bloggang.com mainmenu search




ก่อนใบไม้จะร่วงโรย

“คนไข้คนนี้ NR แล้วค่ะหมอ...”

“คนนี้ NR แล้วน้อง... Full med แต่ No CPR พี่คุยกับญาติแล้ว...”

ผมเคยสงสัยว่าเหตุผลของการกระทำที่ไม่ได้กระทำนี้ มันเป็นสิ่งที่ดีจริงหรือเปล่า

สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 4 ที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Non-Resuscitation ผมเข้าใจเพียงว่าการปล่อยให้คนไข้เสียชีวิตไปหนึ่งคน โดยที่ไม่ได้ทำอะไรหรือได้ทำอะไรบ้างเล็กน้อย มันเพียงพอกับหนึ่งชีวิตที่กำลังจะลาโลกใบนี้ไปแล้วหรือ มันไม่น่าเป็นสิ่งที่ยุติธรรมกับเขาเลย เพราะเขาไม่มีโอกาสแม้แต่เลือกวิธีการรักษาให้กับตนเอง

แม้วันที่ผมต้องเป็นผู้กระทำสิ่งนี้เอง เป็นคนที่กำหนดให้ชีวิตหนึ่งให้ลาจากโลกใบนี้ไปด้วยตัวผมเอง โดยไม่ได้บอกลาคนที่เขารักแม้แต่คำเดียว… ผมก็ยังไม่เข้าใจ

“ หมอ Extern…คนไข้คนนี้เขา Sepsis มา 1 week แล้ว คุณหมอเจ้าของไข้เขาไปคุยมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้บอก NR กับญาติเลย ตอนนี้พี่วัด BP ได้ 90/60 mmHg ล่ะ หมอ...”

“หมอ...คุย NR เตียง 2 เลยนะ เตียง 1 กับเตียง 4 อาการป้าแกไม่ดีมาตั้งแต่เช้าแล้ว ตอนนี้ Dopa Max แล้วนะ”

“ น้อง...พี่ฝากคุย NR คุณตาเตียง 8 ให้หน่อยสิ ฝั่ง Med หญิงมีคนไข้เหนื่อย ต้องใส่ tube แล้วตามไปช่วยพี่ฝั่งโน้นด้วยนะ”
…
“....................ครับพี่”


คำพูดคำเดิมๆ ในรูปแบบเดิมๆ ผมขี้เกียจนับให้เสียความรู้สึกว่าตลอดการทำงานแค่เพียงวอร์ดอายุกรรม ผมได้ยินคำพูดทำนองนี้กี่ครั้ง เหตุผลของการ NR ผู้ป่วยนั้น มีใครแฝงอะไรบางอย่างอยู่หรือไม่ การที่ไม่ต้อง CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ทำไปเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยที่จะไม่ต้องทนทรมานกับวิธีการปั๊มหัวใจ เพื่อเป็นการไม่ให้ญาติต้องทนทุกข์กับภาพที่เห็นหรือรับรู้ถึงความเจ็บปวด ทรมานของผู้ป่วย หรือเป็นด้วยเหตุผลอื่น

ความสงสัยของผมคือ ผู้ป่วยเหล่านั้น เมื่อแพทย์และญาติตัดสินใจ NR ผู้ป่วยรายนั้นได้จากไปอย่างสมศักดิ์ศรีตามที่แพทย์ให้เป็นหรือไม่ แต่ก็ยังไม่มีใครตอบคำถามของผมให้กระจ่างได้เสียที

“คุณหมอเคย NR คนไข้มากี่คนแล้วคะ?...”

ผมได้ยินคำนี้จากอาจารย์แพทย์คนหนึ่งที่ผมนับถือท่านหนึ่ง วันหนึ่งกลางที่ประชุมแผนก มีแพทย์ แพทย์ใช้ทุน และแพทย์ฝึกหัดเข้าฟังด้วยมากมาย มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่มาหยุดตอนหนึ่งที่แพทย์ใช้ทุนพูดถึงผู้ป่วยที่อาการไม่สู้ดีนัก...แต่ ญาติ NR

ในที่ประชุมเงียบไปด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกัน ไม่มีใครตอบคำถามของอาจารย์แพทย์ท่านนี้ แม้ว่าทุกคนจะเคยผ่านการพูดคุย NR มาแล้วทั้งนั้น ผมแอบตอบคำถามของอาจารย์ท่านนี้ในใจ

“ การที่น้องจะไปคุย NR กับญาติสักคนหนึ่ง อยากให้มีเหตุผลพอว่าทำไมถึงต้องคุย NR ไม่ใช่ว่าเห็นอาการคนไข้ไม่ดี หรือคนไข้อายุมากเข้าหน่อยก็ไปพูด NR ลองถามตัวเองว่าได้พยายามรักษาคนไข้คนนี้จนสุดความสามารถแล้วหรือยัง ญาติคนไข้น่ะ หมอพูดอะไรไปก็เชื่อหมอหมด หมอเห็นว่าไม่ต้องปั๊มหัวใจแล้วก็เชื่อเรา ก่อนที่จะทำอะไรลงไปลองนึกให้ดีว่าหากเป็นญาติของเราเราก็คงไม่อยากให้คน ที่ เรารักจากเราไปหรอก...”

“... และตัวหมอเองก็คงไม่อยากมีความรู้สึกติดค้างว่า ไม่ได้รักษาชีวิตของคนไข้ของตัวเองอย่างสุดความสามารถเช่นกัน”


จริงๆ แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ผมเองเริ่มเข้าใจเหตุผลของการ NR ว่า...(ควรจะ)เป็นการกระทำที่(ได้กระทำ)ให้ร่างกายที่หมดอายุขัยของผู้ป่วยจากโลกนี้ไป “อย่างสมศักดิ์ศรี”

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากเหตุการณ์ในวันนั้นและเรื่องราวที่ผ่านมา จากการเป็นนักศึกษาแพทย์สอนผมว่าควรระลึกอยู่ในใจเสมอ ว่า สิ่งที่แพทย์อย่างเรากำลังกระทำอยู่ ได้ทำเต็มความสามารถของแพทย์หรือไม่และการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ ผู้ป่วยและญาติอย่างสูงสุดหรือไม่
ไม่มีผู้ใดถูก ผู้ใดผิด หากความคิดเหล่านั้นมีเหตุผล


สำหรับตัวผมเอง ผมแค่คิดว่าก่อนที่จะกระทำสิ่งใดไปก็ตาม โดยเฉพาะสำหรับเรื่องชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการสิ้นสุดการเดินทางของเขาบนโลกใบนี้ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านั้น ควรไตร่ตรองให้รอบคอบเป็นอย่างดี ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำจากความคุ้นเคย หรือปัดไปเพื่อให้เวรคืนนี้ได้นอน



ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจญาติมาใส่ใจหมอ แล้วพินิจใคร่ครวญก่อนตัดสินใจ เพราะสุดท้ายแล้ว พื้นฐานของการเป็นแพทย์คือ เป็นผู้รักษาชีวิตและมีหน้าที่ควรปกป้องชีวิตให้สิ้นสุดลงอย่างสมศักดิ์ศรี ท ี่สุด แค่นั้นเอง...


นศพ. อธิพัฒน์ อธิพงษ์อาภรณ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Create Date :16 พฤศจิกายน 2551 Last Update :16 พฤศจิกายน 2551 18:08:24 น. Counter : Pageviews. Comments :0