Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
3 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
อุปกรณ์ในการทำความเพียร

ธรรมะจากหลวงปู่ 1
โดย
พระราชพรหมาจารย์(พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล) วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ.เชียงใหม่
เนื่องในโอกาสทำบุญครบอายุ 78 ปี 57 พรรษา
วันที่ 21 กันยายน 2544

อุปกรณ์ในการทำความเพียร

เราควรจะพอกพูนความดีของเรา หรือความเพียรของเรา เหมือนข้าวกล้าที่จะต้องดูแล เอาน้ำใส่ข้าว หากไม่มีการดูแลเอาใจใส่ น้ำมากมันก็ตายต้องใส่น้ำให้มันพอดี ๆ คือมัชฌิมาปติทา การปฏิบัติของเรา การทำความเพียรของเราก็เหมือนกัน พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ใน ปัญจะกะนิบาตสุตตันติปิฏก คือ อุปกรณ์ที่เราจะทำความเพียรนั้นมีอยู่ 5 ประการ

1.เรามีศรัทธา เมื่อเรามีศรัทธาเกิดขึ้น แล้วนำประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า ประโยชน์อย่างยอดคือพระนิพพาน คือได้พ้นจากทุกข์ ต้องอาศัยศรัทธาเป็นประการสำคัญ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ

2.อาพาธน้อย คือ เราไม่มีโรคอันใด เราควรรีบเร่งกระทำความเพียร

3.ต้องไม่โอ้อวดมีมารยา หรือแข่งกับใคร คือ เรารักษาศีลเจริญภาวนาไม่ใช่อวดคนอื่น เราต้องไม่มารยากับใคร

4.ปรารถนาความเพียร เราต้องมีความขยัน เมื่อความเพียรเราลดลงมา เราต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าของเรา มีบุญมากขนาดไหน พระองค์ยังทรงทิ้งสมบัติทั้งหลายไปอยู่ในป่า และให้นึกถึงพระนิพพานไว้ เมื่อเราย่อหย่อนความเพียร เราก็จะไม่มีวันพบกับความหลุดพ้น

5.ปัญญา คือ เมื่อเราได้ฟังธรรม แล้วคิดพิจารณาด้วยเหตุ และผลแล้วลงมือปฏิบัติธรรม ตัวภาวนามะยะปัญญาก็จะเกิดขึ้น โดยสติปัฏฐานทั้ง 4 กาย เวทนา จิต ธรรม ตัวภาวนามะยะปัญญา ก็เป็นตัวตัดความโลภ ความโกธร ความหลงที่อยู่ในจิตใจของเรา จะค่อย ๆ ตัดไป ๆ ถ้าเรามีเพียงแต่ความคิด เพียงแต่ฟัง ก็รู้เท่านั้นเอง แต่ตัวขัดเกลาไม่มี ตัวที่สำคัญที่สุดคือ การปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะทำให้ตัวภาวนามะยะปัญญาเกิดขึ้นแก่เรา.
ถีนมิทธะ การตื่นเช้าจะได้อานิสงส์มาก เพราะใช้กำลังใจมาก กำลังความเพียรมาก ถ้าเราไม่ใช่กำลังใจและกำลังความเพียร แล้วเราก็จะถูก ถีนมิทธะ เข้าครอบงำอย่างมาก

ถีนมิทธะ ความท้อถอย ความง่วง คือ มารอย่างหนึ่งเรียกว่า สัตว์ทั้งหลายถูขังอยู่ ถูกผูกมัดอยู่ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นหนี้อยู่ เป็นโรคอยู่ เป็นทาสอยู่ ยังเป็นผู้ที่หลงทางอยู่ คนเป็นหนี้คือ คนที่ราคะความกำหนัดตลอดชาติ ถ้าไม่มีการปฏิบัติกายานุปัสสนาตัวราคะนี้จะกล้าขึ้น ถ้าปฏิบัติกายานุปัสสนาตัวราคะนี้ จะเบาบางลงน้อยลง และแก้เรื่องกาม ถ้าปฏิบัติทุกวันราคะจะลดลง ๆ ดังนั้นเราจะละจากการปฏิบัติไม่ได้ ประการที่สอง เป็นโรคอยู่เสมอ จะเป็นโรคในชาตินี้และชาติหน้า โรคนี้คือ เจ็บหัว ปวดหัว ไข้หวัด โรคปัจจุบัน แต่โรคพวกนี้จะหายในชาตินี้ มีโรคอีกอย่างหนึ่งคือ โรคภายใน คือความโกธร เป็นโรคร้ายแรงอยู่ในขันธสันดานของมนุษย์ ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมทุกๆวัน จะช่วยรักษาโรคความโกธรนี่ ความโกธรจะลดลง

คนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำตลอดชาติ ตลอดภพ ก็คือ คนที่ตกอยู่ในอำนาจของ ถีนมิทธะ จะเกิดความท้อถอย จะทำการงานไม่สำเร็จ ทั้งทางโลก ทางธรรม พระพุทธเจ้าเปรียบว่าเหมือนถูกขังในเรือนจำตลอด
คนที่นอนไม่หลับโลกนี้มีอยู่ 5 จำพวก

1.บุรุษนึกถึงสตรี
2.สตรีนึกถึงบุรุษ
3.คนที่จะขโมยของ
4.พระราชาที่คิดราชกิจ
5.ภิกษุผู้ทำความเพียรเพื่อกำจัดสัญโญชน์

คนที่เป็นทาสก็ คือ คนที่คิดมาก คิดตามอารมณ์ เป็นทาสของอารมณ์คิดเรื่องโลกีย์ จงพยายามกำหนดอารมณ์ คนที่หลงทาง คือ คนที่ไม่รู้ที่จะไปทิศใดได้แก่ คนที่มีความสงสัย สงสัยในธาตุ ในอายตนะในอดีต ในอนาคต ในบุญ ในบาป เหมือนคนหลงป่าไม้รู้ทางที่จะไป ฉะนั้นขออย่าให้ท่านสงสัย เพราะสติปัฏฐาน 4 นี้ พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายได้เดินไปแล้ว สู่มรรค ผล นิพพาน

ความเสื่อมของนักปฏิบัติ

วันนี้จะกล่าวถึงความเสื่อมของพระเสขะบุคคล พระเสขะบุคคล หมายความว่า ผู้ที่ยังต้องศึกษาต่อ่ไป เพื่อความพ้นทุกข์ อเสขะบุคคลหมายถึง ผู้ถึงฝั่งแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว
ความเสื่อม ของพระเสขะบุคล คือ ความเสื่อมของนักปฏิบัติมีอยู่
1. บุคคลที่มีความเพลิดเพลินในการงาน นักปฏิบัติที่เพลิดเพลินในการงาน ไม่ปฏิบัติ คือ ทำงานเพลินไปกับงาน ไม่ยอมกำหนดร่วมไปกับการทำงาน
2. บุคคลที่ทำงานมีความเฮฮา มีความวุ่นวายไม่สงบ
3. บุคคลที่นอนมาก และนอนไม่เป็นเวลา
4. บุคคลที่คลุกคลีกับหมู่คณะ และชอบคุยกันมาก
5. บุคคลที่ ยะถาปัจจะตัง จิตตัง นะปัจจะเวกขะติ ยะถาวิมุตตังนะปัจจะเวกขะติ คือไม่มีสติมากำหนดอารมณ์ที่เกิดขึ้น และไม่มีสติกำหนดอารมณ์ดับไป เช่นเมื่อโทสะเกิดขึ้น ก็ไม่กำหนดโทสะที่เกิดขึ้นมาและเมื่อโทสะดับไปก็ไม่ได้กำหนด ก็ไม่รู้อารมณ์เท่าทันอารมณ์นั้น

ทั้ง 5 อย่างนี้เป็นความเสื่อมของนักปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติทั้งหลายพยายามอย่าให้ความเสื่อมทั้ง 5 นี้ เกิดขึ้นบ่อยมากนัก หรือพยายามอย่าให้เกิดขึ้นเลย อุปมาเหมือนเราเขียนหนังสือลงสมุด ถ้าเขียนผิดบ่อย ๆ แล้วเราลบ สมุดที่เราเขียนนั้นก็จะดูสกปรก ถึงแม้ลบที่เขียนผิดออกไปแต่มันก็ยังดูสกปรก แต่ถ้าเรามีสติเขียนโดยไม่ให้มันผิดเลย สมุดที่เราเขียนนั้นก็จะดูสะอาดไม่มีรอยลบรอยเขียนผิด


ประโยชน์ในการเวียนเทียน การเวียนเทียน 3 รอบ การเวียนเราจะเวียนขวา ก็คือการเอาสิ่งที่เราเคารพไว้ด้านขวา เรียกว่าความเคารพต่อพระธาตุเจ้า การประทักษิณเราจะต้องตั้งปณิธาน การที่เขาให้เวียน 3 รอบนั้น เพื่อให้รู้สังสารวัฏเรานี้ มันมีเวียนว่ายตายเกิด เหมือนวงล้อมันหมุนไป แล้วมันกลับมาที่เดิมหาเบื้องต้น และเบื้องปลายไม่ได้ สังสารวัฏของเรานี้ไม่มีเบื้องต้น และเบื้องปลาย ถ้าตัวเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว วิญญาณของคนเรานี้ จะไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงให้มีการเวียนประทักษิณ การเวียนประทักษิณไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม้แต่เทวดา พระอินทร์ก็ยังประทักษิณที่ พระเกษแก้วจุฬามณีทุกวันศีล ไม่ใช่พระอินทร์เท่านั้น หน่อโพธิสัตว์ชื่อศรีอริยเมตตรัยก็มาวันศีล หมู่มนุษย์หมู่ศรัทธา เราบางคนไม่รู้จักคุณค่าของพระธาตุมาเวียนเฉพาะ วันวิสาขะบูชา วันอาสาฬหบูชา วันศีลไม่ยอมมาเวียนกัน ดูอย่างพระอินทร์ พระโพธิสัตว์พระศรีอริยเมตตรัยไปทุกวันศีล ที่ไปนี้เพราะท่านเห็นคุณค่าของสิ่งที่ประเสริฐ มนุษย์บางคนนี้ ไม่รู้จักสิ่งที่มีคุณค่า ฉะนั้นก็ไม่รู้จักพูดยังไง เพราะเขาไม่มีเจตนาไปประทักษิณ แต่หมู่ศรัทธานี้ ให้เอาพระอินทร์ พระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง ให้ไปประทักษิณทุกวันศีล 1.เพื่อการเคารพบูชา 2.เมื่อวนสามรอบจะได้นึกถึงสังสารวัฏนี้เพื่อจะได้มีใจปฏิบัติ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้

สังสารวัฏนี้ประกอบด้วย กรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ คือ อะไรทำให้วนเวียนคือกรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ คือ ผลของกรรมที่ทำให้วนเวียน กิเลสวัฏฏ์ คือ กิเลสทำให้เรามาวนเวียน

ที่นี้เราจะออกจากสังสารวัฏนี้ เราจะออกทางไหน คือ ออกทางกิเลสให้กำหนดทางกิเลส เห็นหนอ ได้ยินหนอ ได้กลิ่น ได้รสหนอ ถูกหนอ อันนี้คือตัดเลย เมื่อมีความโกธรเกิดขึ้นมีสติกำหนด เมื่อมีความโลภเกิดขึ้นมีสติกำหนด เมื่อมีความหลงเกิดขึ้นให้มีสติกำหนด ให้ตัดอย่างนี้ เพื่อที่จะเข้าถึงความพ้นทุกข์


ธรรมที่ทำให้หลุดพ้นมี 5 ประการ วันนี้จะกล่าวถึงธรรมที่ทำให้หลุดพ้นมี 5 ประการ
1.นะ กัมมารามตา ไม่มีความเพลิดเพลินในการงาน
2.นะ ภัสสรามตา ไม่ยินดีในการคุย
3.นะ นิททารามตา ไม่ยินดีในการนอน
4.นะ สังคณิการามตา ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
5.โยคะกัมมารามตา ให้ประกอบความเพียร ยินดีในการทำความเพียร
มีธรรม 5 ประการนี้ย่อมถึงวิมุตติ สำคัญที่สุดคือการประกอบความเพียร ในการเดินจงกรม นั่งสมาธิ คุณธรรมภายในใจ จะงอกงามมากขึ้นจนถึงความหลุดพ้น เมื่อเราได้ประกอบความเพียร ปฏิบัติธรรมอยู่เสมอสิ่งสมมุติจะต้องหลุดออก จะเหลือเพียงรูปกับนาม รูปกับนามนี้จะอยู่ในพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุดท้ายแล้วทุกคน ก็จะทิ้งรูป ทิ้งนามไม่ยึดถือว่าเป้ฯตัวเรา ให้สักแต่ว่าเท่านั้น ให้มีสติและสัมปชัญญะ แล้วรู้ว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เวทนานี้ไม่ใช่ตัวตนเราเขา จิตนี้ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ธรรมนี้ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ให้สลัดออกไม่ยึดไม่ถือ นั่นแหละจะถึงซึ่งความหลุดพ้น ถึงซึ่งสุขอันไพบูลย์ ก็คือ มรรคผล นิพพาน

ความไม่ประมาท
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เทศนาธรรมเกี่ยวกับหัวใจพุทธศาสนาว่า อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ แปลว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความไม่ประมาทนั้นมีอยู่ 4 ประการ
1.ไม่อาฆาตต่อผู้ใด ถึงเขาจะเบียดเบียนเรายังไงก็ตาม หรือว่าเราจะไม่แก้แค้นใครเอาโทษใคร เป็นผู้มีสติ
2.มีสติทุกเมื่อไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน หรือทำอะไรต่างๆ นี่แหละได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
3.มีสมาธิอยู่ภายใน คือ เมื่ออารมณ์อะไรเกิดก็กำหนด เมื่อมีอารมณ์อันหนึ่งอันใดหายไปก็กำหนด เป็นผู้ไม่ประมาท
4.บรรเทาความอยาก คือ โลภะ ตัวโลภะนี้คือความอยากไม่สิ้นสุดดังพุทะภาษิตที่ว่า “นัตถิ ตัณหาสะมา นะที” แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มีแม่น้ำยังมีแห้ง แต่โลภะในจิตใจคน เกือบจะไม่เหือดแห้งเลย ถ้าได้ปฏิบัติธรรมแล้วโลภะ จะลดลงและจะหมดไป
ผู้ใดตั้งอยู่ในความไม่ประมาททั้ง 4 ประการนี้ ได้ชื่อว่าทำตามคำสอนของพุทธเจ้า
พระภิกษุที่ไม่ประมาท 5 ประการ

1.สำรวมในศีล คือ เราต้องดูศีล 227 ข้อ มีอะไรบ้าง คือ ปากิโมกข์สังวร สำหรับพระภิกษุบวชใหม่ ควรมีนวโกวาทเพื่อดูจะได้รู้ว่ามีข้อใดบ้าง จะได้ทำตัวอยู่ในศีล

2.สำรวมในอินทรีย์ คือ เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้คิดก็ให้กำหนด สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมที่พุทธเจ้าตรัสไว้

3.รู้จักประมาณในการกินอาหาร คือ กินพอประมาณ อย่ากินมากจนขี้เกียจ อย่ากินน้อยไปจนหิวจงกินพอประมาณ เพื่อกระทำความเพียร และอย่ากินของแสลงจนประกอบความเพียรไม่ได้

4.ประกอบความเพียร คือ ไม่เห็นแก่นอนมากเกินไปจนเกิดความเกียจคร้าน ถ้าภิกษุใดกิน ๆ นอนๆ ไม่ประกอบความเพียร ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุที่ประมาท

5.ภาวะยัง กุสะลัง ธัมมัง คือ อบรมกุศลธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้นสิ่งใดที่เป็นกุศลธรรม กุศลธรรมมีสติปัฏฐานทั้ง 4 เป็นเหตุ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่มีสติปัฏฐานทั้ง 4 กำกับนั่นแหละเป็นกุศลธรรม
ความไม่แน่นอน

เราจะต้องรู้จักคุณค่าของพระธรรมของพุทธเจ้า ที่พระองค์ตรัสรู้ คือ สติปัฏฐานทั้ง 4 พระภิกษุเราควรปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน 4 เพื่อที่จะได้รู้แจ้งใน 3 อย่าง คือ พระพุทธเจ้าให้รู้แจ้งว่าในตัวของเรานี้ ถึงโลกของเราทั้งหมดมันไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลง ในตัวของเรานี้ ถึงโลกของเราทั้งหมดมันเป็นทุกข์ และในตัวของเรานี้ ถึงโลกของเราทั้งหมดไม่อยู่ในอำนาจของเรา บังคับในไม่ได้ มันใช่ของๆ เรา เราบวชเพื่อรู้สิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่รู้สิ่งเหล่านี้ ก็ยังไม่ถือว่าได้รู้ธรรมของพระพุทธเจ้า.

หลัก 4 อย่างสำหรับเดินตามรอยพระอริยะเจ้า

การที่เรามาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นการสร้าง เนกขัมบารมี คือออกจากบ้านมาจำศีล บำเพ็ญภาวนา เป็นการสร้างบารมีอันหนึ่ง ซึ่งเรามาเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า และอริยะเจ้าทั้งหลาย เราจะต้องมีหลักอยู่ 4 อย่าง

1.อุปนิสสะยะ คือ มีอาจารย์คอยแนะนำ

2.อารักขะ คือ การรักษาอินทรีย์ การได้ยิน ได้เห็น ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้คิด ต้องมีสติกำหนดตลอดเวลา เพื่อรักษาอารมณ์

3.อุปะนิพัทธะ คือ ผูกจิตในสติปัฏฐานทั้ง 4 เอาสติไปกำหนดที่กาย เวทนา จิต ธรรม อุปมาเหมือนลิงไปจับต้นตาล 4 ต้น นายพรานยิงต้นที่ 1 ลิงไปต้นที่ 2 ยิงต้นที่ 2 ลิงไปต้นที่ 3 พอยิงต้นที่ 3 ลิงไปต้นที่ 4 พอยิงต้นที่ 4 ลิงไปต้นที่ 1 ซึ่งเหมือนจิต ไปๆ มา ๆ ดังนั้นถ้ายิงต้นใดต้นหนึ่งเลือกมาหนึ่งต้นแล้วยิงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวพอลิงมันมาก็โดนยิงเอง ถ้าเราเอาสติไปตั้งที่เวทนาอยู่ตลอด สบาย ไม่สบาย เฉยๆ กำหนดอยู่ตลอดก็สามารถเข้าถึงธรรมได้

4.ปลูกฉันทะความพอใจในธรรม ถ้ากำหนดด้วยความรักความเกียจเปรียบเทียบกับเอาข้าวกล้าไปปลูกที่หิน ข้าวกล้าก็จะไม่มีทางงอกงามขึ้นมาได้.
ความต่าง
ขอทำความเข้าใจให้แก่นักปฏิบัติ ในเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนา กับการเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 เหมือนกันหรือต่างกัน โดยเนื้อความไม่ต่างกัน ต่างกันตรงที่เขียนไม่เหมือนกัน

การเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 เรียกว่าเจริญสติปัฏฐานสนั่นเอง การเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 มีขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ ขันธ์มีอะไรบ้าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราเจริญกายานุปัสสนาเอากายเป็นอารมณ์ กำหนดยุบหนอ พองหนอ เราเจริญเวทนานุปัสสนากำหนด ปวดหนอ เจ็บหนอ เมื่อยหนอ สุขหนอ เฉยๆหนอ นี่เราเวทนาเป็นอารมณ์ได้แก่เวทนาขันธ์นั้นเอง เราเจริญจิตตานุปัสสนา กำหนดคิดหนอๆ เราได้เอาวิญญาณเป็นอารมณ์ เราเจริญธัมมานุปัสสนา นิวรณ์ 5 ชอบ ไม่ชอบ ง่วง ฟุ้ง สงสัย เรียกได้ว่าเราเอาสัญญากับสังขารมาเป็นอารมณ์ เพราะสัญญาเป็นเจตสิกสังขารหมายเอาเจตสิกทั้งหมดเว้นโลภะ
การที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราเจริญสติปัฏฐาน 4 ก็เรียกได้ว่าเราเจริญวิปัสสนามีสภาวะเสมอกัน รูปในสติปัฏฐาน 4 กับรูปในวิปัสสนาต่างกันที่ตัวอักษรเท่านั้นเองสภาวะนั้นเหมือนกัน เวทนาในสติปัฏฐานกับเวทนาในขันธ์ 5 เหมือนกัน เราเจริญเวทนาในสติปัฏฐาน 4 ก็ได้ชื่อว่าเราเจริญวิปัสสนาในขันธ์ 5 นั่นเองอันนี้เป็นตัวอย่าง ดังนั้นไม่ต้องสงสัย.
คุณธรรมที่ทำให้เจริญ
เวลาปฏิบัติ คุณธรรมที่จะเจริญหรือจะมีกำลังจะมีหลัก 3 อย่าง “อาตาปี สัมปะชาโน สติมา”

1.อาตาปี คือ ทำให้เป็นปัจจุบันธรรม เวลาย่างขวาไปนี้ คือ จิตของเรากับเท้าให้ไปพร้อมกัน ห้ามเอาจิตไปก่อนและค่อยก้าว หรือเท้าก้าวไปก่อนแล้วค่อยเอาจิตตามไป ถ้าจิตไม่ได้ไปพร้อมกับเท้าจะเดิน 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมงก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าจิตกับเท้าไปพร้อมกันแล้วมีอินทรีย์แก่กล้าก็จะได้บรรลุธรรม เช่น พระองค์หนึ่งในพุทธกาล เดินจงกรมสามก้าวเท่านั้นก็ได้บรรลุธรรม เช่น พระองค์หนึ่งในพุทธกาล เดินจงกรมสามก้าวเท่านั้นก็ได้บรรลุธรรม เพราะการเดินของท่านเป็นปัจจุบันธรรม โพธิปักขิยธรรม เช่น มรรคมีองค์ 8 ศีล สมาธิ ปัญญา ก็อยู่ที่ปัจจุบันธรรมนี่แหละ

2.สัมปะชาโน คือ ความรู้สึกตัว

3.สติมา เมื่อรู้สึกตัวว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ สติก็จะมากำหนดทันทีกำหนดเพื่อให้ได้ปัจจุบันธรรม แล้วจะเกิด “วิเนยยะ โลเก อวิชชาโทมะ นัสสัง” คือ เอาความชั่วออกจากตน ไม่ควรเอาการล้างบาปลัทธิอื่นมาเป็นตัวอย่าง บางลัทธิเชื่อว่าจะล้างบาปได้ต้องไปอาบน้ำคงคา ถ้าเป็นอย่างนี้พวกปูพวกปลาที่อยู่ในน้ำคงไม่มีบาปติดตัว แล้วเราไม่ควรจะเอาลัทธิอื่นเป้ฯตัวอย่าง เอาพระพุทธเจ้าเป็นอย่าง การเอาสติมากำหนดนั้นจะนำเอาความชั่วออกจากตนได้ อวิชชา คือ ตัวโลภต้องเอาออกไป เมื่อโลภะเกิดให้กำหนดให้ได้ปัจจุบัน โทมนัสสัง คือ โกธรต้องเอาออกไปเมื่อโกธรเกิดให้กำหนดให้ได้ปัจจุบันธรรม ตัวโมหะทำไมไม่มีเพราะเมื่อสติอยู่ตัวโมหะจะไม่มีเปรียบเหมือนมีแสงสว่างอยู่แล้วความมืดก็จะไม่มี.

สิ่งที่หาได้ยาก

สมัยหนึ่ง ในพุทธกาลมีนาคที่เสื่อมใส ในพระพุทธศาสนามากได้แปลงกายแล้วมาบวช พอเวลานอนหลับได้กลายร่างเป็นนาค เมื่อเพื่อนพระภิกษุเห็นจึงเกิดความกลัว จึงได้ไปกราบทูลพระพุทธจ้า พระพุทธเจ้าได้เรียกมาสอบถามพอรู้ว่าเป็นพญานาค ก็ขอให้สึกไปก่อน เพราะนาคบรรลุธรรมไม่ได้ ดังนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาว่า
“กิจโฉ มนุสสะปฏิลาโภ กิจฉัง มัจจานะ ชีวิตัง
กิจจัง สัทธัมมัสสวนัง กิจโฉ พุทธานุมุปปาโท
แปลว่า การได้เป็นมนุษย์นั้นยาก การได้มีชีวิตอยู่วันหนึ่งเป็นของหาได้ยาก การได้ฟังธรรม การปฏิบัติ ฟังเรื่องการหลุดพ้นเป็นของหาได้ยาก การที่จะมีพระพุทธเจ้าจะลงมาบังเกิดนั้นหาได้ยาก
พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสว่า สติ โลกัสะมิง ชาคะโร สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก บุคคลที่จะตื่นหาได้ยากในโลก การตื่นมี 2 อย่างคือ

1.ตื่นจากหลับ

2.ตื่นจากอวิชชา
ท่านทั้งหลายที่เข้ากรรมฐานนี้เป็นผู้ตื่น และเป็นผู้ที่หาได้ยากเมื่อเราเกิดมาแล้วอย่าให้เสียเวลาควรจะรีบแสวงหาธรรมะ รีบปฏิบัติธรรมทางที่มนุษย์จะไปนั้นมีอยู่ 4 ทาง

1.ไปนรกอบาย 4 เหตุที่จะไปนรกนั้นง่ายนิดเดียว คือ ผิดศีล 5

2.ไปมนุษย์ เหตุ คือ รักษาศีล 5

3.ไปสวรรค์ คือ มีการเจริญวิปัสสนาเจริญสติปัฏฐาน 4 เมื่อได้สัมผัสสติปัฏฐาน 4 นี้แล้ว แม้ยังไม่ได้ มรรค ผล นิพพานก็สามารถไปสวรรค์ได้

4.ไปพรหม เหตุคือ ได้ทำสมถะได้ฌาน หากว่าไม่ทำวิปัสสนาต่อถึงเวลาฌานจะเสื่อมแล้วก็ไปอบายภูมิ 4 ได้ เหมือนลูกสุกรตัวหนึ่งอยู่ใต้นา ตอนที่พระพุทธองค์กับพระอานนท์ได้บิณฑบาตได้เห็นลูกสุกรตัวนั้น พระพุทธองค์ทรงยิ้มแสงพระเขี้ยวแก้วจึงประกายออกมา พระอานนท์เห็นก็แปลกใจพอกลับไปถึงพระเชตวัน วางบาตรแล้วพระอานนท์ก็ไปกราบทูลถาม “พระพุทธองค์ทรงยิ้มด้วยเหตุใดพระเจ้าข้า”พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า “ลูกสุกรตัวนั้น ชาติก่อนเป็นพรหม หมดบุญก็มาเกิดเป็นสุกร” อบายภูมิ 4 ยังปิดไม่ได้ถ้ายังไม่มีมรรคจิตเกิดขึ้นมา มรรคจิตจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมี

การปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐานทั้ง
พระพุทธองค์ทรงบอกทางว่าสติปัฏฐานทั้ง 4 เป็นทางที่ปลอดภัยพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ใน สติปักฐานสูตร ฑีฆนิกายมาหาวรรค ว่า
“เยเนว ยันติ นิพพานนัง พุทธา เตสัญจะ สาวะกา
เอกายะเนนะ มัคเคนะ สติปัฏฐานะสัญญินา”
แปลว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ และอรหันตสาวกทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้วสู่นิพพานด้วยเส้นทางสายใด เส้นทางสายนั้น คือ สติปัฏฐาน ทั้ง 4 ทางสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้มีคุณลักษณะ 5 ประการ
1.เป็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแต่เพียงองค์เดียว
2.เป็นทางที่มีในพระศาสนานี้แต่เพียงแห่งเดียว
3.เป็นทางที่ต้องไปคนเดียว คือ ต้องไปด้วยตนเองใครไปแทนก็ไม่ได้
4.เป็นทางตรงไม่ใช่ทาง 2 แพร่ง
5.เป็นทางไปสู่จุดหมายแห่งเดียว คือ พระนิพพาน
การเรียนสติปัฏฐาน 4 นี้มี 2 อย่าง การเรียนโดยอันดับ และการเรียนโดยสันโดษ การเรียนโดยอันดับ คือเรียน ขันธ์ 5 อายตนะ 12 นักธรรมตรี,โท,เอก เปรียญ 9 เป็นต้น การเรียนโดยสันโดษ มีการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 เป็นต้น.

อนุภาพแห่งการกำหนด

จะได้กล่าวถึงอานุภาพของอิริยาบถ และอินทรีย์ อานุภาพของอิริยาบถนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน พระพุทธองค์เห็นความสำคัญเห็นอย่างไร ทำให้บุคคลได้ถึงพระอรหันต์หลุดพ้นไป เพราะอิริยาบถ 4 นี้ การยืน การเดิน การนั่ง การนอนนี้ เวลาเรานอนให้ตั้งสติว่าเรากำลังจะนอน เวลานอนลงไปให้มีการกำหนดด้วย บางคนก็ถึงธรรมะได้ มรรค ผล ดังเช่นพระอานนท์เถระ

ตอนที่ทำ สังคายนาครั้งแรก พระอานนท์เถระเป็นเสขะบุคคล บุคคลที่ยังต้องศึกษาต่อไปอีกอเสกขะบุคคลคือผู้ที่ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป ได้แก่พระอรหันต์ พระมหากัสสปะจะทำสังคายนาได้เชิญพระอรหันต์ขีณาสพ 500 รูป มาทำสังคายนาแต่จริงๆแล้วได้เชิญพระอรหันต์มา 499 รูป เหลือที่สุดท้ายให้กับพระอานนท์ เพราะพระอานนท์เป็นผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้ามาตลอด และเป็นผู้ที่มีความจำเป็นเลิศ ดังนั้นพระอานนท์ต้องเร่งเดินจงกรมนั่งสมาธิเพื่อตัวเองจะได้เป็นอรหันต์ เพื่อที่จะรวมเข้าสังคายนา ขณะที่กำลังทำความเพียรอยู่นั้นก็ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เลยคิดจะนอนพักสักครู่ขณะเอนตัวนอนศีรษะยังไม่ถึงหมอนก็ได้บรรลุเป็นอรหันต์ ฉะนั้นอย่าประมาทในอิริยาบถทั้ง 4 ว่าไม่ต้องกำหนดก็ได้ ขอให้นักปฏิบัติอย่าประมาท คือ ต้องกำหนด ยืนก็กำหนด เดินก็กำหนด นั่งก็กำหนด นอนก็กำหนด
อานุภาพแห่งอินทรีย์ 5 มีอุบาสกคนหนึ่ง ชื่อ พาหิยะอุบาสก พาหิยะอุบาสกนี้อยากฟังธรรมได้ไปพบกับพระพุทธเจ้าตอนพระองค์ได้บิณฑบาต และพระพุทธเจ้าก็บอกไม่ถึงเวลาเทศนาธรรม อุบาสกคนนี้ก็ขอร้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงใช้ฌานดูก็รู้ ว่าอุบาสกคนนี้ต้องตายในวันนี้ ถ้าเขาไม่ได้ฟังธรรมในวันนี้เขาจะต้องเสียประโยชน์อันยิ่งใหญ่พระองค์ก็ทรงตรัสว่า เธอได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้คิด เธอต้องมีสติมากำหนด เมื่ออุบาสกคนนั้นได้ยินจิตของเขาดิ่งลงไปตามคำสอนของพระพุธเจ้าจนได้บรรลุธรรม
มรรคมีองค์ 8 อยู่ที่ไหน

ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือ มรรคมีองค์ 8 การเดินจงกรม ศีล สมาธิปัญญาอยู่ที่ไหน การเดินขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนออย่างระมัดระวังเป็นศีล การเดินโดยเอาจิตไปตั้งมั่นที่เท้าเป็น สมาธิ การเดินโดยเอาจิตไปรู้อยู่ที่เท้าเป็น ปัญญา แม้โยคีผู้ปฏิบัติจะไม่มรรคมีองค์ 8 ประกอบด้วยอะไรบ้างแต่เดินจงกรมโดยเอาจิตไปประคองที่เท้า เอาจิตไปตั้งมั่นอยู่ที่เท้า เอาจิตไปรู้อยู่ที่เท้าในเวลาเดิน ก็เท่าหับมีศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว มีมรรคมีองค์ 8 เกิดขึ้นแล้ว การกำหนดพองหนอ ยุบหนอนี่เป็นอานาปานสติแล้วอานาปานสตินี้มีอยู่ 2 แบ่งสมถะ และวิปัสสนา แบ่งตรงไป การนับเลข 1 2 3 4 5 เป็นขณิก นับและติดตามลม ลมเข้า ลมออก ลมยาว ลมสั้นอันนี้เป็น อนุพันธะนามัย สัมพันธะนามัย เวลาลมเข้าพอง เวลาลมออกยุบ ให้จักว่าตั้งอยู่ที่พองยุบมีรูปกับนามเท่านั้น ดูลมบางทีก็แรงบางทีช้าบางทีก็เข้าบางทีก็หายไป พอดูแล้วมันจะมีตัวอนิจจัง ตัวทุกขัง ตัวอนัตตา อารมณ์วิปัสสนาจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ความเปลี่ยนแปลงของลมความเปลี่ยนแปลงของร่างกายเดี๋ยวมันเจ็บ เดี๋ยวมันปวด เมื่อยกำหนดหายบางไม่หายบาง ลมหายใจบางที่ก็เร็ว บางที่ก็ช้านี้ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้แหละที่พระพุทธองค์บอกจะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ก็ต้องปฏิบัติ ขอให้ได้ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ และยุบหนอกำหนดให้ได้ปัจจุบันธรรม โพธิปักขิยธรรม 37 ก็จะมีอยู่ที่นั้น สติปัฏฐาน 4 สัมมัปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรค 8
สิ่งที่ทำให้ญาณขึ้นช้าและวิธีแก้

คำว่าโยคีมาจากฤาษีของอินเดีย โยคีแปลตามบาลีแล้วถือว่าเป็นผู้ประกอบความเพียร สิ่งที่จะทำให้ญาณของโยคีขึ้นช้า มี 7 ประการดังนี้

1.กัมมารามตา ยินดีในการงาน
2.นิททารามตา ยินดีในการหลับนอน
3.ภัสสารามตา ยินดีในการคุย
4.สังคณิการามตา ยินดีในสังคม
5.อคุตตาละวตา ไม่สำรวม
6.น โภชเน มัตตัญญุตา ยินดีในการบริโภค
7.ยะถาปัจจะตัง จิตตัง นะปัจจะเวกขะติ ยะถาวิมุตตัง นะปัจจะเวกขะติ อารมณ์อันใดที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่กำหนดอารมณ์นั้น
อันนี้มาจาก ปฏิสัมภิทามรรค ท่านได้กล่าวถือบุคคลผู้มี 7 ประการนี้ญาณต่าง ๆจะขึ้นช้า ขอแนะนำ คือ

1.กัมมารามตา คือ ควรจะวางการงานก่อนไม่ใช่สละ บางคนถามว่าไม่ทำความสะอาดห้องเลยหรือ ตอบไม่ใช้การทำสะอาดให้ทำแต่อย่ายินดีในการทำ ทำอย่างมีสติ
2.นิททรามตา คือ อย่าหลับมากเกินไปญาณจะไม่ขึ้นเลย
3.ภัสสารามตา คือ ไม่ควรคุยกันถ้าคุยกันมากผลมันคือ เวลานั่งสมาธิอารมณ์ที่คุยกันมันจะเข้ามาแล้ว จะทำให้สมาธิไม่ค่อยดี แม้แต่เวลากินข้าวก็พยายามอย่าคุย ถ้าจะให้ดีกินข้าวก็ควรกำหนด
4.สังคณิการามตา คือ ไม่ควรไปที่อื่นๆนอกจากให้ห้องปฏิบัติเพราะจะทำให้อารมณ์แปรปรวน
5.อคุตาละวะตา คือ ควรจะสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่สำรวมมันจะเป็นที่ตั้งของ โลภะ โทสะ โมหะ
6.น โภชเน มัตตัญญุตา คือ รู้จักประมาณในการกินอาหาร และให้ดูว่าของที่กินนั้นแสลงต่อเราหรือไม่
7.ยะถาปัจจะตัง จิตตัง นะปัจจะเวกขะติ ยะถาวิมุตตัง นะปัจจะเวกขะติ คือ อารมณ์ใดที่เกิดขึ้นมาเราต้องมีสติกำหนดให้รู้เท่าทัน และอารมณ์ใดที่ดับไปแล้ว เราต้องมีสติกำหนดให้รู้เท่าทัน ให้รู้เท่าทันว่าเรามีราคะ ให้รู้เท่าทันว่าเราหลุดจากราคะ ให้รู้เท่าทันว่าเรามีโมหะ ให้รู้เท่าทันว่าเรามีโมหะ ให้รู้เท่าทันว่าเราหลุดจากโมหะ ให้รู้เท่าทันว่าเรามีโทสะ ให้รู้เท่าทันว่าเราหลุดจากโทสะ
ถ้าโยคีผู้ใดปฏิบัติตามคำแนะนำนี้แล้ว จะทำให้ญาณของท่านทั้งหลายเจริญขึ้น.

ปลิโพธิ
ตามปกติเราจะปลูกข้าว ปลูกพริก ปลูกมะเขือ เราต้องพรวนดิน ให้ดีก่อนของปลูกของเราจะมีความงดงามข้อนี้ฉันใด เราจะหาสมาชิกเราต้องเปลื้องความ ปลิโพธิ อันจะทำให้สมาธิของเราเสีย ปลิโพธิ คือความเป็นห่วงความข้องในอารมณ์

1.เรื่องที่อยู่ อย่าเป็นห่วงเรื่องที่อยู่ที่กิน
2.ตระกูล อย่าเป็นห่วงเรื่องตระกูล
3.ลาภ อย่าเป็นห่วงเรื่องรายได้ต่าง ๆ
4.พยาธิ อย่าเป็นห่วงเรื่องความเป็นโรค
5.การงาน อย่าห่วงเรื่องการงาน การก่อสร้าง
6.การศึกษา อย่าเป็นห่วงเรื่องการศึกษาให้ว่างไว้ก่อนให้รู้จักเวลา
7.การเดินทาง อย่าเป็นห่วงเรื่องการเดิน
8.หมู่คณะ อย่าเป็นห่วงเรื่องเพื่อนฝูง
9.ญาติ อย่างเป็นห่วงญาติพี่ น้อง
10.ตำแหน่ง อย่าเป็นห่วงเรื่องตำแหน่งและอำนาจ ถ้าห่วงมากให้พิจารณามรณะนุสิต

ตัด ปลิโพธิ และเวลาปฏิบัติห้ามหย่อนยานเกินไป ห้ามเคร่งเกินไป ให้เดินสายกลางพอดีๆ คือ ปฏิบัติแล้วให้ได้ปัจจุบันธรรม นี้เรียกมัชฌิมาปฏิปทา ก็คือเวลาเราปฏิบัติกายกับใจพร้อมกัน เวลาเดินเช่นขวาย่างหนอให้กำหนดไปพร้อมกับย่างเท้า

ธรรมที่ทำให้บรรลุเร็ว

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ก็ได้เทศนาสอนหมู่ภิกษุทั้งหลายตามพระบาลีในพระไตรปิฏกมีอยู่ว่า “อิเมหิ ฉะหิภิกขะเว ธัมเมหิ สนันนาคะโต นะ จิรัสเสวะ มะหันตัง เวปุลลัง ปาปุณาติ ธัมเมสุ” แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ธรรม 6 ประการอันภิกษุทั้งหลายได้ปฏิบัติแล้วย่อมถึงความไพบูลย์อันยิ่งใหญ่ในธรรมอย่างรวดเร็ว

1.อาโลกะพาหุโล มากไปด้วยแสงสว่าง คือ ปัญญาคือการศึกษา

2.โยคะพะหุโล มากไปด้วยความเพียร ให้หมั่นปฏิบัติอย่าเกียจคร้าน คือ อย่าคุยกันมากอย่าทำการงานต่างๆ โดยไม่มีการการกำหนด อย่าสังคมกันมาก อย่ากินมาก จงเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จงมีฉันทะในการปฏิบัติ จงกำหนดอารมณ์ที่เกิดขึ้น และอารมณ์ที่หายไป สิ่งเหล่านี้จะทำให้บรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว

3.ปีติพะหุโล คือ มากไปด้วยปีติ ความอิ่มใจ ความเบิกบานใจต่อการศึกษาต่อการปฏิบัติ

4.อะสันตุฏฐีพะหุโล คือไม่อิ่ม ไม่พอในการทำความดี เช่น เณรบางคนท่องปาฏิโมกข์ได้ บางคนควบประโยค 1 – 2

5.อนิหิตะทุโล ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย คือ ยินดีในกุศลทั้งหลายอันใด เป็นกุศลทำทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

6.อุตตะลินจะปัตตาเลติ เป็นผู้ไม่ถอย ก้าวไปเรื่องในการทำความดีในการศึกษา ในการปฏิบัติ ก้าวไปไม่ถอยหลังเพื่อจะให้ถึงฝั่งจะเป็นผู้บรรลุธรรมเร็ว
ผู้ประกอบด้วยธรรม 6 ประการนี้จะถึงซึ่งความสำเร็จ

นินทา
ครั้งหนึ่งพระองค์ตรัสไว้ว่า นัตถิ โลเก อนินทิโต คนไม่เคยถูกนินทาไม่มีในโลก อันนี้เป็นโลกธรรม 8 มี ได้ลาภ ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ เป็นธรรมดาของโลก ให้อโหสิกรรมซึ่งกันและกันเสีย อย่าไปถือ ที่ล่วงแล้วก็ให้แล้วไป อนาคตอย่าไปคิดถึงขอให้ลูกทั้งหลายอโหสิ ซึ่งกันและกัน จะได้ไม่เป็นนิวรณ์ธรรม การปฏิบัติจะได้เจริญยิ่งขึ้น.


จริตในการปฏิบัติ

การปฏิบัติเราจะเอากรรมฐานอันใดมาปฏิบัติซึ่งเหมาะกับจริตของเรา ในสมถะกรรมฐานนั้นมีจริต 6 คือ ราคะจริต โทสจริต โมหะจริต พุทธิจริต สัทธาจริต วิตกจริต อย่าง ในวิปัสสนากรรมฐานมีอยู่ 4 อย่างคือ

1.ตัณหาจริต คือ มีความยากมาก มีราคะมาก โทสะมาก โมหะมา มีกิเลสมาก

2.ทิฏฐิจริต คือความเห็นไม่ลงลอย ทิฏฐิมาก มานะมาก

3.สมถยานิก คือ คนที่ทำสมถะมา เคยภาวนา พุทโธ มา เคยทำอานาปานสติ นี้เป็นสมถยานิก

4.วิปัสสนายานิก คือ บางคนเคยปฏิบัติ และบางคนยังใหม่
เราจะให้หมู่ผู้ปฏิบัตินี้ เหมือนกันไม่ได้ คือ เราจะต้องให้ตามจริตตามนิสัยของผู้ปฏิบัติอย่างเช่น

1.ตัณหาจริต อย่างแก่ คือ มีตัณหามากปัญญาน้อย ให้เจริญกายานุปัสสนา ถ้ามีปัญญาแก่กล้าให้เจริญเวทนานุปัสสนา

2.ทิฏฐิจริต ถ้ามีปัญญาน้อยให้เจริญจิตตานุปัสสนา ถ้ามีปัญญาแก่กล้าให้เจริญธัมมานุปัสสนา

3.สมถะยานิก คือเจริญสมถะมาก่อน ถ้ามีปัญญาน้อยให้เจริญกายานุปัสสนา ถ้ามีปัญญาแก่กล้าให้เจริญเวทนานุปัสสนา

4.วิปัสสนายานิก คือ เจริญวิปัสสนามาก่อน ถ้ามีปัญญาน้อยให้เจริญจิตตานุปัสสนา ถ้ามีปัญญาแก่กล้าให้เจริญธัมมานุปัสสนา

เวลาจะปฏิบัติให้สำรวจตัวอย่างก่อนว่าตัวเองเป็นอย่างไร จริตอะไร มีปัญญามาก หรือมีปัญญาน้อย ให้เลือกเจริญสติปัฏฐานที่เหมาะกับตัวเอง สติปัฏฐาน 4 เปรียบเสมือนตัวเมืองที่มี 4 ประตู ประชาชนทั้งหลายจะเข้าเมืองก็จะต้องเข้าประตูใดประตูหนึ่งใน 4 ประตูนี่ กรรมฐานทั้งมวลนี่ก็จะรวมลงสู่สติปัฏฐาน 4 นี้ และเหมือนยาครอบจักรวาลชำระกิเลสทั้งหมดเลยในตัวเรา สติปัฏฐานทั้ง 4 มีความสำคัญมาก ถ้าใครได้เจริญมากก็เป็นการต่ออายุด้วย และทำให้สัตว์ทั้งหลายพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง.

ธรรมของพระอริยะ

อริยะชน คือ ผู้ซึ่งไกลจากกิเลส อริยะประเทศ คือ ประเทศที่บุคคลผู้อาศัยนั้นเป็นผู้ไกลกิเลส อริยะธรรม คือ ผู้มีธรรมซึ่งไกลจากกิเลสมีพระบาลีว่า “อะโกธะโน อนุปะนาหี สุทธังคะโต สัมปันนทิฏฐิ ตังสัญญาอริโย อิเม ธัมมา” ธรรม 6 ประการนี้อยู่ในบุคคลใด อยู่ในประเทศใดทำให้เป็นบุคคลที่ประเสริฐเป็นสมบัติอันล้ำเลิศของคนดี 1.อะโกธะโน ไม่โกธร 2.อนุปะนาหี ไม่ผูกโกธร 3.อะมักขี ไม่ลบหลู่ 4.สุทธังคะโต ถึงความบริสุทธิ์ 5.สัมมาสัมปันนทิฏฐิ มีความเห็นชอบ 6.เมธาวี เป็นผู้มีปัญญา

ธรรมทั้ง 6 ประการนี้เป็น อิรยะธรรม ถ้าหากธรรมเหล่านี้ไปอยู่ในใจปุถุชน ใจผู้นั้นเหมือนอริยะเจ้า ถ้าหากเป็นอริยะเจ้าก็จะมีธรรม 6 ประการนี้อยู่ในใจ ถ้าประเทศใดมหาชนใดดำรงอยู่ในธรรม 6 ประการนี้ ก็จะได้ชื่อว่าอริยะประเทศที่ประเสริฐ

1.อะโกธะโน คือ ไม่โกธรเป็นผู้ที่มีเมตตาธรรมอยู่เสมอ ถ้าหากเราได้เจริญบ่อย ๆ คือเอ็นดูตัวเองและสัตว์ทั้งหลาย เอ็นดูตัวเองว่าจะได้รับความทุกข์ คือเมตตาตัวเองและเมตตาอื่นๆ กลัวคนอื่นจะได้รับความทุกข์ เหมือนใช้น้ำดับไฟ ไฟก็ดับไป

2.อนุปะนาหี คือ อย่าไปจับขี้ เขาโกรธเหมือนจับขี้ ถ้าคนใดโกรธคนนั้นก็จับขี้ ของสกปรกจะถือไว้ทำไมเราไม่เอา ดูพระสารีบุตรทำเป็นตัวอย่าง ในเมืองสาวัตถีร่ำลือกันทั้งเมืองว่า ท่านเป็นผู้มีปัญญาเป็นผู้ฉลาดไม่โกรธใครเลย ต่อมามีอันธพาลคนหนึ่งเอากำปั้นวิ่งไปต่อยกลางหลังพระสารีบุตรขณะตอนบิณฑบาตอยู่ พระสารีบุตรก็เหลียวหลังดูเห็นเป็นกำปั้นพอรู้แล้วก็วางเฉยไม่โกรธตอบไม่ว่าอะไรเลยไม่พูดอะไรซักอย่าง นี้เป็นน้ำใจของพระอริยะเจ้า ถ้าคนโกธรเราแล้ว มาว่าเรา มาตีเรา เราโกรธตอบ ถือว่าเราเป็นคนเลวกว่าคนที่มาทำเรา


3.อะมักขี คือ ให้เรานึกถึงคุณของพระเจ้า คุณของพ่อแม่ คุณครูบาอาจารย์ นึกถึงกษัตริย์อย่าไปลบหลู่ อย่าไปเนรคุณต่อผู้มีบุญคุณต่อเรา

4.สุทธังคะโต ทำตนให้ถึงความบริสุทธิ์ บริสุทธิ์เบื้องต้นคือ รักษา กาย วาจา ใจ อยู่ในศีล บริสุทธิ์ท่ามกลางคือ สมาธิ บริสุทธิ์ตอนปลาย คือ เจริญวิปัสสนา คือ ปัญญาบริสุทธิ์

5.สัมมาสัมปันนทิฏฐิ คือ มีความเห็นชอบ เห็นว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม

6.เมธาวี ผู้มีปัญญา ปริยัติปัญญา คือ การศึกษาเล่าเรียน มะหัคคะตะปัญญา คือ การเจริญสมถะได้ฌาน ได้อัปปนาสมาธิ แต่ปัญญาที่หาที่สุดไม่ได้ คือ เจริญวิปัสสนา

ธรรม 6 ประการที่ทำให้บุคคลเป็นอริยะ ถ้าไม่ใช่พระอริยะก็เยี่ยงพระอริยะ ฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายมีอริยะธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม สำหรับวัดเราเป็นวัดหลวงเราทุกคนควรฝึกจิตให้มีอริยะธรรมเป็นอริยะประเทศ และจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข..

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

พระเนมิราชเป็นผู้ทำตามอยี่ยงอย่างแห่งวงศ์ตระกูลเรียกว่า เนมิราช คือพระเจ้าเนมิราช มีตระกูล 84,000 ตระกูล ทุกคนที่เป็นพระราชาสืบเมืองมิถิลานครมีราชประเพณีอย่างหนึ่ง คือ ถึงเวลาจะต้องออกบวช พระราชาจะต้องอธิษฐานใจออกบวช เพื่อที่จะทำตามราชประเพณีพระราชาทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี เป็นที่จับใจเมื่อมาตุลีเทพบุตรนำรถไปดูนรก ไปดูสวรรค์ ดูของกินของทาน เวลาขึ้นไปต้องผ่านเขาสัตบรรณมี 7 ลูกซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าวจาตุโลกบาลทั้ง 4 ปกครองทวีปทั้ง 4 เรียกว่า จตุมหาราชิกาภูมิ
เมื่อไปถึงเทวโลก พระเนมิราชได้พบกับพระอินทร์ก็ได้สนทนากันมีคำพูดหนึ่งที่ซึ้งใจมากคือเมื่อคนมายืมของเรา เราก็ให้เขาเหมือนที่ไปยืมของๆเขา สมบัติใดที่ตัวเองไม่ได้ทำไม่ได้บำเพ็ญด้วยตนเอง จะอาศัยคนอื่นมอบให้ มันไม่ใช่ของตัวเราเอง เป็นคำพูดที่ซึ่งใจมาก การทำทานรักษาศีล ภาวนามันก็จะต้องทำด้วยตนเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ไม่เหมือนกับตัวเองทำเอง คนอื่นทำให้เหมือนยืมของคนอื่นมาถึงเวลาก็ต้องคืนแก่เจ้าของ อันนี้เป็นคติเตือนใจเราว่า “อัตตาอิ อัตตะโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน.

หัวข้อแห่งการปฏิบัติ

การปฏิบัติความจริงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส สติกับสัมปชัญญะ ซึ่งปรากฏในพระไตรปิกฏทุกนิบาต พระมหาสมณเจ้าได้นำ เอามาเป็นหลักสูตรนี้ และในหลักสูตรนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าได้เรียงเอาตั้งแต่หมวด 2 ไป และบท 1, 2,3,4,5 ขึ้นไปก็ปรากฏอยู่ในหลักสูตรอยู่เรียกว่า ปริยัติศาสนา เรารู้อยู่ตั้งแต่เบื้องต้น ตั้งแต่หมวด 1 หมวด 2 คือสติกับสัมปชัญญะ สติเป็นเบื้องต้นก่อนที่จะทำ ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะคิดต้องมีสติขณะทำ ขณะพูด ขณะคิด ก็รู้สึกตัวอยู่นี่เป็นสัมปชัญญะ สติ คือ การระลึกได้ สัมปชัญญะ การรู้สึกตัวในขณะเมื่อทำ ต่อไปเรามาเรียนหมวด 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา ภาวนาคือ การเจริญสมถะและวิปัสสนา หมวด 4 ก็จะมีสติปัฏฐาน 4 มีกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสนา เอากายเป็นอารมณ์ เอาเวทนาเป็นอารมณ์ เอาจิตเป็นอารมณ์ เอาธรรมเป็นอารมณ์ หมวด 5 คือ อินทรีย์ 5 พละ 5 หมวด 6 คืออินทรีย์ 6 หมวด 7 โพชฌงค์ 7 วิธีเรียนธรรมมะคือ เราเอาหัวข้ออย่าง อปัณณกปฏิปทา ปฏิปทาคือ การปฏิบัติไม่ผิด 3 อย่าง 1.สำรวมอินทรีย์ 2.รู้จักประมาณในการกินอาหาร 3.ประกอบความเพียร ให้เราเอาหัวข้อไม่จำเป็นต้องจำได้ทั้งหมด วุฒิ 4 คือความเจริญมีอยู่ 4 อย่าง 1.คบหา 2.ฟัง 3.เก็บไว้ในใจ 4. ปฏิบัติ ให้จำเป็นหัวข้อๆ นี้.

มิตร

มิตรแปลว่าเพื่อน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 4 ประการ
1.มิตรใดเสมอด้วยวิทยาไม่มี คือ ความรู้ การเรียน การปฏิบัติธรรม การเดินจงกรม นั่งสมาธิ นี้เป็นมิตรเรา คนอื่นนั้นชั่วคราวแต่ว่าการปฏิบัติธรรมของเรานี้ เป็นมิตรอย่างยิ่งจะช่วยเราเมื่อยามตาย
2.ศัตรูใดเสมอด้วยพยาธิไม่มี คำว่าพยาธิก็คือ การป่วยเป็นศัตรูกับเราที่สุด
3.รักใดเสมอด้วยรักตนไม่มี
4.แรงใดเสมอด้วยแรงกรรมไม่มี คือ ไม่มีใครจะมาต้านทานแรงกรรมได้ ฉะนั้นเราต้องอยู่เหนือกรรม คือ ปฏิบัติวิปัสสนาให้ถึงอริยะมรรคอริยะผล คือ อยู่เหนือกรรมทั้งหมดแต่ก็ยังต้องรับกรรมเก่าก่อน อย่างพระโมคคัลลานะหนีไปถึง 3 ครั้งต่อมาท่านพิจารณาแล้วว่า แรงใดเสมอด้วยแรงกรรมไม่มี ท่านจึงยอมให้หนีให้โจรตี เพราะฉะนั้นขอคิดว่าสิ่งใดที่เกิดขึ้นให้ถือว่า กรรมหมดก็หมดเรื่อง.

วิธีดับความฟุ้งซ่าน

วิธีกับความฟุ้งซ่าน เมื่อฟุ้งซ่าน สมัยใดที่ควรข่มก็ควรข่ม สมัยใดที่ควรประคองก็ให้ประคอง สมัยใดที่ร่าเริงก็ให้ร่าเริงในธรรมในกุศล สมัยใดที่ควรวางเฉยก็ควรวางเฉย สมัยใดที่ยินดีในวิมุตติให้ยินดีในวิมุตติ สมัยใดยินดีในพระนิพพานก็ให้ยินดีในพระนิพพาน วิมุตติ คือ การหลุดพ้น คือ ยินดีในการกำหนดญาณ คือ ทวนญาณยินดีในมรรคในผล

เมื่อความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมาควรใช้โพชฌงค์ปรับ จะอย่างไร ต้องใช้โพชฌงค์ข้อใดมาปฏิบัติ คือ ต้องใช้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เมื่อเวลาอุทธัจจะเกิดขึ้นให้ใช้โพชฌงค์ทั้ง 3 อย่างนี้
คำว่า โพชฌงค์ นั้นแปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้ องค์แห่งการบรรลุธรรม เมื่อจิตเราฟุ้งซ่านเราต้องทำจิตใจให้มีความสงบ ความตั้งมั่น และความวางเฉย จิตของเราก็สงบ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเหมือนไฟกองใหญ่ลุกโพลงขึ้นมา เราต้องหาเครื่องปฏิปักษ์ต่อไฟนั้นเครื่องปฏิปักษ์ต่อไฟ คือ ใบไม้ที่ดิบ ๆ และก็ผ้าที่เปียกและน้ำนมเอามาดับไฟนั้น เปรียบดังเรา ถ้าเราฟุ้งซ่าน ถ้าเราเจริญสมถะอยู่ก็ให้พิจารณาอสุภ คือ พิจารณาถึงของโสโครกในตัวเราในคนอื่น ว่ามีแต่สิ่งโสโครก มีอาหารเก่า อาหารใหม่ อุจจาระ ป่าช้าของหนอนทั้งหลายเป็นต้น เมื่อเราพิจารณาแล้วจิตก็จะสงบ ถ้าเจริญวิปัสสนา เมื่อความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ให้เรากำหนดความฟุ้งซ่านอันนั้น ยกความฟุ้งซ่านสู้อารมณ์ กำหนดฟุ้งหนอๆ ประคองจิตไว้ให้ดี
สมัยใดที่จิตมีความร่าเริง ก็ให้มันร่าเริง ร่าเริงในธรรม ในกุศล เรานี้มีบุญได้เกิดมาในพระพุทธศาสนา ได้ทำทาน รักษาศีล ได้เจริญภาวนา ได้ปฏิบัติธรรม ได้บวช ได้แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ สมัยใดควรวางเฉย ก็วางเฉย ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับเรื่องราวต่างๆ สมัยใดที่ความยินดีในพระนิพพาน ก็ยินดีในพระนิพพาน พระนิพพานนั้นเป็นแดนอันเกษมพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า “นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา” พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอันยอดยิ่ง ให้มีความยินดีในพระนิพพาน อย่าให้มีความเบื่อหน่าย พยายามปลุกปลอบใจตนเองในนิพพาน ให้พอใจความพ้นทุกข์.

การแสวงหาวิโมกขธรรม

การแสวงหาวิโมกขธรรม จะแสวงอย่างไรที่ไหน แสวงหาที่ตัวเราที่กาย เวทนา จิต ธรรมของเรานี้ เมื่อสติมาตั้งในสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้ สติแปลว่าความระลึกได้ ปัฏฐานแปลว่าที่ตั้ง รวมเป็นที่ตั้งของสติเรียกว่า สติปัฏฐาน วิโมกข์นั้นมีอยู่ 3 อย่าง คือ

1.อนิมิตตะวิโมกข์ คือ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นอนิจจัง จิตของผู้นั้นก็หลุดไป

2.อัปปณิหิตะวิโมกข์ คือ เห็นความทุกข์ จิตก็หลุดพ้นไป

3.สุญญตะวิโมกข์ คือ เห็นอนัตตา เมื่อเพ่งดูอนัตตาแล้วเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่ของเราๆ จิตก็หลุดพ้น
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงให้ดูรูปกับนามเป็นอารมณ์ เมื่อเอารูปนามเป็นอารมณ์ ตัวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะติดตามรูปนามนี้ไป ไปจนถึงที่สุด ถึงอนุโลมญาณ เข้าโคตรภูญาณ มรรคญาณ ฉะนั้นการถึงวิโมกขธรรมนั้น จะต้องกำหนดสติปัฏฐานทั้ง 4 ตัวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็จะเกิดขึ้น.

ลักษณะเสมอกัน 3 ประการ

สิ่งที่เราควรจะระลึกไว้ในใจอยู่เสมอ สิ่งนั้นคือ พระไตรลักษณ์ ไตร แปลว่าสาม ลักษณ์ แปลว่ามีลักษณะเสมอกัน เช่น เณรน้อยมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน เณรน้อยมีอนิจจังอย่างไร คือ เณรน้อยเปลี่ยนแปลง กว่าเณรน้อยจะใหญ่ขึ้นมาจะต้องมีเจ็บ มีปวดเป็นพยาธิ โสภา ก็มีฤทธิ์เหมือนกัน เณรน้อยบังคับมันไม่ใช่ไม่ได้เป็นอนัตตา เณรน้อยจะบังคับมันไม่ให้เป็นนั่น เป็นนี่ เจ็บตรงนั้น เจ็บตรงนี้ เณรน้อยบังคับมันไม่ได้ พระก็เหมือนกัน มีอนิจจังเหมือนกัน ร่างกายเปลี่ยนแปลง จิตใจเปลี่ยนแปลง ร่างกายเป็นทุกข์เหมือนกัน จิตใจก็เป็นทุกข์เหมือนกัน อนัตตาจะบังคับมันไม่ได้ มันเป็นไปอย่างนั้น แม้พระแก่ๆ ก็เหมือนกัน มีอนิจจัง เปลี่ยนแปลง มีทุกข์ มีอนัตตา เรียกว่ามีลักษณะเสมอกัน

อะไรที่ทำให้เรามองไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

1.การสืบต่อ บาลี สันตะติ บังอนิจจัง

2.การเปลี่ยนอิริยาบถ บังทุกขัง

3.การเป็นกลุ่มก้อนเป็นรูป บังอนัตตา

การสืบต่อบังอนิจจัง คือ การสืบต่อทำให้ดูเหมือนว่ามันเที่ยวคนที่ไร้ปัญญาก็จะคิดว่ามันเป็นสิ่งเที่ยงแท้แน่นอน แต่ความจริงมันเป็นสิ่งไม่เที่ยง
การเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ ทำให้มองไม่เห็นทุกข์ คือ ถ้าให้นั่งเฉย ๆไม่ไปไหน นั่งอย่างเดียวนั่งทั้งวัน นั่งได้ไหม นั่งไม่ได้เพราะมันปวดมันต้องเดินบ้าง ยืนบ้าง ถ้ายืน ให้ยืนทั้งวัน ยืนได้ไหม มันยืนไม่ได้เป็นทุกข์ มันต้องเดินบ้าง ถ้าเดินทั้งวันเดินได้ไหม มันเดินไม่ได้ มันเมื่อย มันเป็นทุกข์ ฉะนั้นการเปลี่ยนอิริยาบถ มันบังทุกข์

อนัตตามันไม่ใช่ของเรา เราบังคับมันไม่ได้ เช่น ถ้าเราเป็นเณรน้อย จะบังคับให้เป็นเณรตลอดไปได้ไหม มันบังคับไม่ได้ ถ้า 10 ปีผ่านไปก็ต้องโตขึ้นบวชเป็นพระ ฟันของเรา เราสั่งมันว่าอย่าหักนะ ถึงเวลาตามันก็มัว อนัตตาอะไรมาบัง คือ ความเป็นตัว เป็นตนมาบัง เป็นตัวเรา ตัวเขาแต่ถ้าเราพิจารณาให้ดี ก็มีแต่รูปกับนามเท่านั้นเอง ที่เห็นนั้นเป็นการประชุมของธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ตั้งอยู่ได้ในขณะหนึ่ง ถึงเวลาตายธาตุทั้ง 4 ก็แยกออกจากกัน เมื่อเราระลึกได้ในใจอยู่เสมอ ก็จะเป็นยอดของความรู้ รู้เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเราปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐานไปเราก็จะเห็นตามความเป็นจริงได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ.

การอบรมจิต

การอบรมจิตของเรา พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบเหมือนกับ ลูกวัว ลูกวัวนั้นเอามามัดกับเสามันต้องดิ้นรน ต่อไปพอมันหมดแรง มันก็จะนอนที่เสานั้นแหละ ตัววัวนั้นพระพุทธองค์ทรงหมายถึงจิต ตัวเชือกได้แก่ สติ หลักนั้นได้แก่อารมณ์ อย่างแรง คือ เราต้องปักหลักวัวหรือปักเสาก่อน และจะต้องมัดวัว มัดไว้กับเสามัดแน่นๆ พอลูกวัวหมดแรงแล้ว มันก็จะหลับอยู่ที่เสานั้นเอง

เมื่อเรากำหนดพองหนอ ยุบหนอ สักพักมันก็หนีออกไป เราก็จับมันมามัดกับเสาอีก กำหนดตัวพองหนอ ยุบหนอ พอมันมันออกไปอีกก็จับมันมาอีก ถ้าไปอีกก็จับอีก แล้วมันจะค่อยๆแนบแน่นกับอารมณ์ ดังนั้นเวลาปฏิบัติ เวลากราบ เราก็เอาสติไปไว้ที่มือก่อน พอเดินเราก็เอาสติมาไว้ที่เท้าเรา พอเวลานั่งก็กำหนดพองหนอ ยุบหนอ ให้มันต่อเนื่องกันไปเลยเรียกว่า สาตัจฉะกิริยาวะเสนะ ธรรมที่ทำไปโดยติดต่อกัน ถ้าเวลาปฏิบัติเกิดฟุ้งขึ้นมา ต้องเอาสิ่งที่ที่เป็นปฏิปักษ์เป็นอารมณ์ เช่น เกิดกามฉันทะขึ้นมา ก็ให้เอาอสุภเป็นอารมณ์ ตัวเรานี่เต็มไปด้วยของโสโครกมีขี้เก่าขี้ใหม่ของคนอื่นก็เหมือนกัน สุดท้ายมันก็จะตัดความใคร่ในกาม ถ้าโทสะเกิดขึ้นมาให้เจริญพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตาปรารถนาให้เขาสุข กรุณาเราไม่เบียดเบียนเขา ยินดีกับเขาถ้าเขาได้ดี บางทีเขาเบียดเบียนเรา เราก็วางเฉยให้อภัยเขา.

วิธีขจัดความเศร้าหมอง

ความเศร้าหมองของจิตนั้น จิตนี้เป็นเจตสิก แล้วสิ่งที่มาทำให้จิตเศร้าหมองเป็นเจตสิก สภาวธรรมที่รู้อย่างเดียวเรียกว่าจิต และเมื่อรู้แล้วรู้อะไรที่ทำให้จิต รู้โลภ รู้โกรธ รู้หลง ตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง นั้นเป็นเจตสิก เหมือนน้ำกับสี น้ำนั้นมันใส จิตนั้นประภัสสรใสสะอาด แต่สิ่งที่ทำให้เศร้าหมองนั้น คือ ตัวเจตสิก การเกิดขึ้นพร้อมกับการดับไปพร้อมกันกับอารมณ์ไปพร้อมกัน การปฏิบัตินี้ก็เพื่อเอาตัวเจตสิกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งเศร้าหมองออกจากจิต อย่างหยาบคือ กาย วาจา ใจ ส่วนที่มันกลุ้มรุมจิตอยู่ คือ นิวรณ์ธรรม ชอบ ไม่ชอบ ง่วง ฟุ้ง สงสัย ตัวที่นอนนิ่งในสันดานนั้นคือ ตัวราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ มานะ อวิชชา พวกนี้นอนเนื่องอยู่ การปฏิบัติวิปัสสนานี้ ก็เพื่อเอาตัวกิเลสออกจากจิตด้วยการใช้สติ เมื่อมีสติที่ใดแล้วตัวอกุศล ตัวเศร้าหมองจะออกไปจากจิตใจ เป็นวิธีที่เอาบาปออกจากจิตใจโดยใช้สติกำหนด เมื่อโกรธขึ้นมาให้เอาสติมาดับ การที่เรามาปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 นี้ ก็เพื่อจะเอาความเศร้าหมอง เอาบาป ออกจากจิตเราได้.

ความเป็นเยี่ยม

ความเป็นเยี่ยมในโลกนี้เราจะถือเอาอะไรเป็นเยี่ยมในโลก ถือตามคำสอนของพระพุทธองค์ว่า “อาโรคยา ปะระมา ลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ไม่ใช้ว่าลาภอันประเสริฐจะได้เงินได้ทองมา

ประการที่ 2 “สันตุฏฐี ปะระมัง ธะมัง” ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง คือ เราไปทำมันจะเกิดขึ้นเองด้วยบารมีของเราเอง เราทำไปเพื่อความสันโดษ ทำไปเรื่อยๆขอให้มีศีล สมาธิ ปัญญา มีวิปัสสนาปัญญาปัจจัยเราก็มีตามมีตามได้ของเรา มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช ก็พอแล้ว ความพอใจในสิ่งที่มีอยู่ของเราเป็นทรัพย์อันประเสริฐของหมู่สมณะ

ประการที่ 3 “วิสสาสา ปะระมา ญาตี” ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่งความเป็นญาติกับพระพุทธองค์ไม่ได้หมายความว่า เกิดมาในท้องเดียวกันแต่เป็นด้วยเพราะความคุ้นเคยการนับถือกัน เป็นญาติอย่างยิ่ง

ประการที่ 4 “นัตถิ สันติปรัง สุขัง” ความสงบเป็นอย่างยิ่งขอให้เรามีศีล ทำสมาธิ เจริญวิปัสสนา และจะทำความสงบ และความสุขก็จะมีขึ้นแก่เรา
สิ่งที่ไม่รู้อารมณ์เรียกว่ารูป สิ่งที่รู้อารมณ์เรียกว่านาม ในตัวของเรามีกายกับใจ มีรูปกับนาม คนใดรู้จักรูปกับนามเรียกว่าจุลโสดาบัน






Create Date : 03 กรกฎาคม 2552
Last Update : 3 กรกฎาคม 2552 17:40:45 น. 0 comments
Counter : 1138 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Toad
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Toad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.