Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
3 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
พุทธจริยศาสตร์กับการกิน

พุทธจริยศาสตร์กับการกิน
….โดย ปรีชา บุญศรีตัน*

ในบทความนี้ มีความสนใจที่จะนำเสนอประเด็นปัญหาที่ว่า การกินอาหารหรือการกินข้าวโดยเฉพาะของมนุษย์นั้น จำเป็นที่จะต้องมีจริยธรรมหรือไม่? หรือมีปัญหาอะไรกับการกินของคนที่พุทธจริยศาสตร์ถึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง หรืออีกนัยหนึ่งคือ พระพุทธศาสนานั้นมีคำสอนเกี่ยวกับการกินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดบ้างหรือไม่? หลายคนอาจสงสัยว่า การกินข้าวจำเป็นต้องมีจริยธรรมด้วยหรือ? พุทธจริยศาสตร์กับการกิน ไม่น่าที่จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เพราะเท่าที่มองเห็นตามความเป็นจริงและเป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในบรรดาเงื่อนไขปัจจัยแห่งการดำรงชีพอื่นๆ ข้อเท็จจริงนี้ ถือว่า เป็นความจริงที่ยอมรับโดยทั่วกัน ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีข้อความที่ยืนยันถึงความจริงข้อนี้ไว้เช่นกันว่า สัตว์ทั้งปวงดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหาร (สพฺเพ สตฺตา อาหารทิฏฺฐิกา) ความข้อนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นมีความสัมพันธ์กับการกิน ไม่เพียงแต่ข้อความที่ยกมาอ้างเท่านั้น ยังปรากฏข้อความที่เป็นคำสอนอื่นๆ อีกที่แสดงถึงการให้ความสำคัญแก่การกิน และยังมองการกินให้เป็นสิ่งที่นอกจากจะเป็นการให้ประโยชน์เฉพาะอาหารแล้ว ยังมุ่งให้เป็นกิจกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาด้านจิตใจอีกด้วย
การที่จะกล่าวถึงพุทธจริยศาสตร์กับการกินเพื่อสุขภาพนั้น ย่อมแสดงว่า พฤติกรรมการกินของมนุษย์มีปัญหา และการกินไม่เป็นไปเพื่อสุขภาพ หรือมีพฤติกรรมการกินที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นในสังคมไทย ประเด็นที่ควรพิจารณาในการกินเพื่อสุขภาพนั้น คือ (1) พฤติกรรมการกิน (2) อาหาร ว่าเป็นเช่นไรหากเรามองย้อนไปในอดีต พฤติกรรมการกินของมนุษย์ไม่มีความซับซ้อนมากนักเหมือนปัจจุบัน การกินยังถือว่าเป็นกิจวัตรประจำวันเพื่อการดำรงอยู่เพื่อความมีสุขภาพที่ดี หรือเพื่อการทำงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ และอาหารเป็นไปตามความเหมาะสมกับความเป็นจริง กล่าวได้ว่า อาหารในอดีต ผลิตจากวัตถุดิบที่มีความปลอดภัยสูงกว่าปัจจุบัน เพราะอาหารที่ได้มาส่วนมาก มาจากการเพาะปลูกโดยกระบวนการที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่ใช้สารเคมีในการผลิต หรือไม่ก็ได้มาจากที่เกิดเองตามธรรมชาติ จึงค่อนข้างที่จะมีความปลอดสารพิษมากกว่าปัจจุบัน

ปัญหาด้านสุขภาพของคนปัจจุบัน นอกจากจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายใน เช่น ความบกพร่องของยีนส์ หรือเป็นเพราะกรรมพันธุ์แล้ว ยังมาจากปัจจัยภายนอก เช่น อาหารและสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหาร กล่าวได้ว่า โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่มนุษย์รับประทานเข้าไป ในส่วนนี้เป็นไปได้ว่า มนุษย์เราไม่คำนึงถึงเท่าที่ควรจะเป็น การกินยังเป็นการกินเพื่อให้อิ่มผ่านพ้นไปเป็นวันๆ เท่านั้น การให้ค่าหรือความสำคัญแก่การกินที่เหมาะสมยังไม่มีให้เห็นเท่าที่ควร ปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน มะเร็ง โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสีย ท้องอืด แม้กระทั่งโรคอ้วน แม้ไม่ใช่โรคโดยตรง แต่เมื่อมีการรักษาเยียวยาและทำให้ไม่พอใจ ก็ถือว่า เป็นโรคชนิดหนึ่ง เหล่านี้ ถือว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากอาหาร เรียกว่า อาหารสมุฏฐาน ซึ่งเป็นสมุฏฐานหนึ่งในบรรดาสมุฏฐาน 4 ประการ ตามนัยแห่งอภิธรรม คือ กรรมสมุฏฐาน จิตตสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน และอาหารสมุฏฐาน

ตามนัยอภิธรรม แม้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์จะเกี่ยวพันกับสมุฏฐานทั้ง 4 ประการก็ตาม แต่ความมุ่งหมายในที่นี้ ใคร่จะนำเสนอในด้านอาหารสมุฏฐานเป็นหลัก และไม่ประสงค์ที่จะนำเสนอในมุมของอภิธรรม ดังนั้น จึงทำให้ความเข้าใจตรงกันว่า ที่จริงแล้ว ปัญหาต่างๆ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการกิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญ 2 ส่วนประกอบกัน คือ พฤติกรรมการกินและอาหารที่กินเข้าไป เพราะพฤติกรรมการกินของมนุษย์ ยังเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่พึงปรารถนา คำว่า ไม่เหมาะสม และไม่พึงปรารถนา ในที่นี้หมายความว่า ไม่สอดคล้องกับความต้องการของร่างกาย ไม่สอดคล้องกับการทำงานของร่างกาย รวมถึงการกินที่ไม่พอเหมาะพอดี ซึ่งมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ตลอดถึงการกินที่ไม่เป็นมื้อ ไม่เป็นเวลา ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์จากอาหารน้อย ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอแล้ว ยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น โรคกระเพาะอักเสบ และเป็นการทำให้การทำงานของร่างกายเสียระบบอีกด้วย

ในเรื่องการกิน มักจะถูกมองว่า ไม่เป็นปัญหาหรือไม่มีปัญหาด้านจริยธรรม หรือเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับจริยธรรม เพราะคำนึงถึงแต่เพียงว่า จะมีอาหารให้กินในแต่ละวันหรือไม่ หรือขอให้มีกินก่อนแล้วค่อยพูดถึงเรื่องจริยธรรมกัน หรือจะกินอะไรมากกว่าจะกินอย่างไรหรือเพื่ออะไร ส่วนใหญ่จะกลัวไม่มีจะกินมากกว่า ภาวะที่บีบคั้นของสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตเพื่อสืบต่อชีวิตในบางพื้นที่ที่อาหารการกินหาได้ยาก การไม่มีจะกิน จึงเป็นปัญหาหลักที่จะต้องคิดถึง ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้นในภาวการณ์อย่างนั้น พฤติกรรมการกินในสภาวะเช่นนี้ จึงมีลักษณะว่าอะไรก็ได้ที่สามารถใช้เป็นอาหารได้ หรือที่กินแล้วไม่ตาย พอให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ในที่สุดบางพื้นที่ขาดแคลนอาหารถึงกับต้องกินดิน เป็นอาหารตามที่เป็นข่าว หรือกินสัตว์เกือบทุกประเภทเป็นอาหาร และที่สำคัญ “ความเชื่อ” บางอย่างที่เกี่ยวกับอาหารบางชนิด ที่เชื่อว่า เป็นของบำรุงร่างกายเฉพาะส่วน เช่น บำรุงสมรรถนะทางเพศ เป็นต้น จึงปรากฏมีพฤติกรรมการกินที่แปลกพิสดารอยู่บ่อยๆ เช่น การกินดีงู เลือดงู อุ้งตีนหมี โดยที่สุดแม้กระทั่งสมองลิง เป็นต้น

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า อาหารเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้มีจำนวนมากมายทั้งอาหารไทยและต่างประเทศ มีให้เลือกบริโภคเลือกซื้อหา มีทั้งที่มีคุณภาพมากและมีคุณภาพน้อย ทั้งที่สามารถให้คุณและให้โทษได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ผ่านกรรมวิธีการผลิตการปรุง ที่เราในฐานะเป็นผู้บริโภคไม่สามารถรับรู้ได้ว่า มีความสะอาด ปลอดภัยและมีคุณภาพเพียงไร ดังนั้น พฤติกรรมการกินของคนส่วนมาก จึงเป็นการเลือกกินอาหารที่ตนชอบมากกว่าการพิจารณาคำนึงถึงคุณค่าทางสารอาหาร ความสะอาดและปริมาณที่เหมาะสม มีความเป็นไปได้ว่า อาหารที่ชอบ อาจไม่มีประโยชน์เพียงพอต่อร่างกาย หรือสิ่งที่เราชอบ อาจให้คุณค่าไม่สมกับที่เราชอบก็ได้ หรือกล่าวอีกด้านหนึ่งว่า คนหรือสิ่งที่เราชอบนั่นแหละ มักทำให้เราผิดหวังและเดือดร้อนอยู่เสมอ

นอกจากพฤติกรรมการกินตามปกติดังกล่าวที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพแล้ว ยังมีพฤติกรรมการกินที่ถูกมองว่า เป็นปัญหาทางจริยธรรมด้วย เช่น การกินสมองลิงเป็นๆ อุ้งตีนหมี ดีงู ตลอดถึงการกินเนื้อสัตว์ต่างๆ เพราะเกี่ยวข้องกับหลักศีล 5 ข้อที่ 1 ในทางพระพุทธศาสนาที่ห้ามฆ่าสัตว์มีชีวิต แต่พฤติกรรมการกินในทำนองนี้ ยังปรากฏในหลายสังคม ไม่จำเพาะแต่ในสังคมไทยเท่านั้น ตรงกันข้าม ก็มีพฤติกรรมการกินของอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธที่จะกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์ใหญ่ จึงหันมากินอาหารประเภทผักแทน เรียกว่า อาหารมังสวิรัติ ซึ่งก็เจอปัญหาเรื่องสารพิษที่มีอยู่กับพืชพักต่างๆ อีก ซึ่งย่อมต้องส่งผลถึงปัญหาด้านสุขภาพแน่นอน

ด้วยเหตุผลดังเสนอมานี้ จะเห็นว่า พุทธจริยศาสตร์ ควรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องและยิ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นหลักปฏิบัติที่ทุกคนควรรู้และตระหนักถึงการนำมาประยุกต์ใช้กับการกินในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพมากที่สุด ในบทความนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอหลัก จริยธรรมในการกินอาหารตามทัศนะของพระพุทธศาสนาว่า มีหลักธรรมสำคัญอะไรบ้างที่ควรนำมาใช้เพื่อเป็นคติเตือนใจในการกินอาหารแต่ละครั้ง
ในการกินอาหาร สิ่งที่ควรตั้งคำถามเอาไว้ในใจอยู่เสมอ คือ อะไรคือเป้าหมายของการกิน การกินนั้นมีเป้าหมายเพื่ออะไร เพราะคำตอบของคำถามนี้ จะเป็นตัวกำหนดถึงวิธีการกินหรือพฤติกรรมในการกินและสิ่งที่จะกิน เพื่อตอบสนองเป้าหมายของการกินนั้นให้มากที่สุด




Create Date : 03 กรกฎาคม 2552
Last Update : 3 กรกฎาคม 2552 16:56:32 น. 0 comments
Counter : 1177 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Toad
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Toad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.