VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 

ไฮน์์ริค ฮิมม์เลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส ของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2


ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์

(Heinrich Himmler) 

ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส และหนึ่งในผู้สั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว


โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)
Victoria University of Wellington, New Zealand


(สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำซ้ำ ลอกเลียนหรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร)






ฮิมม์เลอร์ขณะได้รับการต้อนรับจากนายทหารระดับสูงของหน่วยเอสเอสที่เมือง Mauthausen ในปี ค.ศ. 1941 ซึ่งเป็นปีที่เขาเรืองอำนาจอย่างมาก





บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งของพรรคนาซีที่มีบทบาทอย่างมากในการแปรคำสั่งการทำลายล้างชาวยิวของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไปสู่การปฏิบัติที่โหดเหี้ยมก็คือ ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยตำรวจลับ "เกสตาโป" และผู้บัญชาการหน่วยเอส เอส อันลือชื่อ ทั้งๆ ที่บุคคลดังกล่าวเคยเป็นเพียงนักธุรกิจที่ล้มเหลว มีร่างกายที่อ่อนแอ และที่สำคัญที่สุดคือ ในช่วงท้ายที่สุดเขากลับเป็นผู้หนึ่งที่พยายามแปรพักตร์ด้วยการหันไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อหาทางยุติสงครามและกำจัดฮิตเลอร์ออกจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเยอรมัน

ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1900 ที่เมืองมิวนิค บิดาของเขาเป็นครูในโรงเรียนคาทอลิคที่เคร่งศาสนา หลังจากที่ฮิมเลอร์สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมต้น เขาก็เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฐานะนายทหารของกรมบาวาเรียนที่ 11 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามเขาก็เข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายระหว่างปี ค.ศ. 1918-1922 จนได้รับประกาศนียบัตรด้านการเกษตรจากโรงเรียนมัธยมและประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายสินค้าการเกษตรในโรงงานผลิตสินค้าการเกษตร จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1923 ฮิมม์เลอร์ได้เข้าร่วมกับพรรคนาซีในการปฏิวัติที่มิวนิค ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งให้เป็นหัวหน้าหน่วยประชาสัมพันธ์ของพรรค รับผิดชอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการผลิตใบปลิว เอกสารสิ่งพิมพ์ปลุกระดมให้ชาวเยอรมันหันมาให้การสนับสนุนพรรคนาซี โดยใช้การกดขี่ชาวเยอรมันจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์เป็นสาระสำคัญ

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1927 ฮิมม์เลอร์แต่งงานและหันหลังให้กับพรรคนาซี โดยเริ่มต้นทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ของตัวเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องกลับมาเข้าร่วมพรรคนาซีอีกครั้งในปี ค.ศ. 1929 พร้อมๆ กับได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยองครักษ์ของฮิตเลอร์หรือที่รู้จักกันในนามหน่วยเอสเอส (Schutzstaffel – SS) ซึ่งในขณะนั้นมีกำลังพลเพียง 200 นายเท่านั้น

ในฐานะสมาชิกพรรคนาซี เขาได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาไรซ์สตาร์คของประเทศเยอรมันในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1930 และทำหน้าที่ในการเสริมสร้างกองกำลังเอสเอส ให้เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ขึ้นจนกระทั่งมีกำลังพลเป็นจำนวนถึง 52,000 คนในปี ค.ศ. 1933 นอกจากนี้เขายังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจลับ "เกสตาโป" ในบาวาเรียซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของพรรคนาซีและของฮิตเลอร์ในปี ค.ศ. 1934 อีกตำแหน่งหนึ่ง






ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์ ผู้ที่ทรงอำนาจที่สุดคนหนึ่งของพรรคนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2




และแล้วเหตุการณ์ที่ทำให้ฮิมม์เลอร์ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคนาซีก็มาถึง นั่นคือการมีส่วนร่วมในการวางแผนโค่นล้มกองกำลังเอสเอ ที่เป็นคู่แข่งของเอสเอสในเหตุการณ์ "คืนแห่งมีดดาบยาว" ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1934 ซึ่งแท้จริงแล้วผู้นำหน่วยเอสเอ คือเออร์เนส โรห์มที่ร่วมเส้นทางการต่อสู้มากับฮิตเลอร์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นนั้น แทบไม่มีความคิดในการเป็นปฏิปักษ์ต่อฮิตเลอร์หรือพรรคนาซีเลย เพียงแต่เขาได้แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อฮิมม์เลอร์และกองกำลัง เอสเอส อย่างเห็นได้ชัด และฮิมม์เลอร์นั่นเองที่เป็นผู้ยุยงให้ฮิตเลอร์เกิดความหวาดระแวงในตัวเออร์เนส โรห์มว่ากำลังก้าวขึ้นมาเทียบบารมีของเขา จนสั่งการให้เกิดการกวาดล้างพวกเอสเอ ครั้งใหญ่

และฮิมม์เลอร์อีกนั่นเองที่สั่งการให้ทหารเอสเอส ที่เขาไว้ใจที่สุดจำนวน 3 นายควบคุมตัวเออร์เนส โรห์ม พร้อมกับยื่นคำขาดพร้อมปืนพกให้ปลิดชีพตัวเองโดยให้เวลา 10 นาที แต่เมื่อเวลาครบ เออร์เนส โรห์มกล่าวว่า "… หากฮิตเลอร์ต้องการชีวิตฉัน ให้เขามาเอาไปเอง …" ทหารเอสเอสคนหนึ่งจึงใช้ปืนพกจ่อยิงเขาจนเสียชีวิตทันที

การล่มสลายของเอสเอ ส่งผลให้กองกำลังเอสเอส ของฮิมม์เลอร์ก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรหลักเพียงองค์กรเดียวในการเป็นหน่วยอารักขาของฮิตเลอร์ และเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในการควบคุมเรื่องความมั่นคงของประเทศ รวมไปถึงเป็นหน่วยงานที่ทำการแปลงทฤษฎีว่าด้วย "การกำจัดชาวยิว พวกคอมมิวนิสต์และชนชาติที่ต่ำกว่ามนุษย์" ของฮิตเลอร์ไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแปรเปลี่ยนทฤษฎีแห่งการแบ่งแยก "เชื้อชาติ" ที่เต็มไปด้วยความกังขาและการต่อต้าน ไปสู่การปฏิบัติแห่ง "การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ" ที่ปราศจากข้อสงสัยและข้อคัดค้านใดๆ อย่างสิ้นเชิง

ฮิมม์เลอร์ยังคงก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในพรรคนาซีด้วยบุคลิกที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและความทะเยอทะยาน เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของหน่วยตำรวจลับเกสตาโปทั่วประเทศเยอรมัน และเมื่อควบรวมกับตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยเอสเอสแล้ว ก็ทำให้ฮิมม์เลอร์กลายเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในการตัดสินชะตาชีวิตผู้คนหรือองค์กรที่เป็นปฎิปักษ์ต่อพรรคนาซี หรือที่พรรคนาซีวิเคราะห์แล้วว่าเป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดออกจากสังคมตามแนวทางการสร้างสังคมบริสุทธิ์ของชนชาติ "อารยัน" ซึ่งเครื่องมือที่ฮิมม์เลอร์คิดค้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1933 ก็คือค่ายกักกันที่ "ดาเชา" (Dachau) อันเป็นสถานที่ที่ฮิมม์เลอร์บรรยายไว้ว่า

"… เป็นสถานที่สำหรับการทำสะอาดผู้คนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากพรรคนาซี ผู้คนที่มีเชื้อสายยิวหรือแม้กระทั่งลูกครึ่งยิว ชาวสลาฟส์ (Slavs) ในโปแลนด์ ตลอดจนผู้คนที่เป็นภาระต่อสังคม เช่น คนพิการ คนโรคจิต พวกลักเพศ ทั้งนี้เพราะหน้าที่ของชาวเยอรมันทุกคนก็คือการทำลายล้างกลุ่มคนที่มีสถานะต่ำกว่ามนุษย์ (sub-human) เหล่านี้ให้หมดสิ้นไปจากโลก ..."






ภาพนี้ถ่ายระหว่างที่ฮิมม์เลอร์เดินทางมาเยี่ยมค่ายเชลยศึกสัมพันธมิตรแห่งหนึ่ง เขากำลังแสดงความประหลาดใจที่เชลยอังกฤษนายหนึ่งกล้าที่จะออกมาจากกลุ่มเพื่อขออาหารเพิ่มให้กับนักโทษทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้บรรยายภาพต้นฉบับไม่ได้ระบุถึงชะตากรรมของเชลยศึกชาวอังกฤษนายนี้ภายหลังจากการถ่ายภาพดังกล่าว




ณ ที่ค่ายดาเชาแห่งนี้นี่เองที่ทำให้ฮิตเลอร์เกิดความประทับใจในแนวคิดของฮิมม์เลอร์ จนมีคำสั่งให้ขยายค่ายกักกันเหล่านี้ออกไปทั่วพื้นที่ยึดครองของเยอรมัน ฮิมม์เลอร์อาศัยจังหวะนี้ขยายองค์กรเอสเอส ของเขาออกไปให้กว้างขวางขึ้น โดยการจัดตั้งหน่วย "กระโหลกไขว้" หรือ "โทเทนคอฟ" (Totenkopf) ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบในการดูแลค่ายกักกันทั้งหมด พร้อมทั้งดำเนินการพัฒนาศักยภาพของกำลังพลของหน่วยเอสเอส ที่เขาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดให้เพิ่มสูงขึ้น โดยทหารเอสเอส จะต้องเป็นทั้งผู้นำ ผู้บริหาร นักรบ และนักวิชาการพร้อมๆ กันในคนเดียว

การพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้ทหารเอสเอส กลายเป็นกำลังพลที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ และยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคนาซีอย่างมั่นคง จนกลายเป็นหน่วยรบที่ข้าศึกของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ต้องหวั่นเกรงทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากันในสนามรบ

กล่าวกันว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฮิมม์เลอร์ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในการฆ่าล้าเผ่าพันธ์ชาวยิวนั้น น่าจะเป็นผลมาจากการที่เขาเป็นผู้ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ลี้ลับ เรื่องของเวทมนตร์คาถาตลอดจนเรื่องการรักษาโรคด้วยสมุนไพรแปลกๆ นานาชนิด ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ได้ถูกผสมผสานกับทฤษฎีเกี่ยวกับความคลั่งเชื้อชาติอารยัน ส่งผลให้ฮิมม์เลอร์เกิดอาการเพ้อฝันถึงการสร้างสังคมในอุดมคติ สังคมที่จะก้าวไปถึงได้ด้วยการทำลายล้างสังคมอื่นที่เป็นอุปสรรคให้หมดสิ้นไป นักข่าวอังกฤษคนหนึ่งอธิบายลักษณะของฮิมม์เลอร์ว่า

"… เหมือนคนที่ไร้ความหวาดกลัว เยือกเย็น สงบ สุขุมและถ่อมตนราวกับเสมียนในธนาคารมากกว่าที่จะเป็นผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส และเกสตาโปอันเหี้ยมโหด ที่สำคัญคือเขาเป็นคนที่ปกปิดความรู้สึกได้ดีมาก เราไม่มีวันรับรู้ได้เลยว่าเขากำลังคิดอะไร รู้สึกเช่นไรและจะตัดสินใจอะไรต่อไป ..."

สภาพร่างกายโดยทั่วไปของฮิมม์เลอร์นั้นไม่สู้แข็งแรงนัก เขามีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงอยู่บ่อยๆ จนเกือบจะเป็นลมล้มลงระหว่างเยี่ยมชมการสังหารหมู่ชาวยิวกว่าร้อยคนในรัสเซีย จนต้องมีการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงวิธีการสังหารหมู่ชาวยิวให้ "มีมนุษยธรรม" มากขึ้น เช่น ใช้การรมแก็สพิษโดยตกแต่งห้องที่ใช้ในการสังหารให้เป็นแบบฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น

ฮิมม์เลอร์เชื่อในเรื่อง "ชาติพันธุ์" เป็นอย่างมาก เขาสั่งให้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ในการแต่งงานของชนชาติอารยัน เพื่อคงความบริสุทธิ์ของชาติพันธ์ุและเพื่อให้ได้มาซึ่งทารกหรือเมล็ดพันธ์ุที่มีความพิเศษเสมือน "ยอดมนุษย์" (Super-human) รวมทั้งจัดตั้งฟาร์มมนุษย์ที่เรียกว่า "เลเบนส์บอร์น" (Lebensborn) ซึ่งเป็นสถานที่ที่พรรคนาซีจะนำเด็กสาวในวัยเจริญพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่ามีเลือดอารยันสมบรูรณ์ที่สุด มาเป็นแม่พันธุ์ในการให้กำเนิดชนชาติอารยันรุ่นใหม่ โดยให้ทำการสมรสกับทหารหน่วยเอสเอส ของเขา มีนักประวัติศาสตร์หลายคนวิเคราะห์ว่า ฮิมม์เลอร์นำแนวคิดนี้มาจากประสบการณ์ที่ล้มเหลวในการทำฟาร์มไก่มาใช้ประยุกต์ในการทำฟาร์มมนุษย์






ฮิตเลอร์ (หันหลัง) และฮิมม์เลอร์ขณะตรวจดูธงประจำหน่วยทหารโปแลนด์ที่ทหารเยอรมันยึดได้ในปี ค.ศ. 1939




ในปี ค.ศ. 1939 ภายหลังจากที่เยอรมันเข้ายึดครองประเทศโปแลนด์แล้ว ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งให้ฮิมม์เลอร์เป็นผู้รับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายผู้ที่มีเชื้อชาติเยอรมันจากประเทศในทะเลบอลติค เข้าไปยึดครองพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินแทนชาวโปแลนด์และชาวยิว ซึ่งในเวลาเพียง 1 ปี มีชาวโปแลนด์กว่า 1 ล้านและชาวยิวกว่า 300,000 คนถูกบังคับให้สละพื้นที่ของตนให้ชาวเยอรมัน พร้อมๆ กับการกวาดต้อนไปสู่ค่ายกักกันเพื่อรอการทำลายล้าง ฮิมม์เลอร์เคยกล่าวให้โอวาทต่อกำลังพลเอสเอส สังกัดกรมทหารเอสเอส ไลป์สตานดาร์ด อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (ต่อมาได้รับการยกระดับเป็นกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด อดอล์ฟ ฮิตเลอร์) ตอนหนึ่งว่า

" … การเข้าสู่สนามรบร่วมกับเพื่อนร่วมสมรภูมินั้น ง่ายกว่าการที่จะต้องอดทน อดกลั้นต่อการดำรงอยู่ของพวกชนชั้นต่ำ (โปแลนด์, ยิว และชนชาติอื่นๆ ที่นาซีมองว่า ต่ำกว่ามนุษย์) ดังนั้นในฐานะชาวอารยัน ผู้ที่มีชาติพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุด เราต้องเดินหน้าในการทำลายคนเหล่านั้นให้หมดสิ้นไป เพื่อสร้างสังคมในอุดมคติของพรรคนาซีที่ปราศจากชนชั้นต่ำกว่ามนุษย์ขึ้นมาให้จงได้ …"

เมื่อยุทธการบาร์บารอสซ่า ซึ่งเป็นการบุกเข้าสู่ประเทศรัสเซียของกองทัพเยอรมันเปิดฉากขึ้นนั้น ฮิมม์เลอร์พยายามเปรียบเทียบการรบของกองทัพนาซีเยอรมันในครั้งนี้เสมือนกับสงครามครูเสดในยุคกลาง โดยเทียบเคียงว่าเป็นการเคลื่อนกำลังพลของนักรบผู้กล้าจากยุโรปเพื่อมุ่งทำลายล้างพวกยิว บอลเชวิคและคอมมิวนิสต์ให้หมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินยุโรป

เขาสั่งให้มีการรับสมัครทหารเอสเอส จากยุโรปตอนเหนือ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน และฮอลแลนด์ เพื่อเข้าร่วมในสงครามครูเสดครั้งนี้ ซึ่งการรับสมัครดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก บางประเทศมีผู้สมัครจนสามารถจัดกำลังได้ถึง 1 กองพลเลยทีเดียว เช่น กองพลฟรีวิลลิเกน ลีเจียน นีเดอร์ลันด์ (Freiwilligen Legion Niederlande Division) ที่มีกำลังพลจากประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งปฏิบัติการรบอย่างห้าวหาญในแนวรบด้านรัสเซียจนสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนถึง 80 เปอร์เซนต์ ก่อนที่จะสลายตัวไปรวมกับหน่วยอื่น

นอกจากนี้ยังมีกองพลที่มีกำลังพลจากยุโรปอีกกองพลหนึ่งที่มีชื่อเสียงอย่างมากนั่นคือ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้ง (5th SS Panzer Division Wiking) ซึ่งรวบรวมกำลังพลจากประเทศเดนมาร์ก นอรเวย์ และกลุ่มประเทศบอลติคอื่นๆ กองพลนี้ทำการรบในรัสเซียอย่างกล้าหาญแม้จะต้องประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก แต่กำลังพลของหน่วยก็เลือกที่สละชีพในการรบมากกว่าที่จะต้องเดินทางกลับประเทศในฐานะผู้ร่วมกับนาซีทรยศต่อประเทศของตน กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 5 ไวกิ้งส์เลือกที่จะปิดตำนานอันห้าวหาญของตนเองด้วยการต่อสู้ราวกับ "ราชสีห์" ในการรบกับกองทัพรัสเซียจำนวนมหาศาลในการป้องกันกรุงเวียนนาของประเทศออสเตรียในปี ค.ศ. 1945 จนกำลังพลคนสุดท้ายจบชีวิตลง

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านเลยไป ทฤษฎีชาติพันธุ์ของฮิมม์เลอร์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ทหารเอสเอส ของเขาจำนวนเสียชีวิตจนกระทั่งจำเป็นต้องเสริมกำลังมาทดแทนส่วนที่สูญเสียไป ในขณะที่กำลังคนที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีของเอสเอส แทบไม่หลงเหลือให้คัดเลือกอีกต่อไปแล้ว ฮิมม์เลอร์ก็ตัดสินใจลดเงื่อนไขในการคัดเลือกทหาร เอส เอส ของเขาลง

จนในที่สุดก็สิ้นหนทางที่จะหาคนมาเสริม ฮิมม์เลอร์ตัดสินใจตั้งกองพล เอส เอส ที่ 13 ฮันด์ซาร์ (13th SS Division Handschar) ขึ้นโดยมีกำลังเป็นชาวมุสลิมในโครเอเชียทั้งหมด นับเป็นการฉีกกฏเกณฑ์เรื่องการรบในสงครามครูเสดของชนชาติอารยันที่ฮิมม์เลอร์วาดเอาไว้อย่างสวยหรูลงอย่างสิ้นเชิง มาตรฐานการคัดเลือกที่ลดต่ำลงอย่างน่าใจหายทำให้ประสิทธิภาพของหน่วยเอสเอส ในระยะปี ค.ศ. 1943 เป็นต้นมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด กำลังพลของกองพล เอส เอส ที่ 13 ฮันด์ซาร์เคยสังหารครูฝึกของพวกเขาระหว่างการฝึกในฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นหน่วยที่มีปัญหาในด้านต่างๆ พอสมควรจนถูกยุบหน่วยลงในปลายปี ค.ศ. 1944 แต่กำลังพล เอส เอส บางส่วนที่มีประสิทธิภาพได้รวมตัวกันเป็นคามป์กรุ๊ปป์ หรือชุดเฉพาะกิจทำการต่อสู้กับกองทัพรัสเซียต่อไปจนสิ้นสุดสงคราม

นอกจากบทบาทในฐานะผู้บัญชาการกองกำลัง เอส เอส แล้ว ในปี ค.ศ. 1943 ฮิมม์เลอร์ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบด้านความมั่นคงในภาคพลเรือน ซึ่งเขาพยายามดึงเอาหน่วย เอส เอส เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอีกเช่นเคย และในปลายปี ค.ศ. 1944 เขายังรับตำแหน่ง "ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพบกภาคพื้นแม่น้ำไรน์ตอนบน" เพื่อต่อต้านการรุกของกองทัพบกที่ 7 ของสหรัฐฯ และกองทัพที่ 1 ของฝรั่งเศสอีกด้วย

ตำแหน่งใหม่ทั้งสองนี้ทำให้ฮิมม์เลอร์กลายเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของพรรคนาซีและของประเทศเยอรมัน อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มกองทัพบกภาคพื้นแม่น้ำไรน์ตอนบนของเขาจะประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ ต่อมากลุ่มกองทัพนี้ก็ถูกทำลายลง นับเป็นความล้มเหลวที่ทำให้ฮิมม์เลอร์เสียหน้าเป็นอย่างมาก

แต่ฮิตเลอร์ก็ยังตั้งให้เขาบังคับบัญชากลุ่มกองทัพวิสทูรา เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันกรุงเบอร์ลินรอบนอกอีก ซึ่งผลก็ออกมาดังที่คาด กลุ่มกองทัพวิสทูราถูกกองทัพรัสเซียตีแตกถอยร่นไม่เป็นกระบวน จนฮิมม์เลอร์ต้องขอถอนตัวเองออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1945 โดยอ้างปัญหาเรื่องสุขภาพ







ฮิมม์เลอร์ขณะตรวจค่ายกักกัน Mauthausen ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นค่ายกักกันที่โหดเหี้ยมที่สุดแห่งหนึ่ง มีชาวยิว เชลยรัสเซียและศัตรูของนาซีถูกสังหารที่ค่ายแห่งนี้กว่า 320,000 คน





ในช่วงนี้สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ฮิมม์เลอร์เริ่มเห็นเค้าลางความหายนะของพรรคนาซีและอาณาจักรไรซ์ที่ 3 เขาไม่เห็นด้วยที่ฮิตเลอร์ยืนหยัดต่อสู้อย่างสิ้นหวังในกรุงเบอร์ลิน ฮิมม์เลอร์จึงตีตัวออกห่างจากฮิตเลอร์และเริ่มมองว่า หากต้องการรักษาพรรคนาซีและประเทศเยอรมันเอาไว้ก็จำเป็นต้องเจรจาสันติภาพกับอังกฤษและสหรัฐฯ อีกทั้งยังมองว่าเมื่อปราศจากฮิตเลอร์แล้ว ตัวเขาเองก็คือผู้นำคนต่อไปของเยอรมันนั่นเอง ฮิมม์เลอร์จึงตัดสินใจติดต่อกับจอมพลดไวท์ ไอเซนฮาวว์ของสหรัฐฯ ว่าเยอรมันขอยอมแพ้ในแนวรบด้านตะวันตกต่อสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยมุ่งหวังว่าทหารสหรัฐฯ และอังกฤษจะรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเยอรมันในการต่อต้านกองทัพรัสเซีย

ข่าวการเจรจาสันติภาพถูกเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ บีบีซี ในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1945 ทำให้ฮิตเลอร์โกรธมาก เพราะเขาเคยเชื่ออยู่เสมอว่าฮิมม์เลอร์คือบุคคลผู้ที่เขาไว้วางใจได้มากที่สุดคนหนึ่ง ก่อนที่ฮิตเลอร์จะปลิดชีพตัวเอง เขาสั่งปลดฮิมม์เลอร์ออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งและเรียกฮิมม์เลอร์ว่า "คนทรยศ" แต่ฮิมม์เลอร์ไม่สนใจสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นเขาตั้งหน้าตั้งหน้าเจรจาต่อรองกับไอเซนฮาวว์ว่า หากเขายอมเจรจาสงบศึกกับสหรัฐฯ แล้ว เขาจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมัน แต่ไอเซนฮาวว์ปฏิเสธทุกข้อเรียกร้องที่ฮิมม์เลอร์เสนอพร้อมทั้งประกาศว่า เขาคืออาชญากรสงครามคนสำคัญที่ต้องถูกนำตัวมาลงโทษ

เมื่อการเจรจาไม่ได้ผล ฮิมม์เลอร์ก็พยายามหลบหนีโดยปลอมตัวเป็นคนตาบอดข้างเดียว มีผ้าคาดปิดตา โกนหนวดออกทั้งหมดเพื่ออำพรางตนเอง แต่เอกสารปลอมที่ยึดมาจากตำรวจที่เสียชีวิตมีพิรุธ ทำให้ทหารอังกฤษสงสัยและจับกุมตัวเขาได้ที่เมืองเบรเมน (Bremen) ก่อนที่จะทราบว่าชายคนดังกล่าวคืออาชญากรสงครามอันดับต้นๆ ของเยอรมัน

ในระหว่างรอการสอบสวนเบื้องต้น ฮิมม์เลอร์ก็ตัดสินใจกัดเม็ดยาพิษไซยาไนด์ที่ซ่อนไว้ในฟันซี่หนึ่งเพื่อปลิดชีวิตตัวเอง ในห้วงสุดท้ายของชีวิตนั้นมีหนังสือบางเล่มได้อ้างว่าฮิมม์เลอร์ได้กล่าวประโยคสุดท้ายของเขาก่อนสิ้นลมหายใจว่า "… ฉันคือไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์ …" ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็หมายความว่า ฮิมม์เลอร์ต้องการประกาศให้โลกรับรู้ถึงการเดินทางมาถึงจุดสุดท้ายของชีวิต และไม่ว่าเขาจะถูกประณามว่าเป็นอาชญากรสงครามคนสำคัญที่มีส่วนในการสังหารชาวยิวกว่าหกล้านคนทั่วทั้งยุโรป หรือจะได้รับการยกย่องในฐานะผู้บัญชาการหน่วยทหารเอสเอส อันทรงอานุภาพที่สุดหน่วยหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม ฮิมม์เลอร์ก็ได้จากโลกนี้ไปแล้ว คงเหลือทิ้งไว้แต่บทเรียนอันทรงคุณค่าให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป



(สงครามโลกครั้งที่สอง)




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2553    
Last Update : 13 กันยายน 2556 9:37:36 น.
Counter : 11985 Pageviews.  

ฮิตเลอร์ เทพเจ้าหรือปีศาจ ตอนจบ (สงครามโลกครั้งที่ 2)

ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2


ฮิตเลอร์ เทพเจ้าหรือปืศาจ ตอนที่ 4 (ตอนจบ)

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552

โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ


(สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ทำซ้ำหรือลอกเลียนโดยไม่ได้รับอนุญาต)






(ต่อจากตอนที่ 3)

ในขณะที่การรบในรัสเซียเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการสำหรับฝ่ายเยอรมัน ดังเช่นในช่วงเดือนตุลาคม ปี 1941 อันเป็นฤดูใบไม้ร่วงในรัสเซีย พื้นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเปลี่ยนสภาพเป็นโคลนเลน ดังที่ชาวรัสเซียขนานนามฤดูนี้ว่า “รัสปูติทซ่า” (Rasputitsa) หรือ “ฤดูแห่งโคลนเลน” (the season of mud) ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญของการเคลื่อนที่ของเหล่ายานยนต์ต่างๆ รวมทั้งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างไม่น่าเป็นไปได้

อาทิกลุ่มยานเกราะที่ 2 ของกองทัพเยอรมันที่ปฏิบัติการรบในพื้นที่โอเรล (Orel) ต้องสูญเสียรถถังไปถึง 60 เปอร์เซ็นต์อันเนื่องมาจากจมอยู่ในโคลนเลนที่มีความลึกอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรือกองพลยานเกราะที่ 4 ที่รุกไปทางเหนือของเมือง “กซ์ารสค์” (Gzharsk) ก็ต้องสูญเสียรถถังไปถึง 50 คันในบ่อโคลนโดยไม่มีโอกาสได้ทำการยิงสู้รบในสมรภูมิเลยแม้แต่นัดเดียว

ฤดูแห่งโคลนเลนดังกล่าวทำให้แผนการรบแบบสายฟ้าแลบของเยอรมันที่ต้องมี “ความเร็วในการรุก” (Speed) เป็นองค์ประกอบสำคัญ เสื่อมประสิทธิภาพลงอย่างสิ้นเชิง ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ กองบัญชาการของเยอรมันกลับมองว่า การต่อสู้กับโคลนเลนของฤดูใบไม้ร่วงในรัสเซียนี้ก็คือ การทุ่มกำลังเคลื่อนที่ฝ่าไปเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเร็วในการรุก การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น นอกจากนี้แม้ว่าเยอรมันจะต้องเผชิญกับฤดูแห่งโคลนเลนแล้ว อุปสรรคในแนวรบด้านรัสเซียก็ยังไม่หมดลงไปง่ายๆ เพราะสิ่งที่ย่ำแย่ไปกว่าฤดู “รัสปูติทซ่า” ที่กำลังรอคอยกองทัพเยอรมันอยู่ก็คือ “ฤดูหนาว” นั่นเอง





อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด ฮิตเลอร์ก็ยังคงมุ่นมั่นในการพิชิตศึกด้านตะวันออกนี้ให้ได้ เขาทุ่มเทเวลาในการวางแผนการรบด้วยตนเอง ในเดือนพฤศจิกายน 1941 กลุ่มกองทัพเหนือ กลางและใต้ของเยอรมันที่รุกเข้าสู่รัสเซียร่วมประชุมหารือกันที่เมืองออร์ช่า (Orsha) ซึ่งกลุ่มกองทัพเหนือและใต้เสนอว่า จากการรุกมาเป็นระยะทางอันยาวไกล ทำให้ทั้งสองกลุ่มกองทัพไม่สามารถจะรุกต่อไปได้ ต้องรอการส่งกำลังบำรุงที่กำลังตามมาเพื่อทำการปรับกำลัง ก่อนจะเคลื่อนที่ต่อไป

มีเพียงกลุ่มกองทัพกลางเท่านั้นที่ยืนยันว่า ตนยังพอมีศักยภาพเพียงพอที่จะรุกต่อไปเพื่อยึดกรุงมอสโคว์ เพียงแต่รอให้ถึงฤดูหนาวซึ่งจะทำให้โคลนเลนต่างๆ จับตัวเป็นน้ำแข็งก่อน จึงจะทำให้รถถังและยานเกราะเคลื่อนที่ไปได้ จอมพลฟอน ครุก (Von Kluge) ผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพกลางถึงกับลงพื้นที่แนวหน้าเพื่อสอบถามกำลังพลของเขาว่า มีความพร้อมเพียงใดในการรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายเพื่อยึดเมืองหลวงของรัสเซีย แต่เนื่องจากเยอรมันมีข้อมูลเกี่ยวกับฤดูหนาวของรัสเซียน้อยมาก กองทัพกลุ่มกลางจึงตัดสินใจทุ่มเทกำลังทั้งหมดที่มีอยู่รุกเข้ายึดกรุงมอสโคว์ทันทีที่ฤดูหนาวมาถึง

และในวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี 1941 อุณหภูมิก็ลดลงอย่างรวดเร็วจนถึง ลบสามสิบองศา พร้อมด้วยหิมะที่ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา กำลังหนุนอันเข้มแข็งที่ธรรมชาติมอบให้รัสเซียมาถึงแล้ว

ในวันที่ 4 ธันวาคม 1941 ฤดูหนาวอันรุนแรงทำให้แนวรุกของกลุ่มกองทัพกลางทุกแนวหยุดนิ่งอยู่ชานกรุงมอสโคว์ แม้หน่วยลาดตระเวนของกองพล เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ (2nd SS Division “Das Reich”) จะรุกไปจนถึงเขตพื้นที่รอบนอกของระบบรถรางกรุงมอสโคว์ซึ่งอยู่ห่างจากพระราชวังเครมลินเพียง 12 กิโลเมตร และสามารถมองเห็นกรุงมอสโคว์ เมืองหลวงของรัสเซียในระยะสายตาได้แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถรุกคืบหน้าต่อไปได้ เนื่องจากกำลังพลและยุทโธปกรณ์ของเยอรมันส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความหนาว







พวกเขาต้องอาศัยผู้ปูที่นอนสีขาวที่ยึดมาจากชาวบ้าน มาตัดคลุมเครื่องแบบเพื่อใช้พรางตัวจากการตรวจการณ์ของทหารรัสเซีย ทหารเยอรมันหลายคนถูกหิมะกัดจนเป็นแผลน่ากลัว น้ำมันที่ใช้ชโลมปืนจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็ง ทำให้อาวุธปืนใช้การไม่ได้ รถถังและยานยนต์จอดนิ่งสนิทอันเนื่องมาจากน้ำมันเครื่องจับตัวเป็นน้ำแข็ง ชัยชนะเหนือรัสเซียที่คาดหวังไว้ ได้หลุดปลิวไปจากมือของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์อย่างน่าเสียดาย

วันที่ 6 ธันวาคม ปี 1941 ฝ่ายรัสเซียเปิดฉากการรุกตอบโต้ทหารเยอรมันที่หยุดชะงักอยู่ชานกรุงมอสโคว์อย่างรุนแรง แต่ฮิตเลอร์ก็ออกคำสั่งหมายเลข 39 ซึ่งเป็นการสั่งการโดยตรงจากตัวเขาเองให้ทหารทุกนายรักษาที่มั่นจนคนสุดท้าย แต่ในขณะนี้ทหารเยอรมันไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรักษาแนวตั้งรับของตนไว้ได้ ฝ่ายเสนาธิการของฮิตเลอร์หลายคนรวมทั้งนายพลไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ผู้ก่อกำเนิดหน่วยยานเกราะของเยอรมัน ต่างลงความเห็นว่าเยอรมันไม่สามารถที่จะรักษาแนวตั้งรับของตนไว้ได้ จึงออกคำสั่งให้ทหารเยอรมันล่าถอยลงมาจัดตั้งแนวตั้งรับขึ้นใหม่บริเวณแม่น้ำ Oka โดยปราศจากความเห็นชอบของฮิตเลอร์ ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตของทหารเอาไว้

ในวันต่อมาญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ ทำให้สหรัฐอเมริกากระโจนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง การโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ของญี่ปุ่น เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้แจ้งให้เยอรมันทราบล่วงหน้ามาก่อน เหมือนกับที่ฮิตเลอร์ไม่ได้แจ้งให้ญี่ปุ่นทราบถึงการบุกรัสเซียของเขา

นอกจากนี้ยังมีเอกสารอ้างอิงหลายฉบับที่บ่งบอกว่า สาเหตุที่ญี่ปุ่นไม่ได้ส่งสัญญาณให้ฮิตเลอร์ทราบถึงการบุกเพิร์ลฮาเบอร์ น่าจะมาจากกองทัพญี่ปุ่นในขณะนั้นประเมินสหรัฐฯ ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก จึงคาดการณ์ว่าการเข้าสู่สงครามของสหรัฐฯ ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหากับเยอรมันมากนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างเป็นไปในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง การก้าวเข้าสู่สงครามของสหรัฐฯ เท่ากับเป็นการก้าวเข้ามาปิดประตูแห่งชัยชนะของอาณาจักรไรซ์ที่สามของฮิตเลอร์อย่างถาวร

ในขณะที่ญี่ปุ่นพาลางร้ายแห่งความหายนะมามอบให้กับฮิตเลอร์ สถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันออกก็เต็มไปด้วยความตึงเครียด ทหารเยอรมันถูกรัสเซียรุกจนต้องปรับแนวรุกให้เป็นแนวตั้งรับในเกือบทุกด้าน สิ่งเหล่านี้ทำให้ฮิตเลอร์ขาดความเชื่อมั่นในฝ่ายเสนาธิการประจำกองบัญชาการของเขา ทำให้เขาเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายเสนาธิการอย่างสม่ำเสมอ และนับจากนั้นมากองบัญชาการสูงสุดของเยอรมันก็ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลยหากปราศจากการเห็นชอบจากฮิตเลอร์

นักวิเคราะห์มองการออกคำสั่งหมายเลข 39 ที่ให้ทหาร “รักษาที่มั่นจนคนสุดท้าย” ของฮิตเลอร์ในการรบที่มอสโคว์นั้นว่ามีที่มาจากข่าวกรองที่ผิดพลาด ที่ประเมินว่ารัสเซียไม่มีกำลังหนุนเหลืออยู่อีกแล้ว เพราะรัสเซียต้องคงกำลังทหารส่วนหนึ่งเอาไว้ทางเอเชียเพื่อป้องกันการบุกของญี่ปุ่น และข่าวกรองที่ผิดพลาดของเยอรมันนี้เอง ที่ทำให้ฮิตเลอร์เชื่อว่าการตอบโต้ของรัสเซียจะมีเพียงระยะสั้นๆ เนื่องจากมีกำลังพลที่จำกัดนั่นเอง

แต่เนื่องจากสตาลิน ผู้นำรัสเซียได้รับข่าวจากสายลับของเขาว่า ญี่ปุ่นไม่มีแผนที่จะบุกรัสเซียเพราะจำเป็นต้องทุ่มกำลังทั้งหมดบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สตาลินย้ายกำลังหนุนซึ่งสำรองเอาไว้จำนวน 58 กองพลจากไซบีเรียมาใช้ในการรุกตอบโต้เยอรมัน โดยไม่ต้องกังวลต่อภัยคุกคามทางเอเชียแต่อย่างใด







ในวันที่ 20 ธันวาคม 1941 ฮิตเลอร์ประกาศยกเลิกคำสั่ง “ถอย” ที่ฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันส่งไปยังแนวหน้า แม้จะมีข้อโต้แย้งจากฝ่ายเสนาธิการว่า ทหารเยอรมันไม่สามารถแม้แต่จะขุดสนามเพลาะในการตั้งรับได้ เนื่องจากพื้นดินกลายเป็นน้ำแข็ง ฮิตเลอร์ก็โต้แย้งว่า หากทหารไม่สามารถขุดสนามเพลาะด้วยพลั่วสนามเพื่อจัดแนวตั้งรับได้ ก็ให้ใช้ “กระสุนปืนใหญ่” ระเบิดเจาะน้ำแข็งให้เป็นสนามเพลาะ นายพลกูเดเรียนพยายามชี้แจงว่า ยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของทหารในขณะนี้เป็นผลมาจากอากาศที่หนาวเย็นมากกว่าเป็นผลมาจากการสู้รบ เห็นควรให้ทหารล่าถอยและรอให้อุปกรณ์ป้องกันความหนาวเย็นที่กำลังหยุดชะงักอยู่ที่โปแลนด์ไปถึงก่อน

ผลของการโต้แย้งดังกล่าวทำให้กูเดเรียนถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในฝ่ายเสนาธิการ พร้อมกับผู้โต้แย้งคนอื่นๆ เช่น พลเอกวอลเธอร์ ฟอน บราวชิทส์ (Walther von Brauchitsch) ผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งเป็นคนที่ฮิตเลอร์ไว้ใจและใกล้ชิดมากที่สุดมาตั้งแต่ก่อนสงครามก็ถูกปลดออกเช่นกัน และฮิตเลอร์ก็เข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน ณ เวลานี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า หากผู้ใดต้องการอยู่รอด กฎข้อหนึ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ห้ามโต้แย้งท่านผู้นำในทุกกรณี

นักวิเคราะห์หลายคนพยายามอธิบายแนวความคิดในการ “รักษาที่มั่นจนคนสุดท้าย” ของฮิตเลอร์ว่า อาจเป็นเพราะฮิตเลอร์ศึกษาการถอยทัพของนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) เมื่อครั้งพ่ายแพ้ต่อรัสเซีย เนื่องจากการล่าถอยท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็นนั้น จะง่ายต่อการตกเป็นเป้าหมายของการค้นหาและทำลายจากศัตรู แต่หากยึดที่มั่นอยู่ในสนามเพลาะเหมือนกับที่ฮิตเลอร์มีประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรักษาชีวิตของทหารเยอรมันเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตาม บทพิสูจน์หนึ่งที่ทำให้เห็นว่า การตัดสินใจสั่งการให้รักษาที่มั่นจนทหารคนสุดท้ายของฮิตเลอร์ผิดพลาดก็คือ แนวตั้งรับของเยอรมันถูกทหารรัสเซียบุกทะลวงเข้าใส่จนแตกพ่ายไปเกือบทุกแห่ง กองทัพเยอรมันต้องล่าถอยเป็นระยะทาง 100 ถึง 250 กิโลเมตรจากกรุงมอสโคว์ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน พรสวรรค์ของฮิตเลอร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักยุทธศาสตร์” อันยอดเยี่ยม ไม่สามารถนำมาทดแทนความไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมบังคับบัญชากำลังทหารในสนามรบได้เลย

ฮิตเลอร์เองก็ดูเหมือนจะตระหนักถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเขาเอง เขากลายเป็นคนเครียดและเงียบขรึม จากคำบอกเล่าของโจเซฟ เกิบเบิล (Josef Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการผู้ที่มีความใกล้ชิดกับฮิตเลอร์มากที่สุดคนหนึ่ง ได้เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 1942 ว่า เขาตกใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ไม่ได้พบท่านผู้นำมาหลายสัปดาห์

“.... ฮิตเลอร์ดูแก่ลงอย่างมาก เส้นผมของเขาเปลี่ยนเป็นสีเทา ....”

ซึ่งฮิตเลอร์ให้เหตุผลว่าเป็นเพียงเพราะเขาเป็นไข้และรู้สึกเวียนศีรษะเท่านั้นเอง ฮิตเลอร์กลายเป็นคนที่รับฟังคำแนะนำของผู้อื่นน้อยลง เขาปักใจเชื่อในข้อมูลที่ผิดๆ อันเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซี หลงเชื่อในความเป็นนักรบชั้นเลิศของหน่วยทหาร เอส เอส ที่เขาก่อตั้งขึ้นว่าเป็นหน่วยรบที่จะไม่มีวันพบกับความพ่ายแพ้ในทุกกรณี หลงเชื่อในยุทโธปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่ เช่น จรวด วี 1, จรวด วี 2, รถถัง Tiger I และ Panther ว่าจะเป็นอาวุธที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องย่อยยับไปในพริบตา จึงอาจกล่าวได้ว่า ผลสุดท้ายฮิตเลอร์ได้ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อที่พรรคนาซีของเขาทำขึ้นเองไปเสียแล้ว

ในช่วงต้นปี 1942 ฮิตเลอร์ตระหนักดีว่า เขาจำเป็นต้องมีผู้ที่เป็นมืออาชีพมาช่วยเหลือในการตัดสินใจของเขา เขาจึงแต่งตั้ง อัลเบิร์ต สเปียร์ (Albert Speer) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุทโธปกรณ์ ซึ่งสเปียร์ก็ไม่ทำให้ฮิตเลอร์ผิดหวัง เขาสั่งเพิ่มกำลังการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนคิดค้นอาวุธอันทรงอานุภาพในห้วงเวลาไม่กี่เดือน กล่าวกันว่า อาวุธยุทธภัณฑ์รุ่นใหม่นี้เองที่ช่วยต่อลมหายใจของอาณาจักรไรซ์ที่สาม และลมหายใจของฮิตเลอร์ให้ยืดยาวออกไปอีกอย่างน้อยสองปีทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสเปียร์จะเร่งเสริมสร้างกำลังอาวุธมากมายเพียงใดก็ตาม เมื่อสงครามยืดเยื้อมาถึงช่วงกลางปี 1943 เยอรมันก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบต่อสัมพันธมิตรทั้งด้านกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งไม่สามารถเรียกความแข็งแกร่งและความได้เปรียบที่เคยมีในช่วงก่อนสงครามกลับมาได้อีกเลยจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง






นอกจากนี้เยอรมันยังไม่เพียงแต่เสียเปรียบทางด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์เท่านั้น การรบในทุกๆ แนวรบ เยอรมันก็ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง นับจากความพ่ายแพ้ของกองทัพที่ 6 ที่เมืองสตาลินกราดของรัสเซีย เรื่อยไปจนถึงความพ่ายแพ้ของกองกำลังเยอรมันในแอฟริกา (DAK - Deutsches Afrikakorps) ของจอมพล เออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ที่เอล อลาเมน ในแอฟริกาเหนือ ซึ่งทำให้นายพลมอนทโกเมอรี่ (Montgomery) ของอังกฤษรุกคืบหน้าได้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถขับไล่กองกำลังแอฟริกาของเยอรมันออกไปจนพ้นแอฟริกาเหนือ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการรุกครั้งใหญ่ของรัสเซีย ที่เปิดฉากขึ้นในฤดูร้อนของปี 1943 อันเป็นการรุกที่ต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งจนกว่าจะถึงกรุงเบอร์ลินของเยอรมัน

มาถึงจุดนี้ ทำให้หลายคนมองย้อนกลับไปในช่วงต้นของสงคราม ช่วงที่ชัยชนะยังคงอยู่ในมือของเยอรมัน เป็นช่วงที่ฮิตเลอร์รับฟังคำปรึกษาหรือข้อแนะนำจากเหล่าเสนาธิการของเขาอย่างปราศจากข้อท้วงติง มาถึงช่วงกลางปี 1942 -1943 ฮิตเลอร์กลายเป็นผู้โดดเดี่ยวในการวางแผนการรบ น้อยคนนักที่จะกล้าคัดค้านความคิดของเขา เป็นที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่า เขากลับวางแผนการรบในช่วงปี 1943 โดยการใช้ยุทธวิธีแบบเดิมๆ ที่เคยใช้เมื่อปี 1939-1940 อาทิ การใช้แผนการรบแบบสายฟ้าแลบ ซึ่งแทบจะไม่มีโอกาสสร้างความประหลาดใจให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรได้อีกต่อไป อีกทั้งเยอรมันก็หมดศักยภาพในการครองอากาศเหนือน่านฟ้าสมรภูมิ ทำให้การสนับสนุนทางอากาศไม่สามารถเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังเช่น การเปิดยุทธการ “ซิทาเดล” (Citadel) กับรัสเซีย ที่ฮิตเลอร์เริ่มวางแผนการที่เป็นไปไม่ได้มากขึ้น โดยไม่ฟังคำท้วงติงจากขุนศึกผู้มีประสบการณ์อย่าง จอมพล อีริค ฟอน แมนสไตน์ ที่ขอให้เขาชะลอแผนการรบออกไปก่อนจนกว่ากองทัพเยอรมันจะมีความพร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่เพราะฮิตเลอร์เชื่อมั่นในความเป็นเลิศของทหารเอส เอส และเชื่อมั่นในศักยภาพของรถถังแบบ Panther ที่เพิ่งออกจากสายการผลิต และอาจจะเป็นเพราะเขากำลังอยู่ในโลกแห่งจินตนาการที่มองเห็นว่ากองทัพเยอรมันยังคงเปี่ยมไปด้วยศักยภาพกำลังรบเหมือนเมื่ออดีต 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้การรบที่เคริซ์ (Kursk) กลายเป็นหายนะของกองทัพเยอรมันในสมรภูมิด้านตะวันออกไปในที่สุด

นอกจากฤดูร้อนของปี 1943 จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ของกองทัพเยอรมันในแนวรบด้านรัสเซียแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นแห่งจุดจบของเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำอิตาลี ซึ่งร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับฮิตเลอร์มาตลอด โดยในวันที่ 10 กรกฎาคม 1943 ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ซิซิลี ส่งผลให้ กษัตริย์ของอิตาลีก็สั่งปลดมุสโสลินีออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 25 กรกฎาคม และลงนามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 8 กันยายน

ฮิตเลอร์ได้ออกปราศรัยกับชาวเยอรมันผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ กล่าวกันว่า เป็นคำปราศรัยที่หมดพลังและไร้แรงจูงใจ แตกต่างจากคำปราศรัยในช่วงต้นของสงครามที่เปี่ยมไปด้วยอำนาจและความกระตือรือร้นจนยากที่ผู้ฟังจะลืมเลือน หลังจากนั้นไม่นาน ฮิตเลอร์ก็สั่งให้หน่วย เอส เอส ของเขาบุกชิงตัวมุสโสลินีออกจากที่คุมขัง พร้อมทั้งประกาศให้มุสโสลินีเป็นผู้นำของ “สาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลี” (Italian Social Republic) ซึ่งในเวลานั้นใครๆ ก็ทราบกันดีว่า มันคือสิ่งที่เพ้อฝันอย่างสิ้นเชิง

สำหรับการรบทางด้านตะวันออก กระแสคลื่นของทหารรัสเซียก็ถาโถมเข้าใส่แนวตั้งรับของเยอรมันไปทุกหนทุกแห่ง จนทหารนาซีเยอรมันต้องเป็นฝ่ายล่าถอยในทุกแนวรบ แม้จะมีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเต็มความสามารถว่า การล่าถอยนั้นเป็นเพียงการหลอกล่อให้ทหารรัสเซียเข้ามาตกหลุมพรางที่เยอรมันขุดเอาไว้ แล้วเยอรมันก็จะทำลายกองทัพรัสเซียเหล่านั้นจนสิ้นซาก

แต่ประชาชนชาวเยอรมันเริ่มตระหนักดีว่า ความจริงในขณะนี้คือ “เยอรมันกำลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม” ความนิยมในตัวของฮิตเลอร์ตกต่ำลงอย่างมาก เขากลายเป็นคนเครียด มือขวาและขาขวามีอาการสั่นอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นอาการของโรคพาร์กินสัน (Parkinsons) เวลาเดิน เขาต้องลากเท้าซ้ายแทนการยกเท้าก้าวเดินอย่างที่เคยทำมาในอดีต ด๊อกเตอร์ โมเรล (Dr.Morell) แพทย์ประจำตัวของฮิตเลอร์ได้สั่งยาหลายขนานให้กับเขาเพื่อรักษาโรคเหล่านี้ ฮิตเลอร์กลายเป็นผู้ที่เก็บตัวเสมือนฤาษีที่หมกตัวอยู่แต่ในถ้ำ





ครั้งหนึ่ง โจเซฟ เกิบเบิลได้บันทึกเอาไว้ในไดอารี่ของเขาภายหลังที่พบกับฮิตเลอร์ว่า

“ ..... มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ท่านผู้นำมีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ เขานั่งอยู่ในที่หลบภัยของเขา ดูท่าทางวิตกกังวล ..... ”

ช่วงนี้ฮิตเลอร์ดูจะอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ไม่มีใครทราบว่าเขาจินตนาการอาณาจักรไรซ์ที่สามของเขาไว้อย่างไร แต่เขาปฏิเสธที่จะออกไปเยี่ยมเยียนชาวเยอรมันในเมืองต่างๆ ที่ถูกสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด มีเพียงไม่กี่ครั้งที่เขาออกไปพบกับภาพเหล่านั้น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจยอมรับได้ว่ามันเป็นความจริง

เกิบเบิลบันทึกไว้เมื่อเดือนกันยายน 1943 ว่า

“ ..... ขณะนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า เขาถูกนำทางด้วยความเกลียดชัง ไม่ใช่ด้วยเหตุผล .....”

ในช่วงปี 1943 -1944 ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะบ่อนทำลายเยอรมันไปเสียทั้งหมด ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี (Normandy) ของฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน ปี 1944 เท่ากับเป็นการเปิดแนวรบด้านที่สองสำหรับเยอรมัน จุดจบของอาณาจักรไรซ์ที่สามกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

วันที่ 20 มิถุนายน 1944 พันเอก เคล้าส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนเบอร์ก (Claus Von Stauffenberg) พยายามสังหารท่านผู้นำในรังหมาป่า (Wolfsschanze - Wolf’s Lair) ในปรัสเซียตะวันออก แม้เป็นการดำเนินการที่เกือบจะประสบความสำเร็จ แต่โชคชะตาของประเทศเยอรมันยังคงต้องพบกับความหายนะอันยิ่งใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้กลุ่มผู้ก่อการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกือบ 5,000 คนถูกประหารชีวิต

ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความโหดเหี้ยมของฮิตเลอร์ เพราะการสังหารผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารในวันที่ 20 มิถุนายน หรือ 20th July Plot นับเป็นการสั่งการโดยตรงจากตัวของฮิตเลอร์เอง

แม้แต่ศพของสเตาฟ์เฟนเบอร์กก็ยังถูกฮิตเลอร์สั่งให้ทหาร เอส เอส ขุดขึ้นมาจากหลุมฝังศพในวันรุ่งขึ้น เพื่อปลดเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) และเหรียญกล้าหาญอื่นๆ ออกจากเครื่องแบบก่อนที่จะนำศพไปเผาทำลาย

หากศึกษาถึงมูลเหตุของการลอบสังหารฮิตเลอร์ในครั้งนี้ก็จะพบว่า มีสาเหตุมาจากการไม่ยอมเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรของเขา ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการต่างเห็นตรงกันว่า เยอรมันแพ้สงครามอย่างแน่นอนแล้ว หนทางที่รักษาชีวิตของทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ชาวเยอรมัน ตลอดจนทรัพย์สินและประเทศเยอรมันเอาไว้ ก็คือการเจรจาเพื่อขอสงบศึกหรืออาจถึงขั้น “ยอมแพ้” อันเป็นการกระทำที่ฮิตเลอร์ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้

มีการวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ฮิตเลอร์ไม่ยอมเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรออกเป็น 2 มุมมอง

มุมมองแรก ดังที่ทราบกันแล้วว่าในช่วงตั้งแต่ปี 1943 เป็นต้นมา ฮิตเลอร์อยู่ในโลกของจินตนาการ ซึ่งเป็นจินตนาการที่เจือปนไปด้วยความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นอาวุธใหม่ๆ อันทรงอานุภาพ ความสำเร็จของทหารเอส เอส ในการรบที่คาร์คอฟ (Kharkov) และความเชื่อมั่นในศักยภาพของชนชาติอารยัน จินตนาการนี้ทำให้ฮิตเลอร์เชื่ออย่างมั่นคงว่า เยอรมันยังไม่แพ้ ดังจะเห็นได้จากชัยชนะเหนือฝ่ายสัมพันธมิตรในการรบช่วงชิงสะพานอาร์นเน็ม (Arnhem) ในฮอลแลนด์ในปลายปี 1944 การยึดแอนท์เวปป์ (Antwerp) ของกองทัพที่ 15 ของเยอรมันได้นานกว่าที่คาดหวังไว้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการที่เชื่อมั่นว่า เยอรมันยังไม่แพ้ และอาจเลยเถิดไปจนถึงขั้นเยอรมันยังมีโอกาสใน “ชัยชนะ” อีกด้วย

เหตุผลเหล่านี้สนับสนุนแนวคิดในการวางแผนการรุกครั้งใหญ่ของเยอรมันด้วยรถถังอันทรงอานุภาพรุ่นใหม่ล่าสุด นั่นคือ Tiger II ในการรบที่ป่าอาร์เดนส์ (Ardennes) ที่ซึ่งจอมพลอีริค ฟอน แมนสไตน์ (Erich von Manstein) เคยนำกำลังทหารเยอรมันฝ่าป่าทึบและขุนเขาเข้ายึดครองเบลเยี่ยมและฝรั่งเศสสำเร็จมาแล้วในปี 1940 ส่งผลให้เกิดการรบที่เมืองบาสตองก์ขึ้น แม้เยอรมันจะพ่ายแพ้ สูญเสียทหารไปกว่า 120,000 คน จนฮิตเลอร์ต้องสั่งให้ยกเลิกการปฏิบัติการดังกล่าวในวันที่ 8 มกราคม 1945 ก็ตาม แต่ก็ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องยกเลิกความคิดที่จะไปฉลองปีใหม่ปี 1945 ในกรุงเบอร์ลิน พร้อมๆ กับยกเลิกความคิดที่ว่า “เยอรมันหมดพิษสงลงแล้ว”

ซึ่งหากมองฮิตเลอร์จากมุมมองนี้ ก็จะเห็นว่า ฮิตเลอร์มีความเป็นนักสู้อย่างแท้จริง เมื่อยังไม่ถึงลมหายใจเฮือกสุดท้าย เขาก็พร้อมที่จะสร้างความเสียหายให้กับศัตรูได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ความมุมานะอุตสาหะดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากความสำเร็จในชีวิตของเขาที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมานานัปการก็เป็นได้

แต่หากมองฮิตเลอร์อีกมุมมองหนึ่งก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า เขาเป็นคนที่มีความถือดี ดื้อรั้นแบบหัวชนฝา อันเป็นบุคลิกที่โดดเด่นและเหมือนกันของจอมเผด็จการทั้งหลายของโลก ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของนายทหารฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันที่มีประสบการณ์ แสดงแนวคิดคัดค้านหรือมีความเห็นขัดแย้งกับเขา ล้วนลงเอยด้วยการถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ทั้งๆ ที่นายทหารเหล่านั้นต่างเพียบพร้อมไปด้วยความสามารถ หรือแม้แต่เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในการบัญชาการรบอย่างเช่น พลเอกไฮนซ์ กูเดเรียน, พลเอกวอลเธอร์ ฟอน บราวชิทส์ และจอมพลอีริค ฟอน แมนสไตน์ เป็นต้น ความคิดเห็นที่ถือตน ดื้อรั้นนี้เองที่ส่งผลให้ฮิตเลอร์เกิดจินตนาการว่า ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไรซ์ที่สามเกิดขึ้นและถูกสร้างจากตัวเขาเอง หากจะล่มสลายลง มันก็จะต้องล่มสลายลงไปพร้อมกับเขา โดยมีเขาเป็นผู้กำหนดให้เป็นการล่มสลายที่ยิ่งใหญ่และต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ การต่อสู้จะเต็มไปด้วยความกล้าหาญ เสียสละและอุทิศตน ตั้งแต่ตัวท่านผู้นำเอง ลงไปจนถึงประชาชนทั่วไป คนชราและเยาวชน

ความคิดเห็นนี้ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนในรูปของการจัดตั้ง “โฟล์คสตรุม” (Volkssturm) ซึ่งเป็นกองกำลังรักษากรุงเบอร์ลินที่ประกอบไปด้วยคนชราและยุวชนฮิตเลอร์ (Hitlerjugend)

แต่ไม่ว่าโลกจะมองเขาในมุมมองใดก็ตาม ช่วงกลางเดือนมกราคม 1945 ฮิตเลอร์ก็ย้ายจาก “รังหมาป่า” อันเป็นกองบัญชาการของเขาในปรัสเซียตะวันออกไปยังที่หลบภัยภายในที่ทำการของเขาในกรุงเบอร์ลิน เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวเยอรมันในมหานครของอาณาจักรไรซ์ที่สามอันยิ่งใหญ่จนถึงวาระสุดท้าย

มาถึงห้วงเวลานี้ ร่างกายของฮิตเลอร์ดูทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด ร้อยเอก เกอร์ฮาร์ด โบลด์ทฺ (Gerhard Boldt) ผู้ซี่งเข้าร่วมประชุมกับฮิตเลอร์ได้บันทึกถึงลักษณะของเขาไว้ว่า

“.... ศีรษะของเขาส่ายไปมา .... ใบหน้าและรอบดวงตาดูอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด การเคลื่อนไหวก็เหมือนกับคนชราที่แก่หง่อม .....”

บันทึกนี้อธิบายได้อย่างชัดเจนถึงบุคลิกในห้วงสุดท้ายแห่งชีวิตของฮิตเลอร์ เขากลายเป็นคนที่ไม่ไว้ใจใครทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ “อีวา บราวน์” (Eva Brown) เพื่อนสาวของเขาและสุนัขเยอรมันเชิปเปอร์ดที่ชื่อ “บรอนดี้” (Blondi) เท่านั้น

วันที่ 12 เมษายน กองทัพสหรัฐอเมริกาข้ามแม่น้ำ เอลเบ (Elbe) ในขณะที่กองทัพรัสเซียก็เข้ามาถึงกรุงเบอร์ลินในวันที่ 22 เมษายน ฮิตเลอร์ประกาศว่า เขาเลือกที่จะอยู่และตายในกรุงเบอร์ลินพร้อมทั้งปฏิเสธที่จะนำกองทัพเยอรมันที่เหลือลงใต้ไปสมทบกับหน่วยทหารเยอรมันที่กระจัดกระจายอยู่เพื่อทำการต่อสู้ต่อไป ในขณะเดียวกันทหารเยอรมันที่รักษากรุงเบอร์ลินก็ต่อสู้เพื่อรักษาเมืองหลวงของเยอรมันอย่างสุดชีวิต ทำให้ยอดการสูญเสียรถถังของรัสเซียมีสูงถึงกว่า 2,800 คัน

วันที่ 20 เมษายน ซึ่งวันเกิดของฮิตเลอร์ ปืนใหญ่ของกองกำลังแนวหน้าเบโลรุสเซียที่ 1 (1st Belorussia Front) ของกองทัพรัสเซียที่รายล้อมอยู่รอบกรุงเบอร์ลิน ก็ร่วมฉลองวันเกิดของเขาด้วยการเปิดฉากยิงถล่มนครเบอร์ลินอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง การยิงถล่มดังกล่าวไปสิ้นสุดลงเมื่อเยอรมันประกาศยอมแพ้ เป็นการยิงที่ใช้กระสุนปืนใหญ่มากกว่าสองล้านนัด ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเหนือนครเบอร์ลินตลอดสงครามเสียอีก

และในวันที่ 26 เมษายน ที่หลบภัยของฮิตเลอร์ถูกกระสุนปืนใหญ่ตกลงมาอย่างจัง บ่งบอกให้ทราบว่า จุดจบของอาณาจักรไรซ์ที่สามอยู่ไม่ไกลนัก วันที่ 29 เมษายน ฮิตเลอร์เข้าพิธีสมรสกับอีวา บราวน์ พร้อมทั้งแต่งตั้งพลเรือเอกโดนิทซ์ (Donitz) เป็นผู้นำของเยอรมันคนต่อไป ท่ามกลางความโกรธของจอมพลแฮร์มาน เกอริง แม่ทัพกองทัพอากาศเยอรมัน

ในวันที่ 30 เมษายน หลังอาหารกลางวัน เสียงปืนก็ดังขึ้นหนึ่งนัดในห้องพักของฮิตเลอร์ เกิบเบิลได้เข้าไปดูและพบว่าฮิตเลอร์ได้ปลิดชีวิตตัวเองด้วยการใช้ปืนสั้นยิงกรอกปากตัวเอง มีศพของอีวา บราวน์ ที่เสียชีวิตจากยาพิษอยู่เคียงข้าง เกิบเบิลทำตามคำแนะนำของฮิตเลอร์ที่ให้ไว้ก่อนตาย โดยนำศพของทั้งสองคนออกจากที่หลบภัยไปยังสวนดอกไม้ จากนั้นก็ราดน้ำมันและจุดไฟเผา เป็นพิธีศพที่ไม่มีกองทหารเกียรติยศในชุดดำอันสง่างามของกองพล เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด ซึ่งเป็นกองกำลังประจำตัวที่ฮิตเลอร์ภาคภูมิใจอยู่เลยแม้แต่คนเดียว กล่าวกันว่า พิธีศพของทหารเยอรมันในสมรภูมิที่ห่างไกลยังดูสมศักดิ์ศรียิ่งกว่าพิธีศพกลางกรุงเบอร์ลินของท่านผู้นำเสียอีก

ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ใช้เวลาในการเดินทางจากจุดเริ่มต้นจนถึงบทอวสาน ในเวลาเพียง 12 ปี 3 เดือน แต่นับเป็นห้วงเวลาที่ได้คร่าชีวิตผู้คนนับล้านคนทั่วโลก เป็นห้วงเวลาที่เข็มวินาทีเคลื่อนกวาดไปบนหยดเลือดและหยาดน้ำตาของผู้สูญเสียจำนวนมากมายมหาศาล

... เปลวไฟที่ลุกไหม้ซากศพของเขา อาจเปรียบได้กับคบเพลิงแห่งการเฉลิมฉลองและปิติยินดีสำหรับจุดจบของบุคคลผู้นำพาโลกเข้าสู่ความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

แต่ในทางตรงข้าม ... มันอาจเปรียบได้ดั่งแสงเทียนแห่งการไว้อาลัยแด่บุคคลผู้กอบกู้ประเทศเยอรมันจากความล่มสลายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและนำพาไปสู่ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไรซ์ที่สามที่วาดหวังไว้ว่า จะอยู่ยืนยงนับพันปี

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโลกจะมองอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ว่าเป็นบุคคลเช่นไร “เทพเจ้า” หรือ “ซาตาน” เราขอเพียงแต่ให้มนุษย์ได้ศึกษาถึงความเป็นซาตานและความเป็นเทพเจ้าของเขาอย่างละเอียด ลึกซึ้งและถ่องแท้ เพื่อป้องกันการหวนย้อนกลับของกาลเวลาในทุกทิศทาง อันอาจนำพามวลมนุษยชาติให้จมดิ่งลงสู่ห้วงเหวของความหายนะอีกครั้งหนึ่ง


(สงครามโลกครั้งที่สอง)




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2553    
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 15:37:14 น.
Counter : 5691 Pageviews.  

จอมพลแฮร์มานน์ เกอริง เพชฌฆาตติดปีกของฮิตเลอร์ (สงครามโลกครั้งที่ 2)

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2


จอมพล แฮร์มานน์ วิลเฮล์ม เกอริง

Hermann Wilhelm Göring หรือ Goering

ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน 

โดย

พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)
Victoria University of Wellington, New Zealand

(สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ลอกเลียน ทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน)

-----------------------




คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จอมพลแฮร์มานน์ เกอริง คือบุคคลผู้มีบทบาททั้งการก้าวขึ้นสู่อำนาจและการล่มสลายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์อย่างแท้จริง เขาได้ชื่อว่าเป็นมือขวาของฮิตเลอร์ เป็นผู้ที่ฮิตเลอร์ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่งนับตั้งแต่การชนะเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคนาซี การก้าวขึ้นสู่ความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ อัครมหาเสนาบดี (Chanceller) ก่อนที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศเยอรมันในที่สุด

และเกอริงอีกนั่นเองที่คุมกำลังกองทัพอากาศเยอรมันที่ล้มเหลวในการโจมตีเกาะอังกฤษจนอังกฤษสามารถฟื้นตัวกลับมาพิชิตเยอรมันได้ เขาคือผู้ที่รับปากฮิตเลอร์ถึงการส่งกำลังบำรุงให้กับกองทัพที่ 6 ในการรบที่สตาลินกราด แต่ก็ล้มเหลวจนนำไปสู่ความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ เขาล้มเหลวในการปกป้องแผ่นดินเยอรมันและอุตสาหกรรมสงครามจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งที่เคยรับปากกับฮิตเลอร์ว่า ไม่มีวันที่แผ่นดินเยอรมันจะถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรได้ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดหนักของเยอรมันไม่สามารถผลิตจักรกลสงครามออกมาได้อย่างเพียงพอในการปกป้องผืนแผ่นดินของตน และนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในที่สุด

เกอริงเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1893 ในเมือง โรเซนไฮม์ (Rosenheim) ทางตอนใต้ของแคว้นบาวาเรีย (Bavaria) ประเทศเยอรมัน บิดาของเขาคือ ไฮน์ริช เออร์เนสท์ เกอริง (Heinrich Ernest Göring) ผู้สำเร็จราชการของอาณาจักรเยอรมันในประเทศนามิเบีย จึงนับได้ว่าเกอริงเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลข้าราชการชั้นสูงอย่างแท้จริง เขาเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยปรัสเซีย และเข้ารับราชการในเหล่าทหารราบของกองทัพบกเยอรมันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1912

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เปิดฉากขึ้นในปี ค.ศ. 1914 เกอริงก็เข้าร่วมในสงครามแต่เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บจากโรคไขข้ออักเสบจึงทำให้เขาต้องย้ายตัวเองไปอยู่หน่วยบินของกองทัพบก (German Army Air Service) ซึ่งเขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการรบทางอากาศ สามารถยิงเครื่องบินข้าศึกตกถึง 22 ลำและได้รับการคัดเลือกให้เป็นเสืออากาศของกองทัพอากาศเยอรมัน รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรษของประเทศอีกด้วย

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมันส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำจนถึงขั้นล่มสลาย เกอริงจึงผันตัวเองไปเป็นนักบินให้กับบริษัทฟอคเกอร์ (Fokker) ในประเทศฮอลแลนด์ เดนมาร์กและสวีเดน แต่ด้วยพื้นฐานของการเป็นวีรบุรุษสงครามทำให้เขาถูกดึงเข้ามาเป็นร่วมในการก่อตั้งพรรคนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และได้เป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยเอสเอ (SA – Strum Abtailung) ซึ่งเป็นกองกำลังจู่โจมติดอาวุธที่มีฉายาว่า "เสื้อสีน้ำตาล" (Brown shirts) ของฮิตเลอร์ในปี ค.ศ. 1922

เขามีความประทับใจในตัวฮิตเลอร์และพรรคนาซีเป็นอย่างมากจนถึงกับกล่าวกับเพื่อนๆ ของเขาว่า

"… มันเป็นความประทับใจในการเมืองตั้งแต่แรกพบเลยทีเดียว …"

หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปีคือในปี ค.ศ. 1923 เขาก็มีส่วนร่วมในการปฏิวัติของพรรคนาซีในเมืองมิวนิค โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีถูกจับ ส่วนเกอริงได้รับบาดเจ็บเนื่องจากโดนสะเก็ดหินแกรนิต 2 ชิ้นที่ต้นขา เป็นเศษหินที่แตกออกผนังอาคารเพราะแรงกระสุน เขาหนีการจับกุมออกไปยังประเทศออสเตรีย อิตาลีและสวีเดน ในปี ค.ศ. 1925 เขากลายเป็นผู้เสพติดมอร์ฟีนและเป็นโรคอ้วนเพราะมีน้ำหนักมากถึง 280 ปอนด์ จึงถูกส่งเข้าโรงพยาบาลโรคจิตสถานที่ที่ซึ่งฟื้นฟูสุขภาพจิตของเขาให้กลับคืนมาได้ดังเดิม

ในปี ค.ศ. 1927 เกอริงเดินทางกลับเยอรมันเพื่อเข้าร่วมในพรรคนาซีของฮิตเลอร์อีกครั้ง หนึ่งปีต่อมาเขาชนะการเลือกตั้งในนามพรรคนาซีและได้รับคัดเลือกให้เป็นรองประธานสภา ในช่วงนี้เกอริงได้ใช้ความสามารถส่วนตัวในการเป็นบุคคลในสังคมชั้นสูงทำการติดต่อกับสมาชิกรัฐสภา ผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน นักธุรกิจระดับสูงและนายทหารในกองทัพ เพื่อสร้างคะแนนเสียงให้กับพรรคนาซี ซึ่งผลงานของเขาทำให้พรรคนาซีได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงานอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1930 พรรคนาซีก็ได้คะแนนเสียงท่วมท้นถึง 6,500,000 เสียง ได้รับที่นั่งในรัฐสภา "ไรซ์สตาร์ค" ถึง 107 ที่นั่ง และในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี ค.ศ. 1932 เกอริงก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานสภา





เมื่อฮิตเลอร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรืออัครมหาเสนาบดีในปี ค.ศ. 1933 เกอริงก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการตำรวจแห่งแคว้นปรัสเซีย พร้อมๆ กันนี้เกอริงได้ร่วมกับสมาชิกระดับสูงของพรรคนาซีคนหนึ่งคือ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) ก่อตั้งองค์กรตำรวจลับเกสตาโป (Gestapo) และจัดสร้างค่ายกักกันเพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังศัตรูทางการเมืองของพรรคนาซีขึ้น ซึ่งนับเป็นจุดกำเนิดของการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งยิ่งใหญ่และร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

นอกจากนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานของเขาปราศจากอุปสรรค เกอริงสั่งการให้ปลดเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงจำนวน 22 คนจากทั้งหมด 32 คนรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายพันคน และทดแทนด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จัดจากหน่วยเอสเอส และเอสเอ ของพรรคนาซี เขายังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการวางเพลิงรัฐสภาไรซ์สตาร์คโดยโยนความผิดให้พวกคอมมิวนิสต์ เพื่อปูทางให้ฮิตเลอร์ใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศเยอรมัน รวมทั้งยังเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการตามคำสั่งของฮิตเลอร์ในการกวาดล้างกลุ่มเอส เอ ของเออร์เนส โรห์มในเหตุการณ์ "ราตรีแห่งมีดดาบยาว" ( night of long knives) ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1934 อีกด้วย

เกอริงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน ซึ่งนับเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดตำแหน่งหนึ่งของเขาในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1935 และในปี ค.ศ. 1937 เขาได้รับมอบหมายให้เข้าดูแลแผนพัฒนาเศรษฐกิจและกิจการรัฐวิสาหกิจจำนวนหลายแห่งที่มีการจ้างงานสูงถึง 700,000 คน ใช้เงินจำนวนกว่า 400 ล้านมาร์ค ทำให้เขามีรายได้เป็นจำนวนมหาศาลทั้งในทางตรง เช่น เงินประจำตำแหน่งหลายตำแหน่ง รายได้จากหนังสือพิมพ์ Essener National Zaitungของเขาเอง และในทางลับ เช่น เงินสินบนจากบริษัทผลิตอากาศยานต่างๆ ที่เสนอต้นแบบเครื่องบินนานาชนิดในการสร้างกองทัพอากาศเยอรมันขึ้นมาใหม่

ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนเจ้าสำราญจากตระกูลผู้ดีเก่า ทำให้เกอริงใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย มีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ เปลี่ยนเสื้อผ้าวันละ 4-5 ครั้ง ประดับคฑาจอมพลและเหรียญตราต่างๆ บนเครื่องแบบของเขาด้วยเพชรและทองคำแท้ เขามีงานอดิเรกในการสะสมของเก่าทั้งที่ได้มาอย่างถูกกฏหมายและได้มาจากผู้ลักลอบทำผิดกฏหมาย และเปลี่ยนพระราชวังเก่ากลางกรุงเบอร์ลินให้กลายเป็นสถานที่พำนักที่หรูหรา ด้วยของตกแต่งราคาแพง

แต่ที่น่าแปลกใจคือพรรคนาซีได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของเกอริงต่อสาธารณชนว่าเป็นต้นแบบแห่งความซื่อสัตย์ สุภาพบุรุษ เป็นคนที่เข้าถึงและสัมผัสได้ง่ายมากกว่าฮิตเลอร์ ทำให้คะแนนนิยมในตัวของเขาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในปี ค.ศ. 1938 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นทายาททางการเมืองของฮิตเลอร์ เขาคือบุคคลที่นำคำสั่งของฮิตเลอร์ในการกำจัดชาวยิวมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมด้วยการนำเอาชาวยิวออกไปจากระบบเศรษฐกิจและริบทรัพย์สินทั้งหมดของชาวยิวเป็นของรัฐภายใต้บทบัญญัติแห่ง "ชนชาติอารยันที่บริสุทธิ์" และเขาก็คือผู้สั่งการให้ใช้แนวทาง "การแก้ปัญหาขั้นสุดท้าย" หรือ Final Solution กับชาวยิวทั้งในเยอรมันและในดินแดนยึดครองของเยอรมัน อันนำมาซึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในที่สุด





ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพอากาศเยอรมันประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำลายกองทัพอากาศและกองทหารภาคพื้นดินของโปแลนด์ ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยมและฝรั่งเศส ทำให้ชาวเยอรมันต่างชื่นชมในตัวเกอริงเป็นอย่างมาก แต่ชื่อเสียงของเขาเริ่มลดต่ำลงเมื่อเขาไม่สามารถพิชิตอังกฤษได้ พร้อมทั้งเริ่มมีเสียงวิพากวิจารณ์ว่า เขาเป็นเพียงนักบินขับไล่คนหนึ่งเท่านั้น ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้ควบคุมกองทัพอากาศทั้งหมด เพราะการเป็นนักบินกับการเป็นผู้บัญชาการกองทัพอากาศนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่ความสำเร็จอย่างท่วมท้นเหนือกองทัพอากาศรัสเซียที่ล้าสมัยในช่วงปี ค.ศ. 1941 ก็ทำให้เขาได้รับความนิยมกลับขึ้นมาอีก ก่อนที่ความจริงของสงครามจะปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า กองทัพอากาศเยอรมันกำลังถูกกองทัพอากาศสัมพันธมิตรและกองทัพอากาศรัสเซียกำจัดออกไปจากน่านฟ้า โดยเฉพาะเมื่อฝูงบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรดาหน้าเข้าถล่มเมืองต่างๆ ในเยอรมันไม่เว้นแต่ละวัน ชาวเยอรมันก็เริ่มตระหนักดีกว่า ผู้บัญชาการทหารอากาศเยอรมันคนนี้ไร้ความสามารถในการปกป้องน่านฟ้าเยอรมันอย่างสิ้นเชิง





ในปี ค.ศ. 1943 ขณะที่ท้องฟ้าเหนือเมืองต่างๆ ของเยอรมันเต็มไปด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตร เกอริงกลายเป็นคนที่เซื่องซึมและตกอยู่ในภวังค์ เขาปฏิเสธการรายงานของอดอล์ฟ กัลล์ลันด์ เสืออากาศเยอรมันที่ว่า เครื่องบินของสัมพันธมิตรกำลังทำลายเมืองและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆของเยอรมันอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกันฮิตเลอร์ก็มองว่าเกอริงเป็นผู้บัญชาการกองทัพอากาศที่ไร้ความสามารถและเป็นต้นเหตุแห่งความพ่ายแพ้ของเยอรมัน ทำให้เขาอับอายขายหน้าอย่างมาก ชื่อเสียงของเขาถูกกลบด้วยชื่อของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ และอัลเบิร์ต สเปียร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกอริงเริ่มปลีกตัวออกจากฮิตเลอร์

เมื่อกองทัพรัสเซียรุกเข้ามาถึงกรุงเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์ประกาศว่าตัวเขาเองจะอยู่ในหลุมหลบภัยกลางกรุงเบอร์ลินจนวาระสุดท้าย แต่เกอริงผู้ซึ่งหนีไปยังแคว้นบาวาเรียก่อนหน้านี้เข้าใจผิดในคำประกาศดังกล่าว โดยเข้าใจว่าเป็นการประกาศเพื่อสละอำนาจความเป็นผู้นำของฮิตเลอร์ เขาจึงเรียกร้องสิทธิความเป็นทายาททางการเมืองของฮิตเลอร์และขอขึ้นเป็นผู้นำประเทศเยอรมัน

ฮิตเลอร์โกรธมากสั่งให้จับกุมตัวเกอริงและปลดออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งก่อนที่กรุงเบอร์ลินจะล่มสลายและตามมาด้วยการยอมจำนนของเยอรมัน หลังจากนั้นไม่กี่วันคือในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 เกอริงก็ถูกจับกองทัพที่ 7 ของสหรัฐอเมริกา เขาถูกนำตัวขึ้นศาลนูเรมเบอร์กในปี ค.ศ. 1946

ระหว่างการไต่สวนคดี เกอริงพยายามตอบโต้คณะผู้พิพากษาด้วยน้ำเสียงที่แข็งกร้าวและพยายามแสดงตัวให้ผู้ต้องขังทุกคนเห็นว่า เขาคือตำนานของประเทศเยอรมันที่ไม่มีวันตาย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เขาไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาการเป็นอาชญากรสงครามต่อคณะผู้พิพากษาได้ เกอริงจึงถูกพิพากษาประหารชีวิตโดยการแขวนคอในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1946

แต่ก่อนเวลาประหารชีวิตเพียง 2 ชั่วโมงเกองริงก็จบชีวิตตนเองด้วยการกลืนยาพิษไซยาไนด์ที่ผู้คุมลักลอบนำเข้ามาให้เขาระหว่างถูกคุมขัง นับเป็นการจบชีวิตของบุคคลสำคัญอันดับสองของนาซีเยอรมัน ผู้ซึ่งเดินเคียงข้างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์มาเกือบตลอดทั้งชีวิต ตั้งแต่การก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จก่อนที่จะเดินทางสู่ห้วงแห่งความหายนะ แต่เกอริงเลือกที่จบชีวิตด้วยหนทางที่แตกต่างกับฮิตเลอร์ เป็นหนทางที่ทิ้งเป็นปริศนาให้ผู้คนในอนาคตตัดสินว่า แฮร์มานน์ เกอริงคือวีรบุรุษที่แท้จริงหรือเพียงแค่คนขี้ขลาดที่เป็นวีรบุรุษจอมปลอมคนหนึ่งเท่านั้น



สภาพศพของเกอริงภายหลังกลืนยาพิษไซยาไนด์ปลิดชีพตัวเอง


(สงครามโลกครั้งที่สอง)




 

Create Date : 09 สิงหาคม 2553    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2556 11:02:26 น.
Counter : 7719 Pageviews.  

สเตาฟ์เฟนเบอร์ก ผู้วางแผนสังหารฮิตเลอร์ (สงครามโลกครั้งที่ 2)

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2



Colonel Cluse Schenk Graf Von Stauffenberg

พันเอก สเตาฟ์เฟนเบอร์ก ผู้วางแผนสังหารฮิตเลอร์

โดยพันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


-------------------------






ภาพถ่ายของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก ที่นำมาพิมพ์ลงแสตมป์ที่ระลึก เพื่อเป็นเกียรติในการความกล้าหาญที่ต่อต้านนาซีของเขา





ภาพของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก (ซ้ายสุดของภาพ) ถ่ายพร้อมอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และคณะเสนาธิการของเขา ที่กองบัญชาการของฮิตเลอร์ ซึ่งรู้จักกันในนาม รังหมาป่า หรือ the Wolf's Lair ในปรัสเซียตะวันออก



พันเอก เคล้าส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนเบอร์ก ที่วางแผนลอบสังหาร ผู้นำนาซีเยอรมัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกประหารชีวิต ในวันที่ 21 กรกฏาคม 1944 และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ ที่ต่อต้านอำนาจของพรรคนาซีในขณะนั้น และเรื่องราวของเขาได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง Valkyrie โดยมี ทอม ครูซ รับบทเป็นพันเอก เคล้า ฟอน สเตาฟ์เฟนเบอร์ก




พันเอก เคล้าส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนเบอร์ก เติบโตมาจากครอบครัวข้าราชการชั้นสูง บิดาของเขาคือ Alfred Schenk Graf von Stauffenberg แห่งอาณาจักร Wuttemberg มารดาคือ Countess Caroline Schenk Grafin von Stauffenberg. เกิดในปราสาท Jettingen ในบาวาเรีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเยอรมัน

ในวัยเด็ก สเตาฟ์เฟนเบอร์ก เป็นสมาชิกของ Neupfadfinder หรือ องค์กรลูกเสือเยอรมัน เป็นเด็กที่มีการศึกษาดี และเข้ารับราชการทหารในปี 1926 ในกรมทหารม้าที่ 17 (17th Cavalry Regiment) ใน Bamberg มียศเป็นร้อยตรี และติดยศร้อยโทในปี 1930

ต่อมากรมทหารม้าที่ 17 ของเขา ถูกบรรจุให้ขึ้นการบังคับบัญชากับกองพลที่ 1 ที่ซึ่งมีผู้บัญชาการกองพลคือ นายพล Erich Hoepner หนึ่งในผู้สนับสนุนการปฏิวัติของฮิตเลอร์ในปี 1938 อีกทั้งกองพลดังกล่าว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนพล เข้าผนวกแคว้นซูเดเตนแลนด์ (Sudetenland) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเชคโกสโลวะเกีย เข้ากับเยอรมัน สเตาฟ์เฟนเบอร์กเป็นคนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการผนวกดินแดนดังกล่าวของฮิตเลอร์

ในปี 1939 เยอรมันบุกเข้าสู่โปแลนด์ อันเป็นการเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง สเตาฟ์เฟนเบอร์กและกรมทหารม้าที่ 17 ของเขา เป็นกำลังส่วนแรกๆ ที่เปิดฉากรุกเข้าสู่โปแลนด์

จากมุมมองของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก เขาสนับสนุนการยึดครองโปแลนด์ของฮิตเลอร์ รวมทั้งยังสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า ชาวโปแลนด์ คือชนชั้นทาสของชาวเยอรมัน แนวความคิดดังกล่าว เป็นแนวคิดดั้งเดิม ทางประวัติศาสตร์ของชาวเยอรมัน ที่ต้องการครอบครองโปแลนด์ เพราะโปแลนด์เคยเป็นส่วนหนึ่ง ของอาณาจักรเยอรมันในยุคกลาง (the Middle Ages) หรือยุคอัศวินนั่นเอง





ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง วัลคีรี่ (Valkyrie) เป็นภาพที่กองบัญชาการของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก ที่ Bendlerblock ขณะก่อการยึดอำนาจจากนาซี โดยอาศัยยุทธการ วัลคีรี่ เป็นเครื่องมือ



สภาพสถานที่จริงของกองบัญชาการของสเตาฟ์เฟนเบอร์กในปัจจุบัน ที่ Bendlerblock ซึ่งได้ีรับการอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ พร้อมภาพถ่ายจำนวนมาก แสดงถึงการต่อต้านลัทธินาซีของชาวเยอรมัน




อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสเตาฟ์เฟนเบอร์กจะเห็นด้วยกับการยึดครองโปแลนด์ของฮิตเลอร์ แต่ด้วยความเป็นแคทอลิคที่เคร่งครัด เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายประการของพรรคนาซี และไม่เคยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคนาซีเลยจนกระทั่งเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการกำจัดชาวยิว และเหตุการณ์จลาจลต่อต้านชาวยิวในคืนแก้วแตก (Night of the broken glass) ในเดือนพฤศจิกายน 1938 ซึ่งเขามองว่านำความอัปยศมาสู่เยอรมัน

ภายหลังจากสงครามในโปแลนด์สิ้นสุดลง ในปี 1939 สเตาฟ์เฟนเบอร์กได้รับการทาบทามจากลุงของเขา Nikolaus Graf von Uxkull ให้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านฮิตเลอร์ สเตาฟ์เฟนเบอร์กปฏิเสธการเข้าร่วมดังกล่าว เนื่องจากเขาในฐานะทหารของเยอรมัน ได้ปฎิญาณตนว่าจะจงรักภักดี ... ไม่ใช่ต่อรัฐธรรมนูญ แต่กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในฐานะผู้นำแต่เพียงผู้เดียว ....

ต่อมากองพลทหารม้าที่ 17 ของสตอฟเฟนเบอร์ก ถูกบรรจุให้ขึ้นกับกองพลแพนเซอร์ที่ 6 และเขาก็ได้รับตำแหน่งนายทหารประจำฝ่ายเสนาธิการ ในการรุกเข้าสู่ฝรั่งเศส ซึ่งเขามีผลงานดีเด่นจนได้รับเหรียญกล้าหาญ กางเขนเหล็ก ชั้นที่ 1 (the Iron Cross First Class) มาถึงเวลานี้ ความสำเร็จของเยอรมัน มีมากเกินกว่าที่ใครคิดจะล้มล้างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้กลายเป็นวีรบุรุษของประเทศไปแล้ว

ในปี 1941 เยอรมันเปิดยุทธการ บาร์บารอสซ่า (Barbarossa) รุกเข้าสู่รัสเซีย มีการสังหารเชลยศึกชาวรัสเซีย ยิว และชนชาติอื่นเป็นจำนวนมาก พร้อมๆกับการปลดฝ่ายเสนาธิการของฮิตเลอร์ แล้วตั้งตนเองเข้าดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเสียเอง ทำให้สเตาฟ์เฟนเบอร์กรู้สึกถึงการหลู่เกียรติยศของทหารของฮิตเลอร์ และความสงสารที่มีต่อเหยื่อความโหดร้ายของสงคราม เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมการต่อต้านฮิตเลอร์อย่างเงียบๆ

ปี 1942 เขาย้ายเข้าไปทำงานในกองบัญชาการกองทัพบก (Oberkommando des Heeres - the German Army high command) ณ ที่นี้เอง ที่เขาพยายามลดความรุนแรงของนโยบายการยึดครองรัสเซียลง รวมทั้งพยายามร่างระเบียบการจัดการกับเชลยศึกด้วยความมีมนุษยธรรม

เดือนพฤศจิกายน 1942 ฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดฉากยกพลขึ้นบกในแอฟริกาเหนือ กองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 10 (the 10th Panzer Division) ซึ่งยึดครองฝรั่งเศส ถูกส่งไปยังตูนิเซีย ในฐานะกำลังส่วนหนึ่งกองกำลังแอฟริกา (Afrika Korps) ในปี 1943 สเตาฟ์เฟนเบอร์ก เลื่อนยศเป็นพันโท (Oberstleutnant) และถูกส่งไปเป็นนายทหารยุทธการ (Operations Officer) ของฝ่ายเสนาธิการกองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 10

19 กุมภาพันธ์ 1943 เออร์วิน รอมเมล ผู้บัญชาการกองกำลังแอฟริกาของเยอรมัน เปืดฉากรุกตอบโต้ฝ่ายสัมพันธมิตรในตูนีเซีย โดยหวังที่เจาะช่องแนวของสัมพันธมิตรบริเวณ Kasserine Pass

ระหว่างการรบ ในวันที่ 7 เมษายน 1943 สเตาฟ์เฟนเบอร์กนั่งรถของฝ่ายเสนาธิการ เคียงข้างไปพร้อมกับรถถังคันแรก ของกองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 10 และกองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 21 เพื่อจัดแนวตั้งรับที่ตำบลใกล้กับ Mezzouna

เครื่องบินโจมตี ทิ้งระเบิดของอังกฤษปรากฎเหนือท้องฟ้า และพุ่งเข้าโจมตีขบวนยานเกราะของเยอรมัน และรถคันที่เขานั่งอยู่อย่างรุนแรง ส่งผลให้สเตาฟ์เฟนเบอร์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่มิวนิคถึง 3 เดือน ต้องเสียตาซ้ายไปหนึ่งข้าง และมือขวาถูกตัด พร้อมกับ 2 นิ้วในมือซ้าย

ผลจากการบาดเจ็บในครั้งนี้ สเตาฟ์เฟนเบอร์กได้รับเหรียญสดุดีผู้บาดเจ็บจากการสู้รบชั้นเหรียญทอง - Wound Badge in Gold ในวันที่ 14 เมษายน 1943 และเหรียญทองกางเขนเยอรมัน - German Cross in Gold ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1943






ฉากการรบที่ตูนีเซีย ในภาพยนตร์เรื่อง วัลคีรี่ ขณะที่สเตาฟ์เฟนเบอร์ก เป็น พันโท ในตำแหน่งนายทหารฝ่ายยุทธการ (Operations Officer) ของกองพลยานเกราะแพนเซอร์ที่ 10 และถูกเครื่องบินของอังกฤษโจมตี จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องส่งตัวกลับไปรักษาที่มิวนิค เป็นเวลา 3 เดือน





ภายหลังจากพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บ จนหายเป็นปกติแล้ว สเตาฟ์เฟนเบอร์กได้เข้ารับตำแหน่งฝ่ายเสนาธิการ ของกองบัญชาการกองทัพทดแทน (Ersatzheer - Replacement Army) ที่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งรับผิดชอบในการฝึกทหารใหม่ เพื่อส่งไปทดแทนกำลังพลที่สูญเสียไป ของกองพลต่างๆ ที่อยู่ในแนวหน้า

ณ ที่นี่เอง ที่สเตาฟ์เฟนเบอร์ได้พบกับผู้บังคับบัญชาของเขา นายพล Friedrich Olbricht ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้านฮิตเลอร์ และที่กองบัญชาการกองทัพทดแทนนี่เอง ที่เป็นผู้มีหน้าที่หลัก ในการดำเนินการตามมาตรการในการควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศ

มาตรการดังกล่าวอยู่ภายใต้ชื่อ ยุทธการ วัลคีรี่ (Operation Valkyrie) อันเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง วัลคีรี่ ที่ทอม ครุยซ์ รับบทเป็นสเตาฟ์เฟนเบอร์ก นั่นเอง






ลานกว้างใน Bandlerblock กรุงเบอร์ลินในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจุดที่สเตาฟ์เฟนเบอร์กถูกยิงเป้าในคืนวันที่ 21 กรกฎาคม 1944



อนุสรณ์แด่สเตาฟ์เฟนเบอร์ก และคณะผู้ก่อการโค่นล้มอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในการก่อการเมื่อ 20 กรกฎาคม 1944 ใน Bandlerblock กรุงเบอร์ลินในปัจจุบัน






แผน 20 กรกฏาคม (20 July Plot)

6 มิถุนายน 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ของฝรั่งเศส นายทหารระดับสูงของเยอรมัน เชื่ออย่างไม่ต้องสงสัยว่า สงครามครั้งนี้ เยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แล้ว สเตาฟ์เฟนเบอร์กก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และยังเชื่อมั่นต่อไปว่า การเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อยุติการนองเลือด และยุติการล่มสลายของเยอรมัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

สิ่งที่เป็นได้ขณะนี้คือ การยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งการยอมแพ้ดังกล่าว ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีของเขายังครองอำนาจอยู่

หนทางมีอยู่เพียงอย่างเดียว คือ .... ลอบสังหารฮิตเลอร์

การวางแผนในครั้งแรก สเตาฟ์เฟนเบอร์กต้องการจะอยู่ที่กองบัญชาการของเขาในกรุงเบอร์ลิน เพื่อติดต่อกับกำลังหน่วยอื่นๆ ในการปฏิวัติ และยึดอำนาจจากพวก เอส เอส และเกสตาโป แต่ปัญหาก็คือ ไม่มีใครที่จะสามารถเข้าไปสังหารฮิตเลอร์ได้ที่กองบัญชาการ ในปรัสเซียตะวันออก ซึ่งรู้จักกันในาม รังหมาป่า (Wolfsschanze หรือ Wolf's Lair ในภาษาอังกฤษ)

สเตาฟ์เฟนเบอร์จำเป็นต้องมีบทบาทถึงสองด้านด้วยกัน คือ สังหารฮิตเลอร์ที่รังหมาป่า และกลับมานำการปฏิวัติในเบอร์ลิน

20 กรกฏาคม 1944 แผนการก็เริ่มขึ้น เมื่อสเตาฟ์เฟนเบอร์ก เดินทางไปยังรังหมาป่า กองบัญชาการของฮิตเลอร์ พร้อมด้วยระเบิดสองลูก เมื่อเข้าไปในห้องบรรยายสรุป เขาวางระเบิดไว้ที่ใต้โต๊ะ ก่อนที่ออกมาจากห้อง

นายทหารในห้องประชุมคนหนึ่งคือ พันเอก Heinz Brandt สะดุดกระเป๋าใบนั้น จึงขยับกระเป๋าไปไว้อีกด้านหนึ่งของขาโต๊ะขนาดใหญ่ ระเบิดระเบิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต สี่คน แต่ขาโต๊ะขนาดใหญ่ที่ทำจากไม้โอ๊ค เป็นเสมือนกำบังชั้นเยี่ยมให้กับฮิตเลอร์ ทำให้เขารอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด





รังหมาป่าหรือกองบัญชาการของฮิตเลอร์ในปัจจุบัน



แผนทีี่ที่ตั้งของรังหมาป่า (Wolf's Lair) ขณะนี้อยู่ในประเทศโปแลนด์ เดิมคือปรัสเซียตะวันออกของเยอรมัน




ขณะที่สเตาฟ์เฟนเบอร์กออกมาจากห้องประชุม เขาได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น ด้วยความเชื่อมั่นว่า ฮิตเลอร์เสียชีวิตจากแรงระเบิดดังกล่าว เขารีบเดินทางกลับเบอร์ลิน เพื่อทำการยึดอำนาจและจับกุมผู้นำพรรคนาซี ตามยุทธการ วัลคีรี่ มีการจับกุมทหารเอส เอส และเกสตาโป

แต่ โจเซฟ เกิบเบิล หนึ่งในผู้นำพรรคนาซี ได้ออกวิทยุกระจายเสียงว่า ฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ และอีกไม่นาน ฮิตเลอร์ก็ได้พูดผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐด้วยตนเอง เหล่าผู้ก่อการจึงทราบว่า การปฏิบัติการตามแผนของพวกตนล้มเหลว

สเตาฟ์เฟนเบอร์ถูกจับที่กองบัญชาการกองทัพบก (Bandlesblock - Headquarters of the Army) โดยได้รับบาดเจ็บที่หัวไหล่จากการยิงต่อสู้กัน ระหว่างการจับกุม

ในเวลาก่อน 01.00 น. ของวันที่ 21 กรกฏาคม 1944 การยิงเป้าผู้ก่อการก็เปิดฉากขึ้น ณ สนามหญ้าของกองบัญชาการกองทัพบก โดยหมู่ปืนเล็ก และใช้ไฟรถบรรทุกส่องสว่างไปยังสเตาฟ์เฟนเบอร์กและพวก ประกอบด้วย พลเอก Olbricht, ร้อยโท Von Haeften ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทของเขา, และพันเอก Albrecht Mertz von Quirnheim ก่อนถูกยิงทุกคน ยกเว้นสเตาฟ์เฟนเบอร์ก ตะโกนประโยคสุดท้ายว่า Es lebe das geheime Deutschland หรือ Long live the sacred German - ขอให้เยอรมันอันศักดิ์สิทธิ์จงเจริญ

ส่วนสเตาฟ์เฟนเบอร์กตะโกนว่า Es lebe unser heiliges Deutschland หรือ Long live the holy German - ขอให้เยอรมันอันศักดิ์สิทธิ์จงเจริญ

อย่างไรก็ตามหลุมศพของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก ถูกทหารเอส เอส ขุดขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น เพื่อปลดเหรียญกล้าหาญต่างๆ ออก และเผาศพของเขาทิ้งอย่างอเน็จอนาถ

ส่วนครอบครัวของสเตาฟ์เฟนเบอร์ก สามารถรอดพ้นจากการตามล่าของทหาร เอส เอส ไปได้ ภรรยาของเขามีอายุอยู่จนถึงอายุ 92 ปี และเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2006 บุตรชายคนหนึ่งของเขารับราชการจนเป็นนายพลในกองทัพบกเยอรมันตะวันตก ส่วนอีกคนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาของเยอรมัน และของยุโรป




โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง วัลคีรี่ (Valkyrie) ที่มีทอม ครูซ รับบทพันเอกสเตาฟ์เฟนเบอร์ก




ข้อมูลจาก //www.wikipedia.com


-----------------------------------




(สงครามโลกครั้งที่สอง)




 

Create Date : 06 กันยายน 2552    
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 15:38:25 น.
Counter : 10963 Pageviews.  

เหรียญตราของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง (สงครามโลกครั้งที่ 2)

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2



เหรียญตราของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

โดยพันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)
Victoria University of Wellington, New Zealand

--------------------------


เหรียญกางเขนเหล็ก
(The Iron Cross)


เหรียญกางเขนเหล็กเป็นเหรียญกล้าหาญของเยอรมันแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

- เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) ซึ่งมีอยู่ 2 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ชั้นที่ 1 จะสูงกว่าชั้นที่ 2

- เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (Knight Cross of the Iron Cross) ซึ่งมี 5 ชั้น คือ
1.ชั้นธรรมดา
2. ชั้นประดับใบโอ็ค
3. ชั้นประดับใบโอ็คและดาบ
4. ชั้นประดับใบโอ็ค ดาบ และเพชร
5. ชั้นประดับใบโอ็คทองคำ ดาบ และ เพชร

-----------------------------


เหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2
(The Iron Cross 2nd Class)




เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Eisernes Kreuz 2 Klasse เป็นเหรียญที่มอบให้กับทหารชาย หญิง ทุกเหล่า ในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติหน้าที่การรบ ด้วยความกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือ หน่วยเอส เอส หรือ หน่วยงานองค์กรที่ร่วมในการรบนั้นๆ นอกจากนั้นยังสามารถมอบให้กับผู้ที่มิใช่ชาวเยอรมัน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้กับกองทัพเยอรมันโดยตรง หรือร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเยอรมัน ในฐานะหน่วยทหารของประเทศอักษะ มีสตรี 39 คน ได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 นี้

หลักเกณฑ์ทั่วไป - ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญ ในหน้าที่หรือนอกเหนือหน้าที่ จำนวน 1 ครั้ง

พิธีมอบครั้งแรก ไม่ทราบวันที่แน่นอน ระบุได้แต่เพียงว่า เป็นการมอบให้กับผู้ที่เข้ารบในประเทศโปแลนด์ ใน ก.ย. 1939

จำนวนที่มอบ มากกว่า 3,000,000 เหรียญ

วิธีการประดับเหรียญ ในพิธีประดับเหรียญ ผู้ที่ได้รับเหรียญจะติดสายริบบิ้นไว้ที่รังดุมที่ 2 แล้วปล่อยตัวเหรียญให้ออกมานอกเสื้อ ส่วนในชีวิตประจำวัน จะติดริบบิ้นไว้ที่รังดุมที่ 2 โผล่สายริบบิ้นออกมาก่อนที่ม้วนกลับเข้าไปในตัวเสื้อ ส่วนตัวกางเขนเหล็ก ติดไว้ที่ กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย บริเวณตรงกึ่งกลางของกระเป๋า ส่วนผู้ที่ได้รับเหรียญชนิดนี้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็สามารถติดเหรียญได้ทั้งสองเหรียญ

ข้อสังเกต ผู้ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 มีอายุ 12 ปี ชื่อ Alfred Zeck จาก Goldenau เมื่อเดือน มี.ค. 1945 ที่แนวหน้าในเมือง Oder เขาได้รับเหรียญเนื่องจาก ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญในการช่วยเหลือทหารเยอรมัน 12 คนที่ได้รับบาดเจ็บ ท่ามกลางห่ากระสุนปืนใหญ่ ของฝ่ายข้าศึก และสามารถช่วยชีวิตไว้ได้หมดทั้ง 12 คน นอกจากนี้ทหารเรือประจำเรือ Admiral Scheer ก็ได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นนี้ทุกคน รวม 1,300 คน เมื่อ 1 เม.ย. 1941




การติดเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 ในพิธีประดับเหรียญ จะเห็นตัวเหรียญกางเขนเหล็กติดกับแพรแถบ หรือริบบิ้นที่สอดผ่านรังดุมที่ 2 แต่การประดับเหรียญในชุดปฏิบัติงานปกติประจำวัน จะเหลือแต่แพรแถบหรือริบบิ้น ไม่มีตัวเหรียญ





เครื่องแบบนายทหารยศร้อยเอก ของกองพล อาสาสมัครภูเขา เอส เอส ที่ 7 ปริ้นซ์ อูเกน (7th SS. Volunteer Mountain Division Prince Eugen) ติดเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 โดยการใช้แพรแถบสอดออกมาจากรังดุมที่ 2 และไม่ติดตัวเหรียญกางเขนเหล็ก ซึ่งตามปกติในการประดับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นชั้นต่ำสุดของเหรียญกางเขนเหล็กในการปฏิบัติภารกิจประจำวัน จะติดเฉพาะแพรแถบหรือ ริบบิ้นเท่านั้น ไม่ติดตัวเหรียญ

----------------------------------------


เหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1
(The Iron Cross 1st Class)





เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที 1 มีัชื่อในภาษาเยอรมันว่า Eisernes Kreuz 1 Klasse เป็นเหรียญที่มอบให้กับทหารชาย หญิง ทุกเหล่า ในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติหน้าที่การรบ ด้วยความกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือ หน่วยเอส เอส หรือ หน่วยงานองค์กรที่ร่วมในการรบนั้นๆ นอกจากนั้นยังสามารถมอบให้กับผู้ที่มิใช่ชาวเยอรมัน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้กับกองทัพเยอรมันโดยตรง หรือร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเยอรมัน ในฐานะหน่วยทหารของประเทศอักษะ หรือในดินแดนที่เยอรมันครอบครอง

หลักเกณฑ์ทั่วไป
- เคยได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 มาแล้ว
- ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญ ในหน้าที่หรือนอกเหนือหน้าที่ จำนวน 3-5 ครั้ง

หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพอากาศ (Luftwaffe)

- สามารถทำคะแนนได้ 5 คะแนน เมื่อ 1 คะแนน สำหรับการยิงเครื่องบิน 1 เครื่องยนต์ตก 2 คะแนนสำหรับการยิงเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์ตก 3 คะแนนสำหรับการยิงเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ตก คะแนนนี้จะเพิ่มเป็นสองเท่า เมื่อปฏิบัติการรบทางอากาศในเวลากลางคืน

พิธีมอบครั้งแรก ไม่ทราบวันที่แน่นอน

จำนวนที่มอบ มากกว่า 450,000 เหรียญ

วิธีการประดับเหรียญ เนื่องจากเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 ไม่มีสายริบบิ้น มีเพียงตัวเหรียญ เพื่อเป็นการแยกระหว่างเหรียญชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2

ดังนั้นการประดับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 ทั้งในพิธีประดับเหรียญและในชีวิตประจำวัน จะติดเหรียญไว้ที่ กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย บริเวณตรงกึ่งกลางของกระเป๋า

ข้อสังเกตุ มีสุภาพสตรีเยอรมัน 2 คน ได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 ในสงครามโลกครั้งที่ 2



ทหารพลร่มของเยอรมันหรือ ฟอลชริมเจเกอร์ (Fallschirmjager) ติดเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1

เหรียญที่อยู่ใต้เหรียญกางเขนเหล็กลงมา เป็นเหรียญแสดงความสามารถในการกระโดดร่ม (the parachute qualification badge) เป็นรูปนกอินทรี เกาะอยู่บนเครื่องหมายสวัสดิกะ กำลังพุ่งโฉบลงหาเหยื่อเบื้องล่าง ล้อมรอบด้วยช่อใบโอ็ค ซึ่งผู้ที่จะได้รับเครื่องหมายนี้ จะต้องผ่านการกระโดดร่มมาไม่น้อบกว่า 6 ครั้ง ตัวนกอินทรีทำด้วยทองแดงผสมนิเกล อัลลอย

ส่วนเครื่องหมายที่ประดับอยู่ที่หน้าอกอีกด้าน เป็นเครื่องหมายของกองทัพอากาศเยอรมัน (German Air Force Eagle) เช่นเดียวกับที่ติดอยู่ข้างหมวก


--------------------------------------


เหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน
(Knight Cross of the Iron Cross)


เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน มีทั้งหมด 5 ชั้น คือ
1. ชั้นธรรมดา
2. ชั้นประดับใบโอ็ค
3. ชั้นประดับใบโอ็คและดาบ
4. ชั้นประดับใบโอ็ค ดาบ และเพชร
5. ชั้นประดับใบโอ็คทองคำ ดาบ และ เพชร




เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินชั้นที่ 1 นี้ มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Ritterkreuz des Eisernes Kreuzes เป็นเหรียญที่มอบให้กับทหารชายทุกเหล่า ในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติหน้าที่การรบ ด้วยความกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือ หน่วยเอส เอส หรือ หน่วยงานองค์กรที่ร่วมในการรบนั้นๆ

หลักเกณฑ์ทั่วไป

- เคยได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1(1st Class Iron Cross) มาแล้ว
- ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญอย่างต่อเนื่อง

หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพอากาศ (Luftwaffe)

- เคยได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 มาแล้ว
- มีคะแนนสะสม 20 คะแนน โดย 1 คะแนนสำหรับการยิงเครื่องบิน เครื่องยนต์เดียวตก 1 ลำ 2 คะแนน สำหรับการยิงเครื่องยนต์ 2 เครื่องยนต์ตก 1 ลำ 3 คะแนน สำหรับการยิงเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ ตก 1 ลำ คะแนนดังกล่าวจะเพิ่มเป็นสองเท่า หากปฏิบัติการรบทางอากาศในเวลากลางคืน

หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพเรือ (Kriegsmarine)
- เคยได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 มาแล้ว
- สามารถจมเรือของข้าศึกได้รวมแล้ว 100,000 ตัน
อย่างไรก็ตามกฏเกณฑ์ดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในระหว่างสงคราม

พิธีมอบครั้งแรก 30 ก.ย. 1939

จำนวนที่มอบ 7,318 เหรียญ มอบให้กับทหารเยอรมัน 43 เหรียญมอบให้กับชาวต่างชาติ รวมทั้งหมด 7,361 เหรียญ ในจำนวนผู้รับเหรียญทั้งหมดนี้ ประมาณ 1,000 คนยังมีชีวิตอยู่ (ข้อมูลปี 1999) และจำนวนนับพันที่หายสาปสูญจากการรบ (Missing in Action - MIA)

วิธีการประดับเหรียญ ประดับไว้ที่คอ โดยมีสายริบบินสีดำ ขาว และแดง เป็นตัวผูกเหรียญกางเขนเหล็กเอาไว้ ให้ตัวเหรียญห้อยออกมาจากคอเสื้อด้านหน้า หากได้รับการประดับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน ที่มีชั้นสูงขึ้นไป เหรียญชั้นต่ำจะต้องถอดออกไป

ข้อสังเกต เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน ของกองทัพเยอรมันนี้ เทียบเท่ากับเหรียญกล้าหาญ Medal of honor ของกองทัพสหรัฐอเมริกา

บันทึก นายทหารประทวน (ชั้นนายสิบ) คนแรกที่ได้รับการประดับเหรียญนี้ คือ Hubert Brinkforth ได้รับการประดับเหรียญ เมื่อ 7 มี.ค. 1941 ในขณะปฏิบัติหน้าที่ในกองร้อยต่อสู้รถถังที่ 14 (14. Panzerjager Kompanie) ของกรมทหารราบที่ 25 ทหารที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเหรียญนี้มี 3 คน คือ Gefreiter, Christian และ Lohrey (ไม่มีข้อมูลอายุขณะนั้น) ได้รับการประดับเหรียญเมื่อ 11 มี.ค. 1945 ก่อนการสิ้นสุดสงครามไม่นานนัก



ภาพตัวอย่างการประดับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน หรือ Knight's Cross ชั้นธรรมดา จะประดับด้วยการคล้องสายริบบิ้นรอบคอ และปล่อยเหรียญออกมาด้านหน้าระหว่างคอปกเสื้อ ซึ่งต่างจากการประดับเหรียญกางเขนเหล็กทั่วไปที่จะประดับที่กระเป๋าเสื้อเท่านั้น

ภาพนี้เป็นนายทหารชั้นยศร้อยเอก แห่งกองทัพบกเยอรมัน (ดาวทองที่บ่า สองดวง) อินธนูและขอบหมวกหม้อตาล ขลิบสีแดง แสดงให้เห็นว่านายทหารคนนี้ สังกัด เหล่าทหารปืนใหญ่ (สีแดงแสดงถึงเหล่าทหารปืนใหญ่) ประดับทั้งเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (ที่คอเสื้อ) และเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 (ที่กระเป๋าเสื้อ)


-------------------------------------


เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็ค
(Knight's Cross of the Iron Cross with Oak Leaves)




เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็คนี้มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Ritterkreuz des Eisernes Kreuzes mit Eichenlaub จะประดับให้กับทหารที่ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือหน่วยเอส เอส หรือหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องในการรบนั้น

หลักเกณฑ์
- ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน มาแล้ว
- ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญต่อเนื่องกัน

หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพอากาศ

- ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินมาแล้ว
- คะแนนสะสมของการยิงเครื่องบินข้าศึกตก เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ในระดับกางเขนเหล็กประดับใบโอ็ค

พิธีมอบครั้งแรก วันที่ 19 มิ.ย. 1940 มอบให้กับ Eduard Dietl

จำนวนที่มอบ 882 เหรียญมอบให้คนเยอรมัน 8 เหรียญมอบให้กับชาวต่างชาติ รวมทั้งหมด 890 เหรียญ

วิธีการประดับเหรียญ วิธีการประดับเหมือนกับการประดับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน คือประดับที่คอเสื้อ โดยใช้ริบบิ้นพันรอบคอ และห้อยตัวเหรียญออกมาด้านหน้าของคอเสื้อ โดยตัวเหรียญจะมีใบโอ็คอยู่ด้านบนของเหรียญ

ข้อสังเกตุ เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็คนี้ เป็นเหรียญกล้าหาญที่สูงกว่า เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน และมีเกียรติยศสูงกว่า ต้องใช้ความสามารถอย่างสูง ต้องมีความกล้าหาญที่เห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ที่ได้รับมอบเหรียญมีจำนวนลดน้อยลงเหลือเพียง 890 คนเท่านั้น เหรียญนี้ยังสามารถมอบให้กับผู้บัญชาการของหน่วยที่ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญ ทหารเยอรมัน 882 คนที่ได้รับเหรียญ 96 คน ยังมีชีวิตอยู่ (ข้อมูลเมื่อปี 1999) และ 237 คน มีข้อมูลชัดเจนว่า เสียชีวิตในสนามรบ (killed in action - KIA)

--------------------------------


เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน
ประดับใบโอ็คและดาบ
(Knight's Cross of the Iron Cross with Oak Leaves and Swords)





เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็คและดาบนี้มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Ritterkreuz des Eisernes Kreuzes mit Eichenlaub und Schwertern จะประดับให้กับทหารที่ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือหน่วยเอส เอส หรือหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องในการรบนั้น

หลักเกณฑ์
- ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ๊คมาแล้ว
- ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญต่อเนื่องกัน

หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพอากาศ

- ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ๊คมาแล้ว
- คะแนนสะสมของการยิงเครื่องบินข้าศึกตก เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ในระดับกางเขนเหล็กประดับใบโอ็คและดาบ

พิธีมอบครั้งแรก วันที่ 21 มิ.ย. 1941 มอบให้กับอดอล์ฟ กัลลันด์ (Adolf Galland) เสืออากาศของเยอรมัน

จำนวนที่มอบ 159 เหรียญมอบให้คนเยอรมัน 1 เหรียญมอบให้กับชาวต่างชาติ รวมทั้งหมด 160 เหรียญ

วิธีการประดับเหรียญ วิธีการประดับเหมือนกับการประดับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ๊ค คือประดับที่คอเสื้อ โดยใช้ริบบิ้นพันรอบคอ และห้อยตัวเหรียญออกมาด้านหน้าของคอเสื้อ โดยตัวเหรียญจะมีใบโอ็คและดาบอยู่ด้านบนของเหรียญ

ข้อสังเกตุ เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็คและดาบนี้ เป็นเหรียญกล้าหาญที่สูงกว่า เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ๊ค และมีเกียรติยศสูงกว่า ต้องใช้ความสามารถอย่างสูง ต้องมีความกล้าหาญที่เห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ที่ได้รับมอบเหรียญมีจำนวนลดน้อยลงเหลือเพียง 160 คนเท่านั้น เหรียญนี้ยังสามารถมอบให้กับผู้บัญชาการของหน่วยที่ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญ ทหารเยอรมัน 159 คนที่ได้รับเหรียญ 14 คน ยังมีชีวิตอยู่ (ข้อมูลเมื่อปี 1999) และ 38 คน มีข้อมูลชัดเจนว่า เสียชีวิตในสนามรบ (killed in action - KIA)

-----------------------------------


เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน
ประดับใบโอ็ค ดาบ และเพชร
(Knight's Cross of the Iron Cross with Oakleaves, Swords and Diamonds)




เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็ค ดาบ และเพชรนี้มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า Ritterkreuz des Eisernes Kreuzes mit Eichenlaub, Schwertern und Brillianten จะประดับให้กับทหารที่ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญ ในกองทัพเยอรมัน หรือหน่วยเอส เอส หรือหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องในการรบนั้น

หลักเกณฑ์
- ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ๊คและดาบมาแล้ว
- ปฏิบัติการรบอย่างกล้าหาญต่อเนื่องกัน

หลักเกณฑ์สำหรับกองทัพอากาศ

- ได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ๊คและดาบมาแล้ว
- คะแนนสะสมของการยิงเครื่องบินข้าศึกตก เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ในระดับกางเขนเหล็กประดับใบโอ็คและดาบ

พิธีมอบครั้งแรก วันที่ 15 ก.ค. 1941 มอบให้กับแวร์เนอร์ โมลเดอร์ (Werner Mölders)

จำนวนที่มอบ 27 เหรียญมอบให้คนเยอรมัน ไม่มีชาวต่างชาติได้รับเหรียญนี้

วิธีการประดับเหรียญ วิธีการประดับเหมือนกับการประดับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ๊ค ดาบและเพชร คือประดับที่คอเสื้อ โดยใช้ริบบิ้นพันรอบคอ และห้อยตัวเหรียญออกมาด้านหน้าของคอเสื้อ โดยตัวเหรียญจะมีใบโอ็ค ดาบและเพชรอยู่ด้านบนของเหรียญ

ข้อสังเกตุ เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็ค ดาบและเพชรนี้ เป็นเหรียญกล้าหาญที่สูงกว่า เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ๊ค และดาบ และมีเกียรติยศสูงกว่า ต้องใช้ความสามารถอย่างสูง ต้องมีความกล้าหาญที่เห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ที่ได้รับมอบเหรียญมีจำนวนลดน้อยลงเหลือเพียง 27 คนเท่านั้น เหรียญนี้ยังสามารถมอบให้กับผู้บัญชาการของหน่วยที่ปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญ ทหารเยอรมัน 27 คนที่ได้รับเหรียญ ในปัจจุบันต่างเสียชีวิตทั้งหมดแล้ว (ข้อมูลเมื่อปี 1999) และ 9 คน มีข้อมูลชัดเจนว่า เสียชีวิตในสนามรบ (killed in action - KIA)



จอมพลเออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) ในเครื่องแต่งกายชุดจอมพล ของกองทัพเยอรมัน พร้อมด้วยคธาประจำตำแหน่ง ที่คอมีเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน ประดับใบโอ็ค ดาบและเพชร (Knight Cross with Oakleaves, Swords and Diamonds) ซึ่งเป็นเหรียญตรากางเขนเหล็กชั้นรองสูงสุด จากเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ็คทองคำ ดาบและเพชร (Knight Cross with gold oakleaves, Swords and Diamonds) นอกจากนี้ที่กระเป๋าด้านขวาของภาพ หรือด้านซ้ายของเขา ยังติดเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 อีกหนึ่งเหรียญ (the 1st Class Iron Cross

-------------------------------------


เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน ประดับใบโอ็คทองคำ ดาบ และเพชร
(Knight's Cross of the Iron Cross with Golden Oakleaves, Swords and Diamonds)




เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอ้ศวิน ประดับใบโอ็คทองคำ ดาบ และเพชร เป็นเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดของนาซีเยอรมัน ตัวกางเขนเหล็กทำด้วยทองคำ มีผู้ได้รับเหรียญนี้เพียงคนเดียว คือ Hans Ulrich Rudel นักบินแห่งกองทัพอากาศลุฟวาฟ (Luftwaffe) ซึ่งเป็นนักบินเครื่องบิน เจ ยู 87 สตูก้า (Ju 87 Stuka)


หลักเกณฑ์ ได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นก่อนหน้านี้มาแล้ว และยังคงปฏิบัติการรบด้วยความกล้าหาญอยู่อย่างต่อเนื่อง

พิธีมอบครั้งแรก ประกาศเมื่อ 29 ธันวาคม ปี 1944 และทำพิธีมอบใน 1 มกราคม ปี 1945

จำนวนผู้ที่ได้รับมอบ 1 คน

วิธีประดับเหรียญ ประดับที่คอเสื้อ โดยใช้สายริบบิ้นพันรอบคอเสื้อ เหมือนการประดับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก ชั้นอัศวินอื่นๆ โดยตัวกางเขนเหล็กจะห้อยติดกับใบโอ็คทองคำ ดาบไขว้และเพชร ตัวกางเขนเหล็กจะทำด้วยทองคำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ได้รับมอบ





ข้อสังเกตุ Hans Ulrich Rudel ซึ่งเป็นบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ได้รับมอบเหรียญกล้าหาญกางเขนชั้นอัศวิน ที่สูงที่สุดนี้ จากการปฏิบัติงานในหน้าที่นักบินประจำเครื่องบิน เจ ยู 87 สตูก้า ซึ่งเป็นเครื่องบินทำลายรถถัง โดยติดปืนใหญ่อากาศขนาด 37 มม. ไว้ที่ใต้ปีกทั้งสองข้าง ข้างละหนึ่งกระบอก

Rudel สามารถทำลายรถถังรัสเซียได้ทั้งหมด 530 คัน ปืนต่อสู้อากาศยานและปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของรัสเซียอีก 150 กระบอก ยานยนต์ทั่วไปประเภทต่างๆอีก 800 คัน จมเรือรบชื่อ Marat ของรัสเซียได้ 1 ลำ เรือชั้นครุยเซอร์ 1 ลำ เรือ Destroyer 1 ลำ เรือยกพลขึ้นบก (Landing Craft) 70 ลำ สะพานและบังเกอร์ ป้อมปืนต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน

เขาขึ้นบินทั้งหมด 2,530 ครั้ง และถูกยิงตกทั้งหมด 30 ครั้ง

------------------------------------


เหรียญตราสำหรับผู้ทำการรบด้วยรถถัง
(Tank Battle Badge)




เหรียญตราสำหรับผู้ที่ทำการรบด้วยรถถัง (Tank Battle Badge) หรือ Panzerkampfwagenabzeichen นี้ มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 1939 จะมอบให้กับผู้ที่ทำการรบด้วยรถถัง สำหรับเหรียญที่เห็นในภาพ เป็นเหรียญชั้นแรก ตอนล่างมีขีดสามขีด หมายถึงผู้ที่ได้รับเหรียญ ได้เข้าทำการรบด้วยรถถัง 3 ครั้ง ในวันที่ต่างกัน (three tank engagement on three different days)

ต่อมาในปี 1940 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น Panzerkampfabzeichen เนื่องจากแรกเริ่มนั้น มุ่งที่มอบเหรียญตรานี้ให้กับพลประจำรถถังเท่านั้น แต่ต่อมาก็ได้มีการขยายสิทธิผู้ที่ได้รับเหรีญญไปถึง พลมอเตอร์ไซค์ ของกองพลยานเกราะ รวมไปถึงชุดกู้ (recovery team) ซึ่งมักจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้า ไม่แตกต่างไปจากพลประจำรถถัง ขั้นตอนการพิจารณาว่าสมควรจะได้รับเหรียญหรือไม่ ก็ใช้หลักเดียวกับพลประจำรถถัง

สำหรับเหรียญชั้นต่อไป จะเปลี่ยนขีด 3 ขีดเป็นตัวเลขของการรบด้วยรถถัง เช่น ตัวเลข 25 ซึ่งหมายถึงทำการรบด้วยรถถัง 25 ครั้ง หรือ ปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้าต่อเนื่องกันเป็นเวลา 15 เดือน เหรียญนี้ยังอาจจะมอบให้กับผู้ที่ได้บาดเจ็บสาหัสจากการสู้รบก็ได้ โดยเหรียญทำการรบ 25 ครั้งนี้ เริ่มมีใช้เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 1943

เหรียญนี้มี 3 แบบ คือ รมดำ ชุบเงิน และชุบทอง ตัวเหรียญออกแบบโดย Ernest Peekhaus เป็นรูปรถถัง ล้อมรอบด้วยใบโอ็ครูปทรงรี ตอนบนสุดของเหรียญ เป็นรูปนกอินทรี กางปีกเพียงครึ่งเดียว เกาะอยู่บนเครื่องหมายสวัสดิกะ อันเป็นสัญญลักษณ์ของพรรคนาซีเยอรมัน ตัวรถถังกำลังแล่นผ่านใบโอ็ค จากทางซ้ายไปขวา

เหรียญที่เห็นอยู่ด้านบนเป็นเงินทั้งเหรียญ เหรียญที่มอบให้ผู้ทำการรบ 25 ครั้ง จะแตกต่างกับเหรียญทำการรบ 3 ครั้งคือ ตัวรถถังของเหรียญทำการรบ 25 ครั้งจะเป็นสีเทาดำ ตัวเลข 25 ที่ปรากฎแทนขีด 3 ขีดทางตอนล่าง จะเป็นสีทอง ส่วนนกอินทรีและใบโอ็คยังคงเป็นสีเงินเช่นเดียวกับเหรียญทำการรบ 3ครั้ง

ต่อมาเมื่อการรบยังคงดำเนินต่อไป จำนวนครั้งในการรบของกำลังพลก็เพิ่มมากขึ้น จึงมีการเพิ่มตัวเลขจาก 25 ครั้ง เป็น 50 และ 75 ครั้งอีกด้วย




เหรียญสำหรับผู้ทำการรบด้วยรถถัง 50 ครั้ง




เหรียญสำหรับผู้ทำการรบด้วยรถถัง 75 ครั้ง






ภาพบนเป็นตัวอย่างการติดเหรียญสำหรับผู้ทำการรบด้วยรถถัง ตัวเหรียญจะติดที่กระเป๋าเสื้อด้านซ้ายของผู้ที่ได้รับเหรียญ โดยติดให้ต่ำกว่าเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 และเสมอกับเหรียญอื่นๆ ในภาพจะอยู่เสมอกับเหรียญสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบ ที่อยู่ค่อนไปข้างหลัง

เหรียญสำหรับผู้ทำการรบด้วยรถถังในภาพนี้ เป็นเหรียญสีทอง ผู้ได้รับเหรียญเป็นนายทหารยศ พันตรีของหน่วยเอสเอส (SS หรือ SchutzStaffel) จากกองพล ดาส ไรซ์ (Das Reich) สิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นหน่วยเอส เอส คือ

1. ที่ปกเสื้อด้านขวาของเครื่องแบบ มีเครื่องหมายอักษร เอส เอส

2. ที่หน้าหมวกแก็ป ใต้สัญญลักษณ์นกอินทรีกางปีกเต็ม เท้าเกาะเครื่องหมายสวัสดิกะ จะเป็นเครื่องหมาย หัวกระโหลกไขว้ (Death head) ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ ของหน่วย เอส เอส

3. ที่แขนเสื้อด้านซ้ายของเครื่องแบบ ตอนบน มีตรานกอินทรีเหยียดปีกตรงเกาะบนเครื่องหมายสวัสดิกะติดอยู่ ในภาพจะเห็นเพียงปลายปีกเหยียดตรงโผล่ออกมาเท่านั้น

4. เครื่องหมายยศของ เอส เอส ที่ติดอยู่ที่ปกเสื้อ จะแตกต่างจากเครื่องหมายของกองทัพบกเยอรมัน ดุมเงิน 4 เม็ดหมายถึงพันตรี
ส่วนแถบที่แขนเสื้อซ้าย ด้านล่าง เป็นแถบบอกนามหน่วย จะเห็นดัวอักษร Das Reich ติดอยู่

---------------------------------------


เหรียญสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ
(Wound Badge)




เหรียญสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ มีสามระดับ คือ รมดำ เงิน และทอง ในภาพเป็นเหรียญเงิน มอบให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบ 3 - 4 ครั้ง หรือ สูญเสียแขนขา บาดเจ็บทางสมอง บาดเจ็บที่ตา ระบบการได้ยิน จากการรบ

เหรียญชนิดนี้จะมอบให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ ทั้งที่เป็นทหาร หรือข้าราชการของกองทัพเยอรมัน และหน่วยเอส เอส ต่อมาในปี 1943 เมื่อสงครามขยายเข้ามาถึงประเทศเยอรมัน ทั้งจากการทิ้งระเบิด และการรุกเข้ามาทางพื้นดิน ก็ได้มีการมอบเหรียญชนิดนี้ให้กับพลเรือน ที่ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศด้วย

หลักเกณฑ์ เหรียญนี้มี 3 ระดับ คือ

1. รมดำ สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 1 - 2 ครั้ง

2. เหรียญเงิน สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 3 - 4 ครั้ง หรือ สูญเสียแขนขาจากการสู้รบ ได้รับบาดเจ็บที่ตา ระบบการได้ยิน สมอง หรือบาดเจ็บที่ใบหน้าจนเสียโฉม

3. เหรียญทอง สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 5 ครั้ง หรือพิการตาบอด สมองได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หรือเสียชีวิตในการรบ

พิธีมอบครั้งแรก พิธีมอบครั้งแรกใน 1 กันยายน ปี 1939

จำนวนผู้ที่ได้รับมอบ กว่า 5,000,000 คน

วิธีประดับเหรียญ ประดับที่กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย โดยติดต่ำกว่าหรือเสมอกับเหรียญอื่นๆ



ภาพบนเป็นตัวอย่างของการประดับเหรียญผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ (Wound Badge) จะติดอยู่ที่กระเป๋าเสื้อซ้ายของผู้ที่ได้รับมอบ ในภาพนี้จะติดเฉียงค่อนไปทางสีข้าง

ส่วนอีกเหรียญที่อยู่ระดับเดียวกัน ใกล้กับกระดุมเสื้อ เป็นเหรียญทำการรบด้วยรถถัง สำหรับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กที่อยู่เหนือขึ้นไป เป็นกางเขนเหล็กชั้นที่ 1 เนื่องจากไม่มีแพรริบบิ้นที่รังดุมที่สองของเสื้อ และหากเป็นเหรียญกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน ก็จะประดับที่คอเสื้อ แทนการประดับที่กระเป๋าเสื้อ

ภาพนี้เป็นภาพการแต่งกายของนายทหารเอส เอส ยศพันตรี หรือ เอส เอส สตรุมบาน ฟือเรอห์ (SS. Sturmbannfuhrer) ที่แขนเสื้อด้านซ้ายมีสัญญลักษณ์ นกอินทรีเกาะเครื่องหมายสวัสดิกะติดอยู่ ปักด้วยไหมสีเงิน เป็นสัญญลักษณ์ที่ทหาร เอส เอส ทุกคนจะต้องติดไว้ที่แขนเสื้อ

ส่วนที่ปลายแขนเสื้อมีป้ายบอกนามหน่วยว่า แดร์ ฟือเร่อห์ (Der Fuhrer) แสดงว่าเป็นกำลังพลของกรมทหารราบยานเกราะ เอส เอส ที่ 4 แดร์ ฟือเร่อห์ (4th SS. Panzer Granadier Regiment "Der Fuhrer") ซึ่งกรมนี้สังกัดอยู่กับ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ (2nd SS. Panzer Division Das Reich)



เหรียญผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบรุ่นสั่งทำเป็นพิเศษ ลงวันที่ 20 มิถุนายน 1944 ซึ่งเป็นเหรียญที่มอบให้เฉพาะผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการลอบสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่รังหมาป่าโดยพันเอก เคล้าซ์ ฟอน สตอฟเฟนเบอร์ก



-------------------------------------------


เหรียญสำหรับการสู้รบทั่วไป
(General Assault Badge)




เหรียญสำหรับการสู้รบทั่วไป เป็นเหรียญตราที่มอบให้กับกำลังพลของกองทัพนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มิได้เป็นทหารราบและทหารยานเกราะ (เนื่องจากทหารราบและทหารยานเกราะ มีเหรียญตราสำหรับความกล้าหาญในการสู้รบของหน่วยต่างหากอยู่แล้ว)

พิธีมอบครั้งแรกใน 1 มิถุนายน 1940 โดยมุ่งหวังที่จะมอบเป็นเหรียญตราแห่งความกล้าหาญในการรบให้กับกำลังพลเหล่าทหารช่าง แต่ต่อมาได้ขยายไปยังกำลังพลในเหล่าอื่นๆ เช่น ทหารปืนใหญ่ อีกด้วย

หลักเกณฑ์

เหรียญการสู้รบทั่วไป มี 5 ระดับ คือ

1. ชั้นที่ 1 ทำการสู้รบ ด้วยการเข้าตีที่มั่นข้าศึก (assault) ตีตอบโต้ (counter attack) หรือลาดตระเวณจนเกิดการปะทะกับข้าศึก เป็นจำนวน 3 ครั้ง ใน 3 วันที่แตกต่างกัน

2. ชั้นที่ 2 ทำการสู้รบ ด้วยการเข้าตีที่มั่นข้าศึก (assault) ตีตอบโต้ (counter attack) หรือลาดตระเวณจนเกิดการปะทะกับข้าศึก เป็นจำนวน 25 ครั้ง ใน 25 วันที่แตกต่างกัน หรือปฏิบัติการรบอยู่ในแนวหน้าเป็นเวลานานถึง 15 เดือน

3. ชั้นที่ 3 ทำการสู้รบ ด้วยการเข้าตีที่มั่นข้าศึก (assault) ตีตอบโต้ (counter attack) หรือลาดตระเวณจนเกิดการปะทะกับข้าศึก เป็นจำนวน 50 ครั้ง ใน 50 วันที่แตกต่างกัน

4. ชั้นที่ 4 ทำการสู้รบ ด้วยการเข้าตีที่มั่นข้าศึก (assault) ตีตอบโต้ (counter attack) หรือลาดตระเวณจนเกิดการปะทะกับข้าศึก เป็นจำนวน 75 ครั้ง ใน 75 วันที่แตกต่างกัน

5. ชั้นที่ 5 ทำการสู้รบ ด้วยการเข้าตีที่มั่นข้าศึก (assault) ตีตอบโต้ (counter attack) หรือลาดตระเวณจนเกิดการปะทะกับข้าศึก เป็นจำนวน มกกวก่า 100 ครั้ง ใน 100 วันที่แตกต่างกัน



เหรียญสำหรับทำการรบทั่วไปจำนวน 75 ครั้ง




ภาพการประดับเหรียญตราสำหรับผู้ทำการรบทั่วไป (General Assault medal)



------------------------------------------







ข้อมูลจาก //www.wikipedia.com, //www.feldgrau.com, หนังสือ German Soldiers of World War Two โดย Jean DE LAGARDE

(สงครามโลกครั้งที่สอง)




 

Create Date : 05 กันยายน 2552    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2556 11:04:15 น.
Counter : 18359 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.