
ก็เพียง นศพ. คนหนึ่ง
วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ผมได้รู้สึกถึงความมีคุณค่าในตัวเองในฐานะที่เป็น นศพ.
วันนี้เป็นวันแรกที่ผมขึ้นวอร์ด orthopaedics ในเวลาช่วงเช้านั้นผมก็เรียน lecture เหมือนกับชีวิตนักศึกษาทั่วๆไป แต่ในช่วงเวลาเย็นหลังเลิกเรียนผมต้องมารับเคสตามหน้าที่ของ นศพ. ซึ่งในขณะนั้นผมมีความกังวลอยู่ในใจว่า เราไม่มีความรู้แล้วจะตอบคำถามผู้ป่วยได้ยังไง
ผมจึงไปหยิบแฟ้มมานั่งอ่านดูว่า ผู้ป่วยเป็นอะไร หลังจากนั้นผมก็อ่านหนังสือในเรื่องนั้นไว้อย่างเต็มที่เพื่อจะสามารถตอบคำถามของผู้ปกครองของผู้ป่วยได้ ขณะที่ผมเดินเข้าไปเพื่อที่จะพูดคุยกับแม่ของผู้ป่วย ผมก็แนะนำตัวเอง แล้วก็เริ่มสนทนากับผู้ป่วยตามอย่างที่ นศพ. ควรจะทำ
หลังจากได้คุยกันอยู่สักพัก ผมเริ่มรู้สึกได้ถึงความกังวลใจของแม่ของผู้ป่วยอย่างมาก และผมก็มั่นใจว่าผู้ป่วยเริ่มเชื่อใจผม ผมจึงถามออกไปว่า
มีความกังวลใจอะไรอยู่หรือป่าวครับ พอจะเล่าให้ผมฟังได้ไหม
และแม่ของผู้ป่วยก็ได้พูดออกมาเองโดยผมไม่ต้องซักถามอะไรเพิ่มเติม แม่ของผู้ป่วยรายนี้รู้สึกว่า ลูกยังอายุน้อย ยังไม่ถึง 10 ขวบ ไม่อยากจะให้ลูกต้องเข้ารับการผ่าตัดเลยถ้าเป็นไปได้ แม่ของผู้ป่วยรู้สึกภูมิใจในลูกของตัวเองมาก เนื่องจากลูกเรียนได้ดีมากๆ ไม่เป็นเด็กดื้อเลย
ในเวลานั้นแม่ของผู้ป่วยบอกผมออกมาว่า รู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมากที่ต้องรอผลการตรวจว่าลูกจะเป็นโรคที่รักษาหายหรือไม่ เวลาช่วงนี้มันช่างเป็นเวลาที่ทุกข์ทรมานและแสนยาวนานเหลือเกิน
ผมพยายามฟังและสะท้อนความคิดให้รับทราบว่าผมฟังแม่ของผู้ป่วยพูดอยู่ หลังจากที่ผมฟังแม่ของผู้ป่วยพูดจบ แม่ของผู้ป่วยมีสีหน้าที่สบายใจขึ้นมาก รู้สึกเหมือนมีคนมารับฟังและเข้าใจ
ผมพูดให้กำลังใจและก็เดินออกมาพร้อมกับคำพูดที่พูดว่า วันพรุ่งนี้ผมจะมาดูอาการน้องอีกรอบนะครับ แม่ของผู้ป่วยยิ้มรับด้วยความยินดี ทั้งที่รู้ว่า ผมเป็นเพียง นศพ. คนหนึ่ง
ต่อมาผมก็เดินไปรับผู้ป่วยรายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบเช่นกัน ผมเห็นคนนั่งอยู่ข้างๆเตียงผู้ป่วยคนหนึ่งหน้าตาดูโทรมๆ และเหมือนกำลังคิดอะไรบางอย่างอยู่ในใจ ผมจึงเข้าไปและแนะนำตัวเอง และถามถึงว่าเป็นอะไรกับผู้ป่วย จึงได้ทราบว่าเป็นแม่ของผู้ป่วย ผมก็ถามออกไปเหมือนเคยว่า วันนี้ผู้ป่วยมีอาการอะไรมาครับ แม่ของผู้ป่วยก็เล่าให้ฟังเล่าไปเรื่อยๆและผมก็ถามตามสมควร ในระหว่างการสนทนากัน ผมสังเกตเห็นว่าแม่ของผู้ป่วยกำลังคิดอะไรอยู่ในใจตลอดเวลา เหมือนกับไม่มีสมาธิที่จะตอบคำถามได้อย่างเต็มที่
ผมจึงลองถามแม่ของผู้ป่วยออกไปว่า มีความกังวลใจอะไรอยู่หรือป่าวครับ หรือว่าจะกังวลเกี่ยวกับอาการของน้อง
แม่ของผู้ป่วยตอบผมกลับมาว่า เรื่องอาการป่วยของลูกก็กังวลอยู่เหมือนกัน แต่ที่กังวลอยู่อีกเรื่องก็คือ ครั้งก่อนไปรักษาที่ รพ. แห่งหนึ่ง แล้วเขาเก็บค่ารักษาเพิ่ม ตอนนั้นราคาไม่เท่าไรยังพอจ่ายได้ แต่ในครั้งนี้เงินก็ไม่ค่อยจะมี เดินทางมายังเดินทางกลับไม่ได้ ต้องเฝ้าอยู่เพียงแต่ที่นี่เท่านั้นเพราะมือถือก็ไม่มี มีอะไรจะได้ติดต่อได้ทันที แล้วแม่ของผู้ป่วยก็เอาเสื้อขึ้นมาปิดหน้า เช็ดน้ำตา
ผมจึงเอามือจับและบีบเบาๆที่ข้อศอกของแม่ของผู้ป่วยแล้วบอกว่า ไม่ต้องกังวลนะครับ ถ้าเกิดไม่มีเงินจริงๆที่นี่มีมูลนิธิที่สามารถช่วยเหลือได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาติดต่อหน่อย ถ้ายังกังวลอยู่ พรุ่งนี้พอมีแพทย์หรือพยาบาลมาถามไถ่อาการของผู้ป่วย ลองถามปรึกษาเกี่ยวกับข้อขับข้องใจเรื่องนี้ได้นะครับ
หลังจากที่ผมพูดประโยคจบ แม่ของผู้ป่วยก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ปล่อยให้น้ำตาไหลออกมาเหมือนกับคนที่พบทางออกของปัญหาที่ติดอยู่ในใจมานาน จนลูกซึ่งเป็นผู้ป่วยหันมามองแม่และเหมือนอยากจะเข้าไปปลอบแม่ เพราะเห็นแม่กำลังร้องไห้
ในเวลานั้น สมองส่วนลึกของผมก็ได้จดจำภาพเหตุการณ์นั้นไว้ ผมประทับใจกับความรักและเป็นหวงของแม่ที่มีต่อลูกมาก และลูกถึงแม้จะยังเด็กอยู่แต่ก็มีความเป็นห่วงเป็นใยแม่มาก
หลังจากนั้น แม่ของผู้ป่วยดูมีความกังวลลดน้อยลง ผมจึงถามไปอีกว่า มีความกังวลอะไรอีกไหม ดูเหมือนแม่ของผู้ป่วยยังอยากถามให้มั่นใจขึ้นในเรื่องการช่วยเหลือจึงถามผม อีกรอบ ผมจึงยืนยันในการมีอยู่จริงขององค์กรที่ช่วยเหลือในด้านนี้ ทำให้แม่ของผู้ป่วยมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มขึ้น
หลังจากนั้นผมจึงถามต่อไปว่า ยังมีอะไรอยากถามหรืออยากทราบเพิ่มเติมอีกหรือป่าวครับ แม่ของผู้ป่วยบอกว่า ไม่มีอะไรแล้ว ผมจึงบอกกลับไปว่า แล้วพรุ่งนี้ผมจะกลับมาดูอาการน้องใหม่นะครับ มีปัญหาอะไรบอกผมได้ ผมจะพยายามช่วยเหลือเท่าที่ผมจะทำได้ แล้วผมก็กลับออกไป
จากที่ทั้งสองเคสที่ผมเล่าไป ผมรู้สึกถึงความมีคุณค่า ที่ทำอะไรได้มากกว่าไปซักประวัติโรคของผู้ป่วยเพื่อการเรียนรู้ของผมเพียงอย่างเดียว ผมรู้สึกว่า ผมได้ให้อะไรกลับคืนไปแก่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดที่ต้องดูแลผู้ป่วยบ้าง แม้มันจะดูเหมือนเล็กน้อยและดูเหมือนไม่ใช่หน้าที่ของ นศพ. น่าจะเป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์
แต่ผมกลับมองว่า หน้าที่นี่แหละที่เป็นหน้าที่อีกอย่างที่ นศพ. ควรจะต้องทำ เพราะสิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูยุคที่มีแต่การฟ้องร้องแพทย์กันอย่างมากมาย
ลองคิดดูว่า ถ้าเราเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยและผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่วันนี้ ก็คงไม่มีผู้ป่วยหรือใครที่ไหนอยากจะฟ้องแพทย์ที่พยายามดูแลเขาหรือญาติของเขาอย่างดีที่สุดในความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติของเขาเอง โดยไม่ใช่แค่คำพูดของหมอว่า ผมจะพยายามดูแลให้ดีที่สุดนะครับ
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สังคมแพทย์เริ่มลืมเลือนหายไป เพราะเวลาที่จะสอนมีอยู่อย่างจำกัดและจำเป็นที่จะต้องสร้างแพทย์ที่มีความรู้ให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อที่จะไม่รักษาผู้ป่วยผิดพลาด ทำให้ในขณะนี้แพทย์ที่จบออกมาสามารถรักษาโรคทางกายได้เป็นอย่างดีแต่ไม่สามารถที่จะรักษาโรคทางใจได้ ทั้งของผู้ป่วยและผู้ที่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
นศพ. เอกพล ฤทธิ์วีระเดช นศพ.ปี 5
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
Create Date :23 พฤศจิกายน 2551
Last Update :23 พฤศจิกายน 2551 18:01:52 น.
Counter : Pageviews.
Comments :6
- Comment
โดย: น้ำหวาน (skynamwan
อ่านแล้วประทับใจค่ะ ทั้งนศพ.เอกพล ฤทธิ์วีระเดช
และหมอหมุเจ้าของ blog
โดย: Cheria (SwantiJareeCheri
รู้สึกดีมากๆ
โดย: บอนหวาน
โดย: ปาน (รพ.ศิริราช) (eisluv
อยากให้น้องหมอทุกคนได้มีประสบการณ์ดีๆแบบนี้
จะได้เก็บไว้เป็นความทรงจำที่ดีต่อไป...
โดย: NuHring
โดย: ลูกแม่ดอกบัว