bloggang.com mainmenu search
ทุกข์ในใจ

ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาอยู่ชั้นปีที่5 และได้มีโอกาสตรวจผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในขณะที่ข้าพเจ้ายืนรอผู้ป่วยอยู่หน้าห้องตรวจนั้น ข้าพเจ้าได้ได้ยินเสียงพยาบาลท่านหนึ่งซึ่งอยู่หน้าห้องตรวจที่อยู่ติดกันกล่าวว่า

“ หมายเลข 19 ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน เจาะเลือด”

เป็นเสียงเรียกจากพยาบาลหน้าห้องตรวจ ป้าคนหนึ่งรีบลุกจากที่นั่งตรงมายังเสียงเรียกดังกล่าว ส่งสมุดบันทึกประจำตัวให้เจ้าหน้าที่ ด้วยความวิตกกังวลว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร พยาบาล หมอจะว่าอะไรป้าบ้าง ผลความดันผลเลือดจะออกมาอย่างไร
“เอาหลาว ไม่มาตามนัดหลาว พันปรือสักที แล้วจะรักษาที่นี่ต่อหม้าย”

พยาบาลหน้าห้องตรวจก้อพ่นลมปากใส่ป้า พร้อมท่าทางหงุดหงิดที่ป้าไม่มาตามที่นัดหมายแล้วตามมาอีกสองสามประโยค

“โอ้ย ความดันไม่ลดเลย สั่งห้ามกินเค็มกินมัน ทำตามมั่งหม้าย”
“เอา มาเจาะเลือด พูดอะไรไม่เคยทำตาม เดี่ยวคอยแลเบาหวานขึ้นสูงอีก”

คนในชุดขาว หมวกขาวหน้าห้องตรวจ พูดพรางเขียนพรางโดยชื่อของป้าไม่มีผ่านปากเลยสักคำ สีหน้าแววตาของป้าเป็นอย่างไรไม่ได้รับรู้เลย สิ่งที่เค้าสนใจคือการจดบันทึกลงในเวชระเบียนเท่านั้น

“เจาะเลือดเสร็จแล้ว รอแถวนี้อย่าไปไหน รอเข้าพบหมอ” พยาบาลคนเดิมสั่งป้า

ข้าพเจ้าเห็นป้าทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยการนั่งรอหน้าห้องตรวจ โดยที่ไม่ทราบว่าไปทานอาหารได้แล้วเพราะเจาะเลือดเสร็จแล้วพยาบาลสั่งให้รอก็รอ ไม่เห็นบอกให้ไปกินข้าว

“หมายเลข 19 เข้าห้องตรวจ หมายเลข 19 19 อยู่หม้าย” เสียงพยาบาลเรียกป้า

ป้าสะดุ้งเมื่อเพื่อนข้างๆสะกิดบอกว่าถึงคิวตรวจแล้ว ป้าเดินสีหน้าเศร้าสร้อยเข้าห้องตรวจ

“325 ป้า ป้า น้ำตาลป้าไม่ลดเลย หมอต้องเปลี่ยนจากยากินมาเป็นยาฉีดแล้วนะ ป้าทำตามที่หมอสั่งหรือป่าว รักษามาตั้งนานไม่ได้ผลเลย มาก็ไม่ตรงนัด เดี่ยวป้าไปรับยาแล้วให้พยาบาลสอนฉีดยาให้นะ ป้าจะฉีดเองหรือสอนให้ญาติฉีดก็ได้ หากฉีดเองไม่ได้ให้มาฉีดเองที่โรงพยาบาลวันละครั้ง”

หลังจากดูผลเลือดและตรวจป้าราวๆ สองถึงสามนาทีแพทย์ผู้ทำการรักษาได้เปลี่ยนจากยากินมาเป็นยาฉีดแทนเนื่องจากไม่พอใจค่าตัวเลขระดับน้ำตาลในเลือดของป้าที่ควบคุมไม่ได้

คำถาม คำตำหนิจากคนชุดขาว จากหมอ ที่ป้ามาไม่ตรงนัด ความดันไม่ลด น้ำตาลไม่ลด ทำตามที่สั่งไม่ให้กินเค็ม ไม่กินมัน ไม่กินหวานทำตามบ้างหรือไม่ สารพัดคำถาม สารพัดคำตำหนิ แต่ดูเหมือนว่าตั้งแต่เช้ามาป้ายังไม่ได้บอกกล่าวอธิบายเหตุผลใดๆให้ใครฟังสักคำเลยและดูเหมือนว่าป้าคงไม่จำเป็นต้องพูดอะไรแล้ว เพราะพยาบาลและหมอทำตามขั้นตอนที่วางไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

หลังจากนั้นซึ่งเป็นเวลาพักเที่ยงของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นป้านั่งอยู่หน้าห้องตรวจเพื่อรอบัตรนัดครั้งต่อไปร่วมกับมีสีหน้าเศร้า ข้าพเจ้าเลยเข้าไปนั่งคุยกับป้าถึงเหตุการณ์ทั้งหมดและเหตุผลที่ป้าไม่มาตามนัดรวมถึงการที่ป้าควบคุมเบาหวานและความดันไม่ดี ซึ่งป้าก็เล่าให้ฟังดังนี้

หลักกิโลเมตรที่ 18 ถนนสายบ่อล้อลำทับ เป็นบ้านของป้ากับลุงที่มีลูกสาว ลูกเขยและหลานอีกสองคนอยู่ด้วยกัน ลูกสาวและลูกเขยที่อยู่กับป้า กรีดยางจ้างในหมู่บ้านใกล้เคียงห่างจากบ้านร่วมสิบกิโล หลานสองคนเรียนอยู่ชั้น ป.3 และ ป.6 มีรถรับส่งหน้าบ้าน ทั้งป้าและลุงเมื่อก่อนกรีดยางจ้างเช่นกันแต่ตอนนี้สายตาไม่ดีเลยกรีดไม่เห็น หยุดกรีดยางมาสามสี่ปีแล้ว เวลาทั้งหมดของป้าเป็นการทำงานบ้าน ทำกับข้าว ซักผ้าส่วนลุงออกทำงานก่อสร้างกับผู้รับเหมาในตัวอำเภอ มีรถมารับส่งทุกวัน

ก่อนจะมาโรงพยาบาล ป้าได้บอกกับลูกสาวเรื่องที่จะต้องมาโรงพยาบาล ก่อนที่ป้าจะบอกลูกสาว ป้าต้องคิดแล้วคิดอีก ต้องหาจังหวะเวลาที่พอจะพูดกับลูกได้เพราะรู้ดีว่าหากวันไหนหมอนัด ลูกเขยต้องไปส่งเนื่องจากลูกสาวขับรถไม่ได้ และทั้งบ้านมีรถมอเตอไซร์ที่ใช้ขนน้ำยางเพียงคันเดียว ทำให้ลูกต้องหยุดกรีดยางเพราะรู้ดีว่าต้องไปตั้งแต่เช้าเพื่อไปหยิบบัตรคิว อีกทั้งการเป็นลูกจ้างแล้ว หยุดกรีดยางนอกจากเป็นการขาดรายได้แล้วอาจถูกไล่ออกได้ง่ายๆ จึงเป็นเรื่องที่ป้าต้องลำบากใจทุกครั้งที่ต้องบอกลูก

บางครั้งที่หมอนัดป้า ป้าบอกว่าต้องทำเป็นลืม บางนัดลูกไม่ว่างก้อไม่ได้ไป บางครั้งแม้ไม่มีเสียงตอบใดๆจากลูกเลยป้าก็จะเตรียมสัมภาระไว้เผื่อว่าลูกจะรับรู้และได้ไปส่ง กลางคืนป้าต้องนอนฟังเสียงรถมอเตอร์ไซร์หากได้ยินเสียงรถออกจากบ้านแสดงว่าลูกไปกรีดยาง บ่อยครั้งที่ป้าต้องงดน้ำ งดอาหารรอโดยไม่รู้เลยว่าวันรุ่งขึ้นจะได้ไปโรงพยาบาลหรือไม่
แต่คราวนี้ป้ารู้สึกดีใจเมื่อได้ยินคำตอบรับจากลูกสาวว่า

“ต่อเช้าหยุดยาง ค่อยให้พี่ญาไปส่ง”

ป้ารู้สึกโล่งอกไปเรื่องหนึ่ง แต่ความกังวลไม่ได้จบเพียงการตอบปากรับคำจากลูกเพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาป้ารู้ดีว่าวันไหนหยุดกรีดยางลูกเขยชอบไปเที่ยวกับเพื่อน กินเหล้า เมากลับดึกเป็นประจำซ้ำร้ายยังมีปากเสียงลงไม้ลงมือกันบ่อยกับลูกสาวจนหลานๆต้องร้องห่มร้องให้มานอนกันนอกห้องหลายครั้ง จะหวังอะไรที่จะไปส่งแม่หาหมอตามนัด

ป้าจัดแจงสัมภาระของใช้ส่วนตัวใส่ตะกร้าใบเก่าเช่นเดิมทุกครั้งที่ผ่านมา ที่ลืมไม่ได้คือสมุดประจำตัว บัตรทอง บัตรประชาชน ป้าทราบดีว่าหากป้าลืมสิ่งเหล่านี้เมื่อไปโรงพยาบาลป้าจะพบกับเหตุการณ์อย่างไรบ้าง ป้าเล่าให้ฟังว่าเคยน้ำตาร่วงจากเงินติดกระเป๋าต้องหมดไปจากการต้องจ่ายค่ายาเนื่องจากลืมบัตรทอง ป้าจำไม่ลืมและที่เสียใจมากกว่าการจ่ายค่ายาคือ เสียงต่อว่าจากห้องบัตรกล่าวว่า

“ ไม่รู้จักเตรียม มาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว เก็บตางค์เสียมั่งจะได้รู้สึก”

ทั้งคำพูดและการกระทำของเจ้าหน้าที่ห้องบัตรครั้งนั้นทำให้ป้ารู้สึกจริงๆ เงินที่เก็บออมใว้ยามจำเป็นต้องหมดไป ใจที่ทุกข์ระทมจากสารพัดเรื่องเพิ่มทวี ฝังใจจนยากที่จะลืมได้
ป้าเล่าไปน้ำตาคลอเบ้าไปด้วยใจที่หดหู่ ยากที่ใครจะรับรู้เข้าใจความรู้สึกป้า วัยชราคนนี้

ป้าเล่าต่อว่าหลังจากอาหารเย็น ป้าก็ไม่ทานอะไรต่ออีกเลย งดอาหารและน้ำตามแพทย์สั่ง รีบเข้านอนรอฟังเสียงไก่ชนที่ลุงเลี้ยงไว้หลังบ้าน ป้ากังวลจนนอนไม่หลับ กังวลว่าพรุ่งนี้จะได้ไปตามนัดหรือไม่ ผลความดันเบาหวานเป็นอย่างไรบ้าง จะพูดกับพยาบาล กับหมออย่างไรว่านัดครั้งที่แล้วไม่ได้มา และกลัวว่าค่าความดันเบาหวานไม่ลดจะทำอย่างไร

ป้าตื่นตีห้าเรียกลูกสาวให้ไปปลุกลูกเขยใช้เวลาค่อนชั่วโมงกว่าจะมาถึงโรงพยาบาลด้วยความรีบร้อน ตรงไปที่บัตรคิวหยิบบัตร 19 ซึ่งเป็นบัตรที่หยิบได้ในเดือนนี้มีหลายคนนอนรอ นั่งรออยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทุกคนพยายามรีบมาให้เร็วที่สุด เพราะหากมาสายเท่ากับว่าต้องนั่งทนหิวอีกนานกว่าจะได้ทานข้าว

สักครู่หนึ่งลูกเขยป้าจึงเดินเข้ามาหาและพาป้ากลับบ้านพร้อมความทุกข์ใจที่ยังมีอยู่และไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้


ทั้งหมอทั้งพยาบาลมีใครสักคนไหมที่รู้ว่า ที่ป้ามาไม่ตรงนัดแล้วบอกพยาบาลว่าป้าลืมนัด ป้าจำวันผิด ยอมให้พยาบาลดุด่าเพียงเพื่อให้มีคำตอบให้เหตุการณ์ขณะนั้นผ่านพ้นไป ทั้งที่จริงป้าต้องทำเป็นลืม เพราะเกรงใจลูกที่ต้องมาส่ง ต้องหยุดกรีดยาง ขาดรายได้หรือบางครั้งคนมาส่งเมาเหล้าหลับลืมไม่ได้มาส่ง บางครั้งมีปัญหาสามีภรรยาทุบตีกัน สุดท้ายคำว่า ลืม คำว่า จำวันผิด ก็เป็นวลีเพียงเพื่อลมปากผ่านหูเท่านั้น

แล้วมีสักกี่คนที่รู้ว่าป้าอยากทำตามที่หมอสั่ง งดเค็ม งดมัน งดหวาน แต่ไม่มีทางให้ป้าเลือกกินเลย ป้าเล่าให้ฟังว่า

“ที่บ้านอยู่กัน 6 ชีวิต ใครจะรู้บ้างว่ากับข้าวที่ป้าทำเคยถูกเททิ้งมาแล้วเนื่องจากจืด กินไม่ลง ลูกหลานกินไม่ได้ หากจะแยกครัวแยกปรุงออกไปต่างหาก เท่าที่มีอุปกรณ์อาหารการกินก็จำกัดเต็มที แค่ได้มีกินก็พอแล้วสำหรับป้า”

จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้เจอในครั้งนี้ ทำให้ข้าพเจ้าคิดอยู่เสมอว่าการเป็นหมอนั้นไม่ใช่แค่เพียงการรักษาเพียงแต่โรคหรือการมีความรู้ที่เก่งเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์และสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยมี

สุขภาวะทางจิตใจที่ดี คือมีจิตใจที่มีความสุข รื่นเริง คล่องแคล่ว ไม่มีความเครียด มีสติสัมปชัญญะ และความคิดอ่านตามควรแก่อายุ

สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางร่างกายร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง คือ คล่องแคล่ว มีกำลัง ไม่เป็นโรค ไม่พิการ มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ

สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางสังคม คือ ความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคม มีความสุข สันติภาพ

สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ คือ เป็นความสุขที่เกิดจากการเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความจริงแห่งชีวิตและสรรพสิ่ง

จนเกิดความรอบรู้ เอาใจใส่คนไข้ มีเมตตา มีความสนใจต่อคนไข้มากกว่าเป็นแค่คนไข้คนหนึ่ง ปฏิบัติต่อคนไข้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ มีมโนธรรมในการเป็นแพทย์ มีการติดต่อสื่อสารทั้งสองทาง รับฟังความคิดเห็นและความทุกข์ลำบากของคนไข้และตอบสนองด้วยการช่วยเหลืออย่างเต็มที่

กล่าวโดยสรุปคือการเป็นแพทย์ที่ดีนั้นข้าพเจ้าคิดว่าควรดูแลรักษาทั้ง คน และ ไข้ จึงจะเป็นแพทย์ในอุดมคติที่ดี เป็นที่พึ่งของประชาชนผู้ป่วยไข้และเป็นที่ยอมรับยกย่องในสังคม

สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าขอยกคำกล่าวของพระราชบิดาที่ได้กล่าวไว้ เพื่อให้แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรสาธารณสุขได้ดำเนินตามอุดมคติของตัวเอง เป็นบุคลากรทางสาธารณสุขอย่างมีมาตรฐานและสืบเนื่องต่อไป



สุขส่วนตนยกไว้ เป็นสอง

ประโยชน์ชนทั้งผอง หนึ่งแท้

หากยึดมั่นธรรมครอง อาชีพ บริสุทธิ์

ลาภยศจักเกิดแม้ ไม่ได้ ไขว่คว้า

คือคำที่ท่านให้ พึงจำ

หากหมั่นเพียรกระทำ เยี่ยมแท้

พระบรมราชชนกนำ เป็นแบบ อย่างดี

เราลูก บิดา แม้ สุขน้อย อดทน


ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์

I don't want you to be only a doctor, but I also want you to be a man

นายธีรเดช เกลือนสิน
นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6
ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก
โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช






Create Date :07 ธันวาคม 2551 Last Update :9 ธันวาคม 2551 17:12:24 น. Counter : Pageviews. Comments :10