bloggang.com mainmenu search




:: ประชาธิป’ไตย และ A girl in the river ::


เขียน : กะว่าก๋า
ภาพประกอบ : ค้นหาจาก Internet














สารคดีสองเรื่องที่ผมนั่งดูในเวลาใกล้ ๆ กัน

ประชาธิป’ไตย กำกับโดยคุณเป็นเอก รัตนเรือง
เป็นสารคดีที่พยายามอธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการเมืองไทย
โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
มาเป็นประชาธิปไตย
ผ่านยุคสมัยและการปฏิวัติรัฐประหาร
ผ่านนายกรัฐมนตรีและรูปแบบการปกครองแบบต่าง ๆ
จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ความคิด
ความเชื่อ และมุมมองที่มีต่อนักการเมือง

ส่วน A girl in the river : The Price of Forgiveness
เป็นสารคดีของผู้กำกับหญิงชาวปากีสถาน
ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยม
โดยเนื้อหาตีแผ่ความรุนแรงที่ผู้หญิงชาวปากีสถานคนหนึ่งต้องเผชิญ
จาก "การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ" โดยพ่อและอาของเธอ
ซึ่งลงมือยิงและจับเธอใส่กระสอบโยนลงแม่น้ำ
หลังจากที่เธอและแฟนหนุ่มแอบหนีตามกันไป
โดยไม่ผ่านความยินยอมเห็นชอบจากคนในครอบครัว
หลังงานแต่งงานผ่านไปเพียง 2 ชั่วโมงเธอถูกพ่อและอาลวงให้กลับมาบ้าน
จากนั้นผู้เป็นพ่อชักปืนสั้นยิงใส่หัวของเธอ
แต่กระสุนพลาดไปโดนบริเวณแก้มและปากจนกลายเป็นบาดแผลลึก
เธอถูกจับใส่กระสอบและโยนลงในแม่น้ำเพื่อหวังจะฆ่าให้ตาย
แต่เธอรอด และได้รับการช่วยเหลือในเวลาต่อมา

ตำรวจและทนายความพยายามให้เธอต่อสู้ทางกฎหมายโดยไม่ยอมความ
แต่ที่สุดแล้วคนในชุมชนที่เธอสังกัด ก็ใช้กฎสังคมบีบให้เธอถอนแจ้งความ
กลับคำให้การเพื่อยอมความและปล่อยให้พ่อกับอาของเธอพ้นผิด
โดยมีศาลยุติธรรม และคนในหมู่บ้านเห็นดีเห็นงามไปกับการ “ฆ่าเพื่อปกป้องเกียรติ”

ในแต่ละปีผู้หญิงปากีสถานถูกฆ่าและทำร้ายโดยคนใกล้ชิดหรือครอบครัวโดยไม่มีความผิดเป็นจำนวนมาก
และส่วนใหญ่พ้นผิด หากการกระทำนั้นเป็นการฆ่า
เพื่อปกป้องรักษาเกียรติของผู้ชายในครอบครัว

สารคดีทั้งสองเรื่องอาจไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกันเลย
แต่หลังจากดูหนังจบ ผมย้อนมองดูเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ชะตากรรมของประชาชนคนไทย
อาจไม่ได้ต่างกับชะตากรรมของหญิงสาวผู้ถูกพ่อตัวเองลงมือฆ่า
ฆ่าเพื่อปกป้องเกียรติยศของตนเอง

แม้คนส่วนน้อยอาจไม่เห็นด้วยกับการกระทำนั้น
แต่ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วย มันกลับกลายเป็นฉันทามติที่ทำให้ใครคนหนึ่ง
สร้างความรุนแรงขึ้นมาได้โดยไม่มีความผิด
แถมอาจได้รับการยอมรับมากขึ้นจากคนในสังคม
เหมือนกับที่พ่อของหญิงสาวสัมภาษณ์ว่า หลังจากที่เขาพยายามฆ่าลูกสาวตัวเอง
แล้วพ้นโทษออกมาจากคุก เขาได้รับการยอมรับนับถือจากคนในชุมชนมากขึ้น
เขาบอกว่าสายตาของคนในชุมชนมองดูเขาด้วยความชื่นชม
ด้วยความเคารพนับถือในการดำรงเกียรติของตนอย่างถึงที่สุด

ใช่หรือไม่ว่าการเมืองในวันนี้ของเรา เหมือนพ่อของหญิงสาวคนนี้
ที่พยายามปกป้องเกียรติของตนเอง พยายามหาทนทางที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง
พยายามรักษาความคิด ความเชื่อของตนเองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งร่วมเห็นดีเห็นงามไปกับการใช้ความรุนแรงนี้
และหญิงสาวผู้ถูกกระทำ ไม่มีสิทธิโต้เถียงหรือโต้แย้งใดใด
นอกจากยอมรับชะตากรรมโดยไม่อาจขัดขืน

เราหวังว่าบ้านเมืองจะสงบ และเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี
แต่กงล้อประวัติศาสตร์กลับหมุนวนมายังจุดเดิมอยู่ตลอดเวลา
คือการได้มาซึ่งอำนาจ แล้วก็สูญเสียอำนาจ
ได้อำนาจ และสูญเสียอำนาจ
ผ่านความรุนแรงที่ไม่จบสิ้นเสียที

รอยแผลเป็นขนาดใหญ่ยังคงปรากฏอยู่บนแก้มของหญิงสาว
เธอย้ายไปอยู่กับครอบครัวสามี และถูกมองด้วยสายตาชิงชังจากคนในครอบครัว

บาดแผลของประชาชนอยู่ที่ไหน ?
อาจอยู่ในใจประชาชน และมันไม่เคยลบเลือนหรือจางลงเลย







Create Date :27 กันยายน 2559 Last Update :27 กันยายน 2559 5:52:40 น. Counter : 4394 Pageviews. Comments :34