Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 
13 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 

วสันต์...หรรษา...ปราจีน

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
แก่งหินเพิง สายน้ำแห่งความท้าทาย

ฤดูฝน ฝนย่อมตก เมื่อฝนตกก็ต้องเปียก ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงหลีกเลี่ยงการออกท่องเที่ยวในช่วงหน้าฝน
เพราะกลัวฝน กลัวเปียก กลัวเฉอะแฉะ กลัวไม่สะดวกสบาย และกลัวอีกสารพัดอย่าง

ในขณะที่ใครและใครอีกหลายคนกลับมีพฤติกรรมตรงกันข้าม คือ ชอบเที่ยว(มาก)ในหน้าฝน
โดยเฉพาะเที่ยวป่า เที่ยวไพร เที่ยวผจญภัยไปตามใจของตน เพราะหน้านี้ป่าไพรหลายแห่ง(ที่เปิดให้ท่องเที่ยว)
ได้ฉายมนต์เสน่ห์แห่งความงามออกมาอย่างเต็มเปี่ยม ดังเช่นที่"แก่งหินเพิง" จ.ปราจีนบุรี

แก่งหินเพิง ยามหน้าแล้งเป็นเพียงลานหินโล่ง ดาดๆทั่วไป แต่ครั้นฝนมาเยือน แก่งหินแห่งนี้
จะมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์จนกลายเป็นสถานที่ล่องแก่งผจญภัยใกล้กรุงฯสุดฮิต ซึ่งในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์นั้น
มีคนหนีความวุ่นวายของเมืองใหญ่ออกเดินทางไปผจญแก่งหินเพิงกันเป็นจำนวนมาก

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
สนุก สะใจ ที่แก่งหินเพิง

สนุก ระทึกใจ ผจญภัยแก่งหินเพิง
"ตะลอนเที่ยว" หลังรู้ข่าวว่า"แก่งหินเพิง" ได้เปิดฤดูกาลล่องแก่ง(ปี 52)ไปเมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ก็ไม่รีรอหาวันว่างรวบรวมสมัครพรรคพวกออกเดินทางสู่ แก่งหินเพิง อ.นาดี จ. ปราจีนบุรี ในทันที

พูดถึงแก่งหินเพิงหลายคนไม่รู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯเขาใหญ่
อยู่ในความดูแลของหน่วยพิทักษ์ฯเขาใหญ่ที่ 9 (ขญ.9) แก่งแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำใสใหญ่
มีต้นกำเนิดจากยอดเขาใหญ่ มีระดับความยากของสายน้ำอยู่ที่ 3-5 นับว่าเหมาะแก่การล่องเรือยางผจญแก่งมาก

สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวผจญภัยประเภทล่องแก่งนั้น สิ่งที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอก็คือ เรื่องของความปลอดภัย
ด้วยเหตุนี้ก่อนจะไปผจญแก่งของจริง ทางทีมสตาฟฟ์ได้เข้ามาแนะนำการพายเรือ
การช่วยเหลือตัวเองเมื่อพลัดตกน้ำ และการป้องกันตัวเองในระหว่างที่ล่องแก่ง
ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ล่องแก่งอย่างสนุกสนานออกรสชาติ

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
เปียกปอน สะใจ กับการผจญแก่งหินเพิง

เสร็จสรรพจากนั้น เป็นการเดินเท้าจากหน่วยไปจุดเริ่มต้นล่องแก่งประมาณ 2.5 กม.เพื่อเรียกน้ำย่อย
ก่อนจะตรวจเช็คพาย ชูชีพ หมวกกันน็อค ในขั้นสุดท้าย แล้วก็เริ่มต้นบรรเลงออกล่องแก่งกันทันที

ด่านแรกเป็นแก่งหินเพิง หลังเรือยางตั้งลำได้ไม่กี่อึดใจ
ก็แล่นพุ่งโจนทะยานฝ่าสายน้ำอันกราดเกรี้ยวสีขาวฟูฟ่องของแก่งในระดับ 4+ ลงมา ชนิดสาวหลายๆคน
เมื่อเจอสภาพแบบนี้ถึงกลับ "กรี๊ด!!!"ลั่นสนั่นแก่ง
ก่อนจะมาพักหายใจหายคอกันในช่วงน้ำนิ่งให้พายเรือเนิบๆกันต่อไป แต่พักได้ไม่ทันไร แก่งหนามล้อมก็ส่งเสียง
เชี่ยวกรากของสายน้ำคำรามรออยู่เบื้องหน้าให้พวกเรานำเรือแล่นฝ่าข้ามไปอย่างสนุกตื่นเต้น
ต่อจากนั้นเป็นแก่งวังบอน แล้วต่อด้วยคิวของแก่งลูกเสือ ก่อนที่จะไปสลับอารมณ์ด้วยการลงเล่นสไลเดอร์น้ำ
ให้ตัวและหัวใจไหลไปตามความแรงของสายน้ำอันชุ่มฉ่ำ ก่อนจะไปขึ้นเรือผจญแก่งวังไทรกันต่อ
เมื่อแต่ละคนในเรือเริ่มคุ้นเคยการผจญแก่งแล้ว การบังคับเรือก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป
เพราะทั้งคำสั่ง"ขวาพาย ซ้ายทวน ก้มหัว จับเชือก" และอื่นของนายท้าย ดูแต่ละคนจะปฏิบัติตามได้อย่างดี

จากนั้นพวกเราได้ล่องเรือยางไปต่อยัง แก่งงูเห่า และขึ้นฝั่งเทียบท่าที่บริเวณหน่วย ขญ.9
ก็ถือเป็นอันเสร็จพิธีการล่องแก่งหินเพิง ที่ถ้าโอกาสเหมาะเมื่อไหร่"ตะลอนเที่ยว"ก็จะรวบรวมสมัครพรรคพวก
มาตะลุยผจญภัยแก่งแห่งนี้กันอีก ส่วนทริปนี้ของพูดเพียงสั้นๆว่า "ลาก่อน แก่งหินเพิง"

แต่ทว่า...เรายังไม่อำลาจากทริปนี้ไปไหน เพราะปราจีนบุรียังมีของดีดึงดูดให้เราไปสัมผัสเที่ยวชมกันอีก
ในโปรแกรมท่องเที่ยวของวันต่อไป

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
ของเก่าแก่และตะเกียงมากมายที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ แหล่งสะสมตะเกียงมากที่สุดในไทย
ณ ที่พักแห่งหนึ่งในปราจีน ด้วยความที่ "ตะลอนเที่ยว" ใช้พลังออกไปมากโขจนอ่อนเพลียเต็มพิกัด
ค่ำวันนั้นเราจึงหลับเป็นตายตั้งแต่หัวค่ำ ชนิดที่มาตื่นอีกทีก็ช่วงเช้าค่อนไปทางเกือบสายของวันรุ่งขึ้นเข้าให้แล้ว

เช้าวันนี้ หลังอิ่มหนำจากอาหารเช้า เราก็มุ่งหน้าไปยัง "พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์" ถ.ปราจีนตคาม ต.ดงขี้เหล็ก
อ.เมือง ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่ชื่อชั้นนั้นถือว่ามาแรงไม่เบา เพราะนอกจากจะเป็นที่รวบรวมของเก่าแก่
ให้ชมกันมากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งสะสมตะเกียงที่มากที่สุดในประเทศไทยถึงหมื่นกว่าดวงเลยทีเดียว

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
อาคารฟ้าประดิษฐ์ เปิดโล่งจัดแสดงเรือโบราณ


ครั้นเมื่อไปถึงพิพิธภัณฑ์ เราก็รู้สึกสมสุขไปกับบรรยากาศย้อนยุคของข้าวของเก่าๆที่ทางพิพิธภัณฑ์แบ่งสัน
ปันส่วนการจัดแสดงเป็นอาคารต่างๆได้อย่างลงตัวเนียนตา อาทิ ตะเกียงเจ้าพายุหลากประเภท หลายยี่ห้อ
พร้อมด้วยมุมร้านกาแฟ เก๋ๆ เก่าๆ เก๋าๆ บนชั้น 2 ของ "อาคารราชาวดี" ,ตราชั่ง เครื่องตวงวัดแบบโบราณ
พระเครื่อง ของเล่นเด็กย้อนยุคจำพวกรถสังกะสี ตุ๊กตุ่น ตุ๊กตา ถ้วยชามโบราณ เครื่องทองเหลือง
และรถจักรยานยนต์รุ่นเก๋ากึ๊กอีกหลายยี่ห้อใน "อาคารลีลาวดี" ,
หนังสือเก่า การ์ตูนเก่า แสตมป์เก่า และภาพเก่าเมืองปราจีน ใน "อาคารชวนชม"

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
สวนวรรณคดี พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์

ส่วน"อาคารฟ้าประดิษฐ์" ที่เปิดโล่งนั่นก็น่ายลไปด้วยเรือโบราณหลายประเภท ขณะที่"อาคารเจ้าพายุ"อันโดดเด่น
ด้วยรูปแบบของตะเกียงเจ้าพายุนั้น ถือเป็นจุดชมวิวชั้นดีที่สามารถชมวิวได้โดยรอบ นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ยังมี
สวนวรรณคดีพระอภัยมณีให้เลือกชมกัน เคียงคู่ไปกับมนต์เสน่ห์ของตะเกียงมากมายที่ติดประดับอยู่ทั่วไปใน
พิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะบนเพดานของอาคารต่างๆอันนับเป็นจุดเด่นสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
โบสถ์วัดแก้วพิจิตร

วัดแก้วพิจิตร งามวิจิตรศิลปะ 4 ชาติ
หลังถูกตะเกียงมากมายส่องทางปัญญาให้ตัวเองแล้ว จุดต่อไปเราเลือกมุ่งหน้าเข้า“วัดแก้วพิจิตร”
ที่อยู่ไม่ไกลกันในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี (ริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำปราจีน)เพื่อไปซึมซับวิถีธรรม
และความงามแห่งงานพุทธศิลป์ ที่วัดนี้สามารถรวมศิลปะ 4 ชาติ คือ ไทย จีน เขมร และตะวันตก
มาผสมผสานไว้ด้วยกันได้อย่างสวยงามลงตัว

วัดแก้วพิจิตร สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2422 โดย นางประมูลโภคา(แก้ว ประสังสิต)
ต่อมาปี พ.ศ.2456 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้สร้างโบสถ์เพิ่มเติมขึ้นด้วยงานศิลปกรรมผสม 4 ชาติ
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งต่างก็มีจุดเด่นของศิลปะของแต่ละชาติแตกต่างกันออกไป
อาทิ เสารอบตัวโบสถ์เป็นเสากลมเซาะร่องมีหัวเสาใบผักกาดตามแบบตะวันตก ผนังตอนบนใต้ชายคาเป็นงาน
จิตรกรรมแบบตะวันตก บันไดทางเข้าโบสถ์เป็นศิลปะปูนปั้นลวดลายลายมังกร 12 ตัวแบบจีน
มีซุ้มประตูเรือนเเก้วทางเข้าสู่โบสถ์เป็นศิลปะเขมร แฝงปริศนาคือมีนาฬิกาที่บอกเวลาใกล้ๆเที่ยง
อันหมายความว่าชีวิตของมนุษย์นั้นไม่เที่ยงประดับอยู่

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
หลวงพ่ออภัย พระพุทธรูปปางอภัยทานเพียงหนึ่งเดียว

ส่วนงานศิลปะไทยมีอยู่ทั่วไปในทุกมุมของวัด ไม่ว่าจะเป็น หน้าบัน ลายประตูหน้าต่าง
งานจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดก ลานปูนปั้นประดับผนังโบสถ์ด้านนอกเรื่องรามเกียรติ์
นอกจากนี้วัดแก้วพิจิตรยังมี "หลวงพ่ออภัย" พระพุทธรูปปางอภัยทาน เป็นพระประธาน ที่ออกแบบโดย
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางพิเศษมีเพียงหนึ่งเดียวคือที่วัดแก้วพิจิตรแห่งนี้

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

อภัยภูเบศร ตึกโรงพยาบาลสวยที่สุดในเมืองไทย
พูดถึงเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ท่านนับเป็นปูชณียบุคคลสำคัญ(มาก)คนหนึ่งของปราจีนบุรี
นอกจากจะสร้างโบสถ์วัดแก้วพิจิตรเพิ่มเติมแล้ว ท่านยังสร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรขึ้นในปี พ.ศ.2452
เพื่อถวายเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสต้นมณฑลปราจีนบุรี

"ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร" ตั้งอยู่ภายใน"โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร" (ต.ท่างาม อ.เมือง)
เป็นตึกโรงพยาบาลที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมทรงยุโรปสมัยเรอเนสซอง
มีมุขด้านหน้า ตรงกลางเป็นโดม ผนังด้านนอกตกแต่งลวดลายปูนปั้นลายพฤษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง
ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว

ปัจจุบันตึกหลังนี้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย
จัดแสดงและรวบรวมเรื่องราวทางการแพทย์แผนไทยต่างๆ
อาทิ ตำรายาไทย สมุนไพรไทย การแพทย์พื้นบ้านของปราจีนบุรี

ปราจีน<br>,ท่องเที่ยว
การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย

นอกจากตึกอันสวยงามแล้ว โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญของ
ปราจีน เพราะเป็นโรงพยาบาลที่นำร่องเรื่องแพทย์แผนไทย การใช้สมุนไพรบำบัดรักษาโรค ในโรงพยาบาล
มีบริการนวด อบ ประคบ ฝังเข็ม ขายยาสมุนไพร เครื่องสำอางค์สมุนไพร และโปรแกรมทัวร์สุขภาพ

ทั้งเวชภัณฑ์และบริการการแพทย์ทางเลือกทั้งหลายทั้งปวงของโรงพยาบาลแห่งนี้
ล้วนต่างได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างสูง สะท้อนให้เห็นว่ายุคนี้ พ.ศ.นี้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ
กันเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งสำคัญของการมีพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ก็คือ "การมีสุขภาพจิตดี"

ด้วยเหตุนี้การเลือกเดินจากชีวิตที่วุ่นวายแก่งแย่งของเมืองใหญ่ ชีวิตที่ซ้ำซากจำเจจากการทำงาน(หรืออื่นๆ)
ออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนชาร์จแบตให้ชีวิต ไยมิใช่หนึ่งในการช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงขึ้น

นี่แหละเสน่ห์ของการท่องเที่ยวที่ใครไม่ไปย่อมไม่รู้

* * * * * *

ปราจีนบุรี เคยเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ปราจีนบุรีนอกจากมีสถานที่ท่องเที่ยวตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วก็ยังมีสถานที่น่าสนใจ
อาทิ ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ โบราณสถานเมืองศรีมโหสถ น้ำตกมากมายใน อ.ประจันตคาม อช.ทับลาน
แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านดงบัง

สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวแก่งหินเพิงนั้น สามารถล่องได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงราวเดือนตุลาคม
โดยทางจังหวัดปราจีนบุรีจะจัดงาน “สัปดาห์ล่องแก่งหินเพิง” ในวันที่ 8 – 12 ก.ค. 52
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในปราจีน และสอบถามปริมาณน้ำในการล่องแก่งได้ที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครนายก(นครนายก,ปราจีนบุรี,สระแก้ว)
โทร. 0-3731-2282, 0-3731-2284,


การเดินทาง :- ข้อมูลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ทางรถยนต์ :-
เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ แยกรังสิตตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิตผ่านอำเภอองครักษ์ นครนายก
เข้าทางหลวงหมายเลข 33 แยกขวาที่สามแยกหนองชะอม ตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 132 กิโลเมตร
หรือวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 33 เลี้ยวขวาที่สี่แยกเนินหอม ระยะทาง 136 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่หินกอง ไปตามทางหลวงหมายเลข 33
ผ่านนครนายก แยกขวาที่สามแยกหนองชะอม ตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 164 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านฉะเชิงเทรา พนมสารคาม
เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 319 ผ่านอำเภอศรีมโหสถ ระยะทาง 158 กิโลเมตร

ทางรถโดยสารประจำทาง :-
มีรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว
ทั้งรถโดยสารธรรมดา และปรับอากาศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 936-2852-66

ทางรถไฟ :-
มีขบวนรถไฟโดยสารกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี ออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 223-7010, 223-7020

ที่มา ผู้จัดการ,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2552
1 comments
Last Update : 13 กรกฎาคม 2552 11:39:23 น.
Counter : 2560 Pageviews.

 

ขอแปะ link ท่องเที่ยวของเราไว้หน่อยนะคับ

เทศกาลปีใหม่โล้ชิงช้า ปีใหม่ของชนเผ่าอาข่า ทัวร์3วัน2คืน เริ่ม 2,3,4,กันยายน52

https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=khundoi&group=3


//www.hilltribeguide.com/autopage/show_page.php?h=1&s_id=3&d_id=4


 

โดย: guide doi 13 กรกฎาคม 2552 14:32:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.