Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
3 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
กรรม

บทความนี้คัดลอกจาก หนังสือ คุยกันวันพุธ “ กรรม “ ตอนที่ 1 โดยคณะสหายธรรม

ที่มา เป็นหนังสือเก่ามาก เนื้อหาละเอียดลึกซึ้งดี เมื่อเทียบกับหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ได้อ่านมา

เห็นว่าน่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อ หลายท่านที่ต้องการเข้าใจเรื่องของ “ กรรม “

การเสนอแนะนี้ เป็นบางส่วนของ หนังสือ ดังกล่าวเท่านั้น แต่ก็เป็นส่วนที่ น่าสนใจที่สุด หากอ่านแล้วเป็นที่พอใจ กรุณา แบ่งปัน เผยแผ่ ไปสู่สหายรัก คนรัก และคนรู้จัก คงจักเป็นประโยชน์ ขอธรรมทานอันเป็นกุศลนี้ ยังความสุขความเจริญต่อผู้ให้และผู้รับด้วยเถิด… : )

“กรรม”
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง และซับซ้อนเกินกว่าจะด้นเดาเอาเองได้ และเกินกว่าวิสัยของผู้ที่ไม่มีญาณอภิญญาจะหยั่งทราบได้ ถึงกระนั้นผู้มีญาณอภิญญาที่มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มิอาจรู้กรรมได้อย่างถูกต้อง และทั่วถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงรอบรู้กรรมได้ถูกต้อง และทั่วถ้วนทุกอย่าง ทั้งนี้เพราะนอกจากพระองค์จะทรงมีพระสัพพัญญุตญาณและทศพลญาณแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระอนาวรณญาณ คือ ญาณที่ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่มีอะไรมาเป็นเครื่องกำบัง มาเป็นเครื่องกั้นด้วย ด้วยเหตุนี้เรื่องของกรรมจึงเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้น มิใช่วิสัยของพระสาวกหรือศาสดาเจ้าลัทธิอื่น

พูดอย่างนี้ บางท่านอาจจะย้อนถามว่า เมื่อเช่นนั้นเหตุไรคณะสหายธรรมจึงอาจหาญนำเอาเรื่อง “ กรรม “ มาพูดกันเล่า ก็ใคร่จะขอเรียนว่า เรื่อง “ กรรม “ ที่คณะจำนำมาพูดกันนี้ล้วนแต่ถ่ายทอดมาจากพระดำรัสของพระพุทธเจ้า และคำอธิบายของท่านอรรถกถาจารย์ทั้งสิ้น ทางคณะไม่มีความสามารถพอที่จะพูดอะไรได้เองเลย หากท่านผู้ฟังได้ฟังเรื่องนี้แล้วเกิดความเชื่อถือเลื่อมใส ก็โปรดได้น้อมนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ ที่ได้ทรงแสดง เรื่องเหล่านี้ไว้ให้สาวกได้รู้ ได้เข้าใจ ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ จะได้ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง

คำว่า “ กรรม “ แปลว่าการกระทำ ถ้าเป็นการกระทำชั่ว กระทำบาป เราก็เรียกว่าบาปกรรม หรือ อกุศลกรรม ถ้าเป็นการกระทำดี เราก็เรียกว่ากัลยาณกรรม หรือ กุศลกรรม เพราะฉะนั้นคำว่า กรรม จึงเป็นคำกลาง ๆ ที่ไม่ได้บ่งไว้ว่าดีหรือชั่วดังที่คนส่วนมากเข้าใจกัน คือคนส่วนมากมักจะใช้คำว่า กรรม ในความหมายของอกุศลกรรม หรือบาปกรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่กรรมที่เราพูดกันนี้ เราจะไม่พูดกันตามความเข้าใจของคนส่วนมาก แต่จะพูดตามหลักฐานที่มีในพระพุทธศาสนา ในความหมายที่เป็นคำกลาง ๆ ไม่บ่งลงไปว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว

“ กรรม “ ว่าโดยสภาวะแล้วก็ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นร่วมกับจิตทุกดวง เมื่อจิตเกิดขึ้นครั้งใด เจตนาเจตสิกก็เกิดขึ้นพร้อมกับจิตด้วย พระพุทธองค์ตรัสว่า เจตนาหัง ภิกขะเว กัมมัง วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นแหละคือ กรรม ด้วยเหตุนี้ในขณะที่จิตเกิดขึ้นทุกครั้ง เจตนาคือกรรมก็เกิดขึ้นด้วย

กรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิตทุกดวงนี้ เรียกว่า สหชาตกรรม เป็นกรรมที่ยังไม่สามารถจะให้ผล คือ วิบากของตนเกิดขึ้นได้ หมายความว่าในขณะที่เจตนากรรมกำลังเกิดขึ้นอยู่นั้น กรรมไม่สามารถจะทำให้วิบากของตนเกิดขึ้นพร้อมกับตนในขณะนั้นได้ ต่อเมื่อใดกรรมนี้ดับไปแล้ว จึงสามารถจะให้ผลของตนเกิดขึ้นได้

กรรม ที่ดับไปแล้ว สามารถให้ผลของตนเกิดขึ้นในขณะต่างกัน ( คือคนละขณะกับที่ตนเกิด ) เรียกว่า นานักขณิกกรรม หมายความว่ากรรมที่ทำไว้และดับไปแล้วนั้น เป็นคนละขณะกับวิบาก คือ ผลของตน พูดง่าย ๆ ก็คือ กรรมอันเป็นเหตุกับวิบากอันเป็นผลไม่ได้เกิดพร้อมในขณะเดียวกัน แต่เกิดคนละขณะ สมมติว่าเรากำลังถวายอาหารบิณฑบาตอยู่ ในขณะนั้นกุศลเจตนาที่เกิดขึ้นในขณะที่ถวายนั้นมีอยู่ แต่ยังไม่สามารถให้ผลเกิดขึ้นได้ในขณะนั้น

ต่อเมื่อใดกุศลเจตนานั้นดับไปแล้ว จึงสามารถจะให้ผลได้ คือ สามารถให้ผลในชาตินี้ ให้ได้รับอารมณ์ที่ดีทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายบ้าง หรือให้ได้รับผลในชาติหน้าหรือชาติต่อๆ ไป ไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาบ้าง เจตนาในขณะกำลังถวายอาหารนั้นเป็น สหชาตกรรม ส่วนเจตนาที่ดับลงแล้วให้ผลที่ดีทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ให้ได้รับผลในชาติหน้าเป็นมนุษย์หรือเทวดานั้น เป็นนานักขณิกกรรม นี่ก็เป็นการเทียบเคียงโดยอาศัยบุคคลเพื่อให้ฟังง่ายเท่านั้น

ความจริงแล้ว เจตนาคือกรรมทั้งสองชนิดนั้นก็เป็นเพียงสภาวธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขาเลย ผลของกรรมที่เกิดขึ้นซึ่งภาษาธรรมะเรียกว่า วิบาก ก็เป็นเพียงสภาวธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขา เช่นเดียวกัน อนึ่ง สหชาตกรรมนั้น เกิดขึ้นพร้อมกับจิตทุกดวงก็จริง แต่เมื่อดับไปแล้วจะเป็น นานักขณิกกรรม คือส่งผลได้นั้นหมายเฉพาะเจตนาที่เกิดพร้อมกับกุศลจิตและอกุศลจิตที่ดับไปแล้วเท่านั้น เจตนาที่เกิดพร้อมกับจิตประเภทอื่น คือ กิริยาจิตและวิบากจิต แม้จะดับไปแล้วก็ไม่มีโอกาสส่งผลได้ เพราะกิริยาจิตนั้นเป็นจิตสักว่ากระทำ และส่วนมากก็เป็นจิตของพระอรหันต์ที่พ้นจากบุญและบาปทั้งสองแล้ว การกระทำของท่านจึงไม่จัดเป็นบุญหรือบาปแต่ประการใด ส่วนวิบากจิตนั้นก็ไม่ใช่กุศลและอกุศล เป็นเพียงผลที่เกิดจากกุศลและอกุศลที่ทำเอาไว้แล้วเท่านั้น

นี่เป็นการพูดถึง กรรม โดยนัยของคัมภีร์ปัฎฐานในพระอภิธรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องของหลักการทั้งสิ้น แต่หลักการนี่แหละเป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้อย่างยิ่ง เพราะถ้าขาดหลักการเสียแล้ว เราก็จะพากันตีความหมายของธรรมะไปตามที่เราเข้าใจ แต่ถ้าเราตีความหมายของธรรมะโดยอาศัยหลักเป็นเครื่องตัดสินแล้ว เราก็จะเข้าใจได้ถูกต้อง ทั้งจะช่วยให้ธรรมะของพระพุทธองค์ไม่ลบเลือนเปลี่ยนแปลงไป เป็นการช่วยรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้บริสุทธิ์หมดจดด้วย

คนส่วนมากมองการกระทำของตนหรือของผู้อื่นกันเพียงชาตินี้ชาติเดียว ไม่ได้มองให้ลึกไปถึงกรรมในอดีตชาติ ที่แต่ละคนได้ทำกันมาแล้ว จริงอยู่กรรมในอดีตนั้นเราไม่รู้ ทั้งนึกก็ไม่ออกว่าทำอะไรไว้บ้าง แต่ถ้าเชื่อว่าชาติก่อนมี ก็ต้องเชื่อว่ากรรมในชาติก่อนมีด้วย ถ้ากรรมในชาติก่อนไม่มีแล้ว เราก็คงไม่ต้องมาเกิดในชาตินี้อีก เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้ระลึกถึงว่า กรรมที่ทำไปแล้วนั้นมิได้ให้ผลในชาติใดชาติเดียว แต่ให้ผลในชาตินี้ก็ได้ ให้ผลในชาติหน้าก็ได้ ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปก็ได้ เพราะฉะนั้น กรรมที่เราทำไว้ในอดีตชาตินั้น เขาอาจให้ผลในชาตินั้น ๆ มาแล้ว แต่ผลในชาติหน้าและชาติต่อๆ ไป เขายังไม่ได้ให้ผล เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยพอ เขาก็ให้ผล ความจริงกรรมในชาติที่แล้ว ๆ มาที่ทำเอาไว้ที่ยังไม่ได้ให้ผลก็มีมากมาย ด้วยเหตุนี้ผลของกรรมที่ได้รับในชาตินี้ จึงอาจเป็นผลที่เกิดจาการกระทำในชาตินี่ก็ได้ ในชาติที่แล้วก็ได้ หรือในชาติหลัง ๆ จากชาติที่แล้วก็ได้ เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชัดเจนมากใน มหากัมมวิภังคสูตร และ อรรถกถาท่านยังช่วยขยายความต่อไปว่า

กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม
กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า คือ ชาติที่ต่อจากชาตินี้ไป เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม
กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป คือ ต่อจากชาติหน้าไป เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม
นอกจากนั้นก็ยังมีกรรมอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า อโหสิกรรม ซึ่งหมายถึงกรรมที่ให้ผลแล้ว หรือหมดโอกาสให้ผล ซึ่งในตอนนี้เราจะขอพูดกันเฉพาะกรรมที่ให้ผลก่อน โดยจะสงเคราะห์กรรมทั้ง 3 ประเภทนี้ลงในชวนะจิต 7 ดวง ซึ่งจะต้องพูดถึงเรื่องจิตกันก่อนว่า

จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ได้เหมือน ๆ กัน ก็จริง แต่มีกิจการงานหน้าที่ต่างกันถึง 14 กิจ เช่นทำหน้าที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้างเป็นต้น หน้าที่สำคัญที่สุดเพราะทำให้เกิดบุญและบาปก็คือ จิตที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์หรือที่เรียกว่าชวนะจิต ชวนะจิตนี้ถ้าเป้นจิตของผู้ที่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็เป็นกุศลคือ บุญบ้าง หรือเป็นอกุศลคือบาปบ้าง แต่ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ก็เรียกว่ากิริยาจิต จิตนี้ไม่ก่อให้เกิดผลคือวิบาก เพราะพระอรหันต์ท่านหมดสิ้นทั้งบุญและบาปแล้ว ท่านจะทำอะไรก็ตาม ผลที่จะเกิดแก่ตัวท่านในชาตินี้ และชาติต่อไปไม่มี แต่ที่ท่านยังเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ก็เพราะกรรมที่ทำไว้ ตั้งแต่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ตามมาให้ผล

ขอกลับมาพูดถึงจิตของผู้ที่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ว่า ถ้าเป็นจิตประเภท กามารวจรจิต คือจิตที่รับกามอารมณ์เป็นส่วนมากแล้ว จิตประเภทนี้เมื่อเกิดขึ้นทำหน้าที่เสพอารมณ์ คือทำชวนะกิจแล้ว ก็จะเกิดขึ้น 7 ครั้งติดต่อกันทั้งเป็นจิตชนิดเดียวกันด้วย คือหมายความว่าถ้าเป็นกุศลจิตก็เป็นกุศลจิตทั้ง 7 ครั้ง ซึ่งกุศลจิตนี้มีถึง 8 ประเภทเพราะฉะนั้นถ้ากุศลจิตประเภทใดใน 8 ประเภทนี้เกิดขึ้น ก็ต้องเป็นกุศลจิตประเภทเดียวกันนั่นเอง ที่เกิดขึ้นสืบต่อกัน 7 ครั้ง หรือถ้าเป็นอกุศลจิต ก็เป้นอกุศลจิตประเภทใด ประเภทหนึ่งใน 12 ประเภทเกิดขึ้นสืบต่อกัน 7 ครั้ง

ชวนะจิตที่เกิดสืบต่อกัน 7 ครั้งนี้แหละ ถ้าจัดโดยการให้ผลของกรรมแล้ว ชวนะจิตที่เกิดเป็นครั้งแรกที่เรียกว่า ชวนะจิตดวงที่ 1 ให้ผลในชาตินี้เป็น ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม ชวนะจิตที่เกิดครั้งสุดท้ายที่เรียกว่า ชวนะจิตดวงที่ 7 ให้ผลในชาติหน้าเป็น อุปปัชชเวทนียกรรม ชวนะจิตที่เกิดในระหว่างชวนะดวงที่ 1 และชวนะดวงที่7 ที่เรียกว่าชวนะดวงที่ 2 – 3 – 4 – 5 ถึงดวงที่ 6 ให้ผลในชาติต่อจากชาติหน้าไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะนิพพาน เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า กรรมที่ให้ผลแก่เราไปจนกว่าจะนิพพานนั้น เราได้สะสมเอาไว้ในอดีตชาติมากมายเพียงไร

ถ้าทุกคนทราบอย่างนี้ และกลัวผลของกรรมที่จะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปแล้ว ก็คงจะไม่มีใครอยากทำความชั่วเป็นแน่ เพราะเพียงแต่เราจะรับผลของกรรมชั่วที่ได้เคยทำเอาไว้ในอดีตชาติซึ่งมีอยู่มากมาย เราก็รับกันไม่ไหวแล้ว ถ้าชาตินี้สร้างเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ก็เห็นจะทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสทีเดียวในชาติต่อ ๆ ไป

อีกประการหนึ่ง ในขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นวิถีหนึ่งนั้นก็มีกรรมที่จะให้ผลในชาตินี้เพียงครั้งเดียว ให้ผลในชาติหน้าก็ครั้งเดียว แต่จะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปจากชาติหน้าตลอดไปจนกว่าจะนิพพานนั้นถึง 5 ครั้ง เจตนาในการกระทำบาป เริ่มต้นแต่คิดแล้วลงมือทำจนสำเร็จนั้น วิถีจิตไม่ได้เกิดเพียงวิถีเดียว แต่ว่าเกิดมากมายหลายพันหลายแสนวิถี ด้วยอำนาจความรวดเร็วของจิตเพราะฉะนั้นชวนะจิตดวงที่ 2 ถึงดวงที่ 6 วิถีละ 5 ดวงนี้ที่จะให้ผลในชาติต่อๆ ไปจนกว่าจะนิพพานนั้น จึงมากมายประมาณไม่ได้ ลองคิดให้ละเอียดอย่างนี้แล้ว จะเห็นว่าน่ากลัวมากทีเดียว ในขณะเดียวกันถ้าไม่ทำบาป แต่ทำบุญแทน ผลของบุญที่จะให้ผลแก่เราในชาติต่อ ๆ ไปจนนิพพานนั้นก็มากมายประมาณไม่ได้เหมือนกัน

แต่ละคนทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศลกันชาติละนับครั้งไม่ได้ ที่ยังจำได้ก็มี ที่ลืมไปแล้วก็มี เพราะฉะนั้น ผลที่เกิดจากการกระทำของเรา จึงมากมายจนไม่ทราบว่าจะนับกันได้อย่างไร ถ้าหากใครต้องการผลที่เป็นความสุข ก็จงเร่งรีบสร้างกุศลเอาไว้เสีย กรรมชาติที่แล้วเราแก้ไขไม่ได้ แต่กรรมชาตินี้เราทำให้ดีได้

ทางที่ดีที่สุดที่เราจะหนีกรรมที่เราทำไว้พ้น ก็คือเราต้องสร้างกรรมชนิดที่ไม่ทำให้ต้องมาเกิดอีก กรรมชนิดนี้ ก็คือ การเจริญวิปัสสนา หรือการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเราสามารถจะเจริญจนมีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันได้แล้ว เราก็จะเกิดมารับผลของกรรมที่เราทำไว้ไม่เกิน 7 ชาติ หรือถ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์นิพพานแล้วไม่เกิดอีก กรรมที่เราเคยทำเอาไว้มาก มายที่ยังไม่ให้ผล ก็หมดโอกาสให้ผล จัดเป็นอโหสิกรรมไปเลย พระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นความทุกข์ยากอันเกิดจากกรรมที่ทุกคนทำเอาไว้ จึงทรงแสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นจากกรรมเหล่านั้น เมื่อทรงค้นพบแล้วก็ทรงนำมาแสดงแก่ชาวโลก เพื่อให้สัตว์โลกทั้งหลายได้พ้นจากอำนาจของกรรมเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย ด้วยพระมหากรุณาของพระองค์ สัตว์โลกทั้งมนุษย์และเทวดาก็ได้พ้นจากกรรมไปแล้วมากมายนับไม่ถ้วน

นัยแรก กรรมที่ให้ผลเป็นสุขนั้นได้แก่ เจตนากรรม 4 ดวงที่เกิดพร้อมกับโสมนัสกามาวจรจิต 4 ดวง และ เจตนากรรมที่เกิดพร้อมกับปฐมฌาน 1 ทุติยฌาน 1 และตติยฌาน 1 รวมเป็นเจตนากรรมที่เกิดพร้อมกับจิตที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา 7 ดวง เมื่อจิตประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เจตนากรรมที่เกิดพร้อมกับจิตก็ประกอบด้วยโสมนัสเวทนาด้วย ทั้งนี้ก็เพราะเจตนากรรมนั้นเป็นเจตสิกธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์อย่างเดียวกับจิต อาศัยที่เกิดอย่างเดียวกับจิต ทั้งมีสภาพคล้อยไปตามจิต คือจิตเป็นโสมนัส เจตสิกก็เป็นโสมนัสด้วยเป็นต้น เพราะฉะนั้นเตจนนากรรมทั้ง 7 ที่กล่าวแล้วคือ เจตนากรรมในมหากุศลโสมนัส 4ดวง เจตนากรรมในปฐมฌานกุศล 1 ทุติยฌานกุศล 1 ตติยฌานกุศล 1 รวม 7 ดวง จึงเป็นเจตนาที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนาด้วย

เจตนากรรมในมหากุศลโสมนัส 4 ดวงนี้ สามารถจะเกิดได้ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ส่วนเจตนาในฌานกุศลทั้ง 3 นั้นเกิดได้ทางใจอย่างเดียว เจตนาทั้ง 7 เหล่านี้แหละที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นกรรมที่ประกอบด้วยความจงใจด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลเป็นสุขเมื่อทำกรรมอันให้ผลเป็นสุขแล้ว ย่อมเสวยสุข กล่าวคือ เจตนากรรมทั้ง 7 นี้ประกอบด้วยสุขเวทนาด้วย ให้ผลคือวิบากที่ประกอบด้วยสุขเวทนาทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาลด้วย นอกจากนั้นยังให้ผลเป็นอุเบกขาเวทนาในที่ได้รับอารมณ์ดีหรืออารมณ์ปานกลางในปวัตติกาล มีเห็น มีได้ยินเป็นต้นอีกด้วย

รวมความว่าบุคคลทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อันให้ผลเป็นสุข เขาย่อมจะเสวยสุขนี้ ก็ได้แก่ทำกุศลกรรมที่ประกอบด้วยสุขเวทนา แล้วได้รับผลที่ประกอบด้วยสุขเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง ในเวลาที่กำลังเกิดและเวลาที่มีชีวิตอยู่นั่นเอง

คราวนี้คนที่ทำกรรมอันให้ผลเป็นทุกข์ เขาย่อมเสวยทุกข์นั้น ก็เพราะกรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์นั้น จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากอกุศลเจตนากรรม ความจริงอกุศลเจตนากรรมที่ประกอบด้วยสุขเวทนาก็มี ประกอบด้วยทุกขเวทนาก็มี ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี แต่เพราะเหตุที่อกุศลเจตนากรรมเหล่านั้นให้ผลเป็ฯทุกข์เพียงอย่างเดีย่ว ท่านจึงเรียกว่ากรรมอันให้ผลเป็นทุกข์ เพราะทำให้เกิดทุกข์ในปฏิสนธิกาล และปวัตติกาล เป็นต้นว่าทำให้ไปเกิดในนรกได้รับทุกขเวทนามาก

ความจริงแล้วเมื่อว่าโดยสภาวะ อกุศลกรรมหรืออกุศลเจตนากรรมนี้ให้ผที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาในปฏิสนธิกาล และให้ผลที่ประกอบด้วยทุกขเวทนาในปวัตติกาลเฉพาะทางกายเท่านั้น แต่ให้ผลเป็นอุเบกขาเวทนาในทวารอื่นในเวลาที่ได้รับอารมณ์ไม่ดีบ้าง อารมณ์ปานกลางบ้าง ถึงกระนั้นอุเบกขาเวทนานั้น ท่านก็สงเคราะห์ว่าเป็นทุกข์ตามนัยของพระสูตรนี้ ในฐานะที่เป็นผลของอกุศลกรรม เช่นเดียวกับที่สงเคราะห์ผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาว่าเป็นสุข

รวมความว่าโดยนัยของพระสูตรนี้ อกุศลเจตนากรรมทั้งหมดชื่อว่ากรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ทั้งสิ้น แต่โดยนัยของพระอภิธรรมแล้ว อกุศลเจตนากรรมให้ผลคือวิบากที่ประกอบด้วยทุกขเวทนาเฉพาะทางกายทวาร ให้ผลที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาในทวารที่เหลือ มีทวารตา ทวารหู ทวารจมูก ทวารลิ้น และทวารใจ

สำหรับกรรมที่ให้ผลเป็นอุเบกขาเวทนานั้น ท่านอรรถกถาแก้ว่า ได้แก่กามาวจรกุศลเจตนา 4 ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา และเจตนาในรูปฌานที่ 4 อย่างลืมว่าในพระสูตรท่านกล่าวรูปฌานไว้เพียง 4 ฌานเท่านั้น คือฌานที่ 1 ,2 ,3 ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ฌานที่ 4 ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา เจตนาที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา 5 ดวง คือ กามาวจรกุศลเจตนา 4 จตุตถฌานกุศล 1 นี้เรียกว่า กรรมที่ให้ผลเป็นอุเบกขาเวทนา เพราะทำให้เกิดผลที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาในปฏิสนธิกาล และปวัตติกาล คือในเวลาที่กำลังเกิดและเวลาที่เกิดแล้วมีชีวิตเป็นไปอยู่

ความจริงแล้วโดยนัยพระอภิธรรม กามาวจรกุศลเจตนา 4 ดวงที่เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนานั้น ให้เกิดวิบากที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาในปฏิสนธิกาลเท่านั้น แต่ให้เกิดวิบากที่ประกอบด้วยสุขเวทนาในเมื่อได้รับอารมณ์ที่ดีทางกายทวารในปวัตติกาลด้วย ถึงกระนั้นในพระสูตรนี้อรรถกถาท่านก็สงเคราะห์วิบากที่เกิดขึ้น ทั้งที่ประกอบด้วยสุขเวทนา และประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาไว้ว่า เป็นอุเบกขาหรืออทุกขมสุข คือ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขเพียงอย่างเดียว ในฐานะที่เป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา 5 ดวงนั้น
นัยที่ 2 ท่านอธิบายว่า กรรมที่ให้ผลเป็นสุขและเป็นอุเบกขานั้น ย่อมให้ผลได้ทั้งปฏิสนธิกาลและปวัตติกาลส่วนกรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์นั้น ให้ผลในปวัตติกาลเท่านั้น คำอธิบายนี้ตรงตามหลักพระอภิธรรม เพราะ กุศลกรรม ที่ประกอบด้วยสุขเวทนาก็ดี อุเบกขาเวทนาก็ดี เมื่อเวลาให้ผลคือวิบากเกิดขึ้นนั้น ให้วิบากทั้งที่ประกอบด้วยสุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา และให้เกิดได้ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล ส่วน อกุศลกรรม นั้น เมื่อเวลาให้ผลในปฏิสนธิกาลเป็นอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว เวลาให้ผลในปวัตติกาล เป็นทั้งอุเบกขาเวทนาและทุกขเวทนา แต่ว่าด้วยอำนาจของสูตรนี้ ท่านกล่าวถึงกรรมทั้ง 3 ชนิดนี้ ด้วยอำนาจที่เป็นไปในปวัตติกาลเท่านั้น หมายความว่า ท่านกล่าวถึงผลคือการได้รับความสุข การได้รับความทุกข์ การได้รับอทุกขมสุข เฉพาะในปวัตติกาล คือในขณะที่เกิดมาแล้วดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่ได้หมายเอาผลที่ได้รับในปฏิสนธิกาล คือในขณะกำลังเกิดเลย










Create Date : 03 กรกฎาคม 2552
Last Update : 3 กรกฎาคม 2552 17:42:18 น. 0 comments
Counter : 735 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Toad
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Toad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.