Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
3 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
สมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ กับธรรมะที่ทรงปฏิบัติ

สมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ กับธรรมะที่ทรงปฏิบัติ

บริหารทางจิต
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต
จัดรายการบริหารทางจิตขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑

ทรงเน้นว่า ถ้าเราสามารถบริหารจิตใจได้แล้ว ก็จะสามารถบริหารกิจการต่างๆได้
กิจการต่างๆภายนอก คนที่มีหน้าที่เท่านั้น ย่อมทำการบริหาร
และบริหารเฉพาะส่วนที่เป็นหน้าที่ของตน เฉพาะในขณะที่ดำรงหน้าที่อยู่
ส่วนจิตใจเป็นหน้าที่ของทุกคนจะต้องบริหารอยู่ตลอดไป
เมื่อบริหารจิตใจของตนให้ดีได้ก่อนแล้ว
ก็อาจบริหารคนอื่นหรือกิจการทั้งปวงให้ดีด้วย

พระราชทานพระราชปรารภว่า
จิตใจมีความสำคัญเพราะเป็นมูลฐานแห่งความประพฤติในทุกทาง
ความเจริญ ความเสื่อม ความสุข ความทุกข์ต่างๆ
พระพุทธศาสนาก็ได้มีหลักธรรม สำหรับอบรมจิตใจอยู่โดยสมบูรณ์
ถ้าได้มีการชักนำให้เกิดความสนใจ ในการอบรมจิตใจ
ก็จะเกิดผลดี มีความเจริญในทุกๆด้าน

สามารถเผชิญเหตุการณ์ต่างๆและครองชีวิตให้มีความสุขตามสมควร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์ เรื่องศีลขึ้นเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ พระราชทานในวันพระราชสมภพ มีเนื้อหาข้อสรุปดังนี้
ศีลจะมีหรือไม่มีในคนแต่ละคน ตลอดถึงในหมู่คน
ย่อมเกี่ยวแก่ว่า ศีลเป็นข้อบัญญัติที่อำนวยให้เกิดความปกติสุข
ตามภูมิชั้นของตน ซึ่งตนพอจะรับปฏิบัติได้หรือไม่

บางคนแสดงความคิดเห็นว่า ศีล นั้นเป็นแม่บทใหญ่
แต่ละบุคคลจะต้องนำแม่บทนี้มากำหนดให้เหมาะกับภาวะของคน
แต่การกำหนดนี้จะถูกต้องกับวัตถุประสงค์ของศีล
ต่อเมื่อกระทำโดยปราศจากอคติ หรือความลำเอียงเข้ากับตัวเอง
เพราะวัตถุประสงค์ของศีล คือไม่เบียดเบียนกัน
และเป็นบันไดขั้นแรกของสมาธิและปัญญา
ศีล๕ ไม่ได้เป็นข้อขัดขวางความเจริญของบุคคลหรือบ้านเมือง

อัตตา อนัตตา
นอกจากนั้น สมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ทรงนำคำสอนที่ลึกซึ้งในพุทธศาสนา
เรื่องอนัตตา และอัตตา มาทรงอธิบายให้เข้าใจง่าย
และประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานด้วย
ทรงอธิบายเรื่อง อนัตตาและอัตตา
อนัตตา คือความไม่มีตน บังคับไม่ได้
เช่น บังคับให้เกิดเป็นผู้หญิงผู้ชายไม่ได้ ให้สวยหรือไม่สวยไม่ได้
บังคับให้สูงต่ำดำขาว ให้ฉลาดไม่ได้ ให้เกิดมามีผู้ปกครองมั่งมีหรือจน
หรือเกิดมาร่างกายครบถ้วนบริบูรณ์เหล่านี้ ล้วนเลือกไม่ได้

เกิดมาแล้วต้องแก่ชรา เนื้อหนังเหี่ยวย่นสิ่งเหล่านี้ล้วนบังคับไม่ได้ทั้งสิ้น
ส่วนอัตตา คือตัวตนของเรา ซึ่งเป็นส่วนที่บังคับได้
คนเราต้องรู้จักบังคับตนเอง ถ้าปล่อยตามบุญตามกรรมก็ไม่เจริญ
สมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ทรงมีพระราชดำริในเรื่อง อัตตา ว่า
จำเป็นต้องยอมรับว่ามีอัตตา มีตัวเราของเรา
เพราะเป็นความจริงในทางโลก(โลกสัจจะ)
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ทรงเห็นว่า เรื่องไม่มีตัวเราของเรานั้นเป็นธรรมะชั้นสูง ที่จะสอนได้แต่ผู้ที่ “ปฏิบัติจริง และ มีความคิดที่สูงและปัญญา(ความฉลาด)ที่จะแลเห็นได้”
สมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ
ทรงอธิบายให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างอนัตตาและอัตตา
และสามารถนำความรู้ความเข้าใจมาปฏิบัติ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ในการเรียน ในการทำงาน
สำหรับการทำงานทรงอธิบายว่า เมื่อคนเราจบการศึกษาเข้าทำงาน
อยากให้ผู้บังคับบัญชารัก เราย่อมบังคับให้ผู้อื่นรักเราไม่ได้
แต่เราสามารถควบคุมตัวเรา ให้ทำความดีได้
การที่ผู้บังคับบัญชาจะรักหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติตนของเราเอง

สมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ทรงอธิบายว่า
คนทุกคนจำต้องมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ
เช่น รับผิดชอบต่อการงาน ต่อครอบครัว
จึงต้องประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีที่ถูก โดยสมควรและเหมาะสม
ปราศจากกิเลส ตัณหา คือ โลภ โกรธ หลง
มิใช่มุ่งสู่นิพพาน แล้วละในทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ตนเองยังต้องมีความรับผิดชอบอยู่ในโลกนี้

ทรงเปรียบเทียบว่า เพราะเมื่อทรงปฏิบัติภารกิจทรงเหนื่อย ด้วยทรงพระเจริญพระชนมายุมากแล้ว ก็ต้องทรงพักผ่อนในห้องที่สามารถปรับอุณหภูมิได้ มีที่บรรทมสะดวกสบายพอสมควร ยังไม่ปฏิบัติเช่นเดียวกับพระได้ เป็นต้น

พระกระยาหาร เสวยให้พอกับความต้องการของร่างกาย
ทรงปฏิบัติพระองค์เองโดยปราศจากโลภ โกรธ หลง จนเป็น “ธรรมดา” หรือ “ธรรมชาติ”
.....................


3
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก
ที่ทรงศึกษาและจากพระประสบการณ์ของพระองค์ท่านเองคือเรื่อง
จังหวะชีวิต
สมเด็จฯทรงแบ่งระยะชีวิตของคนเราออกเป็น ๓ ระยะ
ระยะที่หนึ่ง คือ แรกเกิด ทุกคนเกิดมาแต่ตัวเท่ากันหมด
ระยะที่สอง คือ เป็นระยะขั้นสมมติ
มีสมมติต่างๆ เช่น ชื่อนั้น ชื่อนี้ ยศถาบรรดาศักดิ์อย่างนั้นอย่างนี้ เกิดตามมา
เป็นของสมมติขึ้น ตามกำหนดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งนั้นๆ
ระยะที่สาม คือขั้นระลึกถึงความจริงได้ว่า ชีวิตที่แท้จริงเป็นอย่างไร
ไม่หลงใหล ติด หรือยึดถือในสมมติต่างๆ
แต่กลับรู้จักใช้ลาภยศ หรือ สิ่งสมมตินั้นๆ ช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์
คนเรามักติดที่จังหวะขั้นที่สอง คือเรื่องสมมติ
ทำให้เกิดปัญหา อันเนื่องมาจากการยึดมั่นถือมั่นในสมมติขั้นที่สอง
ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติในขั้นที่สามได้

อวิชชา
บัดนี้ความรู้วิชาการต่างๆในโลกเจริญขึ้นมาก
มนุษย์เราสามารถสร้างพาหะนำตนไปถึงดวงจันทร์ได้ (เมื่อศกที่แล้ว พ.ศ.๒๕๑๒) วิชาเหล่านี้เป็นวิชาทางโลกหรือวิชาภายนอก
ส่วนวิชาภายใน หรือ วิชชา คือความรู้สัจจะ(ความจริง) ภายในตนเอง
จะยังบกพร่องอยู่ทั่วๆไป จึงปรากฏว่าคนโดยมาก
แม้มีความรู้ทางศิลปะวิทยาการต่างๆมาก แต่ก็ยังขาดความรู้ในตนเอง
ดังจะเรียกว่ายังมีอวิชชาที่แปลตามศัพท์ว่า “ความไม่รู้”
“อวิชชา” ที่แปลว่าไม่รู้นี้
มิได้หมายความว่าไม่รู้อะไรเลย เหมือนอย่างก้อนดิน ก้อนหิน
แต่หมายถึง รู้อะไรๆเหมือนกัน แต่รู้ผิดจากความจริง หรือรู้ไม่จริงก็เท่ากับไม่รู้
ความไม่รู้จริง เมื่อกล่าวโดยทั่วไป
ความรู้ที่ทุกๆคนมีอยู่ ย่อมมีปริมาณจำกัด ส่วนที่ยังไม่รู้ มีมากกว่านัก
เช่น วิชาทางโลกมีอยู่มากมาย ทั้งเพิ่มขึ้นและแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นเสมอ
แต่คนๆหนึ่งอาจเรียนให้รู้ได้เพียงส่วนหนึ่งๆเท่านั้น
บางคนแสดงว่ายิ่งเรียนมาก ก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองยิ่งโง่ ยิ่งไม่รู้
นอกจากนี้ความวางตนคล้ายกับเสมอกัน ขาดคารวะในผู้ใหญ่
เช่น บุตรธิดาขาดคารวะและความเชื่อฟังในมารดาบิดา
ถือว่าสมัยนี้ต้องเป็นอิสระในการทำตามความคิดเห็นของตนเอง
มารดาบิดามีความคิดเห็นของตนได้ บุตรธิดาก็มีได้เหมือนกัน
บางทีกลับเห็นว่ามารดาบิดามีความคิดเห็นไม่ทันสมัย
เป็นอวิชชาอย่างหนึ่งที่พึงระมัดระวังมาก

ความแสดงออกในทางที่ผิด
เช่น การทำอะไรให้เป็นข่าวขึ้นในทางที่ผิดต่างๆ
บางทีก็ทำเฉพาะตนผู้เดียว บางทีก็ชักชวนทำกันเป็นหมู่คณะ
เช่น ชักชวนกันยกพวกไปตีกันทำร้ายกัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิด
แต่ก็ทำด้วยต้องการจะแสดงว่าเก่งกล้าสามารถ
จัดว่าเป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง
เพราะเป็นความเห็นและการกระทำที่ผิด แม้ว่าใครที่ทำอย่างนั้นจะแย้ง
แต่เมื่อความสำนึกรับผิดชอบ ที่เรียกว่าสามัญสำนึก เกิดขึ้นเมื่อใด
จะมีความสำนึกผิดขึ้นได้เอง

ความไม่รู้จักตนเอง
คือความไม่รู้จักตนเองโดยฐานะต่างๆ
เกี่ยวแก่ความรู้ความสามารถ และตำแหน่งหน้าที่อันควรแก่ตน เป็นต้น
เป็นเหตุให้ขวนขวาย จะได้ฐานะที่สูงกว่าที่ตนควรจะได้
หรือน้อยใจในเมื่อไม่ได้ฐานะที่คิดเอาเองว่าตนควรจะได้
ความต้องการสมภาพในทางที่ผิด สมภาพคือความเสมอกัน
ต้องการให้ทุกๆคนเสมอกันไปหมด ไม่มีผู้ใหญ่ผู้น้อยในฐานะต่างๆ
ข้อนี้เป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องทำลายตนเอง
ความริษยาในการทำดีและในผลดีของผู้อื่น
เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี หรือเห็นเขาได้รับผลดีที่เกิดจากความดี ก็เกิดความริษยา

พูดติเตียนหรือทำการขัดขวางตัดรอน เป็นอวิชชาอย่างหนึ่ง
ความเมาต่างๆ
อันความเมาทั้งที่เป็นความเมาเหล้า และเมาเพราะเหตุต่างๆ มีความยกย่อง เป็นต้น เป็นอวิชชาทุกชนิด
เพราะเมื่อเมาแล้วก็ ทำให้ขาดปัญญาที่จะรู้สัจจะในสิ่งทั้งหลาย
เมาเหล้าเรียกว่าเมาทางกาย สร่างเมา อาจจะเร็วกว่าเมาใจ
คือเมาในรูป เสียง กลิ่น รส จะไม่รู้เหตุผลตามที่เป็นจริง
ไม่มีใครจะพูดตักเตือนในขณะที่เมาได้
จะพูดกันให้เกิดความเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อสร่างเมาแล้ว
ความหลง คือ ความขาดปัญญาในลักษณะต่างๆ
จนถึงความถือเอาทางผิด ด้วยความเข้าใจผิดและความงุนงง ไม่พบทางออก
เหมือนอย่างคนหลงทาง

คนเราเผลอสติ เผลอปัญญาเมื่อใด ความหลงก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
คนที่ถูกหลอกลวงได้ เพราะไปเชื่อในคำหลอกลวง
เรียกว่าเป็นคนหลงอย่างหนึ่ง คือหลงเชื่อสิ่งที่หลอกลวง
มิใช่มีแต่คนภายนอก แต่เป็นความคิดเห็นหรือใจของตนเองก็มี
จึงไม่ควรด่วนเชื่อใคร หรือแม้ใจตนเองทันที
………………………..
สมเด็จฯทรงปฏิบัติพระองค์เองโดยไม่หลง ไม่ติดในสมมติ
แทนที่จะทรงใช้ชีวิตอย่างคนอื่นๆตามประสาผู้สูงอายุทั่วไป
กลับเสด็จไปทรงช่วยเหลือประชาชนตามที่ทุรกันดารไกลๆ
ทรงยึดเอาความประหยัดเป็นรากฐานของการดำรงชีวิต
ทรงเป็นตัวอย่างของพระราชโอรส พระราชธิดา ที่ทรงมีพระเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์

อักโกสกสูตร
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวันอยู่ในเขตพระนครราชคฤห์
มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่ออักโกสก ได้ทราบว่าพราหมณ์ ภารทวาชโคตร
ได้ไปบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระพุทธเจ้า ก็โกรธ ขัดใจ
เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วด่าบริภาษพระพุทธเจ้าด้วยวาจาอันหยาบคาย
มิใช่ของสุภาพชน

เมื่ออักโกสกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า พราหมณ์ ท่านมีญาติมิตรมาเยี่ยมบ้างไหม
พราหมณ์ได้ทูลตอบว่า มีมาเป็นครั้งคราว
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามต่อไปว่า พราหมณ์เมื่อมีญาติมิตรมาหา
ท่านเคยจัดของบริโภคหรือของดื่ม ต้อนรับแขกของท่านบ้างหรือไม่
พราหมณ์ทูลตอบว่า ข้าพระองค์ได้จัดของบริโภคและของดื่มต้อนรับญาติมิตรในบางคราว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า พราหมณ์ ถ้าญาติมิตรผู้เป็นแขกเหล่านั้น
ไม่รับของบริโภคของดื่มเหล่านั้น จะเป็นของใคร
พราหมณ์ได้ทูลตอบว่า ของต่างๆเหล่านั้นก็เป็นของข้าพระองค์
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า พราหมณ์ข้อนี้ก็เป็นอย่างเดียวกัน เราไม่รับการด่าว่าของท่าน

ฉะนั้นการด่าว่าก็กลับไปเป็นของท่านผู้เดียว
ผู้ใดด่า โกรธตอบบุคคลผู้ด่า ผู้นั้นเราว่าบริโภคร่วมกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม
พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบไปว่า ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตน แล้วมีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ บุคคลที่ไม่โกรธตอบ บุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก

ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว มีสติสงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและผู้อื่น
ในบางครั้งคนทำกรรมดีนั้นก็อาจมีอุปสรรค เช่น ถูกนินทาว่าร้าย
จึงจำต้องมีวิธีทำใจในเมื่อถูกนินทาว่าร้าย และจำต้องมีขันติ
เพื่อให้สำเร็จประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายคือแก่ตน และผู้อื่น
ความอดทนเป็นธรรมสำหรับทุกคนตั้งแต่เด็กถึงแก่
ผู้มีความอดทนขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด
รู้จักระงับยับยั้ง ควบคุมความนึกคิด
จะทำจะพูดก็เป็นไปด้วยความรอบคอบชอบด้วยเหตุผล
ไม่ถือเอาความคิดของตนเป็นประมาณ.
…………………………………
พ.ศ.๒๕๑๐ ทรงมีพระราชปรารภว่า
นักเรียนนักศึกษา ตลอดถึงข้าราชการผู้ที่ไปศึกษาต่อ หรือ ไปรับราชการ ณ ต่างประเทศ
ควรจะมีหนังสือแนะแนวคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา เป็นคู่มือสำหรับอ่าน
เพื่อให้เกิดความรู้เป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติตนเอง และ เพื่ออธิบายให้บรรดามิตรชาวต่างประเทศ ผู้ต้องการจะทราบ เข้าใจได้ถึงหลักธรรมบางประการ
ในพระพุทธศาสนาสอนเรื่อง “อริยสัจ ๔” แปลว่า สัจจะที่ทำให้เป็นผู้ประเสริฐ
ให้รู้จักในเรื่อง
๑ ทุกข เกิดแก่เจ็บตาย ความพลัดพราก ความปรารถนา ความไม่สมหวังฯ
๒ สมุทัย เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ตัณหา ดิ้นรน ทะยานอยากของจิตใจ
๓ นิโรธ ความดับทุกข์ ดับตัณหา ดับความดิ้นรน ทะยาน
๔ มรรค หนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ทางมีองค์ ๘ คือ เห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ เพียรพยายามชอบ สติชอบ ตั้งใจชอบ (เลี้ยงชอบ)
ไตรลักษณ์ อนิจจา ทุกข อนัตตา
พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
นิพพาน คือ ความละตัณหาในทางโลกและทางธรรมทั้งหมด ปฏิบัติโดยไม่มีตัณหาทั้งหมด คือการปฏิบัติถึงนิพพาน
…………………………………..
ในปีพุทธศักราช๒๕๑๐
ก็ได้ทรงมีพระราชปรารภถึงปัญหาธรรม เกี่ยวแก่เรื่องวิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ โดยลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่าจะพึงปฏิบัติได้อย่างไร
สืบเนื่องไปถึงเรื่องกิเลสตัณหา
พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องโลกสัจจะ สมมุติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ
เพื่อเรียบเรียงรวมเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน
ทรงเน้นเรื่องศีลธรรมเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีอยู่
เป็นเครื่องบำรุงรักษาโลกให้ดำรงอยู่ได้
การหัดใช้ความคิดตามเหตุผล ที่ไม่ขึ้นอยู่ในอำนาจของโลภ โกรธ หลง
เป็นทางเพิ่มพูนความรู้ในสัจจะ
และเมื่อหัดคิด ไปจนถึงปรมัตถสัจจะ เพียงถึงแก่ตายที่ทุกๆคนต้องประสบ
ก็จะเป็นวิธีลดความโลภ โกรธ หลงได้มาก
ยิ่งได้คิดให้รู้ซึ้ง ถึงความดีความชั่ว
ถึงประโยชน์แก่ตนเอง แก่ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์
....................
ข้อมูล : คัดจากหนังสือ “ธรรมะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงปฏิบัติ”
รวบรวมโดย ขวัญแก้ว วัชโรทัย
รองเลขาธิการพระราชวัง
ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง






Create Date : 03 กรกฎาคม 2552
Last Update : 3 กรกฎาคม 2552 17:34:04 น. 0 comments
Counter : 706 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Toad
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Toad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.