Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
3 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
ธรรมชาติของความเบื่อ

ธรรมชาติของความเบื่อ

ในคนทั่วไปความเบื่อจะเป็นอารมณ์ผสมปัญญาเช่นเดียวกับความรัก แต่ถ้าเป็นพระอริยะ และผู้ชำนาญทางจิต ความเบื่อจักปรากฎเป็นปัญญาญาณแห่งความเบื่อมากกว่าอารมณ์เบื่อ
ความเบื่อก็เหมือนสิ่งต่างๆ มีทั้งคุณอนันต์ และโทษมหันต์หากบริหารไม่ดีมีปฏิกริยาเบี่ยงเบนก็อาจทำให้หลงทาง ชีวิตเสียหายได้ ความเบื่อนั้นมักเข้ามาทักทาย เยี่ยมกรายมาหาทุกคนเป็นช่วงๆ ไม่ว่าต้องการหรือไม่ก็ตาม หากบริหารดีก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน

อะไรบ้างที่ทำให้เราเบื่อ

ความไร้สาระ ความไร้สาระบางประการนั้นได้ช่วยผ่อนคลายจากความเครียด แก้เซ็ง แต่ถ้าเจออยู่บ่อยๆ จะรู้สึกว่าชีวิตดูจะไร้ความหมาย หาแก่นสารของชีวิตไม่เจอ เพราะเจอแต่ของไม่จริง หรือจริงก็ไร้สาระอยู่เนืองๆ ไม่นานก็จะเบื่อในที่สุด
ไร้ซึ่งเป้าหมาย จะรู้สึกเคว้งคว้างเหมือนลอยล่องไปตามกระแส กระทบโน้นบ้าง นี้บ้าง บอบช้ำเป็นระลอกๆ และไม่นานความเบื่อก็แวะมาเยี่ยมเยือน
การอยู่ท่ามกลางภาวะต่างระดับ หากคุณเป็นคนเก่ง แต่ต้องร่วมงานกับคนไม่เอาไหน หรือเป็นคนดีแต่ต้องอยู่กับคนไม่ดี หรือคุณไม่ดีคิดทำแต่สิ่งเลวๆ แต่ต้องไปอยู่กับคนมีธรรมะ ทุกฝ่ายจะต่างเบื่อหน่ายในกันและกัน เพราะความแตกต่างกันโดยธาตุ

การเกิดมานาน พวกที่เกิดมาในโลกมานาน หลายภพ หลายชาติ ทั้งในยุครุ่งเรือง ล่มสลาย ผ่านมาหมด พอเกิดมาและเจอสิ่งใดๆ เข้าไม่ว่า จะเป็นความดี ความชั่ว และความขัดแย้งเดิมๆ ทุกอย่างเดิมๆ พวกนี้จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไร้สาระ และจะรู้สึกเบื่อแบบนอนเนื่องเนิ่นนาน ความเบื่อของพวกนี้จะเบื่อทุกอย่าง แต่ไม่รุนแรง
พวกนี้มักจะคิดว่า เกิดอีกแล้วเรอะ พอใช้ชีวิตไปสักพัก ก็มักจะมีคำถามว่าเราเกิดมาทำไมอีก เห็นอะไรก็ไร้สาระไปหมด พร้อมที่จะปล่อยวางได้ทุกสิ่ง และถ้าเป็นคนที่จะต้องจัดการอะไรก็มักจะมีมาตรฐานสูงกว่าคนทั่วไปเป็นปกติ ถ้าทำให้ดีไม่ได้ก็จะทิ้งได้ง่ายมากแม้ในสิ่งที่คนอื่นทิ้งไม่ได้วางไม่ลง
คนเรามักไม่เห็นโลกตามความเป็นจริงว่าธรรมชาตินั้นมีทั้งดี (กุศล) ชั่ว (อกุศล) และความเป็นกลาง(อัพยากตา) ประกอบกันอยู่ ปัญญาก็จะคับแคบและหลงโลกในที่สุด เคลิบเคลิ้มอยู่ในความดีงาม ฝันหวานไปเรื่อย ผิดพลาดก็ปลอบใจตัวเอง หลอกตัวเองด้วยทัศนะดีๆ ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ เรื่อยไป เรียกว่าถูกความดีหลอน

เมื่อหลงโลกอย่างนี้ก็จะประมาทขาดความระมัดระวัง กระทำการผิดพลาดด้วยคิดว่าไม่เป็นไรบ้าง หรือปล่อยให้ผู้อื่นมากระทำการไม่สมควรด้วยคิดว่าไม่เป็นไรบ้าง เพราะจิตที่เห็นแต่ส่วนดีจะมองไม่เห็นโทษที่แฝงอยู่ในความดีนั้น ดังที่อาหารแฝงอยู่ในขี้ ขี้แฝงอยู่ในอาหาร หรือเช่นเดียวกับความเสื่อมแฝงอยู่ในความเจริญ และความเจริญอยู่ในความเสื่อมนั้นเอง การไม่มีปัญญารอบด้านเช่นนั้น คือภัยของการหลงดีประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง เมื่อทรงสุขอยู่ด้วยใจอันสะอาด และสมาธิ ดิ่งในฌาณ จะติดสุขในจิตใจอันแน่วแน่ ตั้งมั่น อันกอปรด้วยกุศลล้วนๆ ครั้นต้องพบเจอะเจออกุศล (ปฏิกริยาลบ) ของโลกอันมีอยู่ตามธรรมชาติของมันบ้าง ก็จะกระทบกระเทือนมากเข้าก็จะบังเกิดเป็นปฎิฆะ ปฏิฆะบ่อยๆ ก็จะปรากฎเป็นโทสะ เมื่อโทสะเกิดจิตใจก็เสียสภาวะ และเบื่อหน่ายสิ่งที่ต้องเจอะเจอ ทั้งสองกรณี เป็นเหตุให้สูญเสียความสุขอันยิ่งใหญ่ไป และต้องเผชิญกับทุกข์อันประณีตร้าวลึก ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ต้องการอย่างยิ่ง เมื่อความทุกข์ปรากฏครอบงำใจอยู่จิตย่อมเศร้าหมอง ผิวพรรณที่เปล่งปลั่งก็เสื่อมราศี เมื่อกายและจิตเศร้าหมอง ปรากฎอาการทุกข์และมีปฏิกริยาทางพฤติกรรมสะท้อนทุกข์ออกมาปรากฎจึงเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์นินทา ความนับถือ ความเชื่อถือและสรรเสริญของผู้คนที่เคยมีมาแต่ก่อน ก็ค่อยๆสูญหายไป ความทุกข์ก็จะทับท่วมใจยิ่งขึ้น อันเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา สร้างความเบื่อหน่ายมหาศาลหน่วงถ่วงดวงใจอีก

ในโลกนี้ ประสบความสำเร็จแล้วล้มเหลว ล้มเหลวแล้วประสบความสำเร็จสลับกันเป็นช่วงเวลา หรือสลับกันเป็นเรื่องๆ หรือพร้อมๆ กันก็มี ทำให้ชีวิตหมุนเวียนเปลี่ยนแปรไม่มั่นคง ประมาณว่า เมื่อพ้นทุกข์ก็เป็นสุขเพราะทุกข์ผ่านไป วนเวียนสลับกันไปแบบนี้
ดังนั้น จะแสวงหาความสุขโดยไม่ทุกข์ในโลกนี้ ไม่มี จะแสวงหาทุกข์โดยไม่สุขก็ไม่มี จะแสวงหาความเจริญโดยไม่เสื่อมก็ไม่ได้ มันมาคู่กันเสมอ เหมือนมืดกับสว่างเป็นคนละปลายของสิ่งเดียวกัน ถูกกับผิดก็ซ้อนกันอยู่ การจะบรรลุได้ มีทางเดียวคือต้องมั่นคงอยู่ในความบริสุทธิ์เหนือคู่ทวิลักษณ์ ซึ่งกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ก็ความเบื่อนั่นแหละเป็นโชเฟอร์ขับเรามา เพราะฉะนั้นควรจะรู้จักบริหารความเบื่อให้เป็น และทำความเข้าใจให้ได้

เหตุและที่มา คือความไม่ลงตัวกันระหว่างตัวตน ปรารถนา ความสุข และความทุกข์ ตัวตนกับปรารถนานั้นจะอยู่คู่กันเสมอขณะที่ความสุขและทุกข์จะเป็นสองคู่ขนานประกบตัวตนแห่งปรารถนาอยู่ ถ้าทั้งหมดนี้ไม่ลงตัวเมื่อใดก็จะเกิดความเบื่อเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น คนที่ทุกข์ก็เบื่อ คนที่สุขก็เบื่อได้ ถ้าสุขหรือทุกข์นั้นไม่ลงตัวกับปรารถนา และศักยภาพต่างๆ แห่งตัวตน ด้วยเหตุนี้คนรวยก็เบื่อเป็น คนจนก็เบื่อบ่อย คนใหญ่โตก็เบื่อไม่น้อย คนเล็กน้อยก็เบื่อมาก แม้มีทุกอย่างที่โลกต้องการ หรือโลกเห็นว่าดี แต่ถ้าสิ่งที่มีที่เป็นนั้นไม่ลงตัวกับปรารถนา และศักยภาพแห่งตัวตน ก็เบื่อได้ทุกทีไป
ความลงตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าความมีความเป็นโดยตัวมันเอง แต่ตราบใดที่ยังไม่สามารถบริหารความลงตัวได้ ต้องพบความเบื่อแน่นอน ความเบื่อจึงเยี่ยมกรายมาตลอดทั้งในความสำเร็จ และล้มเหลว ในเมื่อมันเป็นธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลบได้บ้างแต่ไม่พ้นจริง ดังนั้นการบริหารความเบื่อให้เกิดประโยชน์ น่าจะเป็นสิ่งซึ่งชีวิตควรเรียนรู้ไว้

การสร้างความเบื่อ เมื่อความเบื่อมีประโยชน์ในการตรวจสอบคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่เป็ฯอยู่และขณะเดียวกันเป็นแรงส่งไปสู่ระดับพัฒนาการที่สูงกว่า คนที่ไม่มีความเบื่อเลยนั้น ชีวิตจึงเสี่ยงอยู่ในความประมาทเพราะจะไม่ค่อยตรวจสอบประเมินผลสิ่งที่ตนเป็นอยู่ มีอยู่และจะค้างอยู่ในภาวะนั้นของชีวิตเป็นเวลานาน และยิ่งนานก็จะยิ่งหลงผิดคิดว่าตนถึงที่สุดแล้ว ทั้งที่ยังไม่สุดจริง ดังนั้นการมีความเบื่อบ้างจะช่วยทำให้ไม่ประมาท เพราะความเบื่อเป็นปัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งทางศาสนาเรียกว่า นิพพิทาญาณ

การสร้างความเบื่อนั้นสามารถทำได้โดยการขยายขอบข่ายทางปัญญาให้เห็นความเป็นจริงรอบด้าน กล่าวคือ ให้เห็นโทษในคุณหรือร่วมกับคุณ ทุกข์ในสุขหรือซ้อนกับสุข โง่กับฉลาดอยู่ร่วมกันเป็นต้น ธรรมชาติทั้งหลายตั้งอยู่บนโครงสร้างไตรคุณ คือ ดี ชั่ว และเป็นกลาง เสมอ

คนเป็นจำนวนมากพยายามหลอกตัวเอง และหลอกกันและกันให้เห็นแต่ส่วนดี จึงเห็นธรรมชาติไม่ครบถ้วนและหลงผิด นักธุรกิจที่เจ๊งกันระนาวตอนที่เกิดวิกฤติก็เพราะก่อนหน้านั้นมองแต่ด้านดีเห็นแต่โอกาสโดยไม่เผื่อโทษ จึงไม่ได้เตรียมพร้อมรับภัย หรือปรับตัวไม่ทัน คนมองโลกในแง่ดีด้านเดียวก็โง่พอๆ กับคนมองโลกในแง่ร้ายด้านเดียว เพราะล้วนหลอกตัวเองกันทั้งคู่ ธรรมชาติมีทั้งดีทั้งชั่วและเป็นกลาง คนที่มีปัญญาสมบูรณ์ต้องเห็นทั้งสามด้านพร้อมๆ กัน ยิ่งเป็นนักบริหารยิ่งจำเป็นต้องเห็นทั้งสิ่งที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้และเลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้จึงจะสามารถวางแผนได้อย่างเหมาะสม เป็นนักปฏิบัติใดๆ ก็ต้องเห็นที่สุดทั้งดีและชั่ว จึงจะหาทางสายกลางเจอ

จำให้มั่นว่า ปัญญาที่แท้ต้องเห็นความจริงตรงตามจริง ไม่ใช่เฉพาะความจริงที่ตนอยากเห็น นั่นหมายความว่าต้องเห็นรอบด้านด้วยปัญญาอันเที่ยงตรง จากนั้นในขั้นตอนการบริหารต้องตั้งใจสรรค์สร้างเฉพาะสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ดังนั้นทุกอย่างที่คุณมีอยู่ เป็นอยู่ คิดอยู่ พูดอยู่ ทำอยู่ เกี่ยวข้องอยู่นั้น จงประเมินมันเสมอว่ามีคุณอะไรแค่ไหน และคุณนั้นมีอิทธิพลต่อความสุขแท้นิรันดรแค่ไหน สิ่งนั้นมีโทษแค่ไหนและโทษนั้นมีอิทธิพลต่อการสูญเสียหรือพลาดความสุขอันบริสุทธิ์นิรันดรแค่ไหน

เมื่อเริ่มเห็นดีกับชั่วอยู่ด้วยกัน ถูกซ้อนอยู่กับผิด ความเบื่อจะค่อยๆเริ่มเกิดขึ้นความเบื่อนี้เป็นปัญญา หรือนิพพิทาญาณ ซึ่งญาณตัวนี้จะผลักดันให้เราพัฒนาสู่คุณค่าที่ยิ่งกว่า และนี่หล่ะคือการไต่ระดับวิวัฒนาการโดยธรรมชาติของชีวิต ดังนั้น ถ้าใครไม่มีความเบื่อเลย หากประสงค์การพัฒนาต่อก็ต้องเจริญนิพพิทาญาณขึ้นมาบ้าง โดยการประเมินทุกสิ่งในชีวิตเราด้วยปัญญาอันรอบด้าน ล้ำลึก และเที่ยงตรง

คนเป็นจำนวนมากไม่รู้จักเทคนิคการใช้ประโยชน์จากความเบื่อ พอมีความเบื่อเกิดขึ้นก็จะกลบเกลื่อน และพยายามทำตัวให้รื่นเริง เฮฮา เป็นการโยนความเบื่อทิ้งไปอย่างไม่ได้ประโยชน์ แท้จริงแล้วความเบื่อก็มีประโยชน์ต่อพัฒนาการแห่งชีวิต เช่น ใช้ในการยกระดับจิตใจ และความสำเร็จของตนให้สูงขึ้นไปตามระดับวิวัฒนาการ คนส่วนมากไม่รู้คุณค่าอันยิ่งใหญ่แห่งความเบื่อ พอเกิดความเบื่อขึ้นก็ถอย หรือหาทางกลบเกลื่อน เลยไม่ได้พัฒนาชีวิตให้สูงขึ้น พยายามใช้ภาวะแห่งชีวิตที่น่าเบื่อนั้น อุทิศชีวิตสร้างบารมีให้เต็ม บารมีคืออำนาจใจโดยธรรมที่จะทำให้จิตใจสูงส่งขึ้น บารมีเป็นองค์ประกอบแห่งความสำเร็จทั้งปวงทั้งทางโลก ทางกรรม และทางธรรม

สิ่งที่จะทำให้เกิดบารมีแก่เราได้นั้น พระพุทธองค์ทรงแนะนำว่า ต้องทุ่มเทเพื่อ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และ อุเบกขา ทำแบบนี้คนในโลกก็จะว่าบ้าแน่นอน แต่บ้าแล้วได้บารมีเต็มเปี่ยมก็คุ้มน่ะ ถ้าไม่ได้ก็ไม่คุ้ม ไหนๆจะบ้าทั้งทีก็บ้าให้ได้ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น

ทาน คนที่ยังตระหนี่ถี่เหนียว แย่งตำแหน่ง แย่งความดีหรือหึงหวงกันอยู่ บ่งบอกถึงว่าทานบารมียังพร่อง
ศีล ยกตัวอย่างคือ หลวงปู่ทวด ในสมัยนั้นพระปฏิบัติจะถูกกล่าวหาค่อนขอด กลั่นแกล้งจากพระบ้านมาก หาว่าบ้าบ้าง อวดอุตริบ้าง ไม่ให้อยู่กับหมู่คณะบ้าง หลวงปู่ทวดก็เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งโดนกลั่นแกล้งขั้นรุนแรงแต่ท่านก็แน่วแน่มั่นคงในศีล ไม่ตอบโต้แม้แต่น้อย ท่านเขียนสติ เตือนตนว่า “ พูดมาก เสียมาก พูดน้อย เสียน้อย ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตว์ “ ใครที่ยังอ้างเหตุต่างๆ เพื่อจะทำผิดแม้เล็กน้อย หรือพวกที่กล่าวร้าย ป้ายสี ส่อเสียด นินทากันอยู่ แสดงว่าศีลยังพร่อง

เนกขัมมะ ชาติที่ควรบำเพ็ญเนกขัมมะหรือการละกามทั้งหยาบและละเอียดให้เต็มเปี่ยมนั้นคือชาติทีมีโอกาสบวช เพราะภาวะนักบวชเป็นภาวะที่เหมาะสมที่สุดในการห่างไกลกาม เช่นการบวชเนกขัมมะ ที่วัดอัมพวัน ของหลวงพ่อจรัล หากทำจริง อนิสงห์ จะมีมากกว่าพระที่บวชแบบอาศัยวัดเฉยๆ โดยไม่ใส่ใจในธรรมปฏิบัติ ซึ่งถึงจะบวชมานานแต่ก็ไร้คุณค่าทางจิต เพราะไม่ได้ฝึก ตัวอย่างท่านที่บำเพ็ญเนกขัมมบารมีได้เต็มเปี่ยมคือ พระศิวะ หมู่คณะท่านใหญ่ ลูกเมียท่านเยอะ สมัยที่โลกมนุษย์และสวรรค์ยังไปมาหาสู่กันได้ง่าย พระศิวะท่านดำรงตำแหน่งเป็นองค์อินทราต้องรรับแขกจากโลกสวรรค์ พรหมโลก และโลกมนุษย์เนืองๆ มีอยู่วันหนึ่งท่านกำลังเพลิดเพลินกับมเหสีของท่านองค์หนึ่ง แขกผู้มาเยือนเห็นเข้า ทั้งผู้เห็นและผู้ถูกเห็นต่างละอายต่อกัน พระศิวะจึงทรงอธิษฐานวิรัติกามนับแต่นั้นมา และทรงลาออกจากฐานะอัมรินทราชา เจริญเนกขัมมะสมาธิ อยู่บนยอดเขาไกรลาศมาจนบัดนี้ กระทั่งมีฤทธานุภาพมหาศาล

การที่ท่านยอมสละทุกอย่างแม้ตำแหน่งอันสำคัญและแม้ชีวิตเพื่อเนกขัมมะนั้น เทพชั้นผู้ใหญ่หลายท่านทักท้วงไม่เห็นด้วย บ้างก็ว่าท่านบ้าไปแล้ว แต่นั่นทำให้เนกขัมมบารมีท่านเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ จิตใจเป็นใหญ่อิสระเหนือสิ่งเร้าแห่งความรัก และกามารมณ์ทั้งปวงใครจะมาทำให้ท่านลุ่มหลงไม่ได้อีกแล้ว และเป็นแม่แบบของผู้ทรงฌาณยิ่งใหญ่ในจักรวาล ทั้งเป็นหนึ่งในศาสดาแห่งศาสนาฮินดู คนที่ยังหลงไหลด้วยรัก และหลงทั้งหลายนั้นแสดงว่าเนกขัมมบารมียังพร่องอยู่


ปัญญา ชาติที่ควรบำเพ็ญปัญญาให้เต็มเปี่ยมนั้นคือ ชาติที่โลกกำลังพัฒนาระบบวิทยาการอย่างจริงจัง แล้วเรียนรู้วิจัยสัจจะอย่างใดอย่างหนึ่งให้ถึงกฏแห่งธรรมชาติ หรือธรรมแท้ๆ เหนือธรรมชาติ คนที่ยังเหลวไหล ไร้สาระ เฮฮา ฟุ้งเฟ้อ ไม่รู้ชัดในตน ในบุคคลอื่น ในเหตุผล ในโลก ในธรรมชาติ และในธรรมะเหนือธรรมชาติ แสดงว่าปัญญายังพร่องอยู่
วิริยะ มหาตมะคานธี เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ คนที่ยังหดหู่ ท้อแท้ เมื่ออัตคัต โอกาสน้อยหรือเผชิญปัญหาอยู่ แสดงว่าวิริยะยังไม่เต็ม


ขันติ ชาติที่ควรบำเพ็ญขันติให้เต็มเปี่ยมนั้นคือชาติทีต้องเผชิญความขัดแย้งรุนแรง แม้การกระทำที่ป่าเถื่อนโหดร้ายต่อกัน แล้วตั้งใจปรารถนาดีต่อทุกคนทั้งดีทั้งชั่ว แม้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ไม่โกรธแม้แต่น้อย ถ้าทำได้ก็เป็นการพัฒนาความมั่นคงอันเปราะบางไปเป็นความทนทานอันไม่สะทกสะท้านซึ่งยิ่งใหญ่กว่าและสงบแท้ ซึ่งยังยืนกว่า คนที่ยังมีนิสัยโวยวาย เจ้าอารมณ์แสดงว่าขันติยังไม่เต็ม
สัจจะ คนที่ยังอ้างโน่นอ้างนี่เพียงเพื่อจะทรยศต่อสัจจะ แสดงว่าสัจจะบารมียังไม่เต็ม


อธิษฐาน คนที่ยังหดหู่ ท้อแท้ ท้อถอย หรือขลาด หวาดกลัวอยู่นั้น แสดงว่าอธิษฐานบารมีไม่เต็ม ทำอะไรสำเร็จยาก
เมตตา ตัวอย่างคือพระแม่กวนอิม ด้วยความเมตตาหวังอนุเคราะห์ต่อสัตว์โลก ท่านงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ใดๆ ตั้งแต่เด็ก ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง ทั้งยังใฝ่ในธรรมะผิดคนทั่วไป ในขณะที่พระบิดาเป็นนักรบที่กร้าวแกร่ง บิดาหาว่าท่านบ้า บังคับให้เลิกเสีย ท่านก็ยังประพฤติต่อไปโดยมั่นคง บิดาบังคับอย่างไรก็ไม่ยอม จนกริ้วมาก ทรงสั่งให้ประหารชีวิต ท่านก็ยินดีตายดีกว่าจะเสียเมตตา เพชรฆาตเห็นใจเจ้าหญิงมาก ปลงพระชนม์ไม่ลง แต่ในที่สุดเสือก็มาคาบท่านไปไว้ในป่าท่านบำเพ็ญเพียรจนได้ คุณวิเศษในที่สุด คนที่ยังฉุนเฉียว โกรธง่าย อาฆาต พยาบาทกันอยู่นั้น ยังห่างไกลกับคำว่าเมตตานัก


อุเบกขา ชาติที่ควรบำเพ็ญอุเบกขาให้เต็มเปี่ยมนั้นคือชาติที่โลกมากไปด้วยความขัดแย้ง ความถูกผิดและภัยนานาประการจนน่าเบื่ออย่างยิ่ง การเจริญอุเบกขาต้องรักษาความสงบให้ได้ในทุกภาวะการณ์ไม่หวั่นไหวไปกับปรากฏการณ์ทั้งหลาย ท่านที่บำเพ็ญอุเบกขาบารมีได้เต็มเปี่ยม คือคนที่อยู่เหนือดี เหนือชั่ว เหนือถูก เหนือผิด เหนือชอบ เหนือชังได้แล้ว พวกนี้จิตใจจะเป็นอิสระมาก และมักเก็บตัว ไม่ค่อยปรากฎในประวัติศาสตร์นัก แต่บารมีและพลังอำนาจพวกนี้สูงมาก เพราะอุเบกขาบารมีเป็นบารมีใหญ่ คนจะเข้าถึงได้ต้องผ่านบารมีอื่นๆ มาก่อนโดยมาก นั่นคือการสร้างบารมีให้เต็มเปี่ยม เพื่อคุณสมบัติความเป็นยอดคนที่สมบูรณ์ เห็นไหมคนที่มีบารมีอันยิ่งใหญ่ล้วยถูกพิพากษ์ว่าเป็นคนบ้าทั้งสิ้น แต่บ้าแบบนี้ บ้าแล้วจิตวิญญาณสูงส่งยิ่งขึ้น ชีวิตทรงพลังมากขึ้น….เอาไหม.

การเลือกบารมีบำเพ็ญ

พวกที่วางแผนมาตั้งแต่ก่อนเกิดก็จะถูกจัดหลักสูตรไว้แล้วในวิถีชีวิต เช่นชาติที่ต้องเจริญทาน จะจัดให้รวยมาก ชาติที่จะเจริญความเพียรจะจัดให้จนมาก ชาติที่จะเจริญเมตตาจะจัดให้มีความสุขมากและมักมีผู้แหย่ให้โกรธเนืองๆ ชาติที่จะเจริญปัญญามักให้อยู่ในยุคแห่งการเรียนรู้ ชาติที่จะเจริญอุเบกขา จะจัดให้พบสิ่งที่ดีและชั่วมาคู่กัน สุขและทุกข์มาคู่กัน ถูกและผิดมาคู่กัน ชนิดที่เลือกอย่างหนึ่งก็จำต้องได้อีกอย่างหนึ่ง จึงต้องปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระเหนือทั้งสองอย่างจึงจะก้าวหน้า

ส่วนพวกที่ไม่ได้ว่างแผนมาก่อนเกิดก็ลองพิจารณาดูว่า ภาวะชีวิตของเราในขณะนี้ในโลกอย่างนี้ เหมาะที่จะพัฒนาบารมีอะไรให้เต็มได้และดูว่าคุณสมบัตินั้นๆ ในตนเต็มหรือยัง ถ้ายังก็เอาให้เต็มซะ ถ้าเต็มแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีก ควรทำตัวอื่นที่ยังไม่เต็มดี

คนที่สมบูรณ์บารมีต้องครบถ้วนทุกคุณสมบัติ แต่ก็อย่าบ้าอยู่อย่างเดียว บารมีแต่ละตัวนั้นจะเสริมกันและกัน เวลาบำเพ็ญก็ต้องบำเพ็ญทุกตัวเสริมกัน เพราะบารมีโดดๆ ก็จะเกิดผลข้างเคียงได้ คือ
ทาน ถ้าบ้าทานอย่างเดียวจนเกินพอดี จะให้อย่างไร้ค่าและไม่เกิดประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็นเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แม้ใจจะใหญ่แต่ผลต่อเนื่องจะไม่ดี ดังนั้หารให้ที่ดีต้องกอปรด้วยปัญญาด้วยจึงจะพอดีและเหมาะสม

ศีล ถ้าบ้าศีลอย่างเดียว ก็จะยึดถูก ติดดี และทะเลาะกับชั่ว หรือแม้ดีต่างระดับมาตรฐานก็ทะเลาะกันได้ พอทะเลาะกันก็แตกแยก สร้างความเสียหายกลายเป็นชั่วไปอีก ต้องมานั่งปั้นดีกันใหม่ พวกบ้าศีลมักจะลืมไปว่า ศีลเป็นกรอบเพื่อส่งไปสู่สมาธิ สมาธิเป็นฐานเพื่อสร้างปัญญา ศีลไม่ใช่เป้าหมายโดยตัวมันเอง ดังนั้นการประพฤติศีลต้องเป็นไปเพื่อสมาธิ ไม่ใช่รักษาศีลเพื่ออวดดี

เนกขัมมะ หากบ้าเนกขัมมะอย่างเดียวก็จะปฏิเสธความสัมพันธ์และการเสพโลกเป็นส่วนใหญ่ ทำไปทำมาเห็นว่าสิ่งทั้งปวงชั่วร้ายไปหมด กลัวยุ่งยากไปหมด ก็จะหดในกระดอง ขี้ขลาด ไม่เจริญ จริงๆ แล้ววัตถุทั้งหลาย เทคโนโลยี่ทั้งหลายเป็นกลาง ไม่มีความดีความชั่วใดๆ มันจะดีหรือชั่วอยู่ที่ผู้เสพและวิธีเสพไม่ได้อยู่ที่วัตถุหรือเทคโนโลยี่ คนก็เช่นกัน ทุกคนมีทั้งดีและชั่วในตัว ดังนั้นใครเป็นอย่างไรไม่สำคัญ ที่สำคัญเราบริหาร ความสัมพันธ์ให้เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างไรต่างหาก แต่ถ้าบ้าเนกขัมมะอย่างเดียว มันจะปฏิเสธหมดเลย เลยสูญเสียโอกาสที่จะได้สิ่งดีๆ ชีวิตก็พัฒนาช้า เนกขัมมะนั้นมีไว้ให้เราเป็นอิสระเหนือสิ่งเร้าเพื่อจะได้บริหารประโยชน์สูงสุดอย่างเที่ยงธรรมได้ ดังนั้นการบำเพ็ญเนกขัมมะต้องเป็นไปเพื่อเมตตา และปัญญาในการบริหารประโยชน์ที่แท้จริงมากขึ้นด้วย จึงจะคงความสัมพันธ์อันเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายแท้จริง

ปัญญา หากบ้าปัญญาอย่างเดียว จะเพลิดเพลินความรู้ติดความเป็นจริง พอติดแล้วก็จะอยากอวดรู้ ไปทะเลาะกันเพราะความรู้ก็มี ลืมไปว่าความรู้มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ ความรู้ที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เป็นแค่ขณะความรู้ และถ้าการพัฒนาปัญญายังไม่ถึงที่สุด จะเกิดกระบวนการคิดที่ต่อเนื่อง และมักจะติดกับดักความคิดจนออกจากความคิดไม่ได้ กลายเป็นทาสความคิด ผิดเป้า หลงวนอยู่ในวงกตความคิดที่ตนสร้างขึ้นอีก แล้วถ้าเอาเขม่าความคิดไปพ่นใส่กัน มันก็จะทำให้โลกนี้อึมครึม และมืดมิดไปได้เช่นกัน เรียกว่าอยู่ในกรงวิทยาการ อะไรที่ไม่สอดคล้องกับวิทยาการที่ตนสร้างขึ้นก็จะว่าผิดไม่มีจริงเป็นต้น

วิริยะ หากบ้าวิริยะอย่างเดียว บางทีทำมากแต่ได้ผลนิดเดียว หรือไม่ได้เลย เช่นคนโง่ที่ขยันแม้ขยันแค่ไหนก็ไม่คุ้ม หรือคนชั่วที่ขยัน ยิ่งขยันยิ่งหายนะ ดังนั้นวิริยะที่ดีต้องมีศีล และปัญญากำกับด้วยเสมอจึงจะสรรค์สร้างอย่างคุ้มค่า

ขันติ หากบ้าขันติอย่างเดียว บ่อยครั้งจะเก็บกด หากกดไว้มากๆ แล้วคลายออกไม่เป็น พอถึงจุดหนึ่งจะระเบิดออกมา และภาวะการณ์จำนวนมากก็ไม่จำเป็นต้องทนให้เสียเวลา ถึงทนได้ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ แก่ใคร เช่นทุกข์อันไร้สาระเป็นต้น ดังนั้นความอดทนที่ดีต้องกอปรด้วยปัญญาขูดตะกอนอารมณ์หาย และทรงอุเบกขาให้ใจอิสระด้วย และถ้าเติมเมตตาไปด้วยก็จะเพิ่มศักยภาพในความทนทานได้มากขึ้น เหมือนพ่อแม่ที่รักลูก แม้ลูกจะทำให้เดือดร้อนอย่างไรก็ยังทนได้ ตราบเท่าที่ความรักยังคงอยู่
สัจจะ หากบ้าสัจจะแท้อย่างเดียวจะไม่ประนีประนอมกับความรู้สึกและอารมณ์ซึ่งเป็นสัจจะผันแปร แม้จะไม่ใช่สัจจะแท้แต่ก็มีพลังอำนาจต่อชีวิตและการตัดสินใจของบุคคลมาก คนบ้าสัจจะอย่างเดียวจึงขาดสุนทรียภาพ เมื่อขาดสุนทรียภาพจึงขาดศิลปะในสัมพันธภาพ และมักจะรักษาอะไรไม่ได้ นอกจากความสะใจในสัจจะที่ตนยึดถือ ดังนั้นสัจจะที่ดีนั้นต้องกอปรด้วยเมตตาและปัญญาด้วย

อธิษฐาน หากบ้าอธิษฐานอย่างเดียวจะบ้าบิ่น มุทะลุ ดูเอาแต่ใจตัวเอง จนอาจขาดความเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้อย่างเสียหายไม่คุ้มค่า และการบำเพ็ญอธิษฐานจิตจะไม่สำเร็จได้เลย ถ้าไม่มีสัจจะกับตัวเอง ดังนั้นอธิษฐานที่ดีต้องมีสัจจะ อุเบกขา และปัญญาด้วย
เมตตา หากบ้าเมตตาอย่างเดียวจะทำให้ใจอ่อน หลงง่าย ระคะกำเริบง่าย สานสร้างความผูกพันไม่รู้จบ ยุ่งเหยิง ( ผู้หญิงจะเป็นกันมาก) ดังนั้นเมตตาที่ดีต้องมีอุเบกขากำกับเสมอ
อุเบกขา หากบ้าอุเบกขาอย่างเดียวจะเหมือนคนบื้อ ไม่รู้ไม่ชี้ หรือรู้แต่ไม่ยอมชี้ บางทีขี้เกียจไปเลย ดังนั้น อุเบกขาที่ดีต้องประกอบด้วยปัญญา และวิริยะด้วยเสมอ

จะเห็นว่าบารมีแต่ละตัวนั้นดี แต่ถ้ามีตัวเดียวก็เสียหายได้ เมื่อเจริญบารมีทุกตัวไปพร้อมๆ กันบารมีแต่ละตัวจะกำกับ เสริมส่ง และควบคุมกันเอง ณ. จุดพอดีที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่เป็นไปได้สำหรับทุกสิ่งเพื่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง แล้วเราจะบำเพ็ญบารมีแบบผสมผสานได้อย่างไร จริงๆ แล้วในหลายภาระกิจของชีวิตจะเอื้ออำนวยต่อบารมีหลายตัวอยู่แล้ว เช่นนั่งสมาธิวันละ หนึ่งชั่วโมง ลองคิดดูว่าถ้าทำได้ จะได้บารมีอะไรบ้าง คำตอบคือเกือบครบทุกตัวเลย งานการที่ทำก็เช่นกัน ถ้าท่านตั้งใจทำเพื่อประโยชน์สุขของตนด้วย เพื่อพัฒนาสังคมด้วยและทุ่มเททำจริงอย่างพากเพียรจนสำฤทธิ์ผล ท่านจะได้บารมีอะไรบ้าง คำตอบคือ เกือบครบเช่นกัน จะครบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราได้นำบารมี มาใช้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งเอาบารมีมาใช้มาก บารมีก็ยิ่งงอกงาม ขยายผล ยิ่งเอาบารมี (ศักยภาพ) ในตนมาใช้น้อย บารมีก็กบดานอยู่นานๆ ไปก็จะเก่าเลือนได้ ถึงไม่ผุไม่พังก็ไม่ออกดอกออกผล ดังนั้นการใช้บารมี ต้องใช้ผสมผสานเช่นกัน แต่อาจให้ตัวใดตัวหนึ่งเป็นผู้นำได้ตามความเหมาะสมกันสถานการณ์และวัตถุประสงค์

เครื่องมือในการสร้างบารมี

เมื่อต้องการเจริญบารมีตัวใดตัวหนึ่ง หรือใช้บารมีตัวใดตัวหนึ่งนั้น ทัศนะท่าทีการสนองตอบและการสร้างประโยชน์จากแต่ละสถานการณ์ก็จะแตกต่างกัน เช่นการใช้เครื่องมือในการสร้างบารมี
อุปกรณ์ในการสร้างบารมีมีสามชุดใหญ่ๆ คือ ความชั่ว ความดี ความเป็นกลาง ในช่วงที่เจริญ ศีล วิริยะ จะต้องสร้างความดีอย่างยิ่งและอย่างไม่หยุดยั้งในทุกระดับของความดี และละชั่วอย่างที่สุด ในช่วงเจริญขันติ อธิษฐาน แม้ดีแค่ไหนก็จะเผชิญความชั่วและอุปสรรคอย่างยิ่ง ต้องใช้ความดีเป็นพลังหล่อเลี้ยง รักษา และป้องกันความชั่วไม่ให้มีอิทธิพลเหนือ ในช่วงที่เจริญปัญญาและอุเบกขา จะเจอทั้งดีและชั่ว และต้องวางทั้งดีและชั่ว แม้จะทำดีเป็นนิสัยแต่จะไม่อยากดี ไม่ดิ้นรนทำความดีแล้ว เพราะถ้าอยากหรือดิ้นรนก็จะหลุดจากอุเบกขาทันที และปัญญาก็ไม่ยิ่งใหญ่ แต่จะบริหารไปตามเหตุปัจจัยและเงื่อนไข เพื่อประโยชน์สูงสุดที่เป็นไปได้โดยไม่เสียสภาวะ จะเห็นได้ว่าการปรุงประกอบชีวิต การเลือกวิถีชีวิต หรือการบริหารสิ่งต่างๆ ในชีวิต เพื่อผลแห่งอำนาจแต่ละตัวนั้นจะแตกต่างกันไปตามเป้าหมาย และความเหมาะสมกับเป้าหมายนั้น ดังนั้นเมื่อเห็นคนเขาทำความดีต่างกับเรา หรือแม้แต่คนที่ไม่อยากดีเลย หรือแม้คนที่วางความดีแล้ว ก็อย่าไปว่าเขา เขามีโครงสร้างของเขาที่จะต้องเรียนรู้สรรค์สร้าง เรื่องของเราคือทำตัวเองให้ได้บุญบารมีอย่างใดอย่างหนึ่งเถิด มัวไปว่าคนอื่นตนก็เสื่อม สังคมจะแตกแยก มนุษย์จะพัฒนาช้า

โลกต้องการคนทุกประเภท และยิ่งใครที่มีทุกบารมีครบถ้วนหรือมากที่สุดจะยิ่งสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่โลกได้ ความชั่ว ความดี และความเป็นกลาง ไม่ใช่เป้าหมายโดยตัวมันเอง มันเป็นเพียงพาหนะพาไปเท่านั้น โดยมีหน้าที่เป็นจุดหมุนคือพวงมาลัย มีทรัพย์สมบัติเป็นน้ำมันหล่อลื่น มีชื่อเสียงเป็นไฟส่องยามจำเป็น ดังนั้นถ้าไปเอาน้ำมัน หรือไฟ หรืออุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งมาเป็นเป้าหมายก็หลงผิดไปไหนไม่ได้ พระพุทธองค์จึงบอกว่าลาภสักการะเป็นเพียงอุจจาระในโลก อุจจาระไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายคือดอกผล ดังนั้นต้องเอาอุจจาระนั้นไปเป็นปุ๋ยรดต้นไม้ให้งอกงามจนเกิดดอกผล ต้นไม้คือ ความดี ความชั่ว ความเป็นกลาง ดอกคือบารมี ผลคือที่สุดแห่งวิวัฒนาการ

การปรับโครงสร้างแห่งชีวิต

หากเบื่อมันมามากจนรู้สึกว่าเป็นมหาเบื่อชีวิตมันมืดตื้อไปหมดมองไปทางไหนก็ไม่เห็นหนทางหรือโอกาสที่จะหายเบื่อได้เลยหรือไม่เห็นหนทางที่จะพ้นจากสิ่งน่าเบื่อที่รุมล้อมอยู่รายรอบได้เลย ในกรณี่เช่นนี้คงต้องปรับโครงสร้างของชีวิตใหม่ มีองค์ประกอบอยู่ ห้าประการคือ

1. ที่อยู่อาศัย หากอยู่ในที่ไม่เหมาะสมทั้งโดยสภาพทำเล ความปลอดภัย ล้วนเป็นปัจจัยแห่งความเบื่อ บางทีการเปลี่ยนที่อยู่ใหม่จะเป็นการง่ายที่สุด และความเบื่อก็จะหายไป

2. พฤติกรรมการบริโภค การกินอะไรต่ออะไรที่เป็นภัยต่อสุขภาพ สุขภาพก็ถดถอยเป็นประจำก็ทำให้เบื่อหน่ายได้ และถ้าชีวิตต้องตกอยู่ในเงื่อนไขอย่างนั้นอีก ความเบื่อก็จะเบ่งบานมากขึ้น ดังนั้นพฤติกรรมการบริโภค ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ

3. หน้าที่การงาน การงานที่มีคุณค่าน้อยมีอันตรายมาก หรือทำอะไรที่หนัก เหนื่อยและเครียดมากเพื่อประโยชน์อันน้อยนิดก็เป็นสิ่งที่ทำให้เบื่อหน่ายได้ และถ้ายังจำเป็นต้องทำอยู่โดยไม่มีทางเลือกอื่นก็จะเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง จนซังกะตายไปวันๆ ไร้ชีวิตชีวา การเปลี่ยนงานใหม่เสีย หรือการสร้างงานใหม่ที่มีคุณค่า ก็จะแก้เบื่อได้

4. ผู้นำและผู้ตาม การที่อยู่กับหัวหน้าที่ไม่เอาไหนและไม่รับผิดชอบมันน่าเบื่อพอๆ กับการอยู่กับลูกน้องที่ดื้อและไม่เอาอ่าว และถ้าแก้ไขไม่ได้ ความเบื่อหน่ายจะกลายเป็นความหงุดหงิด และกดดันกันและกันจนสิ่งต่างๆ เสียหายได้ ถ้าแก้ไขได้ นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ การเปลี่ยนเจ้านายหรือลูกน้องเสียก่อนที่จะแตกแยกและกลายเป็นศัตรูกัน อาจจะเป็นการดีกว่าสำหรับทุกคน และถ้าทำได้ความเบื่อเก่าจะค่อยๆ อันตรธานไปจนกว่าจะเจอความเบื่อใหม่

5. สังคมและวัฒนธรรม การอยู่ในสังคมที่สกปรกไร้ระบบระเบียบ หรือมีระเบียบข้อบังคับมากจนเกินไป หรือเต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรม หรือภัยอันตรายรอบด้าน ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างความเบื่อสะสมได้และถ้ายังต้องทนอยู่ต่อไป ภาวะสร้างสรรค์จะหดหายไปหมด มีแต่ความไม่พึงพอใจและความหงุดหงิดอยู่เนืองๆ ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนสภาพสังคมที่อยู่ได้ การเปลี่ยนไปอยู่สังคมใหม่อาจจะง่ายกว่า และความเบื่อเก่าก็จะหายไป จนกว่าจะเจอความเบื่อใหม่ แต่กว่าความเบื่อใหม่จะเกิดขึ้นชีวิตก็พอตั้งหลักได้บ้าง

6. การอยู่คนเดียวหรือการมีชีวิตคู่ การอยู่คนเดียวอาจน่าเบื่อสำหรับคนต้องการคู่ แต่การเลือกคู่ผิดกลับน่าเบื่อยิ่งกว่า คนที่ไม่ชอบตัวเองเวลาอยู่คนเดียวก็จะไม่พึงพอใจในตัวเอง และเบื่อหน่ายชีวิตยิ่งนัก พอมีคู่พวกนี้จะรู้สึกดีขึ้น เพราะวันๆ คิดที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่นเช่นเพื่อทุกคนในครอบครัว จนบางทีลืมตัวเองไป การคิดเพื่อคนอื่น ทำเพื่อคนอื่นนั้นเองคือ เมตตา กรุณาและการไม่คิดถึงตัวเองนักทำให้ตัวตนเล็กลง เมื่อเมตตากรุณามาก ตัวตนที่ไม่น่าพึงพอใจเล็กลง ความเบื่อก็จะลดลงด้วย แต่ถ้าได้คู่ไม่ลงตัวหรือบุตธิดาที่มีวิวัฒนาการต่ำ ก็จะเบื่อกับความไร้สาระ ความขัดแย้ง ความวุ่นวายที่ต้องมาปรนเปรอกิเลส ตัณหาของกันและกัน หรือความรับผิดชอบที่ไม่เกิดคุณค่านักในที่สุดก็จะเบื่อความสัมพันธ์นั้นอีก อาจจะดิ้นรนไปอยู่คนเดียว แต่บางคนอาจเจอคู่ที่ลงตัวก็อาจหายเบื่อได้ สำหรับตัวเองนั้น รู้สึกในความคับแคบของความเป็นครอบครัว เพราะปกติตัวเองมีสันดานชอบคิดเพื่อประทำประโยชน์ให้คนอื่นในทางความคิดอยู่เสมอตามเหตุปัจจัย และมีพฤติวัตรไปในทางแสวงหาความจริง และมีความต้องการหลุดพ้น แต่ก็ด้วยวิธีการของตัวเอง อย่างไรก็ดีการใช้ชีวิตคู่อาจแก้เบื่อสำหรับบางคนที่ขี้เหงา และหวาดกลัวอนาคตได้ แต่การมีครอบครัวก็อาจจะต้องพบกับความเบื่อรูปแบบอื่นๆ ได้อีกมาก ทางที่ดีกว่าคือควรศึกษาและทำใจว่า “อยู่คนเดียวก็ได้สบายดี อยู่กับคู่ก็ดีสบายได้” เสียตั้งแต่ต้นจะประเสริฐกว่า และทางที่ดีที่สุดคือ บริหารความเบื่อซะเพราะไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับครอบครัวก็ต้องเจอมันบ้างอยู่แล้ว และแน่นอน

ถ้าถามว่า อุเบกขาคือการมีอารมณ์เดียวใช่ไหม
ตอบ มันเป็นอารมณ์กลางๆ อารมณ์เดียวแต่มีหลายระดับคุณภาพตามการเข้า คือเข้าได้สามทาง

1. เข้าทางพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตามาก่อน แล้วพัฒนาโดยลำดับจนถึงอุเบกขา จะเป็นอุเบกขาที่สนิท สงบสุข
2. เข้าทางสมถะ สำรอกอารมณ์ทั้งหลายจนเหลืออารมณ์เดียว แล้วพัฒนาสู่สมาธิโดยลำดับ พอเข้าฌานสามก็เริ่มได้อุเบกขาแล้ว เป็นอุเบกขาที่สงบสุขและประกอบด้วยความบริสุทธิ์
3. เข้าทางปัญญาคือ เห็นคู่ทวิลักษณ์อยู่ด้วยกันเสมอ คือเห็นคุณและโทษ เห็นสุขและทุกข์ เห็นชอบและชัง เห็นเกิดและดับในทุกสิ่งตลอดเวลา และปล่อยวางทั้งสองสิ่งในหนึ่งเดียวนั้นพร้อมกัน พอหลุดจากทวิลักษณ์ได้ก็เข้าอุเบกขา เป็นอุเบกขาที่มีรสอิสรภาพ เบิกบานและหาญกล้า
นั่นคือสามทางที่เข้าอุเบกขาแท้ได้ แต่อุเบกขาจากแต่ละทางนั้นมีรสต่างกันเล็กน้อย จิตต้องละเอียดแล้วจะเห็น แต่ถ้าไม่ผ่านทั้งสามทางมา แล้วพยายามเข้าอุเบกขามักจะเป็นอุเบกขาขึง จิตตึง
ดังนั้นควรเข้ามาโดยลำดับทางใดทางหนึ่งที่กล่าวมา แล้วพัฒนาไปเป็นอุเบกขาจะได้อุเบกขาตัวจริง

ถ้าถามว่า อุเบกขามีประโยชน์อะไร
ตอบ ยิ่งใหญ่มากเป็นฐานของพระนิพพานทีเดียว เพราะแม้ยังไม่เข้านิพพานก็จะอยู่ในโลกอย่างไม่แปดเปื้อน เพราะอุเบกขานั้น เหนือดี เหนือชั่ว เหนือสุข เหนือทุกข์ มองในอีกนัยหนึ่ง การเข้าอุเบกขานั้น ถ้าเป็นโลกียะก็จะเป็นฐานส่งไปสู่ความเป็นพระอริยะ ถ้าเข้าโลกุตตระแล้ว ก็จะเป็นฐานส่งไปสู่พระนิพพาน เมื่อสำคัญขนาดนี้ ควรค่าแก่การฝึกไหมถ้าทำได้ ตัวเบื่อเกาะอุเบกขาไม่ได้หรอก

ถ้าถามว่า ได้พยายามทำดีอย่างที่สุดแล้ว หวังดีต่อทุกคนแต่ทำไม ผลออกมาไม่ดี เลยทำให้เบื่อ
ตอบ แม้เราจะพยายาม และหวังดีอย่างไรหลายต่อหลายครั้งไม่เป็นดังหวังทั้งๆ ที่หวังดีแต่ผลออกมาไม่ดี ก็มี เพียงเพราะความไม่พอดี เคยเห็นพ่อแม่ที่หวังดีต่อลูกไหม พยายามทำทุกอย่างให้ลูกได้ดี แต่ก็เสียผู้เสียคนไปก็หลายราย คงเห็นกันมาบ้าง เราคงต้องยอมรับความจริงกันบ้างว่า โลกมีทั้งดีและชั่วผสมกันอยู่ จะหาดีล้วนๆ อันบริสุทธิ์ในโลกนี้คงไม่ได้ ชั่วล้วนๆบริสุทธิ์ก็ไม่มี โลกเป็นสีเทาฟ้า ผสมกันระหว่างดีและชั่ว คือชั่วกับดีมันอยู่ด้วยกัน สุขกับทุกข์มันอยู่ด้วยกัน พระพุทธองค์เคยตรัสว่า “ เราลอยบุญและบาปสิ้นแล้ว จักปรินิพพาาน” เห็นไหม พระองค์ทรงวางทั้งบุญและบาป คือจะเอาแต่บุญบริสุทธิ์ไม่เปื้อนบาปเลยนั้นไม่มี และจะหนีแต่บาปโดยไม่วางบุญก็ไม่ได้ มันไม่พ้นเพราะมันอยู่ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงวางทั้งบาปทั้งบุญจึงหลุดได้จริง

คนบ้าความดี ทะเลาะกันเพราะมาตรฐานความดีที่แตกต่างกัน ทำให้สังคมแตกแยก ก็เป็นการสร้างบาป เพราะเมาดีเลยหวลกลับไปชั่วอีก จึงดีๆ ชั่วๆ มั่วอยู่ในโลกนี้เอง

ถ้าถามว่า การอยู่ในโลกเราต้องใช้ตัณหาอยู่บ้าง ถ้าเราผสมส่วนของตัณหาให้ดีก็น่าจะพอ ทำไมต้องทำลายมันด้วย
ตอบ เพราะค่ามันแพงเกินความคุ้มน่ะซิ ลองพิจารณาด้วยหลักการทางโลก เอาหลังเศรษฐศาสตร์ก็ได้ การวิ่งตามตัณหาคุ้มหรือไม่คุ้ม เช่น กามตัณหาใช่ไหมที่ทำให้เรามีเพศสัมพันธ์กัน และจากความพึงใจในเพศสัมพันธ์อันเป็นกามตัณหาก็ก่อให้เกิดภาวตัณหา อยากผูกพันกันไว้เป็นของฉันแต่ผู้เดียว พอเกิดเหตุการณ์ส่อเค้าไปในทางอื่นก็จะเกิดอิจฉา หึงหวง ปฏิฆะ โกรธแค้นกันเป็นวิภาวตัณหาอีก เห็นไหมมันแตกตัว บานปลาย และทุกขั้นตอนก็ก่อให้เกิดภาระ และทุกข์หาน้อยไม่ลองดูเข้าไปในชีวิตจริงซิ

ถ้าถามว่า สุขที่สกปรกคืออะไร
ตอบ มีทุกข์เจือปน ตัณหาทำให้เราอยากได้ อยากมี หรืออยากเป็น พอได้มาก็สมหวังเป็นสุขเล็กๆ แต่ถามว่ามีความทุกข์ในการมีและการเป็นหรือไม่

เพราะมีอยู่ จึงกลัวความสูญเสียหรือความเสียหาย จึงกลัวใครมาเอาเปรียบ ลงทุนจัดระบบป้องกันรักษา คนอีกจำนวนมากก็ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบใช่ไหมลงทุนอีกมากไหมกับการรักษาสิ่งที่ตนมี เป็นภาระไหม ทุกข์ไหม เบียดเบียนคนอื่นไหม เพราะความบ้าของตนคนเดียว คนอื่นพลอยบ้าไปด้วย เดือดร้อนไปหมด

เพราะมีลูกจึงต้องหาเงินให้ลูก เพราะจะหาเงินจึงต้องมีกิจการ เพราะจะมีกิจการจึงต้องมีลูกน้อง เพราะมีลูกน้องจึงต้องมีหนี้ เพราะมีหนี้จึงต้องมีดอกเบี้ย เพราะมีดอกเบี้ยจึงต้องทำงานหนัก เพราะทำงานหนักจึงเครียด และไม่มีเวลาให้ลูก เพราะมีเวลาให้ลูกน้อย ลูกจึงไม่รักไม่เข้าใจแต่ไปรักเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เพราะเพื่อนมีเวลาให้มากกว่า เพราะลูกไม่เข้าใจพ่อแม่จึงน้อยใจ เพราะน้อยใจจึงบ้างานไปเลย หรือปล่อยให้งานเสียหายไปเลย แล้วในที่สุดก็เสียความสัมพันธ์อันดีกับลูก กับเพื่อนร่วมงานกับเจ้าหนี้และอื่นๆ

นี่เพื่อจะรักษาสิ่งหนึ่งอาจเกิดกระบวนการต่อเนื่องได้มากมายอย่างนี้ แต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันน่ะ แล้วแต่โครงสร้างและการจัดการ ประเด็นที่ควรเข้าใจให้ชัดก็คือ ค่าตัณหาแต่ละตัวนั้นแพงมาก ตัณหาบางตัวทำให้เราทุ่มเทหลายต่อหลายชีวิตเพื่อจะให้ได้มันมา บางทีก็ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ อย่างเช่นพวกรักคุด ถูกห้ามแล้วฆ่าตัวตาย ฆ่าคนรักและผู้ที่เกี่ยวข้องตาย นี่เจตนาหนึ่งที่ผสมอยู่กับเจตนาอื่นๆ ก็คือเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่า ฉันรักเขาจริง หรือรักกันจริง พอตายแล้วคนเข้าใจไหม เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ไอ้ที่เข้าใจก็ยอมรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะสมเพชใช่ไหม ลงทุนด้วยชีวิต คุ้มไหม กับความอยากให้คนอื่นเข้าใจ

ทางที่ง่ายกว่า แค่ตัวเองเข้าใจความรักเสียมันก็จะจบ และจบง่ายกว่า งามสง่ากว่าโดยไม่มีอะไรเสียหาย เห็นไหม แทนที่จะวิ่งตามกิเลสแต่เข้าใจกลไกของมันซะ บริหารมัน เมื่อควรบริหาร ปรับเปลี่ยนมันไปเป็นบารมีเมื่อควรปรับเปลี่ยน ทิ้งมันซะเมื่อควรทิ้ง จึงเหนือชั้นกว่า

นี่แหละแค่ตัณหาอยากให้คนอื่นยอมรับตัวเอง เราเข้าใจตัวเองซะก็จบไปตั้งนานแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนอย่างขาดทุนอย่างนั้นเลย ฝรั่งที่ชอบทำตัวโด่งดังก็เพราะตัณหาตัวนี้แหละ วิ่งตามมันโดยไม่ประเมินความคุ้มค่า บางคนอยากจะให้คนอื่นยอมรับตนเพราะตนยังไม่มั่นใจในตัวเต็มที่ จึงดิ้นรนบากบั่นปั้นสิ่งต่างๆ ขึ้นมาด้วยความเหนื่อยยากหวังว่าคนจะยอมรับตน นี่แรงขับของตัณหา แต่ถ้าเป็นปัญญาก็แค่เพียงตัวเองเข้าใจตัวเอง ยอมรับตัวเองเสียก็ไม่ต้องดิ้นรนไปไหน หรือหากตนก็ไม่อาจยอมรับตนได้ก็ทิ้งความเป็นตนไปเสียก็จะจบ จบถาวรด้วย แล้วจะเหนือการยอมรับ และการไม่ยอมรับของใครๆ ทั้งปวง คือใครจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ ไม่มีผลอะไรต่อคนเช่นนี้แล้ว ไอ้คนที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับต่างหากที่ยังต้องแบกตัณหาของตนเองต่อไป ดังนั้นตัณหามันพาพวกเราไปสร้างและทำลายอะไรมากมาย มันทำได้จริง แต่จงประเมินเสมอว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการจริงๆหรือไม่ และถ้าจริง วิธีการตามตัณหาเป็นวิธีการที่คุ้มค่าหรือไม่ มีวิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ไหม

ถ้าถามว่า หากเราวางตัณหาแล้ว มันเหมือนกับเราไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องคบใคร…หรือเปล่า
ตอบ มิได้ เหมือนเราวางของสิ่งนี้ลง ของนี้ก็ยังเป็นของที่เราต้องรับผิดชอบดูแลอยู่ แต่เราดูแล และบริหารจัดการมันได้ง่ายกว่าใช่ไหม เราวางตัณหาไม่ใช่ทิ้งงานหรือครอบครัว สมัยพุทธกาลยังมีพระอริยะ อนาคามี ครองเรือนอยู่เลย ยังดูแลสามีตามปกติ ด้วยจิตใจอันสะอาด และประเสริฐ แต่กระนั้นเมื่อตัณหาน้อยลง เราก็ไม่อยากไปคลุกคลีหรือแบกตัณหาของใคร ก็ของเราเรายังทิ้ง แล้วเราจะไปแบกของใครให้โง่ทำไม ถ้าขืนแบกก็วนกลับมาที่เดิมอีกเท่านั้นเอง ไม่แบกตัณหาของตนเอง แต่ไปแบกตัณหาของคนอื่นเพียงเพราะต้องการให้เขารัก ก็ไม่พ้นพิษตัณหาเช่นกัน

เมื่อเราละตัณหาโดยลำดับแม้จะยังไม่หมดเราจะเลือกคบคนมากขึ้น จะไม่คบสะเปะสะปะ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็สั่งไว้แล้ว การคบคนชั่ว แม้เราหวังดีแสนดีเขาก็จะตีความว่าเราชั่ว นี่เป็นผลการพิสูจน์ทดลองทางจิตวิทยาหลายเปเป้อร์เหตุเพราะมนุษย์จะเอาความเข้าใจของตนไปนิยามคนอื่น แล้วจะเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างที่ตนเป็น ดังนั้นการคบคนชั่วนั้นไม่คุ้ม อย่าว่าแต่ชั่วเลย แม้ความดีต่างระดับมาตรฐานกันเกินไปยังไม่ควรเลย เพราะคนดีต่างระดับมาตรฐานก็จะมีมาตรฐานความถูกผิด ควรไม่ควรที่แตกต่างกัน ก็จะทะเลาะแตกแยกกันได้






Create Date : 03 กรกฎาคม 2552
Last Update : 3 กรกฎาคม 2552 18:01:05 น. 2 comments
Counter : 928 Pageviews.

 
อนุโมทนาบุญค่ะ
อ่านแล้วรู้สึกดีมากเลยค่ะ ขออนุญาติagg blog นะค่ะ
ทำธุรกิจเครือข่ายอยู่ ทำมาหลายปีแล้วค่ะ ก็สำเร็จในส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้ประสบปัญหากับคน ในธุรกิจนี้คนจะคิดถึงแต่เงิน เงิน เงิน พออยู่ใกล้ๆทำไมเรารู้สึกร้อน เลยมีอาการเบื่อ เลยวางมือไปหลายวันไม่อยากพบปะคนในธุรกิจ หนีไปอยู่กับธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ทำสวน สบายใจขึ้นแล้ว ตอนนี้มาตั้งหลักใหม่ค่ะ ไปอ่านหนังสือของดร.สนอง วรอุไร ท่านก็เคยมีอาการท้อในงานเหมือนกัน แต่ท่านก็ตั้งหลัก ตั้งสติ คนก็เป็นแบบนี้หลากหลายความคิด
สู้เราตั้งหน้าตั้งตาทำงานไปจะดีกว่า ตอนนี้จะเลิกเบื่อให้ได้ค่ะ พระพุทธเจ้าสอนให้เราขยัน อดทน ใช่มั๊ยค่ะ


โดย: เทียมฟ้า (เทียมฟ้า ) วันที่: 1 สิงหาคม 2552 เวลา:21:22:06 น.  

 
อยู่กับปัจจุบัน หมั่นสร้างเหตุที่ดี ผลอย่าไปกังวลหรือคาดหวัง หมั่นกลับมาอยู่กับปัจจุบันบ่อยๆ นะครับ


โดย: Toad วันที่: 22 กรกฎาคม 2553 เวลา:20:18:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Toad
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Toad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.