Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
3 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย วิษณุ เครืองาม จาก เดลินิวส์


วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม

ที่ผ่านมาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของบ้านเมือง คือเป็นวันที่

คณะรัฐมนตรีกราบบังคมทูลขอพระราชทาน

พระบรมราชานุญาตให้กำหนดวันดังกล่าว

ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7

แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประเทศ

โดยเฉพาะการพระราชทานรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนระบอบการปกครอง

มาเป็นระบอบประชาธิปไตยจนตราบเท่าทุกวันนี้

อันที่จริง พระราชกรณียกิจต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ในด้านต่าง ๆ

แก่คนไทยและเมืองไทย ได้รับการกล่าวขวัญเทิดทูนมามากแล้ว

ไม่ว่าน้ำพระทัยประชาธิปไตยอัน

ทรงแสดงให้เห็นด้วยการเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ

แต่ทรงถูกคัดค้านถึงสองครั้งสองครา

การมีพระมหากรุณาริเริ่มทรงวางรากฐาน

การปกครองท้องถิ่นไทยในรูปแบบเทศบาล

การสถาปนาระบบข้าราชการพลเรือนที่อยู่บนระบบคุณธรรม

ซึ่งใช้มาจวบจนทุกวันนี้ การที่ทรงตั้งการสหกรณ์

เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชนในทางเศรษฐกิจ

การสถาปนาราชบัณฑิตยสถานและ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และการอื่น ๆ อีกมาก

แต่ที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงก็คือ พระราชจรรยา

ในความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงในยุคนั้น ซึ่งรุนแรงไม่แพ้ในวันนี้

ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคนั้นเริ่มต้น

เมื่อคณะราษฎรเข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อ

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร

ได้ออกแถลงการณ์โจมตีพระราชวงศ์จักรี

และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างรุนแรง

โดยทรงฟังประกาศดังกล่าวทางวิทยุ รับสั่งว่า

“ทรงรู้สึกเสียใจ และเจ็บใจมากที่กล่าวหาร้ายกาจมากมาย

อันไม่ใช่ความจริงเลย” อย่างไรก็ตาม

แม้จะเสียพระทัย และการที่ประทับอยู่ที่หัวหินก็ทรงมีทางเลือก 3 ทาง

คือ ทรงสู้ ทรงหนี หรือทรงยอม

รับสั่งว่า “ถ้าจะหนีก็มีเวลาตั้ง 24 ชั่วโมงพอหนีได้

จะสู้ก็ยังมีกำลังทหารทางหัวเมือง

แต่มีพระราชดำริว่าถ้าหนีจะร้ายใหญ่

อาจฆ่ากันตายและร้ายแก่พระราชวงศ์ การจะต่อสู้ก็ไม่อยากจะทำ

จึงได้ทรงรับโดยไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ”

ความนี้ปรากฏในบันทึกลับที่เจ้าพระยามหิธร

เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรบันทึกไว้เมื่อ 30 มิถุนายน 2475

ซึ่งพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเข้าเฝ้าฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อพระยาพหลฯ

และหลวงประดิษฐ์กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ

ก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ อันแสดงให้เห็นน้ำพระทัย

ใฝ่สันติและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองมากกว่าความหวงแหน

พระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรงมี

นั่นคือจุดเริ่มประชาธิปไตยไทย และเป็นจุดเริ่ม

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ตามมาในระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน

เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและเสียเลือดเนื้อ

โดยมีการประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎรโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

ในวันที่ 1 เมษายน 2476

ซึ่งตามมาด้วยการยึดอำนาจของพระยาพหลพลพยุหเสนา

และคณะในวันที่ 20 มิถุนายน 2476

ทั้งนี้ เนื่องมาจากความขัดแย้งในเรื่อง “เค้าโครงทางเศรษฐกิจ”

ตามมาด้วยกบฏบวรเดช ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2476

เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชและคณะนำทหารหัวเมืองมายึดอำนาจ

ในการสู้รบระหว่างคนไทยครั้งนี้มีคนตายหลายสิบคน

และหนีออกไปอยู่ต่างประเทศหลายสิบคน

ตามมาด้วยการจัดตั้งศาลพิเศษชำระคดีกบฏ

และการออกพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ

พุทธศักราช 2476 ซึ่งทรงพระราชวิจารณ์ว่าจำกัดเสรีภาพบุคคลอย่างรุนแรง

ในเรื่องส่วนพระองค์นั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ก็กระทบต่อพระราชสถานะและฐานะพระราชวงศ์อย่างมาก

ดังจะเห็นได้จากการพยายามยกเลิกทหารรักษาวังของรัฐบาล

และการอภิปรายจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์

ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

การพยายามปรับโครงสร้างกระทรวงวัง

รวมถึงกระทำการอันเป็นการกระทบพระราชทรัพย์

อาทิ การเก็บภาษี รวมถึงการที่รัฐบาลจะยึดเงินพระคลังข้างที่

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์

พระองค์ท่านในสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่เท่ากับ

การที่ทรงถูกฟ้องต่อสภาผู้แทนราษฎร

โดยนายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรรถราง ซึ่งกล่าวหาว่า

ทรงบริภาษใส่ความเป็นการหมิ่นประมาทตน

อันเป็นบทพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์

ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

การฟ้องร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรจบลงเมื่อสภา

ไม่รับคำฟ้องและนายถวัติถูกดำเนินคดี

ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่อมานายถวัติ

เข้าเฝ้าฯขอพระราชทานอภัยโทษที่สงขลา

โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติบันทึกรายงานว่า

นายถวัติ เล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงรับคำขอขมาโทษ

และยังทรงแสดงพระราชอัธยาศัยเสรีนิยม

มีพระราชปฏิสันถารกับนายถวัติ ถึง 1 ชั่วโมง

โดยรับสั่งขอโทษต่อนายถวัติ ที่ทรงรับทราบข้อมูลผิดมา

นายถวัติพูดกับประชาชาติว่า

“ผมมีความปลาบปลื้มในน้ำพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่สุด

ท่านทรงขอโทษราษฎรของท่านเช่นนั้น

แสดงว่าท่านทรงเป็นสปอตแมนเต็มที่

แล้วผมได้ก้มลงกราบที่ฝ่าพระบาทของพระองค์ท่าน”

ในท้ายที่สุดเมื่อพระราชทานอภัยโทษแก่นายถวัติแล้ว

อัยการก็ถอนฟ้องนายถวัติ

นี่เป็นพระราชจรรยาอันเป็นทศพิธราชธรรมข้อ

“อักโกธะ” คือ ไม่ทรงถือโกรธ

แม้จะมีผู้ล่วงละเมิดพระองค์ท่าน

ความขัดแย้งและความตึงเครียดดำเนินมาตลอด

จนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนิน

ออกนอกประเทศด้วยพระราชดำริพระองค์เอง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2477

โดยเสด็จฯไปรักษาพระองค์ที่อังกฤษ ระหว่างนั้นก็มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่คงไม่ราบรื่นนัก

ความขัดแย้งที่รุนแรงนี้จบลงด้วยการสละราชสมบัติ

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2478 พร้อมพระราชหัตถเลขาที่อ้างอิงเสมอว่า

“ข้าพเจ้า มีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิม

ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า

ให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด

และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

ต่อมาได้เสด็จสู่สวรรคาลัยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2484

การพระบรมศพไร้พระบรมโกศ และเครื่องสูงประดับพระเกียรติยศทั้งปวง

ไร้ริ้วขบวนแห่ แต่ที่สำคัญคือทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก

และพระองค์เดียวที่มีพระราชสมภพในมาตุภูมิสยาม

แต่เสด็จ สวรรคตที่เวอร์จีเนีย วอร์เตอร์ ชานกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

อันเป็นเมืองต่างด้าวท้าวต่างแดน

นี่คือพระราชจรรยาของพระมหากษัตริย์

ผู้ทรงทศพิธราชธรรมโดยเฉพาะข้อ “บริจาคะ”

คือ ทรงเสียสละประโยชน์ส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

และประเทศชาติอย่างแท้จริง

เป็นความดีที่เรา-ท่านระลึกถึงในวันนี้


ท่านราชบัณฑิต จำนง ทองประเสริฐ เคยกล่าวว่า

ถ้านักการเมืองทั้งหลายไม่ได้เอาเพียงอำนาจการเมือง

ไปจากพระองค์ท่าน แต่เอาธรรมะของท่านไปด้วย

บ้านเมืองเราก็คงไม่ต้องเดือดร้อนถึงปานนี้ดอกครับ



อ้างอิงจาก //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=69322




Create Date : 03 มิถุนายน 2553
Last Update : 15 มิถุนายน 2556 15:14:18 น. 1 comments
Counter : 1049 Pageviews.

 
ขอบคุณนะคะที่แวะเข้ามาอ่านบล็อค
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ
ขอบคุณสำหรับกำลังใจ
ขอบคุณมากๆ ค่ะ


โดย: pook (MaGicPlus ) วันที่: 24 เมษายน 2554 เวลา:20:03:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.