
ใบไม้กลางป่า
วันหนึ่งของการปฏิบัติงานที่วอร์ดอายุรกรรมหญิง โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผมตื่นขึ้นมาเวลาเดิม เดินไปราวน์วอร์ดในเวลาไล่เลี่ยกับเมื่อวาน ที่วอร์ดยังมีคนไข้บางคนที่ยังนอนคอยแพทย์มาตรวจด้วยอาการที่ไม่สู้ดีนัก แต่ในใจของพวกเขาหล่านี้บอกผมว่าพวกเขายังมีหวัง ทำให้แพทย์ที่ดูแลคนไข้เหล่านี้พยายามที่จะให้ความหวังของเขาเป็นจริงอยู่ ทุกวัน
วันนี้ เป็นวันที่ผมได้ยินประโยคเดิมที่เคยฟังมาเมื่อวันก่อน ผมเคยได้ยินพี่พยาบาลพูดว่า
คนไข้คนหนึ่งร้องไห้ทุกวัน... และบ่นอยากกลับบ้าน...
ผมคิดว่าคงมีปัญหาอะไรบางอย่างกับเขา แต่ก็ยังไม่รู้ว่าคนไข้คนนั้นเป็นใคร เพราะอยู่คนละสายกัน วอร์ดนี้มีคนไข้ให้ดูแลมากมายทั้งอาการหนักบ้าง อาการไม่หนักบ้าง แต่ถ้าหากจะนับตั้งแต่เวลาเดินขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่บนวอร์ดจนลงจากวอร์ดใน เวลาเย็น แทบจะพูดได้ว่า...ยุ่งจนไม่ได้นั่งกันทีเดียว ผมสนใจในคำพูดของพี่พยาบาลคนนั้นและดูเหมือนพี่พยาบาลจะพูดเชิงว่า
เขากลับบ้านไม่ได้หรอก อาการยังไม่ค่อยดี หมอที่ดูแลอยู่ก็บอกว่าต้องรอให้หายใจเองได้ดีก่อน
ผมลองย้อนกลับมาคิดดูว่า การอยู่โรงพยาบาลนานๆ เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ไม่ต้องการ ไม่เพียงแต่ความรู้สึกเป็นทุกข์ที่ร่างกายของตนเองต้องมาป่วยไข้ เขายังต้องนอนร่วมกับคนมากมาย ไม่ได้อยู่กับคนที่บ้าน อาหารก็อะไรก็ไม่รู้ไม่เห็นน่ากินเลย ตอนกลางคืนก็เปิดไปเสียสว่างใครจะไปนอนได้ แถมเสียง Bird's ventilator ก็ดังกล่อมขนาดนั้น บางครั้งเตียงข้างๆ ก็ถูกปั๊ม...แล้วก็หยุดหายใจไป
ใครจะอยากมาอยู่ ถ้าอาการพอจะดีขึ้นบ้าง ก็อยากกลับไปนอนรักษาตัวที่บ้าน แต่กับคนไข้คนนี้เป็นไปไม่ได้
ครั้งแรกที่ผมเห็นคนไข้คนนี้ คนไข้พูดไม่ได้ มี tracheostomy ที่คอ ยังกลับบ้านไม่ได้เพราะปัญหา ปอดติดเชื้อเชื้อดื้อยา หากใครสักคนได้สังเกตและพูดคุยกับเขา อาจพบว่ามีหยดน้ำปริ่มตาอยู่ตลอดเวลา
ที่สำคัญ คนไข้คนนั้นอายุน้อยกว่าผม...เด็กวัยรุ่นในวัยนี้ น่าจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นให้เหมาะสมและคุ้มค่ามากกว่าที่จะต้องมา พักรักษาตัวเองด้วยโรคร้าย
ครั้งหนึ่งในการราวน์วอร์ดในช่วงเช้า อาจเป็นวันปกติเหมือนทุกวัน แต่วันนี้ผมตัดสินใจผมเดินไปบริเวณที่คนไข้คนนี้อยู่เป็นประจำ แม้ว่าผมเองอาจจะไม่ใช่นักศึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยคนนี้ แต่ผมเพียงหวังเล็กๆ ว่าอาจจะพอดูแลปัญหาทางใจ ทางความรู้สึกที่อ่อนล้าของเขาได้บ้าง
ขณะที่เดินเข้าไปหาคนไข้คนนี้ ผมเห็นคนไข้กำลังยื่นอะไรบางอย่างออกมามอบให้ผม เป็นกระดาษโน้ต ที่มีข้อความเขียนไว้ว่า
"คุณหมอขาให้หนูกลับบ้านเถอะค่ะ หนูอยู่โรงพยาบาลมาสามเดือนกว่าแล้ว หนูเหงา อยากเจอพ่อเจอแม่ คุณหมอไปบอกหมอที่รักษาหนูให้หนูกลับบ้านนะคะ"
หลังจากอ่านจบ ผมรู้สึกอะไรบางอย่าง
บางครั้งการดูแลคนไข้อย่างที่เราทำกันทุกวันนั้น เราเน้นเพียงแต่การรักษาคนไข้ทางกาย เพียงเพราะมีหลักการแน่นอน มีแนวทางการรักษาที่ตรงตัวมากกว่าการดูแลรักษาทางด้านอื่น ทำให้ลืมแนวทางการรักษาที่เคียงคู่ไปกับการรักษาที่เคยชิน ทั้งด้านจิตใจ หรือด้านสังคมและจิตวิญญาณไปมากทีเดียว
ผมไม่แน่ใจว่าปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับทีมที่ให้การรักษา โดยเฉพาะแพทย์เองนั้น ถูกจำกัดด้วยสิ่งใด
เวลาที่มีไม่พอเมื่อเทียบกับปริมาณคนไข้
ความชินชา คละ ความเพิกเฉย
.................
หรือหลายๆ อย่างที่เคยร่ำเรียนและปลูกฝังมา โดยเฉพาะสิ่งที่ทำให้ หมอเป็นหมอ นั้น เป็นได้เพียงแค่ทฤษฎีเขียนใส่กระดาษคำตอบส่งอาจารย์
หากเราดูแลผู้ป่วยคนหนึ่งด้วยความรู้สึกเอาใจเขามาใส่ใจเราเอง เราอาจพอรู้แนวทางการรักษาที่มากกว่าการรักษาโรคของเขา หากลองนึกดูว่าวันหนึ่งเราต้องประสบกับโรคร้ายแล้วต้องอยู่ในสภาวะที่เทียบ เคียงกับเรื่องนี้ คงไม่มีใครอยากอ้างว้างกับความรู้สึกที่ทุกข์ทนกับโรคร้ายพร้อมกันกับความรู้สึกในทางลบต่างๆ มากมาย ทั้งเหงา กลัว กังวล ฯลฯ ผมเชื่อว่ามีผู้ป่วยอีกมากที่ยังมีความเจ็บป่วยทางใจซ่อนอยู่
เพียงแค่เวลาวันละเล็กน้อยที่พอจะพูดคุยกันมากกว่าถามอาการของเขา
เพียงแค่วันละรอยยิ้มที่มอบให้ด้วยความจริงใจ ที่มีนัยซ่อนอยู่ว่า...หมอจะไม่ไปไหน จะรักษาคุณให้หายเจ็บป่วยอย่างเต็มความสามารถ
อาจจะทำให้อะไรหลายๆ อย่างดีขึ้นกว่าที่คุณคิด
สิ่งที่เล่ามาทั้งหมด ผมเพียงต้องการให้แพทย์ทั้งหลาย ลองหันกลับมามองคนไข้ของคุณในบางแง่มุมที่คุณอาจลืมมันไป อยากให้มันเป็นสิ่งที่ ซ่อนอยู่ หรือ ถูก(คุณ)ซ่อนอยู่ แบบนั้นโดยไม่มีใครคิดจะแก้ไข
สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจทำให้ใครหลายๆ คนมีกำลังใจในการดูแลตนเองมากขึ้น เป็นกำลังใจให้ต่อสู้กับปัญหาของเขามากขึ้น และอาจเป็นสิ่งเติมเต็มสิ่งหนึ่งที่ทั้งคนไข้และตัวคุณกำลังค้นหาอยู่ก็ เป็น ได้
ที่เหลือขึ้นกับตัวคุณแล้วล่ะ แล้วคุณล่ะ...ว่าอย่างไร
นศพ.อธิพัฒน์ อธิพงษ์อาภรณ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Create Date :29 พฤศจิกายน 2551
Last Update :29 พฤศจิกายน 2551 17:56:18 น.
Counter : Pageviews.
Comments :2
- Comment
ยินดีที่ได้รู้จักค่ะคุณหมอ
เดี่ยวนี้คนเริ่มเข้าไปเยียวยากันในวัดเพื่อปฏิบัติธรรมไม่น้อยไปกว่าการพบจิตแพทย์แล้วนะคะ
ยังมีพระท่านหนึ่งเทศน์เรื่องเกียวกับคนไข้ที่มีอาการทางใจที่อเมริกาก้เข้ามาปฏิบัติธรรมกันเยอะมากแล้วค่ะ
ไผ่ค่ะ
โดย: chabori
โดย: CrackyDong