Group Blog
 
<<
เมษายน 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
13 เมษายน 2556
 
All Blogs
 
พลังแห่งสถาบัน พลังแห่งสัญลักษณ์


นับวัน...ผมยิ่งรู้สึกว่าความขัดแย้งในประเทศไทยคราวนี้

มันไม่ธรรมดาจริง ๆ จากเดิมที่เริ่มมาจากความขัดแย้งด้านตัวบุคคล

จนกระทั่งวันนี้ ผมชักไม่แน่ใจว่า มันลงลึกไปถึงไหนแล้ว

แต่สิ่งที่ผมแน่ใจก็คือ ความขัดแย้งคราวนี้

มันคงแก้ไขไม่ได้ง่าย ๆ เพียงแค่ความตายของใครบางคนเท่านั้น


ครับ...ในบรรดาความขัดแย้งทั้งหลายของมนุษยชาตินั้น

ที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งที่สุด

ก็ต่อเมื่อความขัดแย้งนั้นมันลงลึกไปถึงระดับจิตใจ

ไม่ใช่เพียงแค่การขัดผลประโยชน์ทั่วไป

พูดอีกอย่างก็คือ มันจะต้องเป็นความขัดแย้งถึงระดับสถาบัน


(หมายเหตุ : Blog ART19

คำว่าสถาบัน ณ ที่นี้กินความกว้างกว่าที่เป็นประเด็นในทุกวันนี้นะครับ)


ท่านพุทธทาสเคยกล่าวถึง "สถาบัน"เอาไว้ว่า

สถาบัน คือสิ่งที่ประดิษฐานอยู่ในจิตใจ

อะไรก็ตามที่ได้รับการยอมรับลงลึกถึงระดับจิตใจ สิ่งนั้นก็แปรสภาพเป็นสถาบันได้

ข้อสังเกตุก็คือ สิ่งที่กลายเป็นสถาบันนั้น "อยู่เหนือความตาย"

เพราะเมื่อสิ่งนั้นได้ประดิษฐานอยู่ในจิตใจแล้ว

ย่อมจะได้รับการสืบทอดและเผยแผ่ต่อไปเรื่อย ๆ

ในทางสังคมศาสตร์ "สถาบัน" ถอดศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า

"institution" มีความหมายว่า แบบอย่างแห่งพฤติกรรมที่สร้างขึ้น

และมีการปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาอันเป็นที่ยอมรับกันในสังคม

ก่อนหน้านี้เคยมีวาทกรรมอันเป็นที่กล่าวขวัญถึง นั่นคือ

การทำให้พรรคการเมืองกลายเป็น สถาบันทางการเมือง

นั่นก็คือ การทำให้พรรคการเมืองนั้นมีความเป็นแบบแผน

ที่สามารถสืบทอดไปยังคนรุ่นหลังได้ ไม่ใช่ว่าหัวหน้าพรรค

หันหลังให้พรรคแล้ว พรรคนั้นก็หมดอนาคต


สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คน ๆ หนึ่งจะยกระดับตนเองจนกระทั่ง

คน ๆ นั้น กลายเป็น "สถาบัน"ได้หรือไม่ ซึ่งก็หมายความว่า

1.แนวทางพฤติกรรมของเขาได้รับการยอมรับ

2.เขาถูกจดจำข้ามกาลเวลา แม้เมื่อเขาตายไปแล้ว

3.มีผู้สืบทอดแนวทางพฤติกรรมของเขา

และถ้าทำได้จริง อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เขากลายสภาพเป็นสถาบัน

ผมคิดว่า นอกเหนือจากคุณงามความดี คุณูปการ

หรือผลงานอันยิ่งใหญ่ที่เขาทิ้งเอาไว้

สิ่งที่ทำให้คน ๆ หนึ่งกลายเป็นสถาบันได้

มันต้องอาศัยพลังบางอย่างเกื้อหนุนด้วย

นั่นคือ "พลังแห่งสัญลักษณ์" ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้คนผู้นั้น

ถูกจดจำไว้ในลักษณะบางอย่าง หรือเป็นตัวแทนบางสิ่งบางอย่างตลอดไป


ตถาคต ถูกจดจำในฐานะศาสดา ผู้พ้นแล้วซึ่งกิเลสอาสวทั้งปวง

และพระพุทธรูปกลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง พระวิสุทธิคุณ

พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของตถาคต


พระเยซูคริสต์ ถูกจดจำในฐานะศาสดาแห่งความรัก

และไม้กางเขนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก

ซึ่งพระเยซูท่านได้ไถ่บาปให้แก่มนุษยชาติ


พลังแห่งสัญลักษณ์มีส่วนทำให้ศาสดาทั้งสองท่าน

ได้รับการยอมรับและแนวทางพฤติกรรมของท่าน

ได้เผยแผ่ไปสู่ส่วนต่าง ๆ ในโลกอย่างแพร่หลาย

หากปราศจากซึ่งสัญลักษณ์แล้ว ผมเชื่อว่า

ศาสนิกชนของทั้งสองศาสนาอาจมีไม่มากเหมือนทุกวันนี้


ดังนั้น การจู่โจมทางจิตใจที่ลงลึก รุนแรงที่สุด จึงต้องนับเนื่องเอา

การจู่โจมทางสัญลักษณ์ด้วย กรณีนี้จะเห็นได้ชัดเจนจาก

วิกฤตการเผาสถานฑูตไทย ในกัมพูชา ตามข่าวลือที่เชื่อกันว่า

มีดาราสาวคนหนึ่ง ไปกล่าวว่า นครวัด เป็นของไทย

เมื่อนครวัดมีความหมายถึง "สัญลักษณ์ของกัมพูชา"

ผลก็คือ สถานฑูตไทย โดนเผาวายวอด


หรือเหตุการณ์ ก่อการร้ายที่ตึก Worldtrade ในอเมริกา

ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งระบบทุนนิยม และสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจ

ของอเมริกา ผลก็คือ มันได้สร้างความกระทบกระเทือนทางจิตใจ

ต่ออเมริกันชนอย่างลึกซึ้ง รุนแรงที่สุด


ผมเดาเอาว่า การที่ประเทศไทยในอดีตมีรัฐประหารหลายครั้ง

มีการฉีกรัฐธรรมนูญหลายเล่ม แต่ปฏิกิริยาของคนไทยที่มีต่อเหตุการณ์นี้

กลับไม่ปรากฏการต่อต้านชัดเจนมากนักเพราะคนไทยในอดีต

มิได้รู้สึกว่า รัฐธรรมนูญ หรือ การมีรัฐบาลเป็นสัญลักษณ์ของพวกตน

หรือกล่าวให้ชัดก็คือ รัฐธรรมนูญนั้น มิใช่สัญลักษณ์ที่สะท้อนถึง

แบบแผนหรือวิถีชีวิตที่ตนเองยอมรับ ซึ่งนั่นรวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม

อันเป็นช่วงรอยต่อทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญด้วย

ถึงแม้ว่า ปรากฏการณ์ 14 ตุลา จะถูกกล่าวขาน ถูกจดจำ

จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งเพียงไรก็ตาม

แต่แบบแผนแห่งพฤติกรรมของปัญญาชนในยุคนั้น

กลับไม่สู้จะได้รับการสืบทอดต่อเนื่องและเผยแผ่มากนัก

ปรากฏการณ์ 14 ตุลา สำหรับผมจึงยังไม่อาจยกระดับเป็นสถาบันได้


เอาล่ะ กลับมาสู่สถานการณ์ปัจจุบันกันดีกว่า คำถามก็คือ

อดีตนายก ฯ ทักษิณ จะแปรสภาพเป็นสถาบันได้หรือไม่

(ย้ำอีกครั้ง คำว่า สถาบัน ณ ที่นี้กินความกว้างกว่าที่เป็นประเด็นในปัจจุบัน)

หมายความว่า แนวทางพฤติกรรมของอดีตนาย ฯ ทักษิณ จะได้รับการยอมรับ

หรือถูกจดจำ และได้รับการเผยแผ่ จนกระทั่งคนบางกลุ่มรู้สึกว่า

การกระทบกระเทือนต่ออดีตนายก ฯ ทักษิณ

คือ การกระทบกระเทือนต่อวิถีชีวิตซึ่งตนยอมรับ

และมันจะยอมกันไม่ได้เด็ดขาด ขนาดต้องตายกันไปข้าง

คำถามนี้ ผมยังไม่อยากตอบ ณ ที่นี้

ขอให้เป็นทัศนคติของแต่ละท่านดีกว่า แต่ผมขอทิ้งข้อสังเกตุเอาไว้ว่า

อดีตนายก ฯ ทักษิณยังขาดพลังแห่งสัญลักษณ์

ที่จะทำให้เกิดการสื่อถึงแนวทางพฤติกรรมของท่าน

ลองคิดกันเล่น ๆ นะครับ ถ้าหากจะมีพลังแห่งสัญลักษณ์ที่มีส่วน

เกื้อหนุนต่อสถาบันตามแนวทางของอดีตนาย ฯ ทักษิณ

มันควรจะมีสภาพหรือลักษณะยังไง

แต่สำหรับคนที่มีทั้งข้อดีแต่ก็มีข้อเสียเพียบไปหมดอย่างนี้

มันช่าง create ยากจริง ๆ




Create Date : 13 เมษายน 2556
Last Update : 15 มิถุนายน 2556 11:00:28 น. 0 comments
Counter : 1313 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.