VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 

สมรภูมิที่ สตาลินกราด ในสงครามโลกครั้งที่ 2

สมรภูมิที่ สตาลินกราด ในสงครามโลกครั้งที่ 2

Battle of Stalingrad


โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ




ทหารเยอรมันขณะเริ่มยุทธการบาร์บารอสซา (Barbarrossa) เพื่อรุกเข้าสู่ประเทศรัสเซีย โดยไม่คาดว่าความหายนะครั้งยิ่งใหญ่กำลังรออยู่ข้างหน้า


---------------------------------



นับแต่เริ่มยุทธการบาร์บาร์รอสซ่า (Barbarrossa) เยอรมันทำการรบอย่างสายฟ้าแลบ ท่ามกลางความตื่นตระหนก และเสียขวัญของกองทัพรัสเซีย เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่า เยอรมันจะโจมตีตนเอง

กองทัพเยอรมันรุกอย่างรวดเร็ว หน่วยยานเกราะ Panzer เป็นหัวหอกนำ สนับสนุนด้วยหน่วยบิน Luftwaffe ที่ทิ้งระเบิดโจมตีจุดยุทธศาสตร์ และกองกำลังของรัสเซีย หน่วยทหารตามเข้าตีอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงแรกๆ มีทหารรัสเซียถูกจับเป็นเชลยนับแสน อย่างไรก็ตาม ยิ่งรุกเร็วมากเท่าไร หน่วยส่งกำลังบำรุงและเสบียงของกองทัพเยอรมันก็ยิ่งถูกทิ้งห่างจากแนวหน้ามากขึ้นเท่านั้น

และในที่สุด กองทัพที่ 6 ของเยอรมัยก็รุกเข้าไปจนสุดสายการส่งกำลังบำรุง ณ เมืองเมืองหนึ่ง ริมแม่น้ำวอลก้า เมืองที่มีชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำรัสเซีย โจเซฟ สตาลิน นั่นคือเมือง สตาลินกราด

กองทัพที่ 6 ของนายพล ฟอน เปารัส (Paulus) มีเป้าหมายหลักที่สำคัญอยู่ที่เมืองสตาลินกราด โดยมีกองทัพแพนเซอร์ที่ 4 ของพลเอก แฮร์มนาน์ โฮท (Colonel General Hermann Hoth) กองทัพทั้งสองได้มุ่งหน้าสู่เมืองสตาลินกราดอย่างมั่นคง กวาดล้างกองทัพแดง ของรัสเซียลงอย่างราบคาบ

แต่แล้ว ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน ก็ได้เข้ามาก้าวก่ายการวางแผนของฝ่ายเสนาธิการเยอรมัน โดยสั่งการให้ กองทัพแพนเซอร์ที่ 4 มุ่งหน้าลงใต้สู่คอเคซัส ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่มีค่ามหาศาล เพื่อยึดทรัพยากรดังกล่าว แม้ฝ่ายเสนาธิการจะได้ทัดทานว่า การกำหนดเป้าหมายหลักทางทหารสองแห่งพร้อมๆกัน จะทำให้กำลังที่กำลังรุกไปข้างหน้าเสียสมดุล และขาดความเข็มแข็งที่แท้จริง เนื่องจากจะต้องมีแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน แทนที่จะทุ่มไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

แต่ฮิตเลอร์ก็หาได้ฟังคำทัดทานนั้นไม่ กองทัพแพนเซอร์ที่ 4 จึงถูกแยกออกจากกองทัพที่ 6 และทำให้ กองทัพที่ 6 รุกไปสู่สตาลินกราดได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ฝ่ายรัสเซียมีเวลาในการเตรียมการ และนั่นคือจุดผิดพลาดอันยิ่งใหญ่จุดหนึ่งของเยอรมัน

ครึ่งเดือนต่อมา ฮิตเลอร์เปลี่ยนใจและสั่งการให้กองทัพแพนเซอร์ที่ 4 ซึ่งเป็นกองทัพยานเกราะ กลับไปช่วยกองทัพที่ 6 ของนายพลเปารัส แต่ก็ช้าไป

ในวันที่ 9 สิงหาคม 1942 เนื่องจากต้องเคลื่อนย้ายไปๆมาๆ ทำให้กองทัพแพนเซอร์ที่ 4 ของนายพลโฮท ต้องหยุดลงเนื่องจากขาดน้ำมันและอาหาร โดยหยุดอยู่ห่างจากสตาลินกราดเพียง 160 กิโลเมตร ในขณะที่กองทัพที่ 6 ได้ข้ามแม่น้ำดอน (Don) มุ่งเข้าสู่ชานเมืองสตาลินกราด กองทัพที่ 62 และ 64 ของฝ่ายรัสเซียที่อยู่ในเมืองทำการต่อต้านอย่างเหนียวแน่น

เยอรมันสร้างสนามบิน เพื่อการส่งกำลังบำรุงบริเวณช่องว่างระหว่างแม่น้ำดอน และแม่น้ำวอลก้า (Volga) เพื่อให้กองทัพอากาศที่ 4( Luftflotte 4) สามารถลำเลียงอาวุธยุทธปัจจัยได้สะดวกขึ้น และในวันที่ 2 กันยายน กองทัพที่ 6 และกองทัพแพนเซอร์ที่ 4 จึงสามารถเชื่อมต่อกันได้




ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของหน่วยยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ ของกองทัพเยอรมัน ในรัสเซีย กำลังยิงต่อสู้กับข้าศึก ทั้งสองฝ่ายมีการปืนใหญ่ต่อสู้รถถังกันอย่างกว้างขวางในการรบที่สตาลินกราด เพราะสภาพสมรภูมิ เป็นการรบในเมือง ทำให้รถถังมีขีดจำกัดในหลายๆ ด้าน และง่ายที่จะตกเป็นเหยื่อของปืนต่อสู้รถถัง

รถถังเพียงคันเดียวที่ถูกยิงขวางถนนกลางเมือง ที่สองข้างทางเป็นซากตึก อาจจะเป็นเหตุให้รถถังที่เหลือไม่สามารถเคลื่อนที่ไปทางอื่นได้ และตกเป็นเหยื่อของปืนใหญ่ที่ซ่อนอยู่ตามซากอาคาร

ยุทธวิธีนี้สหรัฐอเมริกามีการศึกษาอย่างมาก ก่อนการเข้ายึดกรุงแบกแดดของอิรัคครั้งล่าสุด ไม่เช่นนั้นแล้ว รถถังนำขบวนเพียงคันเดียวที่ถูกยิงบล็อคขบวนรถถังทั้งหมด บนถนนที่ขนาบไปด้วยอาคารทั้งสองข้าง อาจส่งผลให้รถถังที่เหลือ กลายเป็นเป้านิ่ง (sitting duck) ได้ในที่สุด




การรุกเข้าไปสู่สตาลินกราด กล่าวได้ว่าทุกเมตร ทุกหลา เต็มไปด้วยการต่อสู้อย่างนองเลือด เยอรมันพยายามทำลายตึกรามต่างๆ ด้วยปืนใหญ่และการทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน

แต่สตาลินกราดเป็นเมืองสมัยใหม่ ตึกต่างๆถูกสร้างอย่างแน่นหนา การโจมตีของเยอรมันจึงเพียงแต่ทำลายรูปทรงอาคารเท่านั้น ตึกต่างๆถูกยุบ ทำลายลงเป็นเสมือนป้อมปราการให้ฝ่ายรัสเซีย ที่ใช้ทุกมุม ทุกซอก ต่อต้านทหารเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการต่อสู้อย่างหนัก เยอรมันก็เข้าถึงใจกลางเมืองได้ และมุ่งหน้าสู่เขตอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดหนัก

ในวันที่ 29 กันยายน ทหารรัสเซียภายใต้การนำของนายพลชุยคอฟ (Chuikov) ก็เข้าตีตอบโต้ นายพลของรัสเซียอีกคนหนึ่งคือนายพลซูคอฟ (Zhukov) ได้เตรียมกำลังที่สดชื่นและมีจำนวนมหาศาล รอคอยการตีโต้ตอบด้วยเช่นกัน

การตีโต้เริ่มขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน กำลังจำนวนมหาศาลของรัสเซียสร้างความประหลาดใจให้กับกองทหารเยอรมันที่อ่อนล้า ภายในเวลาแค่ 24 ชม. กองทหารเยอรมัน และทหารรูเมเนีย ซึ่งร่วมกับทหารเยอรมันในฐานะฝ่ายอักษะ ถูกตีแตกกระจัดกระจายและทำการโอบล้อมทหารเยอรมันจำนวน 270,000 คนให้ตกอยู่ในวงล้อมภายในสตาลินกราด

ในขณะที่วงล้อมยังไม่แข็งแรง ฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันเสนอให้ฮิตเลอร์ถอนกองทัพที่ 6 ออกจากสตาลินกราด เพื่อจัดแนวใหม่ แต่ฮิตเลอร์ปฏิเสธ พร้อมกับออกคำสั่งให้ทหารเยอรมันสู้จนคนสุดท้าย นับเป็นความผิดพลาดอีกครั้งหนึ่ง ทหารเยอรมันต่อสู้อย่างสมเกียรติ และห้าวหาญ

นายพลแมนสไตน์ (Erich Von Manstein) ของเยอรมันนำทัพมาช่วย โดยอยู่ห่างจากเมือง 48 กม. และขอให้นายพลเปารัส นำกองทัพที่ 6 ฝ่าออกมา แต่เปารัสปฏิเสธ และขอสู้ตามคำสั่งของฮิตเลอร์

ฮิตเลอร์ตอบสนองด้วยการแต่งตั้งเปารัสเป็นจอมพล เพราะยังไม่เคยมีจอมพลของเยอรมันที่ยอมแพ้ข้าศึก

ขณะเดียวกันรัสเซียก็เริ่มบีบวงล้อมให้แน่นขึ้น สนามบินซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่สามารถส่งกำลังบำรุงให้กองทัพที่ 6 ก็ตกเป็นของรัสเซีย ในวันที่ 25 มกราคม จากวิทยุที่ได้รับรายงานจากสตาลินกราด แสดงให้เห็นว่าทหารรัสเซียกำลังบุกเข้ามาทุกทิศทุกทาง บางส่วนอยู่ที่หน้ากองบัญชาการของจอมพลเปารัส

กองทัพน้อยที่ 11 ของเยอรมันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพที่ 6 พยายามต่อต้านอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานได้ เนื่องจากขาดกระสุน และยุทโธปกรณ์ที่จำเป็น

ในที่สุด วันที่ 2 กุมภาพันธ์ จอมพลเปารัสก็สั่งให้ทหารเยอรมันยอมจำนน ทหารเยอรมันกว่า 200,000 คนถูกจับ จำนวนนี้เพียง 5,000 คนที่รอดชีวิตจากค่ายเชลยอันทารุณของรัสเซีย ฮิตเลอร์ ได้รับรู้ถึงรสชาดของความพ่ายแพ้ ความพ่ายแพ้ที่เป็นจุดวกกลับจุดหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2


---------------------------------






 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 13 สิงหาคม 2553 6:42:25 น.
Counter : 12352 Pageviews.  

ยุทธการ ไต้ฝุ่น ของนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง

ยุทธการ ไต้ฝุ่น เพื่อยึดกรุงมอสโคว์ในสงครามโลกครั้งที่สอง

Operation Typhoon


โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


(สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำ ลอกเลียน และเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน)


---------------------------------



วันที่ 19 มิ.ย. 1941 กลุ่มกองทัพกลาง (Army Group Centre) ของเยอรมัน เข้าโจมตี สโมเลนส์ (Smolensk) ห่างจากกรุงมอสโคว์ 322 กม. กรุงมอสโคว์เป็นเป้าหมายหลักของกองทัพกลุ่มนี้ เพราะเป็นเมืองหลวง เป็นที่ตั้งของรัฐบาลสตาลิน






ทหารเยอรมันยอมแพ้ต่อทหารรัสเซียบริเวณชานกรุงมอสโคว์




ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้กองทัพกลุ่มกลางแบ่งกำลังสองส่วน คือ กลุ่มกองทัพยานเกราะที่ 3 (3rd Panzer Army) ของนายพลแฮร์มาน โฮท (Hermann Hoth) และกลุ่มกองทัพยานเกราะที่ 2 (2nd Panzer Army) ของนายพลไฮนซ์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ไปช่วยกองทัพกลุ่มเหนือและใต้ แม้ว่าจะได้รับการทัดทานจากฝ่ายเสนาธิการว่าการแยกกำลังดังกล่าวออกไป จะทำให้ศักยภาพของกองทัพกลุ่มกลางด้อยลงและทำให้การยึดมอสโคว์ล่าช้าออกไป แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่สนใจ เพราะฮิตเลอร์มองว่าเป็าหมายที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเขาก็คือ เลนินกราดทางตอนเหนือ และคอเคซัส ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันมหาศาลทางตอนใต้ ที่ฮิตเลอร์ต้องการเพื่อใช้ในการรุก

ในที่สุดก็เป็นจริงตามที่ฝ่ายเสนาธิการได้คาดการณ์ไว้ การที่มียานเกราะไม่เพียงพอของกลุ่มกลาง ทำให้การรุกสู่มอสโคว์ช้ากว่าที่คาด กองทัพรัสเซีย ทำการต่อต้านอย่างเหนียวแน่นเกินคาด เยอรมันต้องปรับแนวรุกเป็นแนวตั้งรับฤดูหนาวเริ่มใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กองทหารเยอรมันแทบไม่มีอุปกรณ์สำหรับการรบในฤดูหนาวที่ทารุณในรัสเซียเลย ฮิตเลอร์เองก็ตระหนักในเรื่องนี้ดี

เขาจึงสั่งการให้กองทัพกลุ่มเหนือและใต้ส่งกำลังยานเกราะกลับไปสนับสนุนกองทัพกลุ่มกลางยึดมอสโคว์ แต่ทุกอย่างเริ่มส่อแววของความล้มเหลว

กองทัพที่ 4 และกองทัพที่ 9 พร้อมทั้งกลุ่มหน่วยยานเกราะที่ 3 และ 4 เปิดฉากรุกสู่มอสโคว์อย่างรุนแรงในวันที่ 30 กันยายน เมืองวาซมา (Vyazma) ซึ่งอยู่ห่างจากมอสโคว์ 200 กม.ถูกโอบล้อมและตกเป็นของเยอรมัน มีทหารรัสเซีย 663,000 คนถูกจับเป็นเชลย รถถัง 1,242 คัน และปืนใหญ่ 5,412 กระบอกถูกยึด

ในวันที่ 14 ตุลาคม เมืองคาลินิน (Kalinin) แตก สตาลินซึ่งอยู่ที่มอสโคว์สั่งการอพยพ และเสริมแนวป้องกัน โดยมอบหมายให้นายพลซูคอฟ (Zhukov) เป็นผู้บัญชาการ

ฝนก่อนฤดูหนาวเริ่มตกลงมาอย่างหนัก ดินเริ่มกลายเป็นโคลนเลนที่สูงนับเป็นเมตร ฤดูนี้ชาวรัสเซียเรียกว่า รัสปูติซ่า (Rusputisa) หรือ ฤดูแห่งโคลนเลน การรุกถูกทำให้ช้าลง การรบแบบสายฟ้าแลบของเยอรมันเริ่มเสียสมดุล เนื่องจากไม่สามารถใช้ความเร็วในการรุกได้ ถนนหนทางทั่วรัสเซียแทบใช้การไม่ได้





ชาวเมืองมอสโคว์กำลังขุดคูดักรถถัง เพื่อป้องกันกรุงมอสโคว์




ช่วงนี้เองที่ทางรัสเซียทำการเสริมแนวรบอย่างเต็มที่ ซูคอฟได้ระดมกำลังพลที่สดชื่น มีอุปกรณ์สำหรับฤดูหนาวมาจากไซบีเรีย โดยที่ฝ่ายข่าวกรองของเยอรมันไม่รู้ระแคะระคาย

..... ซูคอฟรู้ดีว่ากำลังของเขาที่มีอยู่กำลังจะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรที่สำคัญของรัสเซียนั่นคือ ฤดูหนาว (General Winter)

ในขณะเดียวกันกองหนุนของรัสเซียจำนวนมหาศาลจากไซบีเรียได้เดินทางมาถึงโดยที่เยอรมันไม่รู้เลย ทั้งนี้เพราะสายลับของรัสเซียยืนยันต่อสตาลินว่า ญี่ปุ่นไม่มีแผนที่จะบุกรัสเซียทางด้านตะวันออก สตาลินจึงดึงกำลังทหารหลายสิบกองพลที่ตรึงไว้เพื่อป้องกันญี่ปุ่นมาใช้ในการรบกับเยอรมันแทน

ทหารจากไซบีเรียเหล่านี้มีอุปกรณ์กันหนาวมาพร้อม มีความสดชื่น และกำลังใจที่ดีเยี่ยม ทหารเยอรมันคนหนึ่งเขียนในจดหมายว่า ".... พวกไซบีเรียนี้สามารถนอนพรางอยู่ในหิมะได้ทั้งวันโดยที่ไม่สามารถสังเกตุเห็นได้ พอตกกลางคืน พวกทหารเหล่านี้ก็จะโผล่ออกมาโจมตีพวกเรา ...."

วันที่ 3 พฤศจิกายน ความหนาวเย็นแรกก็มาถึง โคลนเลนได้จับตัวเป็นน้ำแข็ง อุณหภูมิที่ต่ำกว่าสามสิบองศาใต้จุดเยือกแข็ง ทำให้ทหารเยอรมันที่ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์สำหรับการรบในฤดูหนาวที่ทารุณมาเลยประสบกับปัญหา ทหารจำนวนมากถูกหิมะกัด ยานเกราะ ยานหาหนะทั่วไปติดเครื่องไม่ได้ เพราะน้ำมันเครื่องจับตัวเป็นน้ำแข็ง อาวุธปืนไม่ทำงาน น้ำแข็งเกาะอยู่ในรังเพลิงและลูกเลื่อน น้ำมันชโลมปืนกลายเป็นน้ำแข็ง

อย่างไรก็ตามทหารเยอรมันที่อ่อนล้าจากการรุกมาตั้งแต่เปิดยุทธการบาร์บารอสซ่า ก็ยังแสดงให้เห็นถึงเป็นนักรบที่ห้าวหาญ พยายามรุกเข้าสู่มอสโคว์ต่อไป

วันที่ 4 ธันวาคม 1941 กองพันลาดตระเวณของหน่วยเอส.เอส. ดาส ไรซ์ (Das Reich) ได้รุกไปถึงสนานีรถรางชานเมืองมอสโคว์ แต่ความหนาวเย็นที่โหดร้าย สร้างความเสียหายให้เยอรมันอย่างมาก บางคนถูกหิมะกัดจนเนื้อเน่าเฟะ แม้จะพยายามฆ่าตัวตายหนีความทรมานก็ทำไม่ได้เนื่องจากอาวุธปืนใช้ไม่ได้ สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือปลดสลักระเบิด ซึ่งเป็นอาวุธอย่างเดียวที่ยังทำงานอยู่ แล้วนอนกอดมันไว้เท่านั้น

วันที่ 8 ธันวาคม ฮิตเลอร์ประกาศสงครามกับอเมริกา ภายหลังจากที่ญี่ป่นโจมตีเพริล ฮาร์เบอร์ เยอรมันกำลังเผชิญกับแนวทั้งสองด้าน

วันที่ 18 ธันวาคม นายพลซูคอฟได้ใช้กำลังจากไซบีเรียตีโต้เยอรมันในทุกแนวรบที่ยาว 322 กิโลเมตร ข่าวร้ายล่าสุดที่มาถึงก็คือ กองเยอรมันถูกตีแตก ต้องร่นถอยมาปรับแนวเป็นแนวตั้งรับนอกกรุงมอสโคว์ แม้ฮิตเลอร์จะออกคำสั่งฉบับที่ 39 โดยตรงจากเขาเองว่า ให้ทหารทุกคนต่อสู้จนคนสุดท้าย ห้ามถอยอย่างเด็ดขาด แต่ทหารเยอรมันก็ต้องถอยร่นอย่างไม่เป็นกระบวน

โอกาสที่จะยึดครองมอสโคว์นั้นหมดไปแล้ว กำลังรัสเซียสดชื่น และกำลังทหารเยอรมันอ่อนล้าเกินไป รวมทั้งฤดูหนาวก็ทารุณเกินไปสำหรับการรุกของเยอรมัน






ซากยานเกราะเยอรมันชานกรุงมอสโคว์ในฤดูหนาวปี 1941





บทสรุป

การรุกสู่มอสโคว์ อยู่ในภายใต้ยุทธการ ไต้ฝุ่น (Typhoon) เริ่มในวันที่ 2 ตุลาคม 1941

กำลังพลเยอรมัน รวมทั้งสิ้น 60 กองพล ภายใต้การนำของนายพล ฟอน บอค (Von Bock) ปีกขวาคือกลุ่มหน่วยยานเกราะแพนเซอร์ที่ 2 ของนายพลกูเดเรียน (Guderian) กำลังส่วนกลางคือกลุ่มหน่วยยานเกราะแพนเซอร์ที่ 3 ของนายพล โฮท (Hoth) และกลุ่มหน่วยยานเกราะที่ 4 ของนายพลโฮปเนอร์ (Hoeppner)

2-13 ตุลาคม ยึด Vyazma สังหารและจับเชลยได้กว่า 600,000 คน

15 ตุลาคม กลุ่มหน่วยยานเกราะแพนเซอร์ที่ 3 ยึด Kalinin และในวันเดียวกัน กองทัพที่ 4 อยู่ห่างจากมอสโคว์ 40 ไมล์ แต่การต้านทานของฝ่ายรัสเซียรวมทั้งฤดูหนาวที่ทารุณทำให้การรุกเป็นไปอย่างเชื่องช้า

20 พฤศจิกายน เยอรมันไม่สามารถรุกต่อไปได้ คงแต่ตั้งแนวตั้งรับ แม้ว่า กองพลแพนเซอร์ที่ 2 จะสามารถมองเห็นพระราชวังเครมลินได้ไกลๆแล้ว แต่ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บก็พุ่งขึ้นสูงมาก รัสเซียอ้างว่ามีทหารเยอรมันถูกสังหารถึง 85,000คน ระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม

แม้ว่าจะไม่มีการเตรียมพร้อมมาสำหรับฤดูหนาว แต่ฝ่ายเยอรมันก็ได้รับคำสั่งจากฮิตเลอร์ ไม่ให้ถอย นายซูคอฟ (Zhukov) ของรัสเวียโจมตีเยอรมันด้วยทหารที่สดชื่นจากไซบีเรียและกำลังลังเสริมอื่นๆ ถึง 100 กองพล เฉพาะที่ Tula ซึ่งเป็นที่มั่นของนายพลกูเดเรียน ทหารเยอรมันถูกสังหารถึงกว่า 30,000 คน

แต่นายพลฟอน ครุก (Von Kluge) ได้จัดแนวตั้งรับขึ้นใหม่ และต่อสู้กับทหารรัสเซียอย่างทรหด การต่อสู้ยาวนานไปจนถึง เดือนมีนาคม 1943 ด้วยแรงกดดันจากการรุกของฝ่ายรัสเซีย เยอรมันจึงล่าถอย การรุกสู่มอสโคว์ เป็นความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกของเยอรมัน ความเสียหายมีสูงมากทั้งสองฝ่าย แต่ฝ่ายรัสเซียนั้น มีการคาดการณืกันว่า สูญเสียทหารถึง 500,000 ในการป้องกันเมืองที่ชื่อ มอสโคว์แห่งนี้

นักวิเคราะห์ในยุคหลังๆมองว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น น่าจะมาจาก ความไม่พร้อมในการรบในฤดูหนาวของเยอรมัน เหมือนกับที่ นโปเลียน อดีตจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสได้เคยประสบมา การตัดสินใจที่สับสนของผู้นำฮิตเลอร์ ก็มีส่วนสำคัญในความพ่ายแพ้ที่มอสโคว์ ว่ากันว่า ฮิตเลอร์ไม่มีประสบการณ์ในการบังคับบัญชาหน่วยขนาดใหญ่มาก่อน เขาเพียงแต่เป็นทหารระดับผู้บังคับหมู่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 การก้าวก่ายการตัดสินใจของทหารอาชีพอย่างฝ่ายเสนาธิการของเขา ก่อให้เกิดความสับสน และผิดพลาดอย่างมาก

------------------------------




ทหารรัสเซียกำลังเข้าตีที่มั่นของทหารเยอรมัน ทหารรัสเซียคนแรกในภาพใช้อาวุธปืนกลมือแบบ PPSh-41 ขนาด 7.62 x 25 ม.ม บรรจุแมกกาซีนแบบจาน (Drum Magazine) ปืนชนิดนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก (mass production) ไม่ซับซ้อน มีอัตราการยิงสูงถึง 900 นัดต่อนาที จึงเป็นอาวุธปืนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการรบในรัสเซีย ทั้งทหารรัสเซียเองและทหารเยอรมัน PPSh-41 กว่า 6 ล้านกระบอกถูกผลิตขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 27 สิงหาคม 2553 20:30:08 น.
Counter : 5575 Pageviews.  

ยุทธการบาร์บารอสซ่า ในสงครามโลกครั้งที่ ๒

ยุทธการบาร์บารอสซ่า

Operation Barborossa

การรุกเข้าสู่ประเทศรัสเซียของนาซีเยอรมัน

ในสงครามโลกครั้งที่ ๒

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

Master of International Relations (with merit)

Victoria University of Wellington, New Zealand 

---------------------------------





แผนที่แสดงการรุกของนาซีเยอรมันเข้าไปในรัสเซีย ตามยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ซึ่งเปิดฉากขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 1941 เวลา 03.30 น. จะเห็นว่ากองทัพเยอรมันรุกเข้าสามแนว คือทางเหนือ กลุ่มกองทัพเหนือ (Army Group North) บุกจากโปแลนด์ มุ่งสู่เลนินกราด กลุ่มกองทัพกลาง (Army Group Centre) มุ่งหน้าสู่มอสโคว์ และกลุ่มกองทัพใต้ (Army Group South) รุกจากโรมาเนีย พันธมิตรของเยอรมัน มุ่งลงใต้สู่ทะเลดำ และคอเคซัส ขวามือของแผนที่จะเห็นเมืองสตาลินกราด ที่กองทัพที่ 6 ของกลุ่มกองทัพกลาง ถูกทำลายลงทั้งกองทัพ



ภาพเชลยศึกรัสเซีย (POW - Prisoners of War) ถูกทหารเยอรมันจับขึ้นรถถัง Panzer III ของเยอรมัน เพื่อนำตัวไปควบคุมต่อไป ในช่วงแรกของยุทธการบาร์บารอสซ่า ทหารรัสเซียถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก เพราะมีขวัญกำลังใจที่ตกต่ำ อาวุธไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ตลอดจนขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี เฉพาะที่เมือง Minsk และ Smolensk มีทหารรัสเซียถูกจับถึง 400,000 คน

แต่ในช่วงต่อมาของสงคราม ทหารรัสเซียได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก อีกทั้งยังมีจำนวนที่มากมายมหาศาล อย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่รู้จักหมดสิ้น สำหรับเชลยในภาพเหล่านี้ ส่วนใหญ่ประสบชะตากรรมคล้ายกัน คือถูกใช้เป็นแรงงานทาส หรือถูกจองจำในค่ายเชลยศึกอย่างทารุณ จนเชลยจำนวนมากเสียชีวิตในที่สุด



รถถัง Panzer III และทหารราบเยอรมันกำลังรุกคืบหน้าเข้าสู่รัสเซีย ในช่วงต้นของยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ภูมิประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลของรัสเซีย จะดูดซึมพลังอำนาจของกองทัพเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ ไปจนหมดสิ้น

---------------------------------

ปลายเดือนมิถุนายน 1940 หลังจากที่ฮิตเลอร์ยึดครองยุโรปตะวันตกแล้ว เขาก็ประกาศเจตนารมณ์ให้ฝ่ายเสนาธิการทราบว่า การโจมตีรัสเซียเพื่อ "กวาดล้างกลุ่มอำนาจที่มีอยู่ในรัสเซีย" (wiping out the very power to exist of Russia) นโยบายดังกล่าวส่งผลให้มีการเพิ่มอำนาจการผลิตยุทโธปกรณ์ การขยายขนาดของกองทัพ การเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์จากดินแดนยึดครองในโปแลนด์และยุโรปตะวันตก มาสู่ชายแดนด้านรัสเซีย

เดือนธันวาคม 1940 ฮิตเลอร์จึงได้กำหนดแผนยุทธการเพื่อโจมตีรัสเซีย โดยให้ชื่อว่า ยุทธการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) ตามชื่อจักรพรรดิ์เยอรมันในยุคกลาง โดยยุทธการบาร์บารอสซ่าถูกกำหนดให้เปิดฉากขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม 1941 และฮิตเลอร์คาดการณ์เอาไว้ว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนในการพิชิตรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เยอรมันต้องเสียเวลากว่า 6 สัปดาห์จัดการกับยูโกสลาเวียและกรีซ ยุทธการนี้จึงถูกเลื่อนเวลาปฏิบัติการออกไปอีก จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน

หกสัปดาห์ที่ล่าช้าออกไป ได้รับการวิเคราะห์จากนักยุทธศาสตร์ปัจจุบันว่า ส่งผลให้กองทัพเยอรมันต้องเผชิญกับฤดูหนาวอันหนาวเย็นของรัสเซีย และทำให้โฉมหน้าของสงครามระยะยาวเปลี่ยนไป จริงๆแล้วฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันก็แนะนำฮิตเลอร์ว่า เยอรมันอาจจะไม่สามารถพิชิตรัสเซียได้ก่อนฤดูหนาวจะมาถึง แต่ฮิตเลอร์ไม่สนใจคำวิเคราะห์ดังกล่าว และไม่อนุญาตให้โรงงานอุตสาหกรรม ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในฤดูหนาว โดยเขายืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น

ในรัสเซียทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ สตาลินมีความเชื่อมั่น ในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน ที่เขาทำกับฮิตเลอร์ แม้จะมีข่าวว่าเยอรมันเตรียมการบุกรัสเซีย แต่สตาลินก็ปฏิเสธข่าวดังกล่าว และถือว่าเป็นข่าวที่ถูกปล่อยออกมาโดยมือที่สาม เพื่อสร้่างความแตกแยกขึ้นระหว่างสองประเทศ

ในเวลา 03.15 ของวันที่ 22 มิถุนายน 1941 กองทัพเยอรมันได้เปิดฉากบุกเข้าไปในรัสเซียทุกทิศทาง ตามแนวชายแดนตะวันตกของรัสเซีย กองทหารเยอรมันเหนือกว่ากองทหารรัสเซียทุกอย่าง ทั้งระเบียบวินัย การฝึกฝน ประสบการณ์ที่ผ่านการรบในยุโรปตะวันตก อาวุธยุทโธปกรณ์และความเป็นผู้นำหน่วย

กำลังพลของเยอรมันประกอบด้วย กองพลทหารราบ 102 กองพล กองพลยานเกราะแพนเซอร์ 19 กองพล กองพลเคลื่อนที่เร็ว 14 กองพล กองพลพิเศษ (ไม่ใช่กองพลรบพิเศษ) 5 กองพล และกองพลทหารม้า (ม้าเนื้อ) 1 กองพล ฝ่ายรัสเซียมีกำลังประกอบด้วย กองพลทหารราบ 154 กองพล กองพลทหารม้า (ม้าเนื้อ) 25 กองพล และกรมยานเกราะ 37 กองพล
นอกจากนี้ทางฝ่ายเยอรมันยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอักษะอื่นๆ เช่น ฟินแลนด์ สโลวัค อิตาลี โรมาเนีย และโครเอเชีย รวมทั้งฮังการี

กองทัพเยอรมันแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

1. กลุ่มกองทัพเหนือ (Army Group North) ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพล วิลเฮล์ม ฟอน ลีบ (Wilhelm Von Leeb) มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่เลนินกราด (Leningrad) เผชิญหน้ากับนายพลคลีเมนท์ โวราชิตอฟ (Kliment Vorashitov)

2. กองทัพกลุ่มกลาง (Army Group Centre) ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพล ฟีดอร์ ฟอน บอค (Fedor Von Bock) มีจุดหมายอยู่การยึดกรุงมอสโคว์ เผชิญกับนายพล ซีเมน ทิโมเชนโก้ (Semen Timoshenko)

3. กลุ่มกองทัพใต้ (Group South) ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลเกิร์ด ฟอน รุทชเท็ดท์ (Gred Von Rundstedt) มีเป้าหมายคือยึดครองคอเคซัส (Caucasus) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมัน เผชิญหน้ากับนายพลซีเมน บูเดนนี่ (Semen Budenny) ของรัสเซีย

กองทัพเยอรมันในขณะที่เปิดยุทธการบาร์บารอสซ่านั้น จัดเป็นกองทัพที่มีความพร้อมเป็นอย่างดี เป็นกองทัพยานยนต์เคลื่อนที่เร็ว ตาม หลักการรุกแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkreig) ที่ประสบความสำเร็จ มาจากการบุกยุโรปตะวันตกมาแล้ว อีกทั้งยังมีทหารที่มีประสบการณ์ในการรบมาอย่างโชกโชน

ในทางตรงกันข้าม ทหารรัสเซียกลับเป็นกองทัพที่ขาดความพร้อม ขาดยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ อาวุธที่ล้าสมัย ไม่มีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ กำลังพลส่วนใหญ่เป็นกำลังพลเดินเท้า การสื่อสารก็อาศัยพลเรือนเป็นหลัก

ในช่วงแรกๆของยุทธการบาร์บารอสซ่า หน่วยแพนเซอร์ ซึ่งเป็นหน่วยยานเกราะของเยอรมัน รุกเข้าสู่ดินแดนรัสเซียอย่างรวดเร็วและสามารถยึดครองดินแดนได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามภูมิประเทศของรัสเซียนั้นเป็นทุ่งกว้างที่เวิ้งว้างสุดสายตา การรุกไปข้างหน้า เปรียบเหมือนการเดินทางที่ไม่รู้จักจบสิ้น ไม่เห็นที่หมาย รวมทั้งการส่งกำลังบำรุงของเยอรมันส่วนใหญ่ยังใช้พาหนะประเภทรถม้าลากจูง จึงทำให้ไม่สามารถไล่ตามกำลังรถถังและทหารราบที่รุกไปข้างหน้าได้อย่างทันท่วงที สายการส่งกำลังบำรุงจึงเริ่มห่างและยืดออกมากขึ้น มากขึ้น และไม่สามารถให้การสนับสนุนได้ในที่สุด

ในขณะที่ทหารเยอรมันรุกเข้ามา ทหารรัสเซียซึ่งอยู่สภาพที่ตกใจ เสียขวัญ ผู้นำก็ขาดแคลน เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นาน รัฐบาลสตาลินได้ทำการกวาดล้างนายทหารของตน ซึ่งคาดว่าสนับสนุนการปกครองของพระเจ้าซาร์ กษัตริย์ที่ถูกโค่นล้ม นายทหารที่มีฝีมือจำนวนมาก ถูกประหารชีวิต ถูกจำขัง ถูกทรมาน นายทหารที่เหลือก็เป็นผู้ที่ด้อยประสบการณ์ เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้การสู้รบดำเนินไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ กองทัพเยอรมันทำการเจาะลึก และโอบล้อมกองทหารรัสเซียหน่วยแล้ว หน่วยเล่า

ในขณะที่กองทัพอากาศเยอรมันก็บินถล่มที่มั่นต่างๆของฝ่ายรัสเซีย ประมาณกันว่าในช่วงเปิดยุทธการนั้น มีทหารรัสเซียถูกจับเป็นเชลยกว่า 290,000 คน รถถังทั้งที่ล้าสมัยแบบ BA 10 และที่มีประสิทธิภาพอย่าง KV 1 ถูกยึดเป็นจำนวนถึง 2,585 คัน ปืนใหญ่อีก 1,449 กระบอก กองทัพอากาศลุฟวาฟ (Luftwaffe) สามารถทำลายอากาศยานของรัสเซียที่ล้าสมัยที่จอดอยู่ตามสนามบินต่างๆ อย่างชนิดที่ไม่มีโอกาสได้บินขึ้นมาขัดขวาง

กล่าวได้ว่ายุทธการบาร์บารอสซ่า เปิดฉากด้วยการประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่เวลาที่ล่าช้าไป 6 สัปดาห์ ในการยึดครองประเทศในบอลข่าน ก่อนหน้าที่จะเปิดยุทธการบาร์บารอสซ่า ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต เมื่อฤดูหนาวมาเยือน โอกาสแห่งชัยชนะจึงหลุดลอยไปอย่างไม่มีวันหวลกลับมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาวของปี 1941 ซึ่งเป็นฤดูหนาวแรกของเยอรมันในรัสเซีย ได้สร้างความสูญเสียอย่างมากมายให้กับทหารเยอรมัน จนในเืดือน มี.ค. 1942 เยอรมันต้องสูญเสียทหารทั้งบาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิต กว่า 3,000,000 คน ในจำนวนนี้ 200,000 คนเสียชีวิต

หน่วยทหาร เอส เอส ที่ทรงประสิทธิภาพที่เข้าร่วมในการยุทธบาร์บารอสซ่า กว่า 43,000 คนเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกำลังพลจาก กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด อดอฟ ฮิตเลอร์ (1st SS. Panzer Division Leibstandarte Adolf Hitler), กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาสไรซ์ (2nd SS. Panzer Division Das Reich), กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS. Panzer Division Totenkoft) ความสูญเสียนี้ทำให้เยอรมันต้องเริ่มระดมกำลังพลจากประเทศที่ตนยึดครองในยุโรป มาเสริมกำลังในแนวหน้า

ยุทธการบาร์บารอสซ่า เป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจที่ผิดพลาด ที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของอาณาจักรไรซ์ที่สาม ของฮิตเลอร์ เพราะหากฮิตเลอร์ตัดสินใจเปิดศึกเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น กำลังพลของเยอรมันก็จะไม่ต้องกระจัดกระจายไปทั่วทั้งยุโรปเช่นที่เกิดขึ้น นับเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งบทเรียนหนึ่ง ของการรบในยุคปัจจุบัน

-------------------------------------




เครื่องบิน JU 87 สตูก้า (stuka) ของนาซีเยอรมัน กำลังแปรรูปขบวน โดยบินเกาะหมู่ 2 เครื่องบินชนิดนี้เยอรมันใช้เป็นเครื่องบินโจมตีแบบดำทิ้งระเบิดในช่วงแรกของสงคราม โดยนักบินจะบินดำลงสู่เป้าหมายด้วยความเร็วสูง บางรุ่นติดไซเรนไว้ที่ใต้ท้องเครื่องบิน เพื่อทำให้เกิดเสียงโหยหวน ทำลายขวัญข้าศึก หากนักบินมีความสามารถสูงจะสามารถทิ้งระเบิดได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากขณะที่ดำลงไปนั้น นักบินต้องต่อสู้กับแรง จี

อย่างไรก็ตามในช่วงต่อมาของสงคราม เครื่องบินรุ่นนี้เริ่มล้าสมัย ไม่สามารถต่อกรกับเครื่องบินรุ่นใหมๆ ่ของพันธมิตรได้ แต่ด้วยความขาดแคลน กองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องบินรุ่นนี้ ในการเป็นเครื่องบินต่อสู้รถถัง โดยเฉพาะในแนวรบด้านตะวันออก เนื่องจากรัสเซียมีจำนวนรถถังที่เหนือกว่าเยอรมันมาก และจำนวนก็ดูจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ดังนั้น เพื่อสร้างความสมดุลของกำลังรบ เยอรมันจำเป็นต้องใช้เครื่องบินสตูก้า ร่วมกับรถถังของเยอรมัน ทำการรบกับกองทัพรถถังของรัสเซีย โดยนักบินจะนำเครื่องบินสตูก้า บินดำลงไปทางด้านหลังของรถถัง ที 34 ของรัสเซีย และทิ้งระเบิดลงไปบริเวณห้องเครื่องยนต์ที่อยู่ด้านหลังของรถถัง ซึ่งถือเป็นจุดที่เปราะบางที่สุดของ ที 34 นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม. มาติดใต้ปีกทั้งสองข้างของสตูก้า เพื่อระดมยิงใส่รถถังของรัสเซียจากด้านหลัง

สำหรับไซเรนที่เคยติดเพื่อใช้ข่มขวัญข้าศึก ก็ได้ถูกถอดออก เพรามันะกลายเป็นสัญญาณทำให้ข้าศึกรู้ตัว และสามารถใช้ปืนต่อสู้อากาศยานตอบโต้เครื่องบินชนิดนี้ได้ แม้ว่าสตูก้าจะล้าสมัยไปตั้งแต่ปี 1943 หรือช่วงกลางของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มันก็ยังคงถูกใช้อยู่ในกองทัพอากาศเยอรมันจนสิ้นสุดสงครามในปี 1945



รถถังนาชอร์น (Nashorn) หรือที่แปลว่า แรด ในภาษาเยอรมัน เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะทดแทนสายการผลิตรถถังของเยอรมัน ที่ไม่เคยเพียงพอกับความต้องการในแนวหน้า นาชอร์น ได้นำเอาตัวรถของรถถังแพนเซอร์ 4 (Panzer IV) มาถอดป้อมปืนออก แล้วติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 88 มม. เข้าไปแทน ต่างจากฮัมเมล (Hummel) ที่ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 155 มม.

วัตถุประสงค์ของนาชอร์นก็คือ การสนับสนุนหน่วยทหารราบ และทหารรถถังที่รุกคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปืนใหญ่ธรรมดาไม่สามารถตามได้ทัน จึงใช้รถปืนใหญ่อัตตาจรนาชอร์นนี้ ปกติจะจัดให้มี กองพันปืนใหญ่อัตตาจรนาช์อร์นนี้ 1 กองพันต่อ 1 กรมทหารราบในแนวหน้า

อย่างไรก็ตามจำนวนเหล่านี้ไม่เคยเป็นจริงได้ในสภาพตามความเป็นจริง อีกทั้งนาชอร์นเอง ก็ยังต้องรับบทบาทในทางรับ จากแต่เดิมที่ต้องการใช้ทางรุก เพราะแนวรบของเยอรมันทั้งสองด้าน กลายเป็นฝ่ายตั้งรับ แต่อานุภาพของปืนใหญ่ขนาด 88 มม.ของนาชอร์นก็เป็นที่น่าเกรงขามไม่น้อย โดยเฉพาะในแนวรบด้านตะวันออก รถถังของรัสเซียจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อของกระสุน 88 มม.ของนาชอร์น

จากการที่ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 88 มม. ทำให้ป้อมปืนของนาชอร์นต้องเปิดด้านบนออก และต้องการรถบรรทุกกระสุน ที่คอยติดตามไปทุกหนทุกแห่ง เนื่องจากตัวของมันเองบรรทุกกระสุนได้อย่างจำกัด




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 10 สิงหาคม 2556 12:17:50 น.
Counter : 10026 Pageviews.  

หน่วยยานเกราะ หรือ แพนเซอร์ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ 2

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2



หน่วยยานเกราะ หรือแพนเซอร์ ของนาซีเยอรมัน
ในสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่ 2


โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ



(สงวนลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำหรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน)


---------------------------------





รถถัง Panzer III และทหารราบเยอรมันในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัสเซีย ทหารเยอรมันที่ยืนอยู่บนรถ กำลังใช้ปืนเล็กยาวประจำตัว แบบ Karabiner 98K ขนาด 7.92 มม. ยิงเข้าใส่เป้าหมายในหมู่บ้าน ที่กำลังเต็มไปด้วยควันไฟจากการเผาไหม้

การรุกเข้าไปในรัสเซียของเยอรมัน เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทหารรัสเซียล่าถอยเพราะขาดการเตรียมพร้อม ก่อนการถอยมักจะเผาทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเยอรมัน แต่สังเกตุจากบ้านที่เห็นทางด้านขวาของภาพ ซึ่งยังสมบูรณ์อยู่ แสดงว่าเป็นหมู่บ้านทั่วไป ที่ชาวบ้านยังคงพักอาศัยอยู่ ควันไฟที่เกิดขึ้นอาจมาจากการเข้าโจมตีของฝ่ายเยอรมัน ที่มีต่อทหารรัสเซียที่อาศัยหมู่บ้านแห่งเป็นสถานที่ต่อต้าน

นอกจากนี้ถ้าจะสังเกตุอริยาบทที่ผ่อนคลายของทหารคนอื่นๆ ทำให้เห็นว่า การต้านทานในระยะใกล้ๆ ซึ่งอยู่ในระยะของปืนเล็กยาว ไม่รุนแรง หรือได้หมดไปแล้ว

โปรดสังเกตุอุปกรณ์ต่างๆ ที่บรรทุกอยู่ท้ายรถ มีทั้งสายพานสำรอง ล้อสำรอง กล่องใส่อุปกรณ์ต่างๆ และ ลังกระสุน ทั้งนี้ เพราะการรบในรัสเซียมีอาณาบริเวณที่กว้างมาก การส่งกำลังบำรุงไม่สามารถตามหน่วยทหารที่รุกไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วได้ หน่วย Panzer ต่างๆ จึงต้องพยายามพื่งตนเองให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้





รถถัง Panzer III ของกองพลยานเกราะ Panzer ที่ 11 (11th Panzer Division.) ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของรัสเซีย สังเกตุจากสัญญลักษณ์ของกองพล ที่ติดอยู่ด้านท้ายของรถถัง เป็นรูปปีศาจชูดาบด้วยมือซ้าย เท้าทั้งสองข้างของปีศาจเหยียบอยู่บนลูกล้อ รัสเซียขนานนามกองพล Panzer ที่ 11 ตามสัญญลักษณ์ว่า กองพลปีศาจ (Ghost Division)

จากการแต่งกายของทหารเยอรมันในภาพ แสดงให้เห็นว่า เป็นฤดูหนาวแรกของพวกเขา (ปี 1941) ในรัสเซีย เนื่องจากไม่มีความพร้อมในอุปกรณ์ป้องกันความหนาว อุปกรณ์ต่างๆ ยังเป็นอุปกรณ์ที่ใช้์ในภาวะปกติ ทั้งเสื้อผ้าของทหาร ก็ยังเป็นเพียงเสื้อคลุมสีเขียว ที่ทหารต้องดึงคอปกเสื้อขึ้นมาเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับตัวเอง ยังไม่มีชุดพรางสำหรับหิมะ ทั้งนี้เพราะเยอรมันคาดว่า จะสามารถพิชิตรัสเซียได้ก่อนที่จะถึงฤดูหนาว จึงไม่ได้มีการเตรียมการสำหรับฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า ลบ 30 องศา

ส่วนรถถังเองก็ยังไม่มีการพรางสีให้เข้ากับภูมิประเทศที่เป็นหิมะ
ต่อจากนี้ไป กำลังพลเหล่านี้จะต้องเผชิญกับความทารุณในฤดูหนาวของรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลให้การรุกของเยอรมัน หยุดชะงักทุกแนวรบ มุมล่างขวาของภาพจะเห็น ลำกล้องปืน ขนาด 50 มม. ลำกล้องสั้นของรถถัง Panzer III อีกคันหนึ่งที่ผู้ถ่ายภาพ ใช้เป็นจุดสำหรับการถ่ายภาพ




รถถัง Panzer V - Panther ที่เยอรมันพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพของรถถังเยอรมันในแนวหน้า แต่เมื่อพบกับรถถัง T 34 ของรัสเซีย Panther ก็ไม่ได้แสดงพิษสงที่เด่นชัดออกมา T 34 สามารถทำลายรถถังรุ่นนี้ได้ ด้วยปืนใหญ่ขนาด 76 มม.ของมัน อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถที่โดดเด่นของพลประจำรถถังของเยอรมัน ได้ทำให้ Panther มีพิษสงขึ้นมาอย่างมาก

ในทางตรงกันข้าม ในแนวรบด้านตะวันตก สหรัฐอเมริกา และอังกฤษกลับพบว่า รถถัง Panther รุ่นนี้ เป็นรถถังที่มีความคล่องตัวสูง มีปืนใหญ่ลำกล้องยาวที่แม่นยำ สามารถทำลายรถถังพันธมิตรได้ในระยะไกลๆ เครื่องยนต์ก็มีพลังมหาศาล และเป็นคู่ปรับที่น่ากลัวของรถถัง เอ็ม 4 เชอร์แมน (M 4 Sherman) ของสัมพันธมิตรในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรบในนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง Panther ได้แสดงพิษสงให้คู่ต่อสู้ได้ประจักษ์ถึงศักยภาพอันแข็งแกร่งของมัน



ฮิตเลอร์กับการแต่งตั้งกูเดอเรียน

ความพ่ายแพ้ของกองทัพที่ 6 ของเยอรมันที่สตาลินกราดส่งผลให้กองพลยานเกราะส่วนหนึ่งถูกทำลายลง ในขณะที่กองพลยานเกราะที่ 22 และกองพลยานเกราะที่ 27 ที่มีแนวตั้งรับบริเวณแม่น้ำดอน (Don) และแม่น้ำไมอัส (Mius) ก็ถูกกองทัพรัสเซียที่มีกำลังเหนือกว่าเคลื่อนที่เข้าบดขยี้จนได้รับความเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถดำรงความเป็นกองพลยานเกราะอยู่ได้และต้องยุบรวมกับหน่วยข้างเคียงในช่วงต้นปี ค.ศ. 1943 นับเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของกองทัพเยอรมัน

ฮิตเลอร์ตระหนักดีว่าจุดศูนย์ดุลของสงครามในแนวรบด้านรัสเซียกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ และกองทัพเยอรมันอาจจะก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 เขาจึงตัดสินใจแต่งตั้งนายพลไฮน์ซ กูเดอเรียน (Heinz Guderian) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยยานเกราะและผู้ริเริ่มแนวความคิดในการรบแบบสายฟ้าแลบจนได้รับสมญาว่า "บิดาแห่งยานเกราะเยอรมัน" ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์พัฒนากองกำลังยานเกราะ โดยฮิตเลอร์ได้มอบอำนาจให้กูเดอเรียนอย่างท่วมท้นในการพัฒนาศักยภาพยานเกราะของเยอรมัน

ซึ่งกูเดอเรียนก็ไม่ทำให้ฮิตเลอร์ผิดหวัง เขาวางแผนที่จะแปรเปลี่ยน "ยานเกราะ" ที่ใช้ในการรบทั่วไปให้มีศักยภาพมากกว่ายานเกราะหรือรถถังธรรมดา จนกระทั่งรถถังและยานเกราะของเยอรมันกลายเป็น "จักรกลสงครามแห่งการทำลายล้างขั้นสูงสุด" ที่ประวัติศาสตร์การสงครามยุคใหม่ต้องบันทึกไว้

ในช่วงต้นของสงครามนั้นหน่วยยานเกราะของเยอรมันใช้รถถังแบบแพนเซอร์ 3 เป็นรถถังหลัก มันได้รับการยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของหน่วยยานเกราะเยอรมัน เพราะรถถังรุ่นนี้ทำหน้าที่ทุกอย่างในการรุกเข้าหาข้าศึกในช่วงครึ่งแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 แพนเซอร์ 3 ผลิตโดยบริษัทเดมเลอร์เบนซ์ (Daimler-Benz) แรกเริ่มติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 37 มิลลิเมตรและปืนกล 7.92 มิลลิเมตร 1 กระบอก ต่อมาได้เปลี่ยนปืนใหญ่เป็นขนาด 50 มิลลิเมตร พร้อมเพิ่มปืนกล 7.92 มิลลิเมตร อีก 1 กระบอก มีเครื่องยนต์ที่กำลังสูง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเกราะหนา 30 มิลลิเมตร น้ำหนักรถ 21 ตัน มีระบบกันสะเทือนที่ยอดเยี่ยม เพราะมีโช๊คอัพที่ออกแบบโดย ดร.เฟอร์ดินานด์ ปอร์ช (Dr. Ferdinand Porche) แพนเซอร์ 3 มีการปรับปรุงหลายรุ่น ส่วนใหญ่ออกสู่แนวรบด้านรัสเซีย

รถถังอีกรุ่นหนึ่งของหน่วยยานเกราะเยอรมันคือรถถังขนาด 25 ตันแบบแพนเซอร์ 4ที่เข้าสู่สายการผลิตมาตั้งปี ค.ศ. 1939 นับเป็นรถถังที่รับใช้กองทัพนาซีเยอรมันมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นสงครามจนสิ้นสุดสงครามและนับเป็นรถถังที่มีอานุภาพพอสมควร เนื่องจากมีเกราะหนาถึง 80 มิลลิเมตรและติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรแบบ KwK40 L48 พร้อมกระสุน 87 นัด ซึ่งนับว่าเป็นขนาดปืนใหญ่ประจำรถถังที่เหนือกว่าปืนใหญ่ประจำรถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรทุกชนิดในช่วงต้นสงคราม แม้จะมีแนวความคิดในการยุติการผลิตรถถังรุ่นนี้เพื่อหันไปผลิตรถถังรุ่นใหม่ๆ กูเดอเรียนก็เป็นผู้คัดค้านแนวคิดดังกล่าว โดยเขาให้เหตุผลว่า เยอรมันยังต้องการรถถังรุ่นนี้อยู่ เพราะพลประจำรถเกือบทุกคน มีความคุ้นเคยกับรถถังรุ่นนี้เป็นอย่างดี “พวกเขาสามารถบังคับรถถังรุ่นนี้ได้ แม้กระทั่งยามที่พวกเขาหลับ”


การปรับโครงสร้างการผลิตยานเกราะของกูเดอเรียน

นอกจากรถถังแพนเซอร์ทั้งสองรุ่นนี้แล้ว กูเดอเรียนเห็นว่าควรทำการปรับโครงสร้างและสายการผลิตยานเกราะขึ้นใหม่ แผนแบบของรถถังรุ่นใหม่ที่ใช้ในการล่ารถถังหรือ Tank destroyer ตลอดจนรถปืนใหญ่อัตตาจรหรือ Assault Gun ที่ติดปืนใหญ่อันทรงอานุภาพถูกออกแบบและผลิตขึ้น รถถังชนิดนี้มีขั้นตอนที่ผลิตง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะไม่จำเป็นต้องมีป้อมปืนที่มีกลไกยุ่งยาก เพียงแต่ติดตั้งปืนใหญ่ต่อสู้รถถังบนฐานของยานเกราะเท่านั้น การลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อนทำให้ "รถถังล่ารถถัง" และ "รถปืนใหญ่อัตตาจร" สามารถผลิตได้ทีละเป็นจำนวนมาก เช่น รถปืนใหญ่อัตตาจรแบบ "สตุมเกอส์ชูท์ซ" (Sturmgeschütz) หรือ สตุค (StuG) และรถถังล่ารถถังแบบ Jagdpanzerที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

โดยเฉพาะเมื่อถอดป้อมปืนใหญ่ออกไปจากตัวถังรถก็ส่งผลให้ยานเกราะทั้งสองแบบดังกล่าวมีความสูงลดลงอย่างมาก ทำให้สามารถซ่อนพรางจากการสังเกตการณ์ของข้าศึกได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ในแนวรบด้านรัสเซียขณะนั้นเยอรมันกำลังเป็นฝ่ายตั้งรับ ยานเกราะรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้จึงเหมาะกับภารกิจในการซุ่มโจมตีรถถังของรัสเซียที่รุกเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะเดียวกันกูเดอเรียนก็ได้ปรับปรุงอัตราการจัดหน่วยยานเกราะของกองทัพเยอรมันเสียใหม่ โดยเพิ่มกองพันรถปืนใหญ่อัตตาจร กองพันยานยนต์หุ้มเกราะลำเลียงพลกึ่งสายพานและกองพันปืนใหญ่ต่อสู้รถถังเข้าไปในหน่วยระดับกองพลยานเกราะ เพื่อสร้างสมดุลกำลังรบขึ้นเนื่องจากกองทัพรัสเซียมีหน่วยทหารราบที่คล่องตัวและมีรถถังที่ทรงอานุภาพแบบ ที 34 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้กูเดอเรียนยังให้ความสำคัญอย่างมากต่ออัตราการสูญเสียรถถังและยานเกราะของเยอรมันในแนวหน้าที่มีสูงมาก เพราะไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการสูญเสียกำลังพลที่มีขีดความสามารถและประสบการณ์ในการรบมาเป็นอย่างดี ซึ่งก่อนหน้านี้พลประจำรถถังหรือพลประจำรถยานเกราะของเยอรมันนั้นจัดได้ว่าเป็นทหารหน่วยพิเศษที่มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม กูเดอเรียนจึงหาหนทางฝึกฝนกำลังพลที่มีคุณภาพเข้าทดแทนในหน่วยรถถังและยานเกราะต่างๆ

จากความพยายามและความทุ่มเทของกูเดอเรียนส่งผลให้สายการผลิตรถถังของเยอรมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 1943 โดยมีจำนวนการผลิตถึง 3,643 คัน แต่เนื่องจากเส้นทางการส่งกำลังไปสู่แนวรบรัสเซียนั้นมีระยะทางที่ยาวและเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย รถถังและยานเกราะจำนวนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนี้สามารถเดินทางไปถึงสนามรบได้เพียง 2,504 คันเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอต่อการสูญเสียที่มีสูงถึงกว่า 7,800 คัน

ด้วยความขาดแคลนรถถังและยานเกราะนี้เองทำให้หน่วยยานเกราะของเยอรมันต้องนำรถถังที่ยึดได้จากรัสเซีย อังกฤษและฝรั่งเศสนำมาใช้เสริมกำลังรบในแนวหน้าด้านรัสเซีย ซึ่งจากตัวเลขพบว่ามีรถถังที่ถูกยึดได้และนำกลับมาใช้ใหม่เป็นจำนวนถึง 822 คัน แต่ความขาดแคลนก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม


การมาถึงของ Panther และ Tiger

สำหรับการพัฒนาประสิทธิภาพของรถถังและยานเกราะนั้น วิศวกรเยอรมันได้ดำเนินการออกแบบรถถังรุ่นใหม่ที่สามารถต่อสู้กับรถถัง ที 34 ของรัสเซียได้อย่างทัดเทียมกัน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของรถถังที่มีขีดความสามารถสูงที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จักมา นั่นคือ รถถังแบบ แพนเซอร์ 5 (Panzer V) หรือที่รู้จักกันในนาม "แพนเธอร์" (Panther) ซึ่งแปลว่า "เสือดำ" ส่วนอีกรุ่นคือ รถถังแบบแพนเซอร์ 6 (Panzer VI) หรือ "ไทเกอร์" (Tiger) ซึ่งแปลว่า "เสือโคร่ง" นั่นเอง

สำหรับรถถังแพนเซอร์ 5หรือ "แพนเธอร์" นั้นมีน้ำหนัก 44.8 ตัน มีเกราะหนาตั้งแต่ 15 – 120 มิลลิเมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตรแบบ KwK 42 L70 พร้อมกระสุนจำนวน 79 นัด และติดตั้งปืนกลขนาด 7.92 มิลลิเมตรจำนวน 2 กระบอก ใช้เครื่องมายบัคแบบ (Maybach) แบบ HL230 P30 อันทรงพลังทำให้สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีรัศมีทำการภายใต้การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงครั้งเดียวเป็นระยะทางถึง 250 กิโลเมตรและมีพลประจำรถ 5 นาย

โดยรถถังรุ่นนี้ถูกออกแบบให้มีความซับซ้อนในการผลิตไม่สูงมากนักเพื่อมุ่งหวังให้ง่ายต่อการผลิตเป็นจำนวนมากและนำไปทดแทนรถถังที่สูญเสียไปในการรบ จึงมีรถถังแพนเธอร์ถูกผลิตออกมาในห้วงเวลาสั้นๆ ระหว่างปี ค.ศ. 1943 – 1945 เป็นจำนวนถึง 6,000 คัน อีกทั้งแม้ว่ารถถังแพนเธอร์จะมีข้อด้อยกว่ารถถังแบบไทเกอร์ในเรื่องความทนทานของเกราะและขนาดปืนใหญ่ที่เล็กกว่า แต่มันก็มีความคล่องตัวสูงและมีปืนใหญ่ที่มีความแม่นยำสูง โดยเฉพาะปืนใหญ่แบบ HL230 P30 ที่มีลำกล้องยาวถึง 5,250 มิลลิเมตรนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดชนิดหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สองเนื่องจากมีความแม่นยำและอัตราการทะลุทะลวงสูงกว่าปืนใหญ่รถถังทุกชนิดของสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซียในขณะนั้น รวมทั้งยังมีระยะยิงไกลถึง 10 กิโลเมตรในการยิงวิถีโค้งอีกด้วย ทำให้รถถังแพนเธอร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นรถถังที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของเยอรมันและกลายมาเป็นแม่แบบให้กับรถถังของประเทศต่างๆ ภายหลังสิ้นสุดสงคราม

ส่วนรถถังแพนเซอร์ 6 หรือไทเกอร์นั้นนับเป็นรถถังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของเยอรมัน เป็นรถถังที่ทั้งทหารรัสเซีย สหรัฐฯ อังกฤษและชาติสัมพันธมิตรอื่นๆ ต่างหวั่นเกรงในอานุภาพของมันเป็นอย่างมาก เพราะมีเกราะด้านหน้าหนาถึง 100 มิลลิเมตรและที่ป้อมปืนมีเกราะหนาถึง 120 มิลลิเมตรจึงยากที่ปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของข้าศึกจะเจาะทะลุทะลวงได้ นอกจากเกราะที่หนามากแล้วรถถังไทเกอร์ยังติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 88 มิลลิเมตรแบบ KwK 36 L56 พร้อมกระสุน 92 นัด (รถถังไทเกอร์บางรุ่นสามารถบรรทุกกระสุนได้ถึง 105 นัด) ซึ่งมีอานุภาพในการทำลายรถถังข้าศึกทุกชนิดได้ในขณะนั้น อีกทั้งปืนใหญ่ดังกล่าวยังมีความแม่นยำสูงมาก จากสถิติการทดสอบโดยกองทัพอังกฤษภายหลังสงครามพบว่า มันสามารถยิงเป้าหมายขนาดกว้าง 41เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ในระยะ 1,100 เมตรได้อย่างแม่นยำ และมีสถิติบันทึกไว้ว่ารถถังไทเกอร์สามารถยิงทำลายรถถังข้าศึกได้ในระยะไกลถึง 4 กิโลเมตร อันเป็นการยิงทำลายโดยที่รถถังข้าศึกไม่มีโอกาสรู้ตัวก่อนเลย

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่รถถังไทเกอร์มีเกราะหนามาก ส่งผลให้มันมีน้ำหนักสูงถึง62 ตัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีสายพานที่กว้างถึง 725 มิลลิเมตรในการรับน้ำหนักตัวถังรถ และมีอุปสรรคค่อนข้างมากในการเคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศที่มีพื้นดินอ่อนนุ่ม รถถังไทเกอร์ทำความเร็วได้เพียง 38 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีรัศมีทำการโดยการเติมน้ำมันเพียงครั้งเดียว 110-195 กิโลเมตร นอกจากนี้รถถังไทเกอร์ยังบริโภคน้ำมันอย่างมหาศาลรวมทั้งมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการผลิตแต่ละคัน ทำให้เยอรมันสามารถผลิตรถถังรุ่นนี้ได้เพียง 1,347 คันซึ่งน้อยเกินกว่าที่จะหยุดยั้งกองทัพรัสเซียและสัมพันธมิตร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจำนวนรถถัง ที 34 ของรัสเซียที่ผลิตเป็นจำนวนถึง 58,000 คัน และรถถังเอ็ม 4 เชอร์แมนของสหรัฐฯ ที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนกว่า 40,000 คันตลอดห้วงสงคราม


การปรับหน่วยยานเกราะ

นอกจากการถือกำเนิดขึ้นของรถถังแบบใหม่แล้ว ในส่วนของการจัดกำลังยานเกราะในแนวรบด้านรัสเซียนั้น กูเดอเรียนได้อาศัยผลการผลิตรถถังและยานเกราะทุกรุ่นที่เพิ่มขึ้นมาจัดตั้งกองทัพน้อยยานเกราะเอสเอส (SS Panzer Corps) โดยมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพของกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 1 ลีปสตานดาร์ด อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, กองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 2 ดาส ไรซ์, และกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 3 โทเทนคอฟให้เป็นกองพลยานเกราะที่มีขีดความสามารถในการทำลายล้างสูง โดยบรรจุรถถังแบบแพนเซอร์ 4, แพนเธอร์และไทเกอร์จำนวนกว่า 350 คันเข้าประจำการแทนรถถังแบบแพนเซอร์ 3 ที่ล้าสมัย

จากการปรับปรุงศักยภาพกองพลยานเกราะ เอส เอส ทั้งสามกองพลดังกล่าว ทำให้ฮิตเลอร์ตัดสินใจรุกตอบโต้กองทัพรัสเซียที่ยูเครนในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 และประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้กองทัพรัสเซียต้องล่าถอย ส่งผลให้กองทัพเยอรมันสามารถยึดเมืองคาร์คอฟคืนมาได้จากการครอบครองของรัสเซีย ในการรบตลอดห้วงเวลานี้รถถังแพนเธอร์ 21 คันและไทเกอร์ 108 คันสามารถทำลายรถถังรัสเซียลงได้ถึง 615 คันพร้อมทั้งทหารเอสเอสจากกองพลยานเกราะทั้งสามได้สังหารหมู่เชลยศึกและประชาชนรัสเซียจำนวนนับพันคนลงด้วย ทำให้ความสำเร็จในการรบของกองทัพเยอรมันถูกบดบังด้วยความอำมหิตและโหดเหี้ยมของทหารเอสเอสในโศกนาฏกรรมครั้งนี้

หลังจากการรบที่เมืองคาร์คอฟ หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็มีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งในการรบครั้งยิ่งใหญ่ที่เมือง "เคริสค์" โดยฮิตเลอร์สั่งระดมกองพลยานเกราะจำนวน 17 กองพลและกองพลน้อยยานเกราะอีก 2 หน่วยรวมจำนวนรถถังและยานเกราะชนิดต่างๆ ทั้งหมดกว่า 2,388 คันเพื่อเข้าตีแนวตั้งรับของรัสเซียภายใต้ยุทธการ "ซิทาเดล" รถถังแพนเซอร์ 5 หรือ "แพนเธอร์" จำนวน 250 คันที่เพิ่งออกมาจากโรงงานผลิตในเยอรมันได้เดินทางเข้าสู่สมรภูมิทันทีด้วยความหวังที่จะใช้เป็นอาวุธในการทำลายรถถัง ที 34 ของรัสเซียซึ่งเป็นคู่ปรับเก่าให้ย่อยยับไป แต่ปัญหาเกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์และระบบเกียร์ที่ขัดข้องทำให้มีรถถังแพนเธอร์เพียง 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งหมดที่สามารถเข้าทำการรบได้ ส่งผลให้จำนวนรถถังของเยอรมันในแนวหน้ามีไม่เพียงพอและทำให้ฮิตเลอร์ตัดสินใจส่งกำลังรถถังจำนวนสุดท้ายที่สำรองไว้เป็นกำลังหนุนเข้าทำการรบแทน นับเป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะหากสถานการณ์พลิกผันจะทำให้เยอรมันไม่หลงเหลือรถถังไว้คอยตอบโต้ข้าศึกเลย

การรบที่เคริสค์จบลงด้วยความสูญเสียอย่างหนักของทั้งสองฝ่าย แต่ความสูญเสียของเยอรมันเป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถนำกลับมาทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งรถถังและยานเกราะที่เป็นกำลังสนับสนุนก็ถูกทำลายลงด้วย ทำให้เยอรมันแทบไม่หลงเหลือรถถังในแนวรบด้านรัสเซียเลย ต่างจากฝ่ายรัสเซียแม้จะมีรถถังแบบ ที 34 ถูกทำลายเป็นจำนวนมากแต่รถถังที่เพิ่งผลิตออกมาใหม่จากโรงงานในเทือกเขาอูราล (Ural) ก็ยังคงหนุนเนื่องเข้ามาทดแทนอย่างไม่ขาดสาย ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ทำให้รถถังและยานเกราะที่กูเดอเรียนเพียรพยายามสั่งสมขึ้นมาจากทรัพยากรที่จำกัดและขาดแคลน รวมทั้งหามาด้วยความยากลำบากได้ถูกทำลายลงในชั่วเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน และนับจากนั้นมารถถังและยานเกราะที่เหลืออยู่ก็ถูกทำลายลงด้วยคลื่นรถถังรัสเซียจำนวนมหาศาล ตัวอย่างเช่นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1943 เยอรมันสูญเสียรถถังไปเป็นจำนวน 645 คัน และในเดือนต่อมาก็สูญเสียไปอีก 572 คัน เป็นความสูญเสียในอัตราที่กองทัพเยอรมันหมดหนทางในการฟื้นฟูขึ้นมาได้

เมื่อจำนวนรถถังลดลงอย่างมาก กองพลยานเกราะที่เหลืออยู่ก็ต้องรับภาระหนักขึ้นในการต่อต้านการรุกของกองทัพรัสเซีย กองพลยานเกราะทั้งหมดต่างแปรสภาพเป็น "หน่วยปืนใหญ่เคลื่อนที่" ที่เคลื่อนย้ายกำลังไปมาในการเข้าแก้ไขปัญหาวิกฤติในพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งแม้จะประสบความสำเร็จในการทำลายล้างกำลังทหารโซเวียตที่รุกเข้ามาอย่างต่อเนื่องได้เป็นจำนวนมากแต่ความสำเร็จของหน่วยยานเกราะเหล่านี้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความพ่ายแพ้ของเยอรมันให้กลับเป็นชัยชนะได้


การุกกลับของรัสเซีย

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1943 รัสเซียรุกกลับในพื้นที่ยูเครนและสามารถทำลายกลุ่มกองทัพกลางของเยอรมันลงได้พร้อมๆ กับการละลายหายไปของกองพลทหารราบยานเกราะจำนวนถึง 3 กองพล จากนั้นก็รุกไล่กลุ่มกองทัพใต้ให้ถอยร่นมาจนถึงเทือกเขาคาร์เปเธียน (Carpathian) ในยุโรปตอนกลาง แม้จะต้องถอยร่นมาอย่างไม่เป็นขบวนแต่หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็ยังคงต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรี และไม่ยอมให้กองทัพรัสเซียรุกคืบหน้าเข้ามาได้ง่ายๆ ตัวอย่างเช่น กองทัพน้อยยานเกราะที่ 48 (XLVIII Panzer Corps) ที่สามารถตอบโต้การรุกของกองทัพรัสเซียอย่างได้ผลในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1943 ที่เมืองเบอร์ดิเชฟ ทางตอนใต้ของเคียฟ โดยสามารถเข้าตีเจาะแนวรุกของกองทัพรัสเซียได้เป็นระยะทางลึกถึง 113 กิโลเมตรก่อนที่จะตีตลบหลังและโอบล้อมกองทัพรถถังการ์ดที่ 3 ของรัสเซียในวันที่ 18 พฤศจิกายน ก่อนที่จะเข้าบดขยี้ทหารรัสเซียที่อยู่ในวงล้อมทั้งกองทัพให้ย่อยยับไปจนหมดสิ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในปี ค.ศ. 1943 นั้นแตกต่างจากสถานการณ์ในปี ค.ศ. 1941 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามอย่างสิ้นเชิง เพราะในห้วงเวลานี้กองทัพรัสเซียสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีกำลังหนุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลางเดือนธันวาคม กองทัพน้อยยานเกราะที่ 48 ก็ถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจนต้องถอยร่นและปรับแนวรุกเป็นแนวตั้งรับในที่สุด

ในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1944 กองทัพรัสเซียจากยูเครนเปิดฉากรุกอย่างรุนแรงและสามารถเข้ายึดแนวตั้งรับของกองทัพยานเกราะที่ 48 ได้ พร้อมๆ กับโอบล้อมกองพลต่างๆ ของเยอรมันจำนวน 10 กองพลไว้ ในจำนวนนี้รวมถึงกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 5 ไวกิ้งอันลือชื่อด้วย ทหารเยอรมันพยายามฝ่าวงล้อมออกมาแต่ก็ถูกทหารรัสเซียตอบโต้ทุกครั้งไป จนกระทั่งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทหารเยอรมันจำนวนเพียงเล็กน้อยก็สามารถเล็ดรอดผ่านวงล้อมของทหารรัสเซียออกมาได้ภายหลังที่ต้องต่อสู้อย่างนองเลือด ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์และรถถังไว้ในวงล้อมเป็นจำนวนมาก

แต่ชะตากรรมของหน่วยยานเกราะเยอรมันยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ กองทัพรัสเซียเปิดฉากรุกครั้งใหญ่ในวันที่ 24 มีนาคมและสามารถโอบล้อมกองทัพยานเกราะที่ 1 ของเยอรมันไว้ได้เกือบทั้งหมดที่เมืองคาเมเน็ทส์ (Kamenets) ฮิตเลอร์รู้ดีว่าเขาไม่สามารถสูญเสียกองทัพยานเกราะที่ 1 ไปได้ จึงสั่งการให้กองทัพน้อยยานเกราะเอสเอส ที่ 2 เดินทางออกจากประเทศฝรั่งเศสเข้าไปช่วยทหารเยอรมันที่ถูกล้อมในวันที่ 28 มีนาคม และสามารถช่วยกองทัพยานเกราาะที่ 1 ออกมาจากวงล้อมได้ในที่สุด

ในขณะที่การรบเป็นไปอย่างดุเดือดอยู่นั้น แผนการผลิตรถถังและยานเกราะที่กูเดอเรียนได้วางไว้ก็ยังผลิดอกออกผลมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมหนักของเยอรมันสามารถผลิตรถถังและยานเกราะได้เป็นจำนวนถึง 5,648 คันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1944 และเพิ่มเป็น 6,155 คันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 ในจำนวนนี้มีรถถังแบบไทเกอร์อยู่จำนวน 373 คันและรถถังแบบแพนเธอร์อยู่ 972 คัน

รถถังบางรุ่นที่เริ่มล้าสมัยถูกส่งกลับเข้าโรงงานเพื่อปรับเปลี่ยนป้อมปืนออกไปและติดตั้งปืนใหญ่ที่ทรงอานุภาพเข้าไปแทน เช่น รถปืนใหญ่อัตตาจรแบบ "สตรุมแพนเซอร์ 4 บรุมม์บาร์" (Sturmpanzer IV Brummbar) ที่นำฐานของรถถังแพนเซอร์ 4 มาติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 150 มิลลิเมตรที่ทรงอานุภาพแทน จนกลายเป็นรถปืนใหญ่อัตตาจรที่น่าเกรงขาม แต่จำนวนรถถังและยานเกราะที่เพิ่มมากขึ้นเหล่านี้ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะรับมือกับข้าศึกที่รุกเข้าสู่ประเทศเยอรมันในทุกทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งกองทัพอากาศของสัมพันธมิตรได้ทำลายหน่วยยานเกราะของเยอรมันเกือบทั้งหมดในยุโรปตะวันตกจนแทบหมดสิ้น

หน่วยยานเกราะของเยอรมันพยายามฟื้นตัวอย่างยากลำบาก รถถังและยานเกราะที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วยุโรปถูกรวบรวมเข้าอีกครั้ง ส่วนกองทัพรัสเซียก็ยังคงรุกคืบหน้าเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน จนในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1944 กองทัพรัสเซียก็สามารถเจาะแนวตั้งรับของกองทัพโรมาเนียที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเยอรมันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1941 ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลโรมาเนียประกาศถอนตัวออกจากการเป็นพันธมิตรร่วมกับกลุ่มอักษะของเยอรมันในอีก 5 วันต่อมา และทำให้แผนการจัดตั้งกองทัพที่ 6 ของเยอรมันในประเทศโรมาเนียต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย

ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1944 หน่วยยานเกราะของเยอรมันรวบรวมกำลังตอบโต้กองทัพรัสเซียอีกครั้งที่ชายแดนประเทศฮังการี โดยกองพลยานเกราะที่ 1 กองพลยานเกราะที่ 23และกองพลยานเกราะที่ 24 ของกองทัพบกเยอรมันเปิดฉากการเข้าตีแนวหน้าของรัสเซีย ก่อนที่จะทำลายกองทัพน้อยของรัสเซียลงได้ถึง 3 กองทัพ แต่กองทัพรัสเซียก็ยังคงหนุนเนื่องและรุกเข้ามาจนสามารถล้อมกรุงบูดาเปสท์ เมืองหลวงของฮังการีและสามารถยึดครองประเทศฮังการีได้ในที่สุด


วัน ดี เดย์

ไม่แต่เฉพาะการรบในสมรภูมิรัสเซียเท่านั้นที่หน่วยยานเกราะเยอรมันต่อสู้อย่างสุดความสามารถ การรบในแนวรบด้านยุโรปตะวันตกภายหลังการยกพลขึ้นบกในวัน ดี เดย์ของฝ่ายสัมพันธมิตรก็เช่นกัน รถถังรุ่นใหม่ๆ อย่างเช่น รถถังแบบไทเกอร์ ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับรถถังของสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ก็ได้สร้างชื่อเสียงอย่างมากในการรบ การที่เครื่องยนต์มักจะมีปัญหาไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการต่อสู้ในระยะประชิดระหว่างรถถังกับรถถังของไทเกอร์ลดลงแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะการรบในนอร์มังดี มักจะเป็นการรบในระยะใกล้ไม่เกิน120-350 หลา อีกทั้งพื้นที่การรบในนอร์มังดียังเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการซุ่มโจมตีเป็นอย่างมาก ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องทุ่มเทกำลังรถถังและกำลังทหารเข้ากวาดล้างรถถังเยอรมันที่ซุ่มซ่อนอยู่ตามภูมิประเทศต่างๆ

ซึ่งการปฏิบัติภารกิจในการกวาดล้างนี้ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียอย่างหนัก โดยมีการคำนวณว่าในการรบที่นอร์มังดี ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องสูญเสียรถถังถึง 4 คัน เพื่อจะทำลายรถถังไทเกอร์เพียง 1 คัน จนมีคำกล่าวว่า การต่อสู้ด้วยรถถังที่นอร์มังดีเป็นการต่อสู้ระหว่างคุณภาพ และปริมาณ ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายพันธมิตรมีจำนวนรถถังมากกว่าฝ่ายเยอรมันถึง 2 ต่อ 1 โดยฝ่ายสัมพันธมิตรมีรถถังที่เข้าปฏิบัติการทั้งหมด 1,350 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถถังแบบเอ็ม 4 เชอร์แมน ส่วนฝ่ายเยอรมันมีรถถังเพียง 670 คัน มีทั้งรถถังแบบแพนเซอร์ 4, แพนเธอร์และไทเกอร์ อย่างไรก็ตามจำนวนรถถังสัมพันธมิตร 4 คันต่อ 1 คันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องแลกเพื่อทำลายรถถังแบบไทเกอร์นั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถทดแทนรถถังที่สูญเสียไปได้เกือบจะในทันที แต่ฝ่ายเยอรมันนั้นไม่มีโอกาสที่จะทดแทนรถถังของตนที่สูญเสียไปได้ เนื่องจากการโจมตีทางอากาศของสัมพันธมิตรที่โจมตีเส้นทางลำเลียงต่าง ๆ ที่มุ่งหน้าสู่นอร์มังดี ทำให้รถถังของเยอรมันในแนวหน้ามีไม่เพียงพอที่จะต่อต้านการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรในที่สุด

แม้จะต้องตกเป็นฝ่ายถอยร่นอย่างไม่หยุดหย่อนแต่หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็ยังคงสู้ยิบตาและไม่ปล่อยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรุกเข้ามาอย่างสะดวก ในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 กองพลยานเกราะ 2 กองพลของเยอรมันรุกเข้าสู่แนวหน้าที่บอบบางของกองพลยานเกราะที่ 7 ของสหรัฐฯ บริเวณเมืองเมย์เจล (Meijel) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองไอนด์โฮเว่น (Eindhoven) ประเทศเนเธอร์แลนด์ การรบเป็นไปอย่างรุนแรงกว่า 10 วัน ทหารเยอรมันยึดพื้นที่ได้ส่วนหนึ่งก่อนที่กำลังเสริมของสหรัฐฯ จะมาถึงและไล่ตีหน่วยยานเกราะของเยอรมันจนถอยร่นกลับไปยังจุดเริ่มต้น

ความสำเร็จในห้วงเวลาสั้นๆ ของการรุกที่เมืองเมย์เจลในครั้งนี้เป็นสิ่งที่จุดประกายให้ฮิตเลอร์เกิดแนวความคิดว่า เยอรมันยังไม่แพ้ การรุกตอบโต้ที่รุนแรงตามรูปแบบการรบแบบสายฟ้าแลบของเยอรมันยังสามารถเอาชนะข้าศึกได้ เขาจึงวางแผนการรุกกลับของกองทัพเยอรมันโดยมีเป้าหมายอยู่ที่เมืองท่า "แอนท์เวอร์ป" (Antwerp) ของประเทศเบลเยี่ยม แผนการดังกล่าวจะใช้กองกำลังรถถังและยานเกราะจากกองทัพยานเกราะที่ 6 เข้าตีแนวหน้าของสหรัฐฯ ทางตอนเหนือและกองทัพยานเกราะที่ 5 เข้าเจาะทางตอนกลางแนวตั้งรับของสหรัฐฯ ซึ่งการรุกของเยอรมันจะเคลื่อนที่ผ่านป่าอาร์เดนส์ (Ardennes) อันรกทึบและทุรกันดาร


การรบที่ป่าอาร์เดนส์

เยอรมันพยายามรวบรวมกำลังครั้งสุดท้ายเพื่อการรุกในครั้งนี้ ประกอบด้วยกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 1 ลีปสตานดาร์ด กองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 2 กองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 9 โฮเฮนสเตาเฟนและกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 12 ฮิตเลอร์จูเกน นอกจากนี้ยังมีกองพลยานเกราะที่ 116 และกองพลยานเกราะที่ 2 ของกองทัพบกเป็นหัวหอกในการรุก รวมทั้งมีกองพลยานเกราะเอสเอส ที่ 10 ฟรุนด์แบร์กและกองพลยานเกราะที่ 21 เป็นกำลังหนุน ฮิตเลอร์สั่งรวบรวมรถถังและยานเกราะทั้งหมดที่มีอยู่ได้เป็นจำนวนถึง 950 คันเพื่อใช้เป็นกำลังหลักในการรุก ซึ่งในจำนวนนี้มีรถถังรุ่นใหม่ล่าสุดคือรถถังแบบไทเกอร์ 2 (Tiger II) หรือที่มีฉายาว่า "คิง ไทเกอร์" (King Tiger) ที่เป็นตำนานของสุดยอดรถถังแห่งยุคจำนวน 52 คันรวมอยู่ด้วย

การรุกเปิดฉากขึ้นในรุ่งอรุณของวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1944 เมื่อรถถังคิง ไทเกอร์จำนวน 30 คันของกองพันรถถังหนักเอสเอส ที่ 501 (501st SS Heavy Tank Battalion) ของเยอรมันติดตามด้วยทหารราบเคลื่อนที่เข้าตีแนวหน้าของทหารสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านของทหารสหรัฐฯ ที่ด้อยประสบการณ์ แม้รถถังคิง ไทเกอร์จะทรงอานุภาพเพียงใด แต่เมื่อพื้นที่การรบเต็มไปด้วยไหล่เขาลาดชัน และป่าที่หนาทึบได้ทำให้ประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ของมันลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามในช่วง 2 วันแรกของการรบ เยอรมันก็สามารถรุกคืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว กองพลยานเกราะ "แลฮ์ร" (Lehr Panzer Division) ของเยอรมัน

จนกระทั่งในวันที่ 22 ธันวาคม กองทัพเยอรมันก็เข้าโอบล้อมเมืองบาสตองน์ (Bastogne) และกองพลยานเกราะที่ 2ก็พยายามเข้ายึดคลังน้ำมันของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่บริเวณริมสะพานข้ามแม่น้ำเมอส (Meuse) แม้จะอยู่ห่างจากคลังน้ำมันเพียง 6 กิโลเมตรแต่กองพลยานเกราะที่ 2 ก็ไม่สามารถยึดคลังน้ำมันซึ่งจะใช้สำหรับรถถังและยานเกราะในการรุกต่อไปได้ ขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรก็เริ่มตอบโต้และในวันต่อมาเมฆหมอกที่ปกคลุมท้องฟ้าเหนือสมรภูมิซึ่งเป็นอุปสรรคต่อฝูงบินสหรัฐฯ ก็เริ่มจางหายไป ทำให้รถถังและยานเกราะของเยอรมันถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ประกอบกับการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในที่สุดในวันที่ 24 ธันวาคมเยอรมันก็ตกเป็นฝ่ายรับและเริ่มล่าถอยท่ามกลางความสูญเสียอย่างหนัก

และในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรก็โจมตีกองทัพยานเกราะที่ 5 ของเยอรมันในทุกๆ ด้านจนต้องล่าถอยออกจากพื้นที่ป่าอาร์เดนส์ ผลจากการรบในครั้งนี้ทำให้เยอรมันต้องสูญเสียทหารไปถึง 120,000 คน รถถังและยานเกราะเป็นจำนวนกว่า 600 คัน ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้เยอรมันสูญเสียทรัพยากรสงครามเกือบทั้งหมดและทำให้แนวรบด้านรัสเซียมีความเปราะบางอย่างมาก เนื่องจากถูกดึงกำลังทหารและกำลังรถถังไปเสริมในการรบดังกล่าว จนรัสเซียสามารถเข้ายึดโปแลนด์ได้อย่างไม่ยากเย็น นับจากนี้ความพ่ายแพ้ของเยอรมันได้กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์สั่งให้ดึงกองทัพยานเกราะเอสเอส ที่ 6 ซึ่งมีรถถังและยานเกราะอยู่จำนวนหนึ่งจากแนวรบด้านฝรั่งเศสเพื่อไปเสริมแนวรบในประเทศฮังการี พร้อมๆ กับความพยายามในการก่อตั้งกองทัพน้อยยานเกราะขึ้นมาใหม่ คือ กองทัพน้อยยานเกราะที่ 24 และกองทัพน้อยยานเกราะ "กรอสส์ดอยช์ลันด์" (Grossdeutschland) เพื่อเตรียมการรับมือกับการรุกครั้งใหญ่ของกองทัพรัสเซียซึ่งประกอบไปด้วยกำลังทหาร 163 กองพลและรถถังอีกเป็นจำนวนถึง 7,042 คัน ในขณะที่เยอรมันมีรถถังและยานเกราะอื่นๆ อยู่เพียง 1,136 คันเท่านั้น

ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1945 รัสเซียเปิดฉากรุกครั้งใหญ่บริเวณแม่น้ำ "วิสทูรา" ของโปแลนด์ การรุกเป็นไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากรัสเซียมีกำลังที่เหนือกว่าอย่างมาก ทหารรัสเซียได้ใช้ยุทธวิธีการรบแบบสายฟ้าแลบที่เยอรมันเคยประสบความสำเร็จในช่วงต้นของสงครามมาแล้ว โดยรถถังของรัสเซียจะใช้ความเร็วแล่นเจาะแนวตั้งรับของทหารราบเยอรมันเข้าไปอย่างรวดเร็วและเจาะลึกเข้าไปจนถึงส่วนบังคับบัญชาของแต่ละหน่วย ก่อนที่จะโอบล้อมและตัดขาดทหารราบออกจากกองบัญชาการของพวกเขา ส่งผลให้ทหารเยอรมันอยู่ในสภาพสับสนเพราะขาดการบังคับบัญชาและการติดต่อสื่อสารกับหน่วยข้างเคียง ก่อนที่รถถังและทหารราบรัสเซียจะเข้าบดขยี้ทหารเยอรมันในวงล้อมนั้นจนหมดสิ้น

ด้วยยุทธวิธีดังกล่าวทำให้กองทัพรัสเซียสามารถเคลื่อนที่รุกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ กองทัพยานเกราะที่ 4 ของเยอรมันก็ถูกโจมตีจนได้รับความบอบช้ำ แต่อีก 1 สัปดาห์ต่อมากองทัพน้อยยานเกราะ กรอสส์ดอยช์ลันด์ และกองทัพน้อยที่ 24 ที่อ่อนล้าและมีรถถังเพียงบางส่วนก็รุกตอบโต้กองทัพรัสเซีย และสามารถตัดขาดกองทัพรถถังโซเวียตที่ 4 ออกจากกำลังส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากกองทัพน้อยทั้งสองของเยอรมันอ่อนแอเกินไปจึงทำให้ทหารรัสเซียฝ่าวงล้อมออกมาได้และจัดแนวรุกขึ้นใหม่ เป็นเวลาเดียวกับที่กองพลยานเกราะที่ 8 และกองพลทหารราบยานเกราะ "ฟูเรอห์" เดินทางมาถึง และร่วมกันเข้าตีแนวหน้าของรัสเซียอย่างรุนแรง ส่งผลให้กองทัพรถถังโซเวียต ที่ 3 และกองทัพรถถังโซเวียตที่ 4 ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะกองทัพรถถังโซเวียตที่ 3 นั้นถูกทำลายอย่างหนักจนเกือบสิ้นสภาพความเป็นกองทัพรถถังเลยทีเดียว

เมื่อได้รับชัยชนะ หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็พยายามรุกต่อไป แต่ด้วยความขาดแคลนทั้งกำลังพลและรถถัง ทำให้กองทัพรัสเซียเป็นฝ่ายรุกตอบโต้กลับมาอีก โดยเฉพาะในวันที่ 14 มีนาคม กองทัพยูเครเนียน-โซเวียต ที่ 4 เปิดฉากรุกใส่กองทัพยานเกราะที่ 4 ที่อ่อนระโหยโรยแรงเต็มที แต่โชคยังเข้าข้างเยอรมันอยู่บ้างที่กองพลยานเกราะ ที่ 16 สังกัดกองทัพน้อยยานเกราะ ที่ 24 เดินทางมาถึงและสามารถนำกำลังพลของกองทัพยานเกราะ ที่ 4 ฝ่าวงล้อมของทหารรัสเซียออกมาได้ พร้อมๆ กับรวบรวมกำลังที่เหลือรุกเข้าใส่ทหารรัสเซียจนได้รับความสูญเสียอย่างหนักและต้องชะลอแผนการบุกลงเพื่อปรับกำลังใหม่


ความหวังครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตามกระแสน้ำแห่งชัยชนะในสงครามไม่มีวันหวนกลับมาสู่เยอรมันอีกต่อไปแล้ว กองทัพรัสเซีย กองทัพสหรัฐฯ และสัมพันธมิตรยังคงรุกเข้ามายังดินแดนเยอรมันอย่างไม่หยุดยั้ง ในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 เยอรมันรวบรวมรถถังและยานเกราะหลากชนิดที่หลงเหลืออยู่จำนวนไม่เกิน 25 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการฝึก ส่วนกำลังพลประจำรถก็จัดจากโรงเรียนทหารต่างๆ จัดตั้งเป็นกองพลยานเกราะ คลอสวิทซ์ (Panzer Division Clausewitz) และเข้าตีกองทัพสหรัฐฯ ที่กำลังรุกเข้ามาแม่น้ำ "เอลเบ" (Elbe) แม้ว่าในช่วงแรกทหารเยอรมันจะเริ่มต้นได้ดีด้วยการหยุดยั้งทหารอเมริกันได้ แต่เมื่อกำลังหนุนของสหรัฐฯ มาถึง กองพลยานเกราะ คลอสวิทซ์ ก็ตกอยู่ในวงล้อมและแม้จะต่อสู้อย่างหลังชนฝา ทหารเยอรมันทั้งหมดก็ถูกกวาดล้างจนหมดสิ้นในวันที่ 21 เมษายน

ขณะเดียวกันกองทัพรัสเซียก็เคลื่อนที่เข้าสู่กรุงเบอร์ลินผ่านทางแม่น้ำ โอเดอร์ แต่หน่วยยานเกราะของเยอรมันก็ยังไม่สิ้นเขี้ยวเล็บ ในวันที่ 16 เมษายน รถถังแพนเธอร์ ของกรมยานเกราะเอสเอส ที่ 11 และรถถังไทเกอร์ของกองพันรถถังหนักเอสเอส ที่ 503 ได้ซุ่มโจมตีกรมรถถังของรัสเซียที่เคลื่อนที่เข้ามาย่ามใจ เป็นผลให้รถถังรัสเซียจำนวนกว่า 50 คันถูกทำลายลง พร้อมๆ กับที่กองพลยานเกราะ มุนช์แบร์ก ก็ซุ่มโจมตีกรมรถถังของรัสเซียอีกกรมหนึ่งที่เมือง ดีเดอร์ ทำให้รถถังนับสิบคันของรัสเซียถูกทำลาย รวมทั้งกองพันรถถังหนักเอส เอส ที่ 502 ก็โจมตีกองทัพน้อยการ์ด ที่ 8 ของรัสเซียจนแทบละลายทั้งกองพัน

ชัยชนะเหล่านี้แม้จะเป็นชัยชนะในช่วงเวลาสุดท้าย แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของหน่วยยานเกราะเยอรมันได้เป็นอย่างดี พวกเขาต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของพวกเขาแม้จะตระหนักดีว่า ไม่มีคำว่าชัยชนะสำหรับเยอรมันอีกต่อไปแล้ว ในช่วงสุดท้ายของการรบในกรุงเบอร์ลินก่อนสิ้นสุดสงคราม มีรถถังของเยอรมันหลงเหลืออยู่ไม่ถึง 70 คันพร้อมด้วยรถปืนใหญ่อัตตาจรชุดสุดท้ายจำนวน 31 คันของกองพลยานเกราะ มุนช์แบร์ก, กองพลน้อยรถปืนใหญ่อัตตาจร ที่ 249, กองพลทหารราบยานเกราะที่ 18 และกองพลทหารราบยานเกราะที่ 25 ที่ยังคงต่อสู้กับกองทัพรถถังรัสเซียที่เคลื่อนที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกองพลน้อยรถปืนใหญ่อัตตาจร ที่ 249 นั้นได้เดินทางมาจากนอกกรุงเบอร์ลินและฝ่าวงล้อมทหารรัสเซียเข้าไปร่วมต่่อสู้กับทหารเยอรมันหน่วยอื่นๆ ในเมือง ทหารเยอรมันต่อสู้อย่างเหนียวแน่นจะกระทั่งเหลือรถปืนใหญ่อัตตาจรเพียง 9 คันที่ยังคงปักหลักอยู่ในบริเวณโรงเรียนมัธยมเบอร์ลินซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้าย

จนกระทั่งในคืนวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ข่าวการฆ่าตัวตายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก็เผยแพร่ออกมา ทหารยานเกราะของกองพลน้อยปืนใหญ่อัตตาจร ที่ 249 พร้อมรถปืนใหญ่อัตตาจรที่เหลืออยู่เพียง 3 คันก็ตัดสินใจฝ่าวงล้อมของทหารรัสเซียเพื่อต้องการไปยอมจำนนต่อทหารสหรัฐฯ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของกรุงเบอร์ลิน แต่รถทั้งสามคันก็ถูกรถถังรัสเซียยิงทำลายอย่างรวดเร็วเมื่อเคลื่อนที่ผ่านบริเวณเขต สแปนเดา อย่างไรก็ตามพลประจำรถที่เหลืออยู่ส่วนหนึ่งซึ่งรวมทั้งผู้บัญชาการกองพลน้อยปืนใหญ่อัตตาจร ที่ 249 สามารถเล็ดรอดผ่านแนวของทหารรัสเซียออกไปมอบตัวต่อทหารสหรัฐฯ ได้ในที่สุด และในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 กรุงเบอร์ลินก็ถูกยึดครองโดยกองทัพรัสเซีย การต่อต้านของหน่วยยานเกราะเยอรมันก็ยุติลงพร้อมๆ กับการปิดฉากความยิ่งใหญ่และห้าวหาญของหน่วยยานเกราะเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างสมบูรณ์





สภาพรถถัง StuG III ของเยอรมันที่ถูกยิงจนพังพินาศ พร้อมกับศพของพลประจำรถที่กระบอกปืนรถถัง รถถังรุ่นนี้ถูกผลิตขึ้นมา เพื่อเป็นรถถังสนับสนุนทหารราบ แต่เนื่องจากความขาดแคลนรถถังในแนวหน้าของเยอรมัน ทำให้มันถูกเปลี่ยนบทบาทมาเป็นรถถังล่ารถถัง หรือ Tank hunter หรือในภาษาเยอรมันคือ Jagdpanzer

จุออ่อนของรถถังนี้คือเกราะที่บาง เพราะตามแผนแบบ รถถัง StuG III จะอยู่ในแนวหลัง หรือห่างไกลจากการสู้รบ ทำหน้าที่ใช้ปืนใหญ่ ยิงสนับสนุนการรุกของทหารราบ มันจึงไม่เหมาะที่จะทำการรบกับรถถังด้วยกันเองในระยะประชิด เพราะหากนำไปใช้ผิดประเภทแล้ว ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างภาพที่เห็น




รถถังPanzer VI - Tiger รุ่นที่ดัดแปลงเพื่อให้สามารถลุยน้ำลึกได้ จะเห็นท่อไอเสียของรถ ที่อยู่ทางตอนท้าย ถูกยืดให้สูงขึ้นเพื่อให้พ้นระดับน้ำ

รถถัง Tiger นับเป็นรถถังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดรุ่นหนึ่งของเยอรมัน มีเกราะหนา ติดปืนขนาด 88 มม. สามารถทำลายรถถังข้าศึกทุกชนิดได้ในขณะนั้น รถถังหนัก 55 ตันรุ่นนี้มีชื่อเสียงอย่างมากในการรบที่นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรยกพลขึ้นบกในวัน ดี เดย์ แล้ว การที่เครื่องยนต์ของมันมักมีปัญหา ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการต่อสู้ในระยะประชิดระหว่างรถถังกับรถถังลดลงแต่อย่างใด

ทั้งนี้เพราะการรบในนอร์มังดี มักจะเป็นการรบในระยะใกล้ ไม่เกิน 120-350 หลา อีกทั้งยังเป็นภูมิประเทศที่เหมาะกับการซุ่มโจมตี และด้วยปืนประจำรถขนาด 88 มม. ที่ทรงอานุภาพของไทเกอร์ ทำให้มันสามารถเอาชนะรถถังทุกชนิดของฝ่ายพันธมิตรได้ น่าเสียดายที่รถถังไทเกอร์ถูกผลิตออกมาเพียง 1,350 คันก่อนสงครามสิ้นสุด ซึ่งน้อยเกินไปที่จะต้านทานการบุกของข้าศึกจากทั้งสองด้าน

มีการคำนวณว่า ในการรบที่นอร์มังดี ฝ่ายพันธมิตรต้องสูญเสียรถถัง 4 คัน เพื่อที่จะทำลายรถถังไทเกอร์เพียง 1 คัน จนเกิดแนวความคิดว่า การต่อสู้ด้วยรถถังที่นอร์มังดี เป็นการต่อสู็ระหว่างคุณภาพ และปริมาณ (quantity and quality) ทั้งๆ ที่ฝ่ายพันธมิตรมีจำนวนรถถังมากกว่าฝ่ายเยอรมันถึง 2 ต่อ 1 ในการรบที่นอร์มังดี

โดยพันธมิตรมีรถถังทั้งหมดที่เข้าปฏิบัติการ 1,350 คัน ฝ่ายเยอรมันมีรถถัง 670 คัน ส่วนใหญ่พันธมิตรใช้รถถัง M 4 เชอร์แมน ส่วนเยอรมันมีทั้ง Panzer IV, V และ VI

อย่างไรก็ตาม จำนวนรถถัง 4 ต่อ 1 ที่พันธมิตรต้องแลกเพื่อทำลายรถถังไทเกอร์นั้น ฝ่ายพันธมิตรสามารถทดแทนรถถังที่สูญเสียไปได้เกือบจะในทันที แต่ฝ่ายเยอรมันนั้น ไม่มีโอกาสที่จะทดแทนรถถังไทเกอร์ที่สูญเสียไปได้ เนื่องจากการโจมตีทางอากาศของพันธมิตรที่โจมตีเส้นทางลำเลียงต่างๆ ที่มุ่งหน้าสู่นอร์มังดี ทำให้รถถังของเยอรมันในแนวหน้ามีไม่เพียงพอที่จะต่อต้านการบุกของพันธมิตรในที่สุด




รถถัง T 34 ของรัสเซียที่ถูกเยอรมันยึดได้ แล้วนำกลับมาใช้ ในภาพเป็นรถถังของ กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาส ไรซ์ รถถัง T 34 ของรัสเซียได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการเปลี่ยนขนาดปืนใหญ่จาก 76 มม. เป็น 85 มม. ในชื่อ T 34/85

เยอรมันพยายามสร้าง Panther ขึ้นมาเพื่อพิชิต T 34 แต่ด้วยความที่ Panther เป็นรถถังที่ออกแบบมาดีเยี่ยม ขั้นตอนการผลิตต้องการความพิถีพิถัน สายการผลิตของ Panther จึงช้า ต้องการแรงงานที่มีฝีมือในการผลิต ส่งผลให้การผลิตรถถังรุ่นนี้ไม่ทันกับความต้องการในแนวหน้า

รถถัง T 34 นี้ถือว่าเป็นรถถังหลักของรัสเซีย มีบางคนกล่าวว่า รถถังรุ่นนี้เป็นรถถังที่ยอดเยี่ยมที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง มันถูกผลิตออกมาอย่างมากมายในช่วงสงคราม รถถังหนัก 26 ตันรุ่นนี้ มีเกราะหนาถึง 45 มม. หรือ 1 นิ้วครึ่ง ติดปืนใหญ่ขนาด 76.2 มม. ที่สามารถหยุดรถถังของข้าศึกได้ทุกชนิด มีปืนกล 7.62 มม. 2 กระบอก (ระบบกระสุนของรัสเซียใช้ขนาด 7.62 มม. ในขณะที่เยอรมันใช้ขนาด 7.92 มม.)

T 34 มีกำลังแรงม้าถึง 500 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้ 51 กม.ต่อ ชม. มีระยะทำการ 306 กม. (ปฏิบัติการได้ไกลที่สุดภายใต้การเติมเชื้อเพลิงเต็มถังครั้งเดียว) มีพลประจำรถ 4 คน คือ ผู้ควบคุมรถ พลปืน พลบรรจุกระสุน และพลขับทำหน้าที่พลปืนกลด้วย

รถถัง T 34 ไม่ติดวิทยุ ยกเว้นรถถังของผู้บังคับหมวดเพียงคันเดียว จะเห็นว่าสมรรถนะของรถถังรุ่นนี้เหนือกว่ารถถัง Panzer III และ IV (more than a match for Panzer III and IV) เมื่อต้องเผชิญหน้ากันด้วยพลประจำรถถังที่มีความสามารถเท่าเทียมกัน




รถถัง Panzer III ของหน่วยยานเกราะเยอรมันในรัสเซีย ภาพนี้ถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม 1943 พลประจำรถจะสวมเสื้อหนาวที่ได้รับแจกจ่ายให้ เพื่อต่อสู้กับอากาศหนาวของประเทศรัสเซีย ที่หนาวต่ำกว่าศูนย์องศาถึง - 30 ในเวลากลางวัน

ทหารเยอรมันคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า "ซุปที่ต้มเดือด จะแข็งตัวอย่างรวดเร็วในเวลา 60 วินาที ลำกล้องปืนหรือกระบอกปืนเป็นจุดอันตรายที่สุด เพราะหากเอามือไปจับ หรือไปโดนเข้า มือจะติดอยู่กับเหล็กจนแกะไม่ออก และเมื่อแกะออกมาได้ หนังจะถูกลอกติดไปกับปืน เป็นแผลน่ากลัวทีเดียว"

Panzer III ได้รับการยกย่องจากนายพลกูเดเรียน บิดาแห่งการรบแบบสายฟ้าแลบว่า เป็นกระดูกสันหลังชองหน่วยยานเกราะเยอรมัน มันทำหน้าที่ทุกอย่างในการรุกเข้าหาข้่ศึกในช่วงครึ่งแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง

มันถูกผลิตโดยบริษัทเดมเลอร์เบนซ์ (Daimler-Benz) แรกเริ่มติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 37 มม. และปืนกล 7.92 มม. 1 กระบอก ต่อมาได้เปลี่ยนปืนใหญ่เป็นขนาด 50 มม. พร้อมเพิ่มปืนกล 7.92 มม.อีก 1 กระบอก มีเครื่องยนต์ที่กำลังสูง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 40 กม.ต่อ ชม. เกราะหนา 30 มม. น้ำหนักรถ 21 ตัน มีระบบกันสะเทือนที่ยอดเยี่ยม เพราะมีโช็คอัพที่ออกแบบโดย ดร. เฟอร์ดินานด์ ปอร์ช (Dr. Ferdinand Porche) Panzer III มีการปรับปรุงหลายรุ่น ส่วนใหญ่ออกสู่แนวรบด้านรัสเซีย



รถถัง Panzer IV ซึ่งนับเป็นรถถังที่รับใช้กองทัพนาซีเยอรมันมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม จนสิ้นสุดสงคราม นายพลกูเดเรียน บิดาแห่งยานเกราะเยอรมันและผู้ริเริ่มแนวคิดสงครามสายฟ้าแลบ เป็นผู้ที่คัดค้านการยุติการผลิตรถถังรุ่นนี้ ในห้วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยกูเดเรียนให้เหตุผลว่า เยอรมันยังต้องการรถถังรุ่นนี้อยู่ เพราะพลประจำรถเกือบทุกคน มีความคุ้นเคยกับรถถังรุ่นนี้เป็นอย่างดี "พวกเขาสามารถบังคับรถถังรุ่นนี้ได้ แม้กระทั่งยามที่พวกเขาหลับ" นายพลกูเดเรียนกล่าว




รถถัง Panzer III ของหน่วยยานเกราะเยอรมัน รถถังรุ่นนี้ต่างจากรถถัง Panzer IV ตรงที่มีล้อกดสายพาน 6 ล้อ ในขณะที่ Panzer IV มี 8 ล้อ ส่วนล้อรองสายพาน Panzer III มี 3 ล้อ และ Panzer IV มี 4 ล้อ

ในช่วงปลายของสงคราม Panzer III ถูกนำไปดัดแปลงเป็นรถถังรุ่นใหม่ๆ หลายแบบ เนื่องจากปืนที่ติดมากับรถ มีขนาดพียง 50 มม. และด้วยขนาดของป้อมปืนที่เล็ก ทำให้ไม่สามารถขยายขนาดของปืนใหญ่ได้มากกว่านี้อีกแล้ว จึงทำให้มันไม่สามารถที่จะต่อสู้กับรถถังรุ่นใหม่ๆของข้าศึกในแนวหน้าได้




รถถัง Panzer III รุ่นนี้เป็นรถถังบังคับการสำหรับผู้บังคับกองพัน จะเห็นได้จากปืนที่ติดกระบอกกลางถูกเปลี่ยนจากปืนใหญ่ 50 มม. มาเป็นเพียงปืนกล เพื่อป้องกันตนเอง ส่วนปืนใหญ่ที่ติดอยู่กับป้อม ด้านซ้ายมือ ถ้าสังเกตุให้ดีจะเป็นปืนปลอมที่ติดไว้เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด

สาเหตุที่ย้ายเอาปืนใหญ่ออกไป ก็เพื่อต้องการให้เกิดพื้นที่ในตัวรถถัง เพื่อติดตั้งวิทยุ และใช้เป็นห้องบัญชาการของผู้บังคับกองพัน ซึ่งโดยทั่วไปรถถังนี้จะไม่ได้ออกสู่แนวหน้า จึงต้องการเพียงปืนกลเพื่อใช้ป้องกันตนเองเท่านั้น




รถถัง Panzer IV ของเยอรมันในรูปนี้ แสดงให้เห็นถึงปืนใหญ่ขนาด 75 มม. รถถังรุ่นนี้มีพลประจำรถ 5 คน คือ ผู้บังคับรถ พลปืน พลบรรจุกระสุน พลวิทยุ และพลขับ จะสังเกตุเห็นเสาวิทยุที่ติดอยู่กับรถทางด้านซ้ายมือของภาพ การใช้วิทยุสื่อสารประจำรถถัง ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการสื่อสารในสนามรบของเยอรมัน และได้กลายเป็นแบบฉบับของหน่วยรถถังในยุคหลังสงคราม


-------------------------------------



ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สอง




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 15:42:06 น.
Counter : 9200 Pageviews.  

หน่วยยานเกราะ หรือ แพนเซอร์ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ 1

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2



หน่วยยานเกราะ หรือแพนเซอร์ ของนาซีเยอรมัน
ในสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่ 1

จาก //www.geocities.com/saniroj

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ





รถถังแบบ Panzer IV ติดตั้งปืนใหญ่ 75 ม.ม. ในภาพนี้เป็นรถถังของกองพลยานเกราะที่ 2 (2nd Panzer Division) ของกองทัพบกเยอรมัน (Heer) โดยจะเห็นสัญญลักษณ์ของหน่วยอยู่ตรงช่องพลขับทางด้านขวามือของภาพ ซึ่งต่างจากกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 (2nd SS. Panzer Division) ซึ่งเป็นของหน่วยเอส เอส (Waffen SS)

รถถังรุ่นนี้เป็นแกนหลักของหน่วย Panzer ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ของการรบของกองทัพเยอรมัน จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เนื่องจากการพัฒนารถถังรุ่นใหม่ๆ ของรัสเซียและพันธมิตร ทำให้เยอรมันต้องพัฒนารถถังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาเสริม อย่างไรก็ตาม Panzer IV ก็ยังคงมีบทบาทในกองทัพยานเกราะนาซีเยอรมันจนถึงปลายสงคราม



-------------------------------------



ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันถูกจำกัดอาวุธจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์ (Treaty of Versailles) ทำให้เยอรมันต้องพัฒนารถถังขึ้นมาภายใต้ชื่อโครงการรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร แม้ว่าการใช้รถถังจะถูกคิดขึ้นมาจากนักคิดชาวอังกฤษ แต่นายพล ไฮน์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ของเยอรมันเป็นผู้คิดที่จะนำเอารถถังมาใช้ในการรบแบบ สายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ซึ่งมีหลักคือใช้การสนธิกำลังของการโจมตีจากอากาศยาน และอาวุธปืนใหญ่โจมตีข้าศึก ณ จุดใดจุดหนึ่งจนข้าศึกเริ่มอ่อนแรง

จากนั้นจะใช้หน่วยรถถัง หรือ Panzer รุกเข้าหาด้วยความเร็ว (Speed) พร้อมกับทหารราบ ตรงจุดนี้ ความเร็วในการรุกของยานเกราะจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการโอบล้อมข้าศึกที่กำลังขวัญตกต่ำจากการถูกโจมตีทางอากาศและจากปืนใหญ่ โดยมีทหารราบเป็นกองหนุนที่เข้าบดขยี้กำลังข้าศึกที่อ่อนล้าในวงล้อมดังกล่าว

จากนั้นหน่วยยานเกราะจะทำการโอบล้อมหน่วยของข้าศึกต่อไป รวมทั้งตัดเส้นทางการส่งกำลังของข้าศึก และทำลายหน่วยของข้าศึกที่ถูกล้อมทีละหน่วย การรบแบบสายฟ้าแลบ หรือ Blitzkrieg นี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงแรกของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการบุกโปแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และรัสเซีย หน่วยยานเกราะหรือ แพนเซอร์ (Panzer -Armour ในภาษาอังกฤษ) ได้แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นต้นแบบของการใช้รถถังในการรบมาจนถึงปัจจุบัน

ในระยะแรกนั้น หน่วย Panzer ได้ใช้รถถังแบบ Panzer II และ Panzer III เป็นรถถังหลัก โดยเฉพาะรถถังแบบ Panzer III ซึ่งในระยะแรกติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 37 ม.ม. แต่เมื่อเผชิญกับ รถถังมาทิลด้า (Matilda) ของอังกฤษในการรบในฝรั่งเศสในช่ววงต้นของสงคราม ที่แม้จะมีสมรรถนะด้อยกว่า แต่มีเกราะที่หนากว่า ทำให้เยอรมันต้องทำการปรับปรุงรถถังรุ่นนี้ใหม่

การปรับปรุงรถถังแบบ Panzer III ทำขึ้นด้วยการเปลี่ยนขนาดปืนใหญ่จาก 37 ม.ม. เป็น 50 ม.ม. ซึ่งในระยะแรกนั้น เหนือกว่ารถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก และได้กลายเป็นกำลังหลักของหน่วย Panzer ประกอบกับรถถังรุ่นนี้มีความเชื่อถือได้ในเรื่องเครื่องยนต์

ในช่วงที่เยอรมันรุกสู่สมรภูมิแอฟริกา ภายใต้การนำของนายพล เออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) แห่งกองกำลังแอฟริกาของเยอรมัน หรือ ดอยช์ แอฟริกา คอร์ (Deutsch Afrikakorps - DAK ในภาษาเยอรมัน หรือ German Africa Corps ในภาษาอังกฤษ) ทำให้เยอรมันมีความได้เปรียบกว่ากำลังของอังกฤษในแอฟริกา

รอมเมลได้ใช้หน่วยยานเกราะที่ขึ้นชื่อในการรบที่มีนามว่า กองพลยานเกราะที่ 21 (the 21st Panzer Division) ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อหน่วยว่า กองพลเบาที่ 5 (the 5th Light Division) ร่วมกับหน่วย Panzer คือกองพลยานเกราะที่ 15 และกองพลเบาที่ 50 โจมตี เอลอากลีล่า (El Agheila)

แม้ว่าทหารเยอรมัน จะติดอยู่ในสนามทุ่นระเบิดของฝ่ายอังกฤษ แต่ด้วยความตกใจ ฝ่ายอังกฤษไม่ได้ทำการโต้ตอบ และกลับเป็นฝ่ายถูกทหารหน่วย Afrika Korps โจมตี และยึดที่หมายได้

ต่อมารอมเมลก็เข้าตีเบงกาซี (Benghazi) และโทบรุก (Tobruk) หน่วย Panzer (กองพลยานเกราะที่ 21 และ กองพลยานเกราะที่ 15) ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับฝ่ายอังกฤษ ถึงความสามารถของหน่วยยานเกราะเยอรมันในแอฟริกา แม้ว่าในภายหลัง Afrika Korps จะประสบกับความพ่ายแพ้ เนื่องจากขาดการส่งกำลังบำรุงที่เพียงพอทั้งน้ำมัน และยุทโธปกรณ์มราจำเป็น เนื่องจากขบวนเรือขนส่งของอิตาลี ถูกโจมตีจากอังกฤษ แต่ชื่อเสียงของ Panzer ก็เป็นที่จดจำไปอีกนาน

ชัยชนะที่น่าชื่นชมของหน่วย Panzer ที่มีในฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1940 ทำให้หน่วย Panzer มีการประเมินการความสำเร็จของพวกเขาผิดพลาด ชัยชนะในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากความเร็ว ความแข็งแกร่ง และการวางแผนที่ดีก็จริง แต่กำลังของฝ่ายต่อต้านในฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนั้น ด้อยกว่าเยอรมันอย่างมาก

อีกประการหนึ่งก็คือ เยอรมันมิได้ประเมินตนเองว่า ตนมีศักยภาพในการรบระยะยาวไม่ได้มากนัก นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ นาซีเยอรมัน พยายามเอาชนะข้าศึกให้ได้อย่างรวดเร็ว

การบุกเข้าโจมตีรัสเซียในยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ได้แสดงให้เห็นผลของการประเมินที่ผิดพลาดของฝ่ายเสนาธิการเยอรมัน รัสเซียนั้นมีกำลังที่ล้าสมัยก็จริง แต่ด้วยกำลังพลที่มีมากมายมหาศาลไม่รู้จักหมดสิ้น ตลอดจน ศักยภาพด้านอุตสาหกรรม แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากมาย บวกกับดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล และฤดูหนาวที่หนาวเย็น เป็นสิ่งที่เยอรมัน และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มองข้าม ดังจะเห็นได้จาก ฮิตเลอร์ประเมินไว้ว่า การยึดรัสเซียจะใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือน นับเป็นการประมาท และประเมินรัสเซียต่ำเกินไปอย่างมาก

แม้ว่าหน่วยยานเกราะ Panzer จะได้มีการขยายอัตรากำลังเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพื่อเตรียมการบุกรัสเซีย รถถังแบบ Panzer III และ Panzer IV มีการเพิ่มอัตราการผลิตเพื่อให้เป็นรถถังหลัก กองพล Panzer 17 กองพล รวมรถถังทั้งสิ้น 3,332 คัน รุกเข้าสู่รัสเซีย แต่ในจำนวนนี้มีรถถัง Panzer I และ Panzer II ที่ล้าสมัยอยู่ด้วยกว่า 1,156 คัน รถถัง Panzer III และ Panzer IV ที่มีประสิทธิภาพ มีเพียง 1,404 คัน ที่เหลือเป็น Panzer 38 (t) ที่ยึดมาจากเชคโกสโลวะเกีย ในขณะที่รัสเซียมียานเกราะที่ล้าสมัย กว่า 24,000 คัน และมีรถถัง T 34 และ KV 1 ที่ทรงอานุภาพ ติดตั้งปืนใหญ่ 76 ม.ม. และเหนือกว่า Panzer III และ IV ในทุกๆด้าน กว่า 1,400 คัน




รถถัง Panzer IV รุ่น J ติดตั้งปืนใหญ่ 75 ม.ม. นายพลกูเดเรียน บิดาแห่งยานเกราะเยอรมัน ได้ยกย่องรถถังรุ่นนี้ ว่าเป็น หัวหอกของหน่วย Panzer อย่างแท้จริง




ในวันที่ 21 มิ.ย. 1941 เยอรมันเปิดฉากโจมตีรัสเซียอย่างรวดเร็วตลอดทุกแนวรบ จนถึงวันที่ 3 ก.ค. 1941 เฉพาะกลุ่มกองทัพกลาง (Army Group Centre) ของเยอรมันสามารถทำลายหรือยึดรถถังรัสเซียทั้งที่ Bryansk และ Minsk ได้ไม่น้อยกว่า 2,585 คัน

ในวันที่ 10 ก.ค. กลุ่มกองทัพยานเกราะของนายพลกูเดเรียน สามารถยึดยานเกราะรัสเซียได้ถึง 2,000 คันในย่าน Smolensk

หน่วย Panzer ของเยอรมันประสบชัยชนะอย่างงดงาม ในช่วงแรกของ ยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) จนถึงยุทธการไต้ฝุ่น (Typhoon) ซึ่งเป็น ยุทธการยึดเมืองมอสโคว์ (Moscow) เมืองหลวงของรัสเซีย

ความผิดพลาดก็เกิดขึ้น เมื่อ ฮิตเลอร์สั่งการให้กองพล Panzer สองหน่วยจากกองทัพกลุ่มกลางไปช่วยกองทัพกลุ่มเหนือ และใต้ เพื่อยึดเลนินกราด และยูเครนซึ่งอยู่ทางตอนเหนือและใต้ตามลำดับ ทำให้กองทัพกลุ่มกลางขาดความเข้มแข็ง จะเห็นได้ว่า หน่วย Panzer เป็นหน่วยที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในแต่ละกองทัพ เมื่อขาด หรือลดกำลังหน่วย Panzer ลงไปจากหน่วยหลัก จะทำให้ ความหนักแน่น เด็ดขาดของหน่วยนั้นๆ ลดลงด้วยทันที




รถถัง T 34 ของรัสเซีย คู่ปรับตัวฉกาจของหน่วยยานเกราะของเยอรมัน รถถังรุ่นนี้ติดตั้งปืนใหญ่ขนาดความกว้างปากลำกล้อง 76 มม. ที่สามารถทำลายรถถังเยอรมันได้ทุกชนิด แม้กระทั่งรถถัง Panzer V - Panther จะมีก็แต่รถถัง Tiger และ Tiger II เท่านั้น ที่พอจะต้านทานมันได้ T 34 ถูกผลิตออกมาอย่างมากมาย เพราะถูกออกแบบให้ผลิตได้ง่าย ผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก (mass produciton) ด้วยจำนวนที่มหาศาลนี่เอง ที่ทำให้รถถังที่ทรงประสิทธิภาพของเยอรมันแต่มีจำนวนจำกัด ไม่สามารถต้านทานการรุกของรัสเซียได้



การสั่งการเพื่อให้หน่วยยานเกราะ Panzer ไปจากกองทัพกลุ่มกลาง ทำให้กองทัพเยอรมันเคลื่อนที่ได้ล่าช้า และทำให้ฤดูหนาวมาถึง ก่อนการยึดกรุงมอสโคว์ และทำให้โอกาสที่จะยึดเมืองหลวงต้องหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย

ทหารหน่วย Panzer ต้องประสบกับความยากลำบากเมื่อฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ถึง ลบ สามสิบองศา เครื่องยนต์ของรถถังไม่สามารถติดเครื่องได้ น้ำมันจับตัวเป็นน้ำแข็ง มีบ่อยครั้งที่รถถังต้องติดเครื่องอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เครื่องอุ่นอยู่ ทำให้เปลืองเชื้อเพลิง เมื่อไม่สามารถติดเครื่องรถถังได้ พลประจำรถต้องใช้กองไฟจุดไว้ใต้รถถัง เพื่อให้เกิดความร้อน ฤดูหนาวแรกในรัสเซียในปี 1941 สร้างความเสียหายให้กับเยอรมัน และสร้างโอกาสให้กับรัสเซียอย่างมาก ในการมีเวลาฟื้นตัว

วันที่ 6 ธันวาคม 1941รัสเซียเปิดฉากการตีโต้ และทำให้เยอรมันต้องปรับแนวรบที่เป็นฝ่ายรุก มาเป็นการตั้งรับ การเข้าตีของรัสเซียครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงให้กับทหารเยอรมัน ยานเกราะจำนวนมากถูกทำลาย รัสเซียโจมตีอย่างหนักรอบๆ มอสโคว์ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 5 มกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1942 โดยหวังที่จะทำลายกองทัพกลุ่มกลางของเยอรมันให้สิ้นซาก แต่ความแข็งแกร่งของทหารรัสเซียยังมีไม่เพียงพอ ประกอบกับทหารเยอรมันสู้อย่างยิบตา ทำให้วัตถุประสงค์ของรัสเซียในการรุกครั้งนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ

ในปี 1942 ช่วงเดือนเมษายน มีการประมาณกันว่า เยอรมันสูญเสียยานเกราะไปถึง 79 เปอร์เซนต์นับจากเปิดยุทธการบาร์บารอสซ่าเข้าไปในรัสเซีย การสูญเสียยานเกราะจำนวนมากนี้ ทำให้เยอรมันสูญเสียศักยภาพในการเคลื่อนที่ ในขณะเดียวกำลังเสริมใหม่ก็ยังมาไม่ถึง ทำให้หน่วย Panzer ต้องใช้อาวุธและยานเกราะทุกชนิดที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า รวมถึงการนำอาวุธและยานเกราะของรัสเซียที่ยึดมาได้มาใช้ด้วย

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้หน่วย Panzer ต้องประสบกับความสูญเสียในรัสเซีย ก็เนื่องมาจาก การประเมินหน่วยรถถังของรัสเซียผิดพลาด นั่นก็คือ รถถังแบบ T 34 ซึ่งติดตั้งปืนใหญ่ 76 ม.ม. เหนือกว่าปืนใหญ่ของ Panzer III มีเกราะหนากว่าทั้ง Panzer III และ IV มีสายพานที่กว้างทำให้เคลื่อนที่ในพื้นที่ที่เป็นเลน โคลนหรือหิมะได้ดีกว่ารถถัง Panzer ของเยอรมัน

เยอรมันได้พบกับรถถัง T 34 ของรัสเซียครั้งแรกในเดือน ต.ค. 1941 กองพล Panzer ที่ 4 ของเยอรมันได้รับความเสียหายอย่างมาก หน่วย Panzer ไม่สามารถหยุดยั้งรถถัง T 34 ของรัสเซียได้ด้วยปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 37 ม.ม. ของ Panzer III รถถัง T 34 ของรัสเซียบางคันถูกยิงอย่างจังหลายนัด แต่ก็ยังคงรุกเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง

วิธีเดียวที่หน่วยยานเกราะของเยอรมันจะหยุดยั้ง T 34 ได้ก็คือ จะต้องนำรถถังของตนเข้าไปให้ใกล้ที่สุด และจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากเป็นการเข้าโจมตีทางด้านหลัง เพราะเกราะด้านหลังของรถถังทุกชนิดจะบางมาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของเครื่องยนต์

อย่างไรก็ตามการกระทำเช่นนี้ เสี่ยงต่อการถูกยิงจากรถถังของรัสเซีย และเสี่ยงต่อการถูกทหารราบที่ติดตามรถถัง T 34 ทำลายด้วยกับระเบิดรถถัง รถถัง Panzer III บางคันต้องเข้าไปทำลาย T 34 ในระยะ 5 เมตร ทางด้านหลัง โชคยังเข้าข้างเยอรมัน ที่พลประจำรถของรัสเซีย ด้อยประสบการณ์กว่า และรถถัง T 34 ก็ไม่มีวิทยุประจำรถเสียเป็นส่วนมาก การติดต่อสื่อสารระหว่างรถถังแต่ละคัน จึงกระทำได้ลำบาก




รถถัง Panzer V - Panther ของนาซีเยอรมัน ซึ่งนำเอาข้อดีของรถถัง T 34 ของรัสเซีย มาเป็นต้นแบบ ในการออกแบบ ปรับปรุง และผลิตมาเพื่อต่อสู้กับรถถัง T 34 ของรัสเซีย ในแนวรบด้านตะวันออก เปรียบเทียบกับ T 34 ในภาพข้างล่าง จะเห็นว่าสายพาน และช่วงล่างของ Panther มีความคล้ายคลึงกับ T 34 มาก รถถังรุ่นนี้ออกจากโรงงานผลิต และเข้าสู่สมรภูมิครั้งแรก ที่สมรภูมิ Kursk ในรัสเซีย ในปี 1943 ซึ่งประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องเป็นจำนวนมาก จนต้องมีการปรับปรุงใหม่ จนกลายเป็นรถถังที่มีประสิทธภาพสูงในที่สุด





รถถัง T 34 ของรัสเซีย ติดตั้งปืนใหญ่ 76 ม.ม. มีความลาดเอียง (slope) ดีมาก ทำให้มีโอกาส กระทบกับกระสุนตรงๆได้น้อย มีสายพานที่กว้าง ปีนป่ายได้ดีเยี่ยม เหมาะกับภูมิประเทศในรัสเซีย รถถังรุ่นนี้ มีการปรับปรุงให้ติดตั้งปืนใหญ่ ขนาดความกว้าง ปากลำกล้อง 85 มม. ในชื่อ T34/85 และใช้ในกองทัพรัสเซีย จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และใช้ต่อมาในกองทัพประเทศโลกที่ 3 อีกอย่างน้อยเกือบ 40 ปี เช่น ในกองทัพเวียดนามเหนือ




ในปี 1942 ยุทธการ Blue ของฝ่ายนาซีเยอรมัน ถูกกำหนดขึ้นเพื่อยึดเมืองสตาลินกราด (Stalingrad) กำลังยานเกราะของเยอรมัน ลดลงไปอย่างมาก มีรถถัง Panzer IV ที่ทรงอานุภาพที่สุดในขณะนั้นเพียง 133 คัน รถถังชนิดนี้ติดตั้งปืนใหญ่ 75 ม.ม. และสามารถเอาชนะรถถัง T 34 ของรัสเซียได้ ที่เหลือเป็น Panzer III ที่มีปืนใหญ่ขนาดเพียง 37 ม.ม. และ 50 ม.ม. แต่การรุกก็ยังคงเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

28 มิ.ย. 1942 ยุทธการ Blue เปิดฉากขึ้น และเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เยอรมันประสบความสำเร็จอย่างมากในการรุก เพียงวันเดียวเยอรมัน สามารถรุกเข้าไปในแนวของรัสเซียได้ถึง 64 ก.ม. ถึงแม่น้ำดอน (Don)

ในวันที่ 2 พ.ย. กองทัพ Panzer ที่ 1 ก็รุกไปถึง Ordzhonikidze ซึ่งถือเป็นจุดที่ไกลที่สุด ที่เยอรมันรุกเข้าในรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมเป็นระยะทางที่บุกเข้าไปในรัสเซียถึง 965 ก.ม. แม้ว่าจะรุกเข้าได้มากถึงขนาดนี้ แต่ความสำเร็จเมื่อเทียบกันแล้วถือว่าน้อยมมาก เมืองต่างๆ ที่ถูกยึดได้ ถูกทหารรัสเซียเผาเหลือแต่ซาก ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร ไม่มีที่พัก แหล่งน้ำถูกโรยด้วยยาพิษ ทุกย่างก้าวของทหารเยอรมัน เต็มไปด้วยกับดัก กับระเบิด และยิ่งรุกไกลเท่าใด การส่งกำลังบำรุงของเยอรมันก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น ประกอบกับการก่อตั้งขบวนการใต้ดินของรัสเซีย เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แนวหลังของเยอรมันไม่เคยปลอดภัย การซุ่มโจมตีมีอยู่ทุกหนแห่ง ความขาดแคลนอาวุธ กระสุน น้ำมันก็กำลังจะมาเยือนกองทัพเยอรมันในไม่ช้า เนื่องจากสายการส่งกำลังบำรุง ที่ยืดยาวจนสุดสายป่าน

กองทัพที่ 6 ของเยอรมันร่วมด้วย กองทัพยานเกราะ Panzer ที่ 4 รุกเข้าสู่ สตาลินกราด (Stalingrad) จริงๆแล้ว เยอรมันควรจะยึดสตาลินกราดได้ตั้งแต่เดือน ก.ค. เพราะขณะนั้นสตาลินกราดมีกำลังต้านทานเพียงน้อยนิด แต่ฮิตเลอร์ได้สั่งให้ กองทัพ Panzer ที่ 4 แยกออกไป เพื่อช่วยกองทัพกลุ่มใต้ ทำให้กองทัพที่ 6 รุกได้อย่างเชื่องช้า และทำให้รัสเซียมีเวลาเตรียมการในการตั้งรับ โอกาสที่จะยึดสตาลินกราด จึงสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

กองทัพที่ 6 ของเยอรมัน รุกเข้าสู่เมืองสตาลินกราด เครื่องบินทิ้งระเบิดและปืนใหญ่ของเยอรมัน ระดมยิงเมือง เพื่อหวังทำลายให้สิ้นซาก ตึกรามบ้านช่อง กลายเป็นซากปรักหักพัง ที่ทหารรัสเซียสามารถ ใช้เป็นที่ซ่อนตัวได้เป็นอย่างดี ทหารเยอรมันรุกเข้าสู่ย่านอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ ทหารรัสเซียต่อสู้อย่างทรหด

ในวันที่ 19 พ.ย. 1942 รัสเซียเปิดฉากการตีโต้ครั้งใหญ่ ทั้งทางด้านเหนือและใต้ของสตาลินกราด กองทหารรูเมเนีย และอิตาลี พันธมิตรของเยอรมันที่รักษาที่มั่นรอบเขตเมืองสตาลินกราด ถูกตีแตกกระเจิง ส่งผลให้รัสเซีย สามารถโอบล้อมกองทัพที่ 6 ของเยอรมันได้ทั้งกองทัพไว้ในสตาลินกราด สนามบินของกองทัพอากาศเยอรมันที่อยู่ในสตาลินกราด แหล่งสุดท้ายที่สามารถติดต่อกับโลกภายนอก ถูกรัสเซียยึดได้ การส่งกำลังบำรุงทำไม่ได้อีกต่อไป

ฮิตเลอร์สั่งการให้หน่วย Panzer XLVIII แหวกวงล้อมเข้าไปช่วยกองทัพที่ 6 ภายใต้แผน "Winter Storm" แต่ก็ไม่สำเร็จทั้งที่อยู่ห่างจากกองทัพที่ 6 ที่ติดอยู่ในสตาลินกราดเพียง 56 ก.ม.

ในที่สุดกองทัพที่ 6 ก็ยอมแพ้ เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของเยอรมัน กองพล Panzer ไม่น้อยกว่า 6 กองพล สูญเสียไปในการพ่ายแพ้ที่สตาลินกราด จนถึงวันแห่งความพ่ายแพ้ที่สตาลินกราดนี้ Panzer สูญเสียรถถังไปมากกว่า 7,800 คัน ในแนวรบด้านตะวันออกนี้ มีเพียงรถถัง 495 คันที่สามารถปฏิบัติการได้ทั่วทั้งแนวรบด้านตะวันออก ด้านรัสเซียนี้




ความสูญเสียของหน่วยยานเกราะเยอรมัน ในแนวรบด้านตะวันออก หรือด้านรัสเซียมีสูงมาก ในขณะเดียวกันการผลิตเพื่อทดแทนกลับตรงข้าม จึงทำให้เกิดการขาดแคลนรถถังเป็นอย่างมาก นาซีเยอรมันจึงหันมาใช้รถถังของรัสเซียที่ยึดมาได้ นำมาใช้ ในภาพเป็นรถถังแบบ T 34 ของรัสเซียที่มีสมรรถนะสูง ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76 มม. ถูกเยอรมันนำมาใช้ในการรบ โดยติดเครื่องหมายเยอรมันขนาดใหญ่ไว้เพื่อป้องกันความสับสน

เยอรมันเป็นประเทศที่นำเอายุทโธปกรณ์ของฝ่ายตรงข้ามมาใช้อย่างมากมาย เช่น รถถัง Panzer 38 ของเชคโกสโลวะเกีย อาวุธปืนต่างๆ ทั้งปืนขนาดเล็กไปจนถึงปืนใหญ่ ก็ถูกนำมาใช้ โดยเฉพาะในช่วงปลายของสงคราม เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมของเยอรมันถูกเครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายอย่างหนัก การนำเอาอาวุธที่ยึดได้มาใช้ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง




นอกจากเหตุผลด้านความขาดแคลนรถถังหลักของ Panzer ในแนวรบด้านรัสเซียแล้ว ความเป็นยอดของรถถัง T 34 ในหลายๆด้าน ทั้งอำนาจการยิง ความหนาของเกราะ สายพานที่กว้าง ทำให้เหมาะกับภูมิประเทศในรัสเซีย อีกทั้งมี การบำรุงรักษาที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้เยอรมันนำ T 34 ที่ยึดมาได้มาใช้ด้วยความตั้งใจ ภาพบนจะเห็นเครื่องหมายสวัสดิกะขนาดใหญ่ที่ฝาด้านบนของป้อม เพื่อป้องกันเครื่องบินฝ่ายเดียวกันเกิดความสับสน และเข้าใจผิด




รถถัง StuG III ของเยอรมันถูกยิงอย่างจังบริเวณตรงกลางลำตัว กระสุนเจาะทะลุแผ่นเกราะด้านข้างที่ติดเสริมขึ้นมา เพื่อป้องกันสายพาน แล้วทะลุเข้าไปในตัวรถ ดูเหมือนว่า โอกาสรอดของพลประจำรถจะมีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระสุนระเบิิดภายในตัวรถ สำหรับหมายเลขข้างรถ 121 ของหน่วย Panzer มีความหมายคือ หมายเลข 1 ตัวแรกคือ กองร้อยรถถังที่ 1 ของกองพัน ส่วน เลข 2 คือ หมวดที่ 2 ของกองร้อย ปกติ 1 กองร้อยจะมี 3 หมวด และเลข 1 ตัวสุดท้ายคือหมายเลขลำดับของรถถังในหมวดนั้นๆ ซึ่งหมายเลข 1 จะหมายถึงรถถังคันแรกของหมวด ซึ่งจะเป็นรถของผู้บังคับหมวด ดังนั้น 121 จึงหมายถึง รถถังของผู้บังคับหมวด ของหมวดรถถังที่ 2 ของกองร้อยที่ 1 ส่วนจะเป็นกองพันใดนั้น ไม่สามารถระบุได้





ทหารอเมริกันกำลังสำรวจรถถัง Jadgtiger ซึ่งเป็น Tiger อีกรุ่นหนึ่งที่มีการปรับปรุงให้ติดป้อมแบบตายตัว เพื่อใช้เป็นรถถังทำลายรถถัง (Tank hunter) รถถังรุ่นนี้ติดปืนใหญ่ขนาด 128 มม. Pak 44 ที่ทรงอานุภาพ ใช้ฐานล่างของรถถัง Tiger มีความทนทานเพราะมีเกราะหนา 250 มม. หรือ 9 นิ้วครึ่ง แต่ก็สิ้นเปลืองน้ำมันอย่างมาก เพราะน้ำหนักรถมีมากถึง 76 ตัน รถถังรุ่นนี้ออกปฏิบัติการครั้งแรกในสมรภูมิบาสตองค์ (Bastonge) ในเบลเยี่ยม ในปี 1944 หรือที่เรียกกันว่า battle of the bulge ที่เยอรมันทำการรุกแบบสายฟ้าแลบ ต่อแนวป้องกันของทหารอเมริกัน อาวุธใหม่ๆ ที่ทรงประสิทธิภาพของเยอรมันในช่วงท้ายของสงครามมีมากมาย แต่ก็ออกมาช้าและมีน้อยเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงผลของสงคราม ส่วนใหญ่รถถังของเยอรมัน มักจะถูกทำลายโดยเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าที่จะถูกทำลายโดยรถถังด้วยกันเอง



(โปรดติดตามตอนที่ 2)



ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สอง




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 15:43:14 น.
Counter : 8407 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.