bloggang.com mainmenu search




คุณครูผู้ยิ่งใหญ่

เคยมีอาจารย์สอนฉันไว้ว่า...

บางอย่างเราต้องตั้งใจมองหา เราจึงจะเห็น...

ชีวิตประจำวันของนักศึกษาแพทย์ปีสี่อย่างฉันเริ่มต้นอย่างเร่งรีบในทุกเช้า ตั้งแต่รีบตื่น รีบอาบน้ำ รีบเดิน รีบไปราวน์วอร์ด เช้านี้ก็เช่นกัน แม้จะรู้สึกอ่อนเพลียจากการอยู่เวรเมื่อคืน แต่ฉันก็ยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไปเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในโรงพยาบาล

หอผู้ป่วยอายุรกรรมที่ฉันต้องปฏิบัติงานตลอด 10 สัปดาห์นี้ ยังคงให้ความรู้สึกแห้งแล้ง หดหู่เช่นเดิม ตราบเท่าที่คนไข้และญาติ ยังมีสีหน้าอิดโรยอมทุกข์ และ มีเสียงเครื่องช่วยหายใจดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอ คอยเสริมบรรยากาศให้หม่นหมองยิ่งขึ้น

ฉันมาถึงวอร์ดด้วยความรู้สึกที่ไม่สู้จะแจ่มใสนัก ถ้ามีเวลานอนเพิ่มมากกว่านี้คงจะดีไม่น้อย นึกอุทธรณ์ในใจพลางกวาดสายตาไปทั่ววอร์ดที่มีเคาน์เตอร์พยาบาลแอร์เย็นฉ่ำอยู่ตรงกลางตัดกับอากาศอบอ้าวในฤดูฝนของวอร์ดสามัญที่รายล้อมด้วยเตียงผู้ป่วยในประมาณ 30 เตียง พลันสายตาก็สะดุดกับคนไข้ใหม่รายหนึ่ง ซึ่งคงจะเพิ่งเข้าหลังจากที่ฉันลงเวรไปแล้ว

ผู้ป่วยชายไทย อายุประมาณ 60-70 ปี รูปร่างผอมอย่างที่เรียกว่า cachexia นอนใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ในส่วนที่ฉันเรียกเองว่าโซนอันตราย คือ โซนที่อยู่หน้าเคาน์เตอร์พยาบาลพอดีและมักจะรวมคนไข้หนักๆ ไว้ด้วยกัน ถ้าคุณลุงมาหลังเวรก็แปลว่ายังไม่มีใบรับคนไข้ที่เป็นประวัติและการตรวจร่าง กายแรกรับของปี 4 น่ะสิ แล้วคุณลุงใส่ท่อช่วยหายใจอย่างนี้ ฉันจะซักประวัติได้ยังไงกัน

แฟ้มเวชระเบียนหนาเตอะและประวัติที่พี่แพทย์เวรบันทึกไว้ทำให้ทราบว่า คุณลุงอายุ 67 ปี ครั้งนี้ Admit เป็นครั้งที่ 36 มาด้วยอาการหอบเหนื่อยมากขึ้นมา 2 วันก่อนมาโรงพยาบาล มีอาการหอบเหนื่อยตลอดเวลาจนนอนไม่ได้ และมีประวัติมีไข้ เสมหะสีเหลืองข้นมากจนไอไม่ออก หายใจไม่ทัน ต้องหายใจทางปาก พ่นยาแล้วไม่ดีขึ้นจึงมาโรงพยาบาล

โรคประจำตัวเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต้องมานอนโรงพยาบาลเป็นประจำ และเคยต้องใส่ท่อช่วยหายใจมากกว่า 10 ครั้ง ครั้งล่าสุดเพิ่งกลับจากโรงพยาบาลเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนเนื่องจากมีอาการหอบเหนื่อยและเป็นปอดอักเสบ

ฉันกวาดสายตาอ่านอย่างคร่าวๆ ก่อนจะคว้า stethoscope คู่ใจ เดี๋ยวไปตรวจร่างกายไว้ก่อน ถ้าคุณลุงได้เอาเครื่องช่วยหายใจออกแล้วค่อยซักประวัติเพิ่มก็ได้

ฉันเคยคิดไว้ว่า คนไข้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจมักจะเป็นคนไข้หนักที่ถูกโรคและความเจ็บป่วยเข้าเกา ะกินจนไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร และพลอยทำให้คนรอบข้างรู้สึกสิ้นหวังไปด้วย แต่คุณลุงทำให้ฉันต้องประหลาดใจ...

แม้จะใส่ท่อช่วยหายใจ แต่แววตาที่มองตอบหลังจากฉันเข้าไปแนะนำตัวและขออนุญาตตรวจร่างกายกลับเต็มไปด้วยความหวัง ทำให้รู้สึกราวกับมีหยาดฝนโปรยปรายลงมาในวันที่ผืนดินแห้งแล้ง

ไม่ใช่เพียงแต่แววตาแห่งความหวังเท่านั้น ความยินดีฉายชัดผ่านทางสีหน้าและท่าทาง คุณลุงรีบดึงชายเสื้อขึ้นให้ฉันฟังปอดด้วยความเต็มใจ ถ้าคุณลุงพูดได้ คุณลุงคงจะบอกว่า เอาเลยคุณหมอ เชิญเลย...ฉันยังจำอากัปกิริยานั้นได้แม้เวลาจะผ่านมาเกือบสองปีแล้ว

คุณลุงช่างเหมือนกับคนไข้ที่เดินมาจากตำรา เป็นคุณครูที่สอนเรื่องการตรวจร่างกายใดๆ ที่น่าจะเจอได้ในโรคถุงลมโป่งพอง แต่สิ่งที่สะดุดใจที่สุดคงจะหนีไม่พ้นประวัติ readmission อยู่เป็นประจำ ถ้ามีโอกาส บางที...ฉันอาจจะพบสาเหตุที่ทำให้คุณลุงต้องกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า

โชคดีเหลือเกินที่ตอนเย็นคุณลุงสามารถถอดท่อช่วยหายใจได้แล้ว ฉันกลับจากการเรียนในตอนบ่ายมาพบคุณลุงนั่งขัดสมาธิอยู่บนเตียง ข้างหน้ามีถาดข้าวที่พร่องไปไม่ถึงหนึ่งในสี่ทำให้ฉันอดที่จะทักไม่ได้

“ทำไมลุงกินข้าวน้อยจังจ๊ะ กับข้าวไม่อร่อยเหรอ”

คุณลุงยกมือผอมๆ ขึ้นมาโบกปฏิเสธ ก่อนจะตอบว่า

“ไม่ใช่หรอกครับคุณหมอ มันเจ็บคอ เสลดมันเยอะ กินอะไรก็ไม่อร่อย”

“ลุงยังเหนื่อยมากอยู่มั้ยคะ รู้สึกดีขึ้นหรือยัง” ฉันถาม เพราะเพิ่งสังเกตเห็นว่าคุณลุงยังนั่งหายใจเป่าปากแบบ purse lips อยู่

“ค่อยยังชั่วแล้วครับ”

“ถ้าอย่างนั้น หมอขออนุญาตถามอาการนะคะ ถ้าคุณลุงเหนื่อย อยากพักแล้ว บอกหมอได้เลยนะคะ”

คุณลุงของฉันชื่อ “ลุงชอบ” ค่ะ เป็นคนอยุธยาอยู่วังน้อยมาตั้งแต่เกิด เดิมเป็นครู ตอนนี้เกษียนแล้ว ได้เงินบำนาญแต่ต้องเก็บไว้ส่งเสียลูกคนเล็กซึ่งกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ หนุ่มๆ ลุงสูบบุหรี่จัดมาก วันละซองครึ่ง สูบมานานประมาณ 35 ปี เพิ่งเลิกสูบเด็ดขาดมา 2 ปี หมอบอกว่าลุงเป็นโรคถุงลมโป่งพองมาตั้งแต่ปี 2542 แต่ลุงเพิ่งเริ่มรักษามาได้ 3 ปี

ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน ลุงเลยป่วยบ่อย ลุงบอกว่า หน้าฝนกับหน้าหนาวจะเป็นหนัก บางคืนเหนื่อยมากต้องพ่นยาตั้งหลายครั้ง ดมออกซิเจนที่บ้านแล้วก็ไม่ดี จำเป็นจริงๆ ถึงต้องให้เมียพามาโรงพยาบาล

“ถ้าไม่เป็นหนักจริงๆ ผมไม่อยากมารบกวนคุณหมอๆ เลย เมื่อคืนก็ถูกคุณพยาบาลดุว่า มาอีกแล้ว คุณพยาบาลคงเบื่อผมเต็มที”

ฟังถึงตรงนี้แล้ว ฉันก็อดที่จะปลอบใจคุณลุงไม่ได้ ถึงจะเห็นใจคุณลุงแต่ก็เข้าใจพี่พยาบาล เพราะฉันก็เคยเผลอคิดไปว่า คนไข้โรคเรื้อรังไม่ยอมดูแลตัวเองให้ดีถึงต้องมานอนโรงพยาบาลด้วยเรื่องเดิม ซ้ำๆ บ่อยๆ โรคที่เป็นก็เป็นผลกรรมจากพฤติกรรมของตัวเอง แต่ทำให้บุคลากรอย่างเราๆ ต้องรับภาระงานหนักขึ้น ฉันเผลอคิด...โดยใช้เหตุผลที่ฉันตัดสินเป็นศูนย์กลาง

ด้วยความรู้และประสบการณ์อันน้อยนิดที่มีอยู่ คุณลุงใช้ยาได้ถูกต้องตามที่อาจารย์หมอให้ไป แต่แล้วทำไมคุณลุงถึงติดเชื้อทางเดินหายใจอยู่บ่อยๆ และกระตุ้นให้อาการกำเริบเป็นประจำ

ถ้าตอนนั้น ฉันมีความรู้เรื่องการเยี่ยมบ้านซักนิดก็คงจะดี

แต่เมื่อยังไม่มี...ฉันก็แนะนำตามเรื่องตามราวที่อ่านมา เช่น การออกกำลังกาย การใช้ออกซิเจนที่บ้าน ถามไปถามมาจึงพบว่า คุณลุงไม่ได้ on home O2 therapy อย่างถูกต้อง เนื่องจากถังออกซิเจนราคาแพง และ ถ้าลุงดมออกซิเจนในแต่ละวันนานเท่าที่หมอบอก ลุงก็จะมีเงินบำนาญเหลือส่งให้ลูกคนเล็กได้น้อยลง ลุงยอมใช้จ่ายชีวิตของตัวเองเพื่อการอดออมเงินเป็นทุนการศึกษาให้แก่ลูก

ฉันฟังแล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ แล้วจะไม่ปฏิเสธได้อย่างไรว่าทุกอย่างล้วนส่งผลต่อสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมจริงๆ

ฉันถามประวัติอื่นๆ เพิ่มเติมก่อนจะขอตัวไปบันทึกประวัติในส่วนของปีสี่ คุณลุงช่างพูดจาดีสมกับที่เคยเป็นแม่พิมพ์ของชาติมาก่อน แทนตัวเองว่า “ผม” ทุกครั้ง และเรียกฉันว่า “คุณหมอ” อย่างให้เกียรติทุกครั้ง ยิ่งคุณลุงให้เกียรติฉันเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งรู้สึกตัวเล็กลงเท่านั้น

แม้จะรู้สึกถูกอัธยาศัยกับลุงชอบเป็นการส่วนตัว แต่ฉันกลับไม่ได้ให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้จากลุงมากนัก จนกระทั่งฉันเปลี่ยนแผนกไปอยู่หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิงสามัญ

เวลาในช่วงการเรียนชั้นคลินิกช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างที่ฉันอยู่แผนกอายุรกรรมนั้น ลุงชอบมานอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 3 ครั้ง และครั้งที่ 3 ที่ฉันเจอลุงชอบนั้นเป็นวันที่อาจารย์นัดเรียน bed side ที่ตกค้างมาหลายอาทิตย์

เนื่องจากไม่รู้มาก่อนว่าเพื่อนเตรียมคนไข้คนไหนไว้ ฉันจึงอดดีใจไม่ได้ที่ได้เจอลุงชอบอีก ไม่ได้ดีใจเพราะลุงต้องมานอนโรงพยาบาลบ่อยๆ แต่มันเป็นความรู้สึกคล้ายได้เจอเพื่อนเก่าที่คุ้นเคยกัน ถ้าฉันไม่ได้คิดไปเอง ฉันว่าลุงชอบแอบยิ้มส่งกำลังใจให้ฉันระหว่างที่กำลังโดนอาจารย์ไล่ถามอยู่ด้วย

กระบวนการเรียนข้างเตียงผู้ป่วยดำเนินไปตามแบบฉบับอันคลาสสิก ลุงชอบยังน่ารักเหมือนเดิม ฉันชอบท่าทางเต็มอกเต็มใจนั้น แม้ว่าจะต้องถูกยืนล้อมนานกว่าครึ่งชั่วโมง มี Stethoscope นับสิบอันขอฟังปอดครั้งแล้วครั้งเล่า คงเป็นเพราะลุงคุ้นกับการเป็นผู้ให้ความรู้ละมั้งคะ ทำให้ลุงดูไม่เหนื่อยหน่ายกับการเป็นครูให้พวกเรา

เพื่อนๆ ของฉันแยกย้ายกันไปพักกลางวันแทบจะทันทีที่อาจารย์อนุญาต แต่ฉันยังยืนอยู่ข้างเตียงของลุงเช่นเดิมด้วยความรู้สึกบางอย่าง

“เจอกันอีกแล้วนะจ๊ะลุง ตอนนี้เป็นยังไงบ้างจ๊ะ” ฉันยิ้มทักทายให้สมกับความดีใจที่ได้เจอลุงอีกครั้ง

“ดีขึ้นแล้วครับคุณหมอ โรคผมมันก็อย่างนี้ ไม่หาย ขอแค่อย่าเพิ่งตายก็พอ ลูกยังเรียนไม่จบเลย”

“แต่ก็ใกล้จบแล้วนี่จ๊ะ ถ้าลูกเรียนจบแล้ว ลุงก็สบายแล้วล่ะ”

“เอ...แล้วตอนนี้ลูกๆ เค้าอยู่กับลุงที่วังน้อยหรือเปล่าจ๊ะ”

“เปล่าหรอกครับ คนโตเค้าแต่งงานแล้วก็ไปอยู่ที่อื่น ส่วนเจ้าคนเล็กก็อยู่หอพัก ที่บ้านผมอยู่กับเมียสองคน”

“แล้วลุงไม่ย้ายไปอยู่กับลูกคนโตล่ะจ๊ะ เวลาไม่สบายจะได้มีคนช่วยกันดูแล”

“ไม่เอาล่ะครับ ผมเกิดที่วังน้อย โตมาก็เป็นครูวังน้อย ตอนหนุ่มๆ ทั้งโรงเรียนมีครูอยู่คนเดียว ทำทุกอย่างเป็นทั้งครู ทั้งภารโรง” แววตาของลุงดูเหมือนจะล่องลอยไปหาความทรงจำอันแสนสุข

“คุณหมอรู้มั้ย สมัยก่อนวังน้อยไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา แต่ผมคิดว่าทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผมไปติดต่อเจ้าหน้าที่แล้วก็เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกัน มีแรงลงแรง มีเงินลงเงิน ช่วยกันทำท่อส่งน้ำ ถมดิน ลำบากก็ลำบาก สนุกก็สนุก จนวังน้อยมีถนน มีน้ำประปา คนวังน้อยรู้จักผมเกือบทุกคนล่ะครับ ช่วงนั้นงานมาก เลยสูบบุหรี่จัด แล้วก็เลยติดมาจนแก่ เพิ่งเลิกตอนหอบหนักๆ นี่ล่ะครับ” น้ำเสียงของลุงชอบบอกชัดถึงความภาคภูมิใจสูงสุด

ฉันยืนฟังลุงเล่าอย่างเงียบๆ ดูเหมือนคลื่นแห่งความสุขของลุงจะหลั่งไหลมาตามเสียงจนฉันพลอยได้รับมันไปด้วย โดยไม่รู้ตัว ฉันรู้สึกว่าผู้ชายตรงหน้าช่างมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ลุงแก่ๆ ผอมๆ นอนอมโรคอยู่ที่เตียง เป็นปัญหาให้หมอและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องตามแก้อย่างไม่จบสิ้น

คนไข้ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เราเห็นอย่างเจนตา แท้จริงแล้วกลับมีเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาอย่างยิ่งใหญ่

คิดถึงตรงนี้แล้ว ฉันก็อดที่จะตื้นตันไปกับเรื่องราวของลุงชอบไม่ได้

“ขอบคุณนะคะคุณลุง ขอบคุณแทนเพื่อนๆ ด้วย ขอบคุณ...ที่คุณลุงเป็นครูให้กับพวกหมอ”

...ขอบคุณ...ที่ลุงไม่ได้เป็นเพียงครูที่สอนให้รู้จักและเข้าใจโรค แต่ยังสอน...ด้วยประสบการณ์เรื่องราวที่ผ่านมาทั้งชีวิต ลุงทำให้หมอเปลี่ยนมุมแคบๆ ที่เคยใช้มองคนไข้ ให้เห็นความจริง...และความงดงาม ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวที่เราไม่เคยสนใจจะรับฟัง

“คุณลุงไม่ได้แค่เคยเป็นคุณครูสอนเด็กๆ มามากมาย แต่คุณลุงยังเป็นครูสอนพวกหมออีก ขอบคุณ จริงๆ นะคะ”

ลุงชอบยกมือสั่นๆ ขึ้นรับไหว้ ก่อนจะยิ้มน้อยๆ

“ผมดีใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กับคุณหมอบ้าง”


คุณครูของฉันไม่ได้สอนแค่ให้ฉันรู้จักโรค
แต่ยังสอน..ให้ฉันรู้จักเข้าใจ...และเห็นใจ ความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์
ได้เรียนรู้ความเจ็บป่วย ความทุกข์ และความสุข
ถ้าเพียงแต่เราตั้งใจ...เราจะมองเห็นเรื่องราวมากมายที่สั่งสมเป็นประสบการณ์ ซึ่งแลกมาด้วยชีวิตทั้งชีวิต

ขอบคุณคนไข้ทุกๆ คนที่เป็นครูของหมอค่ะ


น.ส.ศิริวรรณ จิตตปราณีรัชต์

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Create Date :10 พฤศจิกายน 2551 Last Update :13 พฤศจิกายน 2551 18:51:08 น. Counter : Pageviews. Comments :4