Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
14 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

งามได้ใจ “ชิโน-โปรตุกีส” ภูเก็ต เสน่ห์เมืองเก่าไม่มีวันตาย

งามได้ใจ “ชิโน-โปรตุกีส” ภูเก็ต เสน่ห์เมืองเก่าไม่มีวันตาย
เก่าขรึม อีกหนึ่งเสน่ห์ของชิโน-โปรตุกีส

“ภูเก็ต” ไข่มุกแห่งอันดามัน หากพูดถึงการท่องเที่ยวในเมืองนี้
มายาคติเรื่องงบประมาณการท่องเที่ยวที่“สูงเกิน” สำหรับคนไทย ๆ ธรรมดาทั่วไป
คงจะผุดขึ้นมาในมโนภาพของใครหลาย ๆ คน
นั่นถือเป็นปัญหาเรื่องราคาที่ทำให้หลายคนไม่กล้าไปเที่ยวภูเก็ต
ด้วยเหตุนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต
จึงมีไอเดียพยายามผลักดันโครงการ “เที่ยวภูเก็ตไม่แพงอย่างที่คิด” เพื่อบอกให้คนไทยทั่วไปรู้ว่า
ในภูเก็ตยังมีที่พัก โรงแรม ที่กิน ร้านอาหาร สปา-นวด สถานบันเทิง ราคาคนไทย
(แน่นอนว่าย่อมไม่หรูเริ่ดเท่าราคาในระดับไฮท์เอนด์) ให้เลือกกิน เลือกพัก เลือกเที่ยว เลือกผ่อนคลาย
สามารถตอบโจทย์ขอนักท่องเที่ยวไทยทั่ว ๆ ไปได้ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าต้องสืบค้นหาข้อมูลกันหน่อย
ซึ่งผู้สนใจก็สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวแบบคนไทยได้ที่ ททท. สำนักงานภูเก็ต เจ้าของไอเดีย

นอกจากเรื่องราคาแล้ว ภูเก็ตยังติดภาพของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ยากจะลบเลือน
ทำให้แหล่งท่องเที่ยวบนบกหลาย ๆ แห่งกลายเป็นลูกเมียน้อยไป ทั้งๆ ที่ถือว่ามีดีพอตัวอยู่เหมือนกัน

เรื่องนี้ทำให้ทางจังหวัดภูเก็ตต้องใช้กลยุทธ์ ผนวกการเที่ยวบนบก เป็นกิจกรรมเสริมสอดแทรก
ร่วมกับกิจกรรมท่องเที่ยวหลักทางทะเล เพื่อให้คนทั่วไปรู้ว่า ภูเก็ตยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ
อย่าง วัดวาอาราม วิถีชีวิตวัฒนธรรม ธรรมชาติป่าเขาน้ำตก พิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะกับย่าน“เมืองเก่า”
ภูเก็ตที่มีอาคารสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” อันโดดเด่นนั้น ถือว่ามาแรงไม่น้อยเลย

ตึกแถวบ้านพักอดีตนายเหมืองเก่า
ตึกแถวบ้านพักอดีตนายเหมืองเก่า

เมืองเก่าภูเก็ต อดีตอันไฉไล
เมืองเก่าภูเก็ต เคยเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีชาวโปรตุเกส และฮอลันดาเข้ามาทำการซื้อขายแร่ดีบุก
ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2391-2411)
หลวงพิทักษ์ทวีป (ทัด) เจ้าเมืองภูเก็ตเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ที่เรียกว่า “ทุ่งคา” มีแร่ดีบุกมาก
จึงย้ายตัวเมืองจากบ้านเก็ตโฮ่ (อ.กระทู้ในปัจจุบัน) มาตั้งเมือง(ใหม่) ที่ “ทุ่งคา”
ซึ่งก็คือพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน

เมืองภูเก็ต (ทุ่งคา) เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงที่ “พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี”
(คอซิมบี้ ณ ระนอง) มาเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต (พ.ศ.2444-2456)
มีการสร้างถนน วางผังเมืองใหม่ สร้างตึกรามบ้านเรือนขึ้นมาใหม่
โดยนำลักษณะของสถาปัตยกรรม ”ชิโน-โปรตุกีส” ที่เฟื่องฟูมากในปีนังเข้ามาสร้างในภูเก็ต

ลวดลายประดับทรงเสน่ห์ของอาคารชิโน-โปรตุกีส
ลวดลายประดับทรงเสน่ห์ของอาคารชิโน-โปรตุกีส

จากนั้นสถาปัตยกรรม”ชิโน-โปรตุกีส” ภูเก็ต ได้บ่มเพาะพัฒนาสั่งสมคุณค่าจากอดีตสู่ปัจจุบัน
กลายเป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ทรงคุณค่า
จนได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสที่สวยที่สุดในเมืองไทย
ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักตามการใช้งาน คือ
อาคารสาธารณะ” อาทิ อาคารราชการ สมาคม โรงเรียน ส่วนใหญ่สร้างในสมัยที่พระยารัษฎาฯ
มีลักษณะเด่น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนผนังหนา มีลวดลายตกแต่งปูนปั้นสวยงาม
อิทธิพลศิลปะยุคยุคนีโอคลาสสิคและโรมัน

คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา
คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา

อาคารตึกแถว” ที่มีลักษณะพิเศษคือมีช่องทางเดินสาธารณะด้านหน้า หรือ“อาเขต” (Arcade)
หรือ “หง่อกากี่” (ภาษาจีน) เชื่อมยาวตลอดถึงกันใช้หลบฝนบังแดดได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่ลวดลายปูนปั้นประดับนั้นก็ถือเป็นเอกอุ
เพราะผสมทั้งศิลปะจีน ยุโรป อินเดียและไทย เข้า ๆไว้ด้วยกัน นับเป็นเอกลักษณ์อันทรงคุณค่ายิ่ง

“คฤหาสน์” หรือ “อังมอเหลา” (ภาษาจีน แปลว่าตึกแบบฝรั่ง) ที่ส่วนใหญ่เป็นเรือนปูน 2 ชั้น
รูปทรงสมส่วน หลังคามุงกระเบื้องแบบดั้งเดิม มีลวดลายปูนปั้นประดับตกอย่างสวยงาม

ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ กับตึกสวย ณ มุมถนน
ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพ กับตึกสวย ณ มุมถนน

เที่ยวเรทโทร ตามทางชิโน-โปรตุกีส
สำหรับกิจกรรมชมเมืองเก่าภูเก็ตที่น่าสนใจยิ่งในสายตาของ“ตะลอน เที่ยว”
ก็คือการเดินทอดน่องสัมผัส ชื่นชมในความงาม เพราะถึงแม้เมืองเก่าจะมีระยะทางรวมทั้งหมด 4.6 กม.
(เชื่อมโยงถึงกัน) แต่ถ้าใครไม่ต้องการเดินทั้งหมด สามารถเลือกเดินชมเป็นช่วง ๆ ถนนได้
โดยช่วงเวลาที่เหมาะต่อการเดินเที่ยวชม คือช่วงเช้าและเย็นที่แดดไม่ร้อนเกิน
ซึ่งที่นี่ได้มีผู้เชี่ยวชาญมาลงพื้นที่เก็บข้อมูล และแบ่งเส้นทางการเดินชม เมืองเก่าออกเป็น 6 ช่วงด้วยกัน

ช่วงที่ 1 ถ.ภูเก็ต ถ.รัษฎา ถ.ระนอง :
คือจุดที่เหมาะต่อการเดินชมเมืองเก่ามากที่สุด เริ่มที่ศูนย์รวมข่าวพรหมเทพที่โดดเด่นด้วยหอนาฬิกาสูง
แวะชมของเก่าและภาพถ่ายเก่าเมืองภูเก็ตที่พิพิธภัณฑ์โรงแรมถาวร
ชมกลุ่มตึกแถวเก่าบนถนนรัษฎาแถวฝั่งเลขคู่-เลขคี่ ไปดูสีสันของวงเวียนสุริยเดชหรือวงเวียนน้ำพุ
ไปไหว้พระขอพรที่ศาลเจ้าปุดจ้อ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย เลี้ยวขวาเข้าสู่ ถ.ปฏิพัทธิ์ไปต่อยัง ถ.กระบี่


พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว
พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว

ช่วงที่ 2 ถ.กระบี่ ถ.สตูล :
ชมสีสันแบบจีนที่ศาลเจ้าเจ่งอ๋อง ศาลเจ้าแม่ย่านาง [ ฝั่งตรงข้ามมีร้านโลบะ(อาหารพื้นเมือง) อร่อย ]
ต่อด้วยการยลอังมอเหลา
เริ่มจาก “บ้านชินประชา” ที่วันนี้มีตึกแถวใหม่สไตล์เก่าสร้างขนาบ 2 ฟากซ้าย-ขวา
ถัดไปเป็น “คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา” อันงดงามไปด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
ก่อนไปชมเสน่ห์ “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” (ร.ร.ภูเก็ตไทยหัวเดิม)
ที่ภายในจัดแสดงภาพเรื่องราวความเป็นภูเก็ตจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่ช่วงนี้ปิดปรับปรุง
เราจึงชื่นชมได้เฉพาะความงามภายนอกอาคาร ที่โดดเด่นไปด้วยโค้งซุ้มประตู 3 ช่อง
หน้าต่างกับกรอบและลวดลายประดับแบบโรมัน หน้าจั่วกลางบ้านลวดลายปูนปั้น
ผสานรูปค้างคาวสัญลักษณ์สัตว์มงคลของชาวจีน

บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์
บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์

ช่วงที่ 3 ถ.ดีบุก ถ.เยาวราช ตรอกสุ่นอุทิศ :
ชมเสน่ห์ของ “บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์อังมอเหลาสวยงามจากช่างชาวจีนแห่งปีนัง
เปลี่ยนอารมณ์ด้วยการชมอาคาร “ตึกแถวย่านบ้านพักอาศัยของอดีตนายเหมืองเก่า”
ที่มีให้ชมกันทั้ง 2 ฟากฝั่งถนน ภายนอกทาสีใหม่สวยงาม
ช่วงนี้ใครหิวให้ไปแวะที่ตรอกสุ่นอุทิศกินของกินพื้นเมือง อย่างหมี่หุ้น-น้ำซุปน้ำอ้อยสูตรโบราณ,
โอ๊วเอ๋ว-ของหวานแบบวุ้นสูตรดั้งเดิม
และสูตรประยุกต์เอาใจวัยรุ่น-นักท่องเที่ยว, อาโป๊ว-แป้งทอดแผ่นบางกรอบนอกนุ่มใน
ก่อนต่อไปยัง ถ.เยาวราช ดูอาคารเก่าบริษัทเกี้ยนหงวน ที่เป็นโค้งเลี้ยวหักมุมไปตามโค้งถนน

ซอยรมณีย์ ซอยสวย ย่านบันเทิงกลางเมืองเก่าภูเก็ต
ซอยรมณีย์ ซอยสวย ย่านบันเทิงกลางเมืองเก่าภูเก็ต

ช่วงที่ 4 ถ.ถลาง ซอยรมณีย์ :
ถ.ถลาง เป็นถนนสำคัญสายประวัติศาสตร์ มีอาคารตึกแถวที่มีรูปแบบดั้งเดิมเกาะกลุ่มกันมากที่สุด
ให้เลือกชมกันอย่างจุใจอิ่มตาใน 2 ฟากฝั่งถนนเลขคู่-เลขคี่
อีกทั้งยังมีอาเขต (หงอกากี่) ยาวที่สุดในเมืองไทย
ที่วันนี้มีข่าวดีว่าทางเทศบาลภูเก็ตได้ทำโครงการ “เมืองเก่าโฉมใหม่” ขึ้นด้วยการเก็บสายไฟลงใต้ดิน
ทำให้อาคารเก่าแถวนี้ ที่เคยรกรุงรังไปด้วยสายไฟดูสวยงามสะอาดตาขึ้นมาทันที
หากโครงการเสร็จ (คาดว่าจะเสร็จราวสิ้นปีนี้)
นอกจากนี้ ทางเทศบาลยังรณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมใจกันเปิดอาเขตตลอดแนว
ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ปิดเพราะถูกครอบครองโดยเจ้าของพื้นที่
ให้กลับมาเปิดโล่งเดินทะลุถึงกันได้ดังเช่นอดีต เพื่อให้ ถ.ถลาง เป็นถนนคนเดินอันทรงเสน่ห์

ใต้ร่มเงาหงอกากี่
ใต้ร่มเงาหงอกากี่

“ตะลอนเที่ยว”ยังไม่ไปไหน เพราะช่วงกลางของ ถ.ถลาง มี “ซอยรมณีย์” มีการตกแต่ง ทาสี
ปรับปรุงอาคาร และเก็บสายไฟซ่อนไว้ข้างๆตึกอย่างดี ดูแล้วสวยงามเป็นระเบียบ
ช่วงกลางวันซอยรมณีย์อาจดูเงียบเหงา ผิดกับยามราตรีที่คึกคักไปด้วยนักท่องราตรี เสียงดนตรี แสงสีไฟ
จากร้านเหล้าผับบาร์ในซอย เพราะนี่ถือย่านบันเทิงกลางเมืองที่ชาวภูเก็ตหลายคนอดห่วงไม่ได้ว่า
ถ้าไม่มีการควบคุมให้ดี ซอยรมณีย์อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อชุมชน
และส่งผลต่อวิถีเอกลักษณ์ของเมืองเก่าภูเก็ต ถือเป็นดาบ 2 คม
ทางการท่องเที่ยวที่ทางชุมชน จะต้องบริหารจัดการและหาจุดลงตัวให้เหมาะสมที่สุด

ต่างสีแต่กลมกลืน
ต่างสีแต่กลมกลืน

ช่วงที่ 5 ถ.พังงา ถ.ภูเก็ต :
เริ่มจากมุม ถ.พังงา-ภูเก็ต ชมอาคารชาร์เตอร์แบงก์ที่สร้างสอดรรับกับโค้งถนน
ซึ่งในอนาคตจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ จัดแสดงเรื่องราวในภูเก็ต
จากนั้นไปต่อยัง “โรงแรมออนออน” โรงแรมแห่งแรกในภูเก็ตที่จับจองห้องพักยากมาก
ก่อนปิดท้ายกันที่ “ศาลเจ้าแสงธรรม” ณ ช่วงปลายถนน
ชมเสน่ห์ของศาลเจ้าเก่าแก่ สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ที่ยังคงไปด้วยบรรยากาศแบบจีนอันขรึมขลัง

ช่วงที่ 6 ถ.เทพกระษัตรี ถ.มนตรี :
ช่วงสุดท้ายของการเดินชมเมืองเก่า ช่วงนี้บน ถ.เทพกระษัตรี มีคฤหสาน์ตระกูลหงส์หยก
และอาคารอนุภาษภูเก็ตการ
เป็นจุดชวนชม จากนั้นต่อไปยังสี่แยก ถ.ถลาง
แวะชมรูปปั้นพญามังกรทะเล“ฮ่ายเหล็งอ๋อง” ที่ตั้งโดดเด่นตระหง่านในสวน 72 พรรษา
โดยติดกันนั้นเป็นอาคารททท. ตึกใหม่แต่สร้างให้กลมกลืนกับอาคารเก่า
และเมื่อเลี้ยวขวาไปบน ถ.มนตรี ก็จะพบกับอาคารเก่าที่ทำการไปรษณีย์ที่แม้มีชั้นแต่ดูเท่มาก
ปัจจุบันถูกจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรภูเก็ต อันควรค่าแก่การเข้าชม

และนั่นก็คือเสน่ห์สีสันเมืองเก่าภูเก็ตที่ขึ้นชื่อในเรื่อง สถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส
ผสานกับวิถีวัฒนธรรมประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตที่ควรค่าแก่การเที่ยวชมยิ่ง
ซึ่งใครที่ไปภูเก็ต น่าจะหาเวลาไปเที่ยวแบบประหยัดด้วยการเดินชมเมืองเก่าแบบสบาย ๆ
ออกกำลังกายไปในตัว เหนื่อยเมื่อไหร่ก็พัก หิวเมื่อไหร่ก็แวะหาร้านอาหารพื้นเมืองอร่อย ๆ แถวนั้นกิน
หรือถ้าใครเหงาก็สามารถพูดคุยกับชาวบ้านแถวนั้นได้อย่างสบาย
เพราะส่วนใหญ่ใจดีและยินดีพูดคุยอย่างเปี่ยมมิตรไมตรี

แล้วจะรู้ว่าเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสในเมืองเก่าภูเก็ตนอก จากจะไม่มีวันตายแล้ว
ยังมีชีวิตชีวาซึ่งบรรยากาศแบบนี้หาไม่ได้ง่าย ๆ ในเมืองไทย

**********

การเที่ยวชมเมืองเก่าในภูเก็ต เพื่อให้ได้อรรถรสและความเข้าใจ
ควรศึกษาข้อมูลหรือพกคู่มือเดินชมเมืองเก่าภูเก็ตติดตัว
ซึ่งสามารถสอบถามความจำนงได้ที่ ททท. สำนักงานภูเก็ต โทร. 0-7621- 1036 , 0-7621-2213


โดย ผู้จัดการออนไลน์
ที่มา //www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000108154




 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2552
4 comments
Last Update : 30 กันยายน 2554 9:59:58 น.
Counter : 2118 Pageviews.

 

เคยไปเดินเที่ยวและก้อถ่ายรูปค่ะ
ชอบมาก

 

โดย: nokkatua 14 พฤศจิกายน 2552 21:26:18 น.  

 

ได้อารมณ์ตึกโบราณมาก ๆ เลยค่ะ

 

โดย: i-lovetrips 15 พฤศจิกายน 2552 12:36:53 น.  

 

ทุกวันนี้ซอยรมณีย์แนะนำค่ะว่า สาวๆ อย่าเดินคนเดียว
ไมไ่ด้น่ากลัวมากมาย แต่อาจจะมีผู้ชายที่ไหนไม่รู้เดินเข้ามาจีบ
เคยโดนมา 2 ครั้งค่ะ
ตอนนั้นยังม.ปลายอยู่เลย
แต่ถ้าคนไปเที่ยว.. เค้าคงดูออกค่ะ อาจจะยิ้มให้มั้ง

 

โดย: canyouloveme 18 พฤศจิกายน 2552 22:35:34 น.  

 

ดูไปดูมาแล้วเที่ยวก็สนุกดีไม่มีผิด มันก็สนุกและน่ะ ครับ

 

โดย: อลัน IP: 113.53.21.155 28 กันยายน 2554 8:30:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.