Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
3 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
เศรษฐศาสตร์ขงจื้อ

เศรษฐศาสตร์ขงจื้อ

คอลัมน์ ราชภัฏคิด-เขียน

ว่าที่พันตรี วิษณุ บุญมารัตน์ เศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (ศูนย์ปราจีนบุรี)

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ผู้เขียนได้ออกหนังสือเรื่อง "วิพากษ์การเมืองยุคทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งวางขายที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนในระดับปริญญาโท ทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ถ้าท่านสนใจก็สามารถหาซื้อได้ตามสถานที่ดังกล่าว

ผู้เขียนมีโอกาสได้เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนในระดับปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวิชาประวัติแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยระบบเศรษฐศาสตร์ของโลกจะมีชุดความคิดอยู่ 2 สำนักหลักๆ คือ 1.ชุดความคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม 2.ชุดความคิดเศรษฐกิจแบบทางเลือก (Alternative Economic) เช่น เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือเศรษฐกิจแบบขงจื้อ

ชุดความคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นกระแสหลักในการพัฒนาประเทศต่างๆ ของโลก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยมีปรัชญาทางวิชาการ คือเน้นการแสวงหาหากำไรสูงสุด ต้นทุนต่ำสุดของนายทุนหรือเจ้าของปัจจัยการผลิต การใช้หลักการตลาดกระตุ้นการบริโภคของประชาชน การเน้นการสะสมส่วนเกิน การเห็นแก่ตัว ทำงานเพื่อตัวเองและแข่งขันกัน กาขูดรีดแรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติของนายทุน การใช้กลไกของรัฐและเอกชนครอบงำประชาชนให้เชื่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การแบ่งชนชั้น การแสวงหาอำนาจของกลุ่มทุน เพื่อที่จะใช้กลไกลของรัฐในการขายสินค้าของตนเอง ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นชุดความคิดหลักของโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้เช่นกัน ทำให้คนไทยต้องแข่งขันกัน มีการใช้การตลาดขายสินค้า มีความเห็นแก่ตัวและมีกลุ่มทุนแสวงหาอำนาจทางการเมือง

เมื่อเรารู้ปรัชญาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแล้ว เราหันมามองปรัชญาเศรษฐกิจแบบตะวันออกบ้างนั้นก็คือ เศรษฐกิจขงจื้อ (Confucians Economics)

ขงจื้อเป็นใคร ขงจื้อเป็นนักปรัชญาที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อประเทศจีน โดยผ่านคำสอนที่มีอิทธิพลทั้งในด้านการศึกษา การเมืองการปกครอง ศาสนา และแม้กระทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยปรัชญาหลักของขงจื้อ คือ สังคมสามารถบรรลุและประสบกับความสงบสุขได้ เมื่อสมาชิกในสังคมปฏิบัติตามหน้าที่ของตนพึงกระทำ และช่วยเหลือกิจการการงานของสังคมตามหน้าที่และสถานะที่ตนสามารถทำได้

ดังนั้น ประชาชนควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ปกครอง และรัฐบาล นอกจากนั้นประชาชนควรดูแลบิดา มารดา และบุตรธิดาของตน รวมทั้งแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษและพระเจ้า นั่นคือ ปรัชญาหลัก

สำหรับปรัชญาด้านเศรษฐกิจของขงจื้อ คือ

1.การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยปราศจากความโลภ โดยการเคารพและให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณีเมือง เคารพต่อสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ทำให้เกิดการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต

2.การมุ่งเน้นที่คุณภาพของประชากรและการมีธรรมชาติที่ดี โดยขงจื้อมองว่าประเทศที่มีประชากรจะประสบความสำเร็จ หากประชากรภายในประเทศได้รับการศึกษา

3.การดำเนินงานโดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมและหลักยุติธรรม

4.การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยหลักการจัดการ และเทคโนโลยี โดยการกระจายรายได้การทำงาน ขงจื้อเสนอให้มีการจัดสรรให้เท่าเทียมกันทุกคน การนำการริเริ่มในการผลิตของประชาชน โดยให้พวกเขาแสดงบทบาทอย่างเต็มที่โดยการจัดสรรงานที่เหมาะสมกับคนแต่ละคนเพื่อให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจแบบขงจื้อยังคงมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน เช่น ในประเทศสิงคโปร์ก็ได้นำปรัชญาขงจื้อไปพัฒนาประเทศจนประสบความสำเร็จ เพราะสิงคโปร์ได้จัดว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คนสิงคโปร์มีปรัชญาขงจื้อ โดยทุกคนเชื่อในหน้าที่ของประชาชนที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม และปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล

ขณะเดียวกันรัฐบาลสิงคโปร์ก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อประชาชน และประเทศชาติอย่างเหมาะสม และถูกต้องโดยรัฐบาลไม่โกงเงินภาษีของประชาชน รวมทั้งมีความจริงใจต่อการพัฒนาประเทศ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยเราน่าจะนำปรัชญาแบบขงจื้อมาใช้บ้าง หลังจากทดลองใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมานานกว่า 70 ปีแล้ว

แต่มีปัญหาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนานาประเทศมาตลอด หากเราสามารถจัดการปัญหาเศรษฐกิจในประเทศของเราได้ตามลำพัง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการค้ากับต่างประเทศอาจเป็นแบบอย่างให้อีกหลายประเทศ

โดยเฉพาะที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ อาจจะพัฒนาล้ำหน้าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งกำลังประสบผลกระทบจากเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็ได้ ใครจะรู้

ผลวิจัยผู้ประกอบการ บ้านเราขาดทุกเรื่อง

รายงาน

ไม่ว่าจะเป็นโครงการโอท็อป หรือโครงการให้การสนับสนุนเอสเอ็มอี รัฐ ในฐานะของผู้วางนโยบายต้องชัดเจนว่าจะสนับสนุนใคร จะพัฒนาใคร อย่างไร

"โครงการศึกษาสถานภาพและแนวทางเสริมสร้างสังคมและผู้ประกอบการ 2005" จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการศึกษาวิจัยวัดระดับกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการของคนไทย ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-64 ปี จำนวน 2,000 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ โครงการนี้เป็นงานวิจัยอีกภาคหนึ่งที่ชี้ชัดความต้องการของคน 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจและกลุ่มที่ทำธุรกิจมาแล้ว 3-5 ปี

จากการสำรวจในเรื่อง "แรงจูงใจในการเป็นผู้ประกอบการ" พบว่าทั้ง 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เริ่มต้นกิจกรรมกับกลุ่มที่ลงมือทำไปแล้วนั้น แรงจูงใจมาจากการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ต้องการรายได้เพิ่ม ต้องการอิสระ และอยากเริ่มต้นธุรกิจ

สำหรับอุปสรรคสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการก็คือเรื่องเงินทุน ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ วัฒนธรรมไทย การศึกษาเพื่อพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ

ปัจจัยแรก "การเข้าถึงแหล่งเงินทุน" ทำได้จำกัด เพราะธุรกิจใหม่ได้รับความสำคัญน้อยกว่าการขยายของธุรกิจเดิมหรือการลงทุนใหม่ สถาบันการเงินจะให้ความสำคัญกับหลักประกันมากกว่าศักยภาพของธุรกิจ และประเทศยังไม่มีการสนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น angel invest นักลงทุนที่กล้าลงทุนในเรื่องการวิจัยพัฒนากับคนที่มีไอเดียหรือมีช่องทางใหม่ๆ

ในเรื่อง "ขาดความสามารถที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ" อาทิ การมองธุรกิจระยะสั้น อยากรวยเร็วมากกว่า ทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม

ไม่เข้าใจถึงสิ่งที่ตลาดต้องการ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทางธุรกิจและสังคมทั้งในและต่างประเทศ ขาดทีมสนับสนุน และการจัดสรรทรัพยากรอย่างถูกต้อง และไม่ให้ความสำคัญกับพัฒนา ความสามารถภายในองค์กร

นอกจากนี้เรื่องของ "วัฒนธรรม" การเลี้ยงดูมีผลต่อการรับผิดชอบต่อตนเอง ความไม่กล้าเสี่ยง และใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยม เป็นอุปสรรคสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ครอบครัวเชื้อสายจีน มีความเป็นผู้ประกอบการมากกว่า ส่วนความเป็นช่างฝีมือของคนไทย ก็เป็นส่วนดีอีกอย่างหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจในกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์พบว่าปัจจัยที่สนับสนุนก็คือ สังคมไทยยอมรับความสามารถของผู้หญิงและมีความเท่าเทียมกันทางสังคม สภาพแวดล้อมใน 5 ปีที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่ และให้การยอมรับนับถือคนที่ประสบความสำเร็จ

ส่วนอุปสรรคก็คือความสามารถในการเริ่มต้นธุรกิจของคนไทย การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญายังไม่เข้มแข็งพอ การวิจัยพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยยังมีน้อย รวมทั้งระบบการศึกษาและกฎระเบียบของทางราชการมีผลต่อผู้ประกอบการอย่างมาก

การวิจัยครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า การสนับสนุนของภาครัฐต่อผู้ประกอบการในระดับต่างๆ ก็ยังไม่ชัดเจน เรียกว่า "เกาไม่ถูกที่คัน" ไม่ชัดเจนในแง่ที่ว่าจะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการระดับไหน กำลังเริ่มต้นหรือ ทำมาแล้ว 3-5 ปี ความไม่ต่อเนื่องในการอบรม ในส่วนของการใส่ความรู้ให้กับชาวบ้านในระดับรากหญ้าเองก็ยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาหน่วยงานต่างๆที่ให้การสนับสนุนนั้นต่างคนต่างทำ ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

และทั้งหมดนี่คือก้าวแรกของโครงการที่จะมีการสรุปข้อมูลสมบูรณ์อีกครั้ง ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

โปรดใช้ มืออาชีพ

คอลัมน์ Short trick Click idea

ทริกนี้ต้องรีบบอกเพราะเป็นประสบการณ์ที่เจอกับตนเองในงาน "วิถีไทยสู่โลก" ที่กรมส่งเสริมการส่งออกเป็นเจ้าภาพ

โดยเชิญชวนผู้ประกอบการโอท็อปและเอสเอ็มอีมาออกร้านประมาณ 150 บูท ที่มีทั้งบูทรวมที่นำสินค้าของผู้ประกอบการต่างๆ มาจัดโชว์รวมกัน และบูทออกร้านเฉพาะรายซึ่งก็จะมีสินค้าหลายประเภทในกลุ่มสินค้าต่างๆ ผ้าไหม ผ้าไทย อาหาร สินค้าตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ ฯลฯ ซึ่งคร่าวๆ ทางผู้บริหารกรมส่งเสริมการส่งออกบอกว่า

สินค้าทุกชนิดที่นำมาโชว์ในงานนี้ จัดอยู่ในเกรดพรีเมี่ยมที่พร้อมส่งออกได้ รวมแล้วมาจากผู้ประกอบกว่า 1,400 บริษัท

"งานวิถีไทยสู่โลก" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-28 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา โดยมี 1 วันที่เป็นไฮไลต์สำคัญคือ วันที่ 23 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ 3 องค์กรคือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ SME BANK จัดโครงการ Business Matching นำนักธุรกิจจาก 40 กว่าประเทศ กว่า 100 ชีวิต และเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่เกือบ 100 ชีวิตเข้าร่วมงาน

โดยมีเป้าหมายชัดเจนคือ ฮาร์ดเซล เพราะต้องการช่วยชาติ ช่วยชาวโอท็อปขายสินค้า ปั๊มยอดส่งออกให้โต 20% ให้ได้

แต่พอไปถึงงานจริงๆ ภาพงานแฟร์มันไม่ได้มลังเมลืองดังที่ควรจะเป็น และที่มากไปกว่านั้นคือ ทีมขายสินค้าก็ไม่ใช่มืออาชีพ เป็นเพียงแค่พนักงานแนะนำสินค้า ทั้งๆ ที่งานนี้จริงๆ ควรที่จะใช้มือขายอาชีพ เพราะเมื่อลูกค้ามาถึงร้านแล้วควรที่จะจิกจับไว้ ขนาดต้องใช้กาวตราช้างก็ต้องทำ

เพื่อให้ลูกค้ารับทราบข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็น ครบถ้วน และเพียงพอต่อการใช้ในการตัดสินใจซื้อ-ไม่ซื้อ

จริงอยู่งานแฟร์ลักษณะนี้มันไม่สามารถปิดการขายในงานได้ในทันที แต่ก็สามารถซื้อสินค้าตัวอย่าง ขอข้อมูลเพื่อรอปิดการขายใน 3-6 เดือนข้างหน้าได้นี่

ที่ไม่ใช่คำตอบเพียงแค่ว่า "เดินไปชมข้างในนะคะ มีบูทตั้งอยู่" แค่นั้นจริงๆ กับคำตอบที่ได้ยินจากเจ้าหน้าที่ของกรม

ซึ่งพอได้ยินกับหูก็ได้แต่รู้สึกอึ้งและทึ่ง ! นี่ขนาดตลาดมาถึงมือแล้วนะ วิญญาณนักขายไม่มีเลยหรือ และถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเมื่อไรผู้ประกอบการโอท็อปไทยจะโกอินเตอร์ได้

หรือเพียงแค่ให้ได้ชื่อว่า จัดแล้ว ร่วมมือแล้ว โฆษณาแล้ว คนมาเยอะแล้ว ผู้ประกอบการมาร่วมออกร้านเพราะกรมขอมา ค่าบูทฟรี เท่านั้น ?

การออมระยะยาว เราเตรียมพร้อมเพื่อสถานการณ์นั้นดีแล้วหรือยัง

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ดร.นิตินัย


เมื่อวันที่ 17-18 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมการสัมมนาวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อเรื่อง "Thailand"s Financial Challenges in the Medium Term" ที่จัดที่ ESCAP Hall, United Nations Conference Center (UNCC) โดยการนำเสนอบทความหนึ่งในการสัมมนาดังกล่าว เรื่อง "Long-Term Saving in Thailand : Are We Saving Enough and What are the Risks ?" ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจและต้องการเอามาเล่าสู่กันฟังในวันนี้

บทความเรื่องนี้นำเสนอโดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล คุณธรรมนูญ สดศรีชัย และ ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา และมีผู้ร่วมวิจารณ์บทความ 2 ท่าน คือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย และ ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง จากกระทรวงการคลัง

บทความนี้มุ่งศึกษากระบวนการการออมของประเทศไทยทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค และได้นำเสนอผลการศึกษาที่น่าสนใจที่ว่า การออมจะเป็นประเด็นทางนโยบายที่สำคัญต่อไปในอนาคต เนื่องจากความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมหภาคจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการเร่งระดมเงินออมภายในประเทศเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว รวมทั้งปัญหาในเชิงจุลภาคจากการลดลงของสัดส่วนการออมภาคครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคที่มีการนิยมการบริโภคมากขึ้น

ผู้วิจารณ์ทั้งสองท่านได้ให้ความเห็นว่า แม้ว่าประเด็นเกี่ยวกับการออมตามที่เสนอในบทความนั้นจะมีความสำคัญอย่างมากก็ตาม ปัญหาที่เกี่ยวกับการออมที่สำคัญของประเทศไทยอีกประการที่ไม่สามารถจะละเลยไปได้ คือ ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของประชากรและปัญหาวิกฤตผู้สูงอายุ (old age crisis) เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความคุ้มครองด้านชราภาพจากระดับการจ่ายผลประโยชน์ทดแทนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ ในปัจจุบัน ยังพบว่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับนั้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในวัยเกษียณ แม้ว่าจะมีการพิจารณาว่าระดับรายได้ภายหลังจากการเกษียณอายุ (replacement rate) จะแค่ 50% ของรายได้สุดท้ายก่อนการเกษียณอายุเพื่อทำให้สามารถมีชีวิตต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีก็ตาม

นอกจากนี้ ระบบการออมในปัจจุบันหลายระบบของไทยก็ยังประสบกับปัญหาความยั่งยืนในการดำเนินการและปัญหาที่สำคัญมากในอนาคตทั้งในระดับรัฐบาลและระดับบุคคล ดังนั้น แนวทางที่สำคัญในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ คือ การพัฒนาระบบความปลอดภัยทางสังคมของไทยให้มีความยั่งยืน และสามารถให้ความคุ้มครองแก่ประชากรของประเทศได้ และไม่เป็นภาระทางงบประมาณต่อรัฐบาลในอนาคต (contingent liability) โดยมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ คือ การพัฒนาและปฏิรูประบบเครือข่ายความปลอด ภัยในด้านของการออมเพื่อการชราภาพของประเทศ โดยหน่วยงานต่างกำลังร่วมมือในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวอยู่

(ดูกราฟโครงสร้างประชากร)

ทุกท่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างเกี่ยวกับ การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) หรือ National Pension Fund (NPF) นะครับ กองทุนนี้เกิดมาเพื่อช่วยสนับสนุนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคเอกชนให้มีการออมที่เพียงพอที่จะใช้ในชีวิตภายหลังการเกษียณอายุ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวความคิดของการสร้างความคุ้มครองหลายชั้นให้แก่ประชากรของประเทศ โดยเฉพาะการออมสำหรับแรงงานที่อยู่ในภาคเอกชนผ่านการออมหลายรูปแบบ (multi pillar system) โดยมีกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการวิเคราะห์และจัดตั้ง ผมคิดว่าทุกท่านอาจจะมีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับการจัดตั้งดังกล่าว และมองว่ามีความน่าเคลือบแคลงหลายอย่างเกี่ยวกับกองทุนนี้ ผมเลยอยากจะอธิบายความคืบหน้าและลักษณะเด่นเกี่ยวกับกองทุนนี้ให้ผู้อ่านทุกท่านทราบนะครับ

ระบบ กบช.มีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นระบบการออมที่มีรูปแบบการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ 2 ฝ่าย คือนายจ้างและลูกจ้าง (ต่างจากระบบการประกันสังคมที่เป็นการสมทบ 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง) ปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราเงินสมทบให้เหมาะสมกับความต้องการ และสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างกองทุนนี้กับกองทุนประกันสังคม คือ ในกองทุนนี้ไม่มีการกำหนดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำและเพดานเงินเดือน ทำให้แรงงานสามารถออมได้เท่าที่ต้องการ กระทรวงการคลังได้มีการพิจารณามาตรการทางการคลัง (ภาษี) ในการส่งเสริมให้เกิดการออมโดยเป็นแบบ EEE (ยกเว้นภาษีเงินสะสม เงินผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินที่ได้รับเวลาที่เกษียณอายุ)

ไม่ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายส่งเสริมการออมมามากมายขนาดไหนก็ตาม แต่หากคนไทยมีอุปนิสัยการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย ไม่ว่านโยบายดีๆ อย่างไรจะออกมา การออมก็คงไม่เพิ่มขึ้น นโยบายต่างๆ คงต้องเป็นหมันไปละครับ

เครื่องมือเฟ้นคน-ประเมินคน

"ทายาท ศรีปลั่ง" ยกเครื่องมือทดสอบคนและประเมินคุณค่าของคน (validity of assessment tools) ว่ามีดังนี้

อันแรกคือ "ดูหมอ ดูลายมือ" ซึ่งเรียกว่า random prediction มันอาจจะถูกหรือไม่ถูกก็ได้ ไม่มีหลักประกันอะไร

อันที่สองคือ ดูวุฒิภาวะการศึกษา (education qualification) ได้ผลแค่ 10% แต่เดี๋ยวนี้โรงเรียนนั้น in-put แล้ว out-put เลยมีการก๊อบปี้กันส่งงานมาก

อันที่สามคือ การสัมภาษณ์พนักงาน (employee interview) นั้น มีข้อบกพร่อง หากผู้สัมภาษณ์จบมาจากที่เดียวกันหรือคนจังหวัดเดียวกัน จะทำให้มีปัญญาทึบแบบแฝง ทำให้วัดได้ผลแค่ 15%

ขึ้นมาอีกอันดับหนึ่ง คือ Competency Based Interview-CBI จะเป็นการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อเจาะศักยภาพ และบอกได้ว่าในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้าเขาคนนั้นจะเป็นอย่างไร ได้ผล 35%

ลำดับต่อมา เป็น group exercise ได้ผล 40%

ถัดมาเป็น ability test เป็นการให้ทำ case ถือว่าเป็น competency แบบหนึ่ง ตั้งโจทย์ขึ้นมาแล้วต้องวิเคราะห์กันตรงนั้นเลย เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการมองอนาคต เห็นผล 45%

และวิธีที่ได้ผลสูงถึง 65% คือ assessment centres เป็นการประเมิน 4 ด้าน ด้านแรก คือการประเมินอุปนิสัย หรือ psycometric test อันที่สองเป็น group discussion คือการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เพราะจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์ การเข้าสังคม ต่อมาก็ in-tray exercise และเจาะศักยภาพเชิงพฤติกรรมศาสตร์ (behavioural event interview)

"4 อันนี้จะทะลุหมดทุกอย่าง คือตัวตน นิสัยของตัวตน ความสามารถ และการปฏิสัมพันธ์ ส่วน perfect prediction ไม่มีหรอก เราไม่สามารถมองได้ว่าคนนี้ perfect 100%"

ในการจัดการแบบ talent management ของบริษัท ควรจะมีคน 4 เหล่า

business unit leadership พวกนักธุรกิจ

support function leadership คือคนที่ทำงานบริการ HR ไฟแนนซ์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังขาดในเรื่องคุณภาพ เพราะบางทีทำงานบริการแต่ใจมันไม่บริการ

technical/functional experts กลุ่มนี้คนไม่ค่อยขาด แต่สิ่งที่ขาดคือการเรียนรู้ต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

project/work process หมายถึงต้องมีคนที่ทำงานแบบมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด เป็นคนที่หาโครงการใหม่ๆ หาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมในรูปโครงการได้

ถ้าองค์กรมีครบทั้ง 4 ด้าน องค์กรนั้นจะประสบความสำเร็จ




Create Date : 03 กรกฎาคม 2552
Last Update : 3 กรกฎาคม 2552 17:48:42 น. 0 comments
Counter : 2849 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Toad
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Toad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.