VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
จอมพลแฮร์มานน์ เกอริง เพชฌฆาตติดปีกของฮิตเลอร์ (สงครามโลกครั้งที่ 2)

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2


จอมพล แฮร์มานน์ วิลเฮล์ม เกอริง

Hermann Wilhelm Göring หรือ Goering

ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน 

โดย

พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)
Victoria University of Wellington, New Zealand

(สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ลอกเลียน ทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน)

-----------------------




คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จอมพลแฮร์มานน์ เกอริง คือบุคคลผู้มีบทบาททั้งการก้าวขึ้นสู่อำนาจและการล่มสลายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์อย่างแท้จริง เขาได้ชื่อว่าเป็นมือขวาของฮิตเลอร์ เป็นผู้ที่ฮิตเลอร์ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่งนับตั้งแต่การชนะเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคนาซี การก้าวขึ้นสู่ความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ อัครมหาเสนาบดี (Chanceller) ก่อนที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศเยอรมันในที่สุด

และเกอริงอีกนั่นเองที่คุมกำลังกองทัพอากาศเยอรมันที่ล้มเหลวในการโจมตีเกาะอังกฤษจนอังกฤษสามารถฟื้นตัวกลับมาพิชิตเยอรมันได้ เขาคือผู้ที่รับปากฮิตเลอร์ถึงการส่งกำลังบำรุงให้กับกองทัพที่ 6 ในการรบที่สตาลินกราด แต่ก็ล้มเหลวจนนำไปสู่ความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ เขาล้มเหลวในการปกป้องแผ่นดินเยอรมันและอุตสาหกรรมสงครามจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งที่เคยรับปากกับฮิตเลอร์ว่า ไม่มีวันที่แผ่นดินเยอรมันจะถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรได้ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดหนักของเยอรมันไม่สามารถผลิตจักรกลสงครามออกมาได้อย่างเพียงพอในการปกป้องผืนแผ่นดินของตน และนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในที่สุด

เกอริงเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1893 ในเมือง โรเซนไฮม์ (Rosenheim) ทางตอนใต้ของแคว้นบาวาเรีย (Bavaria) ประเทศเยอรมัน บิดาของเขาคือ ไฮน์ริช เออร์เนสท์ เกอริง (Heinrich Ernest Göring) ผู้สำเร็จราชการของอาณาจักรเยอรมันในประเทศนามิเบีย จึงนับได้ว่าเกอริงเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลข้าราชการชั้นสูงอย่างแท้จริง เขาเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยปรัสเซีย และเข้ารับราชการในเหล่าทหารราบของกองทัพบกเยอรมันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1912

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เปิดฉากขึ้นในปี ค.ศ. 1914 เกอริงก็เข้าร่วมในสงครามแต่เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บจากโรคไขข้ออักเสบจึงทำให้เขาต้องย้ายตัวเองไปอยู่หน่วยบินของกองทัพบก (German Army Air Service) ซึ่งเขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการรบทางอากาศ สามารถยิงเครื่องบินข้าศึกตกถึง 22 ลำและได้รับการคัดเลือกให้เป็นเสืออากาศของกองทัพอากาศเยอรมัน รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรษของประเทศอีกด้วย

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมันส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำจนถึงขั้นล่มสลาย เกอริงจึงผันตัวเองไปเป็นนักบินให้กับบริษัทฟอคเกอร์ (Fokker) ในประเทศฮอลแลนด์ เดนมาร์กและสวีเดน แต่ด้วยพื้นฐานของการเป็นวีรบุรุษสงครามทำให้เขาถูกดึงเข้ามาเป็นร่วมในการก่อตั้งพรรคนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และได้เป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยเอสเอ (SA – Strum Abtailung) ซึ่งเป็นกองกำลังจู่โจมติดอาวุธที่มีฉายาว่า "เสื้อสีน้ำตาล" (Brown shirts) ของฮิตเลอร์ในปี ค.ศ. 1922

เขามีความประทับใจในตัวฮิตเลอร์และพรรคนาซีเป็นอย่างมากจนถึงกับกล่าวกับเพื่อนๆ ของเขาว่า

"… มันเป็นความประทับใจในการเมืองตั้งแต่แรกพบเลยทีเดียว …"

หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปีคือในปี ค.ศ. 1923 เขาก็มีส่วนร่วมในการปฏิวัติของพรรคนาซีในเมืองมิวนิค โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีถูกจับ ส่วนเกอริงได้รับบาดเจ็บเนื่องจากโดนสะเก็ดหินแกรนิต 2 ชิ้นที่ต้นขา เป็นเศษหินที่แตกออกผนังอาคารเพราะแรงกระสุน เขาหนีการจับกุมออกไปยังประเทศออสเตรีย อิตาลีและสวีเดน ในปี ค.ศ. 1925 เขากลายเป็นผู้เสพติดมอร์ฟีนและเป็นโรคอ้วนเพราะมีน้ำหนักมากถึง 280 ปอนด์ จึงถูกส่งเข้าโรงพยาบาลโรคจิตสถานที่ที่ซึ่งฟื้นฟูสุขภาพจิตของเขาให้กลับคืนมาได้ดังเดิม

ในปี ค.ศ. 1927 เกอริงเดินทางกลับเยอรมันเพื่อเข้าร่วมในพรรคนาซีของฮิตเลอร์อีกครั้ง หนึ่งปีต่อมาเขาชนะการเลือกตั้งในนามพรรคนาซีและได้รับคัดเลือกให้เป็นรองประธานสภา ในช่วงนี้เกอริงได้ใช้ความสามารถส่วนตัวในการเป็นบุคคลในสังคมชั้นสูงทำการติดต่อกับสมาชิกรัฐสภา ผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน นักธุรกิจระดับสูงและนายทหารในกองทัพ เพื่อสร้างคะแนนเสียงให้กับพรรคนาซี ซึ่งผลงานของเขาทำให้พรรคนาซีได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงานอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1930 พรรคนาซีก็ได้คะแนนเสียงท่วมท้นถึง 6,500,000 เสียง ได้รับที่นั่งในรัฐสภา "ไรซ์สตาร์ค" ถึง 107 ที่นั่ง และในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี ค.ศ. 1932 เกอริงก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานสภา





เมื่อฮิตเลอร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรืออัครมหาเสนาบดีในปี ค.ศ. 1933 เกอริงก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการตำรวจแห่งแคว้นปรัสเซีย พร้อมๆ กันนี้เกอริงได้ร่วมกับสมาชิกระดับสูงของพรรคนาซีคนหนึ่งคือ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) ก่อตั้งองค์กรตำรวจลับเกสตาโป (Gestapo) และจัดสร้างค่ายกักกันเพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังศัตรูทางการเมืองของพรรคนาซีขึ้น ซึ่งนับเป็นจุดกำเนิดของการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งยิ่งใหญ่และร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

นอกจากนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานของเขาปราศจากอุปสรรค เกอริงสั่งการให้ปลดเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงจำนวน 22 คนจากทั้งหมด 32 คนรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายพันคน และทดแทนด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จัดจากหน่วยเอสเอส และเอสเอ ของพรรคนาซี เขายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการวางเพลิงรัฐสภาไรซ์สตาร์คโดยโยนความผิดให้พวกคอมมิวนิสต์ เพื่อปูทางให้ฮิตเลอร์ใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศเยอรมัน รวมทั้งยังเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการตามคำสั่งของฮิตเลอร์ในการกวาดล้างกลุ่มเอส เอ ของเออร์เนส โรห์มในเหตุการณ์ "ราตรีแห่งมีดดาบยาว" ( night of long knives) ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1934 อีกด้วย

เกอริงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน ซึ่งนับเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดตำแหน่งหนึ่งของเขาในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1935 และในปี ค.ศ. 1937 เขาได้รับมอบหมายให้เข้าดูแลแผนพัฒนาเศรษฐกิจและกิจการรัฐวิสาหกิจจำนวนหลายแห่งที่มีการจ้างงานสูงถึง 700,000 คน ใช้เงินจำนวนกว่า 400 ล้านมาร์ค ทำให้เขามีรายได้เป็นจำนวนมหาศาลทั้งในทางตรง เช่น เงินประจำตำแหน่งหลายตำแหน่ง รายได้จากหนังสือพิมพ์ Essener National Zaitungของเขาเอง และในทางลับ เช่น เงินสินบนจากบริษัทผลิตอากาศยานต่างๆ ที่เสนอต้นแบบเครื่องบินนานาชนิดในการสร้างกองทัพอากาศเยอรมันขึ้นมาใหม่

ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนเจ้าสำราญจากตระกูลผู้ดีเก่า ทำให้เกอริงใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย มีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ เปลี่ยนเสื้อผ้าวันละ 4-5 ครั้ง ประดับคฑาจอมพลและเหรียญตราต่างๆ บนเครื่องแบบของเขาด้วยเพชรและทองคำแท้ เขามีงานอดิเรกในการสะสมของเก่าทั้งที่ได้มาอย่างถูกกฏหมายและได้มาจากผู้ลักลอบทำผิดกฏหมาย และเปลี่ยนพระราชวังเก่ากลางกรุงเบอร์ลินให้กลายเป็นสถานที่พำนักที่หรูหรา ด้วยของตกแต่งราคาแพง

แต่ที่น่าแปลกใจคือพรรคนาซีได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของเกอริงต่อสาธารณชนว่าเป็นต้นแบบแห่งความซื่อสัตย์ สุภาพบุรุษ เป็นคนที่เข้าถึงและสัมผัสได้ง่ายมากกว่าฮิตเลอร์ ทำให้คะแนนนิยมในตัวของเขาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในปี ค.ศ. 1938 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นทายาททางการเมืองของฮิตเลอร์ เขาคือบุคคลที่นำคำสั่งของฮิตเลอร์ในการกำจัดชาวยิวมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมด้วยการนำเอาชาวยิวออกไปจากระบบเศรษฐกิจและริบทรัพย์สินทั้งหมดของชาวยิวเป็นของรัฐภายใต้บทบัญญัติแห่ง "ชนชาติอารยันที่บริสุทธิ์" และเขาก็คือผู้สั่งการให้ใช้แนวทาง "การแก้ปัญหาขั้นสุดท้าย" หรือ Final Solution กับชาวยิวทั้งในเยอรมันและในดินแดนยึดครองของเยอรมัน อันนำมาซึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในที่สุด





ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพอากาศเยอรมันประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำลายกองทัพอากาศและกองทหารภาคพื้นดินของโปแลนด์ ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยมและฝรั่งเศส ทำให้ชาวเยอรมันต่างชื่นชมในตัวเกอริงเป็นอย่างมาก แต่ชื่อเสียงของเขาเริ่มลดต่ำลงเมื่อเขาไม่สามารถพิชิตอังกฤษได้ พร้อมทั้งเริ่มมีเสียงวิพากวิจารณ์ว่า เขาเป็นเพียงนักบินขับไล่คนหนึ่งเท่านั้น ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้ควบคุมกองทัพอากาศทั้งหมด เพราะการเป็นนักบินกับการเป็นผู้บัญชาการกองทัพอากาศนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่ความสำเร็จอย่างท่วมท้นเหนือกองทัพอากาศรัสเซียที่ล้าสมัยในช่วงปี ค.ศ. 1941 ก็ทำให้เขาได้รับความนิยมกลับขึ้นมาอีก ก่อนที่ความจริงของสงครามจะปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า กองทัพอากาศเยอรมันกำลังถูกกองทัพอากาศสัมพันธมิตรและกองทัพอากาศรัสเซียกำจัดออกไปจากน่านฟ้า โดยเฉพาะเมื่อฝูงบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรดาหน้าเข้าถล่มเมืองต่างๆ ในเยอรมันไม่เว้นแต่ละวัน ชาวเยอรมันก็เริ่มตระหนักดีกว่า ผู้บัญชาการทหารอากาศเยอรมันคนนี้ไร้ความสามารถในการปกป้องน่านฟ้าเยอรมันอย่างสิ้นเชิง





ในปี ค.ศ. 1943 ขณะที่ท้องฟ้าเหนือเมืองต่างๆ ของเยอรมันเต็มไปด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตร เกอริงกลายเป็นคนที่เซื่องซึมและตกอยู่ในภวังค์ เขาปฏิเสธการรายงานของอดอล์ฟ กัลล์ลันด์ เสืออากาศเยอรมันที่ว่า เครื่องบินของสัมพันธมิตรกำลังทำลายเมืองและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆของเยอรมันอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกันฮิตเลอร์ก็มองว่าเกอริงเป็นผู้บัญชาการกองทัพอากาศที่ไร้ความสามารถและเป็นต้นเหตุแห่งความพ่ายแพ้ของเยอรมัน ทำให้เขาอับอายขายหน้าอย่างมาก ชื่อเสียงของเขาถูกกลบด้วยชื่อของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ และอัลเบิร์ต สเปียร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกอริงเริ่มปลีกตัวออกจากฮิตเลอร์

เมื่อกองทัพรัสเซียรุกเข้ามาถึงกรุงเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์ประกาศว่าตัวเขาเองจะอยู่ในหลุมหลบภัยกลางกรุงเบอร์ลินจนวาระสุดท้าย แต่เกอริงผู้ซึ่งหนีไปยังแคว้นบาวาเรียก่อนหน้านี้เข้าใจผิดในคำประกาศดังกล่าว โดยเข้าใจว่าเป็นการประกาศเพื่อสละอำนาจความเป็นผู้นำของฮิตเลอร์ เขาจึงเรียกร้องสิทธิความเป็นทายาททางการเมืองของฮิตเลอร์และขอขึ้นเป็นผู้นำประเทศเยอรมัน

ฮิตเลอร์โกรธมากสั่งให้จับกุมตัวเกอริงและปลดออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งก่อนที่กรุงเบอร์ลินจะล่มสลายและตามมาด้วยการยอมจำนนของเยอรมัน หลังจากนั้นไม่กี่วันคือในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 เกอริงก็ถูกจับกองทัพที่ 7 ของสหรัฐอเมริกา เขาถูกนำตัวขึ้นศาลนูเรมเบอร์กในปี ค.ศ. 1946

ระหว่างการไต่สวนคดี เกอริงพยายามตอบโต้คณะผู้พิพากษาด้วยน้ำเสียงที่แข็งกร้าวและพยายามแสดงตัวให้ผู้ต้องขังทุกคนเห็นว่า เขาคือตำนานของประเทศเยอรมันที่ไม่มีวันตาย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เขาไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาการเป็นอาชญากรสงครามต่อคณะผู้พิพากษาได้ เกอริงจึงถูกพิพากษาประหารชีวิตโดยการแขวนคอในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1946

แต่ก่อนเวลาประหารชีวิตเพียง 2 ชั่วโมงเกองริงก็จบชีวิตตนเองด้วยการกลืนยาพิษไซยาไนด์ที่ผู้คุมลักลอบนำเข้ามาให้เขาระหว่างถูกคุมขัง นับเป็นการจบชีวิตของบุคคลสำคัญอันดับสองของนาซีเยอรมัน ผู้ซึ่งเดินเคียงข้างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์มาเกือบตลอดทั้งชีวิต ตั้งแต่การก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จก่อนที่จะเดินทางสู่ห้วงแห่งความหายนะ แต่เกอริงเลือกที่จบชีวิตด้วยหนทางที่แตกต่างกับฮิตเลอร์ เป็นหนทางที่ทิ้งเป็นปริศนาให้ผู้คนในอนาคตตัดสินว่า แฮร์มานน์ เกอริงคือวีรบุรุษที่แท้จริงหรือเพียงแค่คนขี้ขลาดที่เป็นวีรบุรุษจอมปลอมคนหนึ่งเท่านั้น



สภาพศพของเกอริงภายหลังกลืนยาพิษไซยาไนด์ปลิดชีพตัวเอง


(สงครามโลกครั้งที่สอง)


Create Date : 09 สิงหาคม 2553
Last Update : 9 กรกฎาคม 2556 11:02:26 น. 5 comments
Counter : 8100 Pageviews.

 
ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ


โดย: ฮง นานนี IP: 164.71.1.220 วันที่: 9 สิงหาคม 2553 เวลา:12:18:24 น.  

 
ผู้แพ้กลายเป็นอาชญากรสงคราม ในขณะที่ผู้ชนะก็ทำลายชีวิตไม่แพ้กัน


โดย: tg IP: 58.136.48.66 วันที่: 16 พฤศจิกายน 2553 เวลา:16:40:04 น.  

 
ถ้าให้คนอื่นมาคุมกองทัพอากาศแทนเกอริง เยอรมันอาจชนะในหลาย ๆ สมรภูมิที่แพ้นะผมว่า แกไม่ใช่อัจฉริยะทางทหาร เกอริงเล่นการเมืองกับคุมตำรวจลับไปก็พอแล้ว


โดย: เอ IP: 110.168.143.164 วันที่: 15 มกราคม 2554 เวลา:20:24:31 น.  

 
ดีมากครับสำหรับข้อมูล


โดย: the hitler IP: 202.29.5.62 วันที่: 6 ตุลาคม 2554 เวลา:21:47:59 น.  

 
Do you have any video of that? I'd like to find out some additional information.
Mulberry Outlet UK Sale //www.simonboyle.info/


โดย: Mulberry Outlet UK Sale IP: 94.23.252.21 วันที่: 2 สิงหาคม 2557 เวลา:16:54:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.