Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
3 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
เทศน์อบรม พระ เณร และแม่ชี

(เทศน์อบรมพระ,เณร, และแม่ชี )
วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗

วันนี้เป็นวัน ๘ ค่ำวันพระ แรมเดือน ๙ วันนี้จะพูดเรื่องของภูมิพระอริยเจ้าขั้นต้น ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นเรียกว่าโสดาบัน ผู้ที่จะเข้าข่ายในโสดาบัน เรียกว่า มีคุณธรรมเป็นผู้ที่ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสนี่ นี่ผู้ตั้งในคุณธรรมของพระโสดาบัน ผู้เข้ากระแส การที่จะเข้ากระแสนั้นโดยมากต้องยอมรับสัจจธรรม อย่างในสติปัฏฐาน ๔ เรียกว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เหตุนั้น " กาเย กายานุปัสสี วิหรติ" นี้ก็พิจารณากาย รูปกายของเรา ผู้ที่จะละสักกายทิฏฐิได้นั้นจะต้องยอมรับความจริงที่มันมีอยู่ในตัวเรา เหตุนั้นการที่ในตัวเรานี้มันมีอะไร รูปกายของเรา เหตุนั้นเราต้องมีความเพียรพิจารณากาย เช่นโดยปกติเขาจะว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตับ ไต ไส้พุง จนถึงกระดูก อาหารใหม่อาหารเก่า สิ่งเหล่านี้ให้พิจารณาเป็นของปฏิกูล เหตุนั้น คนที่จะเข้าถึงละสักกายทิฏฐิตัวนี้ได้ ต้องเห็นพิจารณาความเป็นจริงที่มันมีอยู่ เช่น ทางตาเรา เราจะต้องพิจารณาว่า ทำไมตอนเช้าเราจะต้องล้างหน้า ทำไมเราจะต้อง แปรงฟัน ทำไมเราจะต้องอาบน้ำ ทำไมเราจะต้องซักผ้า ทีนี้เราขาดการพิจารณาหนึ่ง รูปกายเรานี่ เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงว่า "ให้พิจารณากายคตาสติ" เอาสติกำหนดพิจารณากายเรา ให้เห็นของเป็นปฏิกูลตามความเป็นจริงที่มันมีอยู่ เราเข้าใจผิดเห็นผิด เมื่อเห็นผิดมันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ได้เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือร่างกายรูปกายว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นผู้สวยผู้งามผู้เลิศ อันนี้ก็ผิด เหตุนั้นวันนี้หลวงพ่อจะเน้นหนักในเรื่องของกาย คนที่จะเข้าถึงกระแสของธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นนั้น จะต้องละสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็น เห็นตรงตามความเป็นจริง ตัวเรานี่มันมีแต่ขี้ เหตุนั้นในปริยัติเขาเรียกว่ามี ๙ รู รูทางตา รูทางหู รูทางจมูก รูทางปาก รูทางขน รูทางอุจจาระปัสสาวะ มีแต่รูขี้ทั้งนั้น ขี้เล็บขี้ตีน ตัวนี้สิจึงทำให้เราต้อง บริหารขันธ์ พระพุทธเจ้าว่า " บริหารขันธ์ น่าเบื่อหน่าย" ต้องชำระร่างกายทุกเช้า ทุกเย็น พระพุทธเจ้าว่า "บริหารขันธ์ รูปขันธ์ น่าเบื่อหน่าย" พระพุทธเจ้าจึงเบื่อหน่ายเกิดเบื่อหน่ายก็นิพพิทาขึ้นมา คือความจริง ขอให้พระคุณเจ้าและแม่ชีอุบาสกอุบาสิกาให้เอาพิจารณาดูสิ แม้แต่เราเกิดมา เราก็ออกมาจากมูตรคูถ มีน้ำเลือดน้ำเหลืองจากครรภ์มารดาของเรามา จนมาล้างมาขัดถูจึงจะสะอาดขึ้น แม้แต่เรารับประทานอาหารหรือฉันเข้าไปคาวหวานทุกวัน แม้แต่เนื้อสัตว์ เหมือนโกดังที่เก็บศพ ไม่ว่าเนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อควาย หรือแม้กระทั่งผัก แต่คนไม่ได้มาศึกษา ไม่ได้สัมมาปฏิบัติ ไม่มีผู้ชี้แนะ ไม่ได้มาพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย ก็ไม่เห็นความจริงขึ้นมา มองข้ามตัวเราไป สำคัญผิดไป เวลากินไปนั้นน่ะ การที่ทำอาหารก็ดีทุกอย่าง เขาว่าเป็นของวิเศษ เป็นของดีเลิศ อาหารเลิศแล้วประณีตแล้ว แต่ผู้มีปัญญานี้จะมองตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าว่า "ให้พิจารณาอาหาเรปฏิกูลที่มีสัญญาว่าดีว่าวิเศษ ว่าอร่อย" ว่าทำสุดฝีมือแล้ว ถ้าสุดฝีมือแล้วเราหยิบเราก็ต้องล้างมือทำไม นี่แหละ แม้แต่ช้อนตักก็ต้องล้าง นั่นแหละตัวสกปรก แม้แต่จานใส่ก็ต้องล้างแล้ว แม้แต่หม้อภาชนะ เราหุงต้มมาก็ต้องล้างอยู่แล้ว นี่แหละตัวโภชเน มัตตัญญุตา เรียกว่ารู้จักประมาณให้พิจารณาปฏิกูลเห็นของปฏิกูล สกปรก

เหตุนั้นโดยมากหลวงพ่อจึงพูดบ่อยๆว่า ข้าวก็คือขี้ ขี้ก็คือข้าว อาหารที่บรรทุกมาในเรือเป็นลำๆเรือน่ะ มีแต่มูตรคูถทั้งนั้น ดูรถสิ คันหนึ่งไม่พอ สุขาภิบาลน่ะ เดี๋ยวนี้ ๒ คันน่ะ อันนั้นบรรทุกอะไรบรรทุกถังขยะเอาไปเผาทิ้งไม่รู้จะอะไร เดี๋ยวนี้เต็มเมืองกันหมดล่ะ อย่างเมืองใหญ่ๆน่ะอย่างเชียงใหม่น่ะ ถังขยะตรงข้างทางน่ะ เหม็นคลุ้งไปหมดล่ะ นั่นใครทำ ก็เกิดจากมนุษย์นั่นเองผู้ที่ทำสกปรก เหตุนั้นน่ะหลวงพ่อจึงเน้นหนักในการที่ว่า เราต้องพิจารณาทุกขณะว่า ตัวเรานี้วิเศษเมื่อไร ขี้ตา ขี้ไคล ขี้หู ขี้จมูก ขี้ปาก ขี้ฟัน ขี้เล็บ ขี้มือ ขี้ทั้งนั้นน่ะเอามากินมั่งสิ เอาขี้จมูกมาแปะลิ้นเรามั่งสิ มันเป็นอย่างไร เอาขี้หูมากินสิ ขี้ทั้งนั้น แม้ที่กินข้าวไปก็ต้องแปรงฟันต้องขี้ทั้งนั้น ให้พิจารณาเป็นอสุภะ แล้วจิตเราจะค่อยยอมรับความจริงที่มันเกิดมา เราไม่อาบน้ำสัก ๗ วัน ๑๐ วัน ๒๐ วัน มันก็เกิดเหม็นขึ้นมาเข้าใครก็ไม่ได้ เขารังเกียจแล้ว ขณะเป็นศพทั้งเป็นน่ะ ยังมีลมหายใจเข้าอยู่ก็เป็นศพแล้วเพราะลมมันผลักเรายังเดินอยู่ทุกวันนี้ เดินไปเดินมาทำกิจการต่างๆ ก็เพราะลมทั้งนั้นผลักเราอยู่ ผลักกระดูกเราเดินวิ่งไหวอยู่ เหตุนั้นเรานักปฏิบัติเราต้องพิจารณาข้อนี้ ให้มาก ผู้ใดเห็นตามความเป็นจริงผู้นั้นจะละสักกายทิฏฐิ คือเห็นความจริงเรายอมรับแล้วว่ามันเป็นสกปรก เรายอม ยอมความจริงตัวนั้นคือสัจจธรรม ว่าเราไม่ดี เราสกปรกเราต้องบริหารขันธ์อยู่ รูปกายขันธ์อยู่ทุกเช้าทุกเย็น แม้เสื้อผ้าใส่ไปก็ต้องซักฟอกอยู่ เรายอมรับสิ ถ้ายอมรับแล้วก็มี นั่นจิตเราจะเข้าสู่กระแสพระอริยบุคคล ยอมละสักกายทิฏฐิ อย่าไปถือว่าตัวนี่ดีวิเศษวิโส เมื่อเห็นอย่างนี้ทิฏฐิมานะมันก็จะอ่อนลง ไม่แข็งกร้าว วิจิกิจฉาไม่ลังเลแล้ว ไม่ลังเลในตัวเราแล้วว่าดีวิเศษไหม ไม่สงสัยแล้ว เราต้องยอมรับข้อนี้เลย นี่ผู้เข้ากระแสก็จะต้องละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาไม่ลังเลแล้ว ทีนี้สีลัพพตปรามาสน่ะไม่ต้องไปพูดถึง อย่างสำนักฯเรานี้ไม่มีพิธี มีทำวัตรสวดมนต์ ได้แต่ภาวนาทุกเวลานาที ถึงสิ้นปีจะสิ้นปีเราก็อยู่ธุดงควัตร มีแต่ข้อวัตรปฏิบัติ ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส คือปกติ เราจะนั่งยืนเดินนอนเป็นปกติ จะทำอะไรกิจการต่างๆในภาระหน้าที่ของเราเป็นปกติ คำว่าปกตินั่นคือศีล ถ้าศีลบัญญัติก็มีศีล ๕ อุบาสิกาชาวบ้านเขา ส่วนเราเป็นแม่ชีล่ะเราก็มีศีล ๘ สามเณรก็ศีล ๑๐ พระภิกษุก็ ๒๒๗ เป็นปกติ ข้อวัตรปฏิบัติ อันนี้เราก็อยู่ในขั้นโสดาบัน ทีนี้ต่อไปล่ะ เราบวชนานขึ้นไป เราก็ก้าวเข้าไปละโลภโกรธหลง นั่นอยู่ในหลักธรรมแล้ว ความโลภเราไม่ได้ไปดิ้นรน ไม่ได้ไปหาแสวงหา และเราไม่มีอะไรจะขายด้วย เรามุ่งปฏิบัติ อย่างเดียว ความโกรธอาจจะยังมีอยู่ เพราะเราสติไม่สมบูรณ์ เราอาจจะเผลอไป ถูกกระทบมาอาจจะเกิดโทสะ เราก็พยายามอยู่ ละโลภโกรธหลงไปเรื่อยๆ อันนี้เข้าอยู่ในสกิทาคามีเข้าไปแล้ว ไต่เต้าขึ้นไปแล้ว เข้าขั้นคุณธรรมสกิทาคามีแล้ว

ถ้าต่อไปเราหมดสงสัยแล้วว่า หญิงชายมันมีไหม อะไรไหม แม้แต่พี่น้องมันก็ไม่มี พ่อแม่ก็ไม่มี เห็นแต่รูปนามแล้ว อันนั้นเข้าอนาคามีแล้วน่ะ เข้าขั้นอนาคามีแล้ว เห็นรูปนามเกิดดับเป็นสภาวะ สัตว์บุคคลพ่อแม่พี่น้องไม่มี ไม่สงสัยแล้ว หมดสงสัยแล้ว อันนั้นขั้นอนาคามีแล้ว จนกระทั่งรู้แจ้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเราหมด อันนั้นขั้นสูงสุดแล้ว เราต้องไปเรื่อยๆ เราอย่าไปท้อถอย ทีนี้ความเพียรนี่สำคัญ เหตุนั้นพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ท่านเป็นผู้ชี้แนะ หลวงพ่อก็เป็นผู้ให้ผู้ชี้แนะ ที่พระคุณเจ้าและแม่ชีอุบาสกอุบาสิกานั้น ความเพียรแต่ละบุคคล เรามีความเพียรไม่ย่อหย่อน ไม่ว่าเอาจริงเอาจังหรือจะนั่งยืนเดินนอนคู้เหยียด เรามีสติความเพียรอยู่ ควบคุมอยู่ตลอดไปมันก็ปฏิบัติภาวนาเรื่อยไป มีสติสัมปชัญญะควบคุมทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะกินจะดื่ม จะนอนจะลุกจะขยับเขยื้อนอะไรก็แล้วแต่ เราจะพิจารณาเป็นธรรมะเป็นสภาวะ หรือจะเอานามรูปเป็นอารมณ์ก็ได้ หรือจะเป็นสภาวะก็ได้ หรือจะควบคุมความรู้สึกไปเรื่อยๆจนเป็นหนึ่ง แล้วสติปัญญาเราจะเห็น เห็นความจริงที่มันปรากฏทุกขณะไป แล้วเรา ไม่ต้องไปสนใจในสิ่งรอบตัวเรา ภายนอกไม่สนใจ อาจจะไปรับมามันก็สามารถจะเกิดทุกข์ขึ้นทันทีเลย เหตุนั้นเราดูตัวเรา ทำเป็นเอกายนมัคโค ทางสายเอก อันนี้แหละเป็นทางไปสู่สันติ ไปสู่สิ้นภพสิ้นชาติขึ้นมา เหตุนั้นน่ะมีกาย เวทนา อาจจะมีทุกข์มีสุข อาจจะเจ็บป่วยเกิดขึ้นมาชั่วขณะหนึ่งขณะใดก็ได้ มันไม่ใช่ของเรา เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงว่า "ร่างกายนี่ รูปกายนี่เป็นรังของโรค" มันจะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ บังคับมันไม่ได้ เหตุนั้นเราต้องพยายามอย่าประมาท การทำความเพียรเราต้องมีความเพียร หลวงพ่อเองก็เป็นผู้ชี้แนะ ค่อยจ้ำจี้จ้ำไชให้เอาพิศพิจารณากายเรา ตั้งแต่เท้าจนศีรษะ เอาแต่ศีรษะ จนเท้า พิจารณามันเรื่อยๆบ่อยๆ ไม่ว่าจะทำอะไรพิจารณา จะอาบน้ำสรงน้ำก็ต้องพิจารณา เปลี่ยนผ้าซักผ้าเราต้องพิจารณา เรามีอะไรมา แล้วมันจะเห็นความจริงขึ้นมามันเหลือแต่ตัวกะล่อน ชุดวันเกิด ทุกอย่างเราจะต้องมีสิ่งปกปิด ทำไมต้องปกปิด เพราะมันสกปรก ไม่ว่าคนบ้าหรือคนดีก็ต้องเป็น เขาเรียกว่า เป็นทัศนะของมนุษย์ แต่ทีนี้ว่านักบวชจะต้องมีลักษณะหนึ่งเป็นสีต่างกัน แม่ชีก็ไปอีกสีขาวหนึ่ง เณรก็เหมือนกับสีพระ ฆราวาสก็หลายสี อันนี้สิ่งปกปิดกายแล้วแต่มันจะเปลี่ยนแปลงของมัน ตามอัธยาศัยของจิตของแต่ละบุคคล

เหตุนั้นเป็นนักบวชนักพรตเราต้องเพียร ทางโลกเขาก็ต้องเพียร เพียรแสวงหาลาภสักการะ หาเงินหาทองเพื่อร่ำเพื่อรวย อันนั้นมันคน ละอย่าง ไอ้เรานี่เพียร เพียรดูตัวเอง เพียรพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเห็นกายในกายเมื่อไร เห็นชัดแจ้ง ยอมรับละสักกายทิฏฐิ เป็นอสุภกรรมฐาน ทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะอ่อนนุ่มนิ่ม ใครจะทำอย่างไรเราก็ยอมรับ ว่าเราไม่ดีเราก็ยอมรับ หน้าเราไม่ดี เราก็ยอมรับว่าเราต้องล้างหน้าทุกวัน ว่าเราไม่ดีเราก็ต้องอาบน้ำฟอกสบู่ ยอมรับ ความจริงข้อนี้ ปากไม่ดีเราก็ต้องล้างปากแปรงฟันอยู่ เรายอมรับ เมื่อยอมรับเราก็ไม่มีโทสะ ไอ้คนที่เขาไม่ได้ศึกษาไม่ได้ปฏิบัติเขาก็ย่อมคิดผิด เห็นผิด ด่ากันต่างๆนานาที่ไอ้คำด่าคำชมนี่ มันเพียงคำพูดเท่านั้นเอง เป็นบัญญัติขึ้นมา เราก็ต้องปฏิบัติตั้งสติ ให้ดีว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นความจริงแค่ไหน มันเป็นลมเป็นแล้งไปล่ะ พูดไปก็ดับไป ไม่ว่าจะด่าหรือจะชมอะไรก็แล้วแต่ อันนี้เราตั้งสติพิจารณาศึกษาในข้อบัญญัติ เรียก วจีบัญญัติ มีเราสติแก่กล้าขึ้นเราก็เข้าใจในคำพูดคำชม เขาด่าเราเรื่องอะไร มันไม่ เป็นความจริงอะไรทั้งนั้น แล้วเราจะไปโกรธเขาทำไม ถ้าเป็นจริงขึ้นมา เราก็ยอมรับความจริงว่า เออ นี่มันจริง เป็นสัจจธรรมไป มันก็หมดปัญหาไป เหตุนั้นเรามาศึกษาปฏิบัติต้องพิจารณากายอย่างมาก ไม่ว่าขยับเขยื้อนจะหยิบจะวาง แต่ละวันแต่ละคืนผ่านไป เวลาอาบน้ำก่อนอาบน้ำสรงน้ำเราก็ต้องพิจารณา เอาน้ำรดลงไปถูกกระทบกายมันก็ต้องเย็น มันมีเย็นกับร้อน ทีนี้มันมีลักษณะหนึ่ง ไอ้ตัวเวทนานี่เราไม่ทันมัน ที่จริงมันเกิดปั๊บนี่ต้องเจ็บแล้ว ต้องสบายแล้ว จึงรู้ว่าสบาย รู้ว่าเจ็บ อือ ไอ้ตัวนี้น่ะมันเรา สติขาด มันมารู้ทีหลัง มันมาเจ็บก่อนจึงรู้ว่าเจ็บ ถอยแล้ว ทีนี้เราไม่กำหนด ไม่ได้เอาสติกำหนดพิจารณาในกายและเวทนา ๒ รูป ๒
อย่างลักษณะ มันเป็นนามธรรม อันนี้ความเห็นผิด

เหตุนั้นเราต้องกำหนดพิจารณาเอาสติกำหนด จะเจ็บจะป่วยเราก็ดูมัน สติปัญญาเอาปัญญาดูมัน สติดูมันเข้า มีเราไหม มีตัวไหม นี้เวทนาก็สามารถจะ บรรลุธรรมไปได้ ไม่มีตัวตน เวลาอาบน้ำสรงน้ำเราก็รดมันก็เย็น พอเช็ดแล้วก็แห้งไปเป็นอยู่อย่างนี้ชีวิตมนุษย์ ตัวนี้นี่เราสำคัญผิด ว่าเราดี เราสวย อือ เรามีฐานะเราร่ำรวยพ่อแม่พี่น้องรวย อันนั้นใช้ไม่ได้ รวยมีมหาศาลแค่ไหนก็ตายด้วยกันทั้งนั้น เดี๋ยวกินแล้วก็ถ่ายเหมือนกัน ให้พิจารณาเราก็มีขี้เหมือนกัน แต่งตัวอย่างไรจะเลิศหล้านภาลัยอย่างไร แก้ผ้ามันก็ไอ้อาบน้ำมันก็เปลี่ยนผ้าเหมือนกันกับเรา มีเนื้อหนังหุ้มกระดูกเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ใจเราอ่อนนิ่ม ไม่มีเขาไม่มีเรา ไม่ถือเขาถือเรา ลดทิฏฐิมานะลงไป เมื่อลดทิฏฐิมานะลงไปแล้วเราเข้าใจเลย จะเห็น เห็นตามความเป็นจริงที่มันปรากฏอยู่ ผู้มีรอบรู้ในกองสังขาร สังขารตามันก็ไม่เที่ยง สังขารหูมันก็ไม่เที่ยง สังขารจมูก แม้แต่หายใจเข้าออกมันก็เข้าออก มันก็ไม่เที่ยง สังขารปากลิ้นเราพูดจาก็เหมือนกัน อาหารคาวหวานเหมือนกัน มันก็ไม่เที่ยง แม้แต่เย็นร้อนอ่อนแข็งกระทบกายเราก็ไม่เที่ยง แม้แต่อาหารเรากินไป ตกไปในท้องไม่นานมันก็ออก มันก็ไม่เที่ยงพิจารณาอย่างนี้เมื่อไร ไอ้ความจริงมันจะแทรกซ้อนเข้าไปตัดไอ้ความปลอมเขาออกมาแล้วจิตเราจะยอมรับทันที ความเห็นความจริงนี่มันจะรับทันที เมื่อรับไอ้ตัวทิฏฐิมานะของเรามันก็ลดลง ความแข็งกร้าวอะไรมันก็ลดลงไป ว่าเราว่าดีว่าเด่มันไม่มี นี้คือ ความจริงปรากฏอยู่ พระพุทธเจ้าสอนหลักสัจจธรรมคือความจริง เหตุนั้นเรายังหนุ่ม ยังแน่น เราย่อมพิจารณาบ่อยๆ ทำไมเราต้องตัดเล็บ มันงอกไปทีละหน่อย ต้องตัดทิ้งไปตกเป็นเศษดินไปแล้ว อันนี้สำคัญ เหตุนั้นเรานี่ เหตุนั้นพุทธพจน์พระพุทธเจ้าจึงว่า "กาเย กายานุปัสสี วิหรติ" ผู้เห็นกายในกายจะหายโศกเศร้าโสกะปริเทวะในโลกเสียได้หายสิ เราเห็นตัวเราอย่างนี้ คนอื่นก็ไอ้เหมือนกัน มนุษย์ ๒ ขา ๒ แขนเหมือนกัน ตายแล้วมันก็เน่าเปื่อยเผาไปในที่สุด ไม่มีอะไร เป็นเถ้าถ่าน มันก็หายโศกเศร้า ไม่ต้องไปดิ้นรนอะไร เพราะอะไร นั่นเรามีธรรมะแล้ว เรารู้แจ้งแล้ว ทุกอย่าง เราเกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น จะมีเงินมากมายมหาศาลก็เอาไปไม่ได้ ก็ซื้อไม่ได้ นี้เรานักปฏิบัติ เราไม่ได้ติดพิธีอะไร

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าว่า "ปฏิปัตติบูชา พระพุทธเจ้าสรรเสริญ" ให้เรารู้แจ้งในตัวเรา เรายอมรับข้อนี้ ถ้ายอมรับเราจะไม่ถือกัน และไม่มีเขาไม่มีเราด้วย มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ นามรูป มีตาหูจมูกลิ้นกายใจเหมือนกัน เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ไม่รู้ใครจะดีกว่าใคร ไม่มีเลย นี่เรามาศึกษาข้อสัจจธรรมคือความจริงที่มันมีอยู่ในโลกนี่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา พระพุทธเจ้ามาค้นคว้ามาค้นพบและมาเผยแผ่เราถึงทุกวันนี้ เหตุนั้นเราก็เดินตามอริยมรรคองค์ ๘ ทุกวันนี้เราไม่ได้ไปดิ้นรน เราถือสันโดษ ยินดีที่เรามีอยู่ สมัยหลวงพ่ออยู่คนเดียว น้ำวันละขัน น้ำล้างบาตรเอามาล้างปาก ก็ความอดทนความตั้งใจจริง ความมีสัจจะมั่นคงใน พระธรรม ในพระพุทธศาสนา ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และใน พระอริยสงฆเจ้าผู้ที่ท่านผ่านไปพ้นไปมากแล้ว เราพยายามทำตามท่าน ต่อสู้สิ่งเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้นกับใจเรา ขึ้นกับกายเรา เดี๋ยวนี้จึงเข้าใจว่า อ๋อ ทุกอย่างเราเป็นผู้ให้ ไม่ให้ ก็ไม่ได้ วันคืนผ่านไปมันเอาของมันไปเรื่อยเหมือนยักษ์ วันเวลาเหมือนยักษ์ มันดูดชีวิตมนุษย์ไปไม่ว่าทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าที่มีวิญญาณครองไม่มีวิญญาณครอง เสื่อมไปสิ้นไปสิ่งเหล่านี้ทนได้ยาก ทุกข์ที่ทนได้ยาก เมื่อเห็นเป็นอย่างนี้มันก็ต้องถืออุเบกขาไป ผู้มีคุณธรรม ยอมกับมัน เอ้า เอาไป กายหยาบเอาไป เรารู้มันแล้ว รู้แจ้งสังขารทั้งหลายทั้งปวง เหตุนั้นเราภาวนามานี่เขาเรียกว่า " เตสัง วูปสโม สุโข ผู้ใดระงับสังขารได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง" ก็เป็นสุขสิ เพราะไม่มีทุกข์แล้ว เรารู้จิตของเราแล้วนี่ แม้สังขาร ปรุงแต่งมันก็ไม่เที่ยง อือ ต่อไปเราก็เข้าใจ นี่เราเดินตามพระอริยเจ้า ตามพระพุทธเจ้าเป็นสายเอกทางแห่งผู้เดียว ไม่ว่าจะทำในกรณีใดเราต้องมีความเพียร เพียรนั้นแต่ละบุคคลต้องเพียรเอาตัวเองน่ะ ถ้าใครมีความเพียรไม่ย่อหย่อน ไม่ว่าจะเวลาใดกาลใด จะลุกจะนั่งจะเดินจะคู้จะเหยียด จะทำภารกิจอะไรก็แล้วแต่ ให้สติควบคุมอิริยาบถเราผู้นั้นสามารถจะไปถึงที่สุด แล้วจะเข้าใจในตัวเอง ไม่สนใจเรื่องผู้อื่นเขา นี่แหละ เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า เตือนภิกษุและอุบาสกอุบาสิกาผู้ใฝ่ธรรม "อย่าประมาท" อย่าไปสนใจเขาทางโลก ทางโลกเขาดิ้นรนเหมือนกัน ดิ้นรนเพื่อหาลาภสักการะ เพื่อมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงครอบครัวเขา เขาได้อะไรขึ้นมา เวลาเขาจะมรณภาพ เขาได้อะไร เอาอะไรไป เขาก็ติดยึดอยู่ในสิ่งสมบัตินั่นคือเปรตวัตถุ นั่นแหละ ตัววิญญาณเวียนว่ายตายเกิดอยู่ภพน้อยภพใหญ่ เหตุนั้นพระพุทธเจ้าบอกว่า "ฆราวาส น่ะ เหนื่อยเปล่าไม่ได้อะไร" ส่วนเราเป็นนักบวชนักพรตเราได้ เราได้ดูตัวเอง เหตุนั้นเราไม่ว่าจะบวชใหม่บวชเก่า เหตุนั้นเราอย่าประมาท อันนี้แหละเราต้องเตือนตนอยู่เสมอ จะลุกจะนั่งจะทำอะไรกรณีอะไร เราเตือนตัวเราเสมอว่า เราทำอะไรอยู่ วันคืนล่วงไปเราทำอะไรอยู่ นั้นน่ะเป็นผู้ไม่ประมาท

เหตุนั้นแต่ละวันแต่ละคืนผ่านไป เราพยายามทำความเพียรตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าทุกกรณี เป็นกิจวัตรขยันหมั่นเพียร การจะพูดจะจาอะไรเราต้องตั้งสติระลึกเสียก่อนว่าการพูด อย่างน้อยๆให้ดูกายเรานี่ พิจารณากายบ่อยๆรูปกายนี้สำคัญรูปกายนี่มันบังอยู่ ถ้าทำลายรูปกายได้มันก็ไปได้ รู้แจ้งเลย เหตุนั้นโบราณเขาว่า "เส้นผมบังผู้เขลาเบาปัญญา" รูปมันบังอยู่ เหตุนั้นอิริยาบถจึงบังอนิจจัง ทุกขังบังอนัตตา เพราะไม่ได้กำหนด ขยับเราต้องกำหนดความรู้สึกมันเกิดขึ้นมา เราทำบ่อยๆเนืองๆต่อเนื่องกันไป แล้วเราจะเข้าใจในความรู้สึกของเรา รู้สึกคืออะไร ภายนอกน่ะกระทบมาเราก็รู้ รู้นี่อะไร เราวิจัยความรู้สึกน่ะมันเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนแต่เราเห็นผิด อาจจะเกิดไม่ทันมัน เมื่อเพราะไม่ทันเพราะเราไม่ได้ฝึกสติ ไม่พิจารณาบ่อยๆเนืองๆเข้า ถ้าพิจารณาบ่อยๆเนืองๆเข้ามันก็ทันปัจจุบันน่ะ พอทันปัจจุบันแล้วกระทบมาเราก็เฉย ปัญญาสติปัญญามันทันมันก็เฉย ต้องอาศัยกาลเวลา อย่างหลวงพ่อเป็นเวลา ๒๐ กว่าปี จึงมารู้ความจริงขึ้นมา มันไม่มีอะไร กระทบมาก็รู้ ไอ้รู้มันก็ ไม่มีอะไร เป็นนามธรรมว่างเปล่า จะพูดหรือไม่พูด ทุกอย่าง แต่ภายนอกหลวงพ่อ ไม่สนใจเขาหรอก เขาจะรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีจะเรียนชั้นไหนก็แล้วแต่ จะเป็น นายร้อยนายพลนายพัน เป็นดอกเตอร์อะไรหลวงพ่อไม่สนใจทางโลกล่ะ เห็นเป็นอวิชชาทำเพื่อปัจจัย ๔ ของเขา เราอยู่นี่เราก็มีปัจจัย ๔ ดูตัวเองอยู่ คอยดูแลพวกเรา เน้นหนักพวกเรา ให้ดูตัวเอง ให้มีความเพียร หลวงพ่อเองก็เป็นผู้ชี้แนะ พระพุทธเจ้าท่านเป็น ผู้ชี้แนะเป็นผู้ชี้ทางให้ เมื่อเราทำตามเราจะหมดสงสัยในตัวเรา เหตุนั้นลองเอาไปปฏิบัติเอาประพฤติปฏิบัติ เราจะเข้าใจ ใครล่ะมีมือ ใครไม่หยิบไม่วาง ทุกอย่างมันเหมือนกันใครไม่นุ่งผ้าห่มผ้าไม่มี ใครไม่อาบน้ำสรงน้ำไม่มี ใครกินไปแล้วไม่ถ่ายไม่มี ใครไม่มีการเจ็บป่วยไม่มี ใครไม่เดินไม่มี นอกจากอาพาธนอกจากคนพิการ ใครไม่มีตาเห็นรูปไม่มี ตาบอด ใครไม่มีหูได้ยินเสียงไม่มี นอกจากหูหนวก ใครไม่มีจมูกหายใจเข้าออกรู้กลิ่นเหม็นหอมไม่มี ใครไม่มีปากพูดเสียงดังออกมา มีปากฉันอาหารหรือรับประทานอาหารไม่มี ใครไม่มีอุจจาระปัสสาวะไม่มี ถ้าพิจารณาดูตัวเราทุกวันทุกเช้าทุกเย็น ใครไม่มีขาเดินไม่มี เดินก็กระทบเคลื่อนไหวอยู่ทุกเวลา ทุกอย่างมันจะตรงกัน ใครไม่เจ็บหรือใครไม่แก่ นอกจากกรรมตัดรอนตายก่อนแก่ ใครไม่เจ็บใครไม่ตายไม่มีแม้แต่พระศาสดาของเราท่านก็ต้องตาย ท่านเตรียมตัวตายไว้ก่อน แต่กิเลสท่านตายหมดวิญญาณท่านก็ตายหมดเหลือแต่ธาตุ ท่านอยู่อารมณ์นิพพานของท่าน ท่านสิ้นลมท่านก็หมดเข้าสู่ปรินิพพาน ท่านไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกับพวกเรา เหลือแต่อานุภาพ ของท่านอยู่ มีแต่พุทธานุภาเวนะ ธัมมานุภาเวนะ สังฆานุภาเวนะ อานุภาพ ๓ ประการจนเราถึงทุกวันนี้

เราได้มาบวชได้เป็นนักพรตได้มาปฏิบัติ เดินตามอริยมรรคองค์ ๘ ตามศีล สมาธิ ปัญญา พิจารณาเอกายนมัคโค ทางสายเอกทางแห่งผู้เดียว กาเย กายานุปัสสี วิหรติ เดินสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เราก็สามารถจะถึงที่สุด แห่งทุกข์ได้เหมือนกัน ไม่ว่าใครจะทำย่อหย่อน ใครจะทำตึงเครียดอย่างไร ไอ้ตึงนักมันก็ผิด ไอ้หย่อนนักก็ผิด มันต้องมัชฌิมาปฏิปทาพอสายกลางของเรา เราทำได้แค่นี้ จะเอาให้มันตึงเข้าไปมันก็ไม่ได้ ถ้าหย่อนก็ไม่ได้ คำว่าปกติของเรา ทีนี้เรามีสติปัญญาควบคุมเราทุกอิริยาบถ ทำเพียรไปเรื่อยๆ ถือหลักเป็นความเพียรเป็นหลัก วิริเยนะ ทุกขมัจเจติ คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร นี่ยึดหลักนี้เป็นหลัก แล้วเราก็สามารถจะเบาบางไปเรื่อยๆ อาจจะละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสไปได้ เราก็เข้ากระแสพระอริยเจ้าแล้ว เราทำต่อไป เราละโลภโกรธหลงไปเราก็สกิทาคามีขึ้นไปแล้วเราไม่สงสัยในมนุษย์สัตว์เดรัจฉานเราก็หมดแล้ว เป็นอนาคามีเข้าไปแล้ว จนทำจิตให้เรารู้แจ้งแทงตลอดตาหูจมูกลิ้นกายใจอายตนะ ๖ หมด เราก็ไปอยู่กับพระพุทธเจ้าแล้ว สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว เข้าสู่แดนเกษมสำราญจิตว่างแล้ว ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะข้องแวะกับมัน เป็นของจอมปลอมเป็นถังขยะ ไอ้รถเขาวิ่งอยู่ทุกวันนี้มันถังขยะ ไอ้ตัวเราก็มันถังขยะ กินอาหารคาวหวานเข้าไปมันก็ออกแล้ว เหม็นอีกแล้ว ต้องชำระมันทุกวันบริหารขันธ์ทุกวัน รูปขันธ์ทุกวัน เราไม่พิจารณา แล้วไปยึดถือว่านี่ว่าดีว่าเด่ ก็เสร็จ เท่านั้น เป็นอัตตาเป็นมานะขึ้นมาทันทีเลย ให้เข้าใจตัวเราเอง เมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ต้องรักษามัน เสียสละแล้ว เสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ยอมเสียมีเงินต้องเสียมันรักษาอวัยวะเอาไว้ เมื่อถึงที่มันแล้วก็เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ตัดแขนตัดขาอะไรต่างๆ เมื่อเสียสละชีวิตก็เพื่อพระสัทธรรม ยอม ยอมให้ธรรมะ ตั้งปณิธานไว้ เราก็หมดแม้แต่เราเดินจงกรมไปมาอยู่เป็นนิตย์ มันก็ตัดภพตัดชาติไปแล้ว มีอารมณ์กรรมฐานอารมณ์สมาธิ มันก็สูงขึ้น จิตสูงขึ้นน่ะเป็นพรหมแล้วนั่นน่ะ กำลังเดินจงกรมอยู่น่ะ เป็นพรหมแล้วน่ะ ถ้ารูปนามมันก็เข้าอนาคามีเข้าไปแล้ว น่ะ "เรารู้ตัวเราอยู่ เราปฏิบัติขั้นไหนเรารู้ตัวเราอยู่ แต่เราไม่รู้ผู้อื่น ไม่รู้หรอก เพราะยังไม่จบ ถ้าจบเมื่อไหร่นั่นรู้ล่ะหมดกิจแล้ว มองดูข้างล่างรู้แล้ว อ่านออกเขาออก ทุกอิริยาบถ เราจบแล้วนี่ เป็นอาการของจิตเป็นกิริยาแล้ว ดูออก จะพูดหรือไม่พูดเท่านั้นเอง" นี่สำคัญ

เหตุนั้นไม่ต้องมาเถียงหรอก ไม่ต้องมาโทษกัน ถ้าเราปฏิบัติ เหมือนกัน เวลากินก็เหมือนกัน เวลาอุจจาระปัสสาวะมันก็ไอ้เหมือนกัน เวลาอาบน้ำอะไรทุกอย่างเหมือนกันด้วยกันทั้งนั้น แต่ ความเห็นต่างกันน่ะ นั่นเราผิดแล้วนะ เราต้องยอมรับว่าเราผิดแล้วน่ะ ผิดคือความจริงที่มันปรากฏอยู่ ผิดแล้ว เราต้องแก้ตัวนี้ แก้นี่เราผิดแล้ว แล้วเราพูดผิดไปแล้ว เผลอไปแล้วยอมรับข้อนี้ เหตุนั้นเราทำจิตเราเหมือนกับแผ่นดิน แผ่นดินมันรับทั้งของดีและไม่ดี เราทำจิตเราเหมือนกับไฟ ไฟมันไหม้ทั้งของดีและไม่ดี เราทำจิตของเราเหมือนกับน้ำ น้ำน่ะมันรดทั้งของดีและไม่ดี เราทำจิตเราเหมือนลม พัดทั้งของดีและไม่ดี เวลานี้น้ำท่วมทางเหนืออีสานน่ะ มันท่วมไปหมดน่ะ ไม่ว่าต้องเป็นใคร สถานที่ใดๆ ทุ่งนาบ้านเมืองอะไรมันท่วมไปหมดเลย ถนนหนทางมันตัด ดีไม่ดีมันตัดไปหมดเลยมันไม่เลือกหรอก ฮ่ะ มีเราอยู่ในเกาะนี่มันดีที่สุดเลย ฮ่ะ กลางทะเลน้ำล้อมรอบ ไม่เคยท่วม ฝนจะตกอย่างไรมันก็ไม่ท่วม ถ้าท่วมเกาะก็เสร็จเลย ทางฝั่งอยู่ไม่ได้แน่ลอยคอแน่เลย เป็นโอฆะไปแล้ว ลอยโคลงเคลงน่ะจมน้ำตายไปแล้ว แต่เราอยู่เกาะนี่ บนเขาอยู่อย่างนี้ล่ะ ไม่ต้องกลัว น้ำทะเลมันล้อมรอบอยู่ เราก็ไม่เห็นจมน้ำตาย เหตุนั้นที่เกาะนี่เหมือนเป็นที่ว่าปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ประเทศอันสมควร อากาศก็ดีสัปปายะทุกอย่าง อาหารก็สัปปายะ อากาศก็สัปปายะ โคจรการจะไปมาก็สะดวก น้ำก็ไม่ท่วม ไม่สกปรก ไม่แฉะ หาที่ไหนอย่างนี้ เหตุนั้นน่ะทางอีสานเดี๋ยวนี้จม เดี๋ยวนี้ดีเปรสชั่นจะเข้าอีกแล้ว ค่ำวันนี้เข้าประเทศลาว น้ำเพิ่งลดหน่อยเดียวจะเอาอีกแล้วดูแต่สภาวธรรมสิ เวลาแล้งมันแล้งจริงๆ เวลาท่วมมันท่วมจริงๆ จังหวัดตราด จันทบุรีนี่เสียหายเท่าไหร่ นี่ใกล้เราเขตแถบเราตะวันออก

เหตุนั้นเราพิจารณาตัวเราเราจะเข้าใจในธรรมชาติน่ะ ไม่เที่ยงทั้งนั้นแหละ แต่ละวันแต่ละคืนผ่านไปมันก็ไม่เที่ยง กลางวันก็ไม่เที่ยง กลางคืนก็ไม่เที่ยง นี่แหละเป็นหลักอนิจจัง วันเวลาเอาชีวิตเรา เอาเราไป ทุกเวลานาที เราควรเหรอ ต้องไปดิ้นรนมัน ดิ้นรนมีความเพียรดูตัวเองไปทุกเวลานาทีการอยู่นี้มีแต่สร้างบารมีสะสมบารมีขึ้นไป จนให้สติปัญญาเราแก่กล้า เราก็สามารถจะละโลภโกรธหลงลงไปได้ เวลานี้เราก็ไม่ได้ไปโลภใคร แล้วเราไม่โกรธใคร เราไม่หลงในสิ่งภายนอก เราอยู่ในระบบของเราอยู่ ตั้งอยู่ในทาน ศีล ภาวนา ตั้งอยู่ในขอบเขตของพัทธสีมาของเรา ไม่มีใครเข้ามาก้าวก่าย มีแต่เขาจะใส่บาตรให้พระให้เณร เรามาแบ่งสรรปันส่วนกิน ภาวนาให้เขาเจริญงอกงามขึ้น เหตุนั้นเราเป็นปุญญักเขตเต เนื้อนาบุญ เป็นแผ่นดินธรรม เรามีแต่ธรรมะ จะนั่งจะเดินจะคู้จะเหยียดจะทำอะไร เราก็มีสติสัมปชัญญะควบคุมเราก็เป็นแผ่นดินธรรม เป็นเขตธรรม เป็นปลอดชีวิต สัตว์ทั้งหลายมันก็มาพึ่งบารมีของเราในเขตของเรา ใครมาล่วงเกินไม่ได้ อันนี้ก็เป็นกุศล

เหตุนั้นพวกเราวันนี้ ผมจึงพยายามเน้นหนักให้พิจารณากาย พิจารณาตัวเรา "กาเย กายานุปัสสี วิหรติ ผู้เห็นกายในกายจะหายโศกเศร้าโสกะปริเทวะในโลกเสียได้" เมื่อนั้นเราก็จะมีจิตอันสะอาด มีจิตอันสว่างและมีจิตอันสงบ เหตุนั้นในพุทธพจน์จึงว่า "สมณีธ อรณา โลเก สมณะในธรรมวินัยนี้ไม่เป็นศัตรูกับใคร" เป็นผู้ให้เป็นผู้เสียสละไม่เสียก็ต้องเสีย วันเวลามันเอาเราไป เรายอมกับมันซะอย่าง ยอมกับธรรมชาติ ยอมทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่อาหารเรากินเข้าไปในท้องของเราแท้ๆนี่ โดยสมมติว่าท้องเรามันอยู่ไม่ได้ ไม่ออกก็ไม่ได้เป็นทุกข์ก็ต้องออก ไม่กินก็ไม่ได้หิวอีกแล้ว เหตุนั้น พระพุทธเจ้าว่า "ความหิวเป็นโรคอันยิ่ง" ก็ต้องให้มัน ให้อิ่มแล้วไม่นานเท่าไรมันก็ ออกอีกแล้ว ทุกข์อีกแล้ว มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป พอทุกข์ดับไปแล้วเราไปติดสบายสิ ไม่อยากให้ทุกข์มา ทุกคนเกลียดทุกข์รักสุข แต่เขาไม่เข้าใจว่าไอ้ทุกข์กะสุขนั้นมันไม่เที่ยงหรอก เหมือนกลางวันกลางคืนน่ะ เมื่อสบายแล้วมันก็ไม่เที่ยงไอ้ทุกข์มันก็ไม่เที่ยง ไอ้สุขมันก็ไม่เที่ยง ๒ ตัวนี้เราก็ถืออุเบกขาเฉย ทุกข์เกิดก็ เรื่องของมันไป เดี๋ยวมันไม่ช้ามันก็ดับ ดับมาสุขมาเราก็ดูมันไป เดี๋ยวมันก็ทุกข์มาอีกเดี๋ยวสุขมาอยู่อย่างนี้ล่ะ เกิดๆดับๆของมันอย่างนี้ มันก็เห็นไตรลักษณ์ของมัน อ๋อ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตัวตนจริงๆเลย บังคับไม่ได้ ไม่ให้เกิดมันก็เกิด ไม่ให้ดับมันก็ดับ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเราแน่นอนเลย ความเห็นอย่างนี้เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เราก็จิตเราก็ลอย ไม่ใส่ใจมัน เราก็อยู่อารมณ์สมาธิ อยู่ในอารมณ์ไม่มีอะไร นั่นแหละเป็นที่สุดแล้ว นั่นจิตสะอาด สว่าง สงบแล้ว นั่งยืนเดินนอนมีสมาธิอยู่ มีความไม่มีอะไรอยู่ มีจิตเป็นกลางๆอยู่ ไม่สนใจในอะไรในตัวเรา ไม่ว่าทุกข์มันจะเกิดไม่ว่าสุขมันจะเกิด ไม่สนใจในมัน ทำใจเป็นกลางๆเอาไว้เราก็สบาย เราก็ตั้งอยู่ในอิสระเรามีสติปัญญาแก่กล้าเราก็ถ่ายทอดให้คนอื่นที่เขามา แนะนำเขาชักจูงเขาเข้ามา ให้หูตาเขาสว่างขึ้นมา เราก็เป็นกำลังของพุทธศาสนาต่อไป เป็นปุญญักเขตเต เนื้อนาบุญ ของโลก เราให้ความเอื้ออารีต่อเขา แบมือรับเขาจูงเขาอีก มันก็จูงกันต่อไป เหตุนั้นในพุทธพจน์ว่า "สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง" "ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจาริง ธรรมแลย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม" ธรรมะคุ้มครอง มีพระธรรมอยู่ มีอานุภาพพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา มีพุทธพจน์อยู่ในใจเรา มีพระอริยสงฆ์คอยดูแลสอดส่องชี้แนะเราอยู่ ไม่มีสัตว์บุคคลอยู่ในนั้นเลย นี่แหละคือธรรมะเป็นทางสายเอก เป็นทางแห่งไปสู่สันติสัมปรายภพ ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในโลกนี้ อีกต่อไป มาถกมาเถียงมาแย่งมาชิงมาวิ่งราวกัน มาทะเลาะเบาะแว้งอาฆาตพยาบาทกันจบกันซะที

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าว่า "วัฏจักรนี้ไม่มีหัวไม่มีหาง ปฏิจจสมุปบาท" มันเป็นวัฏจักรของมัน เพราะเราไม่ศึกษาธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ทำสมาธิ ไม่เจริญภาวนา ไม่ทำจิตให้ผูกมัดอยู่ในกายเป็นคูหายังให้จิตอยู่ ให้รู้แจ้งเห็นจริงในตัวเรา มันก็ถูกลากไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ในรอบตัวเรามันไม่มีอะไรจะเอาอะไรกับมัน พยายามดูตัวเรา จิตเราผูกมัดอยู่ ให้กายเป็นคูหายังให้จิตอยู่ จิตอยู่คือไอ้สติอยู่กับตัวเรา ไอ้ความรู้สึก นั่นไม่ใช่ มันเป็นอวิชชา เป็นวิญญาณจิตวิญญาณให้ทำลายมัน ทำลายแล้วเราก็สติ อยู่ด้วยสติปัญญาของเรา จะทำอะไรทำด้วยสติปัญญา ไม่ได้ทำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำเพื่อเสียสละ ทำเพื่อผู้อื่นเขา เขาเรียกประโยชน์ตนเสร็จแล้วต้องประโยชน์ท่านมันจึงสมบูรณ์ นั่นแหละเป็นผู้อยู่จบหมดกิจในพระพุทธศาสนา ช่วยเขา คนไหนเราช่วยได้ช่วย คนไหนหัวดื้อหัวรั้นก็ปล่อยไป ให้เขาอยู่อิสระ ของเขาไป พูดให้ฟังเขาเอาไปใช้ก็เป็นประโยชน์ของเขาเอง เหมือนน้ำฝนตกมา ใครมีภาชนะเอามารองรับเขาก็ได้ใช้ประโยชน์ของเขา คนไม่มีปัญญาก็ปล่อยให้มันไหลลงทะเลไป อันนี้เป็นเรื่องแต่ละบุคคล ขอให้พระคุณเจ้าและเณรและอุบาสกอุบาสิกาแม่ชีขอให้ธรรมะข้อนี้วันนี้ เอาไปพิจารณาในกายของตัวเอง อย่าไปท้อถอยให้มีความเพียรเป็นหลัก ไม่ว่าจะทำทุกอิริยาบถ ทำอะไรก็แล้วแต่ ให้เอาสติกำหนดไปเรื่อยๆ เราเดินทางถูกทางแล้ว ผู้ใดเดินทางทางนี้ถูกตามสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ผู้นั้นสามารถจะพ้นจากกองทุกข์รู้แจ้งแทงตลอด แล้วเราก็จะได้เป็นกำลังพุทธศาสนาสืบต่อไป อย่าไปท้อถอย จะลุกจะนั่งมีความเพียร เหตุนั้นพระพุทธเจ้าว่า "วิริเยนะ ทุกขมัจเจติ ผู้ใดมีความเพียรผู้นั้นจะพ้นจากกองทุกข์" เหตุนั้นวันนี้หลวงพ่อขอพูด เน้นหนักในด้านการพิจารณากาย ผู้ใดเห็นกายในกายผู้นั้นจะเข้าสู่ในกระแสของ พระพุทธเจ้า เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ละสักกายทิฏฐิ แล้วก็หมดสงสัย วิจิกิจฉาไม่ลังเลในธรรมะ และสีลัพพตปรามาส เราก็มีปกติ เป็นศีลพรตไม่เอา พิธีกรรมต่างๆเราก็ไม่มี นั่นผู้เข้ากระแสเป็นพระอริยบุคคล เราก็เพียรต่อไป ละโลภโกรธหลงเรื่อยไปจนกว่ารู้แจ้งแทงตลอดในตาหูจมูกลิ้นกายใจ อายตนะ ๖ ขันธ์ ๕ นามรูป แล้วเราก็จะสามารถที่สุดแห่งทุกข์ ภพชาติเราก็ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เหตุนั้นวันนี้ หลวงพ่อก็ขอยุติการปาฐกถาธรรมในวันนี้ ๘ ค่ำ เดือน ๙ ขอให้ทุกคนเอาไปประพฤติปฏิบัติต่อไปเพื่อเจริญในตัวเอง ที่สุดนี้ขอให้ทุกตนทุกคนจงเจริญในธรรมวินัยสืบต่อไปทุกตนทุกคนเทอญ เพื่อให้เข้าใจในสภาวธรรม ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติธรรมของเรา ให้กำหนดทุกอิริยาบถ เช่น ทางตามันก็เป็นอนิจจัง อนัตตา เป็นสภาวธรรม ทางหูมันก็เป็นอนิจจังเป็นสภาวธรรม ทางจมูกมันก็เป็นอนิจจัง อนัตตา เป็นสภาวธรรม ทางปากมันก็เป็นอนิจจัง อนัตตา เป็นสภาวธรรม ทางกายมันก็เป็นอนิจจัง อนัตตา สภาวธรรมแม้แต่นั่งยืนเดินนอนมันก็เป็นอนิจจัง อนัตตา สภาวธรรม แม้แต่มือหยิบมือวางการเอื้อมไปมามันก็เป็นอนิจจัง อนัตตา สภาวธรรม แต่จิตเราไม่ได้ปฏิบัติ เราไม่ได้เอา สติตามกำหนดตามสภาวธรรม ความรู้สึก หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาวกาย แม้กระทั่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันก็เป็นอนิจจัง อนัตตา สภาวธรรม ตลอดมา แล้วเราได้อะไร แล้วการปฏิบัติธรรมของเราต้องทำต่อเนื่อง ด้วยสันตติ เราไม่เห็น เราเลยไม่เข้าใจ ความเห็นผิด เป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวเป็นตน ครอบงำเรามาตลอด เราไม่รู้แจ้งในอายตนะ อายตนะทั้ง ๖ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ คือว่าการนามรูปนั่นเอง เมื่อเรากำหนดนามรูป เราจะเห็นสภาวะ ทันปัจจุบัน เมื่อเห็นปัจจุบันก็เห็นสภาวะ อนิจจัง อนัตตา สภาวธรรมทุกขณะไปเลย เมื่อนั้นเราก็ทำจิตเราว่างเป็นกลาง จะรู้ว่าโลกนี้น่ะ มันเป็นสิ่งสมมติครอบงำเราตลอด เป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวเป็นตนเกิดทะเลาะเบาะแว้งกัน เห็นผิด เมื่อเป็นเช่นนี้โลกมันจึงวุ่นวาย เวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏ หาทางหลุดพ้นไม่ได้ เพราะติดในสมมติบัญญัติ เขาว่าเขาชมมันก็ เป็นอนิจจัง อนัตตาของมัน เพราะเราขาดสติสัมปชัญญะพิจารณาทุกเวลานาที คนไม่ได้ดูตัวเองไม่ได้กำหนดตัวเอง

เหตุนั้นหลวงพ่อปฏิบัติมานี้เป็นเวลา ๒๐ กว่าปีการจะดูธรรมะดูตำรับตำราดูไตรปิฎก มันก็ให้สมมติขึ้นมาว่าเป็นแหครอบงำอยู่ คือ ตัวตาแหนั่นคือตัวหนังสือครอบงำ หลวงพ่อก็ไม่ได้ดู ได้ดูตัวเองมาตลอด เมื่อจะดู อีกทีหนึ่ง ธรรมะก็บอกว่ากระดาษเราบริสุทธิ์แล้ว อันนั้นเป็นเพียงอนุสรณ์เท่านั้นเองตั้งแต่บัดนั้นมาหลวงพ่อก็ไม่ได้ดู ได้ดูตัวเองมาทุกอิริยาบถ จนกระทั่งปัจจุบัน จึงรู้ความจริง จึงเบื่อหน่าย เห็นแต่ความจิตของปุถุชน คิดดูแล้วพิจารณาชักจูงในทางที่ดีมันก็ไม่ค่อยจะเอา ตักเตือนเท่าไหร่มันก็ไม่เอา จึงเบื่อเหมือนถังขยะ น่าเบื่อหน่าย สัตว์โลก เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงว่า "เป็นปทปรมบุคคล" จะไม่สอนจะไม่เตือนมันก็กระไรอยู่ เหตุนั้นวันนี้หลวงพ่อขอพูดอย่างละเอียดแล้ว ขอให้พระคุณเจ้าและแม่ชีอุบาสกอุบาสิกานำไปพิจารณาดูให้ดี วันคืนล่วงไปๆมันได้อะไรขึ้นมา นอนหลับก็หมดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ลมมันยังทำงานของมันอยู่ ได้คิด หรือเปล่าว่าเราบวชมาเพื่ออะไร ตั้งปัญหาถามตัวเองสิว่า บวชมาเพื่อเอาธรรมะ หรือจะเอาบุคคล ถ้าเอาบุคคลมันก็เสาะแสะกันอยู่อย่างนี้ ถ้าเอาธรรมะก็ต้องมุ่งปฏิบัติทำความเพียรต่อเนื่องกันไป แม้จะหลงลืมเราก็ต่อเนื่องไปจนสติเราจะสมบูรณ์ เหตุนั้นการปฏิบัติธรรมนี้ต้องเตือนตัวเสมอ ตื่นอยู่เสมอ จะขยับเขยื้อนเราควบคุมความรู้สึก ของเราไปเรื่อยๆ วันเวลาผ่านไปเราได้อะไร กินแม้กระทั่งอาหารการกินคาวหวาน ลงไปในท้อง มันยังอยู่ไม่ได้ มันจะต้องออกเป็นนิจศีล อาบน้ำก็เหมือนกัน ไม่ได้กำหนดพิจารณาว่าเราอาบเพื่ออะไร .




"ทำไมเราต้องล้างหน้าแปรงฟัน ทำไมเราต้องอาบน้ำ
เพราะมันสกปรก อย่าไปถือว่าตัวนี่ดีวิเศษวิโส"






Create Date : 03 กรกฎาคม 2552
Last Update : 3 กรกฎาคม 2552 17:43:45 น. 0 comments
Counter : 655 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Toad
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Toad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.