Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
12 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
กินอิ่มนอนอุ่น ในป่าชุมชน “ทาป่าเปา”


แปลงสาธิตทางการเกษตรภายในศูนย์เรียนรู้ชุมชน

ที่ “หมู่บ้านทาป่าเปา” ในตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ
มีประชากรเพียง 215 ครัวเรือน น้อยคนนักที่จะรู้จักหมู่บ้านแห่งนี้ แต่สำหรับในแวดวงของนักอนุรักษ์ป่าชุมชน
ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ที่นี่ถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่มีคนมาดูงาน มาขอความรู้อยู่เสมอๆ

และล่าสุดนั้น หมู่บ้านแห่งนี้ก็เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศป่าชุมชนระดับประเทศ ในการประกวดป่าชุมชนดีเด่น
ประจำปี2552โดยได้โล่รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
และก่อนหน้านั้นก็ยังได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว (2545) รางวัลแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (2551) อีกด้วย


ผักปลูกอยู่ในแปลงสาธิต

เราไปทำความรู้จักกับ “หมู่บ้านทาป่าเปา” กันก่อนดีกว่า โดยชื่อของหมู่บ้านนั้น
ได้มาจากบริเวณที่ตั้งที่เต็มไปด้วยป่าไม้ โดยเฉพาะ “ต้นเปา” ประกอบกับมีแม่น้ำทาไหลผ่านในบริเวณนี้
หมู่บ้านจึงได้ชื่อว่า “ทาป่าเปา” ตามลักษณะภูมิประเทศ
คนในหมู่บ้านส่วนหนึ่งมีเชื้อสายชาวไทลื้อจากเมืองสิบสองปันนา
ยังคงเห็นได้จากที่คนเฒ่าคนแก่ยังใช้ภาษาหลวย หรือภาษาลื้อกันอยู่

แต่เดิมหมู่บ้านทาป่าเปาก็เป็นหมู่บ้านอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ แน่นทึบพื้นที่กว่า 13,000 ไร่
มีต้นไม้ขนาดใหญ่หายากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประดู่ สัก เสี้ยว ป่าเต็ง รัง พลวง เหียง ตีนนก ฯลฯ
แต่เมื่อความเจริญเข้าถึง ความต้องการเงินทองเพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
อันเป็นขุมทรัพย์ขุมใหญ่ของมนุษย์ ชาวบ้านได้นำเอาทรัพยากรท้องถิ่นมาใช้อย่างมากมาย มีการตัดไม้ทำลายป่า
เผาป่าถางไร่ ทำสัมปทานป่าไม้เพื่อทำรั้วรถไฟ ไม้หมอนรถไฟ และตัดฟืนเพื่อทำเชื้อเพลิง ถางป่าเพื่อทำไร่อ้อย
ทำให้ป่าไม้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เริ่มกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดความอุดมสมบูรณ์อย่างที่เคยเป็นมา


ผู้ใหญ่ไพบูลย์ จำหงษ์ กำลังให้อาหารปลาดุก

หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่แคล้วป่าคงจะหมด
แล้วชาวบ้านและลูกหลานรุ่นต่อๆไป คงจะได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน
ผู้นำชุมชนจึงต้องลุกขึ้นมาสร้างแนวคิดใหม่ ให้คนในชุมชนเกิดความคิดที่อนุรักษ์ป่าไม้
อันเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของเราเอาไว้

วันนี้เราได้คุยกับคุณไพบูลย์ จำหงษ์ ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านทาป่าเปา
ผู้ซึ่งริเริ่มการจัดการป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์เมื่อปี พ.ศ.2537 มีการจัดเวทีประชาคมกระตุ้นให้ลูกบ้านเล็งเห็น
ถึงความเสียหายของการทำลายป่า และหาทางแก้ไข มีการพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน
รวมทั้งมีการจัดชุดลาดตระเวนออกตรวจเมื่อมีการบุกรุกป่า จัดตั้งคณะกรรมการดูแลรักษาป่า
ออกกฎระเบียบต่างๆ ในการจัดการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติขึ้น เช่น ห้ามตัดไม้ทำลายป่า
ใครฝ่าฝืนจะถูกปรับ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชุมชนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี ทำให้การอนุรักษ์ป่าไม้ประสบความสำเร็จได้


บ้านในหมู่บ้านที่จัดเป็นโฮมสเตย์

แต่กว่าความสำเร็จจะเป็นรูปเป็นร่างนั้น ก็ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ในการฟื้นฟู แต่ด้วยความที่เป็นชุมชนเข้มแข็ง
ป่าของชุมชนก็เริ่มฟื้นคืนสู่ความสมบูรณ์ดังเดิม ไม้หายากต่างๆ สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยสมุนไพรกว่า 500 ชนิด ที่พบได้ง่ายในป่าชุมชน
ซึ่งกลายเป็นแหล่งความรู้ให้กับเยาวชน และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่ เข้ามาศึกษาวิจัยด้านสมุนไพร
ผลของป่าไม้ที่สมบูรณ์ ยังทำให้เกิดแหล่งน้ำเพียงพอที่จะทำประปาภูเขา ส่งน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนได้อีกด้วย

ปัจุบันหมู่บ้านทาป่าเปานี้ มักเป็นสถานที่มาดูงานของชุมชนอื่นๆที่สนใจแนวคิด
และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของป่า-ชุมชน และความเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง
ในวันนี้ผู้ใหญ่ไบูลย์เป็นคนพาเราชมสิ่งต่างๆ ภายในหมู่บ้านด้วยตนเอง
โดยเริ่มชมกันที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่มีลักษณะเป็นแปลงสาธิตอาชีพทางเกษตรกรรมต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไก่บนบ่อปลาดุก การเลี้ยงกบ แปลงนาสาธิต แปลงปลูกผักเกษตรปลอดสารพิษ
ซึ่งมีทั้งผักเพื่อการบริโภค และพืชสมุนไพรต่างๆ การเพาะเห็ด เป็นต้น


พระธาตุดอยกู่เบี้ย

ในหมู่บ้านทาป่าเปา ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิต
โดยการเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าพัก และยังเป็นรายได้เสริมให้กับลูกบ้าน
โดยมีบ้านที่เปิดเป็นโฮมสเตย์อยู่ 24 หลังด้วยกัน
และได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2549

“แต่ก่อนที่ยังไม่ได้เปิดเป็นโฮมสเตย์ คนที่มาดูงานก็ต้องมาพักกันที่ศาลาวัด ที่โรงเรียน
ในตอนแรกๆ เราก็ยังไม่รู้จักโฮมสเตย์ จนเมื่อได้มีการแลกเปลี่ยนกับหลายๆ ชุมชน
ก็เลยทำบ้านให้เป็นที่พักโฮมสเตย์ให้คนมาดูงานได้รับความสะดวก และยังเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีอีกด้วย
โดยสโลแกนของที่นี่คือ กินอิ่ม นอนอุ่น หลับสบาย” ผู้ใหญ่ไพบูลย์ กล่าว


พิพิธภัณฑ์ของโบราณพื้นบ้าน

นอกจากการมาพักที่โฮมสเตย์และเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีของป่าและชุมชน
รวมไปถึงได้ชมแปลงสาธิตเกษตรต่างๆ แล้ว ในหมู่บ้านก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้เราได้ไปเที่ยวกันด้วย
โดยบนดอยเขาเล็กๆ ในหมู่บ้านที่ชื่อว่าดอยกู่เบี้ยนั้น เป็นที่ตั้งของ “พระธาตุดอยกู่เบี้ย” พระธาตุเก่าแก่คู่ชุมชน
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัดทาป่าเปาที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบในหมู่บ้าน บนยอดดอยนอกจากจะได้สักการะพระธาตุแล้ว
ก็ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง
และยังสามารถกราบสักการะพระสังกัจจาย ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นยอด ดอยอีกด้วย

เมื่อได้ขึ้นไปบนดอยกู่เบี้ยแล้ว ก็ต้องไม่พลาดชมสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ใน “พิพิธภัณฑ์ของโบราณพื้นบ้าน”
ที่มีข้าวของเครื่องใช้ในบ้านและเครื่องมือทางการเกษตร ที่บางอย่างก็ไม่ได้ใช้แล้ว
จึงมีผู้บริจาคให้กับทางพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นก้างฝั่นเชือก อุปกรณ์ที่เอาไว้ฝั่นเชือกจากปอหรือป่านเพื่อใช้งาน
สว่านมือ อุปกรณ์ในการเจาะรูที่ทำจากไม้ ในสมัยที่ยังไม่มีสว่านไฟฟ้าอย่างทุกวันนี้
ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่ เอาไว้ใส่ข้าวเปลือก ก็เป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่งที่หลายๆ คนอาจไม่เคยเห็นมาก่อน
นอกจากนั้นก็ยังมีที่หั่นใบยาสูบ ครกหินบดยา และข้าวของอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งหากจะให้สนุกและได้ความรู้
ก็ต้องอาศัยให้คนในชุมชนเล่าและสาธิตวิธีการใช้ให้ชมกันด้วย


ไม้ไผ่สานเป็นภาชนะขนาดใหญ่ไว้ใช้ใส่ข้าวเปลือก

กลับลงมาที่ตีนดอยอีกครั้ง มายัง “วัดทาป่าเปา” ที่ภายในอุโบสถมีพระประธานนามว่า “พระเจ้านางเหลียว”
ที่มาของชื่อนี้ผู้ใหญ่ไพบูลย์เล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีความงดงามจนนางใดที่ได้มาไหว้พระแล้ว
ก่อนจะกลับออกจากโบสถ์ ก็ต้องเหลียวหลังกลับมามองพระประธานอีกครั้งหนึ่ง และอยากจะกลับมาที่นี่อีก

จากจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ป่า จนมาเป็นแหล่งเรียนรู้และโฮมสเตย์
ก็มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ เข้ามาเยี่ยมชมภายในหมู่บ้านกันพอสมควร
แต่ผู้ใหญ่ไพบูลย์ ก็ไม่อยากจะให้การท่องเที่ยวเข้ามาทำให้ความสุขของคนในหมู่บ้านลดลง
หรือต้องเอาใจนักท่องเที่ยวจนตัวเองไม่สะดวก หรือไปเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไป


พระเจ้าตนเหลียว พระประธานองค์บนสุดในโบสถ์วัดทาป่าเปา

“การเปิดเป็นโฮมสเตย์หรือการท่องเที่ยวนั้นต้องเป็นอาชีพรอง ต้องการทำการท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ไม่ใช่ว่าพอไม่มีใครมาเที่ยวมาแล้วก็มานั่งปวดหัวกัน” ผู้ใหญ่ไพบูลย์กล่าว

* * * * * * * * * * *

"หมู่บ้านทาป่าเปา" ตั้งอยู่ในตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
ห่างจากอำเภอเมืองลำพูนประมาณ 30 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายเชียงใหม่-ลำปาง
ติดต่อสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ คุณไพบูลย์ จำหงษ์ ผู้ใหญ่บ้าน โทรศัพท์ 0-5300-6222, 08-9265-2714


ที่มา :
//www.tourvtthai.com
//www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9520000141782




Create Date : 12 มกราคม 2553
Last Update : 12 มกราคม 2553 14:23:12 น. 2 comments
Counter : 1508 Pageviews.

 
ลงรูปภาพ เพื่อประชาสัมพันธืเยอะๆ สิจ๊ะ ทำให้น่าสนใจขึ้น แม่น้ำทาสวยๆ


โดย: ลูกหลานไทลื้อ-อยู่ต่างแดน IP: 223.204.155.225 วันที่: 7 ตุลาคม 2554 เวลา:14:18:27 น.  

 
ชอบมากๆดีๆสุดยอด


โดย: หม่อง IP: 27.55.1.225 วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:16:14:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.