Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
5 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
งามวิจิตรตรึงใจ ในพุทธศิลป์ถิ่น“แม่ฮ่องสอน”


พระธาตุดอยกองมู สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแม่ฮ่องสอน

แม้“แม่ฮ่องสอน”จะถูกภาคการปกครองและภาคการท่องเที่ยวกำหนดให้เป็น 1 ในกลุ่ม จังหวัดล้านนา
แต่ถ้าหากมาพิจารณาถึงอัตลักษณ์ของเมืองนี้จะพบว่า
เมืองสามหมอกแม่ฮ่องสอนมีความแตกต่างจากเมืองล้านนาอื่นๆ ตรงวิถีแห่งความ เป็น“ไทยใหญ่”หรือ“ไต”
อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ สมดังจังหวัดที่มีผู้คน(เชื้อสาย)ไทยใหญ่อาศัยอยู่มากที่สุดในเมืองไทย

นั่นจึงทำให้แม่ฮ่องสอนอวลไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งไทยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมิตรจิตใจอันดีงาม
วิถีที่ยังแนบแน่นในพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีอันมีรูปแบบเฉพาะตัว อาหารการกิน
รวมไปถึงงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่ปรากฏในงานพุทธศิลป์ต่างๆมากมาย


ทะเลหมอกยามเช้า ในมุมมองบนพระธาตุดอยกองมู

ด้วยเหตุนี้เมื่อ“ตะลอนเที่ยว”ได้มีโอกาสขึ้นแอ่วแม่ฮ่องสอนครั้งล่า สุดเมื่อลมหนาวมาเยือน
เราจึงถือโอกาสตระเวนเข้าวัดวาในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ไปไหว้พระ ทำบุญ
พร้อมไม่ลืมที่จะชื่นชมงานพุทธศิลป์แบบไทยใหญ่ อันเป็นเอกอุของเมืองสามหมอก แห่งนี้

สำหรับวัดแรกที่ไป คือ“วัดพระธาตุดอยกองมู”ที่ ตั้งเด่นตระหง่านง้ำบนดอยกองมู
(กองมูแปลว่าพระธาตุหรือเจดีย์) วัดแห่งนี้เดิมชื่อวัดปลายดอย มีงานพุทธศิลป์โดยรวมเป็นแบบไทยใหญ่
เป็นสถานที่ประดิษฐาน“พระธาตุดอยกองมู”พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
ที่ว่ากันว่าใครไปแอ่วเมืองสามหมอกแล้ว ไม่ได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยกองมูถือว่ายังไปไม่ถึง

พระธาตุดอยกองมู เป็นพระธาตุคู่สีขาวเด่นเคร่งขรึมขลัง พระธาตุองค์ใหญ่(องค์แรก)สร้างในปี พ.ศ.2403
โดยจองต่องสู่ ใช้เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระที่นำมาจากพม่า
พระธาตุองค์เล็ก(องค์หลัง)สร้างในปี พ.ศ. 2417 โดยพระยาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก
ตรงมุมทั้งสี่ของฐานพระธาตุประดับด้วยประติมากรรมรูปสิงห์ปูนปั้น
ส่วนที่ฐานประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดในต่างๆ
แต่ละวันจะมีคนขึ้นมาไหว้องค์พระธาตุ และพระพุทธรูปประจำวันเกิดไม่ได้ขาด


วัดก้ำก่อ

นอกจากความเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองแล้ว บนวัดพระธาตุดอยกองมูยังเป็นจุดชมวิวชั้นดี
ที่เมื่อมองลงไปจะเห็นตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่อย่างสงบงามท่ามกลางขุนเขา ที่โอบล้อม
ฝั่งหนึ่งมองเห็นหนองจองคำ-วัดจองคำ-วัดจองกลาง
อีกฝั่งหนึ่งมองเห็นสนามบิน ที่หากใครไปถูกจังหวะเวลาก็เห็นเครื่องบิน บินขึ้น-ลง เป็นของแถมชั้นเลิศ

ส่วนช่วงหน้าหนาวถ้าใครขึ้นวัดนี้ตั้งแต่เช้าตรู่ มีโอกาสกว่า 80 % ที่จะเห็นทะเลหมอกอันสวยงามลอยอ้อยอิ่ง
ปกคลุมตัวเมืองและขุนเขาที่เห็นยอด แพลมอยู่ไกลๆ ดูประหนึ่งราวกับว่าวัดพระธาตุกองมูตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า
ที่มีเมฆลอย พลิ้วลิ่วละเรี่ย สมดังคำขึ้นต้นคำขวัญจังหวัดว่า“กองมูสูงเสียดฟ้า”อันลือลั่น
ลงจากพระธาตุดอยกองมู “ตะลอนเที่ยว”แวะบริเวณเชิงดอย(ทางขึ้นพระธาตุ)
เพื่อไหว้พระติดกัน 3 วัดรวดที่อยู่ในละแวกเดียวกัน

วัดแรกคือ “วัดก้ำก่อ” (ก้ำก่อภาษาไทยใหญ่แปลว่า "ดอกบุนนาค")หนึ่งในวัดเก่าแก่คู่เมืองสามหมอก
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2433 ด้านหน้าวัดโดดเด่นด้วยสิงห์คู่ศิลปะไทยใหญ่ 2 ตัวยืนขนาบซ้ายขวา
ถัดไปฟากถนนเป็นเจดีย์สมส่วนขนาดย่อม ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นทางเดินหลังคาคลุม
มีซุ้มประตูหลังคาซ้อนชั้นตกแต่งลวดลายฉลุสังกะสีอย่างวิจิตรบรรจง ทางเดินสายนี้นำเข้าสู่ศาลาอันขรึมขลัง
ข้างในมีพระพุทธรูปศิลปะไทยใหญ่-พม่า อันสวยงามให้สักการะบูชา

ด้านข้างทางเดินเป็นศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ มีภาพแกะสลักไม้ลงสีสวยงาม
เรื่องราวส่วนใหญ่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ที่ทางวัดบอกว่าได้มาจากร้านขายของ เก่า หางดง เชียงใหม่


พระนอนวัดพระนอน

ตรงข้ามกับวัดก้ำก่อเป็น“วัดพระนอน” จุดหมายลำดับต่อไป วัดแห่งนี้ประดิษฐานพระนอนยาว 12 เมตร
สร้างด้วยศิลปะไทยใหญ่ มีพุทธลักษณะงดงามมาก พระพักตร์หวาน ดูอิ่มบุญ จีวรพลิ้วดูสบายตา
ตามประวัติเล่าว่าสร้างโดยพระนาง เมี๊ยะ ภริยาของพระยาสิงหนาทราชา

ข้างๆองค์พระนอน(ฝั่งพระพักตร์)มีพระพุทธรูปศิลปะไทยใหญ่ จีวรประดับกระจกสวยงามประดิษฐานอยู่
เขยิบถัดไปอีกหน่อยเป็นพิพิธภัณฑ์ของทางวัด ข้างในมีโบราณวัตถุน่าสนใจอยู่หลากหลาย
โดยเฉพาะพระพุทธรูปไทยใหญ่ พม่า และพระพุทธรูปบัวเข็มที่พบมากตามวัดในแม่ฮ่องสอน
เพราะชาวไทยใหญ่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก


เจดีย์วัดม่วยต่อ

จากวัดพระนอนเราไปแวะ“วัดม่วยต่อ” เพื่อไหว้พระ และชมเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญสีขาวเด่น
บนเนินด้านหลังวัด อันเป็นจุดชวนชมสำคัญของวัด

ออกจากวัดม่วยต่อ “ตะลอนเที่ยว”เดินทางไปยังหนองจองคำ เพื่อเที่ยวชมวัดจองกลางและวัดจองคำ
2 วัดที่อยู่ติดกันแบบไม่มีกำแพงขวางกั้น จนหลายๆคนยกให้เป็นดังวัดคู่แฝดแห่งเมืองแม่ฮ่องสอน


วัดจองกลางกับเจดีย์อันโดดเด่นเป็นสง่า

สำหรับวัดจองกลางนั้น มีจุดเด่นอันเป็นความต่างจากวัดจองคำคือ มีเจดีย์องค์ใหญ่ฐานสีขาว ยอดสีทอง
อันสวยงามสมส่วนตั้งอยู่ทางส่วนหน้าของวัด เจดีย์องค์นี้ตามประวัติของวัดระบุว่า เริ่มสร้างเมื่อพ.ศ.2456
แล้วเสร็จใน พ.ศ.2458 จากศรัทธาของขุนเพียร (พ่อเลี้ยงจองนุ) พิรุญกิจและแม่จองเฮือนคหบดี
โดยช่างชาวไทยใหญ่ เป็นรูปทรงจุฬามณี มีฐานเป็นสี่เหลี่ยมมีมุข 4 ด้าน มีสิงห์ด้านละ 1 ตัว
ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มานมัสการ

นอกจากองเจดีย์อันโดดเด่นแล้ว ในวิหารวัดจองกลางยังมีพระพุทธสิหิงค์จำลองให้ผู้คนได้สักการะบูชา
ส่วนด้านข้างทางวัดจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงศิลปวัตถุอันหลากหลาย ที่เด่นๆก็มี บุษบก พระไม้
ไม้แกะสลักเป็นเทวทูตทั้ง 4 (เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย) ตุ๊กตาแกะสลักต่างๆ ภาพวาดบนแผ่นกระจก
และข้าวของเก่าแก่อีกหลายชิ้น


วัดจองกลาง-จองคำ ในมุมมองผ่านหนองจองคำ

ออกจากวัดจองกลางเดินไปอีกนิดก็จะเป็น“วัดจองคำ”ที่มีข้อมูลระบุว่า
ชื่อวัดมาจากการที่เสาวัดประดับไปด้วยทองคำเปลว วัดจองคำ สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2370
เป็นวัดแห่งแรกในเมืองแม่ฮ่องสอน มีความโดดเด่นตรงหลังคาวัดเป็นรูปปราสาทซ้อน 9 ชั้น
พร้อมองค์ประกอบเป็นงานฉลุสังกะสีประดับประดาอย่างสวยงาม ตามความเชื่อที่ว่าปราสาทเป็นของสูง
ผู้ประทับในปราสาทจึงควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือตัวแทนพระศาสนาเท่านั้น


หลวงพ่อโต วัดจองคำ

วัดแห่งนี้มีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ“หลวงพ่อโต”พระ พุทธรูปองค์โต สร้างเมื่อ พ.ศ.2477 มีพุทธลักษณะ
งดงาม พระพักตร์หวานอมยิ้มเล็กน้อย ขนาดหน้าตักกว้าง 4.85 เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่อโต
ซึ่งมีลักษณะแปลกไปจากวิหารพระทั่วไปในแม่ฮ่องสอน เพราะมีตัวอาคารเป็นศิลปะตะวันตก

หลังไหว้หลวงพ่อโตองค์งามแล้ว เราไปต่ออารมณ์ไหว้พระงามกัน ณ วัดสุดท้ายของทริป ที่ “วัดหัวเวียง”
(วัดกลางเวียง,วัดกลางเมือง) ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองใกล้ๆกับตลาดเช้า


งานประดับสังกะสีฉลุที่วัดจองคำ

วัดแห่งนี้ สร้างใน พ.ศ. 2406 เมื่อเข้าไปแล้วภาพของความงดงามในงานศิลปกรรมไทยใหญ่ ก็พุ่งจับเข้าในใจทันที
ทั้งเจดีย์สีขาวยอดสีทองอันสมส่วน วิหารใหญ่หลังคาซ้อนหลายชั้น ในนั้นมีพระพุทธรูปหลายองค์ด้วยกัน
มีทั้งงานฝีมือช่างพื้นบ้านและงานฝีมือช่างชั้นครู ที่สร้างพระพุทธรูปได้ อย่างปราณีตขรึมขลัง


พระเจ้าพาราละแข่ง สุดยอดพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพม่า

ส่วนสิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ของวัดหัวเวียง ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนมาเที่ยวชม
ก็คือ “พระเจ้าพาราละแข่ง”พระ พุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสามหมอก ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้าพาราละแข่ง
ซึ่งมีการบูรณะซ่อมแซมไปในปี พ.ศ. 2536 มีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมรูปทรงออกแนวไทยใหญ่ประยุกต์
หลังคามุงกระเบื้องไม้ซ้อนชั้นไล่ขนาดกันขึ้นไป

สำหรับองค์“พระเจ้าพาราละแข่ง”นั้น ปัจจุบันทางวัดสร้างประตูเหล็กกั้นรอบองค์พระอีกที
ตามประวัติเล่าว่า จำลองมาจาก“พระมหามุนี” เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า โดยลุงจองโพหย่า
เดินทางไปนิมนต์มา แล้วสร้างเป็นท่อนๆ รวม 9 ท่อน ล่องแม่น้ำมา ก่อนนำมาประดิษฐานที่วัดหัวเวียง

พระเจ้าพาราละแข่ง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพม่าที่ได้รับการยกย่องว่า
มีพุทธลักษณะงดงามมาก ที่สุดในเมืองไทย พระวรกายเพรียวงาม พระพักตร์อิ่มเอิบ
ส่วนเครื่องทรงองค์ประกอบอื่นๆ ช่างสมัยโบราณก็สร้างอย่างสุดวิจิตรบรรจง

นับเป็นความงามในพลังแห่งศรัทธาปิดท้ายทริปไหว้พระในตัวเมือง แม่ฮ่องสอน
ที่จะว่าไปบรรยากาศในตัวเมืองให้อารมณ์ทางการท่องเที่ยว ค่อนข้างแตกต่างไป จากเมืองปายโดยสิ้นเชิง
ยังไงๆเราก็ขอให้ชาวแม่ฮ่องสอน เก็บวิถีอันงดงามแบบนี้ให้อยู่คู่เมืองสาม หมอกไปอีกตราบนานเท่านาน

*****************************************
สอบถามข้อมูล เส้นทางเที่ยววัดในตัวเมือง และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในแม่ฮ่องสอนเพิ่มเติมได้ที่
ททท.แม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982-3


ที่มา //www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000132450



Create Date : 05 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2552 11:56:49 น. 2 comments
Counter : 701 Pageviews.

 
แวะมาทักทาย ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ


โดย: กัปตันลูกชุบ วันที่: 5 พฤศจิกายน 2552 เวลา:14:09:38 น.  

 
ข้อมูลแน่นจริงๆ ค่ะ

ดีใจที่มาเที่ยวแม่ฮ่องสอน แล้วเข้าชมวัดได้อย่างถ้วนทั่ว (วัดเยอะมากค่ะ)

เราเองก็พยายามจะไปไหว้พระให้ครบอยู่ค่ะ มาอยู่จะครบปีแล้ว ยังไปไม่ทั่วเล้ย (อายจริง)

ว่าแต่ว่า ขึ้นดอยกองมู ตีระฆังไปกี่ครั้งคะนี่ ถ้าตีหลายครั้ง ก็ขอต้อนรับสมาชิกเมืองหมอกกันล้วงหน้าเลยละกัน ^ ^


โดย: ThaMN วันที่: 7 พฤศจิกายน 2552 เวลา:20:30:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.