bloggang.com mainmenu search


:: ก๋าราณีตอบคำถามน้องแมวย้อมเสือ ::



ทำอย่างไรจะเลิกติดความสมบูรณ์แบบได้คะ
เหมือนคนบ้าที่ขี่หลังม้า แล้วให้มันควบตะบึงไป
แต่ลงไม่ได้ ติดตรงที่ทำอะไรมักจะทำให้ดีที่สุด



คำถามโดย : แมวย้อมเสือ















ครั้งหนึ่งมีศาสตราจารย์ขอเข้าพบอาจารย์เซน
เพื่อขอความรู้เกี่ยวกับเรื่องเซนที่ตนกำลังสนใจ
เมื่อพบกันในห้องดื่มน้ำชา อาจารย์ได้ยกกาน้ำชาขึ้นมา
แล้วรินชาใส่ในถ้วยชาของศาสตราจารย์
เมื่อชาเต็มถ้วย แต่ท่านอาจารย์ยังไม่ยอมหยุดริน
น้ำชาจึงไหลเจิ่งนองล้นแก้วออกมา ศาสตราจารย์รีบทักท้วง

“ท่านอาจารย์ ชาในถ้วยล้นออกมาแล้วครับ”

ท่านอาจารย์หยุดมือแล้วเงยหน้าขึ้นมา ก่อนจะบอกว่า

“ตัวท่านเองก็เหมือนชาถ้วยนี้ เมื่อถ้วยชามันเต็ม
จะเติมอะไรเข้าไปได้อย่างไร”





..........................................





คนที่ชอบความสมบูรณ์แบบมักทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่น
เนื่องจากถูกฝึกฝนมาว่า ต้องทำทุกอย่างอย่างตั้งใจ
ต้องทำทุกอย่างให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด หรือไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเลย
ใช่ --- หลายเรื่องของชีวิตควรคิดและทำแบบนี้
การปล่อยให้เกิดความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจหมายถึงหายนะใหญ่หลวง
ลองคิดเล่น ๆ ดูว่าถ้าช่างเทคนิคไม่ตรวจตราเครื่องยนต์ของเครื่องบินให้ดี
อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าช่างก่อสร้างผสมปูนผิดสัดส่วน
เมื่อนำไปก่อสร้าง อะไรจะเกิดขึ้น ฯลฯ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับกลายเป็นความงดงาม
ที่แสดงสัจจะของธรรมชาติออกมาอย่างหมดจด





……………………………...........





ในงานออกแบบของญี่ปุ่นจะพบคำว่า “wabi sabi”
มันคือแนวคิดในการออกแบบสิ่งต่าง ๆ โดยใส่ใจกับรายละเอียดเท่าที่จำเป็น
ถ่ายทอดความงามทางศิลปะในแขนงต่าง ๆ ของคนญี่ปุ่นผ่านรูปแบบแนวคิดเซน
ไม่ว่าจะเป็นบทกวีไฮกุ การจัดดอกไม้ การตกแต่งสวน ภาพวาด
เครื่องปั้นดินเผา ไปจนถึงการออกแบบข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

วาบิ แปลว่า ความเรียบง่าย ความไม่สมบูรณ์แบบ
ซาบิ แปลว่า ความเงียบสงัด ความไม่จีรังยั่งยืน

หลักที่ใช้อ้างอิงในงานศิลปะแนวเซนมักจะกล่าวถึง


1. ความไม่สมส่วน ความไม่สมมาตร

ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องดูเท่ากัน ซ้ายขวาหน้าหลังเหมือนกันไปหมด
ในความต่างมีความเหมือน ในความเหมือนมีความต่าง

2. ความเรียบง่าย แสดงสัจจะที่แท้จริงของธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา

เมื่อไม่เติมแต่งมากเกินไป วัสดุจะแสดงสัจจะของมันออกมาอย่างเต็มที่
เหมือนอาหารที่ปรุงให้น้อยที่สุด จนเผยรสชาติที่แท้จริงของมันออกมา
โดยไม่โดนกลบไปด้วยเครื่องเทศ เครื่องปรุงรส
หรือแม้แต่ถูกทำลายรสชาติที่แท้จริงด้วยขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากเกินไป

3. ความสมถะ เนื้อแท้ แก่นแท้ของวัตถุ

กิ่งไม้เพียงก้านเดียวก็อาจแสดงสัจจะอันลึกซึ้งได้
หากเราใส่ใจและมองเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในนั้น

4. ความเป็นธรรมชาติอันไร้การปรุงแต่ง

เมื่อสิ่งนั้นเต็ม ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเติมจนล้น
เหมือนคนที่เห็นความงามในตน
ไม่จำเป็นต้องกลบความงามนั้นด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องมากเกินไป

5. ความล้ำลึก ความงามอันแท้จริงสามารถปลุกเราให้ตื่นจากความไม่รู้

การตระหนักรู้และการมองเห็น “ความจริง” แห่งสัจธรรม
ทำให้เรายอมรับและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
เมื่อมองเห็นชีวิตที่แท้จริง เราจะมองทั้งความงามและไม่งามเป็นความธรรมดา
“ความธรรมดา” นี่เอง คือ ความงามที่แท้จริง
เพราะมันไม่จำเป็นต้องผ่านการตัดสิน ไม่ได้ผ่านเงื่อนไขกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่คนกำหนด

6. ความเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์ รูปแบบ ประเพณีนิยม

เมื่อสิ่งที่เป็นอยู่ เป็นอย่างที่มันเป็นอย่างแท้จริง
มันจะอยู่พ้นไปจากกรอบความคิด รูปแบบที่คนส่วนใหญ่เชื่อ
มันไม่จำเป็นต้องสนใจว่าคนส่วนใหญ่จะคิดอย่างไร ชอบแบบไหน
แต่จะเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

7. ความเงียบสงบ ความสงัดในจิตใจอันไม่ถูกเงื่อนไขใดใดร้อยรัด

เมื่อจิตนั้นเป็นอิสระ ก็จะไม่ถูกร้อยรัดไปด้วยข้อจำกัดในการมองและคิด
ไม่มีคำตัดสินว่างาม ไม่งาม ดี ไม่ดี
เป็นอย่างที่มันเป็น เห็นอย่างที่เห็น
สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เมื่อเราไม่แสวงหาความสมบูรณ์แบบ
แต่กลับได้เห็นความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบนั้น



............................................




หลักและแนวคิดของ วาบิซาบิ
สามารถนำมาปรับใช้ได้กับการใช้ชีวิตด้วยครับ
สมมุติว่าชีวิตคนเราเหมือนแจกันดอกไม้
แจกันมีหลายรูปแบบ หลากรูปทรง
เหมือนบางคนเกิดมาสวย หล่อ รวย
บางคนลำบากยากจนข้นแค้น

ดอกไม้ที่ปักลงไป บางครั้งเป็นช่อสวย
บางครั้งเป็นเพียงกิ่งไม้แห้ง บางครั้งเป็นดอกที่หายาก
บางครั้งเป็นเพียงดอกหญ้า
เหมือนสุขทุกข์ในใจคน ที่หมุนวนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

แจกันดอกไม้ทำหน้าที่ของมัน
แต่คนที่มองและตัดสินว่าสวย ไม่สวย งาม ไม่งาม
คือ คนที่มอง

เหมือนแก้วชาที่ไม่ว่าจะสวยหรือไม่สวยในความรู้สึกของคนดื่ม
แต่แก้วชาบรรลุความสมบูรณ์แบบของมันแล้ว
ด้วยการทำหน้าที่บรรจุชาลงไปเพื่อให้คนดื่ม




......................................




ความสมบูรณ์แบบในชีวิตคนมีอยู่จริงรึเปล่า ?
อะไรคือชีวิตที่สมบูรณ์แบบและมีความหมาย

เรียนเก่งที่สุด ทำงานแล้วร่ำรวย มีตำแหน่งใหญ่โต
มีลูกน้องบริวารมากมาย มีบ้านหลังใหญ่ รถคันงาม
เงินทองมากมายมหาศาล ต้องการอะไรก็หามาได้ตามที่ตนเองต้องการ
ฯลฯ

คำถามที่พี่มักถามตัวเองอยู่เสมอเวลาทำอะไรสำเร็จ
คือ “แล้วยังไง อะไรต่อ ?”
เวลาที่ทำอะไรล้มเหลว ไม่สำเร็จ
พี่ถามตัวเองว่า “แล้วยังไง อะไรต่อ ?”

ความสมบูรณ์แบบที่แท้จริงมีอยู่ไหม
นี่ทำให้นึกถึงเรื่องเล่าอาจารย์ชงชาในญี่ปุ่นอีกท่าน
ว่ากันว่าท่านเป็นปรมาจารย์ด้านการชงชา
วันนั้นเป็นวันที่โชกุนจะมานั่งดื่มชาในสวน
ท่านริคิวได้ทำการจัดตกแต่งสวน ตกแต่งกิ่งไม้
กวาดสวนจนสะอาดเอี่ยม เมื่อท่านยืนพิจารณาอยู่พักใหญ่
จึงตัดสินใจเดินไปเขย่าต้นซากุระ เพื่อให้ดอกของมันร่วงหล่นลงมาที่พื้น
นี่คือ ความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ

คนเราไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นอยู่กับความรู้ที่ตนเองมีได้
เพราะในโลกนี้มีความรู้มากมายมหาศาล
ชนิดที่ใช้เวลาทั้งชีวิตก็ไม่อาจเรียนรู้ได้หมด
ครูของเรา สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้
อยู่ในทุกที่ ทุกหน ทุกแห่ง ทุกคนที่เราได้พบ
ไม่มีสิ่งใดที่เป็นครูของเราไม่ได้
รวมทั้งสุข ทุกข์ และสัจธรรมในชีวิตด้วยเช่นกัน


ยิ่งคิดว่าตัวเองเก่ง ยิ่งคิดว่าตัวเองรู้แล้ว
ยิ่งคาดเค้น คาดคั้นกับคนรอบข้างว่าจะต้องเก่งให้เหมือนกับที่ตัวเราคิด
ตัวเราคงไม่ต่างอะไรกับศาสตราจารย์ที่เข้าพบกับท่านฮะกูอิน

ถ้วยชาที่เต็มจนล้น ย่อมไม่สามารถเติมสิ่งใดลงไปได้อีก

ไม่มีทาง






























 
Create Date :30 ตุลาคม 2562 Last Update :30 ตุลาคม 2562 9:30:15 น. Counter : 2451 Pageviews. Comments :20