Group Blog
 
<<
เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
25 เมษายน 2554
 
All Blogs
 
เหตุแห่งความเสื่อมในพระพุทธศาสนา

เหตุแห่งความเสื่อมในพระพุทธศาสนา (อารมณ์ของวิปัสสนา)

รวมรวมโดย พระอภิลักษณ์ อภิรักขิตโต
คำบรรยายโดย
อาจารย์แนบ มหานีรานนท์
บันทึก โดย ทศพล จึงทวีสูตร


พระพุทธภาษิต

พระพุทธองค์ ประกาศการประพฤติพรหมจรรยืของพระองค์ว่าอย่างไร ?
“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดอริยสัจ ๔ เราด้วยและเธอทั้งหลายด้วย จึงวนเวียนท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏนี้ ตลอดกาลนานอย่างนี้ ฯ

อริยสัจ ๔ เหล่านี้ เราด้วยและเธอทั้งหลายด้วย ตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว ตัณหาในภพขาดสูญแล้ว ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีฯ “
(สัง.มหา.วัชชีสูตร ๑๙/๔๘๗)

“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ บริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์
และก็ปัญญอันรู้เห็นตามความเป็นจริง ได้บังเกิดขึ้นแก่เรา ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไปฯ “
(สัง.มหา.ตถาคตสูตร ๑๙/๔๗๘)
อาจารย์แนบ มหานีรานนท์
อายุ ๘๖ ปี ชาตา ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐
มรณะ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖














เหตุแห่งความเสื่อมในพระพุทธศาสนา

โดย
อาจารย์แนบ มหานีรานนท์

นโม ตัสสะ...... ฯ
สวัสดีค่ะ ท่านที่เคารพ
ก่อนอื่น เราจะต้องทราบคำว่า เสื่อม หรือ คำว่า เจริญ ในพระพุทธศาสนาเสียก่อน ซึ่งถ้าเราทำความเข้าใจกันในเรื่องความเสื่อมหรือความเจริญกันเสียก่อน ก็จะรู้ได้ว่า เวลานี้พระพุทธศาสนาอยู่ในประเภทไหน ? อยู่ในความเสื่อมหรือในความเจริญ
คำว่า เสื่อม ในที่นี้หมายถึง เสื่อมจากความเข้าใจ ขอบประชาชน หรือว่า สัตว์โลกทั้งหลายก็แล้วแต่ เสื่อมจากความเข้าใจในเหตุผล ในคำสอนของพระบรมศาสดา คือ เสื่อมไปจากความข้าใจของเรานะคะ เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาน่ะ จะไม่ตั้งอยู่ที่อื่นเลย พระพุทธศาสนาจะมีอยู่ที่ความเข้าใจของเราเท่านั้น มิได้อยู่ที่อื่นเลยนี่น่ะ ขอให้เข้าใจอย่างนี้นะคะ ถ้าหากว่า คนทั้งหลายไม่มีความเข้าใจเหตุผลในคำสอนที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้วละก็ พระพุทธศาสนาก็เสื่อม ที่ว่าเสื่อมนั้นน่ะ หมายความว่าไม่มีแล้ว ไม่มีในความเข้าใจของคน ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องตามคำสอนอย่างนี้ เรียกว่า เสื่อม เช่นอย่างว่า กาลนี้ไม่มีพระพุทธศาสนา หรือว่า กัปนี้ไม่มีพระพุทธศาสนา ก็หมายถึงว่า
กัปนี้ไม่มีคนเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธศาสนาจะหมด เช่นอย่างตามที่เราทราบกันมาว่า มีพยากรณ์ไว้ว่า ๕,๐๐๐ ปีนี้น่ะ พระพุทธศาสนาจะหมด คำว่า หมด ในที่นี้น่ะ หมายถึงหมดไปจากความเข้าใจ ของคน ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงนั้น คนจะเข้าไม่ถึง หรือว่า หมดจากมรรค ผล นิพพาน เพราะแก่นของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นน่ะอยู่ที่ มรรค ผล นิพพานนะคะ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า มรค ผล นิพพาน ไม่เกิดแก่จิตใจของคน แล้ว มรรค ผล นิพพานนี้ไม่ได้ไปเกิดที่อื่น นอกจากคน ไม่ได้ไปเกิดตามต้นหมากรากไม้ ตามโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าหากว่า มรรค ผล นิพพาน ไม่มีในจิตใจของคนแล้ว ก็ชื่อว่า หมดพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนานั้นน่ะปัญญาจะเกิดได้ในมรรคผลนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากมรรค ผล นิพพาน ไม่มีในจิตใจของบุคคลแล้วก็ชื่อว่าหมด เพราะอะไรถึงหมด ก็เพราะเหตุว่า ความเข้าใจที่จะทำให้ถึง มรรค ผล นิพพานนั้น ไม่มีเสียแล้ว คือ หมดสิ้นไปแล้ว นี่ว่า โดยกาลนะคะ

อีกประการหนึ่ง พระพุทธศาสนานี่นะคะ ถ้าความเข้าใจถูก หมดไปเสียแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ก็มีความเข้าใจผิดคือ มิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นได้

ที่นี้คำว่า มิจฉาทิฏฐิ ในที่นี้น่ะ หมายถึง ความเห็นผิด นะคะ ผิดจากอะไร ? ผิดของใคร ? ผิดจากเหตุผลของธรรมชาติ ไม่ใช่ของใคร คือว่า ผิดจากความเป็นจริง หรือเหตุผลของธรรมชาตินั้น เพราะว่า พระพุทธเจ้าที่สอนให้เรารู้นั้นน่ะ ไม่ได้สอนให้เรารู้อะไร นอกจากรู้ความจริง ของธรรมชาติ ความจริง ของ เหตุผล เท่านั้นเอง เพราะทุกอย่างในโลกนี้น่ะ อยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรเลยที่นอกจากคำสอน และก็ไม่มีศาสนาใดที่นอกจากคำสอนนี้ด้วย เพราะอะไร ? เพราะว่าไม่มีอะไรที่นอกจากธรรมชาติ อะไรที่นอกจากธรรมชาติ จะเป็นศาสนาไหนๆ ก็ไม่พ้นจากธรรมชาติใช่ไหมค่ะ มีอยู่ในธรรมชาติทั้งหมด

ที่นี้ พระพุทธองค์สอนตามเหตุผลความจริงในธรรมชาตินั้น เพราะฉะนั้น คำสอนของพระพุทธองค์ก็เป็นไปตามธรรมชาตินั้น ก็ใตรเล่า จะนอกจากธรรมชาติ มีอะไรหรือที่นอกจากธรรมชาติ เมื่อไม่มีอะไรที่นอกจากธรรมชาติแล้ว จึงไม่มีอะไรที่นอกจากคำสอนนั้นด้วย

แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นศาสนาอะไร เป็นศาสนาพุทธนะคะ เราถือเป็นศาสนาพุทธ เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เป็นผู้สอน แต่ว่าเหตุผลที่นำมาสอนนั้นน่ะเอามาจากธรรมชาติ ไม่ใช่พระพุทธองค์สร้างขึ้นมาสอน เอามาจากธรรมชาตินั้นเอง และธรรมชาตินั้นก็ไม่เป็นศาสนาอะไรทั้งสิ้น เป็นศาสนาพุทธหรือ ? ก็เปล่า แต่ว่า คำสอน กับ ธรรมชาติ นั้นตรงกัน หรือว่า คำสอนของใครตรงกับธรรมชาตินั้น ก็คือว่า คำสอนนั้นประกอบไปด้วยเหตุผล เป็นความจริง – ที่เราพิสูจน์ได้ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าธรรมชาตินั้นเอง ที่ทนต่อการพิสูจน์ของเรา เราจะพิสูจน์คำสอน เราก็ต้องอาศัยธรรมชาติ เราต้องเข้าถึงเหตุผลของธรรมชาตินั้นๆ แล้ว จึงจะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะท่านเอามาจากธรรมชาตินั่นเอง

ฉะนั้น คำว่า เห็นผิด ในที่นี้น่ะ ก็ไม่ใช่ผิดจากพระพุทธเจ้า มิจฉาทิฏฐิ นั้น ไม่ใช่เพราะเห็นไม่ถูกไม่ตรงกับพระพุทธเจ้า ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ คำว่า มิจฉาทิฏฐิในที้น่ะ หมายถึง เห็นผิดจากธรรมชาตินั่นเอง เมื่อมันไม่ตรงกับธรรมชาติ ก็ชื่อว่าผิด ไม่ใช่ผิดจากความเห็นของใครๆ ทั้งหมด

ที่นี้เป็นธรรมดาอยู่เอง การเห็นผิดจะต้องมีใช่ไหมคะ ? เพราะที่เราเห็นผิดและหลงใหลกันอยู่ทุกวันนี้ หรือที่ว่ามิจฉาทิฏฐิมีแก่เรา อวิชชามีแก่เรานี่น่ะ เพราะอะไรเล่า ? ก็เพราะเราไม่รู้ตามความจริงของธรรมชาตินั่นเอง เราเข้าใจผิดต่อความจริงของธรรมชาตินั่นแหละ จึงชื่อว่า เห็นผิดหรือเข้าใจผิดนะคะ ยึดถือเอาความเข้าใจของเรา ซึ่งไม่ได้มาจากการพิสูจน์ ตัวธรรมชาติไม่ได้บอกเป็นผู้ให้รู้ หรือไม่ได้พิสูจน์มาจากธรรมชาตินั้น เราก็ถือว่าผิด

ที่นี้ ในพระพุทธศาสนานี่น่ะ ข้าศึกที่สำคัญ ก็คือ มิจฉาทิฏฐิ และ มิจฉาทิฎฐินี้แหละค่ะ เกิดในศาสนามากที่สุด ก็ไม่ใช่ว่า มิจฉาทิฏฐินี้น่ะ จะพ้นจากคำสอนของพระพุทธเจ้านะคะ มิจฉาทิฏฐิก็อยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ตัวมิจฉาทิฏฐินี่น่ะ อยู่ในคำสอน พระพุทธเจ้าสอนว่า ผู้เห็นผิดนี่น่ะ ยึดอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นความจริงเป็นลักษณะ ถือเอาสภาวะที่ผิดจากความจริงเป็นกิจ ยึดถือความเห็นผิดเป็นผล มีความไม่อยากเห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นหตุใกล้ นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ ไม่ใช่ว่า มิจฉาทิฏฐิจะไม่อยู่ในคำสอนนะคะ ท่านนำมาบอกให้รู้เหมือนกัน

แต่ที่ว่า ทำไม ถ้าเราจะไปถือว่าทิฏฐิเกิดมาก ก็ชื่อว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาก็เกิดมาก พูดอย่างนี้ผิดใช่ไหมค่ะ ? ไม่ผิดหรอกค่ะ พูดอย่างนี้ก็ถูก แต่ว่าในคำสอนของพระพุทธองค์นี่น่ะ เป็นพุทธประสงค์หรือเปล่า ถ้าเป็นพระพุทธประสงค์แล้ว เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมดเลย แม้แต่ ความโลภ โกรธ หลง พระพุทธองค์ก็สอน นี่เป็นคำสอนทั้งหมดเลย ทั้งดีทั้งชั่ว แค่ว่าเป็นพุทธประสงค์ไหม ที่จะให้เรารู้ เพราะฉะนั้น จึงได้วางไว้ว่า พุทธประสงค์น่ะ อะไร ? ต้องการให้เรารู้อะไร ต้องการให้เรารู้จักทุกข์นะคะ พุทธประสงค์ ต้องการจะให้ละตัณหา พุทธประสงค์ต้องการจะให้รู้จักนิพพาน ต้องการให้แจ้งพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ดับทุกข์ พระพุทธประสงค์ ต้องการให้เราเจริญมรรคมีองค์ ๘ นี้ให้เกิดขึ้น นี่เป็นพุทธประสงค์มีอยู่อย่างเดียว

เพราะฉะนั้น โลภ โกรธ หลง นี้ อยู่ใน พุทธประสงค์หรือเปล่า ? อยู่ ! อยู่เหมือนกัน อยู่ในพุทธประสงค์ อยู่ในประเภทไหนแน่ อยู่ในประเภทให้ละ ธรรมหมวดนี้ พระพุทธประสงค์ต้องการให้ละ นี่อยู่ในพระพุทธประสงค์เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ใดต้องการทำให้ถูกพุทธประสงค์ ต้องละ มีความโลภ โกรธ หลง เป็นเหตุเป็นตัวใหญ่นะคะ นี่แหละ ต้องการให้ละ ๓ ตัวนี่เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ใดต้องการทำให้ถูกพุทธประสงค์ ต้องการจะเจริญธรรมะให้เกิดขึ้น ต้องเจริญอะไรถึงจะถูก พุทธประสงค์ โลภ โกรธ หลง ก็เป็นธรรมะเหมือนกัน แต่ว่าพุทธประสงค์ต้องการให้เจริญมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิดขึ้น ถ้าต้องการเจริญธรรมะให้ถูกพุทธประสงค์น่ะ เราจะเจริญอะไร ก็เจริญมรรค ๘ ให้เกิดขึ้น นี่เป็นพุทธประสงค์นี่เรทำตามพุทธประสงค์นะคะ

เราต้องการจะรู้ธรรมะ จะรู้อะไร รู้ทุกข์ รู้จักทุกข์ พระพุทธเจ้า ต้องการให้เรารู้จักทุกข์ เพราะฉะนั้น ต้องการจะรู้ให้ถูกพุทธประสงค์ ต้องรู้จักทุกข์ ต้องกำหนดรู้ทุกข์ อันนี้เป็นพุทธประสงค์ แต่ว่า คำสอนก็เป็นคำสอนทั้งหมดไม่ว่าอะไร สอนหมดทั้งนั้นค่ะ กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมา ดีชั่ว ไม่ดี ไม่ชั่ว สอนหมดเลยค่ะ ไม่มีอะไรพ้นจากคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย

แต่ที่นี้ ที่ว่าอันนี้ตรง อันนี้ไม่ตรงน่ะ ขอให้ถูกเหตุผล เท่านั้นเอง เหตุผลน่ะ ไม่เป็นไปตามความเห็นของใคร ต้องเป็นไปตามเหตุผลและปัจจัยของเขา ไม่เป็นไปตามใจใครนะคะ

ที่นี้ที่ว่า มิจฉาทิฏฐินี่น่ะ ไม่ตรงต่อคำสอนหรือเหตุผล ตามคำสอนของพระพุทธองค์ เช่นสิ่งที่รู้กลับไปละ สิ่งที่ให้ละ กลับไปเจริญ สิ่งที่ให้เจริญ ก็ไม่เจริญ สิ่ที่ทำให้แจ้งก็ไม่ทำ อย่างนี้แหละค่ะ ที่เรียกว่า ผิดจากคำสอน ไม่ตรงกับ คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่นี้ เมื่อมิจฉาทิฏฐิเกิดมากแล้ว สัมมาทิฏฐิทั้งหลายก็หมด ไป เพราะว่าในใจของบุคคลคนหนึ่งนี่น่ะ จะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสัมมาทิฏฐิ และมิจฉาทิฏฐิไม่ได้ เหมือนความโลภกับความโกรธ จะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ ถ้าความรักเกิดขึ้นในขณะใด ความโกรธก็เกิดขึ้นไมได้ในขณะนั้น ถ้าความโกรธเกิดขึ้นในขณะใด ความรักก็เกิดขึ้นไม่ได้ในขณะนั้น มิจฉาทิฏฐิก็เหมือนกัน เกิดขึ้นไม่ได้ในขณะที่มีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น

ที่นี้ เราก็รู้ว่า มิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิมาจากไหน สัมมาทิฏฐิน่ะ มาจากไหน สัมมาทิฏฐินี่ก็คือปัญญา ปัญญามาจากไหน เหตุของปัญญามาจากสุตตะ คือการศึกษาเล่าเรียน การฟัง การคบหาบัณฑิต การเสวนากับบัณฑิต อะไรเหล่านี้นะคะ แล้วก็ฟังธรรมของบัณฑิต สุตตาปัญญาจึงเกิดนะคะ แล้วก็จินตาปัญญา สุตตาปัญญาเป็นของอาจารย์ มีหนังสือเป็นต้น เป็นผู้ประกาศโฆษณา ส่วนจินตาปัญญา เป็นของเรา ถ้ามีจินตา เราก็สามารถรักคำสอนของอาจารย์หรือของตำรับตำรา ตามคำประกาศโฆษณานั้นได้ แต่ถ้าเรา ไม่มีจินตาปัญญาแล้ว จะสอนให้เท่าใด หรือจะอ่านตำรามากเพียงใด เราก็รับไว้ไม่ได้ ก็เข้าใจไม่ถูกต้องอยู่นั่นเอง นี่เป็นจินตาปัญญานะคะ แล้วก็ภาวนาปัญญาทำให้เกิดขึ้น

ที่นี้ส่วนจินตาปัญญาและภาวนาปัญญานั้น ภาวนาปัญญาเป็นขั้นที่สุด พุทธประสงค์ต้องการภาวนาปัญญานะคะ เพราะปัญญาที่จะนำเข้าถึงมรรคผลได้ ต้องเป็นภาวนาปัญญา ไม่ใช่จินตาปัญญา และไม่ใช่สุตตาปัญญา

แต่ว่าภาวนาปัญญาจะมาจากไหน ก็มาจากจินตา แล้วจินตามาจากไหน ก็มาจากสุตตะ ต้องอาศัยกันทั้ง ๓ อย่าง

ที่นี้ตัวพุทธศาสนาที่แท้จริง คือ มรรค ผล นิพพานนี่จะต้องเข้าโดยทางไหน ? ถ้าตัวภาวนาไม่มี หรือมีไม่ถูกต้อง เราก็ไม่มีหวังเลยในเรื่องมรรค ผล จะอาศัยแต่จินตะน่ะ ถูกหรือเปล่า อาจจะไม่ถูกก็ได้ ทำไมไม่ถูก เพราะจินตาที่ถูกต้องจะมาจากไหน จะต้องมาจากสุตตา ต้องมาจากการศึกษาเล่าเรียน ท่านก็ทราบอยู่แล้วว่า การศึกษาเล่าเรียนเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ใช่ไหมค่ะ เหมือนกันกับที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีความรู้มากๆ ก็เพราะต้องการให้มีปัญญา ปัญญาก็ต้องมาจากการศึกษาเล่าเรียน การได้ยินได้ฟัง ถ้าหากว่า ภาวนาเสื่อม มรรคผลก็หมด ภาวนาเสื่อม เพราะอะไร เพราะจินตาเสื่อม เพราะนมสิการคือความเข้าใจถูกเสื่อม ความเข้าใจถูกเสื่อม เพราะอะไร เพราะการศึกษาเสื่อม

ที่นี้ ในเวลาพระพุทธศาสนาเสื่อมหรือเจริญ จะว่าเจริญก็ถูก แต่เจริญในทางด้านมิจฉาทิฎฐินะคะ เพราะอะไรเล่า เพราะสัมมาทิฏฐิจะต้องเกิดจากสุตตา จะต้องเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน ในเวลานี้ การศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมเสื่อมมากเหลือเกิน บางท่านที่ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วนี่น่ะ เมื่อได้ฟังเขาพูดธรรมะกัน เช่นดิฉันพูดนี่น่ะ ดิฉันพูดผิดหรือถูกทราบไหมคะ ? ไม่ทราบใช่ไหม ? อย่างน้อยพูดถูกตำรา หรือถูกหลักฐานหรือไม่ ท่านจะต้องตัดสินได้ ท่านจะต้องเข้าใจ และทราบหลักฐานมีอยู่ที่ไหน ท่านจึงจะตัดสินได้ ไม่เห็นเช่นนั้นก็ตัดสินไม่ได้ เหมือนคนอ่านหนังสือไม่ออก เขาจะเขียนถูกหรือผิดอย่างไร ก็ไม่รู้ ตัดสินไม่ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษานี่อ่อนมาก ทำไมจึงอ่อน ? เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ที่แท้จริงจะศึกษา ไม่มีผู้ที่จะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาเหมือนทางโลก เขามีขั้นตอนการศึกษา แล้วซ้ำยังติเตียนการศึกษาเสียอีกว่า พวกที่ศึกษานี่น่ะ ไม่ได้ความหรอกติดตำรับตำราอยู่นั่นเอง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็หันไปปฏิบัติดีกว่า ไม่ต้องเรียน ก็การปฏิบัตินี่น่ะ เป็นตัวทำงาน ถ้าไม่เข้าใจแผนที่แล้ว ก็จะเดินถูกทางได้อย่างไร ? มันก็ไม่ถูกต้องแน่ เมื่อไม่ถูกต้องแล้ว หลักฐานก็ไม่มี ที่นี้ก็ต้องปล่อยไป แล้วแต่ความเห็นของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ตามหลักฐานและเหตุผลในคำสอนของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น การประกาศศาสนาน่ะ ทำให้ศาสนาเจริญก็ได้ ทำให้ศาสนาเสื่อมไป ทำให้ศาสนาฉิบหาย วิบัติไปก็ได้

ดิฉันเคยเตือนเสมอว่า ถ้าประกาศศาสนาออกไป ต้องประกาศอย่างถูกต้อง เมื่อประกาศศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว ความเข้าใจถูกก็อยู่กับบุคคลนั้น ใช่ไหมล่ะคะ นี่น่ะ ศาสนาก็เจริญ ความข้าใจถูกแพร่หลายไปในจิตใจประชาชนมาก ศาสนาก็เจริญ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ถ้าพูดผิดก็เป็นการทำลายทีเดียว ทำลายความเข้าใจถูกในเหตุผลที่เขาควรเข้าใจถูก แต่ไปทำให้เขาเกิดความเข้าใจผิด ความเข้าใจถูก คือสัมมาทิฏฐิก็จะตายไปเลย หมดจากจิตใจของบุคคลนั้นไปเลย ก็เชื่อว่าทำลายศาสนาไปในตัวด้วย ฉะนั้นก็เป็นของยากเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เราที่จะบำรุงศาสนาด้วยกันทุกคนนี่น่ะ ทุกคนที่ทำในเวลานี้ แม้แต่สมาคมต่างๆ ที่ประกาศศาสนาที่ประกาศวิทยุก็ดี โทรทัศน์ก็ดี ไปเที่ยวพูดปาฐกถา ไปแนะนำสั่งสอนที่ไหนก็ดี ก็ตั้งใจจะบำรุงพระพุทธศาสนา ใช่ไหมค่ะ แต่ว่า อย่าทำให้พุทธศาสนาเสื่อมซิ ใช่ไหมล่ะ ถ้าหากว่าพูดดีก็ดีไป ถ้าพูดดไม่ดี ก็หมดไปเลย ถ้าหากว่า ถ้าเราพูดกันมากๆ ให้เห็นผิดมากๆ แล้ว พุทธศาสนาก็เสื่อมหมด บางทีอยู่ไม่ถึง ๑๐ปีหรอก ถ้าเราช่วยกันทำลายมากๆ จะเป็นอย่างนั้นแน่ เพราะฉะนั้น ท่านถึงได้บอกว่า ใครพูดถูกท่านไม่สาธุ คือ ไม่เห็นด้วยละ ไม่สาธุ คนนั้นก็เป็น พาล ถ้าใครพูดผิด ท่านเห็นด้วย ท่านสาธุ คนนั้นเป็น พาล วางหลักไว้ว่า ถ้าเลื่อมใสศรัทธาสิ่งที่ผิดชื่อว่าเป็น พาล คนพาลนี่ แปลว่า คนโง่นะคะ คนที่ไม่รู้ผิดรู้ถูกนี่น่ะ เรียกว่าเป็น คนพาล นี่หลักของคนพาล เวลานี้น่ะ มิจฉาทิฏฐินี่น่ะ มีความเห็นประการใดบ้าง มิจฉาทิฏฐิในพระพุทธศาสนามีกี่ขั้น เรายังไม่เคยรู้เลย เพราะมิจฉาทิฏฐิน่ะ มีลักษณะอย่างไร มีความเห็นอย่างไร รู้อย่างไร เข้าใจอย่างไร ถึงเรียกมิจฉาทิฏฐิ ยังไม่เคยรู้เลย เมื่อยังไม่เคยรู้แล้ว ถึงแม้มิจฉาทิฏฐิเกิดกับเรา เราจะรู้ได้ไหมว่าอะไร ความรู้อย่างนี้น่ะ ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ เรา จะรู้ได้อย่างไร ก็ไม่รู้

เพราะฉะนั้น การศึกษานี่น่ะ พระพุทธเจ้าสรรเสริญเหลือเกิน เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ส่งแสงในโลก ให้คนเห็นว่า อะไรเป็นอะไร และโดยเฉพาะการศึกษานี้ เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ที่จะทำให้เกิดความสว่างในคำสอนของพระองค์ เพราะหากปริยัติไม่มีก็มืด เหมือนพระอาทิตย์ดับไปจากโลกแล้ว มิจฉาทิฏฐิ นี่ประการหนึ่งนะคะ ที่ทำให้เสื่อม


ที่นี้อีกประการหนึ่ง ก็คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นี่สำคัญมากที่สุด อันนี้แหละสำคัญที่สุด ศาสนาต่างๆ ที่มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน – เสื่อมไป เพราะอะไร เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะอำนาจที่ทำให้ศาสนาเสื่อมไป หรือ เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไปเพราะอไร เพราะสมบัติ ลาภ ยศ นั่นเอง ค่อยๆ ทำให้เสื่อมโทรมไป เพราะ ลาภ ยศ เป็นที่ตั้งศรัทธา คือ ศรัทธาของคนโง่ ตั้งอยู่บน ลาภ ยศ อำนาจ ศรัทธาของบัณฑิตตั้งอยู่บนสติปัญญา ผุ้ที่ไม่หลงใหลศรัทธาในลาภ ยศ ชื่อว่า เป็นบัณฑิต

เวลานี้ ท่านว่า ในโลกนี้ คนโง่มาก หรือ คนฉลาดมาก ถ้าเราพูดตามหลักพุทธศาสนาที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกแล้วท่านก็บอกว่า คนโง่นี่แหละมีมาก คนฉลาดนั้นมีน้อยในโลกนี้ ที่นี้ต้องขอพูดกันอย่างไม่เกรงใจ เท่าที่เราพบเห็นมาแล้วนะคะ ผู้ที่ได้รับเชิญให้มาเทศน์มาสอนน่ะ พระหลวงตาไม่ค่อยได้รับอาราธนามาพูด มาสอน ใช่ไหมค่ะ เพราะท่านไม่ค่อยมีลาภ ยศ ชื่อเสียง ไม่มีคนรู้จักอะไรเลย แต่พระหลวงตานั้นอาจจะรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าดีกว่า เพราะลาภ ยศ ชื่อเสียง เป็นตัวปิดบังธรรมะ คือ ปิดบังปัญญา ผู้ที่ห่าง ลาภ ยศ มากเท่าไร แสงสว่างในธรรมะ คือ ความเข้าใจก็อาจปรากฏได้เท่านั้น เพราะเครื่องปิดบังมีน้อยลงไป แต่ว่าโดยมากพวกเราจะต้องเลือกฟังคนที่มีชื่อเสียง มีลาภ ยศ เชิญมาพูดเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่จริงนั้นไม่ได้เกี่ยวกันเลยนะคะ เพราะเขาไม่ได้เรียนธรรมะ เรื่องอไรที่สมาคมจะต้องเอาเขามาพูด ขอให้คิดเอาเองก็แล้วกัน

ที่นี้ ถ้าสมมติว่า นิมนต์หลวงตามาพูดธรรมะ ท่านพูดถูกด้วยเหตุผลสัก ๑๐๐ คำ แต่พร้อมกันนั้น ก็นิมนต์ท่านที่มีลาภ ยศ ชื่อเสียง มาพูด พูดผิดไปตั้ง ๑๐๐๐ คำ ใครจะได้พวกมากกว่ากัน พูดผิดมากกว่าถูกเสียด้วย ก็คงจะได้พวกมากกกว่าอยู่ดี ทั้งนี้ เพราะอาศัยลาภ ยศ ชื่อเสียง เป็นหลักประกัน ใช่ไหมคะ

อันนี้ก็อีกประการหนึ่ง ที่แก้ไขยากที่สุด พระศาสนาจะเสียความบริสุทธิ์ ไม่เข้าถึงความบริสุทธิ์ที่แท้จริง เพราะอะไร ? เพราะ ลาภ ยศ เข้าไปอาศัยพุทธศาสนาใช่ไหม ? จึงทำให้พระพุทธศาสนาเสียความบริสุทธิ์ไป คนที่ต้องการหาลาภ ยศ หาชื่อเสียง เขาก็มาอาศัยพระพุทธศาสนา หรืออาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้านี่แหละ เป็นเครื่องมือหาชื่อเสียง ลาภ ยศ เวลานี้ก็มีอยู่มากนะคะ อันนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเหมือนกัน

เมื่อ ลาภ ยศ ขึ้นมาบัง พุทธศาสนาหรือธรรมะก็หมด อันที่จริง พระพุทธศาสนาที่แท้จริงน่ะ สอนให้ทำลายลาภ ยศ มันตรงข้ามกันอย่างนี้ทีเดียว เมื่อตึงมาทางพุทธศาสนา ลาภ ยศ ก็ต้องน้อยถอยลงไป และถ้าตึงมาทางลาภ ยศ พุทธศาสนาก็หมดไป จะเอาไปทางไหน อีกทางก็ต้องหมดไป

เมื่อพูดถึงตรงนี้แล้ว ก็อยากจะพูดถึงฝรั่งเขามาพูดเรื่องพุทธศาสนา ซึ่งไม่ใช่ศาสนาของเขาโดยตรง ที่เขานับถือมาก่อน
ที่นี้ เมื่อวันอาทิตย์นี้ มีฝรั่งมาพูดพระพุทธศาสนาใครไม่ได้ฟัง ก็น่าเสียดายที่สุดเลย เขาพูดดีเหลือเกิน ทั้งที่เขาไม่ได้นับถือพุทธศาสนา พ่อ แม่เขา บ้านเกิดเมืองนอนก็ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา เขาจะปฏิบัติได้หรือไม่ได้ เราไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ เราสนใจในการศึกษา และการค้นคว้าของเขา เขาเพียงศึกษาเอาเท่านั้น เขายังถือเอาเหตุผลอันสำคัญในศาสนาได้ไม่ผิดเลย

ดิฉันเคยฟังคนไทยพูดเรื่องพุทธศาสนากันมามาก แต่ไม่เคยได้ยิน คนไทยพูดอย่างนี้เลย เขาไม่พูดมากด้วย เขาพูดเรื่องอริยสัจ ๔ เรื่องกิเลส แต่เรื่องนิพพานเขาไม่พูด เขาบอกว่า เมื่อทำถูกแล้วจะเห็นเอง ข้อสำคัญ เขาเน้นอยู่ที่การปฏิบัติเท่านั้น เขาพูดน่าฟังมาก ไม่เยิ่นเย้อ เช่น อย่างเขาบอกว่า ปัญญาเท่านั้น ที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่เรียนจากตำรับตำราหรือในหนังสือ แต่เขา ไม่ติเตียนการศึกษาเล่าเรียน เขาสรรเสริญว่า ดีเหมือนกัน ไม่ใช่ของไม่ดี เพราะปัญญาขั้นนี้ เป็นปัญญาขั้นต้นที่จะก้าวเข้าไปถึงเหตุให้พ้นจากทุกข์ได้ เขาบอกอย่างนี้นะคะ และเขาบอกว่า ปัญญาที่จะให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้น่ะ ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากการเล่าเรียน ต้องเป็นปัญญาที่เกิดจาก สัมมาสมาธิ แน่ะเห็นไหม ที่เขาพูดน่ะ ดิฉันเข้าใจ ทำไมเขาจึงพูด สมาธิ ต้องเกิดจากสมาธิ และสมาธิต้องเกิดจากสัมมาสมาธิด้วย เขาพูดสมาธิกับปัญญา ดิฉันเข้าใจในความเข้าใจของเขาว่า ทำไมไม่พูดเรื่องสมถะกับวิปัสสนา ทำไม่เขาไม่พูดอย่างนั้น ทำไมเขาพูดเรื่องสมาธิกับปัญญา ๒ คำเท่านั้น เพราะสมาธินี่น่ะ เหมือนสมถะใช่ไหม สมถะ ก็คือ สมาธินั่นแหละ เขาบอกว่า เขาเอา สมาธิ สมถะ เขาไม่เอา ทีนี้พวกเราเข้าใจหรือเปล่า ว่า สัมมาสมาธิ นี่น่ะ มาจากไหน โดยเฉพาะว่า สมาธิที่ไม่ใช่ สัมมาสมาธิ ก็มี สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิก็มี เราเคยฟังไหม คำนี้น่ะ เราคิดว่า เขาพูดผิด แต่ที่แท้น่ะ เขาเข้าใจดีเหลือเกิน มีใครรู้บ้างไหม สัมมาสมาธิน่ะ มาจากไหน นี่น่ะ ดิฉันคิดว่า ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้ว ไม่รู้ค่ะ ว่ามาจากไหน จิตสงบก็แล้วกัน จิตสงบเป็นสมาธิ และเป็นสัมมาสมาธิทั้งหมด นี่เราเข้าใจกันอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้น ดิฉันถึงว่า เขาเข้าใจถูก ดิฉันเสียใจที่ไม่ได้ถามเขาว่า สมาธิน่ะ มาจากไหน ? สมาธิอย่างไร เรียกว่า สัมมาสมาธิ สมาธิอย่างไรที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ นี่ตั้งใจจะถามอย่างนี้ แต่ ดิฉันคิดว่า เขาก็คงจะตอบได้เหมือนกัน แต่เราก็ไม่มีโอกาสจะถาม เพราะว่าเวลาก็มีไม่มาก แล้วก็เกรงใจเขา แล้วอีกอย่าง เขาบอกว่า เวลาปฏิบัติน่ะ คนเราต้องอาความปรารถนาออก ขณะที่ปฏิบัติน่ะ แม้แต่ต้องการพระนิพพานเวลาที่ทำอยู่น่ะ คือว่า อยากได้นิพพาน หรือว่า อยากเห็น นิพพานอะไรก็แล้วแต่ แม้แต่ความปรารถนาในพระนิพพานเท่านั้น ท่านก็จะไม่เห็นนิพพาน เห็นไหม เขาพูดได้ถึงอย่างนี้ แล้วก็บอกว่า ตอนต้นนี่น่ะ จิตเรามีความปรารถนา ประกอบอยู่ทุกขณะ ถ้าหากว่า เราอยู่ใต้อำนาจตัณหาทุกข์ก็จะมาก ถ้าเราอยู่เหนือตัณหา ทุกข์ก็จะน้อยหน่อย เพราะตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะว่าตัณหาจะเป็นผู้หล่อเลี้ยงใจอยู่เสมอ ใช่ไหมคะ แล้วตอนหลังเขาพูดว่าต้องไม่ให้มีความปรารถนาเลย แม้แต่จะปรารถนาพระนิพพาน ท่านก็จะไม่เห็นนิพพาน พวกเราน่าจะถามเขาว่า เมื่อตัณหาประกอบอยู่กับจิตใจทุกขณะ ท่านจะมีอุบายอย่างไรหรือ เพื่อจะป้องกันไม่ให้ตัณหานั้นเกิดขึ้นใช่ไหม ข้อนี้นะเป็นข้อที่เราควรถาม แต่ก็ไม่มีโอกาสจะถาม เขาว่า ทีหลังจะมาพูดกันอีก เราน่าจะถามเขาดูซิว่า เขาจะให้เหตุผลอย่างไร เมื่อเขาพูดเสร็จแล้ว ดิฉันก็ถาม แต่ก็มีคนฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง ฟังไม่รู้เรื่องบ้าง นี่น่ะ

ดิฉันเศร้าใจเหลือเกิน แต่ดิฉันก็ยังชอบใจว่า การค้นคว้าของเขานี่มีสติปัญญาดี แล้วเขาเอามาจากไหนคะ ฝรั่งที่เขารู้อย่างอย่างนี้น่ะ เขารู้มาจากไหน ใครสอนเขา มีใครคนไหนสอนเขา พระองค์ไหนที่สอนเขา ทราบไหมว่า เขาเอามาจากไหน เขาเอามาจากหลักฐานตำรับตำราเขาเห็นว่า ตำรับตำราเพียบพร้อมไปด้วยเหตุผล เขาจึงสามารถค้นได้ เขาจึงสามารถไปเชื่อในเหตุผลนั้นได้ แต่ว่าพวกเรากลับไปปฏิเสธพระวิสุทธิมรรค เพราะอะไรคะ ทั้งๆ ที่พวกเราปฏิเสธพระวิสุทธิมรรค แต่ฝรั่งกลับไปเอามาพูดเขายกเอาตรงไหนมาพูด เขายกเอาที่สำคัญมาพูดด้วย ว่าในพระวิสุทธิมรรคมีอยู่ แต่ไม่มีคนเจริญ ตัณหามีอยู่ไม่มีคนละ ใช่ไหม แต่เขาไม่ได้พูดถึงทุกข์ เขาเป็นแต่เพียงบอกเราว่า ทุกข์มีอยู่ไม่มีคนเห็น ตัณหามีอยู่ไม่มีคนละ แล้วเราเข้าใจว่าอย่างไร เรามาพูดกันว่า เวลานี้น่ะ พระพุทธศาสนาเสื่อมหมดแล้ว เราว่าอย่างนี้ใช่ไหม เราเข้าใจอย่างนี้ แต่ที่ไหนได้ พระพุทธศาสนายังไม่ได้เสื่อมไปจากความเข้าใจของเขาเลย เขาไม่ได้มีความเข้าใจอย่างเราเลย เขาบอกว่า ทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีคนรู้ เพราะอะไร หมายความว่าอะไร หมายความว่า ท่านพูดโดยปรมัตถ์สัจจะ เพราะปรมัตถ์สัจจะ ปฏิเสธบุคคล ตัวตนไม่มีที่ว่าไม่มีตัวตนน่ะ หมายถึง พระพุทธเจ้าปฏิเสธสัตว์ตัวตนบุคคลน่ะ ไม่มี ดิฉันถึงว่า เขาเข้าใจถูก ไม่ใช่ว่า ศาสนาเสื่อม โดยมีคนทำ หรือไม่มีคนทำ ทั้งๆ ที่ผู้ที่เข้าไปแจ้งในอริยสัจ ๔ น่ะ ก็ไม่มีบุคคล ปฏิเสธสัตว์ บุคคลหมดแล้ว เขาบอกว่า ถ้าสมมติสัจจะในพระสูตรก็มีอยู่ตามธรรมดา นี่เขาว่าอย่างนี้ เห็นไหมว่า เขาสามารถเอาพระสูตรกับพระอภิธรรมมารวมกันได้ ไม่ใช่ว่า เขาเอาพระสูตรปฏิเสธพระอภิธรรม หรือเขาเอาพระอภิธรรมปฏิเสธพระสูตร ไม่ใช่อย่างนั้น เขาถือว่า ทั้ง ๒ อันนี้เหมือนกัน เป็นอันเดียวกัน เวลาแห่งการค้นคว้าของเขามันน่าสรรเสริญ ดิฉันถึงบอกว่า ดิฉันอยากดูหน้าเขาเหลือเกิน ที่ดิฉันยกมาเล่าให้ฟัง ให้พวกเราเข้าใจไว้บ้างว่า พุทธศาสนานี่น่ะ ไม่ใช่ศาสนาประจำชาติของเขา แต่อย่างนั้นเขายังศึกษา แล้วเขายังเอามาพูดให้เราฟังได้ มันถึงน่าสรรเสริญเขาค่ะ

ที่นี้ ความเห็นผิดคะ ดิฉันว่า คนโง่ยังไม่มีความเห็นผิด เพราะอะไร? เพราะว่าคนโง่นี่ไม่รู้ใช่ไหมคะ เมื่อไม่รู้แล้วก็จะสามารถรู้ได้ เหมือนคนไม่รู้หนังสือก็สามารถรู้ได้ เข้าใจได้ แต่ว่าผู้ไม่เรียนหนังสือ ไม่รู้หนังสือ เพราะความเห็นผิด เพราะถือว่า ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่เห็นจะมีความจำเป็นเลย ก็ไม่มีทางที่จะรู้หนังสือได้เลย เพราะอะไร ? เพราะความเห็นผิด ยึดมั่น ถือมั่น ในความเห็นผิด ไม่ยอมฟังเหตุผลเลย เพราะเข้าไปยึดความเห็นผิดเสียแล้วนะคะ

แสดงว่าคนโง่ยังดีกว่า เพราะคนโง่ ถ้ารู้หนังสือแล้วอาจจะเกิดปัญญาได้ เพราะความโง่ไม่ใช่เป็นอุปทาน เพราะฉะนั้นนะคะ โลภะ นี่น่ะ เป็นที่ตั้งแห่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลภะ กับ ทิฏฐิ นี่น่ะ มันก็อยู่ด้วยกัน ถ้าหากว่า ทิฏฐิเกิดมาก โลภะก็เกิดมาก ถ้าโลภะมาก ทิฏฐิก็มาก เพราะมันเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นโง่เสียยังดีกว่านะคะ ยิ่งความเห็นผิดของอาจารย์นี่เหนียวแน่น ทิฏฐินี่ของอาจารย์ อย่างสีลัพพตนี่น่ะเป็นของศิษย์ เป็นทิฏฐิของลูกศิษย์ ไม่ใช่เป็นทิฏฐิของอาจารย์ คันถะ นี่ เป็นทิฏฐิของอาจารย์ สีลัพพต เป็นของลูกศิษย์ เพราะอะไร เอ ! อาจารย์เขาทำอย่างนี้ก็ดีนะ พูอย่างนี้ก็ดีน่ะ คนนี้พูดอย่างนี้ก็ดี อาจจะดีไปได้หลายๆ แห่ง คือว่า ทำตามเขา เห็นตามเขา มีความเห็นผิด ก็เห็นตามอาจารย์ ยึดถือตามอาจารย์ เพราะฉะนั้น ใครจะดึงไปอย่างไรก็ได้ ยังไม่ยึดมั่น อาจจะไปที่ดีก็ได้ ใช่ไหมคะ เพราะว่าทำตามเขาไป แต่ว่าทิฎฐิของอาจารย์ที่ว่า อิทังสัจจาภินิเวส เห็นว่า ของใครไม่ดีหมด มีของฉันดีคนเดียวอันนี้แก้ไม่ได้เลย แม้แต่พระพุทธเจ้าก็แก้ไม่ได้ แต่ถ้าสีลัพพต เมื่อไปเจอพระพุทธเจ้าแล้วก็แก้ได้ บรรลุมรรคผล นิพพานได้ แต่ว่าอิทังสัจจานี่แก้ไม่ได้ อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าทิฏฐิของอาจารย์นี้มั่นคงมาก อย่างเช่นอาจารย์ทั้ง ๖ น่ะ ไม่ได้สำเร็จมรรคผลเลย แต่ลูกศิษย์ของอาจารย์มีพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร เป็นต้น สำเร็จมรรคผลเยอะแยะ แต่ว่าอาจารย์ไม่ได้มรรคผล เพราะอะไร ? เพราะว่าทิฏฐิตัวนี้แหละ อิทังสัจจานี่แหละ ไม่ยอมฟังเหตุผลของใครเลย

นี่เป็นความสำคัญอันหนึ่งในเรื่องทิฏฐิ แม้แต่พระพุทธเจ้าปรากฏอยู่ อำนาจของมิจฉาทิฏฐิอันนี้ ยังไม่ยอมให้มาพบพระพุทธเจ้า ใช้ไหมคะ พระพุทธเจ้าแสดงว่า โลกทั้งหมด ไม่มีอะไรร้ายเท่ามิจฉาทิฏฐิเลย มิจฉาทิฏฐิสามารถที่จะทำลายคนได้ แล้วก็เป็นเหตุให้ไปอบายได้ ฆ่าพ่อแม่ยังไม่ร้ายเท่ามิจฉาทิฏฐิเลย

แล้ว มิจฉาทิฏฐิ น่ะ มาจากไหน ท่านก็บอก ท่านก็บอกว่า มาจากไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง พระพุทธเจ้า รับสั่งกับพระอานนท์ พระอานนท์ทูลถามว่า มิจฉาทิฏฐิมาจากไหน จะมิจฉาทิฏฐิได้ด้วยอะไร พระองค์บอกว่า จะละได้ต้องเป็นอริยอย่างต่ำโสดาบัน เพราะว่ามองเห็นทางที่ถูกแล้ว แล้วก็หรือแม้แต่เพียงท่านผู้เป็นพหูสูต ได้ฟังมาก ศึกษามาก ก็สามารถจะละมิจฉาทิฏฐิได้

ฉะนั้น มิจฉาทิฏฐินี้น่ะ ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีการฟัง ไม่ได้คบกับบัณฑิต หรือมได้เสวนากับบัณฑิตแล้ว มิจฉาทิฏฐิไม่มีทางจะละได้ แล้วอะไรเล่าจะกันไม่ให้มิจฉาทิฏฐิเกิดได้ ก็ต้อง สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิคือปัญญา ปัญญาก็ต้องมีเหตุ มีการศึกษา เป็นต้น ถึงจะกันมิจฉาทิฏฐิได้ และเวลานี้ ท่านก็บอกว่า ต้องคบบัณฑิต ต้องเสวนากับบัณฑิต ฟังธรรมของบัณฑิต แล้วการคบกับบัณฑิตนี่น่ะ ถ้าเรารู้จักนะคะ มันเป็นธรรมดาอยู่เอง ใช่ไหมคะ ว่าคนมีปัญญา ก็รู้จักคนที่ทีปัญญา คนไม่มีปัญญาก็ไม่รู้จักคนมีปัญญา จะรู้ได้อย่างไร คนมีปัญญาเท่านั้น จะรู้ได้ว่า ใครมีปัญญา รู้ว่าใครโง่ และคนโง่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ใครมีปัญญา เพราะฉะนั้นก็ต้องไปคบกับคนโง่ เหมือนอย่างกับอาจารย์ของพระสารีบุตรบอกว่า คนโง่จะมาหาเรา คนโง่ในโลกนี้น่ะ มีมากใช่ไหม แต่ว่าคนโง่ก็ต้องมาหาเร คนฉลาดก็ต้องไปหาพระพุทธเจ้า อันนี้น่ะ ลำบากมากนะคะ ที่จะให้คนโง่ปาคนฉลาดที่มีปัญญา

ที่นี้ ความเจริญในพระพุทธศาสนานี่น่ะ เราก็ไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญ เพราะเหตุใด จะเสื่อม เพราะเหตุใด แต่มีความสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง คือ ธุระในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๒ อย่าง

ธุระนี่น่ะ มีความสำคัญมากทีเดียวค่ะ รู้แล้วนะคะเข้าใจแล้วนะคะ แต่ว่าไม่มีกรรม ไม่มีการกระทำเกิดขึ้น ฐานที่กิดจากกรรมไม่มี สมมติว่า เราไปเรียนวิชามาจากไหน เช่นเรียนจบจากต่างประเทศ ที่ไหนก็ตามเถอะ แต่เมื่อเรียนมาแล้วไม่ได้มาใช้ความรู้ กิจกรรมความรู้นั้นๆ ไม่ได้ทำการงานให้เกิดขึ้น แล้วได้ประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น ท่านจึงวางธุระไว้ว่า คันถะธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียน วิปัสสนาธุระ คือ การทำวิปัสสนา ที่นี้ การงานทั้งสองแห่งนี้ แหละที่จะทำให้รู้ว่า ศาสนาเสื่อมหรือเจริญ อุปมาการงานทั้งสองเหมือนอุตสาหกรรมในพุทธศาสนา มี ๒ อย่าง เท่านั้น

ถ้าหากว่า อุตสาหกรรมความเจริญแพร่หลายละก็วัตถุที่เกิดจากอุตสาหกรรมก็แพร่หลายใช่ไหม ถ้าไม่มีคนทำอุตสาหกรรมแล้ว วัตถุในโลกนี้ก็หมด เพราะไม่มีคนทำแล้วใช่ไหมคะ ที่มีอยู่ก็นับวันแต่จะเสื่อมสิ้นไป เช่น ศิลปะต่างๆ เดี๋ยวนี้นะ ไม่มีคนทำอย่างแต่ก่อนแล้ว และที่ไม่มีคนทำได้เพราะอะไร เพราะไม่มีคนฝึกหัดทำสืบต่อกันมา คนที่ทำได้ก็หมดไป

ธุระในพระพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกัน ถ้าการศึกษาเล่าเรียนไม่มีแล้ว วิปัสสนาธุระก็ไม่มี หรือการศึกษาเล่าเรียนมี แต่วิปัสสนาไม่มี พระพุทธศาสนาตั้งอยู่ไม่ได้เลย พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ด้วยธุระ ๒ อย่าง

เพราะฉะนั้น เราก็รู้กันอยู่แล้วอย่างนี้ ทีนี้เราจะเจริญศาสนานี่น่ะ เราจะเจริญกันอย่างไร เราก็ต้องทำกิจสำคัญนี้ให้แพร่หลายเจริญขึ้น เจริญแก่ใคร เจริญแก่เราหรือคนอื่น ต้องเจริญที่เราด้วย คนอื่นด้วย ไม่ใช่แต่จะทำให้คนอื่นรู้เท่านั้น แต่ว่าเราไม่รู้ พระพุทธเจ้าตรัสกับทัพพะมานพว่า มานพ เธอน่ะเหมือนทัพพีที่ตักแกงให้คนอื่นกิน แต่ว่าตัวเองไม่ได้กิน เพราะทัพพีนั้นน่ะ ไม่รู้รสแกงเลย ที่นี้ ถ้าเราไม่รู้ ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าหากว่า เราช่วยกันดำเนินธุระทั้งสองอย่างนี้ พุทธศาสนาก็เจริญอยู่ได้

ทุกๆ ท่านก็รู้อยู่แล้วว่า วิปัสสนาเป็นกิจสำคัญในพุทธศาสนา การที่จะเข้าถึงพุทธศาสนาที่แท้จริง ก็ด้วยธุระทั้งสอง ถ้าหากว่ามีแต่ปริยัติอย่างเดียว ไม่มีวิปัสสนา ก็ไม่สามารถจะเข้าถึงพุทธศาสนาด้วย ถ้ามีแต่วิปัสสนาอย่างเดียวแต่ไม่มีปริยัติ พุทธศาสนาก็ไปไม่ได้เหมือนกัน

แต่.... เวลานี้มีวิปัสสนามากเหมือนกัน และดิฉันรู้สึกว่าการถึงมรรค ผล นิพพาน เวลานี้น่ะ พูดกันตามเหตุผลที่แท้จริงแล้วน้อยมาก น้อยที่สุดเลย เท่าที่เราฟังนี่น่ะ น้อยเหลือเกิน จะเป็นอะไรก็เป็นกันไม่ยาก โสดา สกิทาคา ก็เป็นกันไม่ยาก เมื่อเป็นกันง่ายอย่างนี้แล้ว ทีนี้ส่วนที่ยากก็ไม่มีใครอยากทำใช่ไหมคะ นี่แหละเป็นอย่างนี้ ถ้าจะไปถามใครในประเทศไทย ก็จะไม่มีใครบอกเลยว่า ฉันทำสมถะ ไม่มีหรอกค่ะ ต้องบอกว่า ฉันทำวิปัสสนาทั้งนั้นเลย เพราะเขารู้ว่าวิปัสสนานี่ เป็นของสำคัญในพุทธศาสนา แต่ถ้าหากว่าที่ปฏิบัติกันอยู่นั้น เป็นวิปัสสนาที่แท้จริง ก็เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนาพุทธศาสนาก็เจริญมากขึ้น แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูก ก็ตรงกันข้าม กลับจะทำให้พุทธศาสนาเสื่อมลงเร็วมากเข้า

ดิฉันขอยกตัวอย่างนะ มีวัดอยู่วัดหนึ่งอยู่ใกล้ๆ นี่เองวัดนั้นสมบูรณ์เจริญรุ่งเรืองเหลือเกิน เขาสอนวิปัสสนาอยู่แต่ไม่รู้ว่า สอนถูกต้องด้วยเหตุผลของวิปัสสนาแท้ๆ หรือเปล่า ต่อมาภายหลังจึงรู้ว่า ที่สอนมานี้น่ะ ไม่ใช่แล้ว เรานี่สอนไม่ถูกแล้ว อยากจะเปลี่ยนทางใหม่ ไม่รู้จะทำอย่างไรดีเห็นไหมล่ะค่ะ อยากจะเปลี่ยนทางใหม่ให้มันถูก แต่ว่าไม่รู้จะทำอย่างไร ทำไม่ได้ นี่ดิฉันก็นำมาเล่าให้ฟัง บางทีท่านไม่เคยผ่านสังคมในทางพุทธศาสนา ก็ไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรเวลานี้มีอะไรเกิดขึ้นมากมายเท่าไร ท่านก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้ว่า ในหมู่พวกเราน่ะ มีความเห็นผิดกันเท่าไร ประหลาดไหมเห็นผิดกันอย่างน่าละอาย อย่างน่าประหลาด ทำกันอย่างประมาทน่าเสียวไส้เหลือเกิน

ดิฉันเคยไปพูดเวลาพระประชุมธรรมะกัน ดิฉันน่ะไม่พูดธรรมะเลย ดิฉันบอกว่า ธรรมะน่ะ เป็นหน้าที่ของท่าน ดิฉันไม่ได้ตั้งใจจะมาพูดธรรมะ แต่ว่าดิฉันจะนำเอาความบกพร่องในพระพุทธศาสนา ที่ท่านพูดมาน่ะ มาขยายให้ท่านฟัง เพราะถือว่าท่านเป็นเจ้าหน้าที่ เหมือนกับตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบ เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็มาแจ้งให้ตำรวจรู้แล้วดิฉันถือว่าท่านเป็นเจ้าหน้าที่ที่จะต้องทำศาสนาให้ถูกต้องท่านเจ้าคณะจังหวัดน่ะ ท่านไม่เคยรู้เลย เพราะว่าท่านไม่เคยไปที่ต่างๆ ท่านเพิ่งมารู้เมื่อดิฉันนำเอามาขยาย ท่านถึงได้รู้ นี่อย่างนี้ก็มี เห็นไหมคะ ดิฉันอยากจะตั้งคำถามว่า ที่ท่านรู้ ธรรมะ น่ะ รู้อะไรคะ นี่เอาไว้ให้ไปคิด ผู้นั้นรู้ธรรมะหรือเข้าถึงธรรมะน่ะ เข้าถึงอะไรกัน ทุกอย่างเป็นธรรมะทั้งหมดเลย ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะเลย เพราะฉะนั้น เราเรียนธรรมะ ก็คือเรียนธรรมชาตินั่นเอง ประสบการณ์ทั้งหมดเป็นธรรมะทั้งนั้น แต่เรารู้ผิดจากเหตุตามความเป็นจริงของเรา ก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น นึกออกไหมคะว่า รู้ธรรมะน่ะ รู้อะไร อะไรเป็นธรรมะ นี่ให้เอาไปคิดดู

เวลานี้มีอีกอย่างหนึ่ง คนพูดธรรมะนี่น่ะ ต้องเอาเรื่องที่คนฟังไม่ค่อยจะรู้มาพูด เพราะอะไร เพราะว่า ถ้าคนฟังไม่รู้แล้ว ก็แสดงว่า คนพูดนี่มีความรู้สูงใช่ไหมคะ ทีนี้คนฟังก็ไม่กล้าบอกว่า คุณเอาเรื่องที่ฉันไม่รู้มาพูด เพราะกลัวเสียภูมิใช่ไหมคะ บางคนก็เอาเรื่องอะไรไม่รู้มาพูด นี่พูดด้วยใจจริงนะคะ ขออภัยด้วยเถอะ คล้ายๆ กับว่า คนที่พูดภาษาฝรั่งได้น่ะ คนนั้นแหละ เก่งธรรมะ พูดไทย พูดธรรมะ แต่ว่าเอาภาษาฝรั่งมาผสมกันเข้า ซึ่งคนฟังก็ฟังไม่รู้เรื่อง ลำพังแต่พูดภาษาไทย ก็ยังไม่ค่อยจะรู้กันเลย นี่เป็นเพราะเหตุอะไร แล้วเดี๋ยวนี้ก็มีคนเอาธรรมะไปสงเคราะห์กับวิทยาศาสตร์ คือคำสอนอันใดเข้ากับวิทยาศาสตร์ไม่ได้ คำสอนอันนั้นไม่เป็นความจริง ในทางกลับกัน ทำไมไม่มีใครเอาพุทธศาสนามาเป็นประธาน แล้วเอาวิทยาศาสตร์มาสงเคราะห์ คือถ้าวิทยาศาสตร์อันไหนเข้ากับพุทธศาสนาไม่ได้ วิทยาศาสตร์อันนั้นไม่เป็นความจริง เลยกลายเป็นว่า ถ้าพุทธศาสนาเอาไปเข้ากับวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เขาก็ไม่เลื่อมใส เขาก็หาว่าเลอะเทอะ ไม่จริงพิสูจน์ไม่ได้ เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอยู่อย่างนี้


ฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดแล้ว ทำอย่างไรจะให้พุทธศาสนาเจริญอยู่ได้ พวกเรานี่แหละ ต้องศึกษาเล่าเรียนให้เข้าใจเหตุผลให้ถูกต้อง นี่เป็นขั้นต้น และนำไปปฏิบัติ แต่การปฏิบัตินี่น่ะ เป็นของลำบากนะคะ น่าเห็นใจ แต่ว่าเราต้องทำให้ได้ เพราะอะไรที่ยังไม่รู้เราก็ต้องทำเพื่อจะได้รู้ แต่ถ้าคนทำผิดแล้วละก็เสียหายมาก เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะทำอะไรลงไปต้องไต่สวนหตุผลให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้ารับสั่งหนักหนาว่า ให้เรามีตนเป็นที่พึ่ง ไม่ให้มีคนอื่นเป็นที่พึ่ง ท่านไม่เคยรับสั่งเลยว่า ให้เอาคนอื่นเป็นที่พึ่ง อย่างนี้น่ะไม่เคยได้ยินเลย คำสอนอันนี้เป็นสิ่งมีค่าที่สุดเลย เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดแล้วเราต้องศึกษาเอง เราต้องทำความเข้าใจเองให้ถูกต้องด้วยเหตุผล ฉะนั้น พวกเราที่มีปัญญาแล้ว ดิฉันคิดว่า คงเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้องจริงๆ ได้ พระพุทธศาสนานี่น่ะ อยู่ด้วยศรัทธาไม่ได้นะคะ ต้องอยู่ด้วยปัญญา การที่เราจะรักษาพุทธศาสนาให้อยู่ได้ ต้องอยู่ได้ด้วยปัญญาเท่านั้น เพราะว่าเต็มไปด้วย เหตุผล ถ้าศรัทธาแล้วละก็ ไม่ลำบากเลย ไม่ต้องพูดมากด้วย ถ้าความเชื่ออันนี้ยังตั้งอยู่ ก็เชื่ออยู่เสมอ พระพุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมีปัญญาด้วย มีแต่ศรัทธาไม่ได้ ต้องมีปัญญาด้วย ถึงจะรักษาพระพุทธศาสนานี้ไว้ได้ ถ้ามีแต่ศรัทธาอย่างเดียวก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าศรัทธานี่อาจจะเลื่อมใสไปโดยไม่อาศัยเหตุผลก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านตั้งใจจะรักษาพระพุทธศาสนา ก็ขอให้ศึกษาเล่าเรียนด้วย ท่านฟังคนอื่นอาจจะไม่รู้นะว่า เขาพูดผิดหรือถูก แต่ถ้าท่านมีปัญญาก็อาจรู้ได้นะคะ เพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าน่ะท่านไม่มีหนังสือให้เรียน แต่ถ้าท่านได้ฟังก็สามารถรู้ได้ คนมีปัญญาก็สามารถรู้ถึงเหตุผลที่ท่านแสดงให้ฟังได้ แต่ว่าต้องเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาพิสูจน์ให้ได้ ถ้าพิสูจน์ได้แล้วก็แน่นอน ปัญญานั้นก็ละความเห็นผิดได้

ดิฉันคิดว่า เท่าที่พูดมานี่น่ะ ท่านก็พอจะเข้าใจแล้ว นะคะ หรือถ้าหากมีอะไรสงสัย ก็เชิญถามได้นะคะ





ปัญหาท้ายรายการปาฐกถา

ถาม ทำวิปัสสนาที่บ้านได้หรือไม่ ?
ตอบ ควรจะต้องเข้าใจด้วยว่า ทำวิปัสสนาจะต้องมีธรรมอื่นๆ ประกอบหลายอย่าง เช่น สัปปายะ ๔ เว้นปลิโพธิ ๑๐ ต้องมี รูปนาม ที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา และอารมณ์ต้องเป็นปัจจุบัน ต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นผู้ดู ต้องมีโยนิโสมนสิการในรูปนามที่เป็นอารมณ์อยู่เสมอ อยู่ที่บ้าน ธรรมที่ประกอบเหล่านี้ เกิดได้ยากมากค่ะ

ถาม ถ้าฝึกอยู่ทุกๆ วันจะไม่ได้บ้างหรือ ?
ตอบ ฝึกทุกวัน ๆ แปลว่า การบ้าน จะไม่ต้องเกี่ยวข้องนะ ต้องไม่เกี่ยวข้องใช่ไหม ? เพราะอารมณ์ปัจจุบันนะท่านคะ อารมณ์ปัจจุบันน่ะ คนพูดแล้วไม่รู้เรื่องนะ รู้ปัจจุบันอารมณ์แล้วไม่รู้เรื่องเลย เพราะคำหนึ่งๆ ที่เรารู้เรื่องน่ะ เราต้องเอาคำพูดที่หมดไปแล้ว มาปรับปรุงกันกับคำสุดท้าย เราถึงจะรู้ว่า พูดเรื่องอะไร ใช่ไหมคะ ? ถ้าปัจจุบันแล้ว ฟังคนพูดไม่รู้เรื่องเลยนี่ชื่อว่า ปัจจุบันโดยแท้จริง ใช่ไหมล่ะคะ

ถาม มีหลายคนบอกว่า ทำได้
ตอบ เดี๋ยวค่ะ คำพูดเป็นบัญญัติใช่ไหม ?

ถาม ใช่
ตอบ แล้วมีไหม อารมณ์ปัจจุบัน อยู่บ้านโดยไม่ต้องพูดเลยได้ไหม ?

ถาม เวลาที่ไม่พูดก็มี
ตอบ ไม่ได้ เดี๋ยวค่ะ รับศีล ศีล ๘ ในองค์มรรค อาชีวัฏฐมกศีล เว้นจากมุสา เว้นจากส่อเสียด เว้นจากพูดหยาบคาย เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ถ้าศีล ๕ มุสาอันเดียว ศีล ๘ ไม่ใช่มุสาอันเดียว ใช่ไหม นี่เว้นทั้ง ๔ นะ ฆราวาสที่อยู่บ้านเว้นได้ไหม ไม่พูดนะคะ?

ถาม บางชั่วโมงเว้นได้นะคะ
ตอบ แล้วคุณสามารถจะสำเร็จได้ไหม ในชั่วโมงเดียว แล้วมีหลักฐานพระบาลี ยืนยันทีเดียวว่า การเว้นวจีทุจริตทั้ง ๔ จะสมบูรณ์ ได้เฉพาะผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเท่านั้นแน่นอนเลยทีเดียว

ถาม การฝึกวิปัสสนาทำจิตให้สงบแน่วแน่ เป็นครั้งเป็นคราวคือสักหนึ่งชั่วโมง จิตอาจสงบได้ เมื่อสงบแล้ว จะจับปัจจุบันอารมณ์ได้ไหม ?
ตอบ ไม่ได้ สงบแล้วจับปัจจุบันไม่ได้ คือว่า ธรรมดาของวิปัสสนา มรรคมีองค์ ๘ ใช่ไหม ไม่ใช่ทำทีละคราวนะ ทำศีลก่อน แล้วทำสมาธิ แล้วเจริญวิปัสสนาไม่ใช่นะ จะต้องเป็นไปพร้อมกันในอารมณ์อันเดียวและสมาธิของวิปัสสนาขณิกสมาธิเท่านั้น

ถาม พวกเรายอมรับว่า ปัญญาคือการเห็นรูปเห็นนาม โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช่ไหม แต่ทำไมเราจึงไม่พูดกันบ้างว่า ทำอย่างไร จึงจะเห็นรูปเห็นนามอย่างนี้
ตอบ อันนี้ เราตั้งผลไว้ก่อน คือว่า วิปัสสนาน่ะ ต้องเห็นอย่างนี้ ทีนี้ ก็จะอธิบายการกระทำว่า การกระทำที่จะทำให้เข้าถึงอย่างนั้นหรือไม่ อย่างนี้อีกทีนะคะ ยังถึงเหตุเลย แต่ว่าเราตั้งผลไว้ให้ดูก่อน ว่าผลต้องอย่างนี้ เมื่อตั้งผลอย่างนี้แล้ว ทีนี้เราก็เอาเหตุ เหตุที่จะไปทำน่ะ ตรงกันไหม เป็นเหตุที่จะรับรองกันไหม อย่างนี้อีกทีหนึ่งนะคะ ท่านก็ต้องพิจารณา ท่านไม่รับแล้วใช่ไหมว่ ต้องดูนามรูป จึงจะเห็นว่านามรูปไม่เที่ยง อันนี้เราก็ตั้งหลักไว้ เพื่อจะเอาผลโยงมาหาเหตุ เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว เราจะดูอะไร เราก็ต้องดูนามรูป ใช่ไหมล่ะคะ เมื่อดูนามรูปแล้ว ก็ต้องเข้าใจนามรูปเสียก่อน แล้วถึงจะดูได้ เมื่อเข้าใจนามรูปแล้ว วิธีดูจะดูอย่างไร ต้องทำกันเป็นลำดับไป

ถาม สติปัฏฐาน ๔ กับวิปัสสนาอันเดียวกัน ใช่หรือไม่ ?
ตอบ สติปัฏฐานเป็นเหตุ วิปัสสนาเป็นผล

ถาม ในสติปัฏฐานจะต้องมีปัญญาด้วยใช่ไหม ?
ตอบ สติปัฏฐานเป็นเหตุค่ะ ถึงมีปัญญาก็ยังไม่เห็น เวลาทำสติปัฏฐานใหม่ๆ น่ะ ทำเพื่อจะเห็นใช่ไหม ? เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน เป็นเหตุ วิปัสสนา เป็นผล วิปัสสนา เป็นเหตุ ญาณ ความรู้สึกที่เกิดจาก วิปัสสนาเป็นผล และ ญาณ ความรู้สึกเป็นเหตุ วิสุทธิ เป็นผลจะต้องกำกับไว้ ไม่ใช่มีอันเดียว จะต้องมีพร้อมด้วยมรรค ๘ แม้แต่โพธปักขิยธรรม จะต้องเข้าประกอบด้วยในอันนั้น เพราะอะไร เราจะเห็นได้ว่า โพธิปักขยธรรมรวมไปในขณะที่ทำแล้ว จะต้องเกิดร่วมไป พอถึงมรรคจิต โพธิปักขิยธรรมพร้อมสมบูรณ์ ๓๗ ประการใช่ไหม ถ้าหากไม่มีตั้งแต่แรกแล้ว อยู่ดี ๆ พอถึงมรรคจิต โพธิปักขิยธรรมจะเกิดพร้อมสมบูรณ์ไม่ได้ และต้องมีมรรค ๘ และการเจริญสติปัฏฐานนี่น่ะ โพธิปักขิยธรรม คือ มรรค ๘ นั่นเอง จะต้องรับรองตั้งแต่สติปัฏฐานไป พอถึงมรรค ๘ ต้องถึงเป็นพืดไป ต้องเข้าหลายอย่างทีเดียว เราจะเอาแต่อย่างเดียวไม่ได้

ถาม ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ได้ศึกษา จะรู้ไหมว่า มีโพธิปักขิยธรรมเข้าประกอบ ?
ตอบ ถ้าศึกษาก็อาจจะรู้ได้กระมังคะ แต่ว่าดิฉันไม่สอนนะคะเพราะว่าไม่จำเป็น อันนี้เป็นหลักปริยัติ ถ้าหากเวลาปฏิบัติ เอาปริยัติเข้าใช้ในอารมณ์ ปฏิบัติมากนัก ก็ได้ปัจจุบันอารมณ์

ถาม การเจริญวิปัสสนา บางครั้งให้กำหนดนาม บางครั้งให้กำหนดรูป เพราะเหตุใด ?
ตอบ อารมณ์ใดที่จะยกขึ้นสู่วิปัสสนา อารมณ์นั้นต้องเป็นที่อาศัยของ ตัณหา และ ทิฏฐิใช่ไหม ตามมหาสติปัฏฐาน ท่านก็คงทราบแล้ว มหาสติปัฏฐานพอปฏิบัติไป ท่านก็บอกอารมณ์ครั้งสุดท้าย ตัณหาและทิฏฐิต้องไม่อาศัยแล้ว อารมณ์นั้นความรู้สึกนั้นไม่เป็นที่อาศัยของตัณหาและทิฏฐิแล้ว แปลว่า บริสุทธิ์แล้ว เข้าถึงวิสุทธิแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่จำกัดความหมายแล้วว่า ถ้าอารมณ์ใดไม่มีงานทำ งานของวิปัสสนาต้องละกิเลส เมื่อในที่นั้นไม่มีกิเลส วิปัสสนาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น เวลาเห็น ต้องกำหนด นามเห็น เพราะทิฏฐิอาศัยที่นามเห็น โดยสำคัญผิด คิดว่า เราเห็น ไม่ควรกำหนดรูปที่เห็น

ถาม ที่ว่าไม่ควรยกอารมณ์นั้นขึ้นสู่วิปัสสนาน่ะ ไม่ควรอย่างไร พูดให้ชัดแจ้งไปเลย
ตอบ ไม่ควร เพราะว่า วิปัสสนาเกิดไม่ได้

ถาม ก็ถ้าเช่นนั้น ก็บอกว่า ใช้ไม่ได้เสียไม่ดีกว่าหรือ ?
ตอบ แต่ว่าสมาธิ เกิดได้


ถาม อ้อ ! ยังต้องการสมาธิอีกหรือ ?
ตอบ ใช่ค่ะ เช่นอย่างเราเพ่งกสิณ ซึ่งไม่เป็นที่อาศัยของตัณหาและทิฏฐิ เราไม่เคยรู้สึกเลยว่า อันนั้นเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา ใช่ไหม อย่างดวงกสิณนะ ใครจะไปนึกว่า ดวงกสิณน่ะ เป็นเรา ใครยึดบ้างไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น ทำวิปัสสนาไม่ได้ แต่ว่าเป็นที่ตั้งของสมาธิได้

ถาม คือไม่ปฏิเสธอารมณ์นั้น แม้แต่อารมณ์นั้นไม่เป็นที่อาศัยของตัณหาและทิฏฐิ อารมณ์นั้นก็ไม่ปฏิเสธเสียโดยสิ้นเชิง
ตอบ ถูกแล้วค่ะ

ถาม สามารถจะให้เกิดสมาธิได้
ตอบ ใช่

ถาม ผู้ปฏิบัติที่กำหนดการเดินช้าๆ โดยพิจารณา ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ก็เพื่อให้เห็นทุกข์ได้เร็ว ยิ่งเดินช้าเท่าไหร่ ทุกข์ก็จะเห็นได้เร็วได้ง่ายเท่านั้น?
ตอบ จะเดินช้า เดินเร็วก็ตาม ทุกข์มันมีอยู่แล้วในอิริยาบถ เดินเร็วก็มีทุกข์นี่คะ

ถาม แต่ว่ามันเห็นช้า
ตอบ จะไปเห็นช้าได้อย่างไร ในเมื่อธรรมดามันไม่ได้เดินอย่างนั้น นี่ เดินอย่างนั้นเพื่อจะให้เห็นว่ามันเป็นทุกข์ มันจะได้เดินลำบากหน่อยใช่ไหม ถ้าไม่เดินอย่างนั้นล่ะ มันก็ไม่เห็นทุกข์ แต่ความจริงน่ะ จะเดินอย่างไร มันก็เป็นทุกข์ มันจะต้องมีประจำของมันอยู่แล้ว มันจะต้องเดินต้องแก้ไข ใช่ไหมล่ะคะ







Create Date : 25 เมษายน 2554
Last Update : 25 เมษายน 2554 20:11:44 น. 1 comments
Counter : 1838 Pageviews.

 
ดีนะ


โดย: samaporn siripoon IP: 182.232.155.180 วันที่: 14 พฤษภาคม 2555 เวลา:11:43:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Toad
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Toad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.