Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 สิงหาคม 2552
 
All Blogs
 
พลิกขั้วรัฐศาสตร์


เมื่อหลายปีก่อน วารสารธรรมศาสตร์ฉบับหนึ่ง

เคยลงบทความบรรยายเปรียบเทียบถึงสภาพ

การศึกษาสังคมศาสตร์ 2 สาขาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอเมริกา

ระหว่างสาขาสังคมวิทยา กับ สาขารัฐศาสตร์

สรุปได้ว่า สาขาสังคมวิทยากินขาด เอาแค่สภาพห้องเรียน

ของทั้งสองคณะก็แตกต่างกันจนอาจเรียกได้ว่า ฟ้ากับเหว

ส่วนจำนวนนักศึกษาในสาขาสังคมวิทยาก็มีมากกว่าเห็นได้ชัด

ความรู้สึกผมในตอนนั้นบอกว่า อืมม แปลกดีจัง

ทั้งที่คนอเมริกันสนใจการเมืองกันมาก

แต่กลับมีคนสนใจศึกษาศาสตร์สาขานี้น้อยจัง


ต่อมา ผมได้มีโอกาสเข้าฟังการสัมมนาแห่งหนึ่ง จำได้ว่า

มีนักการเมืองผู้ใหญ่บางท่านเข้าร่วมการสัมมนาด้วย

ท่านกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าปัจจุบันนี้ นักรัฐศาสตร์ไทย

มีบทบาทในการชี้แนะสังคมค่อนข้างน้อย

เมื่อเทียบกับนักสังคมศาสตร์สาขาอื่น ๆ

อาทิ กฎหมาย สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ

ท่านอยากให้นักรัฐศาสตร์มีบทบาทต่อสังคมมากกว่านี้

อันที่จริง ผมแอบรู้สึกมานานแล้วครับ ตั้งแต่หลังยุค 14 ตุลา

รัฐศาสตร์เป็นสังคมศาสตร์ที่มีบทบาทในสังคมไม่มากนัก

เมื่อเทียบกับสังคมศาสตร์สาขาอื่น ขณะเดียวกันความหลากหลาย

ขององค์ความรู้หรือนวัตกรรมก็มีค่อนข้างน้อย

จนกระทั่งเกิดกรณีทักษิณขึ้นมา หลาย ๆ เรื่องจึงเริ่ม

มีการนำทฤษฎีทางรัฐศาสตร์มาอธิบาย

ด้วยบริบทที่เปลี่ยนไปแต่ควาหมายยังคงเดิม

ผมยังสงสัยอยู่ว่า นิยามเดิม ๆ จะยังคงใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้หรือไม่

เช่น ชาติคืออะไร แม้กระทั่งบางประเด็นที่ผมยังรู้สึกคลุมเครืออยู่

เช่น อำนาจอธิปไตยเกิดขึ้นได้อย่างไร

หรือ ทำไมสิทธิจึงมีอยู่ตามธรรมชาติ

ทั้งที่ตามธรรมชาติย่อมไม่มีใครรับรองอะไรให้


อาจารย์ของผมเคยกล่าวว่า ในโลกนี้ มีศาสตร์อยู่ 3 สาขา

ที่นำมาซึ่งความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง

1.รัฐศาสตร์

2.เศรษฐศาสตร์

3.ปรัชญา

(สงสัยอาจารย์ท่านจัดพุทธศาสน์เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาด้วย )

ตอนนั้น ผมไม่ได้สนใจไต่ถามท่านว่า ความยิ่งใหญ่ที่ว่านั้น คืออะไร

และใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด แต่ตอนนี้ผมเดาเอาว่า

ความยิ่งใหญ่ที่อาจารย์กล่าวถึงนั้น

คงหมายถึง ผลกระทบที่มีต่อ สังคม และโลก

ก็อาจจะจริงครับ เพราะถ้าพิจารณาจากผลกระทบที่มีต่อโลกแล้ว

ศาสตร์ทั้งสามสาขานี้ มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกมาตลอด

และถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ในหลายกรณี วิทยาศาสตร์

ก็อาจเป็นเพียงเครื่องมือที่รับใช้แนวคิดของศาสตร์ทั้งสามสาขานี้

แต่วันนี้ แนวคิดทางรัฐศาสตร์ดูเหมือนหยุดนิ่ง ในขณะที่เศรษฐศาสตร์

กลับมีการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่อยู่เสมอ แต่บางทีก็ต้องยอมรับว่า

วงการเศรษฐศาสตร์มีปัจจัยกระตุ้นอยู่มาก

ผมยังคิดอยู่ว่า ถ้าวันหนึ่งมีการมอบรางวัลโนเบลสาขารัฐศาสตร์บ้าง

บางทีนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางรัฐศาสตร์อาจจะกำเนิดขึ้น

และแพร่หลายมากกว่านี้ก็ได้


ครับ รัฐศาสตร์ นับเป็นศาสตร์เก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่ง มีมาเป็นพันปีแล้ว

หัวใจของรัฐศาสตร์ ก็คือ การศึกษาในเรื่องของ การจัดการอำนาจ

และ การจัดการผลประโยชน์ สรุปก็คือ

1.ใครใหญ่กว่าใคร และใหญ่ได้ด้วยเงื่อนไขอะไร

2.ใครควรได้อะไร ด้วยเงื่อนไขอะไร

จะว่าไปมันก็คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดระเบียบ

ทางสังคมแขนงหนึ่งนั่นเอง

และเครื่องมือที่ใช้จัดระเบียบทางสังคม ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า

"ระบบการเมือง" นักรัฐศาสตร์ทางฝั่งตะวันตก

จะให้ความสำคัญกับระบบการเมืองอย่างมาก

ตั้งแต่ยุคของอริสโตเติลมาแล้ว แต่ปัญหาในปัจจุบันก็คือ

ระบบการเมืองที่มีอยู่เริ่มไม่สามารถตอบสนอง

กับสภาวะอันหลากหลายในสังคมได้

นักวิชาการแถบตะวันตกบางท่านถึงขนาดมองว่าโลกในยุคปัจจุบันนั้น

เสียงข้างมากแทบจะไม่สามารถตัดสินชี้ขาด

เรื่องบางเรื่องได้เพราะความต้องการอันหลากหลายสลับซับซ้อน

ด้วยเหตุนี้ โลกในอนาคตจะกลายเป็นโลกแห่งชนกลุ่มน้อย

ที่ไม่มีชนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่แท้จริง

เป็นโลกที่ผู้คนมีความต้องการที่แตกต่างกัน

ในแต่ละเรื่อง ลำพังเสียงข้างมากจะไม่เพียงพอ

ต่อการตัดสินปัญหาใดปัญหาหนึ่งอีกต่อไป

(จาก หนังสือ คลื่นลูกที่สาม)


นี่คือความเห็นของนักวิชาการฝ่ายตะวันตก

ที่เล็งเห็นถึงสภาวะของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป


ข้ามมาทางฝั่งตะวันออกบ้าง ข้อสังเกตุที่ผมเห็นจากทางฝั่งตะวันออกก็คือ

นักคิดทางฝั่งนี้แต่เดิมไม่ให้ความสนใจนักว่า ระบบการเมืองใดดีกว่ากัน

แต่สิ่งที่นักคิดฝั่งนี้ให้ความสำคัญก็คือ "วิธีการใช้อำนาจ" ของผู้ปกครอง

พูดง่าย ๆ ไม่ว่าระบบการเมืองจะเป็นระบบใด

แต่ถ้าผู้ปกครองใช้อำนาจไม่ถูกต้อง

ที่สุดก็ต้องพังกันหมด วิธีการใช้อำนาจทางฝั่งตะวันออก

จึงมีความหลากหลายและในหลายสำนักทางฝั่งตะวันออก

มีการยกหลักการบางอย่างที่อยู่เหนือเสียงข้างมาก


ที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะสำนักไหน มันก็มาสุดอยู่ที่คำว่า

อำนาจ กับผลประโยชน์ เหมือนกัน

แต่สำหรับผม ผมคิดว่ามีคำ ๆ หนึ่งที่สามารถอธิบาย

ลักษณะของคำว่าอำนาจได้ดีที่สุด

นั่นก็คือ คำว่า อิทัปปัจจยตา หรือ กฎแห่งเหตุปัจจัย

กฎนี้ได้อธิบายถึงสิ่งสำคัญซึ่งเป็นสัจธรรมเด็ดขาด

ที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ นั่นคือ

สภาวะทั้งหลายไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง

แต่ต้องอิงอาศัยกับปัจจัยอื่นสภาวะนั้นจึงปรากฎขึ้นมาได้

แม้แต่สภาวะอำนาจก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน

ผมคิดว่า แนวคิดนี้ คือสิ่งที่จะพลิกโฉมแนวคิดทางรัฐศาสตร์ให้ตอบสนอง

ต่อความเป็นไปของสภาวะอันหลากหลายในสังคมได้

เมื่อกล่าวถึงอำนาจ บรรดานักวิชาการหรือนักการเมืองมักรู้สึกว่า

มันเป็นก้อนอะไรสักอย่างที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองมานานแล้ว

ดังมีทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่สนับสนุนแนวคิดนี้หลายทฤษฎี เช่น

ทฤษฎีสัญญาประชาคม ที่เชื่อในทำนองว่ามนุษย์มีสิทธิมาตั้งแต่แรก

(สำหรับผม สิทธิถือเป็นอำนาจประเภทหนึ่ง

เพราะสามารถบังคับได้เช่นเดียวกับอำนาจ)

แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาลอย ๆ

เช่น ไม้ยืนต้นสูงตระหง่าน กว่าจะเติบโตขึ้นมาได้

ก็ต้องอาศัย ปุ๋ย น้ำ ดิน แสงแดด เมล็ดพันธุ์ ฯ

มันไม่ได้เกิดขึ้นมาทั้งสภาพอย่างนั้น

เหมือนกับอำนาจ ที่ต้องมีเหตุแห่งการเกิด

จะพูดให้ชัดก็คือ "ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับอำนาจ"

ไม่ว่าผู้ปกครองหรือประชาชน

ถ้าหากการศึกษารัฐศาสตร์ เกิดการพลิกขั้วบนฐานคติที่ว่า

"มีปัจจัยบางอย่างซึ่งเป็นที่มาแห่งอำนาจ"

มุมมองทางรัฐศาสตร์จะเปิดกว้างขึ้นทันที

และอำนาจอาจจะกลายเป็นเพียงสาขาหนึ่งของการศึกษารัฐศาสตร์

ซึ่งมิใช่เป็นแกนกลางอีกต่อไป มีประโยคหนึ่งที่ผมได้ยินมานานแล้วก็คือ

"การกระจายอำนาจ" หากใช้แนวคิดเดิมมาอธิบาย

เราจะรู้สึกว่ามันเป็นการกระจายก้อนอะไรสักอย่างไปให้ชนกลุ่มอื่น

แต่ถ้าแนวคิดทางรัฐศาสตร์เกิดการพลิกขั้วขึ้นมาจริง

นั่นหมายความว่า การกระจายอำนาจอาจจะมีความหมายครอบคลุมไปถึง

การกระจายเหตุปัจจัยแห่งอำนาจด้วย

ซึ่งมันจะสร้างจิตสำนึกที่มีต่ออำนาจอีกแบบขึ้น

โดยเฉพาะจิตสำนึกที่ว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของอำนาจโดยเด็ดขาด

ข้อดีของสำนึกแบบนี้่ก็คือ มันสามารถป้องกันเผด็จการได้ทุกรูปแบบ

ไม่ว่าเผด็จการทหาร (ปืน)

เผด็จการทุนนิยม (เงิน)

กระทั่งเผด็จการโดยม็อบ (คน)


คำถามก็คือ สังคมกล้ายอมรับมั้ยว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ไม่ว่าผู้ปกครอง รวมไปถึง ประชาชน ด้วย

แต่อำนาจเป็นเพียงสภาวะชั่วคราวที่เกิดจากการ

อิงอาศัยซึ่งกันและกันเท่านั้น

การศึกษาทีี่่ลงลึกถึงสภาพหรือลักษณะการอิงอาศัยกันนี่ล่ะครับ

น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างทางเลือกที่สามให้แก่สังคมไทย






Create Date : 10 สิงหาคม 2552
Last Update : 14 เมษายน 2556 15:39:52 น. 0 comments
Counter : 1133 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.