bloggang.com mainmenu search





กังวลอะไรไหม ??

ช่วงที่ผมอยู่วอร์ดออร์โธปีดิกส์ ผมได้บทเรียนที่ประทับใจไม่มีวันลืม จากคุณยายคนหนึ่ง...

เย็นวันนั้นเป็นวันที่ผมรับคนไข้ใหม่ ซึ่งพี่แพทย์ประจำบ้านได้ซักประวัติและตรวจร่างกายคุณยายเรียบร้อยแล้ว ผมได้ไปดูบันทึกเวชระเบียนที่พี่ทำการบันทึกประวัติ ทำให้ทราบว่า คุณยายมาผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่าซึ่งจะผ่าตัดพรุ่งนี้

หลังจากที่ผมได้รับผู้ป่วยตามปกติแล้ว (ปกติคืออ่านประวัติที่พี่เขียนบันทึกไว้ให้เข้าใจ) วันนั้นผมกำลังรีบกลับ เพราะนัดเพื่อนไว้ คิดว่าคงจะไม่ไปคุยกับคุณยายเพราะคงคุยนานไป คุยแล้วอาจจะเลยเวลาที่ผมนัดเพื่อนไว้ ไปคุยพรุ่งนี้ก็ได้ คุยวันนี้ไปก็คงไม่ต่างจากคุยพรุ่งนี้มากนัก

ขณะที่ผมกำลังจะกลับ ผมได้เหลือบไปมองเห็นคุณยายผู้ป่วยของผม ภาพที่กระทบเข้าสู่ลานสายตาของผมเป็นภาพหญิงชราหน้าตาดูกังวลเล็กน้อย นอนอยู่บนเตียงตามลำพัง ไม่มีใครมาเยี่ยม ในขณะที่รอบๆเตียงของคุณยาย เต็มไปด้วยผู้ป่วยที่มีญาติมาเยี่ยมด้วยกันทั้งนั้น

ความคิดที่จะรีบไปทันทีโดยที่ไม่ได้คุยกับคุณยายเลยได้เริ่มเปลี่ยน...

มีความคิดที่อยากจะลองไปคุยกับคุณยายดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง รู้เรื่องที่ตัวเองจะต้องผ่าหรือปล่าว มีความพร้อมหรือไม่อย่างไร ใจผมทีแรกก็ไม่ได้อยากเข้าไปคุยอะไรนานเท่าไรหรอก แค่อยากไปคุยให้คุณยายพอรู้จักเห็นหน้าก็พอ พอเป็นพิธี

ขณะที่กำลังเดินเข้าไปหาคุณยาย ผมได้คิดหาคำพูดที่สั้นกระชับที่จะสามารถเข้าใจความรู้สึกของคุณยาย และแล้วอยู่ๆก็มีคำๆหนึ่งได้แล่นเข้ามาในสมองผม เป็นคำพูดซึ่งตัวเองก็ไม่ทราบว่าเคยได้ไปยินมาจากใคร และยังไม่เคยได้พูด ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรก ซึ่งผมเองก็ไม่เคยทราบเลยว่าประโยคนี้ต่อไปจะกลายเป็นประโยคที่พูดติดปากผม ในเวลาต่อๆมา

“คุณยายกังวลใจอะไรบ้างไหม”

น้ำเสียงเล็กๆของผมได้แล่นเข้ากระทบหูของคุณยาย

สีหน้าของคุณยายค่อยๆเปลี่ยนไปทีละน้อย คงมีความงงสงสัย ด้วยเล็กน้อย

ริ้วรอยบนใบหน้าที่เหี่ยวย่น ปมคิ้วที่ขมวดเข้าหากันอยู่ ได้ค่อยคลายออกทีละน้อย

ผมได้สัมผัสกับรอยยิ้มที่ริมฝีปากอ่อนๆ และรอยย่นที่หางตาทั้งสองข้าง ซึ่งทำให้ผมได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของคุณยายได้เป็นอย่างดี

“หลังผ่าตัดจะต้องอยู่นอนโรงพยาบาลนานแค่ไหนคะคุณหมอ”

เสียงเปล่งของยายเป็นเพียงเสียงแผ่วๆ มีแต่ลมเสียเป็นส่วนใหญ่

“คงประมาณ 3-4 วัน แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจนะครับ เดี๋ยวผมจะถามพี่แพทย์ประจำบ้านให้นะครับ เอแต่ยังไม่มีคนบอกเรื่องนี้แก่คุณยายหรือครับ”

“อ้อ มีคนมาบอกยายแล้วเหมือนกัน ว่าประมาณนี้ แต่ต้องดูหลังผ่าอีกว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ แต่ตัวยายเองอยากทราบวันที่ต้องกลับจริงๆ เนื่องจากต้องดูว่าตรงกับวันที่ลูกๆคุณยายว่างที่จะมารับกลับบ้านหรือไม่”

คำพูดของคุณยาย ณ ขณะนั้นได้ไปสะกิดเบื้องลึกในหัวใจผม

“อะไรกันนี่ ยายเป็นคนป่วยเวลาที่จะกลับบ้านยังต้องคอยมาเป็นห่วงลูกๆอีกหรือนี่

แล้วลูกๆได้คิดถึงคุณยายบ้างไหมหนอ งาน,เงินและเกียรติ มันมีค่าเกินกว่าพ่อแม่อีกหรือ ”


เสียงตะโกนก้องในใจผมดังขึ้น

“ครับเดี๋ยวผมจะลองนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพี่ๆดูนะครับ อืมแล้วคุณยายมีเรื่องกังวลใจไม่สบายอีกมั้ยครับ”

“หลังผ่าตัดจะกลับมาเดินเป็นปกติได้ไหม” คุณยายถามด้วยความกังวล ไม่รู้ว่าชีวิตตัวเองจะเป็นอย่างไรหลังผ่า

“ส่วนใหญ่จะกลับมาเดินได้ตามปกตินะครับ แต่ที่สำคัญขึ้นอยู่ใจของคุณยายนะครับ ต้องสู้กับภาวะเสื่อมของร่างกาย อาจจะลำบากในการที่ต้องฝึกเดินตามที่แพทย์แนะนำในช่วงแรก แต่ต่อๆไปจะชินไปเอง”ผมตอบออกไปพร้อมกับกุมมือของคุณยาย

ผมได้ตกใจกับภาพที่เข้ามากระทบสายตาผมอีกครั้ง
คุณยายยกมือขึ้นไหว้ผม กล่าวขอบคุณผมมาก
ทั้งๆที่ตัวผมเองกลับมีความคิดว่ายังไม่ช่วยอะไรเลยด้วยซ้ำ

ผมกล่าวลาคุณยาย พร้อมกับยกมือไหว้คุณยายเช่นกัน

“พรุ่งนี้เดี๋ยวผมมาดูคุณยายใหม่นะครับ” ผมได้ลาคุณยาย
เดินกลับไปเพื่อไปหาเพื่อนตามนัด โดยที่ไม่ได้ไปช้ากว่าที่นัดไว้เลย...

เดินไปพร้อมกับรอยยิ้มของคุณยายที่ได้ฝังลึกลงในหัวใจของผม และคงเป็นเหมือนกำลังใจที่หล่อเลี้ยงผมไปอีกนาน

การที่ผมได้ไปคุยกับคุณยายครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผมในการดูแลผู้ ป่วย

“สำหรับหมอตัวน้อยๆอย่างผมนี้ ก็มีความสำคัญต่อผู้ป่วยเหมือนกัน”

หากใครว่าหรือมีความคิดว่า เราเป็นแค่นักศึกษาแพทย์คงทำอะไรไม่ได้มากหรอก
ผมคงจะแย้งเป็นเสียงแข็งว่า

“ถึงแม้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางกายเราอาจจะยังมีไม่เพียงพอ แต่เราสามารถดูแลเรื่องใจของผู้ป่วยได้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะป่วยเป็นโรคทางกายอย่างไร ซึ่งเรื่องทางใจนี้ผมเชื่อว่ามันมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องกายเลย”

ความกังวลใจหรือปัญหาเรื่องทางใจทั้งหลาย มักเป็นปัจจัยอันดับต้นๆที่ทำให้เกิดโรคทางต่างๆมากมาย

แม้เราจะยังไม่มีทักษะการคุยกับผู้ป่วย
ขอเพียงแค่เราเปิดใจรับฟังปัญหาผู้ป่วย ...
คำถามง่ายๆ “กังวลใจอะไรไหม”
คำถามประจำตัวของผมที่เป็นเหมือนอาวุธคู่กาย ที่ต้องพกติดตัวเวลาจะไปคุยกับผู้ป่วย

หากเราไม่ได้ถามแล้วเราจะรับรู้ปัญหาผู้ป่วยได้อย่างไร
บางครั้งเราอาจจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ด้วยซ้ำ

และเแม้เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยได้
แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราทำนั้น ก็เป็นการให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกทอดทิ้ง ต้องนอนอยู่กับเตียงตามลำพัง... ซึ่งนั่นก็ถือว่า เราได้เยียวยาเพื่อนมนุษย์ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว..... มิใช่หรือ ??



โดย นาย ศุภชัย ครบตระกูลชัย นศพ.ปี 5
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
Create Date :11 พฤศจิกายน 2551 Last Update :13 พฤศจิกายน 2551 18:50:38 น. Counter : Pageviews. Comments :7