bloggang.com mainmenu search

ผมก็จะทยอยลงมาเรื่อย ๆ นะครับ ... วันละเรื่องสองเรื่อง ก็ค่อยๆ ติดตามกันไปละกัน ...



บทบรรณาธิการ

เพราะระบบทุนนิยมที่กำหนดให้ผู้คนในสังคมต้องแก่งแย่งกัน ไม่เว้นแม้แต่นักเรียนที่ต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้อาชีพที่ดี มีรายได้มาก ทำให้เด็กแย่งกันเรียนหมอ โดยไม่ต้องสนว่าชอบหรือไม่ อยากดูแลผู้คนที่ทุกข์ยาก และพร้อมที่จะเสียสละ อดหลับอดนอนเพื่อความสุขของผู้อื่นหรือไม่

หรือ

เพราะระบบการเรียนการสอนที่มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการที่ทำให้นักเรียน แพทย์ เรียนเพียงแต่การแพทย์ แต่ขาดหัวจิตหัวใจที่จะดูแลผู้คนอย่างมนุษย์คนหนึ่ง

หรือ

เป็นเพราะระบบการบริการสาธารณสุข ที่งานหนัก เงินน้อย ให้บริการฟรี แต่ก็ยังมีการร้องเรียนฟ้องร้องกัน ทำให้หมอขาดซึ่งอุดมการณ์ ลาออกไปทำงานเอกชนกัน จนขาดแคลนแพทย์ในชนบท


ผมเป็นเด็กคนหนึ่งที่เกิดในครอบครัวนักธุรกิจที่พ่ออยากให้สืบทอดบริหารงานต่อ แต่แม่อยากให้มาเรียนหมอ โดยไม่เคยรู้ว่าหมอทำงานอย่างไร รู้เพียงแต่ว่าแม่มักชื่นชมลูกพี่ลูกน้องที่เรียนหมอ คงจะดีไม่น้อยถ้าสอบเอนท์ทรานซ์ได้และได้รับคำชม ใครๆก็บอกว่าเป็นหมอน่ะดีหาเงินได้เยอะ

ผมผ่านระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เรียนกับอาจารย์ที่บรรยายวิชาการได้ยอดเยี่ยม เพียงบางภาควิชาที่พาไปเรียนรู้กับชุมชน ตอนเรียนจบใหม่ๆ ไปทำงานเป็นทั้งหมอและผู้อำนวยการคนเดียว ตั้งใจจะใช้ทุนให้ผ่านๆไปหมด 3 ปี แล้วกลับมาเรียนต่อ

แต่แล้วเรื่องราวของลุงแดง คนไข้โรคหัวใจล้มเหลว ที่หอบทุกครั้งที่มาโรงพยาบาลเพราะต้องเดินมากว่า 7 กิโลเมตร อาศัยอยู่กับภรรยาที่ขาพิการ ต้องกระเสือกกระสนดูแลตนเองโดยรับจ้างเลี้ยงควายประทังชีวิต

เรื่องราวของน้องเพ็ญ เด็กลาวที่ต้องทำงานตัดไม้ตั้งแต่อายุ 14 ปี จนพิการเดินไม่ได้เพราะถูกต้นไม้ที่กำลังตัดทับจนหลังหัก และอีกหลายเรื่องราวที่สะเทือนใจ และสะท้อนใจ ทำให้ได้เรียนรู้และเปลี่ยนความคิดความตั้งใจเดิมไปทีละน้อย

จากเรื่องราวหลายเรื่อง ได้เปลี่ยนเป็นเรื่องเล่า ที่พยายามถ่ายทอดให้น้องๆนักศึกษาแพทย์ในโอกาสที่ได้ไปเล่าเรื่องในโรงเรียน แพทย์หลายแห่ง ผมกลับพบว่าการเล่าเรื่องนั้นทำได้เพียงเปลี่ยนมุมมองของนักศึกษาแพทย์เท่านั้น หรือมากที่สุดคือวิธีคิด แต่ไม่สามารถเปลี่ยน ความเชื่อ พฤติกรรมหรือไปจนถึงอุดมการณ์ในตัวตนได้

มีเพียงเรื่องราวที่ประสบด้วยตนเองจึงจะมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ความเชื่อ ไปจนถึงทางเดินชีวิตของแต่ละคนได้

การบันทึกเรื่องราวที่ประสบเห็นในรูปแบบเรื่องเล่า คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจึงเป็นผู้ที่บันทึกเอง

แต่สำหรับผู้อ่านแล้ว อาจทำให้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผู้คนและผู้ป่วยที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้มีโอกาสที่จะดักจับเรื่องราวดีๆที่เป็นบทเรียนสอนใจที่ผ่านเข้ามาทั้ง โดยบังเอิญ และ ที่ผ่านเข้ามาโดยเป็นโอกาสที่ฟ้าประทานให้ได้เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง

การมีเรื่องเล่าที่ดีเรื่องหนึ่ง จึงไม่ใช่ง่ายๆ ต้องมีเรื่องราวที่ดี ที่มีผู้พบเจอ และนำมาผ่านกระบวนการถ่ายทอดรายละเอียดที่ดี และยังต้องส่งผ่านไปยังคนที่รู้คุณค่าด้วย

ดังนั้นหนังสือเรื่องเล่า...นักศึกษาแพทย์เล่มนี้จึงเป็นเจตนารมย์ที่มูลนิธ ิแพทย์ชนบทต้องการส่งผ่านเรื่องดีๆของนักศึกษาแพทย์ ไปยังเพื่อนๆพี่ๆทั้งในวงการแพทย์และนอกวงการแพทย์ เพื่อจะได้เรียนรู้เรื่องราวแห่งชีวิตของผู้ป่วยในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่ มีความคิด ความเชื่อ ความสุข ความทุกข์ อุปสรรคและข้อจำกัดที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ผมเชื่อว่า หลังจากได้อ่าน 20 เรื่องนี้จบแล้ว ไม่เพียงแต่มุมมองต่อผู้ป่วยจะเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่มุมมองต่อนักศึกษาแพทย์ และวงการแพทย์ก็อาจจะเปลี่ยนไปด้วย

มุมมองที่เปลี่ยนไปอาจทำให้ท่าทีเปลี่ยนไป ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ มุมมองและท่าทีที่เปลี่ยนไปย่อมส่งดีต่อปัญหาทั้งสำหรับแพทย์ และผู้ป่วยได้ไม่มากก็น้อย

ขอส่งกำลังใจให้แก่น้องนักศึกษาแพทย์ได้มีโอกาสค้นพบเรื่องราวดีๆ....ค้นพบตัวตนที่อยู่ภายในของเรา ได้ฝึกถ่ายทอดเรื่องราวดีๆที่เราพบเจอ ผ่านเป็นเรื่องเล่าที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นและตนเอง แรงบันดาลใจยิ่งให้ยิ่งงอกงาม ยิ่งถ่ายทอดยิ่งเพิ่มพูน

ขอให้น้องได้ให้และถ่ายทอดเรื่องดีๆที่ได้เรียนรู้ ไม่ใช่เพียงวิชาแห่งการแพทย์ แต่เป็นวิชาแห่งความเข้าใจความเป็นไปของชีวิต และไม่ใช่ด้วยหัวใจของความเป็นแพทย์ แต่ด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์



นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์
เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท
Create Date :08 พฤศจิกายน 2551 Last Update :8 พฤศจิกายน 2551 10:49:48 น. Counter : Pageviews. Comments :0