Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2559
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
9 พฤษภาคม 2559
 
All Blogs
 

ปรากฏการณ์เลสเตอร์



ชั่วโมงนี้ถ้าใครไม่ตามข่าวเลสเตอร์ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ...คงเชยแหลก


ครับ...ปรากฏการณ์เลสเตอร์นับว่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์อันดับต้น ๆ แห่งวงการกีฬาในทศวรรษนี้ ขนาดบ่อนพนันถูกกฎหมายในอังกฤษยังตั้งราคาเป็นแชมป์ของเลสเตอร์ตอนต้นฤดูกาลเอาไว้ที่ แทง 1 จ่าย 5000 นั่นหมายความว่า มันแทบเป็นไปไม่ได้ เรื่องความมหัศจรรย์ของเลสเตอร์ในเชิงลูกหนังคงมีคนเขียนไปเยอะแล้ว แต่สิ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือแนวทางการบริหารทีมเลสเตอร์ของครอบครัวศรีวัฒนประภา เพราะมันมีอะไรหลายอย่างที่ชวนกล่าวถึงมาก ๆ


ครั้งหนึ่งเฟอกี้เคยกล่าววาทะสำคัญเอาไว้ว่า (เครดิตจาก siamsport)


"ผมโชคดีที่สุดที่ได้ทำงานร่วมกับสุดยอดนักเตะมากมาย วันนี้ไม่มีสคริปต์ในการพูด แต่ทุกอย่างออกมาจากใจ ถ้าคุณคิดถึงการได้ประตูในนาทีสุดท้าย การคัมแบ็กกลับมาชนะหรือการที่เราได้แชมป์มากมาย ซึ่งนั่นมาจากการร่วมแรงของทุกฝ่าย ตั้งแต่วันแรกที่ผมมาถึง ผมนึกถึงเสมอว่า จะต้องสร้างสโมสรขึ้นมา ไม่ใช่แค่สร้างทีม "


สารภาพว่า ตอนแรกที่อ่าน ผมยังไม่เข้าใจกระจ่างนักว่าทีมที่ดีกับสโมสรที่ดี มันต่างกันยังไง เพราะที่เท่าดูบอลมา สโมสรที่ดีก็คือทีมที่เป็นแชมป์ จนกระทั่งปรากฏการณ์เลสเตอร์เกิดขึ้น


ยิ่งเปรียบเทียบกันระหว่าง แบล็กเบิร์นโรเวอส์กับเลสเตอร์ ก็ยิ่งเห็นภาพ


ปี 1994 แจ็ค วอร์กเกอร์ประธานสโมสรผู้ทำธุรกิจเหล็กกล้าลงทุนจ้างเคนนี่ ดัลกลิช อดีตผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลพร้อมกับให้เงินดัลกลิชมหาศาลเพื่อซื้อตัว อลัน เชียร์เลอร์ กับ คริส ซัตตัน จนสามารถซิวแชมป์พรีเมียร์ชิพได้สำเร็จ แต่แบล็กเบิร์นโรเวอส์ก็ไม่สามารถรักษาความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง หลังหมดยุครุ่งเรืองของวอล์คเกอร์ แบล็กเบิร์นโรเวอส์ก็ตกชั้นในปี 1999 ต้องจมอยู่ในลีกรองอยู่สองฤดูกาล ก่อนจะกลับมาผงาดในลีกสูงสุดอีกครั้งในปี 2001 อย่างไรก็ตาม โรเวอร์สไม่ใช่ทีมมหาอำนาจทีมเดิมอีกแล้ว ล่าสุดยังคงจมอยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพในโซนท้ายตาราง


เปรียบเทียบกับเคสที่เลสเตอร์คว้าแชมป์ได้ ลองอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ครับ (เครดิตจาก นิตยสาร a day magazine)





"ตอนเข้าไปสโมสรเลสเตอร์แรกๆ เราเห็นว่า ลูกฟุตบอลตกบนสนามอินดอร์แทบไม่เด้ง เราถามว่าแล้วคุณซ้อมกันยังไง เขาบอกก็ซ้อมกันอย่างนี้ อยู่ไปวันๆ เราบอกว่ามันไม่ใช่แล้วมั้ง แล้วมันส่งผลถึงนักกีฬา ที่จริงผมควรจะต้องเอาเงินบางส่วนไปซื้อนักกีฬา แต่ผมตัดเงินซื้อนักกีฬาไปทำสนาม คุณพ่อก็บอกว่าบ้าหรือเปล่า สตาฟฟ์ทุกคนบอกว่า คุณผิดนะ ผมบอกว่าไม่ผิดหรอก ปีแรกมันอาจจะยังไม่เห็นผล แต่เชื่อสิว่าเดี๋ยวจะดี


"ผมวางระบบดี สิ่งอำนวยความสะดวกดี นั่นคือสิ่งที่ต้องทำ แต่บางคนมองข้าม แล้วถ้าไม่ทำตอนนั้น ตอนนี้ก็คงไม่ทัน เลสเตอร์จะกลายเป็นทีมพรีเมียร์ลีกที่ไม่พร้อม ก็จะเป็นทีมแบบกลางๆ เล็กๆ ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร มันตอกย้ำให้เห็นว่าสิ่งที่เราลงทุนลงแรง พยายาม ไม่ว่าจะอะไร เราทำได้ พิสูจน์ว่ามันไม่ได้เสียอะไรไปเลยกับเวลาที่ลงไป กับเงินที่ลงไป วันนี้อะไรทุกอย่างคืนมาจนรับไม่ไหวแล้ว"


เห็นได้ชัดเจนว่า ทางคุณอัยยวัฒน์เลือกจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของสโมสรก่อน นั่นคือ สนามซ้อม อุปกรณ์การซ้อม ระบบอำนวยความสะดวก ก่อนที่จะต่อยอดไปสู่กระบวนการคัดเลือกนักเตะเข้าสู่ทีม


นอกเหนือจากระบบการซ้อมแล้ว สิ่งที่คุณอัยยวัฒน์ให้ความสำคัญก็คือ วิทยาศาสตร์การกีฬา ทีมนักกายภาพบำบัด ส่วนในด้านทีมงานแมวมองเพื่อคัดนักเตะ คุณอัยยวัฒน์ก็ให้เกียรติ สตีฟ วอลช์ (หัวหน้าแมวมอง) สิ่งที่วอลช์นำเสนอถูกตัดสินกันด้วยรายงานสถิติข้อมูลตัวเลข ไม่ใช่แค่ความชอบหรือไม่ชอบของผู้บริหารคนหนึ่ง ดังนั้น การที่คุณอัยยวัฒน์ซื้อตัวนักเตะนอกลีกอย่างเจมี วาร์ดี ด้วยเงินถึง 1 ล้านปอนด์ จึงไม่ใช่ความบังเอิญหรือถูกหวยแน่นอน แต่มันเกิดจากการเอารายงานและสถิติของสตีฟ วอลช์ไปนั่งวิเคราะห์ถึง 1 สัปดาห์


ส่วนในด้านความสัมพันธ์กับนักเตะ คุณอัยยวัฒน์พยายามลงไปคลุกคลีกับนักเตะบ่อย ๆ สร้างความคุ้นเคยต่อนักเตะ และทำให้นักเตะรู้สึกว่าอยู่กันเป็นครอบครัว ไม่ใช่เจ้านายกับลูกน้อง ซึ่งตรงนี้มันจะทำให้นักเตะผูกพันกับสโมสรและเกิดความรู้สึกว่า "สโมสรคือครอบครัว"


ข้อสรุปก็คือ คุณอัยยวัฒน์พยายามสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นทุกจุดในสโมสร พัฒนาแบบสมดุล และมองคุณภาพแบบองค์รวม และเมื่อแนวคิดในการบริหารตกผลึกเพียงพอ วันหนึ่งเลสเตอร์ก็จะเปลี่ยนจากทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง (หรือองค์กรหนึ่ง) กลายมาเป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็งพร้อมส่งผ่านแนวคิดไปสู่บุคลากรรุ่นต่อไปโดยไม่ผูกพันตนเองอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโค้ชหรือนักเตะ


วิธีทีคุณอัยยวัฒน์เลือกนั้น มันเห็นผลช้า และต้องอดทนรอ แต่เป็นโชคดีของเลสเตอร์ที่ครอบครัวศรีวัฒนประภามองโลกบนความเป็นจริง และ "รอได้" ผมคงไม่บังอาจยืนยันว่าวิธีที่คุณอัยยวัฒน์ทำอยู่นี้จะทำให้เลสเตอร์เป็นแชมป์ติด ๆ กัน หรืออยู่ในระดับ Top Five ของพรีเมียร์ชิพได้ตลอดไปแต่สิ่งที่พอจะยืนยันได้คือ โครงสร้างสโมสรเลสเตอร์จะดีขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอน ที่จริงแล้วเรื่องทำนองนี้มีอยู่ในตำราการบริหารทั่วไป หาอ่านได้ไม่ยาก และผมก็ไม่อยากเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน แต่เอาเข้าจริงแล้วมีผู้บริหารทีมไม่กี่คนที่นำมาใช้ ส่วนใหญ่ก็คงด้วยเหตุผลที่ไม่อยากรอ ต้องการความสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว สุดท้ายก็ไม่พ้นใช้เงินทุ่มมหาศาล ซึ่งเป็นการนำสโมสรเข้าไปสู่ความเสี่ยง หลายสโมสรต้องล้มละลายเพราะใช้จ่ายเกินตัว อย่างลีดส์นี่ก็น่าเสียดาย ทั้งที่เป็นทีมฟุตบอลที่ดีทีมหนึ่ง


ทีมฟุตบอลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสโมสรเท่านั้น







 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2559
0 comments
Last Update : 12 พฤษภาคม 2559 23:27:49 น.
Counter : 1553 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.