุกตอบโต้กองทัพรัสเซียที่ยูเครนในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 และประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้กองทัพรัสเซียต้องล่าถอย ส่งผลให้กองทัพเยอรมันสามารถยึดเมืองคาร์คอฟคืนมาได้จากการครอบครองของรัสเซีย ในการรบตลอดห้วงเวลานี้รถถังแพนเธอร์ 21 คันและไทเกอร์ 108 คันสามารถทำลายรถถังรัสเซียลงได้ถึง 615 คันพร้อมทั้งทหารเอสเอสจากกองพลยานเกราะทั้งสามได้สังหารหมู่เชลยศึกและประชาชนรัสเซียจำนวนนับพันคนลงด้วย ทำให้ความสำเร็จในการรบของกองทัพเยอรมันถูกบดบังด้วยความอำมหิตและโหดเหี้ยมของทหารเอสเอสในโศกนาฏกรรมครั้งนี้
หลังจากการรบที่เมืองคาร์คอฟ หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็มีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งในการรบครั้งยิ่งใหญ่ที่เมือง "เคริสค์" (Kursk) โดยฮิตเลอร์สั่งระดมกองพลยานเกราะจำนวน 17 กองพลและกองพลน้อยยานเกราะอีก 2 หน่วยรวมจำนวนรถถังและยานเกราะชนิดต่างๆ ทั้งหมดกว่า 2,388 คันเพื่อเข้าตีแนวตั้งรับของรัสเซียภายใต้ยุทธการ "ซิทาเดล" (Citadel)
รถถังแพนเซอร์ 5 หรือ "แพนเธอร์" จำนวน 250 คันที่เพิ่งออกมาจากโรงงานผลิตในเยอรมันได้เดินทางเข้าสู่สมรภูมิทันทีด้วยความหวังที่จะใช้เป็นอาวุธในการทำลายรถถัง ที 34 ของรัสเซียซึ่งเป็นคู่ปรับเก่าให้ย่อยยับไป แต่ปัญหาเกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์และระบบเกียร์ที่ขัดข้องทำให้มีรถถังแพนเธอร์เพียง 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งหมดที่สามารถเข้าทำการรบได้ ส่งผลให้จำนวนรถถังของเยอรมันในแนวหน้ามีไม่เพียงพอและทำให้ฮิตเลอร์ตัดสินใจส่งกำลังรถถังจำนวนสุดท้ายที่สำรองไว้เป็นกำลังหนุนเข้าทำการรบแทน นับเป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะหากสถานการณ์พลิกผันจะทำให้เยอรมันไม่หลงเหลือรถถังไว้คอยตอบโต้ข้าศึกเลย
การรบที่เคริสค์จบลงด้วยความสูญเสียอย่างหนักของทั้งสองฝ่าย แต่ความสูญเสียของเยอรมันเป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถนำกลับมาทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งรถถังและยานเกราะที่เป็นกำลังสนับสนุนก็ถูกทำลายลงด้วย ทำให้เยอรมันแทบไม่หลงเหลือรถถังในแนวรบด้านรัสเซียเลย ต่างจากฝ่ายรัสเซียแม้จะมีรถถังแบบ ที 34 ถูกทำลายเป็นจำนวนมากแต่รถถังที่เพิ่งผลิตออกมาใหม่จากโรงงานในเทือกเขาอูราล (Ural) ก็ยังคงหนุนเนื่องเข้ามาทดแทนอย่างไม่ขาดสาย
ยานเกราะของเยอรมันเตรียมรุกเข้าหาที่มั่นของรัสเซียในสมรภูมิ Kursk
ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ทำให้รถถังและยานเกราะที่กูเดอเรียนเพียรพยายามสั่งสมขึ้นมาจากทรัพยากรที่จำกัดและขาดแคลน รวมทั้งหามาด้วยความยากลำบากได้ถูกทำลายลงในชั่วเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน และนับจากนั้นมารถถังและยานเกราะที่เหลืออยู่ก็ถูกทำลายลงด้วยคลื่นรถถังรัสเซียจำนวนมหาศาล ตัวอย่างเช่นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1943 เยอรมันสูญเสียรถถังไปเป็นจำนวน 645 คัน และในเดือนต่อมาก็สูญเสียไปอีก 572 คัน เป็นความสูญเสียในอัตราที่กองทัพเยอรมันหมดหนทางในการฟื้นฟูขึ้นมาได้
เมื่อจำนวนรถถังลดลงอย่างมาก กองพลยานเกราะที่เหลืออยู่ก็ต้องรับภาระหนักขึ้นในการต่อต้านการรุกของกองทัพรัสเซีย กองพลยานเกราะทั้งหมดต่างแปรสภาพเป็น "หน่วยปืนใหญ่เคลื่อนที่" ที่เคลื่อนย้ายกำลังไปมาในการเข้าแก้ไขปัญหาวิกฤติในพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งแม้จะประสบความสำเร็จในการทำลายล้างกำลังทหารโซเวียตที่รุกเข้ามาอย่างต่อเนื่องได้เป็นจำนวนมากแต่ความสำเร็จของหน่วยยานเกราะเหล่านี้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความพ่ายแพ้ของเยอรมันให้กลับเป็นชัยชนะได้
ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1943 รัสเซียรุกกลับในพื้นที่ยูเครนและสามารถทำลายกลุ่มกองทัพกลางของเยอรมันลงได้พร้อมๆ กับการละลายหายไปของกองพลทหารราบยานเกราะจำนวนถึง 3 กองพล จากนั้นก็รุกไล่กลุ่มกองทัพใต้ให้ถอยร่นมาจนถึงเทือกเขาคาร์เปเธียน (Carpathian) ในยุโรปตอนกลาง แม้จะต้องถอยร่นมาอย่างไม่เป็นขบวนแต่หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็ยังคงต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรี และไม่ยอมให้กองทัพรัสเซียรุกคืบหน้าเข้ามาได้ง่ายๆ
ตัวอย่างเช่น กองทัพน้อยยานเกราะที่ 48 (XLVIII Panzer Corps) ที่สามารถตอบโต้การรุกของกองทัพรัสเซียอย่างได้ผลในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1943 ที่เมืองเบอร์ดิเชฟ ทางตอนใต้ของเคียฟ โดยสามารถเข้าตีเจาะแนวรุกของกองทัพรัสเซียได้เป็นระยะทางลึกถึง 113 กิโลเมตรก่อนที่จะตีตลบหลังและโอบล้อมกองทัพรถถังการ์ดที่ 3 ของรัสเซียในวันที่ 18 พฤศจิกายน ก่อนที่จะเข้าบดขยี้ทหารรัสเซียที่อยู่ในวงล้อมทั้งกองทัพให้ย่อยยับไปจนหมดสิ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในปี ค.ศ. 1943 นั้นแตกต่างจากสถานการณ์ในปี ค.ศ. 1941 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามอย่างสิ้นเชิง เพราะในห้วงเวลานี้กองทัพรัสเซียสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีกำลังหนุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลางเดือนธันวาคม กองทัพน้อยยานเกราะที่ 48 ก็ถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจนต้องถอยร่นและปรับแนวรุกเป็นแนวตั้งรับในที่สุด
ในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1944 กองทัพรัสเซียจากยูเครนเปิดฉากรุกอย่างรุนแรงและสามารถเข้ายึดแนวตั้งรับของกองทัพยานเกราะที่ 48 ได้ พร้อมๆ กับโอบล้อมกองพลต่างๆ ของเยอรมันจำนวน 10 กองพลไว้ ในจำนวนนี้รวมถึงกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 5 ไวกิ้งอันลือชื่อด้วย ทหารเยอรมันพยายามฝ่าวงล้อมออกมาแต่ก็ถูกทหารรัสเซียตอบโต้ทุกครั้งไป จนกระทั่งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทหารเยอรมันจำนวนเพียงเล็กน้อยก็สามารถเล็ดรอดผ่านวงล้อมของทหารรัสเซียออกมาได้ภายหลังที่ต้องต่อสู้อย่างนองเลือด ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์และรถถังไว้ในวงล้อมเป็นจำนวนมาก
ทหารรัสเซียขณะทำการรบ
แต่ชะตากรรมของหน่วยยานเกราะเยอรมันยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ กองทัพรัสเซียเปิดฉากรุกครั้งใหญ่ในวันที่ 24 มีนาคมและสามารถโอบล้อมกองทัพยานเกราะที่ 1 ของเยอรมันไว้ได้เกือบทั้งหมดที่เมืองคาเมเน็ทส์ (Kamenets) ฮิตเลอร์รู้ดีว่าเขาไม่สามารถสูญเสียกองทัพยานเกราะที่ 1 ไปได้ จึงสั่งการให้กองทัพน้อยยานเกราะเอสเอส ที่ 2 เดินทางออกจากประเทศฝรั่งเศสเข้าไปช่วยทหารเยอรมันที่ถูกล้อมในวันที่ 28 มีนาคม และสามารถช่วยกองทัพยานเกราาะที่ 1 ออกมาจากวงล้อมได้ในที่สุด
ในขณะที่การรบเป็นไปอย่างดุเดือดอยู่นั้น แผนการผลิตรถถังและยานเกราะที่กูเดอเรียนได้วางไว้ก็ยังผลิดอกออกผลมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมหนักของเยอรมันสามารถผลิตรถถังและยานเกราะได้เป็นจำนวนถึง 5,648 คันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1944 และเพิ่มเป็น 6,155 คันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 ในจำนวนนี้มีรถถังแบบไทเกอร์อยู่จำนวน 373 คันและรถถังแบบแพนเธอร์อยู่ 972 คัน
รถถังบางรุ่นที่เริ่มล้าสมัยถูกส่งกลับเข้าโรงงานเพื่อปรับเปลี่ยนป้อมปืนออกไปและติดตั้งปืนใหญ่ที่ทรงอานุภาพเข้าไปแทน เช่น รถปืนใหญ่อัตตาจรแบบ "สตรุมแพนเซอร์ 4 บรุมม์บาร์" (Sturmpanzer IV Brummbar) ที่นำฐานของรถถังแพนเซอร์ 4 มาติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 150 มิลลิเมตรที่ทรงอานุภาพแทน จนกลายเป็นรถปืนใหญ่อัตตาจรที่น่าเกรงขาม แต่จำนวนรถถังและยานเกราะที่เพิ่มมากขึ้นเหล่านี้ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะรับมือกับข้าศึกที่รุกเข้าสู่ประเทศเยอรมันในทุกทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งกองทัพอากาศของสัมพันธมิตรได้ทำลายหน่วยยานเกราะของเยอรมันเกือบทั้งหมดในยุโรปตะวันตกจนแทบหมดสิ้น
"สตรุมแพนเซอร์ 4 บรุมม์บาร์" (Sturmpanzer IV Brummbar)
หน่วยยานเกราะของเยอรมันพยายามฟื้นตัวอย่างยากลำบาก รถถังและยานเกราะที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วยุโรปถูกรวบรวมเข้าอีกครั้ง ส่วนกองทัพรัสเซียก็ยังคงรุกคืบหน้าเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน จนในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1944 กองทัพรัสเซียก็สามารถเจาะแนวตั้งรับของกองทัพโรมาเนียที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเยอรมันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1941 ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลโรมาเนียประกาศถอนตัวออกจากการเป็นพันธมิตรร่วมกับกลุ่มอักษะของเยอรมันในอีก 5 วันต่อมา และทำให้แผนการจัดตั้งกองทัพที่ 6 ของเยอรมันในประเทศโรมาเนียต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย
ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1944 หน่วยยานเกราะของเยอรมันรวบรวมกำลังตอบโต้กองทัพรัสเซียอีกครั้งที่ชายแดนประเทศฮังการี โดยกองพลยานเกราะที่ 1 กองพลยานเกราะที่ 23และกองพลยานเกราะที่ 24 ของกองทัพบกเยอรมันเปิดฉากการเข้าตีแนวหน้าของรัสเซีย ก่อนที่จะทำลายกองทัพน้อยของรัสเซียลงได้ถึง 3 กองทัพ แต่กองทัพรัสเซียก็ยังคงหนุนเนื่องและรุกเข้ามาจนสามารถล้อมกรุงบูดาเปสท์ เมืองหลวงของฮังการีและสามารถยึดครองประเทศฮังการีได้ในที่สุด
ไม่แต่เฉพาะการรบในสมรภูมิรัสเซียเท่านั้นที่หน่วยยานเกราะเยอรมันต่อสู้อย่างสุดความสามารถ การรบในแนวรบด้านยุโรปตะวันตกภายหลังการยกพลขึ้นบกในวัน ดี เดย์ของฝ่ายสัมพันธมิตรก็เช่นกัน รถถังรุ่นใหม่ๆ อย่างเช่น รถถังแบบไทเกอร์ ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับรถถังของสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ก็ได้สร้างชื่อเสียงอย่างมากในการรบ การที่เครื่องยนต์มักจะมีปัญหาไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการต่อสู้ในระยะประชิดระหว่างรถถังกับรถถังของไทเกอร์ลดลงแต่อย่างใด
ทั้งนี้เพราะการรบในนอร์มังดี มักจะเป็นการรบในระยะใกล้ไม่เกิน120-350 หลา อีกทั้งพื้นที่การรบในนอร์มังดียังเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการซุ่มโจมตีเป็นอย่างมาก ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องทุ่มเทกำลังรถถังและกำลังทหารเข้ากวาดล้างรถถังเยอรมันที่ซุ่มซ่อนอยู่ตามภูมิประเทศต่างๆ ซึ่งการปฏิบัติภารกิจในการกวาดล้างนี้ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียอย่างหนัก โดยมีการคำนวณว่าในการรบที่นอร์มังดี ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องสูญเสียรถถังถึง 4 คัน เพื่อจะทำลายรถถังไทเกอร์เพียง 1 คัน
จนมีคำกล่าวว่า การต่อสู้ด้วยรถถังที่นอร์มังดีเป็นการต่อสู้ระหว่างคุณภาพ และปริมาณ ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายพันธมิตรมีจำนวนรถถังมากกว่าฝ่ายเยอรมันถึง 2 ต่อ 1 โดยฝ่ายสัมพันธมิตรมีรถถังที่เข้าปฏิบัติการทั้งหมด 1,350 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถถังแบบเอ็ม 4 เชอร์แมน ส่วนฝ่ายเยอรมันมีรถถังเพียง 670 คัน มีทั้งรถถังแบบแพนเซอร์ 4, แพนเธอร์และไทเกอร์
รถถังไทเกอร์ของกองพันรถถังหนัก เอส เอส ที่ 101 (SS Panzer Abteilung 101) ถูกทำลายในการรบที่นอร์มังดี
อย่างไรก็ตามจำนวนรถถังสัมพันธมิตร 4 คันต่อ 1 คันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องแลกเพื่อทำลายรถถังแบบไทเกอร์นั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถทดแทนรถถังที่สูญเสียไปได้เกือบจะในทันที แต่ฝ่ายเยอรมันนั้นไม่มีโอกาสที่จะทดแทนรถถังของตนที่สูญเสียไปได้ เนื่องจากการโจมตีทางอากาศของสัมพันธมิตรที่โจมตีเส้นทางลำเลียงต่าง ๆ ที่มุ่งหน้าสู่นอร์มังดี ทำให้รถถังของเยอรมันในแนวหน้ามีไม่เพียงพอที่จะต่อต้านการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรในที่สุด
แม้จะต้องตกเป็นฝ่ายถอยร่นอย่างไม่หยุดหย่อนแต่หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็ยังคงสู้ยิบตาและไม่ปล่อยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรุกเข้ามาอย่างสะดวก ในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 กองพลยานเกราะ 2 กองพลของเยอรมันรุกเข้าสู่แนวหน้าที่บอบบางของกองพลยานเกราะที่ 7 ของสหรัฐฯ บริเวณเมืองเมย์เจล (Meijel) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองไอนด์โฮเว่น (Eindhoven) ประเทศเนเธอร์แลนด์ การรบเป็นไปอย่างรุนแรงกว่า 10 วัน ทหารเยอรมันยึดพื้นที่ได้ส่วนหนึ่งก่อนที่กำลังเสริมของสหรัฐฯ จะมาถึงและไล่ตีหน่วยยานเกราะของเยอรมันจนถอยร่นกลับไปยังจุดเริ่มต้น
ความสำเร็จในห้วงเวลาสั้นๆ ของการรุกที่เมืองเมย์เจลในครั้งนี้เป็นสิ่งที่จุดประกายให้ฮิตเลอร์เกิดแนวความคิดว่า เยอรมันยังไม่แพ้ การรุกตอบโต้ที่รุนแรงตามรูปแบบการรบแบบสายฟ้าแลบของเยอรมันยังสามารถเอาชนะข้าศึกได้ เขาจึงวางแผนการรุกกลับของกองทัพเยอรมันโดยมีเป้าหมายอยู่ที่เมืองท่า "แอนท์เวอร์ป" (Antwerp) ของประเทศเบลเยี่ยม แผนการดังกล่าวจะใช้กองกำลังรถถังและยานเกราะจากกองทัพยานเกราะที่ 6 เข้าตีแนวหน้าของสหรัฐฯ ทางตอนเหนือและกองทัพยานเกราะที่ 5 เข้าเจาะทางตอนกลางแนวตั้งรับของสหรัฐฯ ซึ่งการรุกของเยอรมันจะเคลื่อนที่ผ่านป่าอาร์เดนส์ (Ardennes) อันรกทึบและทุรกันดาร
เยอรมันพยายามรวบรวมกำลังครั้งสุดท้ายเพื่อการรุกในครั้งนี้ ประกอบด้วยกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 1 ลีปสตานดาร์ด กองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 2 กองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 9 โฮเฮนสเตาเฟนและกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 12 ฮิตเลอร์จูเกน นอกจากนี้ยังมีกองพลยานเกราะที่ 116 และกองพลยานเกราะที่ 2 ของกองทัพบกเป็นหัวหอกในการรุก รวมทั้งมีกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 10 ฟรุนด์แบร์กและกองพลยานเกราะที่ 21 เป็นกำลังหนุน ฮิตเลอร์สั่งรวบรวมรถถังและยานเกราะทั้งหมดที่มีอยู่ได้เป็นจำนวนถึง 950 คันเพื่อใช้เป็นกำลังหลักในการรุก ซึ่งในจำนวนนี้มีรถถังรุ่นใหม่ล่าสุดคือรถถังแบบไทเกอร์ 2 (Tiger II) หรือที่มีฉายาว่า "คิง ไทเกอร์" (King Tiger) ที่เป็นตำนานของสุดยอดรถถังแห่งยุคจำนวน 52 คันรวมอยู่ด้วย
การรุกเปิดฉากขึ้นในรุ่งอรุณของวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1944 เมื่อรถถังคิง ไทเกอร์จำนวน 30 คันของกองพันรถถังหนักเอสเอส ที่ 501 (501st SS Heavy Tank Battalion) ของเยอรมันติดตามด้วยทหารราบเคลื่อนที่เข้าตีแนวหน้าของทหารสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านของทหารสหรัฐฯ ที่ด้อยประสบการณ์ แม้รถถังคิง ไทเกอร์จะทรงอานุภาพเพียงใด แต่เมื่อพื้นที่การรบเต็มไปด้วยไหล่เขาลาดชัน และป่าที่หนาทึบได้ทำให้ประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ของมันลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามในช่วง 2 วันแรกของการรบ เยอรมันก็สามารถรุกคืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว กองพลยานเกราะ "แลฮ์ร" (Lehr Panzer Division) ของเยอรมัน
รถถังคิงไทเกอร์ ถูกทำลายที่บาสตองน์ จะเห็นรถถัง เอ็ม 4 เชอร์แมนของสหรัฐฯ ทางขวามือของภาพ
จนกระทั่งในวันที่ 22 ธันวาคม กองทัพเยอรมันก็เข้าโอบล้อมเมืองบาสตองน์ (Bastogne) และกองพลยานเกราะที่ 2ก็พยายามเข้ายึดคลังน้ำมันของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่บริเวณริมสะพานข้ามแม่น้ำเมอส (Meuse) แม้จะอยู่ห่างจากคลังน้ำมันเพียง 6 กิโลเมตรแต่กองพลยานเกราะที่ 2 ก็ไม่สามารถยึดคลังน้ำมันซึ่งจะใช้สำหรับรถถังและยานเกราะในการรุกต่อไปได้
ขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มตอบโต้และในวันต่อมาเมฆหมอกที่ปกคลุมท้องฟ้าเหนือสมรภูมิซึ่งเป็นอุปสรรคต่อฝูงบินสหรัฐฯ ก็เริ่มจางหายไป ทำให้รถถังและยานเกราะของเยอรมันถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ประกอบกับการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในที่สุดในวันที่ 24 ธันวาคมเยอรมันก็ตกเป็นฝ่ายรับและเริ่มล่าถอยท่ามกลางความสูญเสียอย่างหนัก
และในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรก็โจมตีกองทัพยานเกราะที่ 5 ของเยอรมันในทุกๆ ด้านจนต้องล่าถอยออกจากพื้นที่ป่าอาร์เดนส์ ผลจากการรบในครั้งนี้ทำให้เยอรมันต้องสูญเสียทหารไปถึง 120,000 คน รถถังและยานเกราะเป็นจำนวนกว่า 600 คัน ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้เยอรมันสูญเสียทรัพยากรสงครามเกือบทั้งหมดและทำให้แนวรบด้านรัสเซียมีความเปราะบางอย่างมาก เนื่องจากถูกดึงกำลังทหารและกำลังรถถังไปเสริมในการรบดังกล่าว จนรัสเซียสามารถเข้ายึดโปแลนด์ได้อย่างไม่ยากเย็น นับจากนี้ความพ่ายแพ้ของเยอรมันได้กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว
ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์สั่งให้ดึงกองทัพยานเกราะเอสเอส ที่ 6 ซึ่งมีรถถังและยานเกราะอยู่จำนวนหนึ่งจากแนวรบด้านฝรั่งเศสเพื่อไปเสริมแนวรบในประเทศฮังการี พร้อมๆ กับความพยายามในการก่อตั้งกองทัพน้อยยานเกราะขึ้นมาใหม่ คือ กองทัพน้อยยานเกราะที่ 24 และกองทัพน้อยยานเกราะ "กรอสส์ดอยช์ลันด์" (Grossdeutschland) เพื่อเตรียมการรับมือกับการรุกครั้งใหญ่ของกองทัพรัสเซียซึ่งประกอบไปด้วยกำลังทหาร 163 กองพลและรถถังอีกเป็นจำนวนถึง 7,042 คัน ในขณะที่เยอรมันมีรถถังและยานเกราะอื่นๆ อยู่เพียง 1,136 คันเท่านั้น
ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1945 รัสเซียเปิดฉากรุกครั้งใหญ่บริเวณแม่น้ำ "วิสทูรา" ของโปแลนด์ การรุกเป็นไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากรัสเซียมีกำลังที่เหนือกว่าอย่างมาก ทหารรัสเซียได้ใช้ยุทธวิธีการรบแบบสายฟ้าแลบที่เยอรมันเคยประสบความสำเร็จในช่วงต้นของสงครามมาแล้ว โดยรถถังของรัสเซียจะใช้ความเร็วแล่นเจาะแนวตั้งรับของทหารราบเยอรมันเข้าไปอย่างรวดเร็วและเจาะลึกเข้าไปจนถึงส่วนบังคับบัญชาของแต่ละหน่วย ก่อนที่จะโอบล้อมและตัดขาดทหารราบออกจากกองบัญชาการของพวกเขา ส่งผลให้ทหารเยอรมันอยู่ในสภาพสับสนเพราะขาดการบังคับบัญชาและการติดต่อสื่อสารกับหน่วยข้างเคียง ก่อนที่รถถังและทหารราบรัสเซียจะเข้าบดขยี้ทหารเยอรมันในวงล้อมนั้นจนหมดสิ้น
ด้วยยุทธวิธีดังกล่าวทำให้กองทัพรัสเซียสามารถเคลื่อนที่รุกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ กองทัพยานเกราะที่ 4 ของเยอรมันก็ถูกโจมตีจนได้รับความบอบช้ำ แต่อีก 1 สัปดาห์ต่อมากองทัพน้อยยานเกราะ กรอสส์ดอยช์ลันด์ และกองทัพน้อยที่ 24 ที่อ่อนล้าและมีรถถังเพียงบางส่วนก็รุกตอบโต้กองทัพรัสเซีย และสามารถตัดขาดกองทัพรถถังโซเวียตที่ 4 ออกจากกำลังส่วนใหญ่
แต่เนื่องจากกองทัพน้อยทั้งสองของเยอรมันอ่อนแอเกินไปจึงทำให้ทหารรัสเซียฝ่าวงล้อมออกมาได้และจัดแนวรุกขึ้นใหม่ เป็นเวลาเดียวกับที่กองพลยานเกราะที่ 8 และกองพลทหารราบยานเกราะ "ฟูเรอห์" เดินทางมาถึง และร่วมกันเข้าตีแนวหน้าของรัสเซียอย่างรุนแรง ส่งผลให้กองทัพรถถังโซเวียต ที่ 3 และกองทัพรถถังโซเวียตที่ 4 ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะกองทัพรถถังโซเวียตที่ 3 นั้นถูกทำลายอย่างหนักจนเกือบสิ้นสภาพความเป็นกองทัพรถถังเลยทีเดียว
เมื่อได้รับชัยชนะ หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็พยายามรุกต่อไป แต่ด้วยความขาดแคลนทั้งกำลังพลและรถถัง ทำให้กองทัพรัสเซียเป็นฝ่ายรุกตอบโต้กลับมาอีก โดยเฉพาะในวันที่ 14 มีนาคม กองทัพยูเครเนียน-โซเวียต ที่ 4 เปิดฉากรุกใส่กองทัพยานเกราะที่ 4 ที่อ่อนระโหยโรยแรงเต็มที แต่โชคยังเข้าข้างเยอรมันอยู่บ้างที่กองพลยานเกราะ ที่ 16 สังกัดกองทัพน้อยยานเกราะ ที่ 24 เดินทางมาถึงและสามารถนำกำลังพลของกองทัพยานเกราะ ที่ 4 ฝ่าวงล้อมของทหารรัสเซียออกมาได้ พร้อมๆ กับรวบรวมกำลังที่เหลือรุกเข้าใส่ทหารรัสเซียจนได้รับความสูญเสียอย่างหนักและต้องชะลอแผนการบุกลงเพื่อปรับกำลังใหม่
อย่างไรก็ตามกระแสน้ำแห่งชัยชนะในสงครามไม่มีวันหวนกลับมาสู่เยอรมันอีกต่อไปแล้ว กองทัพรัสเซีย กองทัพสหรัฐฯ และสัมพันธมิตรยังคงรุกเข้ามายังดินแดนเยอรมันอย่างไม่หยุดยั้ง ในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 เยอรมันรวบรวมรถถังและยานเกราะหลากชนิดที่หลงเหลืออยู่จำนวนไม่เกิน 25 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการฝึก
ส่วนกำลังพลประจำรถก็จัดจากโรงเรียนทหารต่างๆ จัดตั้งเป็นกองพลยานเกราะ คลอสวิทซ์ (Panzer Division Clausewitz) และเข้าตีกองทัพสหรัฐฯ ที่กำลังรุกเข้ามาแม่น้ำ "เอลเบ" (Elbe) แม้ว่าในช่วงแรกทหารเยอรมันจะเริ่มต้นได้ดีด้วยการหยุดยั้งทหารอเมริกันได้ แต่เมื่อกำลังหนุนของสหรัฐฯ มาถึง กองพลยานเกราะ คลอสวิทซ์ ก็ตกอยู่ในวงล้อมและแม้จะต่อสู้อย่างหลังชนฝา ทหารเยอรมันทั้งหมดก็ถูกกวาดล้างจนหมดสิ้นในวันที่ 21 เมษายน
ขณะเดียวกันกองทัพรัสเซียก็เคลื่อนที่เข้าสู่กรุงเบอร์ลินผ่านทางแม่น้ำ โอเดอร์ แต่หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็ยังไม่สิ้นเขี้ยวเล็บ ในวันที่ 16 เมษายน รถถังแพนเธอร์ ของกรมยานเกราะเอสเอส ที่ 11 และรถถังไทเกอร์ของกองพันรถถังหนักเอสเอส ที่ 503 ได้ซุ่มโจมตีกรมรถถังของรัสเซียที่เคลื่อนที่เข้ามาย่ามใจ เป็นผลให้รถถังรัสเซียจำนวนกว่า 50 คันถูกทำลายลง พร้อมๆ กับที่กองพลยานเกราะ มุนช์แบร์ก ก็ซุ่มโจมตีกรมรถถังของรัสเซียอีกกรมหนึ่งที่เมือง ดีเดอร์ ทำให้รถถังนับสิบคันของรัสเซียถูกทำลาย รวมทั้งกองพันรถถังหนักเอส เอส ที่ 502 ก็โจมตีกองทัพน้อยการ์ด ที่ 8 ของรัสเซียจนแทบละลายทั้งกองพัน
ชัยชนะเหล่านี้แม้จะเป็นชัยชนะในช่วงเวลาสุดท้าย แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของหน่วยยานเกราะเยอรมันได้เป็นอย่างดี พวกเขาต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของพวกเขาแม้จะตระหนักดีว่า ไม่มีคำว่าชัยชนะสำหรับเยอรมันอีกต่อไปแล้ว ในช่วงสุดท้ายของการรบในกรุงเบอร์ลินก่อนสิ้นสุดสงคราม มีรถถังของเยอรมันหลงเหลืออยู่ไม่ถึง 70 คันพร้อมด้วยรถปืนใหญ่อัตตาจรชุดสุดท้ายจำนวน 31 คันของกองพลยานเกราะ มุนช์แบร์ก, กองพลน้อยรถปืนใหญ่อัตตาจร ที่ 249, กองพลทหารราบยานเกราะที่ 18 และกองพลทหารราบยานเกราะที่ 25 ที่ยังคงต่อสู้กับกองทัพรถถังรัสเซียที่เคลื่อนที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะกองพลน้อยรถปืนใหญ่อัตตาจร ที่ 249 นั้นได้เดินทางมาจากนอกกรุงเบอร์ลินและฝ่าวงล้อมทหารรัสเซียเข้าไปร่วมต่่อสู้กับทหารเยอรมันหน่วยอื่นๆ ในเมือง ทหารเยอรมันต่อสู้อย่างเหนียวแน่นจะกระทั่งเหลือรถปืนใหญ่อัตตาจรเพียง 9 คันที่ยังคงปักหลักอยู่ในบริเวณโรงเรียนมัธยมเบอร์ลินซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้าย
จนกระทั่งในคืนวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ข่าวการฆ่าตัวตายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก็เผยแพร่ออกมา ทหารยานเกราะของกองพลน้อยปืนใหญ่อัตตาจร ที่ 249 พร้อมรถปืนใหญ่อัตตาจรที่เหลืออยู่เพียง 3 คันก็ตัดสินใจฝ่าวงล้อมของทหารรัสเซียเพื่อต้องการไปยอมจำนนต่อทหารสหรัฐฯ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของกรุงเบอร์ลิน แต่รถทั้งสามคันก็ถูกรถถังรัสเซียยิงทำลายอย่างรวดเร็วเมื่อเคลื่อนที่ผ่านบริเวณเขต สแปนเดา
อย่างไรก็ตามพลประจำรถที่เหลืออยู่ส่วนหนึ่งซึ่งรวมทั้งผู้บัญชาการกองพลน้อยปืนใหญ่อัตตาจร ที่ 249 สามารถเล็ดรอดผ่านแนวของทหารรัสเซียออกไปมอบตัวต่อทหารสหรัฐฯ ได้ในที่สุด และในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 กรุงเบอร์ลินก็ถูกยึดครองโดยกองทัพรัสเซีย การต่อต้านของหน่วยยานเกราะเยอรมันก็ยุติลงพร้อมๆ กับการปิดฉากความยิ่งใหญ่และห้าวหาญของหน่วยยานเกราะเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างสมบูรณ์
Create Date : 05 มีนาคม 2555 |
Last Update : 9 กรกฎาคม 2556 10:57:18 น. |
|
7 comments
|
Counter : 7611 Pageviews. |
 |
|